About
Leisure

อาภรณ์บาร์

Apron Bar บาร์คราฟต์แบบ ‘เติมเงิน-แตะบัตร-กดดื่ม’ และเป็นคอมมูของคนรักกล้องฟิล์ม

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บาร์คราฟต์แบบ Self-Serviced หนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่อยากให้คนได้ชิมหลายๆ แบบ และยังเป็นสเปซให้คนรักกล้องฟิล์มได้มาพบปะกันแบบออฟไลน์

ณ ตึก Wynn’s ซอยสามเสน 4 ย่านชุมชนเงียบสงบที่เดินเท้าเพียง 5 นาทีก็ถึงถนนข้าวสาร เราพบ ‘แชมป์- แชมป์ วานิชย์หานนท์’ เป็นครั้งที่ 2

ครั้งแรกในฐานะลูกค้าของ ‘Apron Bar (อาภรณ์บาร์)’ ที่บังเอิญผ่านมาแถวนี้ในวันฝนตก และอีกครั้งในฐานะนักเขียนผู้อยากรู้อยากเห็นที่สนใจคอนเซปต์ของร้านที่ทำให้เราชิมคราฟต์ได้ถึง 18 รสชาติ ด้วยงบหลักร้อย!

ฟังไม่ผิด แชมป์จะมาแชร์ให้เราฟังถึงระบบบาร์แบบ Self-Serviced หนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่ทำให้ทุกคนสามารถกดคราฟต์ได้ในปริมาณที่ใช่ ราคาที่เอาอยู่ กิมมิกของร้านที่ตัดปัญหา ดื่มช้าจนหายเย็น หรือสั่งมาแล้วไม่ถูกปาก รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาถกเถียงกันในเรื่องคราฟต์อีกด้วย

และในฐานะเจ้าของร้านขาย-ล้าง-สแกนฟิล์มที่อยู่ในวงการมาถึง 6 ปี แชมป์ยังไม่คิดที่จะโบกมือลา เขาทำให้ที่นี่เป็นเหมือนห้องรับแขกของคนรักการถ่ายภาพฟิล์ม ที่ไม่ได้แค่เปิดพื้นที่พูดคุย แต่ยังจัดกิจกรรมให้คนได้มาเจอเพื่อนใหม่กันอยู่เรื่อยๆ

ใครกำลังมองหาที่แฮงก์เอาต์กับเพื่อนๆ เย็นวันศุกร์นี้ ONCE บอกเลยว่า “All Sorted!” :)

Apron Bar

อาภรณ์บาร์

แชมป์รื้อตึกเก่าอายุกว่า 70 ปีที่โครงสร้างถูกกัดเซาะและทำลายไปมากแล้ว และสร้างใหม่เป็นตึกสไตล์โมเดิร์นกลิ่นอายชิโนโปรตุกีส 4 ชั้น พร้อมตั้งชื่อมันว่า ‘Wynn’s’ ตามชื่อลูกชายของเขา (ที่ในขณะสัมภาษณ์ก็นั่งเล่นไอแพดอยู่เงียบๆ ที่เคาน์เตอร์บาร์)

Apron Bar

และเพื่อเป็นการทรีบิวต์ถึงอาม่า สมาชิกในครอบครัวที่แชมป์ผูกพัน เจ้าของที่ดินผืนนี้ ‘อาภรณ์’ ชื่อของอาม่า เลยได้กลายมาเป็นชื่อของบาร์คราฟต์ที่เปรียบเสมือนห้องรับแขกของตึก “ส่วนในภาษาอังกฤษ เราทวิสต์ชื่อนิดนึงให้เป็น ‘Apron Bar’ เพื่อจะได้เป็นโลโก้รูปผ้ากันเปื้อนของทางร้านด้วย” แชมป์อธิบายที่มาที่ไปของชื่อร้าน ไขข้อสงสัยของเราว่าทำไมชื่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษอ่านไม่เหมือนกัน

Apron Bar

ยังไงก็ตาม นอกจากชื่อร้านแล้ว จุดเริ่มต้นของที่นี่เข้าใจง่ายกว่าที่คิด… แชมป์ไม่ใช่เนิร์ดเบียร์ เขาไม่ได้หลงใหลมันถึงขั้นลงไปศึกษากระบวนการต้มของมันอย่างจริงจัง เขาเป็นนักดื่มมากกว่า แต่ด้วยความที่พี่ชายทำธุรกิจคราฟต์อยู่แล้ว เเชมป์เลยค่อยๆ ซึมซับจากตรงนั้น เขาเริ่มเห็นความความพิเศษของเบียร์ที่โดดเด่นออกมาจากเครื่องดื่มอื่นๆ

“ เปรียบเทียบกับพวกวิสกี้เนี่ย เขาจะมีเลเบิลใหญ่ๆ ขายอยู่ แต่มันไม่ได้หลากหลาย ส่วนเบียร์มีเป็นล้านตัว แบรนด์หลากหลายมาก”

ความหลากหลายนี่แหละที่เป็นจุดสปาร์กจอย แชมป์ตัดสินใจเปิดบาร์ขึ้นมาโดยมีโจทย์ว่า “อยากให้คนมาถกเถียงกันเรื่องเบียร์” ตัวไหนดี ตัวไหนชอบ ไม่ชอบ ก็อยากให้มาคุยกัน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเบียร์นอก เบียร์ไทย คราฟต์หรือไม่คราฟต์ แต่อยากนำเบียร์แปลกๆ มานำเสนอ

Apron Bar

ชิมแล้วมาเถียงกัน!

กุญแจสำคัญที่จะมาตอบโจทย์ของแชมป์ก็คือระบบบาร์แบบ ‘เติมเงิน-แตะบัตร-กดดื่ม’ หรือระบบ Self-Serviced ที่ทำให้ที่นี่ไม่เหมือนกับบาร์ที่ไหนในกรุงเทพฯ นั่นเอง

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพ พอเปิดประตูเข้าร้านไป สิ่งแรกที่ทุกคนจะต้องทำหลังจับจองที่นั่ง คือเดินไปที่เคาน์เตอร์เพื่อเติมเงินในบัตร โดยมีขั้นต่ำอยู่ที่ 100 บาท แต่เราแนะนำว่าเติมสัก 300 บาทขึ้นไปก็ดี หลังจากนั้นก็เดินไปที่ฮอลล์เบียร์ได้เพื่อเลือกเบียร์จากทั้ง 18 แท็ป (ยี่ห้อจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ) โดยแต่ละเเท็ปจะมีจอเล็กๆ ที่พอจิ้มลงไปเเล้วจะแสดงคำอธิบายที่มา รสชาติ รวมไปถึง ABV (ค่าแอลกอฮอลล์) และ IBU (ค่าความขม) ประกอบ

Apron Bar

พอเลือกได้เเล้ว ก็นำบัตรไปวางที่ช่องเสียบบัตร และกดเบียร์ได้ในปริมาณตามใจชอบ จอจะแสดงราคาทั้งหมดที่หักไปจากบัตรของเรา กดน้อยก็จ่ายน้อย กดมากก็จ่ายมาก ใครเติมเงินเยอะ ใช้ไม่หมด ก็ไม่ต้องอัดจนดื่มไม่ไหวนะ! แชมป์บอกว่าลูกค้าสามารถนำบัตรกลับไป แล้วมากดใหม่วันก็อื่นได้ ไม่ซีเรียส

Apron Bar

แชมป์ได้รับแรงบันดาลใจในการติดตั้งระบบนี้มาจากแอปพลิเคชัน ‘untappd’ ที่เขาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่าคล้ายกับแอปฯ รีวิวอาหารในวงการเบียร์ ทุกคนจะมาแชร์และพูดคุยกันในนั้นว่าเบียร์ตัวไหนดี ตัวไหนเคยลอง ไม่เคยลอง และแม้รสชาติเบียร์จะเป็นอะไรที่แชมป์พูดเลยว่า “แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลมากๆ” ระบบนี้จะทำให้ทุกคนได้มาดีเบตกัน รู้ที่มาที่ไปและความแตกต่างของมัน แถมยังลิ้มรสเบียร์ได้อย่างลึกซึ้งขึ้น

ใครมีโอกาสได้เเวะไปที่ร้าน ชิมแล้วชอบตัวไหนก็ไปโหวตในฮอลล์ โดยแปะสติกเกอร์ที่ Apron Bar Leader Board ได้เลยนะ สำหรับรอบนี้เราแปะไว้ที่เบอร์ 9 ‘M32 Hoppy Pale Lager’ คราฟต์เบียร์ที่ให้กลิ่นหอมของผลไม้ Tropical

นอกจากนี้ แชมป์เล่าให้ฟังว่า ระบบ Self-Serviced ยังมีข้อดีในการที่เขาจะเลือกเบียร์มาหมุนเวียนในแต่ละเดือน “ระบบที่เรามีสามารถเก็บข้อมูลได้ว่า ลูกค้านําบัตรไปกดเบียร์ตัวไหนบ้าง อย่างเช่น ลูกค้าคนนี้อาจจะกินเบียร์ลาเกอร์เยอะกว่าตัวอื่นๆ หรือว่าลูกค้าบางคนก็อาจจะกินเฉพาะแต่ IPA เราเลยสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปปรับปรุงได้ว่า เฮ้ย ลูกค้าอาจจะชอบไปทางนี้มากกว่า แล้วในอีก 2 เดือนข้างหน้า เราควรจะเอาเบียร์ตัวไหนมาลง”

Apron Bar

ยังไงก็ตาม แชมป์เบรกไว้ว่า ใช่ว่าเขาจะนำเบียร์ที่ขายดีที่สุดเข้ามาเติมเสมอไป เพราะอยากให้เกิดการหมุนเวียนตลอด เลยเปลี่ยนเบียร์ตามเทศกาลบ้าง ตามใจเขาบ้าง เพื่อที่ลูกค้าจะได้ลองอะไรใหม่ๆ ทุกครั้งที่มา

อีกสาเหตุหนึ่งที่หมุนเวียนเปลี่ยนเบียร์บ่อยๆ ก็เพราะเบียร์ที่นี่เป็นเบียร์สด ทางร้านมีห้องเย็นอุณหภูมิ 2-5 องศาเซลเซียสที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงไว้คุมคุณภาพของเบียร์ แชมป์เล่าว่า “เบียร์ของเราส่วนมากจะ Turn Around ไม่ว่าจะขายดีหรือไม่ดี ภายใน 1 เดือนจะเปลี่ยน และถ้าเเท็ปไหนหมด เราจะมีเบียร์สต๊อกไว้ในห้องแช่สําหรับเปลี่ยนให้ลูกค้าได้กินต่อทันที” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะไปรอบไหน ทางร้านก็มีเบียร์ให้ชิมครบทั้ง 18 แท็ปเสมอ

Apron Bar

ในส่วนของของกินก็อร่อยไม่แพ้กัน ด้วยความที่เปิดตั้งแต่ 11 โมงเช้า ในช่วงกลางวัน Apron Bar เลยเสิร์ฟทั้งกาแฟ ขนมหวาน และอาหารจานเดี่ยวไทยและเทศ

มารอบนี้เราได้ชิมทั้งเมนูรองท้องคลาสสิกอย่าง ‘Smoked Salmon’ ที่บีบเลม่อนเปรี้ยวๆ ด้านบน กินแล้วสดชื่น! และ ‘Old Town Chicken Gravy’ หรือข้าวหน้าไก่ เมนูที่แชมป์ Proudly Present สุดๆ ว่าอร่อยไม่เหมือนที่ไหน ซึ่งก็ถูกของเขา!

Apron Bar

แหล่งพบปะเพื่อนใหม่

“ลูกค้าฟิล์มกับลูกค้าเบียร์มีความใกล้กัน เพราะคนถ่ายภาพฟิล์มโดยส่วนใหญ่จะเน้นการเจอกันแบบออฟไลน์ ไม่ได้แค่แชทแล้วต่างคนต่างอยู่ การสร้างคอมมิวนิตีเลยสําคัญสำหรับธุรกิจฟิล์ม ซึ่งผมมองว่ากับธุรกิจเบียร์ก็ดูเข้ากันดี” แชมป์พูดถึงจุดที่ธุรกิจทั้งสองของเขาในตึก Wynn’s มาอินเตอร์เซคกัน

‘Sweet Film Bar’ คือธุรกิจขาย-ล้าง-สแกนฟิล์มของแชมป์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว และแม้จะตั้งอยู่บนชั้น 3 ของ Wynn’s เป็นไปไม่ได้เลยว่า ห้องรับแขกอย่าง Apron Bar จะไม่เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เพราะลูกค้าที่มาก็มีทั้งลูกค้าเบียร์ ลูกค้าฟิล์ม หรือลูกค้าที่กำลังเริ่มๆ สนใจในทั้งสองสิ่งปะปนกันไป

Apron Bar

ทันทีที่เดินเข้าไปใน Apron Bar เราจะเห็นฟิล์มถ่ายภาพ ที่แชมป์ทั้งตั้งโชว์และตั้งขาย เขามองว่าข้อดีอีกอย่างของการมีบาร์แห่งนี้ คือสามารถทำหน้าที่เป็นเคาน์เตอร์รับลูกค้าฟิล์ม “มันจะเพิ่มสมาธิกับสตาฟฟ์ที่ทํางานล้างและสแกนฟิล์มข้างบน ที่ไม่ต้องเจียดเวลามาต้อนรับลูกค้ามาก” แชมป์อธิบาย

นอกจากนี้ Sweet Film Bar เอง ยังมีการจัดกิจกรรมอยู่เป็นประจำ ที่เด่นๆ เลยคือ ‘Photo Walk’ ซึ่งแชมป์ทำมาเข้าปีที่ 6 จนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้ว ฟังก์ชันของ Apron Bar เลยเป็นทั้งที่นัดพบลูกค้าก่อนจะออกไปเดินถ่ายรูปกันตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมทั้งเป็นพื้นที่ให้ผู้คนได้มาพูดคุยเเลกเปลี่ยนกันหลังจบทัวร์

Apron Bar

นึกภาพว่าได้พูดคุยกันเรื่องศิลปะ พร้อมทดลองเบียร์หลายๆ รสชาติ กับเพื่อนใหม่ที่สนใจในเรื่องเดียวกัน คงเป็นบรรยากาศที่ดีไม่น้อย

ยังไงก็ตาม แชมป์ย้ำว่า ไม่ได้อยากให้ Apron Bar ถูกจำกัดไว้แค่สำหรับคนที่มีความสนใจในด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เขาพูดเสมอตลอดการสัมภาษณ์ว่า “เรามองว่ามันเป็นพื้นที่แฮงก์เอาต์” และอยากให้คนทุกเพศ ทุกวัยสบายใจที่ได้เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้

Apron Bar

ในอนาคตแชมป์ยังคงมีแพลนที่จะพัฒนาสเปซนี้ต่อไป ควบคู่ไปกับความเจริญที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในย่านสามเสน ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เลยก็คืออาร์ตสเปซในชั้น 2 ซึ่งกำลังจะถูกทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

เชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จาก Wynn’s แน่นอน

มาเปิดประสบการณ์จากบาร์ที่ไม่มีบาร์เทนเดอร์ได้ที่
Apron Bar (อาภรณ์บาร์) https://maps.app.goo.gl/bjVA4Lu7TS9Ngre68
Facebook: Apron Bar – Craft Beer on Samsen 4
Instagram: apronbarbkk

Tags: