About
RESOUND

SAMMON

‘SAMMON’ คุณหมอนักเขียนนิยายการแพทย์ ผู้สร้างโลกในซีรีส์จากทริอาช-การุณยฆาต-4MINUTES

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พามารู้จักกับหมอแซม – พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร เจ้าของนามปากกา Sammon ที่ผลงานของเธอหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์ มาดูกันว่าความเป็นแพทย์พาเธอไปยังโลกแห่งจินตนาการได้อย่างไร

หมอแซม หรือ พ.ญ.อิสรีย์ ศิริวรรณกุลธร เจ้าของนามปากกา Sammon ที่มาจากชื่อเดิม ‘Asama’ ซึ่งเธอใช้ชื่อนี้สมัยวาดรูปลงเว็บบอร์ดว่า ‘A.sam’ และแฟนคลับเรียกขานว่า ‘แซมม่อน’  หมอแซมเสพสื่อญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก ทั้งอ่านมังงะ โคฟเวอร์เพลง วาดการ์ตูน เขียนโดจิน ดูอนิเมะ ที่ล้วนมีคู่ชาย-ชายให้จิ้นจนชินตา กลายเป็นเหง้าความคิดให้เธอมองว่าเป็นเพียงรสนิยมทางเพศอย่างหนึ่ง และไม่คิดแปะป้ายให้ผลงานใดๆ ว่าเป็นวาย ยูริ บีแอล แซฟฟิก ฯลฯ

“เราไม่ต้องแยกแล้วก็ได้ว่าอันนี้คือวาย นี่คือไม่ใช่เรื่องเพศเป็นแค่รสนิยมของตัวละครเฉยๆ เหมือนในต่างประเทศที่ไม่ได้แยกว่าเป็นวาย เป็นแซฟฟิก เพราะเอาจริงๆ คนดูดูที่เนื้อเรื่องเป็นหลัก” หมอแซมกล่าว

อ้อ อีกอย่างที่หมอแซมทำมาตั้งแต่ประถมคือเขียนนิยาย เรื่องราวและตัวละครมากมายไหลออกจากจินตนาการของเธออย่างไม่เคยมีจุดสิ้นสุดของเรื่องจวบจนเด็กหญิงแซมกลายเป็นนักศึกษาแพทย์ปี 5

หลังจาก ‘การวินิจฉัย’ (Diagnosis) นิยายการแพทย์แนวจิตวิทยาที่เธอเข็นตัวเองให้จบได้เรื่องแรก คล้ายว่านักเขียนในตัวเธอจะได้กำลังใจ จึงพรั่งพรูนิยายออกมาไม่ยั้ง อาทิ นิยายแนวนิติเวชเรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ (Manner of Death) เวชศาสตร์ฉุกเฉินกับเรื่อง ทริอาช (Triage) เวชศาสตร์ครอบครัวในเรื่องการุณยฆาต (Euthanasia) แทรกด้วย ‘Grab a Bite ส่งร้อน เสิร์ฟรัก’ นิยายโรแมนซ์ละมุนระหว่างเชฟหนุ่มกับไรเดอร์ส่งอาหารที่ทำซีรีส์ Bite Me

หมอแซมเป็นนักเขียนนิยายมือทองที่ผลงานหลายเรื่องถูกนำไปสร้างเป็นซีรีส์มากมาย ตัวอย่างข้างต้นล้วนกลายเป็นซีรีส์ทั้งสิ้น รวมถึงซีรีส์เรื่องล่าสุดที่กำลังออนแอร์ ‘4MINUTES’ นำแสดงโดย เจษ-เจษฎ์พิพัฒ ติละพรพัฒน์ และ ไบเบิ้ล-วิชญ์ภาส สุเมตติกุล ที่พาให้เรานัดเจอกับหมอแซม

อีก 58 นาที 17 วินาที ฉันดูนาฬิกาในสมาร์ตโฟนอย่างกระวนกระวายเล็กน้อย แต่เมื่อหญิงสาวสองคนปรากฏตัวขึ้นที่ทางเข้าร้านกาแฟในห้างหรูใจกลางเมือง ฉันถอนใจอย่างโล่งอกโดยไม่รู้ตัว หญิงสาวในกางเกงยีนส์ทะมัดทะแมงทรุดนั่งที่โต๊ะข้างๆ ส่วนหญิงสาวในชุดกระโปรงสีเทายอบกายบนเก้าอี้ตรงข้ามฉัน รอยยิ้มใจดีระคนเกรงใจของเธอทำให้ริมฝีปากข้างหนึ่งของฉันกระตุก

‘เหมือนที่ใครต่อใครพูดถึงไว้ไม่มีผิด’ ฉันคิดในใจ ‘ใครต่อใคร’ ที่ว่านั้นก็อย่างเช่น กันตภัทร วสันต์ ธาม เกรท…

“เริ่มกันเลยดีไหมคะ” เสียงของคนตรงข้ามดึงฉันออกมาจากห้วงความคิด ฉันยิ้มให้ กดปุ่มอัด แล้วเสียงรอบตัวก็ไหลเคลื่อนเข้าสู่การบันทึก

