About
CRAFTYARD

Nature’s Palette

เก็บดอกไม้ใบไม้มาอยู่ในตลับสีพกพากับ แซน- สุวัลญา นักสกัดสีที่อยากให้น้ำล้างพู่กันไม่ท็อกซิก

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แซน- สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักสกัดสีที่เปลี่ยนวัสดุจากธรรมชาติรอบๆ ตัวให้เป็นพาเลตต์สี นอกจากจะใช้งานได้จริงแล้ว ยังพกสตอรี่เบื้องหลังมามากมาย แถมปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เราเดินทางมาถึงบ้านเดี่ยวริมคลองแถบชานเมืองกรุงเทพฯ ที่ซึ่งมีสวนหลังบ้านที่เต็มไปด้วยพืชหลากหลายชนิด ทั้งต้นเล็กต้นใหญ่ รวมไปถึงดอกไม้คละสีสัน แต่ละต้นมีร่องรอยของการเด็ดดึง เห็นแล้วก็ชวนให้นึกถึงช่อเฟื่องฟ้าแหว่งๆ หน้าบ้านคุณตา ที่เราในตอนเด็กชอบเด็ดเอาดอกมันมาตำเล่นขายของจนมือเปรอะเลอะสีม่วงเป็นประจำ ทำให้รู้ว่าเจ้าของบ้านคงปลูกต้นไม้เหล่านี้เพื่อไว้ใช้งานบางอย่างแน่นอน

ที่นี่คือบ้านและสตูดิโอของ แซน- สุวัลญา ศักดิ์สมบัติ นักสกัดสีจากธรรมชาติ ที่ทดลองกับวัสดุธรรมชาติรอบตัวมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว ทำให้เราเห็นขวดโหลของผงสีหลายร้อยเฉดตั้งเรียงรายอยู่เต็มไปหมดเมื่อก้าวเท้าเข้ามาในสตูดิโอ บ้างก็ทำมาจากพืช บ้างมาจากดิน หิน ทราย ทำมาจากสัตว์ก็ยังมี!

วางสีสังเคราะห์แบบเดิมไปเลย เพราะแซนจะพาเรามาเปิดโลกของสีสันที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติ ที่นอกจากจะมีเรนจ์ที่กว้างกว่าสีจากอุตสาหกรรมแล้ว ยังพกสตอรี่ที่น่าสนใจมากับแต่ละเฉดอีกด้วย มาเรียนรู้กระบวนการทำสีเองที่ไม่ซับซ้อนแต่ก็ทำให้เซอร์ไพรส์ได้ และมาดูกันว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยโลกได้อย่างไร

sandsuwanya

The Idea

แซนเป็นคนอำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เธอเล่าให้เราฟังว่า โตมากับบ้านที่มีคลองไหลผ่านใต้บ้าน คล้ายกับบ้านที่อยู่ตอนนี้นี่แหละ เลยทำให้ใกล้ชิดกับน้ำและสวนมาโดยตลอด กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านอย่างซักผ้า ล้างจาน อาบน้ำ ก็ทำกับคลอง พอโตขึ้นมาอีกหน่อย เริ่มเรียนศิลปะและหยิบจับอาชีพครูสอนศิลปะ ก็ยังคงวนเวียนกับคลอง เพราะต้องหาที่เทน้ำล้างพู่กันจากสีน้ำมันและสีอะคริลิกที่ขุ่นข้นมากๆ จนแอบกังวลว่าการกระทำของเธอกำลังเป็นพิษต่อธรรมชาติอยู่หรือเปล่า

“มันก็เป็นเหมือนคำถามที่เราทิ้งไว้ในใจ เพราะบ้านเราอยู่ติดคลอง แอบรู้สึกไม่ค่อยดีเลยที่ต้องทิ้งสิ่งนี้ลงไป ถึงจะเทลงท่อระบายน้ำ สุดท้ายมันก็ลงสู่ธรรมชาติอยู่ดี เลยคิดว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าเราจะทำเอง…”

sandsuwanya

sandsuwanya

นับรวมไปถึงอาการที่เธอมือลอกเรื้อรัง เพราะแพ้ความเป็นด่างในสีน้ำมัน จนทำให้ไม่มีลายนิ้วมืออยู่หลายปี แซนเลยฉกฉวยโอกาสช่วงไปเรียนปริญญาโทด้านศิลปะที่อินเดีย ทำโปรเจกต์อุปกรณ์ศิลปะใช้เองซะเลย! นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายในฐานะนักเรียนศิลปะในต่างแดนแล้ว แซนเล่าว่า การทำสีน้ำตลับยังง่ายสำหรับการพกพา ตอบโจทย์เด็กที่ “ไปเพื่อเที่ยว” แบบเธอในตอนนั้น

sandsuwanya

The Pigment

จริงอย่างที่เราคาดไว้ พืชในสวนหลังบ้านเหล่านี้ถูกนำมาทำเป็นสีหมดแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นดอกดาวกระจาย ทานตะวันสีแดง หรือแม้กระทั่งใบจากต้นมะม่วง แซนอธิบายว่าทุกอย่างมีสีสันเป็นของตัวเอง สัตว์อย่างเพลี้ย ครั่ง หรือหอย ก็สามารถให้สีได้ เพราะฉะนั้นจะหยิบจับวัสดุธรรมชาติใดมาทำก็ได้ แต่ความเข้มข้นของสีก็จะแตกต่างกันไป ถ้าจะให้ดีก็ควรจะเลือกวัสดุที่ให้สีชัดเจนหน่อย

sandsuwanya

sandsuwanya

sandsuwanya

sandsuwanya

วิธีการทำไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด เริ่มจากการนำวัสดุธรรมชาติไปต้มกับสารส้มจนได้ที่ นำมาผสมกับแคลเซียมคาร์บอเนตให้ได้เนื้อสีเป็นผงๆ แบบที่เราเห็นกันในขวดแก้ว และสุดท้ายนำไปผสมกับตัวกลางเพื่อให้ได้ชนิดสีที่เราต้องการ ซึ่งสตูดิโอของแซนทำสีหลากหลายรูปแบบ ถ้าอยากได้สีอะคริลิกก็ผสมกับยางพารา อยากได้สีเทียนก็ผสมกับขี้ผึ้ง อยากได้สีน้ำมันก็ผสมกับน้ำมันลินสีด

sandsuwanya

ส่วนสีน้ำที่ทำให้แซนเป็นที่รู้จัก จะต้องผสมกับกัมอารบิกซึ่งเป็นยางไม้ที่มีคุณสมบัติตรงกับสีน้ำตามท้องตลาด คือละลายน้ำได้หลายๆ ครั้ง แถมยังทำให้สียึดติดกับกระดาษได้ง่าย สุดท้ายก็จะนำมาบรรจุลงเคสไม้ที่แซนสั่งทำเอง โดยร่วมมือกับช่างไม้ช่างฝีมือแถวบ้าน จนได้ตลับสีน้ำหลายรูปทรง พร้อมจานสีขนาดจิ๋วและช่องวางผ้าเช็ดพู่กันขนาดเล็ก ทำให้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็หยิบออกมาเพนต์ภาพได้ง่ายๆ เลย

sandsuwanya

The Shade

ว่าแต่การทำสีเองมีความพิเศษยังไง? ต้องใช้ทั้งเวลาและอุปกรณ์เยอะแยะไปหมด… จากที่ได้คุยกับแซน เราบอกได้เลยว่าความพิเศษมันอยู่ในกระบวนการและการได้รู้ที่มาของสีที่เราใช้นี่แหละ แซนเล่าให้เราฟังว่า หลายครั้งเมื่อผ่านการต้ม สีของบางวัสดุจะเปลี่ยนไปจากเดิม

“อันนี้คือสีเหลืองที่ทำมาจากดอกทานตะวันสีแดง ข้างหลังดอกมันเป็นสีเหลือง แสดงว่าจริงๆ มันมีพิกเมนต์เหลืองซ่อนอยู่ แต่มันแค่แสดงผิวนอกออกมาเป็นสีแดง”

sandsuwanya

“แล้วก็อันนี้เป็นใบสบู่แดง ออกแดงๆ ช้ำๆ แต่ว่าต้มแล้วได้สีเขียว”

แซนที่ตอนนี้เหมือนนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสีและพฤกษานานาพันธุ์ ยกตัวอย่างพร้อมชี้สีที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะให้เราดู ทำเอาทุกคนเซอร์ไพรส์ไปตามๆ กัน เราเองก็รู้สึกทึ่งกับรายละเอียดมากมายที่แซนเเละธรรมชาติมอบให้ เลยแอบถามสักหน่อยว่า จากสีเป็นร้อยๆ สีที่ได้ทำมา สีไหนเป็นสีโปรดของเธอ

sandsuwanya

sandsuwanya

“น่าจะเป็นสีของต้นที่รู้จักที่อินเดีย ชื่อว่าต้น ‘ทองกวาว’ เมืองที่เราไปอยู่มีทองกวาวอยู่เยอะมาก ถ้าดอกนี้บาน มันเป็นสัญลักษณ์ว่าจะถึงเทศกาล ‘Holy Festival’ ที่เขาสาดผงสีกันแล้ว มันเป็นเทศกาลที่ทุกคนแฮปปี้ เพราะผ่านฤดูหนาวมาแล้ว จะสามารถเพาะปลูกได้ ก็จะไปเก็บดอกนี้มาร้อยเป็นพวงมาลัย เราเองก็ชอบปั่นจักรยานไปเก็บที่มันร่วงๆ มาย้อมผ้า”

แซนพูดถึงสีส้มแปร๊ดจากดอกทองกวาวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เป็นตัวอย่างที่ดีว่าสีเป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงตัวเรากับความทรงจำต่างๆ ได้ เชื่อว่าทุกคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็คงจะเริ่มนึกถึงสีโปรดของตัวเองเหมือนกัน

sandsuwanya

sandsuwanya

sandsuwanya

It’s Good?

คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัย ซึ่งแซนตอบเรากลับมาว่า “ดี คือ ดีสำหรับเราก่อน และดีสำหรับแมว”

ดีต่อโลกแค่ไหนไม่รู้ รู้เพียงว่าตอนนี้เธอภูมิใจสุดๆ ที่สามารถรดน้ำต้นไม้ด้วยสีล้างพู่กันของเธอได้แล้ว หรือแม้จะเทลงคลองก็ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์น้ำแต่อย่างใด แถมน้องแมว 3-4 ตัวที่เธอรักสุดๆ ยังสามารถวิ่งเล่นไปมาในสตูดิโอได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะเผลอไปเลียสารที่ท็อกซิกต่อร่างกาย

sandsuwanya

ยังไงก็ตาม เธอฝากเกร็ดเล็กๆ ไว้ว่า สีจะอันตรายหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีทำเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับวัสดุด้วย หากเราใช้ดินมาทำสี แต่ดินนั้นมีส่วนผสมของโลหะหนัก ก็คงไม่เวิร์กเหมือนกัน เธอเลยเลือกวัสดุที่จะมาใช้ทำสีอย่างระมัดระวังอยู่เสมอ

sandsuwanya

sandsuwanya

sandsuwanya

sandsuwanya

The Workshop

หลังจากได้อ่านเรื่องราวของสีจากธรรมชาติ เชื่อว่าคงมีคนสนใจอยู่ไม่น้อย ตอนนี้สตูดิโอของแซนยังคงอ้าแขนต้อนรับนักเรียนรู้ทุกคนที่อยากรู้จักสีและธรรมชาติให้มากขึ้น ชวนมาสัมผัสบรรยากาศชิลล์ๆ แถบชานเมืองกรุงเทพฯ พร้อมสร้างสรรค์พาเลตต์สีน้ำและสีเทียนของตัวเอง

โดยหลักๆ แล้ว จะมีเวิร์กช็อปอยู่ 2 แบบ คือ 1.เวิร์กช็อปแบบ Paint & Visit สำหรับคนที่มีเวลาไม่มาก สามารถมานั่งคุย นั่งเล่นกับน้องแมว พร้อมใช้สีจากธรรมชาติสร้างสรรค์งานศิลปะของตัวเอง และ 2. แบบ Intensive คือเวิร์กช็อปที่ใช้เวลาทั้งวัน สัมผัสวัสดุจากธรรมชาติกว่า 20 ชนิด เรียนรู้กระบวนการทำสีตั้งแต่ต้นจนจบ และรับตลับสีน้ำพกพา หรือเซ็ตสีเทียนแบบไม่ซ้ำใครกลับบ้านได้เลย

sandsuwanya

sandsuwanya

ก่อนจะลากันไป แซนชวนเราเปิดหนังสือ ‘Colorstrology : What Your Birthday Color Says about You’ มาเช็กกันสักหน่อยว่าสีประจำตัวเราคือสีอะไร ซึ่งเธอบอกว่าทริคนี้ใช้ในการเวิร์กช็อปเหมือนกัน เวลาผู้เข้าร่วมคิดไม่ออกว่าจะใช้หรือสกัดสีอะไรดี

เราเปิดไล่มาเรื่อยๆ จนถึงวันเกิดตัวเอง ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือยังไง แต่รู้สึกเชื่อมโยงกับสีที่ได้มาและคำบรรยายลักษณะของตัวเราสั้นๆ อย่างบอกไม่ถูก

ความจริงแม้แต่ตัวเราเองก็คงมีพิกเมนต์เหมือนกัน…

sandsuwanya

sandsuwanya

สามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมเวิร์คช็อปได้ที่
FB: Suwanya, IG: sandsuwanya
และอีเมล Suwanya.sand@gmail.com

Tags: