About
Leisure

Taiwan Social Space

Thaiwan อนาคตไต้หวันทาวน์จาก Social Space ที่ชวนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านสินค้า

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เดินทางในประเทศไต้หวันผ่านชา ไม้บรรรทัดลายภูเขา ของกระจุกกระจิกแสนน่ารัก แล้วทำความรู้จักวิถีชีวิต แนวคิด และวัฒนธรรมของคนไต้หวันผ่านสินค้าเหล่านั้น

วันนี้เราก้าวเข้ามาอยู่ในโลกจำลองขนาดกะทัดรัดของไต้หวัน มันไม่ได้จำลองสภาพภูมิศาสตร์มาแบบเป๊ะๆ หรอกนะ แต่ว่ามีตัวแทนด้านธรรมชาติ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และแนวคิดของคนไต้หวันสอดแทรกอยู่ในทุกอณู

เจ้าบ้านชาวไต้หวัน Lu Li Ching หรือ เสี่ยวโร่ว มาคอยต้อนรับเราอย่างดี เธอมีประสบการณ์สายมาร์เก็ตติ้ง ในขณะเดียวกันก็มีแพสชั่นด้านวัฒนธรรม เสี่ยวโร่วเปิดพื้นที่นี้ในคอนเซปต์ Social Space ที่ซึ่งนำเอาสินค้ามาเป็นตัวแทนของไต้หวัน เปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาหยิบจับ ลองใช้งาน เรียนรู้เรื่องราวของไต้หวันสิ่งของแต่ละชิ้น ทั้งสร้างบรรยากาศให้เกิดบทสนทนาจนเกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

การทำความเข้าใจรายละเอียดในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าไปสำรวจโลกใบใหม่ ย่นระยะห่างระหว่างตัวเรากับประเทศที่อยู่ไกลออกไป แถมกระตุกต่อมความสงสัยใคร่รู้ให้อยากติดตามไต้หวันมากขึ้นไปอีก หลังจากรู้ว่าไต้หวันยังมีแง่งามอีกมากมายให้สำรวจ

ประเทศที่เมืองหลวงโดดเด่นด้านสตรีตฟู้ด ไนต์มาร์เก็ต จนคนไทยบอกต่อกันว่าเหมือนกรุงเทพฯ จะเที่ยวภูเขาก็ดี เที่ยวทะเลก็ดี แต่จริงๆ แล้วยังมีอะไรอีกบ้างนะ บทความนี้จะตีแผ่จุดเด่นอันหลากหลายของไต้หวันให้ได้รับรู้กัน

Thaiwan

ชาก็เหมือนอากาศที่ใช้หายใจ

ไต้หวันเป็นเกาะแนวยาวเล็กๆ รายล้อมด้วยทะเล ตรงกลางเต็มไปด้วยภูเขาสูงใหญ่เรียงรายตามแนวยาวของเกาะ ทั้งระดับสูงกับสูงมากปะปนกัน แบ่งไต้หวันออกเป็นฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก จึงได้รับความชื้นจากรอบทิศ เกาะนี้มีทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อจะปลูกชา

ชาขยับมาเป็นของขวัญราคาแพงสำหรับผู้สูงวัย และเข้าไปอยู่ในร้านเครื่องดื่มที่เพิ่มจำนวนทุกวัน แต่ละร้านล้วนใช้ใบชาไต้หวัน การเลือกร้านโปรดในดวงใจก็ขึ้นกับใบชาที่ร้านนั้นๆ ใช้

“เวลาคนไต้หวันแนะนำชา เขาจะบอกเลยว่าชาจากเมืองไหน บางทีบอกด้วยว่าจากไร่ของใคร แล้วอธิบายว่าไร่ของแต่ละคนมีเอกลักษณ์ยังไง

“ชาสำคัญเหมือนกับอากาศที่ใช้หายใจ นอกจากกาแฟแล้ว อย่างอื่นก็เป็นชาหมดเลย” คำบอกเล่านี้เจือด้วยเสียงหัวเราะ

Thaiwan ก็ไม่พลาดนำชาไต้หวันมาใส่ในเมนูเกือบทั้งหน้า หลายสูตรถูกปรับให้เข้าปากคนไทย โดยเพิ่มน้ำผึ้งเพื่อให้ได้รสหอมหวาน ถึงอย่างไรรสชาติในแต่ละล็อตเลยแตกต่างกันไปบ้าง ตามเทรนด์การปลูกชาแบบออร์แกนิก สำหรับคนชอบดื่มชาดำใสแบบเรา นี่แหละคือความสนุกของการลิ้มชิมเครื่องดื่มกลิ่นหอมคอ แถมยังวางใจเรื่องความปลอดภัยได้ด้วย

Thaiwan

เมื่อร้านจัดเวิร์คช็อป ร้านก็เชิญตัวแทนแต่ละไร่มาอธิบายชาและการชงชาเลยทีเดียว ตัวแทนมาจากเมืองผิงหลิง หนานโถว และฮวาเหลียน เป็น 3 เมืองที่โดดเด่นเรื่องชา

ชายังทำหน้าที่เป็นประตูบานแรกของภูเขา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมือง แต่ละเผ่ามีคาแรกเตอร์ชัดเจนในวิถีชีวิต การละเล่น และลวดลายการดีไซน์ พูดเปรียบเปรยได้ว่า เหล่านี้คือเสน่ห์ที่แวดล้อมอยู่รอบไร่ชาอยู่แล้ว ทุกคนเพียงแค่ต้องหันไปดู และก้าวพ้นประตูไปหา

พวกเขาพร้อมเปิดรับทั้งคนไต้หวันและนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสประวัติศาสตร์และเอกลักษณ์ของแต่ละชนพื้นเมือง เพื่อบอกเล่าออกไปว่า ถึงไต้หวันจะเล็ก แต่ก็มีความหลากหลายที่รอให้สำรวจและเชยชม

Thaiwan

ถ้าเธอเหนื่อยล้า จงเดินเข้าป่า

ไต้หวันเป็นสวรรค์ของนักปีนเขา (และใครก็ตามที่ชอบภูเขา)

“คนไต้หวันที่ชอบภูเขามากๆ ก็จะตามเก็บให้ครบ ภูเขาแต่ละที่ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าไป”

ภูเขานี่แหละคือสินค้าดังของไต้หวัน เพียงแต่ยกมาตั้งในประเทศไทยไม่ได้ เราจะเห็นความสำคัญของมันผ่านไม้บรรทัดลายภูเขาที่วางขายอยู่ แถมด้วยอโรมากลิ่นธรรมชาติ เสมือนยกอากาศบริสุทธิ์มาไว้ในร้าน Thaiwan

Thaiwan

ไต้หวันมีทั้งภูเขาที่เหมาะกับนักปีนเขา ภูเขาที่มีขั้นบันไดขึ้นจนถึงศาลาบนยอด ฯลฯ ทิวทัศน์ในแต่ละฤดูกาลก็ต่างกันออกไป อย่างฤดูหนาวมีหิมะตก แต่ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็เที่ยวได้สะดวก เพราะไต้หวันมีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งขึ้นเหนือลงใต้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ในอีกแง่ ไต้หวันเติบโตอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ผู้คนต้องวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน สไตล์การทำงานของคนไต้หวันจึงเคร่งเครียด ตัวนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา เสาร์อาทิตย์ก็โหยหาการเข้าป่า วางความเครียดแล้วหนีไปพักใจบนภูเขาสักลูก

ผู้คนจึงเคารพธรรมชาติมาก และไม่ใช่ว่าจะปิกนิกหรือกางเต็นท์ได้ทุกหนแห่ง คุณจะพบป้ายคำเตือนและป้ายคำแนะนำตลอดทางบนเขา ราวกับได้เข้าโรงเรียนปีนเขาเลยทีเดียว นั่นก็เพื่อรักษาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจนี้ไว้ให้นาน

Thaiwan

ไทย (แลนด์) + (ไต้) หวัน

ทำไมชื่อร้านถึงเป็น Thaiwan กันนะ – เรายังไม่ทันถาม เจ้าตัวก็ชิงตอบเสียก่อน

“ชื่อ Thaiwan มาจากชื่อประเทศไทยกับไต้หวัน ภาษาจีนก็เหมือนกัน ชื่อ ไท่หวาน มาจาก ไท่กั๋วและไทหวาน ทั้งสองประเทศมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกันเลย แต่เราไม่มีสถานที่ที่ให้แลกเปลี่ยนกันได้ เลยมีสถานที่นี้ขึ้นมา”

Thaiwan

“ช่วงแรกนี้ เราเลือกของมาวางแบบให้เห็นแล้วรู้เลยว่านี่คือไต้หวัน อีกหน่อยจะเลือกมาเพื่อให้เรียนรู้วัฒนธรรมลึกขึ้น อย่างลายเหล็กดัดตรงหน้าต่างที่เป็นลายดอกไม้ ไต้หวันถือว่ามีคุณค่ามาก มันเป็นของเก่าแก่โบราณ เมืองอิงเกอที่โด่งดังเกี่ยวกับเซรามิกเลยทำเป็นจานรองแก้ว เขาก็ไปหาดีไซเนอร์มาออกแบบให้”

Thaiwan

Thaiwan

บนโต๊ะไม้มีสินค้าวางเรียงรายจนมองไม่เห็นพื้นโต๊ะ บางส่วนเป็นการหยิบกิมมิกของไต้หวันมาออกแบบ เช่น ตัวปั๊มตึกไทเป 101 จานรองแก้วลายนกยูง ซึ่งเป็นสัตว์มงคลของไต้หวัน เป็นต้น Card Holder และสมุดโน้ตแสนน่ารักที่มองแล้วยิ้มตามแบบไม่รู้ตัว สมกับที่ไต้หวันตั้งใจรวบวัฒนธรรมและงานสร้างสรรค์เป็นสินค้าหมวด Creative Industries เพิ่มคุณค่าให้วัฒนธรรม รวมถึงอาชีพหลากสาขาด้วย

Thaiwan

Thaiwan

เสี่ยวโร่วเผยว่านักออกแบบหลายคนอยากเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนกับนักออกแบบชาวไทยเพิ่มเติม เพราะคนไทยเก่งในการใช้สีและวัสดุอย่างสร้างสรรค์ แพ็กเกจจิงจึงน่าดึงดูด เมื่อเทียบกันแล้ว ไต้หวันเล่นสีสันหรือวัสดุน้อยกว่ามาก

Thaiwan

Thaiwan

เวิร์กช็อปชงชาเป็นแค่สเตจแรก ส่วนสเตจถัดไปคือเปิดพื้นที่ให้คนต่างวัฒนธรรมได้มาเจอกัน อาจดึงดีไซเนอร์ชาวไทยและชาวไต้หวันมาออกบูธขายสินค้า และอาจจะพาคนไทยไปไต้หวันด้วยนะ นอกจากนี้ ก็วางขายสินค้าไทยที่ไต้หวัน ด้วยความเชื่อมั่นว่า สินค้าบ่งบอกตัวตนของประเทศนั้นๆ และจะกระตุ้นการเผยแพร่วัฒนธรรมต่อไป ราวกับว่าสินค้าคือ Ambassador

Thaiwan

Thaiwan

Thaiwan เปิดให้สัมผัสมิติทางวัฒนธรรมที่ลึกซึ้ง ที่มาที่ไปของสินค้าหลากหลายหมวดหมู่สะท้อนจุดเด่นของไต้หวันที่หลากหลายไม่แพ้กัน เมื่อรับรู้แง่มุมใหม่แล้วก็จะมองไต้หวันสนุกขึ้น ในอนาคตคนไต้หวันก็คงรู้สึกแบบเดียวกันเมื่อได้รู้จักสินค้าไทย

Thaiwan

เพราะไม่ใช่แค่คนไทยชอบไปเที่ยวไต้หวัน แต่คนไต้หวันก็ชอบมาประเทศไทย ถ้าใครสักคนบอกว่าเพิ่งเที่ยวแวะประเทศไทย อีกคนจะต้องตอบว่า “อ้อ เที่ยวประเทศไทยสนุกมาก!” แถมคนไต้หวันมีแนวโน้มดูซีรีส์ไทย ติดตามดาราไทย และเรียนภาษาไทยมากขึ้นด้วย

Thaiwan

“ทั้งสองประเทศมีเอกลักษณ์ของตัวเอง เราอยากให้ลูกค้าไปหาด้วยตัวเองว่าชอบอะไร อยากให้เที่ยวเพราะชอบวัฒนธรรม ชอบจากใจจริงๆ นั่นคือเป้าหมาย”

Thaiwan

Thaiwan

มินิไต้หวัน

โคเรียทาวน์มีแล้ว ไชน่าทาวน์มีแล้ว ไต้หวันทาวน์ล่ะมียัง

เบื้องหน้าของอาณาจักรเล็กๆ นี้เป็นร้าน Thaiwan ส่วนด้านในเป็นสวนกว้างสีเขียวชอุ่ม มีโต๊ะไม้ท่อนใหญ่ มีไก่และนกยูงเดินสวนกันไปมาจนลูกค้าต้องเป็นฝ่ายหลีกทาง ทางด้านขวามีบ้านไม้หลังเล็กๆ เรียงติดกัน เปิดให้บริการเป็น Airbnb

Thaiwan

‘เจ้าของพื้นที่’ หรือที่เสี่ยวโร่วเรียกว่า ‘ต้าเกอ’ คือรุ่นพี่มหาวิทยาลัย เขาเป็นคนไทยที่ไปเรียนไต้หวัน ทั้งยังอินกับไต้หวันมาก เขาริเริ่มไอเดียเปิดร้าน Thaiwan ก่อนจะส่งต่อให้เสี่ยวโร่วพัฒนาต่อ ถ้าไม่ได้เขาคนนี้ ร้าน Thaiwan คงไม่เกิดขึ้นแน่

Thaiwan มีสะพานยกสูงพาดอ้อมไปทั่วบริเวณ เริ่มเดินได้ตั้งแต่ชั้น 2 ของร้านกาแฟ ไปยังบ้านต้นไม้ อาคาร Co-Working Space ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และห้องเวิร์กช็อป ซึ่งรีโนเวตจากห้องแกลเลอรีหรือโกดังสะสมของเก่า ปัจจุบันมีโต๊ะและเก้าอี้มากมายอำนวยความสะดวกให้คนที่เข้ามาชมนิทรรศการชาเล็กๆ

เราถือแก้วชานมเดินมาตามทาง โฟล์วการเดินสำรวจช่างลื่นไหล ร่มไม้และสายลมพัดเอื่อยๆ ทำให้ปล่อยตัวปล่อยใจตามสบาย พอเข้าไปในห้องแกลเลอรียิ่งรู้สึกเหมือนหลุดไปอยู่ในไต้หวันโดยไม่รู้ตัว

Thaiwan

ระหว่างขากลับ เรามองลงจากสะพานไปเห็นเด็กๆ วิ่งเล่นในสวนหย่อมเคียงข้างสัตว์น้อยใหญ่ บ้านไม้ที่อยู่ติดกับสวนก็เหมาะสำหรับเช่าจัดกิจกรรมหรือใช้แทนบูธขายสินค้า ไม่รู้จะนิยามพื้นที่นี้เป็น Mini Zoo หรือลานกิจกรรมดี แต่ความคลุมเครือนี้ก็ทำให้นึกคำพูดของเสี่ยวโร่วว่า “เราไม่ได้จำกัดที่นี่เป็นร้านกาแฟ”

Thaiwan

เจ้าบ้านใจดีให้เราหยิบของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน เลยได้เครื่องรางด้านสุขภาพมาชิ้นหนึ่ง หลังร่ำลากับเจ้าบ้านเสร็จสรรพ เราก็ก้าวเท้าออกจากประตูไม้สีน้ำตาล

อ้าว โผล่มาอยู่กรุงเทพฯ แล้วเหรอเนี่ย

Thaiwan
Open Hours: วันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 08.30 – 18.00 น. และ วันศุกร์-อาทิตย์ เวลา 08.30 – 22.30 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
Map: https://maps.app.goo.gl/e9Vi9g3PjaTTo2Fi6
Facebook: Thai灣 – ThaiWan (ไทยหวัน)

Tags: