In The Farm
7 ความม่วนส่งตรงจากไร่จิม ทอมป์สันโฉมใหม่ที่เล่าวัฒนธรรมอีสานผ่านเฮือน ท้องนา และดอกไม้
- ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ งานเปิดฟาร์มประจำปีของไร่จิม ทอมป์สัน จัดเต็มความม่วนทั้งเฮือน นา ข้าว อาหารและขนมไทย กับหมอลำ ตื่มด้วยเรื่องราวอเมริกันอีสานผ่านนิทรรศการภาพถ่ายและพิซซ่าหน้าลาบไก่กับข้าวผัดอเมริกัน
เข้าธันวาฯ ลมหนาวแวะมาเยือน เวลานี้เหมาะจะเที่ยวป่าเที่ยวเขาที่สุดแล้ว ไร่จิม ทอมป์สัน ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดี ไร่นายจิมหรือถ้าจะเรียกให้เข้ากับความเป็นจริงมากกว่าคือนาข้าวของนายจิม ตั้งอยู่ ณ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ภายในกว้างขวางขนาดต้องนั่งรถรางสำรวจและแวะกันหลายจุด
โซนเด่นสะดุดคือทุ่งดอกไม้สีเหลืองส้มตัดกับดอกสีขาวม่วงที่ผู้จัดการฟาร์มบอกว่าจะบานในช่วงนี้เท่านั้น โซนอื่นๆ มีนาข้าว เถียงนา คอกควาย และเฮือนอีสาน สาเหตุที่เรียกว่า ‘เฮือน’ เพราะภาษาลาวไม่มีตัว ร. เรือ และเฮือนหมายถึงบ้านแต่ละหลัง ส่วนบ้านหลายหลังรวมกันเรียกว่า ‘บ้าน’ หรือที่ในภาษากลางเรียกว่าหมู่บ้าน
ภายในไร่นี้มีไฮไลต์เด็ดการันตีความม่วนถึง 7 จุด แต่ละแห่งเสนอวัฒนธรรมอีสานผ่านขั้นตอนการเก็บเกี่ยวข้าว การกินและแปรรูปข้าว ดนตรีอีสาน นิทรรศการภาพถ่าย และการต่อยอดวัตถุดิบท้องถิ่นไปเป็นของกินของใช้มากมาย ยิ่งไปกว่านั้นคือการสะท้อนประวัติศาสตร์ช่วงสงคราม โดยเล่าวัฒนธรรมอเมริกันควบคู่กับวัฒนธรรมอีสาน
ธีม ‘ไอเขียนเลตเตอร์ถึงเธอฟาร์มจิม’ ของปีนี้ มาจากเพลง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ ที่แต่งโดยครูอาจินต์ ปัญจพรรค์ และขับร้องโดยมาณี มณีวรรณ เพลงเผยความคิดถึงของสาวชาวอีสานที่มีต่อนายทหารอเมริกันที่ย้ายกลับอเมริกา หลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุด งานนี้ไร่เลยมีนิทรรศการอเมริกันอีสานทั้งในเฮือนและในอาหาร
เรามาเที่ยวไร่นี้สองวันติดกันแล้วพบว่า ยังกิน ดื่ม เที่ยวไม่เต็มอิ่มเลย แวะครบทุกเฮือนนะ แต่อยากอยู่ให้นานกว่านี้…มาเด้อพี่น้อง มาม่วนนำกัน!
• โรงสี
โรงสีสามลูกหิน จุดแวะพักแห่งแรกที่ยกโรงสีอายุเกินร้อยมาตั้งและยังเปิดเครื่องทำงานอยู่ซะด้วย โรงสีนี้จะให้ข้าวขาวออกมาเมื่อเสร็จกระบวนการ แบ่งเป็นข้าวอันดับหนึ่ง สองคือข้าวหัก สามคือปลายข้าว ซึ่งมีจมูกข้าว จะเอาไปใช้เลี้ยงลูกเจี๊ยบหรือทำข้าวต้มก็ดี สี่คือรำข้าวใช้เลี้ยงหมูก็ได้ แต่ฟาร์มนี้เอาไปคั่วใส่ปลาร้าด้วย
บริเวณหน้าโรงสีจะเห็นคนตีข้าวช่วยกันอยู่ วิธีการคือฟาดข้าวให้เมล็ดหลุดจากฟ่อนข้าว แล้วจึงเอาเมล็ดไปเข้ากระบวนการในโรงสีอีกทีหนึ่ง ส่วนฟ่อนข้าวที่เหลือก็ไม่ได้ทิ้งทันที แต่กองสะสมกันจนสูงไว้หน้าโรงสี เรียกว่า ลอม คนอีสานเขายังวัดความรวยกันที่ลอมด้วยนะ ยิ่งลอมสูงเท่าไรแปลว่ายิ่งรวย ถึงขั้นมีคำแซวที่ว่า ‘ลอมข้าวสูงมากจนตกลงมาคอหักตาย’
• ปราสาทข้าว
หากเดินเลยเขตหมู่บ้านอีสานมาหน่อยหนึ่ง จะเจอปราสาทข้าวสีทองอยู่กลางนา ปราสาทนี้เกิดขึ้นตามประเพณีฮีต 12 ของเกษตรกรชาวอีสาน ในเดือน 12 จะมีงานบุญคูณลาน เอาฟ่อนข้าวมากองไว้เป็นบุญคูณลานสื่อว่าปีนี้มีข้าวกินแล้ว ปีหน้าก็จะมีข้าวพอกพูนเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ จากนั้นก่อนจะทำบุญกุ้มข้าวใหญ่ ชาวนาแต่ละเฮือนจะแบ่งข้าวของตัวเองมารวมกันที่ลานวัด ช่วยกันก่อขึ้นมาจนเป็นปราสาทข้าว จากนั้นช่วยกันตีข้าวขายแล้วเอาเงินมาบำรุงศาสนา
ปราสาทที่ว่าสูงท่วมหัวจากโครงเหล็กที่ขึ้นไว้เป็นทรง แล้วเอาฟ่อนข้าวมาผูกและจับไขว้เพื่อมัดเป็นลาย ไร่ของนายจิมตั้งใจทำปราสาทข้าวระหว่างช่วงที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มาเห็นตัวอย่างของความร่วมมือร่วมใจกันของชาวนา และตลอดทั้งเดือนจะเห็นปราสาทค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างขึ้น มองไปทั้งสวยทั้งได้กลิ่นอายวัฒนธรรม
• นิทรรศการข้าว (Rice is Life Exhibition)
นิทรรศการนี้ทั้งอร่อยทั้งอิ่ม มันกินได้เด้อทุกคน เฮือนนี้หุงข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นตั้ง 10 สายพันธุ์ไว้รอเราไปชิม แต่แค่นี้อย่าเพิ่งคิดว่าเยอะเชียว เพราะข้าวไทยมีตั้ง 5,000 กว่าสายพันธุ์ตามที่กรมการข้าวบันทึกไว้ แล้วในความหลากหลายนั้นจะแยกได้ง่ายและสนุกที่สุด ก็คือลองกินนี่แหละ บอกเลยนะว่าทุกสายพันธุ์ไม่ต่างกันที่รสก็ต่างกันที่รูป ไม่ต่างกันที่รูปก็ต่างกันที่กลิ่น นิทรรศการนี้แจกแจงรสชาติ สัมผัส และกลิ่นของข้าวออกมาเป็น Flavor Wheel ให้เห็นภาพเลยด้วย
เฮือนนี้เปิดโลกข้าวของเราเลย เกิดเป็นคนไทยใครว่ารู้จักข้าวดี ข้าวขาวก็ไม่ได้เหมือนกันไปหมด กลิ่นก็แตกต่างจนอาจจะแยก Taste Note ได้อย่างน้ำหอมหรือกาแฟ (หลังจากศึกษาและเก็บข้อมูลเพิ่มเติมมหาศาล) มั่นใจได้เลยว่าในอนาคตเราจะเลือกกินข้าวได้สนุกขึ้น และเลือกกินให้เข้ากับอาหารของมื้อนั้นๆ ได้เหมือนเราเลือกเมล็ดกาแฟ
พอตักข้าวมาชิมแล้วก็อย่าลืมอ่านเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของข้าวและข้าวท้องถิ่นสายพันธุ์ต่างๆ นะ ไม่แน่ธุรกิจข้าวอาจเติบโตจนมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่าตัว และมีตัวเลือกข้าวในตลาดมากขึ้น ดังนั้นไม่ว่าจะวางตัวเป็นคนทำธุรกิจหรือนักกิน ของแบบนี้ใครเริ่มก่อนก็ได้เปรียบมากกว่าทั้งนั้น
• นิทรรศการอเมริกันอีสาน (American-Isan Exhibition)
นิทรรศการภาพถ่ายเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอีสาน โดยนักวิชาการชาวอเมริกัน วิลเลียม เจ. เคลาส์เนอร์ เขารู้จักประเทศไทยตอนที่เรียนปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเยล แต่เพิ่งได้มาสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมไทยด้วยตัวเองเมื่อปี 2498 เพราะได้รับทุนวิจัยแล้วมาใช้ชีวิตอยู่ ณ บ้านหนองขอน จังหวัดอุบลราชธานี
ระยะเวลาเพียงหนึ่งปีนั้นกลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเคลาส์เนอร์ เขาลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านหนองขอน ทุ่มเทกับการศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน และทำงานด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนทั้งในด้านวิถีชีวิต ศาสนา และการปรับตัวตามกระแสการเมืองสู่สังคมระบอบประชาธิปไตย จนกระทั่งเคลาส์เนอร์เสียชีวิตลงในปี 2564 ดังนั้น นิทรรศการนี้คือภาพรวมวัฒนธรรมอีสานภายในระยะเวลา 6 ทศวรรษผ่านสายตาของชาวต่างชาติที่มีสายสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างแน่นแฟ้น
ในบริเวณใกล้เคียงมีร้านอาหารฟิวชั่นให้เราได้ลอง จานแรกที่เรียกความสนใจจากคนบนโต๊ะอาหารได้คือพิซซ่าหน้าลาบไก่ เสิร์ฟในถาดเหล็กลายดอกไม้อันคุ้นหน้าคุ้นตา อีกเมนูคือข้าวผัดอเมริกัน เมนูนี้ไม่ได้มีที่มาจากอเมริกานะ แต่เพราะมีเหล่านายทหารเข้ามาประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดเป็นเมนูฟิวชั่นจากความคิดถึงบ้านเกิดผสมกับวัตถุดิบใกล้ตัว รอบเฮือนที่ใช้จัดนิทรรศการมีค่ายทหารจำลองด้วยแหละ
• เวทีดนตรี
ดินเนอร์ถึงฟาร์มอีสานทั้งที จะให้เงียบเชียบน้อยหน้าคนอื่นก็ไม่ได้ ไร่จิม ทอมป์สันเตรียมเวทีพิสูจน์ความม่วนตั้งสองเวทีสองแนวเพลง หนึ่งคือ American Isan Stage วงดนตรีโฟล์กและวงคันทรี ซึ่งขึ้นแสดงในช่วงกลางวัน บริเวณลานใกล้กับนิทรรศการอเมริกันอีสาน สองคือ Molam Music โดยวงที่ขึ้นเล่นล้วนเป็นวงดนตรีหมอลำร่วมสมัย เวทีหมอลำนี่ขอบอกเลยว่าจัดเต็ม พาเอาเครื่องดนตรีไทยขึ้นมาแน่น เสริมฉากหลังอลังการแบบหมอลำแท้ๆ เราขอยืนยันจากประสบการณ์ตรงว่า พวกเขาจะพาเราลุกออกมาเซิ้งหน้าเวทีแบบลืมส้มตำไก่ย่างในจานข้าวไปเลย
• นิทรรศการลำโลก
(Lam Loke, The World of Molam Exhibition)
นิทรรศการภาพถ่ายหมอลำที่ไม่ได้จัดเอาม่วนอย่างเดียว แต่เล่าย้อนไปถึงความเชื่อเรื่องผีวิญญาณของคนอีสานที่ก่อให้เกิดการ ‘ลำ’ หรือการขับร้องเพื่อติดต่อสื่อสารกับพญาแถน (ผีที่มีอำนาจสูงสุด) ซึ่งนอกจากภาพถ่ายแล้วยังมีภาพวาดฉากเวทีหมอลำบนผืนผ้าจากคณะหมอลำมาขึงให้ดูอย่างใกล้ชิดแบบไม่ต้องปีนขึ้นไปดูบนเวทีกัน
ภาพถ่ายในนิทรรศการไล่มาตั้งแต่ลำผีฟ้า ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นรูปแบบการลำประเภทที่เก่าแก่ที่สุด ภาพถ่ายพิธีไหว้ครู ลากยาวมาจนถึงศิลปินเพลงลูกทุ่งหมอลำ ลำไย ไหทองคำ ต่าย อรทัย เจ้าของฉายาราชินีดอกหญ้า และมนต์แคน แก่นคูณ ผู้มียอดบน Youtube สูงกว่าวงระดับโลกอย่าง Blackpink
เจ้าของภาพถ่ายเหล่านี้คือจอห์น คลูว์ลีย์ นักเขียนและช่างภาพที่มีผลงานบน Bangkok Post นาน 30 ปี สนใจและเขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีของเอเชีย เขาคือชาวต่างชาติผู้อยู่เบื้องหลังการนำรถทัวร์หมอลำไปสู่เทศกาล Wonderfruit ในปี 2557 ปัจจุบันเขายังมีแพสชั่นให้กับหมอลำอย่างเข้มข้น และทำงานร่วมกับ Jim Thompson Art Center
• กิจกรรมเวิร์กช้อป
สำหรับคนพลังงานล้นเหลือ ฟาร์มเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้ลงมือทำจริง สัมผัสวัฒนธรรมอีสานด้วยสองมือผ่านเวิร์กช้อปหม่อนไหม แม่ๆ ป้าๆ จะสาวไหมจากรังไหมให้ดูกันสดๆ ใครอยากลองทำดูก็ได้ เส้นไหมเหล่านี้จะนำไปทอเป็นผืนต่อโดยโรงทอผ้าในฟาร์ม ก็แหม ถ้าเอ่ยชื่อจิม ทอมป์สัน จะขาดผ้าไหมไปไม่ได้เลยเชียวล่ะ
อีกหนึ่งกิจกรรม คือเวิร์กช้อปขนมไทยนี่กางวัตถุดิบกับอุปกรณ์ให้เราสังเกตการณ์ได้เต็มสองตาระหว่างกระบวนการพิถีพิถัน อุปกรณ์จำพวกไม้และเครื่องสานก็มีให้ดูว่าคนอีสานทำขนมด้วยของใช้เหล่านี้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ในกระจาดมีกระยาสารท ข้าวต้มมัด ขนมเปียกปูนขายในราคาถ้วยละ 20 บาทเท่านั้น ใกล้ๆ กันมีเตาปิ้งข้าวโป่งพร้อมวัตถุดิบอย่างรากตดหมาให้ลองดม
แถมด้วยกิจกรรมฟรีอย่างเวิร์กช้อปปั้นดิน เพนต์ดินปั้น และระบายสีน้ำจากดอกไม้
ก่อนกลับอย่าลืมแวะร้านขายของฝาก ซึ่งเป็นพื้นที่อวดศักยภาพของวัตถุดิบท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์บนชั้นวางมีทั้งซอสถั่วเหลืองตราต้าเหยินจากเบตง ซีอิ๊วขาวตรากวางดาวทองจังหวัดสุพรรณบุรี ซอสพริกก็มีให้เลือกถึง 3 สูตร ข้าวพันธุ์ท้องถิ่นต่างๆ ผ้าพันคอจากผ้าไหม ไปจนถึงสินค้ามูลค่าสูงอย่างสุรา Detour นี้เลยสรุปจบเส้นทางของวัตถุดิบท้องถิ่นด้วยการต่อยอดมูลค่าให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด ขยายมุมมองต่อความเป็นไปได้ของสินค้าท้องถิ่นได้อีกมากเลย
ช่วงเปิดไร่จิม ทอมป์สัน ประจำปี 2566 จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 เท่านั้นนะ เปิดแค่ปีละครั้ง แถมครั้งละไม่นาน ถ้าพลาดแล้วต้องรออีกเป็นปีเด้อพี่น้องเอ๊ย
Jim Thompson Farm
วันที่ 9 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567
Facebook : Jim Thompson Farm
Map : https://maps.app.goo.gl/dWFkEzKJAqvYE1Ru6
ซื้อตั๋วได้ทาง : ticketmelon.com/jimthompsonfarm/farmtour2023