Think Big
นครพนมที่เป็นนครพนมในสายตา ธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้าอายุน้อยที่สุดของเมืองไทย
- บิ๊ก ธนพัต ทีฆธนานนท์ ประธานหอการค้า จังหวัดนครพนมที่อายุน้อยที่สุดในรอบหลายปี และเจ้าของธุรกิจที่เติมไลฟ์สไตล์ให้เมืองนครพนมอย่างแบรนด์ 76A
- สำหรับบิ๊กเขาเชื่อในความเป็นนครพนมอย่างหมดใจ เพราะนครพนมคือไม่เหมือนกับที่ไหน ทั้งเรื่องคน ภูมิศาสตร์ อัตลักษณ์ของเมือง เหล่านี้เป็นมนต์เสน่ห์เฉพาะตัวที่ทำให้ใครต่อใครตกหลุมรักเมืองนี้มาแล้วนักต่อนัก
ถ้าพูดถึงนครพนม ภาพจำของแต่ละคนคงต่างกันไปตามประสบการณ์ที่ได้มาสัมผัส แต่เหตุผลที่เมืองนี้ทำให้เราตกหลุมรักคงไม่พ้นเรื่องเดียวกัน ‘ทัศนียภาพที่ชุบชูใจและความสโลว์ไลฟ์ในการใช้ชีวิต’ ทำให้หลายคนเห็นตรงกันว่า… เป็นเมืองที่ควรปักหมุดไว้ในแผนที่การเดินทาง! พอได้มาพิสูจน์กับตาก็เข้าใจว่า ไม่เพียงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ยังมีความชิคคูลอีกมากมายที่แอบซ่อนอยู่ตามมุมเมืองให้เราได้ค้นหา
และถ้าเพื่อนๆ เคยมาเมืองเล็กๆ สุดเขตชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขงนี้แล้ว คงพอคุ้นหูคุ้นตาหรือมีโอกาสได้แวะดื่มกาแฟที่ 76A กันแล้วบ้าง ไม่ว่าจะ 76A THE SPACE หรือ 76A THE CLUB ล้วนเป็นร้านที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเขาและเธอที่ช่วยกันเติมไลฟ์สไตส์ให้กับเมือง
บิ๊ก-ธนพัต ทีฆธนานนท์ นักคิด นักธุรกิจ ที่ 76A THE SPACE เดินเข้ามาที่ 76A THE SPACEพร้อมกับ บิ๋ม-อลิศา ทีฆธนานนท์ กำลังใจและแรงใจสำคัญที่คอยซัพพอร์ตเขาอยู่เสมอ
“เราเชื่อในความเป็นนครพนมเพราะ ‘นครพนมคือนครพนม’ ไม่เหมือนกับที่ไหน” บิ๊กยืนยันกับเราก่อนบทสนทนายาวเหยียดยามบ่ายจะเริ่มขึ้น
ทำอะไรมาก่อนหน้า
บิ๊ก: เราเป็นคนอุดรย้ายมารับช่วงต่อธุรกิจที่บ้าน พออยู่ได้สักพักเริ่มรู้สึกว่าอยากทำอะไรนอกจากโชว์รูมรถ ก็เลยเริ่มทำร้านกาแฟในโชว์รูมก่อน ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด เลยตัดสินใจทำต่อมาเรื่อยๆ
ทำไมต้องเป็นร้านกาแฟ
บิ๋ม: เรารู้สึกว่ากาแฟมันเป็นอะไรที่เชื่อมต่อคนเข้าด้วยกัน เพราะตอนแรกเราเข้ามายังไม่รู้จักใคร เลยเปิดร้านกาแฟขึ้นมาเพื่อให้คนเข้ามาหาเรา ตอนนี้บอกเลยว่าเพื่อนทั้งหมดที่รู้จักกันก็เจอจากร้านกาแฟ (หัวเราะ)
ทำไมต้อง 76A
บิ๊ก: 76A เป็นบ้านของเพื่อนที่เช่าอยู่สมัยเรียนอังกฤษ เป็นสถานที่ที่ผมบังเอิญเจอบิ๋มครั้งแรกที่นั่น เลยเป็นชื่อที่มีความหมายสำหรับเรา
ถ้าให้อธิบายความเป็น 76A
บิ๋ม: เราตั้งใจให้เป็นแบรนด์ที่ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมและบริบทของผู้คนรอบๆ เพราะเราให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของผู้คน ไม่ว่า 76A จะไปตั้งอยู่ตรงไหน เราอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นั้นๆ โดยที่ไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย แต่อยากเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนให้โซนนั้นมีพลังมากขึ้น
บิ๊ก: อีกหนึ่งความตั้งใจคืออยากให้คนในพื้นที่ได้เห็นว่า ถ้าพวกเขาอยากลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่เพื่อทำธุรกิจ มันก็เป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้
เห็นว่าโลโก้ก็เป็นสิ่งที่ออกแบบกันเอง
บิ๊ก: ใช่ เราตั้งใจออกแบบโลโก้ 76A เพื่อสื่อว่านครพนมเป็นเมืองที่กำลังสร้างตัวตนใหม่ๆ โดยยังไม่ทิ้งความเป็นออริจินัลของตัวเอง จะเห็นว่าในโลโก้มีส่วนที่เป็นเส้นชัดเจน ตรงนี้แสดงถึงเสน่ห์ดั้งเดิมของนครพนมที่เรามองว่าน่าค้นหาและมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ส่วนเส้นหยึกหยักในโลโก้เราเปรียบเหมือนการพัฒนาการเติบโตของนครพนมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
จุดเริ่มต้นของ 76A THE SPACE เป็นมายังไง
บิ๋ม: เราใช้ชื่อว่า THE SPACE เพราะต้องการให้คนดื่มด่ำกับพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องเร่งรีบ พยายามจะเสิร์ฟความต้องการของคน แต่ไม่ได้เปลี่ยนสถาปัตยกรรม เดิมที่นี่เป็นตึกร้างเก่าอายุเกือบร้อยปี ตอนแรกคุณลุงเจ้าของที่แทบไม่ยากให้ใครมาเช่าที่นี่เลย แต่เราแสดงความตั้งใจชัดเจนว่า เราจะไม่ทำลาย เราจะทำให้มันดีขึ้น จากนั้นเราสองคนเลยไปทำแบบ 3D มาให้คุณลงได้เห็นเลยว่า บ้านจะถูกรีโนเวตออกมาเป็นประมาณไหน จนคุณลุงเห็นแล้วรู้สึกโอเค เพราะลึกๆ คุณลุงก็อยากให้บ้านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
บิ๊ก: ตอนเข้ามาทำเราพยายามเก็บทุกอย่างให้เหมือนเดิมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างตัวหลังคาเราก็พยายามหากระเบื้องที่มันคล้ายคลึงของเดิมแต่ใส่ความร่วมสมัยลงไป หรือบานประตูบานหน้าต่างอันเดิมที่ผุพัง เราก็ถอดเก็บ แล้วไปซื้อไม้เก่ามาทำเลียนแบบ 100% เลยเหมือนเราได้เป็นไทม์แมชชีนให้คุณลุงและนักท่องเที่ยวได้กลับไปเห็นว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นแบบไหนมาก่อนหน้า
แล้วความเปลี่ยนแปลงของ 76A THE CLUB ล่ะ
บิ๋ม: เราเห็นว่าเมืองนี้สามารถไปไหนมาไหนคนเดียวได้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็รู้จักกันหมด เลยตั้งใจดีไซน์มาเป็น THE CLUB เพราะอยากให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เข้ามาเจอกัน ได้พูดคุยกัน แต่ด้วยสถานการณ์ช่วงโควิดเราก็เลยเปลี่ยนจากร้านกาแฟเป็นร้านราเมง SUSURU
บิ๊ก: ถ้าได้ลองแวะเข้าไปจะเห็นว่าที่ร้านมีเก้าอี้นั่งยาวเรียงเลย เพราะเราตั้งใจให้มาคนเดียวได้ แต่ถ้านั่งไปสักพักแล้วเพื่อนมาก็สไลด์มานั่งด้วยกันได้ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ด้วยนะ พอนั่งทีละคนๆ สักพักก็จะนั่งรวมกันเป็นกลุ่ม พฤติกรรมลูกค้าจะเป็นแบบนั้น เพราะทุกคนรู้จักกันหมด
หลังจากมาใช้ชีวิตอยู่จริงๆ มองเสน่ห์ของนครพนมอยู่ที่ตรงไหน
บิ๋ม : ที่นี่เป็นเหมือนเมืองพักผ่อนที่มาแล้วเราไม่ต้องคาดหวังอะไร ถ้าเครียดหรือเหนื่อยจากงานแล้วมาที่นี่จะรู้สึกว่าได้รีเฟชเอเนอจี้ทั้งหมด เป็นเมืองที่ผู้คนไม่วุ่นวาย กินง่าย อยู่ง่าย ผู้คนไม่ซับซ้อน แค่ได้มานั่งมองวิวรับลมริมโขงก็เหมือนได้ชาร์จแบตตัวเองแล้ว
บิ๊ก: จริงๆ เสน่ห์ของนครพนมบอกไม่ได้เลยว่าเกิดขึ้นจากอะไร แค่มาอยู่แล้วรู้สึกว่ามันต้องกลับมาอีก ต้องอยู่ที่นี่! ไปไหนไม่ได้แล้ว เราจะบอกทุกคนตลอดว่า ทุกวันนี้เหมือนเราได้เกษียณก่อนวัย เพราะมันมีพื้นที่ให้ได้พักผ่อนทุกวัน
อีกมุมหนึ่งเราเห็นศักยภาพอะไรในเมืองนี้
บิ๊ก: เราเห็นโอกาสการเติบโตของเมือง อย่างแรกเลยคือเรื่องคน เรามองว่าเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของนครพนมเลยนะ เพราะที่นี่อยู่ด้วยกัน 3 เชื้อชาติกับอีก 9 ชนเผ่า นั่นหมายความว่า นครพนมเป็นเมืองที่พร้อมสำหรับ AEC พอสมควร สองคือเราค่อนข้างชอบลักษณะผังเมือง ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าถนนหนทางถูกแบ่งไว้ชัดเจน มีเส้นทางออกกำลังกายที่ไม่มีอะไรตัดผ่าน แล้วน้อยมากที่เราจะเจอซอยตันเพราะส่วนใหญ่จะเชื่อมกันหมด ซึ่งเหมาะกับการท่องเที่ยว ทั้งการรองรับนักท่องเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ ทั้งตอบโจทย์คนขับรถเที่ยวเองหรือคนขับรถใหม่ๆ การเดินทางสะดวก ผู้คนก็น่ารัก เราเลยมองว่าน่าจะมีความเป็นไปได้หลายๆ อย่างเกิดขึ้นได้ในอนาคต
บิ๋ม: ที่เห็นได้ชัดคือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไหว้พญานาคหรือไหว้พระธาตุพนมเพิ่มขึ้นมาก แม้กระทั่งช่วงโควิดไฟลต์ก็ยังเต็ม แปลว่าศักยภาพของเมืองมีค่อนข้างสูงมาก ยิ่งเราทำร้านกาแฟยิ่งเห็นทิศทางที่ดีของการท่องเที่ยว ซึ่งตรงนี้สามารถสร้างงานสร้างอาชีพให้คนนครพนมได้จริง
เราได้รับแรงกดดันบ้างมั้ยในฐานะที่เป็นประธานหอการค้าที่อายุน้อยที่สุด
บิ๊ก: เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เข้าใจได้ พออายุน้อยแล้วมันมาพร้อมกับความคาดหวังเป็นธรรมดา เราอยากขอบคุณครอบครัวและผู้ใหญ่ที่เข้าใจ รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าในนครพนมที่ให้โอกาส ให้เวลาเราในการทำความเข้าใจเพื่อได้ทำหน้าที่นี้
ตัวเราเองมีหน้าที่หลักในการเชื่อมต่อส่วนต่างๆ ระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือเอกชน ไปยังเอกชนกันเอง พร้อมกับเป็นกระบอกเสียงในการนำเสนอเรื่องต่างๆ พอได้มาทำตรงนี้จากแรงกดดันเลยกลายเป็นเรื่องที่เราสนุกไปกับมันมากๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ยิ่งกว่าตอนเรียนในห้องเรียนซะอีก
อะไรทำให้รู้สึกสนุกอยู่ตลอดเวลา
บิ๊ก: ด้วยความที่เรามีโอกาสได้เดินทางไปเรียนและท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ตลอด เลยสนุกที่จะคิดและเอาสิ่งที่เห็นมาเปรียบเทียบในเชิงสร้างสรรค์ เรามักมีคำถามในหัวว่า ‘ทำไม’ เช่น ทำไมสิ่งนี้ถึงเป็นแบบนี้ ทำไมสิ่งนี้ต้องทำแบบนี้ และอะไรทำให้เดินมาถึงจุดนี้ได้ เราชอบคิดโจทย์และแก้ไขโจทย์จากสิ่งที่เราเห็นกับสิ่งที่เราเคยเห็นเคยเรียนรู้มา
พอเรามองในหลายๆ มุม หลายๆ ด้าน เข้าใจในเหตุและผลที่แตกต่าง เลยจะไม่เลือกข้างเลือกฝั่ง เพราะเราเชื่อว่า เมืองจะเดินไปข้างหน้าได้คงไม่ได้เกิดจากใครเป็นพวกใคร แต่เดินได้เพราะเราทุกคนเข้าใจที่มาที่ไปและร่วมแก้โจทย์ไปพร้อมๆ กัน
เห็นว่าทั้งคู่ก็เป็นส่วนหนึ่งในเบื้องหลังการจัด BIG FESTIVAL ของเมืองด้วย
บิ๊ก: เราได้รับโอกาสในการคิดธีมหลายๆ เฟสติวัลที่จัดขึ้น เป็นเรื่องที่ท้าทายแล้วก็สนุกในเวลาเดียวกัน อย่างธีมเคาต์ดาวน์ปีแรกที่เราจัด ใช้ชื่อว่า WINTER FESTIVAL ตอนหนาวลมชมโขง เพราะเรารู้สึกว่าอีสานเวลาหนาวก็หนาวไม่แพ้ภาคเหนือเลย ไม่ได้มีแค่ความแห้งแล้งอย่างที่หลายคนมอง เลยอยากทำออกมาให้เป็นเมืองหนาวที่ดูสนุก พอวันงานก็ออกมาเป็นปาร์ตี้เมืองที่สนุกมากจริงๆ
ตอนนี้การท่องเที่ยวในนครพนมเติบโตถึงขั้นไหนแล้ว
บิ๊ก: ยังคงขยับขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือ 137 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทีนี้หลายคนบอกว่าตั๋วเครื่องบินมานครพนมแพงมาก แต่เราแฮปปี้กับการที่ตั๋วเครื่องบินแพง เพราะว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายต่อคนเยอะขึ้น เศรษฐกิจของเมืองเราก็โตขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายความว่าเราได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ
พอเมืองเริ่มบูมมากๆ ความเจริญเริ่มเข้ามา กลัวไหมว่าจะสูญเสียความเป็นนครพนม
บิ๊ก: ตรงนี้ผมไม่กลัวนะ เพราะมันยังเป็นจุดเริ่มต้นอยู่ ต่อให้นับไปอีก 5-10 ปี สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการมีอยู่สองสิ่ง หนึ่งคือความเชื่อทางพระพุทธศาสนา สองคือวิวแม่น้ำโขง นั่นแปลว่าสิ่งที่โดนรบกวนจะอยู่แค่เส้นริมแม่น้ำโขง แต่วิถีชีวิตก็ยังอยู่เหมือนเดิม
คิดว่าเมืองของเรายังขาดอะไรอยู่ไหม
บิ๊ก: ผมมองว่าในแง่ของสถาปัตยกรรมกับสถานที่เราไม่ขาด แต่เราขาด ‘คน’ ขาดคนนี่เป็นเรื่องใหญ่มากของอีสานเลยนะ เราเองก็คิดตลอดว่าจะทำยังไงให้คนกลับบ้าน เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่คนอีสานกลับบ้าน ขอแค่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ทำงานในกรุงเทพฯ อีสานจะเจริญมากเลยนะ เรามีทรัพยากรเยอะมากอยู่แล้ว ขาดแค่พลังของคนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาช่วยกันพัฒนา คือต้องยอมรับว่าการจะปลุกเมืองต้องอาศัยพลังและความรู้ความสามารถของคนทุกรุ่น
บิ๋ม: อยากบอกว่าถ้าคุณกลับมาก่อนได้ เพราะว่าเมืองกำลังโต แล้วยังมีช่องว่างอีกเยอะมากๆ ที่รอพวกคุณกลับมาเติมเต็มจังหวัด
อยากเห็นนครพนมเป็นเมืองแบบไหน
บิ๊ก: ในอนาคตเราอยากเห็น ‘นครพนมที่เป็นนครพนม’ เป็นนครพนมที่จัดพื้นที่ได้ชัดเจนว่า โซนนี้รับนักท่องเที่ยว โซนนี้สำหรับวิถีชีวิต อยากเห็นนครพนมเป็นเมืองที่พร้อมให้บริการ เป็นเมืองที่มีแต่ ‘รอยยิ้ม’ ในทุกมิติ
เขาทิ้งท้ายกับเราว่า “เคยไปเที่ยวที่ไหนแล้วอยากกลับไปอีกโดยไม่มีเหตุผลไหม ‘นครพนม’ คือหนึ่งในนั้น” (ยิ้ม) สำหรับการมาเยือนเมืองริมโขงครั้งแรก เราพอจะเข้าใจในสิ่งที่บิ๊กพูดโดยไม่ต้องถามต่อถึงเหตุผล ภาพความประทับใจที่นครแห่งความสุขริมโขงฉายไว้ในความทรงจำของเรา คงทำให้เรากลับมาสัมผัสที่นี่อีกครั้งเช่นกัน