SAMMON

นิยาย = จินตนาการ + วินัย

ONCE: หมอแซมเขียนเริ่มนิยายมาตั้งแต่วัยรุ่น แต่แรกๆ ก็เขียนไม่จบสักเรื่องเลย คิดว่าเป็นเพราะอะไร

มันเป็นความสนุกแค่ช่วงแรกๆ ที่เราคิดพล็อตเรื่องได้ เราจะฟุ้ง แต่พอลงมือเขียนจริงๆ ปรากฏว่าใช้เวลาเยอะ ต้องใส่รายละเอียดนั่นนี่ ความสนุกเลยเริ่มลดลง เราก็เลยดองไว้ก่อน (หัวเราะ)

ONCE: ความสนุกต้องมาพร้อมกับวินัยด้วย

ใช่เลย ต้องหาวิธีเข็นตัวเองให้เขียนจบได้สักเรื่อง แล้วเรื่องต่อๆ ไปจะดีขึ้น จะเขียนจบได้เรื่อยๆ และอาจต้องปรับไลฟ์สไตล์สักนิดหนึ่ง ตัวแซมมีเวลาว่างน้อย เวลาว่างมาแบบเล็กๆ อย่างช่วงพักเที่ยง ช่วงคนไข้ไม่แอ็กทีฟมาก ช่วงหลังเลิกงาน ฯลฯ ฉะนั้น เราต้องวางโครงเรื่องเอาไว้ก่อน เขียนทรีตเมนต์ไม่ให้เราหลง และอย่าด้น เพราะถ้าด้น เราจะเขียนไม่จบ การเขียนแบบด้นสดอาจต้องใช้เวลาเยอะ อยู่กับการเขียนแบบยาว ๆ วันหนึ่งเขียน 8 ชั่วโมง แต่เวลานั้นตรงนั้น แซมไม่มี เลยต้องใช้วิธีขึ้นทรีตเมนต์ให้เสร็จ ต้น กลาง จบ วางแบ็กกราวนด์ตัวละครให้จบก่อน ทำมีเวลาเมื่อไรก็มาเขียน

SAMMON

ONCE: เรื่องพวกนี้หมอแซมเรียนรู้แต่แรกหรืออย่างไร

เพิ่งมาเรียนตอนเขียนบทค่ะ ก่อนหน้านั้นเขียนนิยายแบบเรียนรู้ด้วยตัวเอง แรกๆ ก็ด้น แต่พอด้นแล้วยากลำบากมากกว่าจะจบได้ พอด้นแล้วก็ออกทะเลได้ เรื่องแรกๆ ที่เขียนจะดูล้นๆ อย่างเรื่องแรกที่เขียน ‘การวินิจฉัย’ พอย้อนกลับไปอ่านแล้วโอ้…(หัวเราะ) แซมเริ่มศึกษาการเขียนนิยายด้วยตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องพอดีขึ้น พัฒนามาเรื่อยๆ พอมาเขียนบทเองด้วยก็ไปเรียนเขียนบทจริงจัง

ONCE: เขียนนิยายเฉลี่ยปีละกี่เรื่อง

ทำได้มากสุดประมาณปีละ 2-3 เรื่อง นี่ลดลงเยอะแล้ว เรื่องหนึ่งยาวประมาณ 300-350 หน้า เขียนทุกวันแล้วแต่จะมีเวลาว่าง แต่ช่วงหลังเริ่มเหนื่อยเลยเริ่มเบรกบ้าง

SAMMON

ONCE: มองว่าการเขียนนิยายคืออะไร งานประจำ หน้าที่ หรือฮ็อบบี้?

เป็นงานอดิเรก เรายังสนุกกับมัน เราทรีตมันเป็นการพักผ่อน เหมือนเรากลับบ้านไปนอนเปิดดูเน็ตฟลิกซ์

ONCE: แมตทีเรียลในการเขียนที่มีเยอะแยะ เพราะหมอเจอเคสคนไข้ทุกวันใช่ไหม

เป็นข้อดีของการทำงานหมอด้วย เราเจอเรื่องราวของคนเยอะ คนไข้ 1 คนมี 1 เรื่อง หนึ่งครอบครัวก็จะมีเรื่องราวดรามามากมาย วันหนึ่งดูคนไข้ 4-5 เคส ก็จะเจอเรื่องราวใหม่ๆ แล้ววันละ 5 เรื่อง

ONCE: ชีวิตนี้คงเขียนนิยายได้เป็นหมื่นเรื่องเลยนะหมอ

โอ้ มีแมตทีเรียลในหัวเยอะมากค่ะ

ONCE: อะไรที่ทำให้นักเขียนนิยายเข้าโหมดนักเขียนบท

เพราะได้โอกาสไปปรับนิยายของตัวเองให้กลายเป็นบทซีรีส์ ด้วยความที่เป็นนิยายการแพทย์ ทางฝ่ายโปรดักชันต้องปรึกษาเราอยู่แล้ว แซมเลยได้อยู่ในทุกกระบวนการ ทีนี้เริ่มอยากเขียนบทเอง ซึ่งไม่รู้ว่าคิดถูกหรือผิดนะ (หัวเราะ) การเขียนนิยายกับการเขียนบทเป็นคนละศาสตร์กันเลย ต้องคิดคนละแบบ แต่เสริมกันได้ แซมรู้วิธีการวางโครงเรื่องแบบซีรีส์แล้ว เราอยากเขียนนิยายให้มีโอกาสได้ปรับเป็นบทให้มากขึ้น การวางโครงเรื่องในนิยายก็อาจจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

SAMMON

ONCE: ความแตกต่างของการเขียนนิยายกับการเขียนบทคืออะไร

‘การทำให้ออกมาเป็นภาพ’ บทต้องเป็นภาพ แต่นิยายเราจะบรรยายยังไงก็ได้ หรือในนิยายเราบรรยายความคิดตัวละครไปเลย 1 หน้ากระดาษ แต่พอมาเป็นภาพปุ๊บ คือภาพตัวละครกำลังเหม่อ คนดูจะงง ฉะนั้น ต้องใส่สถานการณ์ลงไปในบท ในขณะที่นิยายไม่ต้องใส่สถานการณ์เยอะมากก็ได้ แต่ถ้าซีรีส์มีสถานการณ์ไม่มากพอจะไม่สนุก เหตุการณ์แบบไหนจะทำให้ซีรีส์น่าดู อยากติดตามต่ออีก ก็ต้องคิด แต่เวลาเขียนนิยาย เราอาจจะไม่ต้องคำนึงเรื่องเหล่านี้มากนัก อย่างล่าสุด ซีรีส์เรื่อง ‘หยดฝนกลิ่นสนิม’ (ชาล็อต ออสติน รับบทแพทย์หญิงเฌอรัญชน์ จันทนเสถียร อิงฟ้า วราหะ รับบท ร้อยตำรวจโทตุลย์ เตชะโกมล) แซมไม่ได้เขียนนิยายเรื่องนี้ แต่เราเป็นหนึ่งในทีมทำบท โดยเอานิยายของคุณ SIXTEENSEVEN มาปรับเป็นบทซีรีส์

ONCE: เกร็งไหมกับการปรับบทนิยายของคนอื่น

เรื่องนี้แซมเป็นลูกทีม เป็นมือเขียนบทมือใหม่ เลยไม่ได้กดดันมาก มีคนอื่นที่เป็นเฮด แซมจะคอยเช็กเรื่องนิติเวชเบื้องต้นให้ถูกต้องในระดับหนึ่ง เรื่องรายละเอียดอื่นๆ หมอนิติเวชตัวจริงจะเช็กให้อีกที

SAMMON

4MINUTES ซีรีส์ที่บอกก่อนไม่ได้ ต้องดูเองเท่านั้น

ONCE: ผลงานล่าสุด ‘4MINUTES’ เกี่ยวกับการแพทย์หรือเปล่า

บอกไม่ได้ (หัวเราะ) ถ้าให้ข้อมูลอะไรไปจะเฉลยปมที่วางไว้หมดเลย

ONCE: อะไรดลใจให้เขียนเรื่องนี้

ก็บอกไม่ได้อีก (หัวเราะ) แก่นเรื่องนี้คือเฉลยของทุกอย่าง ต้องไปดูกันเอาเอง ถ้าได้คุยหลังซีรีส์ออนจะสนุกมาก เต็มไปสัญญะแบบ deep มาก อันที่จริงโปรเจกต์นี้เปิดตัวมานานแล้ว แต่เกิดเหตุการณ์หลายสิ่งอย่างก็เลยปรับมาเรื่อยๆ จนลงตัวที่สุดแล้วค่อยเปิดกล้อง

ONCE: การนำนิยายมาทำเป็นซีรีส์ คนอ่านจะมีภาพของตัวละครในหัว พอทำเป็นซีรีส์ บางทีตัวละครอาจจะไม่ตรงปก เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับหมอแซมบ้างไหม

เป็นประเด็นที่ทางนักเขียนกับผู้จัดต้องคุยให้ชัดเจนแต่แรก ถ้าผู้จัดบอกว่าเรื่องแคสติงนักแสดงอาจจะไม่ให้นักเขียนเข้ามามีส่วนร่วมนะ นักเขียนโอเคหรือเปล่า ถ้าไม่โอเคก็ต้องดีลกัน แต่ส่วนตัวแซมค่อนข้างเชื่อใจผู้จัด เชื่อว่าเมื่อเขานำนิยายของเราไปทำซีรีส์ เขาจะมีการแคสติงที่เหมาะสมกับบริบทของผู้จัด ซึ่งทางเขาเองมีปัจจัยเยอะมาก พอแซมเข้ามาทำโปรดักชันด้วย เลยได้เห็นปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด การเลือกหรือไม่เลือกนักแสดงคน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ทำให้เราเห็นว่าเรื่องแคสติงต้องเป็นเรื่องของทางผู้จัดจริงๆ นั่นแหละที่เขาจะเป็นฝ่ายพิจารณา เพราะเขารู้เรื่องด้านนี้มากกว่าเรา และเขาต้องเลือกคนที่ดีที่สุดสำหรับงานของเขาอยู่แล้ว แซมเลยไม่ค่อยกังวล

SAMMON

ONCE: หมอแซมเลือกกันมาแต่แรกเลยว่า ค่ายนี้น่าเชื่อถือเชื่อใจได้มากน้อยแค่ไหน

ใช่ค่ะ หลักๆ แซมดูจากผลงานเรื่องก่อนๆ ของทางค่ายว่าเป็นอย่างไร อย่าง Be on Cloud นี่หายห่วงมาก แซมเชื่อใจเขาสุดๆ แซมอยากเห็นผลงานของตัวเองออกมาในโปรดักชันแบบ KinnPorsche ดังนั้น ทางค่ายจะให้นักแสดงคนไหนเล่นก็ได้ แซมไม่ห่วงเลย และเราคุยธีมกัน พอทางค่ายโอเคกับธีมเรื่องแบบนี้ เอ้า แซมลุยเลย เราพัฒนากันมาเรื่อยๆ ถามว่าที่ผ่านมาเคยมีส่วนร่วมในการเลือกแคสติงหรือเปล่า…ไม่เลยค่ะ แซมยกการตัดสินใจ 100% ให้ทางค่ายทั้งหมด

ONCE: เหมือนศิลปินให้เกียรติศิลปินด้วยกัน ทุกคนรู้ดีที่สุดในหน้าที่ของตัวเอง

ใช่ค่ะ แซมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไงนะคะ อาจจะมีนักเขียนคนอื่นที่มีส่วนร่วมเรื่องแคสติง แล้วแต่การตกลงกันค่ะ บางที่อาจมองว่าการให้นักเขียนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องดี ซึ่งดีจริงๆ เพราะนักเขียนรู้จักตัวละครดีที่สุด เขาเป็นคนคิดทั้งหมด มีภาพชัดเจนในหัว การเลือกแคสติงที่ตรงกับนิยายหรือเว็บตูนก็เป็นเรื่องดี เพราะคนที่ติดตามมาก่อนแล้วจะรู้สึกว่าแบบนี้ถูกต้อง คาแรคเตอร์นี้เหมาะสม และชิ้นงานน่าจะออกมาดี คิดว่าประเด็นนี้น่าจะเจอกันตรงกลางได้ระหว่างนักเขียนกับผู้จัด

ONCE: หมอแซมได้คุยกับเจษกับไบเบิ้ลตั้งแต่เวิร์กช้อปไปจนถึงออกกองถ่ายที่ต้องไปเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ด้วย คิดอย่างไรกับนักแสดงนำทั้งสอง

น้องทั้งสองคนตั้งใจมากค่ะ 4MINUTES คือผลงานแสดงเรื่องที่สองของไบเบิ้ล เขายังใหม่มาก และบทในเรื่องนี้ค่อนข้างท้าทาย คิดว่าน้องตั้งใจมาก เก่งเกินกว่าจะเป็นการแสดงเรื่องที่สอง เขาเอาอยู่ ตั้งใจในการศึกษาตัวละครเป็นอย่างดี

ส่วนเจษนี่หายห่วงอยู่แล้ว แซมเห็นเขามานานมากแล้ว เขาทำงานในวงการมานาน เป็นพระเอกมาหลายเรื่อง แต่ใน 4MINUTES แซมรู้สึกว่าเราจะไม่เคยเห็นเจษในแบบนี้มาก่อน คิดว่าทุกคนน่าจะเซอร์ไพรส์ และเป็นบทที่ในไทยยังไม่เคยเห็นแนวนี้มาก่อน มันใหม่มาก

SAMMON

ONCE: เหมือนศิลปินให้เกียรติศิลปินด้วยกัน ทุกคนรู้ดีที่สุดในหน้าที่ของตัวเอง

ใช่ค่ะ แซมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไงนะคะ อาจจะมีนักเขียนคนอื่นที่มีส่วนร่วมเรื่องแคสติง แล้วแต่การตกลงกันค่ะ บางที่อาจมองว่าการให้นักเขียนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเรื่องดี ซึ่งดีจริงๆ เพราะนักเขียนรู้จักตัวละครดีที่สุด เขาเป็นคนคิดทั้งหมด มีภาพชัดเจนในหัว การเลือกแคสติงที่ตรงกับนิยายหรือเว็บตูนก็เป็นเรื่องดี เพราะคนที่ติดตามมาก่อนแล้วจะรู้สึกว่าแบบนี้ถูกต้อง คาแรคเตอร์นี้เหมาะสม และชิ้นงานน่าจะออกมาดี คิดว่าประเด็นนี้น่าจะเจอกันตรงกลางได้ระหว่างนักเขียนกับผู้จัด

ONCE: หมอแซมได้คุยกับเจษกับไบเบิ้ลตั้งแต่เวิร์กช้อปไปจนถึงออกกองถ่ายที่ต้องไปเป็นที่ปรึกษาทางการแพทย์ด้วย คิดอย่างไรกับนักแสดงนำทั้งสอง

น้องทั้งสองคนตั้งใจมากค่ะ 4MINUTES คือผลงานแสดงเรื่องที่สองของไบเบิ้ล เขายังใหม่มาก และบทในเรื่องนี้ค่อนข้างท้าทาย คิดว่าน้องตั้งใจมาก เก่งเกินกว่าจะเป็นการแสดงเรื่องที่สอง เขาเอาอยู่ ตั้งใจในการศึกษาตัวละครเป็นอย่างดี

ส่วนเจษนี่หายห่วงอยู่แล้ว แซมเห็นเขามานานมากแล้ว เขาทำงานในวงการมานาน เป็นพระเอกมาหลายเรื่อง แต่ใน 4MINUTES แซมรู้สึกว่าเราจะไม่เคยเห็นเจษในแบบนี้มาก่อน คิดว่าทุกคนน่าจะเซอร์ไพรส์ และเป็นบทที่ในไทยยังไม่เคยเห็นแนวนี้มาก่อน มันใหม่มาก

SAMMON

ONCE: กลัวไหมเวลาทำอะไรใหม่ๆ ระแวงสักนิดไหมว่าคนดูอาจจะไม่เปิดรับ หรือเราจะทำอะไรเซฟๆ ดีกว่า

กลัวสิ กลัว มีมั่นใจอยู่เรื่อยๆ เป็นปกติ แต่แซมใช้วิธีว่า เราจะใส่อะไรที่คนดูชอบลงไปด้วย และเรามีทุกคนคอยช่วยคอมเมนต์ว่าตรงนี้หนักไปนะ เราหาอะไรมาเติมหน่อยไหม บทดราฟต์แรกๆ ยากเกินและคนดูอาจจะงงจนตามไม่ทัน โชคดีที่แซมมีทีมที่ซัปพอร์ตดีมากๆ ทำให้ออกมาเป็นไฟนัลเวอร์ชันที่ดี ถ้าทำแนวการแพทย์ แซมค่อนข้างมั่นใจว่างานจะออกมาโอเค คนดูน่าจะชอบ แต่เรื่อง 4MINUTES ต้องลุ้นเลยว่าจะออกหัวหรือก้อย

ONCE: นี่คือข้อดีของหมอแซมนะที่ไม่ได้อยากอยู่ในเซฟโซน เราเขียนเรื่องแนวนี้ได้ดีก็ทำแต่แนวนี้ แต่พาตัวเองไปยืนปากเหวตลอด

ก็น่ากลัวตลอดนะ แต่ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราคงไม่เก่งสักที

SAMMON

SAMMON

ถ้าไม่ได้เขียน – คงเลิกเป็นหมอไปนานแล้ว

ONCE: ปกติหมอแซมทำงานที่เชียงใหม่ ลงมากรุงเทพฯ บ่อยไหม

แซมเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) หรือหมอแฟมเมด คือหมอที่ดูแลขั้นปฐมภูมิ ก่อนส่งไปให้หมอเฉพาะทาง ช่วงนี้แซมมาเรียนต่อ 3 วันที่จุฬาฯ ด้านการดูแลคนไข้ระยะประคับประคอง (Palliative Care) แฟมเมดจะดูแลผู้ป่วยทุกกลุ่มโรค ทุกเพศ ทุกวัย แต่ Palliative Care จะเจาะไปที่ระยะสุดท้ายของชีวิต เราดูแลคนไข้ระยะนี้ได้ต่อเนื่องและรู้สึกว่าถนัดทางนี้ เป็นศาสตร์ที่เราต้องคุยกับคนเยอะ เราต้องใจเย็น ต้องมีจิตวิทยาและทักษะในการสื่อสารกับคน เราทำได้โอเค และคนเรียนทางนี้ในประเทศไทยน้อย เปิดโอกาสให้เราด้วย เมื่อเมืองไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งใช้ศาสตร์เวชศาสตร์ครอบครัว (Family Medicine) แต่เราลงลึกในด้าน Palliative Care

ONCE: แสดงว่าสนใจความเป็นความตาย

ในระดับหนึ่ง…คนไข้บางคนที่เราเจอ ลืมตาดูโลกปุ๊บก็เข้าสู่วาระสุดท้ายเลยตั้งแต่เพิ่งคลอด หมอวินิจฉัยว่าคนไข้คนนี้จะตายในระยะเวลาอันสั้นด้วยโรคที่เขาเป็น เคสต่างๆ ที่เราเจอทำให้เราตกตะกอนได้ว่า เราจะเข้าสู่วาระสุดท้ายเมื่อไรก็ได้ ถ้าเราไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้มรณานุสสติไว้ ถ้าเหตุการณ์นั้นมาถึง เราจะรับมือไหวไหมเมื่อเจอกับตัวเองหรือเกิดกับคนรอบข้าง เราก็ไม่ได้เตรียม คนรอบข้างก็ไม่ได้เตรียม

SAMMON

ONCE: ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดถึงน้อยมากในเมืองไทย

มันเป็นเหมือนเรื่องต้องห้ามว่าถ้าพูดแล้วจะเป็นลางร้าย เหมือนเป็นการแช่ง คนไข้บางคนก็ไม่อยากให้หมอพูด รู้สึกเหมือนไปแช่งเขา ในขณะที่ในต่างประเทศเป็นเรื่องที่คุยได้เป็นปกติ แต่แนวโน้มคนใน gen หลังๆ เริ่มพูดคุยเรื่องนี้ได้มากขึ้น แต่ gen ที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะยังยากอยู่

ONCE: ดีออกนะที่เอาความเครียดมาพลิกเป็นความสร้างสรรค์ ไม่ได้ระเบิดตัวเอง

งานหมอประคับประคองเครียดนะคะ คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้เลย เพราะเราต้องรับรู้เรื่องราวของผู้คนตลอดเวลา ต้องอยู่กับคนไข้ที่ใกล้เสียชีวิต เขาจะมีความเปลี่ยนแปลงมากมายในร่างกาย มีความเจ็บปวดทรมาน เราดูแลไปจนถึงจุดหนึ่ง คนไข้ก็เสีย ญาติๆ ก็เสียใจ มันคือกระบวนการและการดูแลความเศร้าโศกของญาติ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เราต้องเรียนเหมือนกัน

ONCE: เป็นเส้นบางๆ นะ เวลาเรารักษาโรคที่รักษาได้ เราจะมีความหวัง แต่งานประคับประคองคือเราต้องอยู่กับความเป็นจริงที่ว่า มันคือสภาวะที่ไม่มีความหวัง แต่เราต้องผ่านมันไปให้ได้

การยอมรับกับความตายก็เป็นงานอย่างหนึ่งของหมอพาลิ ต้องสื่อสารให้คนไข้รับรู้ตัวโรคอย่างแท้จริง ต้องสื่อสารว่าในสเตจนี้ของโรค คนไข้จะอยู่ได้นานแค่ไหน และจะรับมืออย่างไร เวลาที่เหลืออยู่ เขาต้องการการจัดการอะไรเป็นพิเศษ หมออาจจะทำแทนให้ไม่ได้ แต่อาจจะกระตุ้นให้เขาวางแผนและคิดถึงเรื่องเหล่านี้ เพื่อนำไปสู่ปลายทางของการดูแลแบบประคับประคอง นั่นก็คือ Good Death ซึ่งมีหลายอย่าง เช่น ไม่ทรมาน ได้เสียชีวิตในสถานที่ที่ต้องการ มีครอบครัวรายล้อม ได้ปฏิบัติตามแนวทางจิตวิญญาณหรือศาสนาที่เขาคิดว่าเป็นคุณค่าในชีวิตที่เขาได้ทำแล้ว ฯลฯ หน้าที่ของหมอพาลิคือวางแผนให้คนไข้ไปสู่ Good Death

ที่ต่างประเทศจะมี Hospice สำหรับคนไข้ในระยะสุดท้ายโดยเฉพาะ แต่ในเมืองไทยมีแต่ของเอกชน ทางรัฐบาลก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร มันเป็นงานสำคัญมากเลยแต่เขายังไม่ให้ความสำคัญจะทำให้ก้าวหน้า แซมทำงานโรงพยาบาลรัฐที่รับคนไข้บัตรทองในเชียงใหม่ มีชาวชาติพันธุ์ คนไข้จากประเทศเพื่อนบ้านมารักษากับเราเยอะ โอ้โฮ! ชีวิตคนไข้แต่ละราย เราไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้านด้วย ขึ้นดอยไปดูคนไข้ เคยขึ้นดอยไปหาคนไข้ที่หมู่บ้านชาติพันธุ์แห่งหนึ่ง คนไข้รายนี้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เวลาไปโรงพยาบาลต้องซ้อนมอเตอร์ไซค์จากบ้านบนดอยลงมา 2 ชั่วโมง เขาเลยบอกว่าขอตายที่บ้านดีกว่า เราก็บอกว่าได้ เดี๋ยวหมอจะตามไปเยี่ยมที่บ้าน เราเจออะไรแบบนี้ทุกวัน ซึ่งเรื่องผู้ป่วยระยะสุดท้าย เราเอาไปเขียนลงในนิยายเรื่องการุณยฆาตเสียเยอะ

ONCE: งานหมอเครียดมากใช่ไหม เลยต้องมาระบายใส่นิยาย

มันเครียดจริง (เสียงสูง) บางทีเราอึดอัดกับบางเรื่องที่เราโต้ตอบอะไรไม่ได้ เราก็เอามาลงกับสตอรี เช่น เรื่องราวของคนไข้กับครอบครัวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร สังคมไทยสิ้นหวังจังเลย ก็เก็บไว้ในใจ จะไปโต้ตอบกับคนไข้ก็ไม่ได้ เราได้แต่เก็บเรื่องราวมาจนทุกวันนี้และเอามาผสมจนกลายเป็นคอนเทนต์ แซมบ้าพลัง ต้องหาที่ระบาย ถ้าแซมไม่เขียนนิยายคงเลิกเป็นหมอไปนานแล้ว

SAMMON

หมอ นักเขียน นักเขียนบทที่ไปไม่สุดสักทาง

ONCE: มีสักโมเมนต์ไหมที่อยากเลือกอาชีพเดียวว่าจะเป็นหมอหรือเป็นนักเขียน

มี ช่วงที่เหนื่อยมากๆ ก็คิดว่าหรือเราควรจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะตอนนี้กลายเป็นอาชีพหลักสองอย่างที่เราใช้เวลากับมันเท่ากัน เริ่มรู้สึกว่าเหนื่อยเกินไป เราอาจจะอยากไปดีสุดๆ ทางใดทางหนึ่งหรือเปล่า ไปทางหมอ เป็นอาจารย์ ทำวิจัยไปเลยไหม หรือจะเขียนนิยายให้เต็มที่ ทำให้ดีสุดๆ ได้รางวัลต่างประเทศไปเลยไหม แต่ตอนนี้เลิกคิดแล้ว แซมมานั่งพิจารณาว่าเรามาอยู่จุดนี้ได้เพราะอะไร เป็นเพราะเราเอาแมตทีเรียลมาจากอาชีพหมอไม่ใช่หรือ ถ้าเราไม่มี input จากอาชีพหมอก็ไม่ใช่แซม

ONCE: ถ้าเป็นนักเขียนอย่างเดียว ก็ต้องไปรีเสิร์ชข้อมูลเชิงลึกเหมือนกัน แต่งานหมอเหมือนหมอแซมได้ทำรีเสิร์ชไปในตัว

ใช่ เราจะได้โอกาสไหนที่จะได้ไปเรียนรู้ชีวิตผู้คน ได้อยู่ใกล้ความตาย ไปเยี่ยมบ้านคนไข้บนดอย มันไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้

ONCE: ถ้าเป็นนักเขียน จะไปเคาะประตูบ้าน ขอเข้าไปดูคุณแม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย ใครจะให้เข้า

จริงค่ะ ที่มาของแมตทีเรียลของเราไม่ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ แซมเลยคิดว่าการเป็นหมอก็ทำให้เราได้เปรียบอยู่ แม้ว่าเราจะไปไม่สุดสักทาง แต่การทำคู่กันไปก็มีจุดเด่นและมีแนวทางของเราที่ชัดเจน เราก็ไปทางนี้ให้มันดี แซมเลยเลิกคิดแล้วว่าเราจะไปสุดทางแพทย์หรือทางเขียน แต่เราจะไปในจังหวะการก้าวเดินของเราแบบนี้แหละ ไม่ต้องไปสุดก็ได้ ตอนนี้เลยถอยออกมาเป็นคนดู ไหนดูสิว่าจะไปได้สุดแค่ไหน

ONCE: สู้กับความคิดตัวเองเยอะมากเลยใช่ไหมกว่าจะตกตะกอนได้แบบนี้ ขณะที่ต้องแบกรับความกดดันจากงานทั้งสองทางไปด้วย คนไข้ก็ใกล้ถึงจะจุดสิ้นสุด ทางโปรดักชันก็มีคนอีกเป็นร้อยรอเราอยู่ เพราะนักเขียนคือจุดเริ่มต้นของงาน

จริงๆ แซมมี 3 ทางด้วยซ้ำ เพราะการเขียนนิยายและเขียนบทเป็นคนละเส้นทางกัน แซมก็เคยคิดนะว่าถ้าเราเลิกเขียนบทแล้วเขียนนิยายให้สุดไปเลย ได้ซีไรต์ก็คงจะดีนะ แต่ไม่เห็นเป็นไรเลยนี่ เขียนนิยายก็ไม่สุด เขียนบทก็ไม่สุด เป็นหมอก็ไม่สุดแบบนี้แหละ แต่สิ่งที่ได้คือความสุขและแนวทางที่ชัดเจนของเรา

SAMMON

SAMMON

ONCE: ไม่ต้องเป็นที่สุด เป็นคนไทยคนแรกที่… เป็นอันดับ 1 ของ…

ไม่ต้องก็ได้ (เสียงสูง) อะไรที่เราทำแล้วทำได้ดี มีความสุข เติมเต็มตัวเองก็ทำต่อไป ผ่านเฟสความสับสนวุ่นวายในตัวเองไปแล้ว สุดท้ายแล้วความสงบในใจ จุดไหนที่เราพอดีและทำได้เรื่อยๆ นั่นละคือสิ่งสำคัญที่สุด

ONCE: การเขียนมีพลังในการเยียวยาได้ทั้งกับคนเขียนและคนอ่านนะ

ใช่ค่ะ ความอึดอัดถูกสื่อออกไปแล้วมีพลัง อย่างเรื่องทริอาช แซมเขียนเรื่องนี้เพราะอึดอัดที่คนไม่เข้าใจเรื่องระบบทริอาช มาห้องฉุกเฉินแล้วโวยวายว่า ทำไมมาก่อนแล้วได้รักษาทีหลัง แต่คนมาทีหลังได้ตรวจก่อน แต่คนมาทีหลังอาการหนักกว่า เป็นเคสสีแดง แต่คนที่มาก่อนเป็นเคสสีเขียว เขาไม่เข้าใจแล้วดรามาใหญ่โต มีข่าวว่าไปคนไปทำร้ายร่างกายบุคลากรในห้อง ER เยอะมาก แซมอึดอัดมาก อยากพูดเรื่องนี้ แต่ถ้าจะออกไปถือไมค์พูด คนคงฟังน้อย งั้นเราเอาเรื่องนี้มาเป็นนิยายแล้วกันก็ได้กลุ่มคนอ่านในระดับหนึ่ง พอนิยายเรื่องทริอาชทำเป็นซีรีส์ เรื่องราวนี้ก็ยิ่งกว้างออกไป จนตอนนี้คนรู้จักทริอาชมากขึ้นเยอะ คนเข้าใจระบบการคัดกรองคนไข้ฉุกเฉิน ทำให้เราคลายความอึดอัดไปได้เยอะ ก็เลยยังอยู่ได้ต่อไป (หัวเราะ)

SAMMON

พระเจ้าผู้สร้างโลกของการเขียน

ONCE: อยากกลับไปคุยอัปเดตชีวิตกับตัวละครตัวไหนที่เคยสร้างเขาขึ้นมา สบายดีไหม เป็นไงบ้าง ขอปรึกษาอะไรหน่อยสิ ฯลฯ

(คิดนาน) คงเป็นตัวละครแรกในนิยายที่เราเขียนตอน ป.4 และถามว่าทำไมฉันเขียนแกขึ้นมา (หัวเราะ) แกเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง มันออกมาจากตรงไหนในตัวฉัน

ONCE: พูดเหมือนยังจำเขาได้แม่นเหมือนเพิ่งเจอกันเมื่อวาน

จำได้สิ เขาเป็นเด็กผู้ชายชาวนิวซีแลนด์ เพราะตอนนั้นไปอ่านหนังสือท่องเที่ยวประเทศนิวซีแลนด์ ชอบมาก อยากไป เลยเขียนนิยายเป็นเรื่องของเด็กผู้ชายมาจากนิวซีแลนด์ มีเหตุต้องย้ายอยู่เมืองไทย ได้เจอกับเด็กผู้หญิงชาวไทยที่ผูกพันกันตั้งแต่ชาติปางก่อน

ONCE: นี่คือสิ่งที่เด็ก ป.4 คิดได้?

(หัวเราะ) ใช่ ไม่รู้ไปเจอเรื่องอะไรมา อยากเขียนเรื่องย้อนภพชาติ ตัวหลักเล่าผ่านเด็กชาวนิวซีแลนด์คนนี้แหละ แต่แซมเขียนนิยายเรื่องนี้ไม่จบนะ แซมอยากขอบคุณเขาที่เกิดขึ้นมา การเกิดของเขาทำให้เกิดตัวละครตามมาอีกเป็นสิบเป็นร้อย

ONCE: การเขียนเป็นอีกโลกหนึ่งจริงๆ นะ ในชีวิตจริงมีเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้เยอะมาก แต่อย่างที่หมอแซมเคยพูดว่านักเขียนเป็นงานที่มหัศจรรย์ มีแค่กระดาษปากกาหรือคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว เราก็สร้างโลกใหม่ทั้งใบได้แล้ว เป็นโลกที่อะไรก็เกิดขึ้นได้หมดเลย

และตัวละครก็มีชีวิตของเขาเอง บางทีอาจจะเป็นโลกคู่ขนานที่เกิดขึ้นจริงก็ได้

SAMMON

ONCE: เรารู้สึกว่าเรื่องราวเกิดขึ้นของมันอยู่แล้ว นักเขียนเป็นแค่ตัวกลางให้เรื่องราวสื่อผ่านเราออกมาโดยไม่ต้องไปบังคับอะไร

ใช่ และมันบังคับไม่ได้ด้วย แซมเคยบังคับนะ แต่มันไม่ได้ ตัวละครเขาไม่คิดแบบนี้ เราลองปล่อยให้ตัวละครทำสิ เขาก็ทำในแบบของเขาออกมาเอง ถึงแซมจะวางทรีตเมนต์ไว้ก่อน แต่เป็นแบบนี้ประจำเลยนะ คือท้ายที่สุดแล้ว ตัวละครจะไม่ได้ทำสิ่งที่เราวางไว้ให้เขาทำ อาจจะเป็นมิติที่ห้าที่เราไม่รู้ ก็ได้นะ (หัวเราะ) และคุณค่าของงานนี่ละที่ทำให้เราอยู่ต่อไปได้

56.01 นาที ฉันกดปุ่ม Pause เครื่องบันทึกเสียงแล้วลุกขึ้นขอบคุณหมอแซมอย่างดีใจที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอ

“แซมก็ดีใจนะคะที่ได้เจอคนที่สนใจถามอะไร deep ถึงที่มาที่ไปของการเขียนเรื่อง การสร้างตัวละคร ทำให้แซมได้กลับไปคิดถึงตัวละครตัวแรกด้วย…”

ฉันรับรู้ได้ถึงความสุขที่ได้พูดถึงเรื่องราวและตัวละครที่รักระหว่างการสนทนาของเรา “แล้วจะบอกพวกเขาให้นะคะ”

มือที่กำลังโกยกระเป๋าและแก้วกาแฟของหมอแซมชะงัก ฉันไม่รอให้เธอได้ถามอะไรต่อและกล่าวคำลา ผู้ช่วยของหมอแซมดึงแขนเธอให้เดินลงบันไดเลื่อน ขณะที่หมอยังงงงวยกับสิ่งที่ได้ยิน

‘อีกนาทีเดียว ต้องรีบหน่อยแล้ว’

ฉันยิ้มเมื่อนึกถึงคำพูดของหมอแซมขณะสืบเท้าไปทางเชื่อมระหว่างสองตึก

“และตัวละครก็มีชีวิตของเขาเอง บางทีอาจจะเป็นโลกคู่ขนานที่เกิดขึ้นจริงก็ได้”

ตั้งใจว่านี่จะเป็นประโยคแรกที่ฉันกลับไปบอกเล่าให้เหล่าตัวละครของหมอแซมที่กำลังรอคอยอยู่ ณ ปลายทางประตูมิติเวลา


เครดิตภาพ: SAMMON

Tags: