About
DETOUR X Bangkok

บ้าน - ครัว

ทัวร์ชุมชนบ้านครัวครบรสผ่านมัสยิด ผ้าไหมท้องถิ่น เรือนไม้โบราณ อาหารบ้านแขกครัว

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘ชุมชนบ้านครัว’ ชุมชนของชาวเขมรจามอายุกว่า 200 ปีที่ยังมีชีวิต ภายในมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากมาย ทั้งมัสยิดแห่งแรกของฝั่งพระนคร โรงงานผ้าไหมบ้านครัว ร้านอาหารสูตรต้นตำรับเขมรจามรสเลิศ และสถาปัตยกรรมเรือนไม้โบราณที่ยังคงตั้งตระหง่านให้ได้ยลโฉมกันในปัจจุบัน

สวัสดีเพื่อนๆ ชาว ONCE! เราขออาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักชุมชนบ้านครัวริมคลองแสนแสบที่เดินทางง่าย จะมาทางเรือก็ได้ รถไฟฟ้าก็ดี โดยชุมชนนี้เป็นชุมชนของชาวเขมรจามที่อพยพมาอยู่ในไทยตั้งแต่ 200 กว่าปีก่อน และเคยใช้ชื่อว่า 'บ้านแขกครัว' พวกเขายังพาเอากลิ่นอายอันเป็นเอกลักษณ์มาด้วย ทั้งในแง่ศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหาร และสถาปัตยกรรม

เราการันตีเลยว่า ชุมชนขนาดใหญ่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่ดีเกินคาด และเราได้ไปรวบรวมแลนด์มาร์กที่น่าสนใจมาไว้ให้ทุกคนแล้ว ภายในชุมชนบ้านครัวจะมีอะไรให้เที่ยวบ้าง มาดูกันเลย

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัว

มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ (สุเหร่ากองอาสาจาม)

มาดูที่แรกที่เราว่าเหมาะกับการเป็นจุดสตาร์ต นั่นคือมัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์ ศาสนสถานแห่งแรกของแขกบ้านครัว ซึ่งกองอาสาจามสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชนบ้านครัวมาตั้งแต่ต้นยุครัตนโกสินทร์ จึงมีอีกชื่อว่า ‘สุเหร่ากองอาสาจาม’ สมัยก่อนผู้คนในชุมชนบ้านครัวนับถือศาสนาอิสลามมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้สัดส่วนจะต่างออกไปในปัจจุบัน แต่กลิ่นอายของศาสนาอิสลามยังคงฝากรากลึกอยู่ในชุมชนจนเราสัมผัสได้ทันทีที่ไปถึง

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัวมีขนาดใหญ่มากถึงขนาดกินพื้นที่ทั้งสองฝั่งคลองแสนแสบ แบ่งส่วนออกเป็นชุมชนบ้านครัวเหนือ ใต้ และตะวันตก เมื่อใดก็ตามที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อคนในชุมชน สถานที่แห่งนี้จะเป็นจุดนัดพบให้คนจากทุกส่วนได้มาปรึกษาหารือกัน มัสยิดยามีอุลค็อยรียะห์เลยทำหน้าที่เป็นมากกว่าสัญลักษณ์ของศาสนา เพราะเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันหลากหลายไปพร้อมๆ กันด้วย

พิกัด : 497 ถนนบรรทัดทอง เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ชุมชนบ้านครัว

ตลาดนัดบ้านครัว

โอ้โห เห็นครั้งแรกถึงกับต้องอุทาน เพราะนี่เป็นอุโมงค์ใต้สะพานที่น่ารักมากๆ ผนังทาสีชมพูสดใส แถมยังมีรูปวาดเรื่องราวของชุมชนบ้านครัวบนกำแพง เปลี่ยนพื้นที่ใต้สะพานธรรมดาๆ เป็นอุโมงค์แกลเลอรี่บ้านครัวที่เรียกแขกได้ดีทีเดียวล่ะ ซึ่งนอกจากจะมีภาพลักษณ์เข้าถึงง่าย ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านครัวที่อยู่คู่ริมคลองแสนแสบมานานกว่าสองศตวรรษ

ปัจจุบันคนในชุมชนใช้พื้นที่นี้เปิดเป็นตลาดนัดบ้านครัวด้วย ใครที่กำลังตามหาของกินเล่นอย่างโรตีมะตะบะหรืออาหารคาวหวานสูตรต้นตำรับบ้านครัวก็มาที่นี่ได้เลย ส่วนการเดินทางก็ไม่ยาก ตลาดอยู่ใต้สะพานเจริญผล ติดถนนใหญ่นี่เอง มีบันไดขึ้น-ลงทั้งสองฝั่งของสะพาน หรือจะเดินมาจากท่าเรือเจริญผลก็ใกล้นิดเดียว

พิกัด : สะพานเจริญผล ถนนบรรทัดทอง แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330

ชุมชนบ้านครัว

ผ้าไหมบ้านครัว นิพนธ์ มนูทัศน์

ผ้าไหมบ้านครัวของนิพนธ์ มนูทัศน์ เป็นโรงงานทอผ้าที่สืบต่อกันมารุ่นสู่รุ่น และยังเคยเป็นเจ้าหลักที่ทอผ้าส่งให้ จิม ทอมป์สัน ตอนที่เขาเพิ่งเริ่มกิจการด้วย เรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของผ้าไหมจิม ทอมป์สันเลย โดยหลังจากมีนายจิมเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ส่งออกผ้าไหมบ้านครัวสู่ต่างประเทศ ความนิยมของผ้าไหมบ้านครัวพุ่งสูงจนต้องเปลี่ยนประเภทกี่ทอผ้าจากกี่กระทบมาเป็นกี่กระตุก ซึ่งทอผ้าได้เร็วกว่าหลายเท่า แต่แล้วด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงตามเวลา บ้านทอผ้าในชุมชนบ้านครัวที่เคยมีถึง 5 หลัง เลยเหลือหลังนี้เพียงหลังเดียวเท่านั้น

ชุมชนบ้านครัว

การทอผ้าไหมเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเขมรจาม และคนในชุมชนบ้านครัวก็ทอผ้าใช้กันในครอบครัวมาแต่ไหนแต่ไร ว่ากันว่าในสมัยก่อนเพียงแค่เดินเข้ามาในเขตชุมชน ก็จะได้ยินเสียงกระทบไม้ของกี่ทอผ้าก่อนจะเดินถึงโรงทอผ้าเสียอีก

ชุมชนบ้านครัว

ความโดดเด่นของผ้าไหมบ้านครัวที่ถูกใจนายจิมและครองใจชาวต่างชาติคือสีสันสดใสกับลวดลายที่มีให้เลือกหลากหลาย และความเงางามที่เสริมเสน่ห์ให้กับผ้าไหมบ้านครัว ส่วนไฮไลต์ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือผ้าไหมสิรินธร ซึ่งเป็นผ้าไหมโปร่งสีเหลืองทอง เนื้อผ้าเงางามเล่นกับแสงที่มากระทบ จนขับให้ผ้าไหมน่ามองยิ่งขึ้นไปอีก แถมสีนี้ยังเป็นสีธรรมชาติด้วยนะ เพราะทำจากเส้นไหมรังเหลืองที่ไม่ผ่านการฟอกหรือย้อมเลย ผ้าไหมบ้านครัวเป็นอีกจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้เด็ดขาด ลองแวะไปยลโฉมผ้าไหมสีสวยและเลือกซื้อผ้าได้ตามใจชอบเลย

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัว

เรือนแม่ทรัพย์ริมคลอง

บ้านหลังนี้เป็นเรือนไม้เก่าอายุ 200 ปี ทำจากไม้สักทั้งหลัง ตกแต่งด้วยลายฉลุแบบดั้งเดิม พื้นที่ฝั่งริมคลองของบ้านเปิดเป็นร้านอาหาร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เจ้าของบ้าน ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในชุมชนได้ร่วมงานกับคนมากหน้าหลายตาที่นำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งก่อสร้างมาสู่ชุมชนหลายโปรเจกต์ เจ้าของบ้านจึงตั้งใจว่าแขกจะต้องกินดีเพื่อเป็นการตอบแทนที่พวกเขามาทำให้ชุมชนเจริญก้าวหน้า และยังแฝงความต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรม ด้วยการดึงคนในชุมชนมาใช้พื้นที่และปรับปรุงบ้านหลังนี้ไปในตัว

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัว

พอมีคนแวะเวียนมากินอาหารอยู่เสมอ ที่นี่เลยกลายเป็นร้านอาหารประจำชุมชนที่มีกลุ่มไลน์ของตัวเอง และมีสมาชิกมากกว่าร้อยคนในนั้น ใครอยากกินอะไรก็สามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ เมนูชูโรงที่ทางร้านภูมิใจนำเสนอก็คือเนื้อทอดนมสด ซึ่งเป็นเนื้อทอดนุ่มๆ ที่ผ่านการหมักจนเข้าเนื้อและมีรสชาติกลมกล่อม กับม้าฮ่อ อาหารว่างไทยโบราณที่หากินได้ยาก ทำจากเนื้อผัดน้ำตาลวางบนผลไม้รสเปรี้ยวอย่างสับปะรดหรือมะเฟือง มีขนาดพอดีคำ

พิกัด : 92 ตรอกวัดพระยายัง แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ชุมชนบ้านครัว

ลานกีฬาพัฒน์ 2

ลานกีฬาพัฒน์เป็นสถานที่ออกกำลังกายของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย จากที่เราไปเห็นด้วยตาตัวเอง มีทั้งกลุ่มเด็กเล็กในสนามเด็กเล่น กลุ่มเด็กโตเตะฟุตบอลกันหลังเลิกเรียน มีแม้กระทั่งผู้สูงอายุที่มาใช้บริการเครื่องออกกำลังกาย นี่เป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างประโยชน์ให้ชุมชน เรายังจะเห็นแนวคิดนี้จากสถานที่อื่นในชุมชนด้วย ยกตัวอย่างสวน 15 นาที ซึ่งเป็นสวนสุขภาพขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบ้านเรือนแออัดในชุมชนบ้านครัว

ครั้งหนึ่งบริเวณลานกีฬานี้เคยเกือบถูกสร้างเป็นทางถนน และแน่นอนว่าได้รับเสียงค้านจากคนชุมชนบ้านครัวและคนในพื้นที่ใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ การร้องเรียนกินเวลายาวนานหลายปีโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบ ชาวบ้านหลายคนก็ซื้อบ้านที่อื่นไว้เป็นแผนสำรองเรียบร้อย จนกระทั่งมีการยกพื้นที่ส่วนนี้ให้สำนักพระราชวัง จึงเกิดเป็นลานกีฬาพัฒน์ในพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมออกแบบและวางผังด้วย

พิกัด : บริเวณแยกอุรุพงษ์ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ชุมชนบ้านครัว

บ้านต้นตระกูล บินมะฮมุด

ระหว่างเดินเลียบริมคลองเพลินๆ ลองมองเรือนไม้เก่าตามรายทางดูด้วยนะ สถาปัตยกรรมของที่นี่ทั้งสวยและหายาก เรือนไม้เก่าในชุมชนหลายหลังถูกทิ้งร้างให้เสื่อมตามกาลเวลา จึงเหลือให้ชื่นชมเพียงไม่กี่หลังแล้ว

ชุมชนบ้านครัว

เรือนไม้นี้เป็นเรือนแบบมลายูปัตตานี บ้านทั้งหลังสร้างจากไม้สักทอง ส่วนประกอบที่สวยสะดุดตาคือกระจกสีสันสดใสในช่องหน้าต่างของบ้าน หลังคามุงกระเบื้องว่าวเป็นเอกลักษณ์ บวกกับลายฉลุไม้สวยงามตกแต่งอยู่รอบตัวบ้าน หากใครเคยเห็นพระที่นั่งวิมานเมฆจะสังเกตได้ว่าทั้งสองอาคารมีทรงเดียวกัน เพียงแต่เรือนไม้ในชุมชนบ้านครัวเป็นขนาดย่อส่วนลงมา แต่ของสวยงามเช่นนี้มีไว้ชมอย่างเดียวเท่านั้น หากใครแวะผ่านก็ยืนดูจากข้างนอกได้ เพราะเขาไม่ได้เปิดให้เข้าชมภายในนะจ๊ะ

ชุมชนบ้านครัว

สำรับบ้านครัว

แล้วเพื่อนๆ เคยกินอาหารแขกจามกันไหมเอ่ย รู้ไหมว่าแต่ละเมนูมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เพราะสมัยก่อนคนในชุมชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เมนูส่วนใหญ่เลยมีเนื้อเป็นวัตถุดิบหลักและมีเมนูอาหารไทยที่ปรับให้เป็นฮาลาลด้วย ใครเป็นสายเนื้อจะต้องหลงรักสำรับบ้านครัวแน่นอน

มาดู 4 เมนูที่เราคัดมาให้แล้วว่าคุ้มค่ากับการไปตามรอยแน่นอน สงสัยจังว่าจานไหนจะทำให้เพื่อนๆ น้ำลายสอบ้างนะ

ชุมชนบ้านครัว

• แกงส้มเขมรหรือแกงส้มเนื้อ

แกงส้มเขมรสูตรต้นตำรับบ้านครัวเขาใช้แต่เนื้อวัวเท่านั้นนะ เราแอบไปถามสูตรมาได้ความว่าเขาจะต้มเนื้อจนเปื่อยแล้วปรุงด้วยเครื่องแกงส้มผสมแกงเผ็ด เติมรสเปรี้ยวด้วยมะขาม มะเขือเทศ และเพิ่มความหอมด้วยใบโหระพากับมะกรูด

เมนูนี้ถือเป็นเมนูชูโรงของคนบ้านครัวเลย เรายังได้เคล็ดลับมาว่าต้องต้มแล้วทิ้งไว้ค้างคืนสำหรับกินวันถัดไป เพราะจะได้น้ำแกงเข้มข้นที่งวดแล้ว คนบ้านนี้มักเสิร์ฟแกงส้มเขมรพร้อมไข่เจียวหรือปลาลิ้นหมาทอดไว้กินกับข้าวสวยร้อนๆ

• บอบอสะแด๊ก

บอบอสะแด๊กคือของหวานประจำชุมชนบ้านครัวที่เวลามีงานชุมชนเมื่อไหร่จะต้องต้มหม้อใหญ่แจกกันทุกบบ้าน ชื่อขนมอาจไม่คุ้นหูนักเพราะมาจากภาษาแขกจามแปลว่าข้าวต้มถั่ว บอบอสะแด๊กทำจากถั่วที่คั่วจนเกือบไหม้ จากนั้นนำมาเคี่ยวกับข้าวเหนียว เติมสาคูลงไปแล้วราดหน้าด้วยกะทิสด หน้าตาของมันคล้ายข้าวเหนียวเปียก

ขณะที่เราพิมพ์อยู่ตอนนี้ก็ยังจดจำความหอมมันของกะทิปนกลิ่นไหม้จากถั่วได้ขึ้นใจ บวกกับสัมผัสหวานข้นของข้าวเหนียวและสาคู บอบอสะแด๊กเป็นขนมที่กินครั้งแรกแล้วลืมไม่ลงเลยแหละ

ชุมชนบ้านครัว

ชุมชนบ้านครัว

• เนื้อสะเต๊ะ&ไก่สะเต๊ะ 100 กว่าปี

มาถึง “บังมิน (บ้านครัว)” ร้านที่คนในชุมชนขายให้เราฟังตั้งแต่เจอหน้ากันว่าอร่อยที่สุดในบ้านครัวแล้ว แถมไม่ได้เปิดขายทุกวันด้วยนะ แต่หากชุมชนมีงานเทศกาลอาหารก็จะมาออกร้านเสมอ สูตรเนื้อ-ไก่สะเต๊ะร้านนี้สืบทอดกันมา 3 รุ่นรวมระยะเวลากว่า 100 ปี แต่ยังคงความอร่อยไว้เหมือนเดิม พร้อมการันตีคุณภาพดีเยี่ยมจากวัตถุดิบที่คัดสรรมาอย่างดี

สะเต๊ะของที่นี่เป็นสะเต๊ะเตาถ่านที่ใช้ถ่านไม้โกงกาง น้ำจิ้มก็ไม่มีใครเหมือนเพราะใส่มันฝรั่งบดลงไปเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัส แม่ครัวยังบอกอีกว่าเนื้อไก่นี่แล่สดๆ เข้าใหม่ทุกเช้า ส่วนวัตถุดิบอื่นๆ ก็มาจากกลุ่มเกษตรกรที่แม่ครัวรู้จักทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกะทิสด น้ำตาลโตนดแม่กลอง หรือแตงกวาราชบุรีที่มีเปลือกบาง

ชุมชนบ้านครัว

• ม้าฮ่อเนื้อไก่

ม้าฮ่อ อาหารว่างไทยโบราณที่หากินได้ยาก แต่ที่นี่กลับเป็นเมนูที่กินกันได้ทุกวัน คนที่เคยกินอาจจะเคยชินกับม้าฮ่อเนื้อหมู ส่วนสูตรของบ้านครัวนั้นใช้ไก่แทน เพราะผู้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โดยนำไก่มาผัดเครื่องปรุงสามเกลอได้แก่พริกไทย กระเทียม และรากผักชี วางบนผลไม้รสเปรี้ยวอย่างสัปปะรดบ้าง มะเฟืองบ้าง แต่งหน้าด้วยพริกสดจากสวนของแม่ครัวเอง

ใครอยากมาตามรอยก็ต้องมาที่เรือนแม่ทรัพย์ ร้านอาหารริมคลองที่เป็นเหมือนอู่ข้าวอู่น้ำของคนในชุมชน ดำเนินกิจการโดยสามครัวอัธยาศัยดี รับรองว่าจะทั้งกินเพลินและคุยเพลินแน่นอน

หลังเดินสำรวจทั้งวัน เราพบว่าเรื่องราวตามรายทางของชุมชนบ้านครัวมีอะไรมากกว่าที่คิด การเดินเที่ยวครั้งนี้ทำให้เราได้รู้จักแขกจามแบบครบรส ทั้งด้านอาหาร บ้าน ศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น แถมผู้คนก็อัธยาศัยดีมากด้วย จนอยากกลับไปอีกครั้งเลย

Tags: