PASAGU
PASAGU คราฟต์สเปซจากของดีเมืองลุงที่เฟรนด์ลีกับทุกคนตั้งแต่เด็กถึงผู้ใหญ่ นักท่องเที่ยวถึงนักเรียน
- มัดรวมไว้ที่เดียว! แวะ PASAGU (ป่าสาคู) ทำพวงกุญแจผ้าครามพัทลุง เรียนรู้การย้อมสีธรรมชาติ ทำเบอร์เกอร์ข้าวสังข์หยด แล้วพักยกกินโกโก้ท้องถิ่นกับบราวนีแป้งสาคู ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองของเจ้าบ้าน
‘สวยด้วยสีธรรมชาติ’
‘อร่อยตามธรรมชาติ’
2 คอนเซปต์หลักต่อยอดเป็นเวิร์กช้อปงานคราฟต์มากมายภายใน PASAGU เจ้าของกิจการอย่างบ้านนาคะวิโรจน์ปรับเปลี่ยนที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดให้เป็น Craft Space & Cafe ร่มรื่นใกล้ป่าสาคูเดิม ปัจจุบันพื้นที่นี้เติบโตเป็นแหล่งของท้องถิ่นเมืองลุง ใครมาก็จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ แฝงข้อมูลลึกซึ้งของพัทลุงไปในตัวเลย
ปลา-ปพิชญา นาคะวิโรจน์ ลูกสาวคนโตผู้ฝันอยากมีแบรนด์เป็นของตัวเอง เธอเรียนจบด้านแฟชั่น โดยทำธีสิสเกี่ยวกับผ้าย้อมครามพัทลุง หลังเรียนจบก็เปิดเวิร์กช้อปเล็กๆ เป็นรอบๆ ก่อนจะขยับขยายเป็น PASAGU อย่างทุกวันนี้
ปอ-ปวีรา นาคะวิโรจน์ ลูกสาวคนเล็กผู้เรียนจบการโรงแรม เธอเป็นบาริสตามือหนึ่งของร้าน ที่ประจำของเธอคือเคาน์เตอร์ Slow Bar นอกจากนั้น ยังขยันเรียนรู้การทำขนมด้วยตัวเองผ่านยูทูบ และนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในขนมปัง เติมเต็ม PASAGU ให้ครบรสกว่าเดิม
สมาชิกอีก 2 คนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือพ่อและแม่ของสองสาว คุณพ่อเป็นสาย D.I.Y. เขาทำตั้งแต่ขึ้นโครงบ้านยันเปลี่ยนหม้อดินเผาเป็นเตาทำอาหาร ส่วนคุณแม่เรียนจบด้านอาหาร เธอจึงได้ประจำ ณ สเตชันเบอร์เกอร์จมูกข้าวสังข์หยดบ่อยๆ
อ๊ะๆ รู้นะว่า เริ่มสนใจขึ้นมาบ้างแล้ว งั้นเลื่อนลงไปดูเวิร์กช้อปยอดฮิตของร้านกันเลย!
Tie-dye Station
เราแวะย้อมผ้าก่อนเป็นฐานแรก เสื้อผ้าฝ้ายตัดเย็บอย่างดีมีให้เลือกหลายทรง กระเป๋าผ้า หมวก หรือผ้าเช็ดหน้าก็มีนะ
ปลาถือถาดหลุมใส่อุปกรณ์มาให้เรา แต่ละหลุมมีลูกแก้ว หิน ไม้ไอศกรีม หนังยาง เธออธิบายการสร้างลวดลายจากอุปกรณ์เหล่านั้นแล้วปล่อยเรามัดเสื้อจนเป็นก้อน ถึงจะรู้คร่าวๆ ว่าวิธีมัดแต่ละแบบสร้างลวดลายอย่างไร เราก็ยังนึกภาพจบไม่ออก แต่ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้นนี่แหละ
สีธรรมชาติที่ใช้ในวันนั้นมาจากใบมังคุด น้ำสีส้มแดงต้มร้อนๆ พร้อมให้เราหย่อนก้อนผ้าลงแช่ รอ 20 นาทีก็ยกขึ้น จากนั้นนำไปแกว่งสารติดสี มีทั้งสารส้มและปูนแดง เราเลือกอย่างหลัง เพราะปลาบอกว่า มันช่วยให้สีเข้มขึ้นนิดหน่อย ถูกใจคนชอบสีสดแบบเรา
ภายในบริเวณบ้านมีป้ายผ้าบอกวิธีสกัดสีจากพืชและข้อมูลของสารติดสี เมื่อดูรูปวาดประกอบแล้วลงมือทำด้วยตัวเอง ก็ยิ่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการย้อมสีธรรมชาติ ฉะนั้น พื้นที่นี้ไม่ได้มอบความเพลิดเพลินและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ส่งต่อองค์ความรู้อย่างยั่งยืนด้วย
“เราใช้ใบทำสี เพราะฉะนั้นเวลาเกษตรกรกวาดใบทิ้ง เราก็ให้เขาเก็บไว้ให้ แล้วเราให้ค่าจ้างกวาดใบไม้” ปลาเล่าที่มาที่ไปของวัตถุดิบย้อมผ้า
การย้อมสีธรรมชาติเป็นหนึ่งในวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า นอกจากนั้น ปลาเลือกใช้ใบของพืชตามฤดูกาล หมุนเวียนกันไประหว่างมังคุด สาคู และมะม่วง เพื่อเลี่ยงการทำลายพืชก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต
สามสาวของบ้านใส่ชุดย้อมสีธรรมชาติทุกคน แต่ละชุดตัดเย็บโดยปลา ผ้าฝ้ายทอ 3 แบบ ดูสวย สวมใส่สบายทั้งนั้น เห็นแล้วจะพลาดฐานย้อมผ้าไม่ได้เลยเชียว
Key Chain Station
มาถึงฐานออกแบบของที่ระลึกชิ้นเล็กสุดน่ารัก พวงกุญแจมีหลากสีจากพืชหลายชนิด เราหยิบผ้าย้อมครามรูปแมว ส่วนปลาบอกว่า “เหมือนหมี” ยังไม่ทันเลือกของตกแต่งก็ใช้จินตนาการกันสนุกแล้ว ส่วนด้ายก็เลือกสนุกไปอีกแบบ เพราะมีด้ายชนิดเรืองแสงในที่มืดด้วย
เวิร์กช้อปนี้ง่าย ปลาเย็บขึ้นรูปตุ๊กตาไว้ให้แล้ว เหลือรูตรงก้นให้ยัดใยและเย็บปิด แล้วเราก็เพิ่งรู้เทคนิคเช็กความแน่นของใยโดยเช็กความตึงเรียบตามแนวตะเข็บ หลังเสร็จขั้นตอนนั้นก็ถึงเวลาเลือกกระดุมมาเย็บติดเป็นตา ปาก และหู
ปลาแนะวิธีทำสั้นๆ ไปทีละขั้นตามจังหวะของเรา แล้วปล่อยให้บรรจงแทงเข็ม ดึงด้ายอย่างประณีต หากติดขัดก็ช่วยเหลือ เมื่อทำดีก็เอ่ยปากชม คุณครูสร้างบรรยากาศสบายๆ บนบ้านไม้ชั้นสอง ชวนให้น่าไปใช้เวลาในวันว่างมากๆ
อ่านถึงฐานนี้แล้ว เราขอเดาว่า เพื่อนนักอ่านบางคนคงแปลกใจที่มีการย้อมครามในพัทลุง
เป็นเรื่องจริงที่การย้อมครามโด่งดังในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดสกลนคร แต่ในภาคใต้เองก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยครามนั้นมีมานานแล้ว เพียงแต่ชาวบ้านเน้นใช้เป็นพืชสมุนไพร กระทั่งกว่า 80 ปีที่แล้วถึงค้นพบการย้อมครามในจังหวัด ถึงอย่างไรการเลี้ยงครามก็มีความซับซ้อน บวกกับมีพืชชนิดอื่นเป็นตัวเลือกมากมาย เราจึงไม่ค่อยได้ยินเรื่องของการย้อมครามในพัทลุงนัก
ธีสิสของปลาเกี่ยวกับครามพัทลุง เธอตั้งใจเลือกหัวข้อนี้ เนื่องจากเล็งเห็นประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น สิ่งที่น่าประทับใจยิ่งกว่าคือเวิร์กช้อปครามที่ให้ข้อมูลการเลี้ยงครามและขั้นตอนถัดจากนั้นอย่างละเอียด ไหนจะการแปลงผ้าย้อมครามเป็นพวงกุญแจอีกทอดหนึ่ง เพิ่มโอกาสให้ลูกค้าใกล้ชิดกับครามมากขึ้นอีก สมกับที่ปลาเขียนบอกไว้ว่า ‘สีครามธรรมชาติยังอยู่คู่พัทลุงต่อไป’
Burger Station
แวะกินอาหารรองท้องสักนิด เติมอิ่มด้วยเบอร์เกอร์จาก ‘จมูกข้าวสังข์หยด’ ข้าวประจำถิ่นเมืองลุง
แผ่นแป้งในเวิร์กช้อปผ่านการแปรรูปมาแล้ว โดยเป็นแป้งโฮมเมดจากจมูกข้าวสังข์หยด ผสมแป้งสาลีนิด ใส่ยีสต์ ไข่ เนย น้ำตาลอีกหน่อย และไม่ใช้สารเสริมความนุ่มฟู รวมขั้นหมัก พักแป้ง อบ ก็ใช้เวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง ตอนเราไปถึงนั้นแป้งก็หมดเสียแล้ว คุณแม่เลยลงทุนทำแป้งเพิ่มระหว่างเราแวะสเตชันอื่น เราจึงเป็นลูกค้าคนสุดท้ายของวันที่มีโอกาสชิมเบอร์เกอร์นี้
เราปิ้งแผ่นแป้งบนเตาจากหม้อดินเผาฝีมือคุณพ่อ เมื่อแป้งเริ่มขึ้นสีสวยก็ย่างเนื้อต่อ กลิ่นหอมตลบอบอวลทั่วบริเวณจนเรียกน้ำย่อย เคล็ด (ไม่) ลับที่คุณแม่บอกมาคือ ให้กดเนื้อจนแบนก่อนเอาลงเตาจนถึงช่วงที่ลงเตาระยะแรก เมื่อเนื้อใกล้สุกก็ทิ้งไว้ ไม่กดเนื้อจนความชุ่มฉ่ำไหลออก
ข้าวสังข์หยดมีชื่ออยู่แล้ว เมื่อนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นก็จะยิ่งสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีก ส่งผลดีย้อนไปถึงคนต้นน้ำอย่างเกษตรกร พันธุ์ข้าวท้องถิ่นได้รับการอนุรักษ์ ส่วนคนกินก็ได้รับคุณค่าทางอาหารตามธรรมชาติ ไม่มีสารเคมีผสม
เรียนจบด้านอาหารว่าน่าสนใจแล้ว เคยทำงานในโรงพยาบาลนี่สิว้าวกว่า หลังคุณแม่ย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาพัทลุงก็ไปขายอาหารที่ตลาดใต้โหนดด้วยนะ เราจึงไม่แปลกใจที่เมนูเบอร์เกอร์ใส่สารปรุงแต่งน้อยมาก ส่วนวินัยในการเข้าครัวก็ดีเลิศ คุณแม่คำนึงถึงความสะอาดมากเลยล่ะ
เมนูเบอร์เกอร์นี้ถูกใจคนทุกวัย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อย่างน้อยก็ปอคนหนึ่งที่บอกว่า เบอร์เกอร์เป็นเมนูกินง่ายๆ ไวๆ เมื่อนำเสนอเบอร์เกอร์ในคาเฟ่ก็ยิ่งขายดิบขายดี พันธุ์ข้าวท้องถิ่นนี้เห็นทีจะเติบโตเคียงคู่กาลเวลาต่อไปได้เรื่อยๆ เลย
Slow Bar in the House
เราสั่ง ‘ช็อกโกแลตนิ’ แบบไม่คิด เพราะเล็งมาจากบ้านแล้ว (จริงๆ นะ) มาพัทลุงทั้งทีก็ต้องชิมโกโก้พัทลุงเสียหน่อย
พัทลุงมีโกโก้แค่ 2 ที่ หนึ่งคือ สถานีโกโก้ พัทลุง Cocoa Station สองคือ Cocoani – โกโก้นิ Craft Chocolate ป่าสาคูเลือกใช้ Cocoani ที่อยู่ใกล้ร้านกว่า ช็อกโกแลตพัทลุงแบรนด์นี้ผ่านกรรมวิธีการผลิตสไตล์โฮมเมดจึงมีรสเปรี้ยวโดด ต่างจากช็อกโกแลตส่วนใหญ่ตามท้องตลาด
หน้าเมนูโกโก้บอกกรรมวิธี ‘Tree to Bar’ หรือแปรรูปโกโก้เป็นช็อกโกแลตบาร์อย่างละเอียด พร้อมรูปวาดประกอบ กระทั่งตอนสั่งช็อกโกแลตนิ ปอก็หยิบเมล็ดโกโก้มาให้แกะเปลือกชิม แล้วอธิบายให้คนกินเข้าใจที่มาของรสเปรี้ยวอย่างดี
“กินของอร่อยด้วย กินความรู้ด้วย” ปอบอกกับเรา
ข้อมูลกาแฟก็ใช่ย่อย สายพันธุ์ต่างๆ ถูกรวบรวมไว้ในหน้าแรกของเมนู ข้างใต้พันธุ์นั้นๆ บอก Taste Note ชัดเจน แถมเรียงลำดับความเปรี้ยวให้ด้วย มันเป็นคู่มือสั่งกาแฟที่รู้ใจคอกาแฟมือใหม่อย่างเรามาก หายงงกับเมล็ดกาแฟหลากพันธุ์บนเคาน์เตอร์เลย
กาแฟไทยในร้านมีทั้งจากภาคเหนือและใต้ ปอติดต่อโดยตรงกับเกษตรกรจากอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เกษตรกรจากชุมพรและระนอง โดยไม่ผ่านคนกลาง และแม้ในสภาวะโลกร้อนที่ราคาผลผลิตจากการเกษตรพุ่งสูง ปอก็ไม่ได้ขึ้นราคาเครื่องดื่ม เพราะอยากให้ทุกคนเข้าถึงได้
ทั้งโกโก้และกาแฟมีเมนูร้อน อย่างแรกเป็นชาเปลือกโกโก้นิ อย่างหลังเป็นชาดอกกาแฟ ถึงจะไม่ได้สั่งมาลอง แต่คาดว่าเข้ากับบราวนีแป้งสาคูแน่ เราลองชิมบราวนีรสช็อกโกแลตกับรสมัทฉะแล้ว รสชาติเข้มข้นไม่ผิดหวัง ดังนั้น ชาใสจึงเหมาะสำหรับกินคู่ของหวานเมนูนี้
Connecting Space
ที่ดินของร้านเคยเป็นของย่าของปลากับปอ ปลาเล่าว่า บริเวณบ้านเคยมีต้นสาคูขึ้นแน่นยาวตามแนวคลอง เธอจึงเรียกจนชินปากว่า “ป่าสาคู” แต่ปัจจุบันสาคูบางตาไปมาก เนื่องจากความจำเป็นต้องตัดทิ้งไม่ให้ขวางทางน้ำจนน้ำท่วม บ้านไม้ 2 ชั้นยกใต้ถุนสูง ก็เพราะเหตุนี้แหละ
บ้านไม้ 2 ชั้นจากน้ำพักน้ำแรงของพ่อคือต้นทุนของลูกสาว พ่อของทั้งสองเป็นคนสร้างบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง ปอยังแซวว่า ทุกวันนี้พ่อก็ต่อเติมอยู่เรื่อยๆ มาเป็นระยะเวลา 16 ปีแล้ว จนในวันนี้พวกเธอใช้มันเป็นพื้นที่สร้างรายได้ แถมยกระดับต้นทุนทางธรรมชาติท้องถิ่นไปพร้อมกัน จากป่าสาคูก็เป็น “PASAGU” กลายเป็นเพิ่มความหมายใหม่ให้มรดกตกทอดผืนนี้ของครอบครัวด้วย
มาพัทลุงทั้งที อย่างน้อยก็ต้องแวะ PASAGU นะ ดีเอ็นเอของพัทลุงแจ่มชัดในสีสวยและรสอร่อยตามธรรมชาติ โดยมีสมาชิกครอบครัวทั้ง 4 เป็นตัวอย่างของการดึงวัตถุดิบท้องถิ่นมาอยู่รอบตัวอย่างกลมกลืน แล้วออกแบบกิจกรรมส่งของดีเมืองลุงถึงมือผู้คนอย่างง่ายดาย
กรุ๊ป 100 คนก็เคยต้อนรับมาแล้ว ปลาวางโปรแกรมให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาเวียนฐานการเรียนรู้ไปแต่ละฐาน โต๊ะและเก้าอี้นอกบ้านกับในบ้านถูกจับจองจนเต็ม แต่ครอบครัวนี้ไม่หวั่น ยึดหลักทีมเวิร์ก แล้วดำเนินกิจกรรมอย่างลื่นไหลจนลูกค้ากรุ๊ปใหญ่กรุ๊ปอื่นแวะเวียนมาไม่ขาดสาย
ยังไม่ทันสั่งเครื่องดื่มของตัวเอง เราก็เจอเด็กเล็กวัยประถมฯ มาย้อมผ้ากับพ่อแม่ เมื่อมองอีกที PASAGU เป็น Family Space ที่เชื่อมความสัมพันธ์ของคนต่างวัย ทั้งในมุมของบ้านปลา ทั้งในมุมของลูกค้า ไหนจะกลุ่มผู้ใหญ่ที่แวะมานั่งเล่น ณ บ้านป่าสาคูแห่งนี้ และนักท่องเที่ยวอย่างเราอีก ถือเป็นสเปซที่เฟรนด์ลีต่อคนทุกกลุ่มจริงๆ
PASAGU ป่าสาคู
Open Hours: 08.30 – 17.00 น. (ปิดทุกวันพุธ)
Map: https://maps.app.goo.gl/SR1ogqgj8jVRX3tc8
ติดตามรายละเอียดได้ทาง PASAGU (ป่าสาคู)