- คาเฟ่สุดผ่อนคลายติดต้นไม้ใหญ่ในอาคารที่พักคนงาน 5 ชั้นที่ถูกรีโนเวตให้มีร้านไอศกรีม คาเฟ่ ฟรีสเปซ และห้องพัก
ตั้งแต่เริ่มทำงานสัมภาษณ์ก็ไปมานับว่าหลายแห่งหลายย่าน แต่จะมีอยู่ย่านหนึ่ง หรือเรียกให้ถูกคือถนนเส้นหนึ่งที่ยังไม่เคยมีโอกาสมาเดินเท้าสำรวจสักเท่าไหร่ ประกอบกับสภาพอากาศของประเทศไทยที่ไม่รู้ทำไมพระอาทิตย์เหมือนตั้งอยู่ใจกลางหัวตลอดเวลา ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ร้อนมากครับ
แต่เพราะอากาศร้อนแบบนี้ถึงทำให้ผมได้พบกับร้านคาเฟ่บนตึกเก่าขนาด 5 ชั้น ตั้งอยู่ติดกับถนนพระอาทิตย์ที่ผมเพิ่งเคยมาเป็นครั้งแรก มีร้านไอศกรีมนามว่า Coconut Culture อยู่ที่ชั้น 1 และห้องพักบนชั้น 4 กับ 5
ในวันนี้ผมอยู่ที่ชั้น 2 ซึ่งเป็นที่ตั้งของคาเฟ่ที่มีชื่อว่า ‘Pulse Phra-Arthit’ และชั้น 3 ซึ่งเป็นฟรีสเปซที่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ตามฟังก์ชันการใช้งาน
วิทย์-เอกวิทย์ เชพานุเคราะห์ และ มะนาว-ศศิ เทอดธีระกุล คู่รักเจ้าของร้านได้บอกกับถึงคอนเซปต์คร่าวๆ ของร้านนี้ว่า ประกอบไปด้วย Coffee, Scenery และ Music
อย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าอะไรคือหนึ่งในหัวใจหลักที่ขาดไปไม่ได้ของ Pulse พวกเขาจะชี้ไปที่ต้นไม้ต้นใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่เคียงข้างร้านนี้ โดยที่ความใหญ่ของมันไร้ซึ่งความน่าเกรงขาม แต่กลับเต็มไปด้วยความรู้สึกชวนให้ผ่อนคลาย
จากบางขุนเทียน
ก่อนจะพูดถึงสาขา Pulse พระอาทิตย์ วิทย์ขอย้อนกลับไปเล่าถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ Pulse ที่เริ่มต้นมาจากบางขุนเทียน ซึ่งเป็นสถานที่ที่วิทย์กับครอบครัวมักจะไปกินข้าวด้วยกันเป็นประจำ จนกระทั่งในวัยที่โตขึ้น เขากับมะนาวก็ยังคงไปกินข้าวที่นั่นเหมือนทุกที จะมีอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากวัยเด็ก คือเขาเริ่มสังเกตเห็นว่า ไม่มีร้านกาแฟปิดท้ายมื้ออาหารเลย หรือถ้ามีก็ไม่ตอบโจทย์
“เป็นสิ่งที่คาใจเราอยู่นานมาก ก็เลยคิดโปรเจกต์นี้วางไว้เฉยๆ ถึง 4 ปี นานจนเราคิดว่าคงมีร้านแบบนี้เกิดขึ้นแล้ว แต่พอถึงเวลาจริงๆ อ้าว ยังไม่มีคนทำเหรอ ก็เลยคุยกันว่า ถ้าไม่ทำก็เหมือนคาใจ เพราะเรายังพอมีโนฮาวจากร้านเดิมที่จตุจักร” วิทย์เล่า
“บวกกับตอนนั้นโควิด แล้วร้านกาแฟร้านหนึ่งต้องปิดตัวลง อุปกรณ์มีอยู่ที่บ้าน ก็เลยพร้อมจะเอาไปลงที่ใหม่” มะนาวเสริม
เมื่อทุกอย่างพร้อมก็ถึงเวลาลงมือทำ สิ่งที่ตามมาคือชื่อร้าน พวกเขาจึงเริ่มมองหาจุดเด่นของสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ ธรรมชาติ รวมถึงระยะทางจากกรุงเทพฯ เมืองที่มะนาวเรียกไม่ต่างจากใครหลายคน นั่นคือเมืองแห่งความเร่งรีบ ใช้ชีวิตอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม และทำงานอยู่ในออฟฟิศเอเจนซี จนชีพจรเต้นรัวราวกับกำลังรัวกลองชุด
นั่นเองคือตอนที่ชื่อ Pulse ถือกำเนิด เมื่อพวกเขามาที่นี่ สายลม สายน้ำ ต้นไม้ ต่างสร้างความผ่อนคลายนั้น ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง และค่อยๆ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมชาติตรงนั้น
“ตาได้มองของสวยงาม หูได้ยินเสียงไพเราะ จมูกได้กลิ่นความสดชื่นของธรรมชาติ ลิ้นได้ลิ้มรสของอร่อย และผมเป็นคนเล่นเครื่องเสียง ก็พยายามจะเอาชุด System ที่ดีกว่าการเปิดลำโพงทั่วไป เพื่อให้เสียงเพราะขึ้น ทั้งหมดรวมกันก็จะมีความสุข Pulse จึงเท่ากับ Coffee, Scenery และ Music แปลว่าเราไม่ได้ขายแค่กาแฟ เราขายความผ่อนคลาย เราเลยอยากให้ทุกสาขามี 3 องค์ประกอบนี้ให้ได้” วิทย์อธิบาย
สู่ถนนพระอาทิตย์
หลังจากเปิดสาขาบางขุนเทียนได้ 4 ปี พวกเขาก็เริ่มขยับขยาย แม้จะไม่ใช่ความตั้งใจแรกก็ตาม
“จริงๆ ที่นี่ Pulse จะยังไม่ได้เกิด ที่หาที่คือสำหรับร้านไอติม” มะนาวเปรย
และด้วยความบังเอิญ พวกเขาก็มาเจอเข้ากับอาคาร 5 ชั้นที่อยู่ติดถนนพระอาทิตย์ ซึ่งมีต้นไม้ตั้งอยู่ตรงหัวมุม
“ตอนนั้นเรายังไม่เห็จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน เรารู้แค่ว่าอาคารนี้อยู่ชิดกับธรรมชาติ” วิทย์เล่า “สำหรับร้านไอติมคือได้เลย แต่ชั้นบนยังไม่รู้ว่าจะเป็นแบบไหน” มะนาวเสริม
จนกระทั่งวันที่เดินสำรวจตึก พวกเขาจึงรู้ว่าที่นี่เป็นอาคารที่พักคนงาน ถ้าใครมาที่ร้านแล้วขึ้นไปชั้น 3 ลองสังเกตที่พื้นดูจะยังเห็นร่องรอยของผนังปูนที่บอกขนาดห้องพักอันคับแคบ
“พอมาดูทุกห้องจริงๆ ถึงรู้ว่ามีต้นไม้อยู่ข้างๆ มาตลอด ตอนนั้นเลยคิดว่า เราจะทำแค่ร้านไอติมอย่างเดียวจริงๆ เหรอ เราเสียดายอาคารนี้มาก ไม่ได้ละ เลยกลับไปวางแผนใหม่ว่าจะทำอะไรได้อีก” ทันทีที่วิทย์เล่าจบ มะนาวก็เสริมด้วยเสียงหัวเราะว่า “จากแค่ไอติมก็เลยมีอย่างอื่นงอกเพิ่มมา”
ถึงอย่างนั้น Pulse ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นทันที
ชั้น 1 วางให้เป็นร้านไอศกรีม Coconut Culture
ชั้น 3 วางให้เป็นฟรีสเปซสำหรับจัดนิทรรศการ เวิร์กช้อป และอื่นๆ ตามที่จะเป็นได้
“รอดูว่าจะเป็นอะไรได้อีก มีคนสนใจมาจัดคอนเสิร์ตเล็กๆ จัดทอล์กด้วยซ้ำ” มะนาวพูดถึงชั้น 3 ที่รอดูถึงสิ่งที่จะเป็นได้ในอนาคต
“มันทำได้” วิทย์เสริม
ชั้น 4 กับ 5 วางให้เป็นห้องพัก
“เหลือแค่ชั้น 2 ทีแรกก็คิดว่าเราปล่อยให้คนมาเช่าดีไหม เริ่มทำไม่ไหวแล้ว แต่ก็เริ่มมารู้สึกวันที่ชั้น 2 จากช่องกระจกเล็กๆ ถูกเจาะเป็นช่องใหญ่ …เฮ้ย มันสวยมาก เราอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ขนาดนี้เลยเหรอ ตรงนี้เป็น Pulse ได้นะ มันมี Scenery แล้ว” วิทย์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น
ตอนนั้นเองที่ Pulse Phra-Arthit ได้มีที่ตั้งเป็นของตัวเอง
เส้นความพอดีระหว่างของเก่าและของใหม่
ผมขอให้วิทย์กับมะนาวเล่าถึงการออกแบบ โดยอย่างแรกที่รู้คือพวกเขาทำกันแค่ 2 คนจริงๆ ไม่มีสถาปนิกมาร่วมด้วย วิทย์ถึงกับใช้คำว่างูๆ ปลาๆ ภายใต้โจทย์ที่อยากให้ตัวอาคารเดิมยังคงเล่าเรื่องราวของมันผ่านร่องรอย ซึ่งมะนาวก็ชี้ให้เห็นถึงพื้นชั้น 3 ที่เรานั่งคุยกันอยู่ว่าไม่ได้ทำให้เลย
“เวลาเห็นอาคารเก่าถูกถมความใหม่เข้าไปทั้งหมด จะรู้สึกว่า อ้าว มันไม่เหลือเนื้อเรื่องของอาคารนี้ที่เคยเป็นอะไรมาก่อนเลย มันใหม่ก็จริง แต่เสน่ห์หายไปหมด ในชั้น 2 ที่เป็น Pulse เดิมทีไม่ได้เป็นพื้นไม้ เป็นเสื่อน้ำมันที่พอเอาออกก็เจอกับแผ่นไม้ขนาดใหญ่ที่คนโบราณมาปูไว้ เราเลยเก็บไว้ แล้วเคลียร์หน้าไม้ใหม่ และข้างบนเพดานหรือตรงขอบ เราจะปล่อยให้เป็นของเดิมไปเลย เขาเขียนอะไรไว้ตรงผนัง เรายังเก็บไว้” วิทย์ยกตัวอย่างการออกแบบที่ยังคงของเดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด
ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ลืมที่จะใส่ความชอบที่แสดงถึงตัวของพวกเขาเองลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้สัจจะวัสดุ การเลือกใช้สีที่ล้อไปกับความเป็นพระอาทิตย์ แต่ก็ยังไม่หลุดไปจากพาเลตต์สีที่แสดงถึงความเป็น Pulse
“ความยากคือเราจะหาเส้นความพอดีเจอไหม” วิทย์ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง “เราไม่แน่ใจว่าหน้าตาเป็นยังไง แต่เวลาเราเห็น จะรู้สึกว่าได้หรือไม่ได้ อาจเป็นการใช้สัญชาตญาณหรือใช้เซนส์ ต้องลงความเห็นด้วยกันทั้งคู่”
Coffee / Scenery / Music
เมื่อพูดถึงองค์ประกอบแรกของร้านอย่างกาแฟ พวกเขาก็อยากจะให้เมนูซิกเนเจอร์นั้นเล่นคำกับชื่อถนนพระอาทิตย์ กลายเป็นเมนูพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก
Sunbeam เป็นตอนพระอาทิตย์ขึ้น ให้ความสดชื่นนิด กระปรี้กระเปร่าหน่อย หอมนวลจากการเลือกใส่น้ำส้ม น้ำเลมอน และน้ำสับปะรด ท็อปด้วยมัทฉะครีมวานิลลา
Sundown ถูกออกแบบด้วยแนวคิดที่อยากให้มีความสงบลงด้วยเบสกาแฟ ท็อปด้วยซินนามอนคาราเมลครีม และส้มเครมบูเล ให้ความรู้สึกเหมือนเวลากำลังจะไปบาร์ค็อกเทลหลังพระอาทิตย์ตก
ในส่วนของ Scenery หากจำกัดไว้แค่ต้นไม้ใหญ่ข้างอาคารคงแคบจนเกินไป ฉะนั้นแล้ว ในภาพกว้างของส่วนนี้ควรจะหมายถึงเสน่ห์ของถนนพระอาทิตย์ที่วิทย์กับมะนาวเห็นหลังจากอยู่ตรงนี้มาเกือบ 1 ปี
“จริงๆ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของถนนพระอาทิตย์มานานกว่า 1 ปี เพราะเราเคยเรียนแถวนี้ พี่วิทย์ก็เคยอยู่แถวนี้” มะนาวเปรยขึ้นมา
“เราเคยอยู่ในยุคที่มันบูมมากๆ” วิทย์เสริมต่อ “จนวันหนึ่งที่เราลืมมันไป และมันก็หายไปจากสารบบ แล้วพอวันหนึ่งที่เรากลับมา ที่นี่ยังมีเสน่ห์อยู่ มันไม่ตายแน่นอน แค่รออะไรบางอย่างที่จะทำให้มันกลับมาครึกครื้นอีกรอบหนึ่ง
“ซึ่งก็เป็น Case Study จากตอนที่เราทำสาขาที่บางขุนเทียน ตอนนั้นเรารู้สึกว่าคนที่ไปกินข้าวตรงนั้นมีแต่ผู้ใหญ่ ถ้าสามารถดึงคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าไปได้ จะทำให้พื้นที่กลับมามีชีวิตชีวาขึ้น พอมาถึงถนนพระอาทิตย์ ถ้าเราทำให้ตรงนี้กลับมาสนุก กลับมามีชีวิตชีวา มันจะเป็นยังไง เราเองก็คาดหวังขอให้เป็นอย่างนั้นเถอะ ซึ่งก็ออกมาดีกว่าคิดไว้ เราไม่ได้ต้องการขายดีแค่ร้านเดียว” วิทย์เล่าถึงความตั้งใจของพวกเขาทั้งสองที่มีต่อถนนแห่งนี้
ท้ายสุดเรื่องของเสียงเพลง วิทย์เล่าในมุมของคนเล่นเครื่องเสียงว่า ลำโพง แอมป์ สิ่งเหล่านี้มีหลากหลายประเภท การเปิดเพลงด้วยซิสเต็มที่ไม่เหมือนกัน ก็จะให้คาแรกเตอร์และบรรยากาศที่ไม่เหมือนกัน ส่วนมะนาวเล่าในฐานะคนที่ไม่ได้เล่นเครื่องเสียงว่า เวลาเจอร้านไหนไม่เปิดเพลง เธอจะซึม เหงา จนรู้สึกไม่สบายใจที่จะนั่ง
“อยากร้องไห้เลย” มะนาวเล่าด้วยน้ำเสียงติดตลก
“เพลย์ลิสต์ช่วงเช้าไปถึงช่วงบ่ายแก่ๆ ผมเลยอยากจะให้เป็นสแตนดาร์ดแจ๊ซ โทนสว่างๆ ไม่หม่นมาก มีความสดชื่น สบายๆ ไม่ต้องประชัน พอบ่ายแก่ๆ เป็นต้นไป ผมว่าต้องมีความกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาหน่อยแล้ว บางทีเราต้องใส่ความโซลเข้าไปมั่ง ใส่ความฟังก์เข้าไปนิดหนึ่ง เพลงร้องเข้าไปนิดหน่อย” วิทย์เล่าถึงดนตรีที่ปิดภายในร้าน
ชีพจรของ Pulse
หนึ่งในสองคำถามสุดท้ายที่ผมถามวิทย์กับมะนาวคือ ประสบการณ์ที่พวกเขาอยากให้คนที่มา Pulse ได้รับ แน่นอนว่าทั้งสองคนต่างครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนที่คำตอบจะพาย้อนกลับไปยังหัวใจหลักของสถานที่แห่งนี้ที่เคยเอ่ยถึงในช่วงต้นบทความ นั่นคือความผ่อนคลาย
“สิ่งที่รู้สึกประสบความสำเร็จเล็กๆ ในใจตัวเอง ก็คือร้านสาขาบางขุนเทียนกับสาขานี้มีเอฟเฟกต์ที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง เวลาที่คนเข้ามาแล้วได้ผ่อนคลายจากวิวต้นไม้ มีคนที่นั่งแล้วเหมือนจะหลับไปเลย มันคือสิ่งที่เราอยากเห็นแล้วเกิดขึ้นจริง” มะนาวตอบเป็นคนแรก
“เวลาเราได้เจอ ได้เห็นสถานที่แบบนี้ เราไม่อยากเห็นกันแค่สองคน เราอยากให้คนได้เข้ามานั่งใกล้ๆ ต้นไม้ จะแค่ 15 นาทีก็ได้ เพราะก็น่าจะสามารถฮีลใจได้แล้ว” วิทย์เสริม
พวกคุณได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการทำสาขาที่ 2 ผมถามเป็นอย่างสุดท้าย
คำตอบค่อนข้างเกินความคาดหมาย เพราะพวกเขาต่างตื่นเต้นและลุ้นกันมากกว่าอะไรดี สาเหตุมาจากความไม่อยากให้มันเหมือนเดิม แม้จะมีบทเรียนจากที่แรกมาแล้วก็ตาม แน่นอนว่าการทำอะไรต่างๆ ย่อมเร็มขึ้น จากรากฐานและระบบที่วางเอาไว้ แต่ก็ยากขึ้นเมื่อมีสาขาบางขุนเทียนเป็นข้อเปรียบเทียบ พวกเขาจะรับมืออย่างไร หากลูกค้าบอกว่าชอบสาขาแรกมากกว่า
“ซึ่งดีหน่อยที่ผลออกมาดี และทุกคนบอกว่ามันดูเป็น Pulse” วิทย์เล่าถึงผลลัพธ์อันแสนตื่นเต้น
“เป็นคำที่ดีใจมากเลย” มะนาวเสริมด้วยความโล่งใจ
Pulse Phra-Arthit
เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.
แผนที่: 100/6 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
Google Map: https://maps.app.goo.gl/Dm12SkSRsdiTZ5HPA
FB: PULSE Bangkok