The Scientists
เปิดห้องทดลองของ LUSS สอง “นักวิทยาศาสตร์สายดนตรี” ที่ถนัดใช้ตรรกะแต่เชื่อในความรู้สึก
- ฉีกทุกกฎเกณฑ์ของดนตรีไปกับ ‘ปั้น’ และ ‘เบน’ ดูโอจากวง ‘LUSS’ ที่กำลังเป็นที่พูดถึง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในวงการดนตรี พบว่าถึงแม้ตรรกะและความเนิร์ดในเสียงเพลงจะพาทั้งคู่ไปได้ไกล แต่การเข้าถึงความรู้สึกต่างหากที่พากลับมาสู่ตัวตนของความเป็นศิลปิน
“อยากกินไข่พะโล้ โป๊ะ กินกับแกงกะหรี่ โป๊ะ อยากกินกล้วยบวชชี อร่อยดี น่ากิน น่ากิน”
เชื่อว่าหลายๆ คนอ่านแล้วคงเผลอร้องตาม เพราะนี่อาจเป็นเพลงของความทรงจำในวัยเด็ก แต่สำหรับคนที่เผลอหลุดเต้นตามไปด้วย ต้องบอกว่ามาถูกที่แล้ว! เพราะวันนี้เราไม่ได้จะมาเล่นแปะมือกัน แต่จะมาคุยกับ ‘ปั้น–นลพรรณ อัมพุช’ หรือ COCOBUNNY (เขียน, ร้องนำ, โคโปรดิวเซอร์) และ ‘เบน–ศิรสิทธิ์ ตั้งบุญดวงจิตต์’ หรือ BENLUSSBOY (มือเบส, โปรดิวเซอร์) จากวง ‘LUSS’ เจ้าของเพลง ‘ไข่พะโล้ — Kaipalo’ ที่เพิ่งเป็นไวรัลใน TikTok เมื่อปีที่ผ่านมาต่างหาก
นอกจากจะมีเพลงฮิตติดหูมากมายอย่าง 247, หยอก หยอก, Kung Fu, ไข่พะโล้ ฯลฯ LUSS ยังเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ และมิวสิกไดเรกเตอร์ เบื้องหลังเพลง T- Pop ที่ทุกคนต้องรู้จักมาแล้วมากมาย อย่างเช่น ฟ้ารักพ่อ — Badmixy Ft. ยุ้ย ญาติเยอะ, จำเลยรัก – F. Hero Ft. Txrbo, Jackpot – 4eve และ It’s Okay Not To Be Alright – PP Krit
วันนี้เขาสองคนกลับมาพร้อมกับอัลบั้ม “Is there anything on the Moon?” อัลบั้มที่จะมาฉีกกฎของเสียงเพลงด้วยแนวดนตรีที่หลากหลายที่สองนักวิทยาศาสตร์นี้ซุ่มหมกตัวทดลองอยู่เป็นเวลาปีกว่า! เราจะมาคุยกับปั้นและเบนถึง “ความเป็น LUSS” แรงบันดาลใจเบื้องหลังอัลบั้มนี้ และวิธีการทำเพลงของทั้งคู่ที่เปลี่ยนไปกัน
“Is there anything on the Moon?”
พูดถึงอัลบั้มใหม่กันหน่อย ทำไมต้องชื่อนี้ เกี่ยวอะไรกับดวงจันทร์
ปั้น : ปั้นกับเบนเป็นคนขี้สงสัย ทุกครั้งที่ออกมาจากสตูดิโอตอนทำอัลบั้มนี้ ปั้นจะมาดูพระจันทร์ทุกวัน แล้วก็จะชี้ให้เบนดูว่าวันนี้พระจันทร์เต็มดวง พระจันทร์ครึ่งเสี้ยว… เป็นคนขี้สงสัยถึงขั้นที่คิดว่า จริงๆ แล้วบนดวงจันทร์มันมีอะไร หรือว่าจริงๆ แล้วเรามาจากตรงนั้นหรือเปล่านะ?
ชื่ออัลบั้ม ‘Is there anything on the Moon?’ เลยสะท้อนความกวน ความขี้เล่นของ LUSS นี่แหละ ที่แบบ “มันต้องสงสัยไปถึงดวงจันทร์เลยหรอวะ?”
มุมไหนของ LUSS ที่อยากให้คนเห็นมากขึ้น
ปั้น : LUSS ไม่ได้มีแค่น่ารัก มันคือความกวนตีน ความเนิร์ด อารมณ์เหมือน “นักวิทยาศาสตร์ในสายดนตรี” อย่างใน MV ‘เตลิด — Bad Boy’ ที่เพิ่งปล่อยไปก็จะได้เห็นเราเอาความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ จะเห็นว่ามันมีองค์ประกอบของอนิเมะ ของความเอเชียนคัลเจอร์
เบน : คือปั้นจริงๆ แล้วเป็นโอตาคุ
ปั้น: ใช่ เป็นโอตาคุค่ะ (ยิ้ม) ในเพลงมันจะมีตัวคาแรกเตอร์ในอนิเมะที่ปั้นนำมาเล่าเรื่องว่ามันเป็น Bad Boy ของเรา ไม่ได้มีแค่ตัวละครผู้ชายนะ มีตัวละครผู้หญิงด้วย ที่เราว่ามันแบดแล้วเราอยากเอามาใส่
แล้วเอเชียนคัลเจอร์ล่ะ ทำไมถึงเลือกใส่ลงไปด้วย
เบน : บ้านเราเป็นบ้านคนจีน เราก็ซึมซับมันมา ทุกเพลงมันก็จะมีซ่อนอยู่เล็กน้อย
ไม่ว่าจะเป็นใน MV วิธีการเล่น หรือซาวด์ดนตรีที่เลือกใช้ เช่น เพลงนี้มีเสียงโคโตะ (ดนตรีเครื่องสายญี่ปุ่น) นะ หรือว่าเพลงนี้ไม่ใช้ซาวด์แต่ว่าใช้แพตเทิร์นของจังหวะกลองที่มีความเป็นดนตรีสามช่ามาแทรกอยู่ อย่างปิ่นปักผมที่ปั้นใส่มาวันนี้ก็ใช่
ปั้น : เราโตมายังไง ก็อยากจะเอาสิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในงานของเราให้ได้มากที่สุด
LUSS ทำเพลงแนวอะไรกันแน่
เบน : ทุกวันนี้วงการเพลงมันเปิดกว้างมากๆ อย่างในอัลบั้ม LUSS เอง ถ้าให้ลิสต์ออกมาว่ามีแนวอะไรบ้าง มันมีตั้งแต่ป๊อป ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์ R&B มีไวบ์แบบ Y2K มีอะไรที่ใหม่มากๆ ประหลาดๆ อย่างพวกเทคโน Jungle ก็มาผสมด้วย
ฟังแต่ดนตรีอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย! เพลงพวกนี้อยู่ในอัลบั้มเดียวกันได้ด้วยเหรอ?
แต่สุดท้ายแล้วมันคือความรู้สึกที่ถูกครอบไว้ด้วยชุดคอร์ด เสียงร้องของปั้น หรือมุมมองการเล่าเรื่องมากกว่า เราไม่ได้ปิดกั้นมัน
ปั้น : มันก็คือแนว “LUSS” นี่แหละ ไม่อยากให้มีกรอบเลย
จริงใจกับตัวเองในการทำเพลง
ตั้งแต่เป็นศิลปินมา วิธีการทำงานเปลี่ยนไปบ้างไหม
เบน : เปลี่ยนเยอะ แรกๆ ที่เราทำเพลง เราอยากให้คนมาฟังเพลงของเราด้วยเหตุผลอะไรก็ได้ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ช่วงที่เพลงมันเริ่มไวรัล คนเริ่มรู้จัก มันก็ทำให้เรามีความกดดันอีกแบบนึง จากที่ตอนแรกไม่คิดเลย กลายเป็นคิดเยอะว่าเราเขียนแบบนี้ไปไม่เห็นเหมือนเพลงก่อนเลย คนจะชอบหรือเปล่า?
นอกจากเพลงตัวเองแล้ว ปีที่ผ่านมาก็โปรดิวซ์เพลงไปทั้งหมด 80 เพลง ทำให้ต้องหาคำตอบแล้วว่า “เราทำเพลงไปทำไมกันแน่? แล้วความสำคัญของการเป็นตัวเองมันคืออะไรกันแน่?”
เปลี่ยนไปยังไง เล่าให้ฟังหน่อย
ปั้น : อย่างที่เบนพูด ก่อนหน้านี้เราไปโลดแล่นในวงการเบื้องหลังมา ต้องมีการตัดสินใจเยอะ ทำให้เราใช้ตรรกะในการทำงานซะส่วนใหญ่ แต่สำหรับเราการผลิต “งานอาร์ต” มันควรจะใช้ความรู้สึกได้มากกว่านี้ อะไรใช่ก็ใช้ความรู้สึกตัดสินใจเลย
ไปเจอโควตนึงของไอน์สไตน์ เขาบอกว่า “Logic will only get you from A to B, but imagination will get you everywhere” ขนาดเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ จินตนาการยังสำคัญเลย แล้วเราเป็นศิลปิน เราลืมไปได้ยังไงที่จะสำรวจจินตนาการของตัวเอง ก็เลยแบบ…ว้าว ต้องคิดใหม่แล้วนะ วิธีการทำงานแบบเดิมของเรา มันอาจจะไม่เวิร์ก
เห็นว่าล่าสุดมีการใช้เรื่องราวจริงๆ ในชีวิตมาเป็นแรงบันดาลใจเขียนเพลงด้วย
ปั้น : อัลบั้มนี้ปั้นกับเบนใช้เวลาทำประมาณปีนิดๆ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่นานเหมือนกัน เราสองคนผ่านอะไรกันมาเยอะมาก เพิ่งผ่านการสูญเสียของคนในครอบครัวมาด้วย เพลงที่เขียนและเลือกมาเลยเกิดจากการซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเองมาก
ผลออกมาเป็นยังไง
ปั้น : มันจริงใจกับตัวเอง และคิดว่าคนฟังน่าจะสัมผัสสิ่งเหล่านั้นได้นะ
ในอนาคตอยากลองทำอะไร
ปั้น : ในครึ่งหลังของอัลบั้ม เรากล้าที่จะ reach out ไปหาศิลปิน หรือแม้กระทั่งคนทำเบื้องหลังหลายๆ คนที่เรารู้สึกว่าเขาจะแมตช์กับเราได้ แล้วก็เพิ่งมาเข้าใจนี่แหละว่างานกลุ่มมันสำคัญ การร่วมมือกันมันไม่ได้จะพาเราออกไปจากสิ่งที่เราเป็นนะ แต่ว่ามันแข็งแรงขึ้นด้วยซ้ำ มันซัปพอร์ตกันและกัน
ในอนาคตออยากทำแบบนั้น อยาก reach ออกไปให้ได้ไกลกว่านี้
เป็นตัวเองในแบบฉบับของ LUSS
สุดท้าย…อยากให้คนมอง LUSS เป็นวงแบบไหน
เบน : อยากให้มองวงเราเป็นคนที่เป็นตัวของตัวเองแล้วกัน นั่นคือความตั้งใจของเรา อยากให้ทุกคนโอบรับความเป็นตัวเอง ไม่ต้องเป็นเหมือนใครถึงจะเจ๋ง บางทีสิ่งที่เขาว่าไม่ดี มาอยู่กับคนคนนี้ มันอาจจะเหมาะก็ได้
แล้วถ้าเป็นตัวละครในอนิเมะ ปั้นคิดว่า LUSS จะเป็นตัวไหนได้บ้าง
ปั้น : ตอบยากเพราะ LUSS คือคนคนหนึ่งที่มีหลายมุม แต่ถ้าในแบบเฟียซ์ที่สุดคงเป็น ‘Makima’ จาก ‘Chainsaw Man’ เพราะว่า LUSS ค่อนข้างเป็นคนมีกลยุทธ์ ถ้าอยู่เบื้องหน้าอาจจะไม่ได้เห็นสิ่งนั้นแต่ว่าเบื้องหลังคิดทุกๆ ขั้นตอน มีแพลน A, B, C เป็นคนคิดเยอะมากๆ เลยทั้งคู่ แล้วก็มีความขบถ มีแผนจะก่อความยุ่งเหยิงอะไรตลอดเวลา
แต่ว่าถ้าแบบบ้าที่สุดนึกถึง ‘Toga’ ใน ‘My Hero Academia’ มันมีความแบบ เป็นอะไรเนี่ย? สรุปคนนี้เป็นคนยังไงเนี่ย?
2 ตัวก่อนแล้วกัน ถ้าในอนาคตนึกออกจะมาบอกอีก (หัวเราะ)
สำหรับใครที่อยากจะพิสูจน์ว่าดนตรีของ LUSS เจ๋งแค่ไหน ติดตามวงได้ที่
FB: LUSS
IG: luss_official
Spotify: LUSS