About
ART+CULTURE

In The Name of Tee

ศิลปินและช่างสัก ‘sasi tee’ ผู้ลงลายเส้นพลิ้วไหวของดอกไม้ ความเป็นมนุษย์ และเทพเจ้า

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส ภาพ นรวีร์ ศรีมะโน Date 09-01-2024 | View 3062
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘sasi tee’ คือนามปากกาของตี้ – ศศิ ธ. ศิลปินอิสระสาย Illustrator และเป็นช่างสักที่ดูแลลูกค้าอย่างเข้าอกเข้าใจ เธอมักวาดดอกไม้ มนุษย์ หรือเทพเจ้าผ่านลายเส้นเว้าโค้ง พลิ้วไหว ให้ความรู้สึกเป็นอิสระเพื่อถ่ายทอดความงดงามทั้งจากตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมข้างในทุกรูปแบบ

การค้นหาความหมายในเวลาที่ได้มองภาพวาด ได้พิจารณาลายเส้นสีดำที่ตวัดบ้าง ลากยาวหรือโค้งเว้าอย่างอ่อนช้อย จนเกิดเป็นรูปดอกไม้ เรือนร่างมนุษย์ เทพเจ้า หรือความเหนือจริงชวนฝัน ตามจินตนาการของคนวาดที่พลอยให้คนเสพผลงานเกิดความหลงใหล นับว่าเป็นเสน่ห์ของการชมศิลปะที่ทำให้เราอยากรู้จักตัวตนของศิลปิน

‘sasi tee’ หรือ ตี้ - ศศิ ธ. วาดสิ่งเหล่านั้นเพื่อเปรียบเปรยวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ดอกไม้ มนุษย์ เพื่อถ่ายทอดความงดงามในทุกรูปแบบ (Appreciate of Beauty) ตั้งแต่การเบ่งบานอย่างมีชีวิตชีวา และโรยราไปตามกาล ตี้เล่าให้ฟังขณะจัดดอกไม้ใส่แจกันกับแฟนของเธอ ซึ่งควบตำแหน่งผู้ช่วยคนสำคัญใน STUDIO TANYA by sasi tee แห่งนี้

STUDIO TANYA

เส้นเว้าโค้งที่เป็นอิสระต่อทุกสิ่ง

การวาดรูปเป็นอีกหนึ่งการแสดงออกที่ตี้ถนัดกว่าการสื่อสารด้วยวิธีอื่น แน่นอนว่าลายเส้นที่เราเห็นกันอยู่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกที่ตี้จับดินสอวาด ก่อนหน้านี้ตี้ชอบวาดคาแรกเตอร์จากการ์ตูนและมังงะ เธอฝึกมือมาเรื่อยๆ จนพบว่าชื่นชอบเส้นโค้งที่ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังไหลลื่น คล้ายมองดูผืนผ้าที่กำลังพลิ้ว ปลิวไปตามสายลม เธอยังชื่นชอบมองรายละเอียดเล็กๆ ของวัตถุที่ทำให้เธอเริ่มวาดรูปด้วยการตัดทอนบางอย่างออกไป

STUDIO TANYA

ตี้หยิบสมุดสเก็ตช์ภาพขึ้นมาก่อนชี้ไปที่รูปหนึ่ง เป็นลวดลายคดโค้งในกรอบรูปที่เธอนั่งวาดในพิพิธภัณฑ์ที่ซูริก ถัดมาอีกภาพคือรูปปั้นที่เผยสัดส่วนเพียงบางส่วน “รูปปั้นอันนี้ตั้งแบบย้อนแสง จนทำให้เกิดเป็นเงาบดบังดีเทลบางส่วนของรูปปั้น แต่เงาที่เกิดขึ้นเรามองเห็นเป็นทะเลที่ตัดกับรูปปั้นพอดี ก็เลยออกมาเป็นรูปแบบนี้” ศิลปะของตี้สามารถขยายมิติการมองได้หลากหลายเลยทีเดียว

STUDIO TANYA

ถ้าพลิกหน้าสมุดสเก็ตช์ไปเรื่อยๆ จะเห็นว่าเธอมักวาดสิ่งที่ชวนให้นึกถึงเทพปกรณัม หรือสิ่งเหนือจริงผ่านเส้นเว้าโค้งได้อย่างอ่อนโยนและเป็นอิสระ แม้กับบางรูปที่มีทั้งมีด น้ำตา และหยดเลือดก็ตาม เธอทำให้ทุกภาพแสดงออกถึงความงดงามและสามารถเปิดเผยห้วงอารมณ์ต่างๆ ในตัวของมันเอง พลอยทำให้คนดูอย่างเราเกือบนึกไปเองว่า กำลังอ่านบทกวีที่บอกเล่าความเป็นหญิงอยู่

“ที่จริงแล้วตี้เป็นคนที่มีมิวส์ (Muse) มิวส์ของตี้หน้าตาจะมีความเป็น Feminie และเพราะมิวส์มีความเป็นผู้หญิงสูง ภาพที่ออกมาเลยดูเป็นแบบนั้น แต่ถ้าถามว่าตอนนี้วาดผู้หญิงหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าเปล่า เพราะนางฟ้า เทพในหัวของเรา เขาอยู่เหนือระบบความเจาะจงเรื่องเพศไปแล้ว”

STUDIO TANYA

ขณะเดียวกัน ตี้มองว่าศิลปะไม่ได้กำหนดความเป็นหญิงหรือชาย ลายเส้นของเธอจึงให้ความรู้สึกปลดปล่อยและเป็นอิสระมากกว่าการแสดงออกถึงกรอบความเป็นเพศแบบสองขั้ว (Gender Binary)

STUDIO TANYA

“ลายเส้นของตี้ก็เป็นสับเซ็ตของสิ่งที่เรียกว่าศิลปะ ถามว่ามันเป็น Binary ไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ ตี้ค่อนข้างไม่ได้คิดถึงเรื่องนั้นเท่าไหร่ ถ้าให้พูดตรงๆ ตอนวาด ตี้จะโยงไปแค่เรื่องความงามที่หญิงมีก็ได้ ชายมีก็ดี มันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ชายหรือหญิงเท่านั้นที่มี ความงามมีได้ทั้งในสัตว์ ในพืชด้วยเช่นกัน อารมณ์เราชื่นชมความงดงามจากทุกสิ่งทุกอย่างนั่นล่ะ”

STUDIO TANYA

เส้นทางช่างสัก STUDIO TANYA by sasi tee

ตี้ชอบทำงานกับมีเดียหลายรูปแบบ เธอทำสติกเกอร์ โปสต์การ์ด พวงกุญแจออกมาเป็นของสะสมให้คนที่ติดตามงานของเธอได้ซื้อเก็บ เคยเป็นนักวาดภาพประกอบบทความ เคยออกแบบปกหนังสือ ออกแบบ Background Stage ของคอนเสิร์ต ก็ทำมาแล้ว เพราะทำหลายอย่างทำให้ศิลปะของตี้เข้าตาทั้งคนไกลตัวและคนใกล้ตัว วันหนึ่งเพื่อนของเธอมาขอให้ช่วยออกแบบลายสักให้หน่อย ด้วยความที่ตี้เมื่อ 2 ปีก่อนไม่ได้สุงสิงศิลปะบนเรือนร่างสักเท่าไหร่ ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่ปฏิเสธที่จะลองดู

“พอได้ออกแบบลายที่ 1 ก็มีลายที่ 2 3 ตามมา ซึ่งคนที่เข้ามาไม่ใช่เพื่อนละ มีคนที่ตี้ไม่รู้จักเข้ามา และตัวเราเองก็อยากจะมีลายสักของตัวเองที่เอว พอมันมีผลงานออกมาเรื่อยๆ ตี้ก็เริ่มทำไอจีรับออกแบบลายสัก tee__tatt__too ซึ่งแยกตัวออกมาจาก sasi tee ที่เน้นวาดภาพประกอบ”

STUDIO TANYA

ออกแบบลายสักอยู่สักพักก็พบว่า ลูกค้าอยากให้ออกแบบแล้วสักจบไปในตัวเลย อีกทั้งมีจุดเปลี่ยนสำคัญที่ตี้ขอเล่าเพิ่มคือ เธอเคยออกแบบรูปแมงกะพรุนส่งให้เพื่อนช่างสักที่ Trueblue Studio ซึ่งเป็นลายที่เน้นเส้นละเอียดยิกจนน่าปวดหัว “เพื่อนที่เป็นช่างสักเขาก็ถามเลย จะสักเองเลยไหม เราก็เออ วะ มันเป็นไอเดียที่ดีนะ (หัวเราะ)”

STUDIO TANYA

ตั้งแต่นั้นมาตี้ก็เข้าๆ ออกๆ สตูดิโอนั้นเพื่อฝึกวิชาการสักกับเพื่อน จนปีที่แล้ว เธอตัดสินใจเปิดสตูดิโอสักชื่อ STUDIO TANYA by sasi tee ในซอยเจริญนคร 8 ชั้นล่างมีไว้สำหรับขายผลงานศิลปะสะสมของตี้ ส่วนชั้นบนเนรมิตให้เป็นห้องสักโดยเฉพาะ เธอบอกกับเราว่าลูกค้าที่ต้องการสักกับเธอจะต้องจองคิวล่วงหน้า

STUDIO TANYA

อาชีพที่ถูกเนื้อต้องตัวกับการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัย

ถ้าพูดถึง ‘รอยสัก’ กับภาพจำในอดีต เราคงนึกไปถึงยันต์ห้าแถว เสือเผ่น ยันต์มงกุฎ และลายอื่นๆ ที่มักเกี่ยวโยงไปกับความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ดูน่ากลัว ผู้สักจะใช้เป็นสัญลักษณ์ป้องกันตัวจากภัยอันตราย อีกทั้งยังใช้เป็นเครื่องรางของขลังที่ก่อให้เกิดภาพจำที่ว่า คนมีรอยสักมักเป็นคนไม่ดี

STUDIO TANYA

แต่ในยุคที่เปิดกว้างอย่างทุกวันนี้ รอยสักไม่ได้ให้ความหมายนัยนั้นเสมอไป แต่ยังสามารถแสดงออกถึงความรัก รสนิยม แฟชั่น ความชื่นชอบที่เริ่มเป็นปัจเจกมากขึ้น ในขณะเดียวกันการตีความของคนยุคใหม่มองว่า การสักคือศิลปะบนเรือนร่าง เราเลยจะเห็นลายสักนั้นมีหลากหลายสไตล์มาก ตั้งแต่การสักภาพวาดชื่อดัง วลีโดนใจ หรือรูปสัตว์สุดคิวท์ที่ดูห่างไกลไปจากภาพจำในอดีตไปแล้ว

STUDIO TANYA

ตี้มองว่าในบ้านเราเปิดกว้างกับเรื่องสักมากขึ้น แต่ก็ยังมีบางสังคมขนาดย่อยยังไม่ยอมรับ ทำให้คนมีรอยสักจำเป็นต้องปกปิดมันไว้ในร่มผ้า สำหรับช่างสักเอง สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือการแตะเนื้อต้องตัวลูกค้า ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นว่า บางร้านเคยมีกรณีที่ลูกค้าออกมาพูดถึงการถูกสัมผัสที่ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังถูกคุมคาม ตี้ในฐานะช่างสักเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เธอจึงอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องสถานที่เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของความเชื่อใจ

“ตี้จะพูดตั้งแต่แรกว่า ถ้าเราแตะที่ส่วนไหนแล้วรู้สึกไม่โอเค หรือมีผลต่อสุขภาพใจ ขอให้บอกเรา และก่อนที่จะเข้ามาสัก ตี้จะให้ลูกค้าทำฟอร์มแบบทดสอบเรื่อง Consent คุณไม่มีโรคติดต่อใช่ไหม ยินยอมที่จะสักเองใช่ไหม ไม่ได้เมาหรือใครบังคับมาสักใช่ไหม ยังมีเรื่อง Document ภาพเพื่อเก็บเป็นผลงานของเรา เราจะถามลูกค้าเสมอว่า ขอถ่ายรูปได้ไหม ถ้าได้ เราลงในโซเชียลได้ไหม แท็กหาได้ไหม หรือให้พูดชื่อเฉยๆ ได้ไหม หรือไม่ให้พูดทั้งชื่อและไม่ให้แท็ก ลงคำว่าลูกค้าได้ไหม”

STUDIO TANYA

เธอพูดอย่างเข้าอกเข้าใจต่อความละเอียดอ่อนเรื่องนี้ดี พลอยทำให้เราเกิดความรู้สึกสบายใจไปด้วย ตี้ยอมรับว่าการที่เราถามลูกค้าเยอะ เธอก็กังวลอยู่เหมือนกันว่าลูกค้าจะไม่โอเค แต่ในทางกลับกัน วิธีนี้น่าจะสร้างข้อตกลงที่ชัดเจน และน่าจะส่งผลดีทั้งต่อเธอและต่อลูกค้าโดยตรง

STUDIO TANYA

มีคำพูดหนึ่งที่เรายังประทับใจ “อาชีพช่างสักทำให้ตี้ได้เรียนรู้ความเป็นมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบ” เพราะก่อนลงมือสักหรือออกแบบลายสักให้ เธอจะมอบชั่วโมงแห่งการพูดคุยกับลูกค้าเพื่อทำความรู้จักกันและกันก่อน ทำให้ตี้มองเห็นว่าความชอบในลายสักของแต่ละคนมีที่มาที่แตกต่างกัน บางคนต้องการให้ออกแบบรอยสักจากเรื่องราวในวัยเด็ก บางคนรู้สึกว่าถ้ามีรูปคาแรกเตอร์จากการ์ตูนเรื่องโปรดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย แค่มองก็คงทำให้ยิ้มได้แล้ว “ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันมาก และในขณะเดียวกันความชอบบางทีมันก็ง่ายนิดเดียวเอง”

STUDIO TANYA

ถ้ามองในเลนส์ยุคสมัยก่อน ใครๆ ก็คงจะไม่เชื่อคำพูดของตี้แน่ๆ แต่ยุคนี้เราเชื่อว่าอะไรๆ คงเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว…เราและตี้ยิ้มให้กันก่อนโบกมือร่ำลา

STUDIO TANYA by sasi tee
ที่อยู่ : ซอย เจริญนคร 8 แขวงตลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ 10600
Instagram : sasiteee / tee___tatt___too และ X: @sasiteee

Tags: