About
RESOUND

Kamakura [鎌倉市]

วัดและศาลเจ้าในเมืองคามาคุระ บ้านเกิดของ Kuriyama Masayuki ผอ. Japan Foundation กรุงเทพฯ ผู้ตกใจเมื่อเห็นวัดไทย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับผู้อำนวยการคนปัจจุบันของ The Japan Foundation, Bangkok ที่ตกใจเมื่อเห็นสีสันวัดไทย เชิญชวนให้คนไปเที่ยวบ้านเกิด และเชื่อว่าในอนาคตคนไทยกับคนญี่ปุ่นจะสื่อสารกันได้อย่างไม่มีกำแพงกั้น

สมัยมัธยมปลาย ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง เทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นที่จัดขึ้นทุกปีของ ‘The Japan Foundation กรุงเทพฯ’ (JF Bangkok) ก็เป็นหมุดหมายที่ต้องจองตั๋วเรื่องน่าสนใจ และมุ่งตรงไปยังโรงหนังทุกทีหลังเลิกเรียน

ตัดภาพมาตอนนี้ ผมกำลังนั่งอยู่ในออฟฟิศของ JF Bangkok เพื่อพูดคุยกับ คุริยามะ มาซายูกิ ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน แต่ถ้าจะชวนคุยเรื่องผลงานก็ดูจะรีบเร่งเกินไปหน่อย เพราะเขาเองก็บอกกับเราว่า เพิ่งมาอยู่ที่ประเทศไทยได้ยังไม่ครบ 3 ปีดี คงต้องขอเวลาอีกสักหน่อย

ถ้าอย่างนั้นจะเอาอะไรมาเล่าให้ได้อ่านกันดีล่ะ นอนคิดอยู่หลายตลบ จนนึกขึ้นได้ว่าวันที่พูดคุยกับคุริยามะ ผมถามเขาว่า – มีเมืองไหนที่อยากแนะนำให้คนไทยไปเที่ยวไหม

เขาครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนจะพูดชื่อเมืองเมืองหนึ่งขึ้นมา

“ก็คงต้องเป็นบ้านเกิดของผมเอง” คุริยามะหัวเราะ “อยู่ใกล้ๆ โตเกียวเลยครับ ชื่อว่าเมืองคามาคุระ เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนาน มีวัด มีภูเขา มีทะเล ผมว่าคนไทยน่าจะเพลิดเพลินไปกับการท่องเที่ยวได้หลากหลายแบบ”

ร่วมกับอีกอย่างหนึ่งที่คุริยามะบอกกับเราว่า ตอนที่มาไทยแรกๆ เขารู้สึกประหลาดใจกับวัดไทยมาก เนื่องด้วยสีสันที่สดใส แตกต่างจากวัดและศาลเจ้าญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ทั้งที่เป็นศาสนาพุทธเหมือนๆ กัน (ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความแตกต่างทางนิกาย ญี่ปุ่นเป็นนิกาย ‘มหายาน’ ส่วนไทยจะเป็น ‘เถรวาท’)

งั้นเรามาดูกันดีกว่าว่า วัดและศาลเจ้าในเมืองคามาคุระนั้นแตกต่างจากในไทยขนาดไหน จนคุริยามะถึงกับต้องออกปากบอกว่า ตกใจเมื่อได้มาเห็นวัดไทย

The Japan Foundation

Otera [お寺]
วัด

เกริ่นถึงเมืองคามาคุระคร่าวๆ ที่นี่ตั้งอยู่ในจังหวัดคานางาวะ ขึ้นชื่อเรื่องวัดวาอาราม หลากหลายไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่นในช่วง ค.ศ.1185-1333 ก่อนสถานะเมืองหลวงจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเมืองเกียวโต ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจและการเมือง

โดยในระหว่างที่เป็นเมืองหลวงอยู่นั้น ในปี ค.ศ.1252 เมืองคามาคุระได้สร้าง ไดบุตซึ (Daibutsu) หรือแปลเป็นไทยว่า ‘พระพุทธรูปองค์ใหญ่’ ขึ้นมา และถ้าถามหาความพิเศษแล้วล่ะก็ พระพุทธรูปใหญ่แห่งคามาคุระ (Kamakura Daibutsu) ซึ่งตั้งอยู่ในวัดโคโตคุอิน (Kotokuin Temple) ก็ถูกจัดให้เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางสมาธิที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น เป็นทั้งจุดท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเมืองนี้ ว่าไปแล้วก็เหมาะสำหรับการเป็นจุดหมายแรกอยู่ไม่น้อย

The Japan Foundation

ทีนี้มาดูกันว่าละแวกรอบข้างพระพุทธรูปองค์นี้มีที่ไหนให้ไปเดินต่อกันได้บ้าง ที่แน่ๆ คือไม่มีการเปิดเผยบ้านเกิดของคุริยามะอยู่ในย่อหน้าต่อจากนี้

ในระยะ 5-10 นาทีที่เดินถึงกันจากวัดโคโตคุอิน จะมีวัดฮาเซะเดระ (Hasedera Temple) ที่อยู่มาตั้งแต่ยุคนารา (ค.ศ.710-794) ตีกลมๆ ได้ประมาณ 1,300 ปี ความพิเศษอยู่ตรงที่วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมไม้ 11 พักตร์ ขนาดใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และภายในยังได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระโพธิสัตว์กวนอิม (Kannon Museum) หรือถ้าใครอยากดื่มด่ำกับธรรมชาติ วัดนี้ก็ขึ้นชื่อเรื่องสถานที่สำหรับชื่นชมความสวยงามของดอกไฮเดรนเยีย

The Japan Foundation

ถ้าว่ากันเรื่องชมดอกไม้แล้ว จะขาดวัดเมียวฮงจิ (Myōhon-ji) ไปก็ใช่เรื่อง ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในหุบเขาฮิกิงายัตสึ (Hikigayatsu) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้ง มีครบทั้ง 4 ฤดูกาล ไม่มีเวลาไหนเลยที่ความสวยงามจะจางหายไป เพราะฤดูร้อนมีความเขียวขจีให้รู้สึกรื่นรมย์ ฤดูใบไม้ผลิมีซากุระให้เบิกบานใจ ฤดูใบไม้ร่วงมีใบไม้แดงเป็นสีสันประดับชีวิต และฤดูหนาวมีหิมะขาวบริสุทธิ์ให้ชื่นชม

“ผมอยากให้ผู้คนรู้สึกว่า ดีใจจังเลยที่มา ไม่รู้สึกเสียดายเลยที่มา และได้มาค้นพบเรื่องราวใหม่ๆ พร้อมกลับบ้านไปด้วยความสุข” คุริยามะเล่าถึงความรู้สึกเขา เช่นเดียวกับที่เขาอยากให้คนรู้สึกเวลามาร่วมกิจกรรมหรือเทศกาลของ JF Bangkok

The Japan Foundation

Jinja [神社]
ศาลเจ้า

“ผมอยากให้คนไทยได้ลองไปเห็นวัดและศาลเจ้า โดยเฉพาะวัดต่าง ๆ ที่ถึงแม้จะมีรากมาจากศาสนาพุทธเหมือนกัน แต่ตัววัดกลับไม่เหมือนกันเลย” คุริยามะเปรย

ต้องขออภัยผู้ที่อ่านมาถึงตรงนี้ เขียนจบไปแล้วหนึ่งประเด็น หนึ่งหัวข้อ แต่กลับยังไม่ได้บอกวิธีเดินทางในเมืองแห่งนี้เสียได้ เพราะจะให้ขนรถส่วนตัวมาจากไทยก็ดูจะยากลำบากไปหน่อย เทคโนโลยีแคปซูลแบบในดรากอนบอล ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะมีให้ใช้ในเวลาอันใกล้นี้ งั้นพวกเราคงต้องพึ่ง ‘เอโนะเด็น’ (Enoden) เพื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ในเมืองนี้กันไปก่อน

เอโนะเด็น หรือในชื่อเต็มๆ ว่า รถไฟฟ้าสายเอโนะชิมะ (Enoshima Dentetsu Line) เป็นรถไฟท้องถิ่นสำหรับการเดินทางในเมืองคามาคุระ ไปถึงเกาะเอโนะชิมะ และสุดทางที่สถานีฟูจิซาวะ ในส่วนของเกาะเอโนะชิมะ คนไทยน่าจะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งนั่นคือ ‘เกาะแมว’ น่าเสียดายที่บทความนี้เราจะพาไปวัดและศาลเจ้า ส่วนเหล่าน้องเหมียวคงต้องรอโอกาสหน้าแทน

สำหรับคนที่อยากไปสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หรือแวะไปชื่นชมเจ้าแม่กวนอิมที่วัดฮาเซะเดระก็สามารถนั่งเอโนะเด็นจากสถานีรถไฟคามาคุระไปลงที่สถานีฮาเซะได้เลย

ไหนๆ ก็เอ่ยถึงสถานีรถไฟคามาคุระแล้ว ลองเดินจากตรงนี้ไปสัก 5-10 นาที ตัดผ่านถนนโคะมะจิโดริ (Komachi-dori Street) ถนนสายช้อปปิ้งความยาว 350 เมตรที่เต็มไปด้วยร้านค้าท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ ที่สำคัญคือของกินที่เรียงรายอยู่มากมายทั้งคาวหวาน เอาเป็นว่าระวังโดนความน่ากินน่าอร่อยยั่วยวนกิเลสจนเดินไปไม่ถึงศาลเจ้าล่ะ

The Japan Foundation

ศาลเจ้าทซึรุงะโอะกะ ฮะจิมังกู (Tsurugaoka Hachimangu) นอกจากจะสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1063 โดยมินาโมโตะ โยริโยชิ (Minamoto Yoriyoshi) ที่นี่ยังถูกจัดให้เป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเมืองคามาคุระ ฉะนั้น เรื่องขอพรก็ไม่แพ้ศาลเจ้าบ้านเรา สามารถขอได้ตั้งแต่เรื่องความรัก สุขภาพ ไปจนถึงการเรียน โดยไม่มีข้อแม้ ที่สำคัญไม่ต้องแวะเซเว่นซื้อน้ำแดงมาถวายด้วย

พูดถึงสีแดงแล้ว วัดนี้ก็มีสีแดงเป็นหลักเหมือนกับที่คุริยามะบอกกับเราจริงๆ

“ในช่วงไม่กี่ปีนี้มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นค่อนข้างเยอะ ถ้าพวกเขาได้ไปเห็นศาลเจ้า ผมก็คิดว่าคนไทยน่าจะเข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้มากขึ้นเหมือนกัน” คุริยามะพูดถึงสิ่งที่เขาอยากให้คนไทยได้ลองไปสัมผัสด้วยตาดูสักครั้ง

The Japan Foundation

Kokusai kankei [国際関係]
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จุดที่ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเหมือนและแตกต่างกันมากที่สุดในสายตาของคุณคืออะไร

(ครุ่นคิด) รู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่ไทยกับญี่ปุ่นเหมือนกันมาก ๆ คือความเคารพต่อผู้มีอายุมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ หรือความสัมพันธ์แบบรุ่นพี่กับรุ่นน้อง

ตัวกรุงเทพฯ เองก็มีความผสมผสานทางวัฒนธรรมค่อนข้างสูง มีทั้งตึกสูง มีทั้งวัด ทั้งตลาด ในส่วนนั้นคิดว่ามีเสน่ห์มาก ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับโตเกียวอยู่เหมือนกัน ตรงที่จะมีวัดกับความสมัยใหม่ของเมืองอยู่ในที่ที่เดียว

ส่วนที่แตกต่างกันคิดว่าเป็นเรื่องของศาสนาที่ดูมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของคนไทยค่อนข้างมาก เห็นได้จากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเทศไทยมีการจำกัดเวลาขาย แต่ทางญี่ปุ่นไม่มี

The Japan Foundation

คุณคิดว่าความเหมือนและแตกต่างนี้มีผลต่อรสนิยมการเสพศิลปวัฒนธรรมไหม

ผมคิดว่าไม่นะครับ เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนจะชอบงานศิลปะแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคนอยู่แล้ว

The Japan Foundation

อีกมุมหนึ่ง การส่งออกวัฒนธรรมสู่ตลาดโลกของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะด้านดนตรี ละครทีวี ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงสื่อบันเทิงอื่นๆ ที่ยังคงถูกจำกัดให้อยู่แค่ภายในญี่ปุ่น JF Bangkok มีความเห็นอย่างไรบ้าง

ต้องบอกก่อนว่าส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการบริโภคทางสื่อภายในประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนมากพอจะสามารถสร้างกำไรได้ แต่มันก็กำลังแผ่กว้างออกไปเรื่อยๆ เหมือนกันครับ อย่างอนิเมะที่ตอนนี้ก็รู้จักกันเป็นวงกว้างในต่างประเทศ ด้านดนตรีเองก็เริ่มมีการจัดคอนเสิร์ตในต่างประเทศมากขึ้น

ผมพูดถึงในมุมคนไทยอย่างเดียวละกันนะครับ ผมคิดว่าคนไทยมีโอกาสได้สัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นหนัง อนิเมะ ดนตรี และนวนิยายแปลต่างๆ เลยคิดว่าความชอบส่วนบุคคลน่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการเข้าถึงสื่อ

The Japan Foundation

พวกเราเองก็มีโจทย์ยากในการนำเสนอวัฒนธรรมญี่ปุ่น เพราะสำหรับคนที่ไม่รู้จักหรืออาจจะไม่ได้สนใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นเลย แล้วต้องมาดูหรือเสพผลงานทางวัฒนธรรมก็คงไม่เข้าใจอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเขาเกิดมีจุดเล็กๆ ที่รู้สึกสนใจขึ้นมา แล้วอยากจะรู้จักสิ่งนั้นให้มากขึ้น ผมก็คิดว่ามันน่าจะทำให้เขาเข้าถึงวัฒนธรรมนั้นได้ง่ายขึ้น ทาง JF Bangkok เองก็พยายามทำแบบนั้นอยู่เหมือนกัน

อีกอย่างหนึ่งคือ หลังจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้คนสามารถทำอะไรผ่านออนไลน์ได้มากขึ้น โดยที่ตัวเองไม่ต้องไปยังสถานที่แห่งนั้น เช่นเดียวกัน การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมก็สามารถทำผ่านออนไลน์ได้เหมือนกัน ตอนนี้ผมคิดว่าคงยังไม่ถึงขนาดที่ทุกคนจะไม่ออกมาข้างนอก แล้วเลือกที่จะลิ้มรสหรือสัมผัสวัฒนธรรมผ่านทางออนไลน์อย่างเดียว สมมุติว่าฟังเพลงที่บ้านกับฟังเพลงที่คอนเสิร์ต ความรู้สึกที่ได้รับย่อมต่างกันอยู่ดี

The Japan Foundation

แล้วทาง JF Bangkok มีแนวทางในการเชื้อเชิญให้คนออกมาสัมผัสวัฒนธรรมด้วยตัวเองอย่างไร

พวกเราเชื่อว่าผู้คนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ กับเราคือกลุ่มคนที่สนใจในวัฒนธรรมของญี่ปุ่นครับ เพราะฉะนั้นไม่จะว่าจะเป็นงานที่จัดแบบออนไลน์หรืองานที่จัดขึ้นในสถานที่จริง เป้าหมายของเราก็เหมือนเดิม คือการที่แขกผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับความรู้สึกแสนคุ้มค่าที่ได้มาเข้าร่วมงานของเรา และทำให้พวกเขายิ่งสนใจและอยากรู้จักประเทศญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นครับ

The Japan Foundation

การที่คนไทยเริ่มไปเที่ยวเมืองรองหรือจังหวัดรองในญี่ปุ่นส่งผลดีในแง่ศิลปวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง

ผมว่ามันน่าจะทำให้เขารู้สึกสนใจและสนุกมากขึ้น ไม่ใช่แค่การดูจากในทีวีหรือสื่อที่นำเสนอวัฒนธรรมรองเพียงอย่างเดียว ถ้าได้ไปเจอด้วยตัวเอง พวกเขาคงได้พบกับความสนุกใหม่ๆ เหมือนกับการไปวัดและศาลเจ้าในเมืองคามาคุระ

The Japan Foundation

คิดว่าจะมีวันที่คนไทยกับคนญี่ปุ่นสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่มีความแตกต่างหรือความไม่คุ้ยเคยทางวัฒนธรรมมาเป็นกำแพงไหม เช่น เข้าใจมุกตลกของกันและกัน

สมัยหนุ่มๆ ผมจินตนาการภาพไม่ออกเลยว่า สมัยนี้จะสามารถใช้โทรศัพท์ในการแปลภาษาได้ ผมก็เลยคิดว่าในอนาคตอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอนนี้ยังไม่มี ที่จะสามารถทำให้การสื่อสารระหว่างคนไทยกับคนญี่ปุ่นเข้าใจกันได้มากขึ้น

ติดตามกิจกรรมของ The Japan Foundation, Bangkok ได้ที่
Facebook: The Japan Foundation, Bangkok

Tags: