- When Life Gives You Lemons บ้านศิลปะของนักล่าฝัน ทั้งศิลปิน ช่างภาพ ช่างสัก ไม่เว้นแม้แต่คนสร้างสรรค์เค้กแบบ Made to Order ด้วยจุดมุ่งหมายดึงสีสันแปลกใหม่มาสู่ย่าน ดึงเสน่ห์ของย่านที่รถยนต์เข้าไม่ถึงออกมาให้คนมาหลงรัก
คุยกับจอม-ธัญญวีร์ ไชยนาพงษ์ ผู้ดูแลบ้าน When Life Gives You Lemons เมื่อย่านบ้านเกิดกลายเป็นพื้นที่ตาบอดซึ่งรถยนต์เข้าไม่ถึง สังคมเมืองเติบโตขึ้นโดยดึงคนรุ่นใหม่ออกไป แล้วทิ้งย่านไว้ข้างหลัง แต่ในเมื่อคุณมีต้นทุนในพื้นที่ แล้วควรทำอย่างไรถึงจะปลุกความมีชีวิตชีวาของบ้านเกิดกลับมาได้
ถึงแม้ต้องปิดตัวเป็นระยะเวลารวมเกินปีเพราะโควิด When Life Gives You Lemons ก็ถือคติปรับตัวตลอดเวลา ไม่ว่าชีวิตจะเหวี่ยงอุปสรรคอะไรเข้ามา จนยืนหยัดผ่านกาลเวลามาได้จนเข้าปีที่ 5 นับแต่เปิดบ้านครั้งแรก
จอมร่วมกับเจ้าบ้านคนอื่นๆ เปลี่ยนบ้านสีขาว 2 ชั้นที่อยู่ไม่ลึกจากปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 91 เป็นศูนย์รวมความสร้างสรรค์ แหล่งพบปะของคนในชุมชน จนนำพาคนนอกเข้าไปทำความรู้จักบางพลัดมากขึ้น
ไม่ว่าชีวิตจะเหวี่ยงอะไรมา ก็ต้องตั้งรับให้ได้
“ตอนเปิดที่นี่เรากำลังมองหาพื้นที่ที่เราจะอยู่กับมันไปได้ตลอดชีวิต แต่ก่อนเป็นสถาปนิกในบริษัทรับเหมาก่อสร้าง แทบไม่ได้อยู่บ้านเลย ลาออกมาทำฟรีแลนซ์ เพราะต้องดูแลพ่อแม่เลยมาเปิดตรงนี้ เผื่อวันหนึ่งเราหยุดทำงานจะได้มีพื้นที่ให้เราอยู่กับมันไปได้เรื่อยๆ และใกล้บ้านด้วย นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปิดพื้นที่ตรงนี้”
บ้านนี้เป็นบ้านที่ป้าของจอมปล่อยเช่ามาก่อน กระทั่งผู้เช่ารายล่าสุดย้ายออก ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเธอตัดสินใจลาออกมาทำฟรีแลนซ์ กลับบ้านมาอยู่เป็นเพื่อนพ่อแม่วัยเกษียณ แล้วหาแผนรองรับชีวิตวัยเกษียณของตัวเองบ้าง ส่งผลให้เธอเป็นผู้ดูแลบ้านอย่างเป็นทางการ
“ทุกคนบอกว่ามาเปิดจรัญฯ มาเปิดบางพลัดจะไปรอดเหรอ เราก็บอกว่าเราเป็นคนแถวนี้ เราเกิดตรงนี้ รักย่านนี้มาก ไม่อยากไปไหน มาทำอะไรให้คนสนใจย่านนี้ไหม”
แต่อุปสรรคของจริงหาใช่ทำเล เพราะ When Life Gives You Lemons เจอวิกฤตโรคระบาดเข้าซ้ำเติมจนต้องปิดไปถึง 2 ครั้ง ทีแรกปิดไปเกินครึ่งปี หลังจากเปิดตัวเป็นคาเฟ่และแกลเลอรีในปี 2019 ครั้งที่ 2 ปิดไปอีกหลังจากเปิดเป็นคาเฟ่และลานเซิร์ฟสเก็ต
สถานที่แห่งนี้ยืนหยัดผ่านอุปสรรคจนกระทั่งเปิดครั้งที่ 3 ถึงได้รื้อเอาแกลเลอรีกลับมา บวกกับคนรู้จักของจอม หรือนายแพทย์มารุต มาเลิศ ขอใช้พื้นที่ระหว่างปิดตัวสำหรับฝึกสกิลงานไม้ จุดประกายให้ตัวเธอจัดเวิร์กช้อปงานคราฟต์ ตั้งแต่นั้นพื้นที่ก็ถูกจับจองใช้จัดกิจกรรมและอีเวนต์ ดึงดูดผู้เช่าหน้าใหม่กับคนรักงานศิลปะเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ขาดสาย
แม้อนาคตจะไม่แน่นอน แต่ผู้ดูแลบ้านคนนี้ตั้งความหวังเอาไว้ในจุดหมาย มองการณ์ไกลจนเห็นภาพย่านบ้านเกิดที่ควรจะเป็นและอยากให้เป็น จนกระทั่งวันนี้จอมมีส่วนทำให้ When Life Gives You Lemons กลายเป็นบ้านศิลปะ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และเป็นหน้าเป็นตาให้กับย่านบางพลัด
“When life gives you lemons, make lemonade. คือประโยคเต็มที่บอกว่า ถ้าชีวิตคุณเจอความเปรี้ยวปนขมของมะนาว ก็ให้เอามาทำเป็นน้ำมะนาวสิ เหมือนมองเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี ชื่อนี้พี่สาวตั้งให้ ส่วนเราอยากให้คนเรียก When life เพราะชีวิตเจออะไรบ้างก็ไม่รู้ เปลี่ยนไปตลอดเวลา”
บ้านนี้จึงมีชื่อเล่นที่แปลว่า ‘เมื่อชีวิต…’ เพราะชีวิตอาจเหวี่ยงอะไรมาอีกก็ได้ และไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบทำน้ำมะนาวหรือเครื่องดื่มประเภทอื่น คนในบ้านก็เติมประโยคให้จบได้เสมอ
ทำความรู้จักเจ้าบ้าน
“ตั้งแต่เราเปิดพื้นที่ตรงนี้มีคนต่างถิ่นเข้ามาอยู่กับเรา ไม่ว่าจะเช่าประจำหรือชั่วคราว แต่ทุกคนมาเติมเรื่องราวให้กับพื้นที่บางพลัดได้เหมือนกัน จุดนี้จะทำให้ย่านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง”
เป็นเรื่องจริงที่สถานที่นี้เต็มไปด้วยเรื่องราวของคนที่แตกต่าง ภายในอาคาร 2 ชั้นนี้มีแกลเลอรี สินค้าและกิจกรรมให้เลือกทำตั้งมากมาย เราสรุปภาพรวมมาเป็นคู่มือทำความรู้จัก When Life Gives You Lemons ให้เพื่อนๆ ได้ตามนี้
1.สตูดิโอทำกรอบรูปของนายแพทย์มารุต มาเลิศ
สตูดิโอนี้เข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ กำเนิดจากคุณหมอผู้รู้จักกับจอมมาเป็น 10 ปี อยากหัดทำกรอบรูปด้วยตัวเอง เพราะเดิมทีชอบถ่ายรูปฟิล์มอยู่แล้ว แต่พออยากเอาไปใส่กรอบที่ร้านกลับกลายเป็นว่าร้านทำให้ไม่ได้ เขาเลยทำเองเสียเลย
เมื่อคิดว่าศิลปินหลายคนต้องเจอปัญหาเดียวกัน และหลายคนอาจไม่มีงบในการเปิดสตูฯ เอง ในอนาคตจอมและมารุตจะโฟกัสธุรกิจศูนย์บริการครบวงจรสำหรับศิลปิน ให้มีทั้งเครื่องพรินต์ไฟน์อาร์ตคุณภาพเกือบเทียบเท่า Museum Grade เครื่องเข้ากรอบ ขึงเฟรมก็มี แล้วจะจัดแสดงงานใน When Life Gives You Lemons ก็ได้ด้วย ทางบ้านอาจจะคิดแพ็กเกจพรินต์ เข้ากรอบ รวมจัดแสดงให้เสร็จสรรพเลย สำหรับรายละเอียดที่แน่นอนยังต้องคอยติดตามกันต่อไป
2.แกลเลอรี
โซนแกลเลอรีที่มีอยู่ ณ ใจกลางบ้านเป็นแกลเลอรีเวียน บางทีเป็นภาพถ่ายของคุณหมอ บางทีเป็นงานของศิลปินคนอื่นๆ สลิงแขวนรูปเหล่านั้นคุณหมอก็ออกแบบเอง แป๊บเดียวถอดออกเก็บได้หมด เปิดรับความเป็นไปได้ในการใช้สอยพื้นที่โล่งตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ เป็นแกลเลอรีที่จัดอีเวนต์ได้ หรือหากเช่าสถานที่จัดวันเกิดให้ศิลปินที่ชอบก็เคยทำมาแล้ว
หากขึ้นไปชั้น 2 จะเจอโซนแกลเลอรีอีกจุด จุดนี้เล็กกว่าแต่เปิดให้ใช้ฟรี ถือว่าเป็นโอกาสให้ศิลปินที่ยังไม่มีงบได้จัดแสดงงานของตัวเอง
3.Rosemary wood Studio ของมี่-ปาณิสรา ชมภูเพชร
สตูดิโอสักของนักศึกษาสถาปัตย์ ผู้หัดสักด้วยตัวเอง ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น มี่สักตามศิลปินเกาหลี เวลาผ่านไปความสนใจในรอยสักเข้มข้น ส่วนความสนใจในสิ่งที่เรียนลดลง มี่เลยซื้ออุปกรณ์มาเรียนสักจาก Youtube โดยมีหน้าขาของตัวเองเป็นพื้นที่ทดลอง
จนได้ลองสักให้เพื่อนแล้วถูกเพื่อนยุให้เปิดร้าน จึงเปิด Rosemary wood Studio ขึ้น แล้วขยับขยายย้ายที่ไปมาใน When Life Gives You Lemons จนตอนนี้มีห้องของตัวเองบนชั้น 2 สตูดิโอนี้เน้นงานสักแบบ Handpoke และจัด Handpoke Tattoo Workshop อยู่เรื่อยๆ ด้วยนะ
4.ห้อง Mindfulness
ห้อง Mindfulness คือห้องโล่งกว้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนชั้น 2 ของบ้าน ห้องนี้เป็นห้องอเนกประสงค์ บางคนคงบอกว่าเคยมาเรียนโยคะในห้องนี้ บางคนเคยมาทำเวิร์กช้อปกลุ่ม บางคนก็อาจบอกว่ามาเรียนดนตรีที่นี่ พื้นที่นี้ใช้จัดกิจกรรมหลากหลายมาก แนะนำให้กดติดตามเพจของบ้านเพื่อดูว่ากำลังจะมีเวิร์กช้อปไหน หากสนใจก็รีบจองที่นั่งก่อนใคร เพราะเวิร์กช้อปที่ชอบอาจจะไม่กลับมาจัดที่นี่อีกก็ได้
5.Lemon Eat Stories ของอ๊อฟ-ศกวรรณ์ อริยะคเณศวร
ร้านอาหารของชุมชน เสิร์ฟอาหารหลายสัญชาติ เราได้ชิมข้าวกะเพราเนื้อบด (98 บาท) รสชาติเข้มข้นและเผ็ดร้อนถึงใจ ข้าวสตูไก่สไตล์ฝรั่งเศส (128 บาท) ซุปกลมกล่อมเข้าเนื้อไก่นุ่มๆ จนชุ่ม และข้าวไก่สไตล์ญี่ปุ่น (98 บาท) ซึ่งทุกจานที่เรกินในวันนี้คือฝีมือนักศึกษาฝึกงานคหกรรมศาสตร์ที่อ๊อฟเปิดรับเข้ามาหาประสบการณ์กับทางร้าน นอกจากนั้น คือโซนคาเฟ่ ซึ่งอ๊อฟเป็นบาริสตาเอง มีทั้งเมนูกาแฟ ชา และโซดา
6.Pang Oab by Butterfly Effect
ถัดมามีอีกร้านหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในสวน เป็นครัวขนมปังหอมกรุ่นที่รับทำเค้กแบบ Made to Order แต่ถ้ามานั่งคุยกับเจ้าของร้านกันถูกคอ ก็จะได้นั่งกินคุกกี้ในครัวเลยน่ะแหละ ร้านนี้ทั้งออกแบบเค้กตามโอกาสพิเศษ คุกกี้ตามเทศกาลอย่างคุกกี้ธีมคริสต์มาสและสินค้าหลักอย่าง Sourdough
ความจริงแล้วเจ้าของร้านเรียนคอมพิวเตอร์กราฟฟิกมาก็จริง แต่กรอบงานที่รับมาจากลูกค้าคือจุดที่ทำให้ต้องโบกมือลา ในขณะเดียวกันการทำขนมเป็นพื้นที่ให้ได้แสดงไอเดียออกมาอย่างเต็มที่ สร้างสรรค์ผลงานได้ตามใจ แม้จะได้รับบรีฟจากลูกค้าบ้างในออเดอร์เค้ก แต่ก็ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปได้มากพอควร ลองแวะเข้ามาอยู่ในเซฟโซนของคนทำขนมดูสิ แล้วเธอจะชวนคุณคุยและชิมขนมไม่หยุดเลยล่ะ
บ้านตามใจคนอยู่
“พื้นที่นี้เปลี่ยนตลอด คนก็เข้าออกตลอด คนนี้ไปเดี๋ยวคนใหม่เข้ามา บางคนบอกไม่ค่อยดี Turn Over สูง แต่เราว่าเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ถ้าพูดในแง่ธุรกิจ ที่นี่ห่างไกลกับคำว่าสำเร็จมาก แต่ถ้าพูดถึงคนทำความฝัน มันใกล้เคียง”
จอมสนใจศิลปินหน้าใหม่และนักสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ เธออยากให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีพื้นที่โชว์ความสามารถ และขายงานของตัวเองได้ จนถึงวันนี้มีคนเข้ามาและออกไปหลายคนก็จริง แต่หลายคนนั้นก็ย้ายออกไปเติบโตที่อื่น จอมบอกว่าเธอก็ต้องดีใจกับพวกเขาอยู่แล้ว
ส่วนพื้นที่ตรงนี้ก็ปรับเปลี่ยนไปตามผู้อยู่อาศัยตลอดเวลา ทั้งรูปแบบที่เคยเปิดโล่งเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนก็เริ่มแบ่งสัดส่วนมากขึ้น เพราะถ้ามาอยู่รวมกันหลายคนแล้วแต่ละคนไม่มีพื้นที่ของตัวเองเลยจะลำบาก
“ในเมื่อแต่ละคนมีทิศทางของเขาเอง เรายิ่งต้องแบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน เขาจะได้เติบโตในพื้นที่ของเขาได้อย่างเต็มที่” ผู้ดูแลบ้านบอกกับเรา
“เราไม่กลัวที่จะเปลี่ยน มีเรื่องราวใหม่ก็เปลี่ยนพื้นที่ไปตามเรื่องราวใหม่ มีคาแร็กเตอร์เข้ามาใหม่ เราก็เปลี่ยนไปตามคาแร็กเตอร์เขา นี่คือสิ่งที่บ้านนี้เป็น ปีหน้ามาอาจไม่ใช่หน้าตาแบบนี้แล้วก็ได้”
มองในมุมสถาปนิก จอมว่าคนในสายวิชาชีพนี้อาจมองว่า ทำไมพื้นที่ไม่ถูกคิดมาตั้งแต่แรก แล้วทำไมปรับไม่จบไม่สิ้นเสียที แต่เมื่อถอดหมวกสถาปนิกออกแล้วพูดในฐานะคนดูแลพื้นที่ นี่คืออีกหนึ่งรูปแบบการทำงานที่ไม่มีทางออกแบบให้เสร็จ เพราะการเปลี่ยนพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานไปตลอดก็ถูกต้องแล้ว
“เรารู้สึกว่าเราไม่ใช่เจ้าของหรอก ถ้าเป็นเจ้าของก็คงเป็นคนกำหนดทิศทางทั้งหมดเพียงคนเดียว แต่เราเป็นคนดูแลพื้นที่ให้ แล้วทุกคนกำหนดทิศทางของตัวเองมากกว่า”
ณ วันนี้ When Life Gives You Lemons เป็นพื้นที่สบายใจของพาร์ตเนอร์ทุกคนในบ้าน ตกเย็นมาเราสังเกตเห็นพวกเขาชวนกันกินข้าวและนั่งคุยสัพเพเหระ บรรยากาศโฮมมี่กับรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นบ้านจริงๆ ทำเอาหลายคนต้องถามจอมว่า ให้ถอดรองเท้าก่อนเข้าข้างในไหม เป็นเรื่องราวเล็กๆ น่ารักๆ สะท้อนตัวตนของสถานที่ออกมาจากปากของคนนอกที่แวะเวียนเข้ามา
พื้นที่ตาบอด
“ย่านสำคัญๆ ถูกเล่าต่อเนื่องมายาวนานแล้ว แต่ย่านนี้ยังไม่มีใครเคยเล่าจริงจัง”
จอมเกิดและเติบโตที่นี่ สถาพดั้งเดิมคือคลอง สวนทุเรียน ลำไย ที่ซึ่งจอมวิ่งเล่นไปตามท้องร่องในสมัยเด็ก พื้นที่เก่าแก่ของแถวนี้เคยเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่สำคัญแหล่งหนึ่ง แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป คุณค่าในสายอาชีพก็เปลี่ยน คนเลิกทำสวน เปลี่ยนไปเป็นข้าราชการ ถนนก็ตัดคร่อมคลองไปเลย ทำให้ทางสัญจรเดิมของคนสวนหายไป และกลายเป็นว่าบ้านเรือนในชุมชนเข้าถึงได้ด้วยมอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือการเดินเท่านั้น จอมเลยนิยามพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตาบอด
จอมร่วมสำรวจย่านกับคนรู้จัก ชวนคนจากข้างนอกเข้ามาบ้าง พานักศึกษาเข้ามาถ่ายทำหนังสั้นเกี่ยวกับย่าน จอมสอบถามความเห็นจากผู้มาเยือน จนได้จุดสังเกตที่ชี้ให้เห็นเสน่ห์ของบ้านแต่ละหลังว่า มีประตูและสภาพต่างกันชัดเจนเพียงแค่ปราดตามอง ซึ่งทิวทัศน์แบบนี้หาไม่ได้จากหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโด
ยิ่งพอเดินลึกเข้าไป ความวุ่นวายของท้องถนนก็เงียบลง ช่วยให้ซึมซับบรรยากาศเป็นกันเองของชุมชนได้โดยไม่ต้องพยายาม ลุงป้าในบ้านก็จะชะโงกหน้าออกมาถามว่าหลงเข้ามาหรือเปล่าเ พราะรู้ดีว่าทางเดินในชุมชนสลับซับซ้อนเกินไปสำหรับคนนอก เป็นความห่วงใยที่จริงใจจากคนในพื้นที่ถึงคนแปลกหน้า
“นี่คือสิ่งที่เราเห็น เราอยากเล่าเรื่องของย่านนี้ และถ้ามีคนเห็นเหมือนเรา เราก็จะเจอคนประเภทเดียวกันเยอะขึ้น บางคนเพิ่งย้ายมาแต่ก็อาจผูกพันกับมัน แล้วเราจะช่วยกันสร้างพื้นที่ที่เราอยากอยู่ให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ”
จอมเกริ่นถึงกลุ่มนักพัฒนาย่านที่จับกลุ่มกันใหม่ในชื่อ ‘พลัดแต่ไม่หลง’ ซึ่งจะเล่าเรื่องราวของย่านบางพลัดโดยเฉพาะ เริ่มจากปักหมุดสถานที่ต่างๆ อย่างร้านไหนแกงใต้อร่อย ขนมปลากริมไข่เต่าดั้งเดิมอยู่ตรงไหน วาดออกมาเป็นแผนที่ให้เห็นภาพรวมของพื้นที่ตาบอดให้เดินเที่ยวได้ง่ายขึ้น
“ตอนนี้เราอยากทำแผนที่บอกว่าไปหาใครได้ที่ไหน ถ้าชวนคนมาบางพลัดจะบอกเขาได้ว่าถ้ามีเวลา เธอไปทางโน้นสิ มีร้านนี้นะ เราลงชุมชน ทำแผนที่ สัมภาษณ์คุณลุงคุณป้า เราตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจรายย่อย ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของเขาให้คนข้างนอกได้ยินได้ฟัง”
ชื่อ ‘พลัดแต่ไม่หลง’ เกิดด้วยความพยายามก้าวข้ามภาพจำเดิมที่ผู้คนมีต่อย่าน แม้เส้นทางจะเหมือนเขาวงกต หรือทำเลเป็นทางผ่านที่คนน่าจะหลงเข้ามามากกว่าตั้งใจมา หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองที่เลือกจะไปจดทะเบียนสมรสในสำนักงานเขตอื่น เพราะไม่ชอบที่พลัด เชื่อมโยงกับคำว่าพลัดพราก แต่ ‘พลัดแต่ไม่หลง’ จะตะโกนออกไปผ่านผลงานว่า พลัดเข้ามาแล้วไม่หลง จะอยู่ตั้งรกรากที่นี่ เพราะพลัดมาหลงรักบางพลัด
นอกจากนี้ ย่านธุรกิจใจกลางเมืองดึงดูดคนรุ่นใหม่ออกจากพื้นที่ไปมาก ชุมชนบางพลัดกลายเป็นชุมชนคนวัยเกษียณและผู้สูงอายุ มวลรวมของชุมชนที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างเพื่อนบ้านที่แสนดี เลยขาดความครึกครื้นและผู้อยู่อาศัยที่มีกำลังพัฒนาย่านไปอย่างน่าเสียดาย
“เราอยากดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาเติมสีสัน ในเมื่อเราเป็นคนทำงานศิลปะ ความครีเอตของศิลปินรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่เราสนใจ และเราเชื่อว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์เข้าไปอยู่ตรงไหน ก็จะผลิตสิ่งที่น่าสนใจออกมา และถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนเราให้ใช้พื้นที่ฟรีเลย”
When Life Gives You Lemons รองรับทุกคนที่เข้ามาให้สัมผัสศิลปะอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้นักล่าฝันมาใช้พื้นที่แสดงความสามารถ และเป็นประตูเชื่อมระหว่างผู้คนใหม่ๆ กับพื้นที่ตาบอดในย่าน ดังนั้น บทบาทสำคัญของบ้านหลังนี้จึงเป็นสถานที่จุดประกายความฝันและความหวังให้กับผู้มาเยือนทุกคน
When Life Gives You Lemons
Open Hours: วันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 11.00 – 17.00 น. และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 – 17.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
Map: https://maps.app.goo.gl/EET95p4W4eibzqaX9
Tel: 099-424-9794
Facebook: When life gives you lemons When life gives you lemons