About
Leisure

Beyond The Horizon

‘ริมขอบฟ้า’ โฉมใหม่ในโลเกชันใหม่ย่านบางพลัดกับความเชื่อว่าร้านหนังสือมีหน้าที่บริการชุมชน

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ร้านหนังสือริมขอบฟ้ากับร้านใหม่ย่านบางพลัด อาคาร 3 ชั้นที่สร้างขึ้นพร้อมแนวคิดกึ่งห้องสมุดกึ่งบ้าน พร้อมร้านกาแฟที่เปิดรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ และขยับขยายเพื่อเข้าถึงคนทั่วประเทศ

สำหรับคนที่ไม่รู้ ‘ร้านหนังสือริมขอบฟ้า’ นั้นตั้งอยู่บนโค้งวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกว่า 21 ปี เดิมทีเป็นสถานที่รวบรวมเอกสารสำหรับก่อตั้งเมืองโบราณที่สมุทรปราการ ก่อนจะกลายเป็นห้องสมุดเมื่อเมืองดังกล่าวก่อสร้างเสร็จ จนเข้าสู่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ที่ร้านได้เริ่มมีชีวิตขึ้นมา

และสำหรับคนที่ยังไม่รู้ ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษ ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพื้นที่เดิมกำลังจะถูกเปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟฟ้า MRT การโยกย้ายจึงเกิดขึ้น

ในวันนี้ร้านหนังสือริมขอบฟ้าย้ายมาอยู่ย่านบางพลัด เดินเท้าไม่ไกลจาก MRT สถานีสิรินธร ตั้งอยู่ติดถนนใหญ่ เปลี่ยนอาคารสำนักงานเก่าของวิริยะประกันภัยให้กลายเป็นร้านหนังสือ 3 ชั้น โดย จำนงค์ ศรีนวล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทวิริยะธุรกิจ จำกัด บอกเราถึงความหมายของชื่อที่ยังคงเดิมเอาไว้ว่า

“ริมขอบฟ้า คือ ที่ซึ่งฟ้าจรดดิน เส้นที่เห็นได้แต่ไม่มีอยู่จริง พ่อ (เล็ก วิริยะพันธุ์) บอกว่า ให้ลูกดูฟ้าจากไกลๆ เพื่อจะเห็นจินตนาการ เห็นความฝันของมนุษยชาติ นั่นหมายความว่าพื้นฐานของมนุษย์ต้องมีหนังสือนั่นเอง”

ริมขอบฟ้า

ริมขอบฟ้า

รู้เรื่องเมืองไทย

ก่อนไปพูดถึงร้านใหม่ เรามารู้จักร้านหนังสือริมขอบฟ้าคร่าวๆ กันก่อนน่าจะดีกว่า

คอนเซปต์ของร้านนี้คือ ‘รู้เรื่องเมืองไทย’ ซึ่งจำนงค์ขยายความว่า มันลึกกว่าแค่เรื่องผิวเผิน เพราะหนังสือในร้านจะลงลึกไปถึงจิตวิญญาณ ความคิด ปรัชญา และวัฒนธรรม

“เวลาไปตามหาหนังสือ เราก็จะต้องรู้หมวดรู้หมู่ที่ร้านและคนต้องการ ซึ่งก็ต้องเป็นหนังสือที่ไม่ใช่แค่พูดเอาสนุก และถ้ามีขายอยู่ในร้านทั่วไป เราก็จะไม่เลือกเข้ามา

ริมขอบฟ้า

ริมขอบฟ้า

ริมขอบฟ้า

ข้อสำคัญคือบางสำนักพิมพ์ก็พูดเรื่องเดียวกัน เราต้องไปดูว่าเล่มไหนน่าเชื่อถือกว่ากัน ซึ่งคนที่มามีการเรียกร้องให้เอาหนังสือเด็กมาขาย อย่างนิทาน 4 ภาค มันก็ซ่อนวัฒนธรรมอยู่ในนั้น” จำนงค์เล่าถึงเกณฑ์การเลือกหนังสือเข้าร้านคร่าวๆ

ริมขอบฟ้า

แล้วคนอ่านจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เล่มไหน ในเมื่อบางเล่มก็พูดเรื่องเดียวกัน – เราถามต่อทันที

“คนอ่านจะรู้ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะกับตัวเขา มีนักเขียนที่เขาเชื่อถือ หรือเล่มที่มีนักวิชาการรับรอง อย่างหนึ่งที่จะบอกคือ ศิลปะมีตั้ง 5 สาขา แยกย่อยแบ่งหมวดไปอีก เหมือนพระปรางค์ที่ก็เป็นเจดีย์ชนิดหนึ่ง หนังสือเองถึงจะพูดเรื่องเดียวกัน แต่ก็ต่างคนเขียน การอ่านจากอาจารย์หลายๆ ท่าน ก็จะทำให้เราได้ความรู้จากคนหลายคน และหลายมุมมอง” จำนงค์ตอบพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ริมขอบฟ้า

เสียดาย

จำนงค์ยอมรับว่าเขาค่อนข้างเสียดายพื้นที่ร้านเดิม แม้ที่นี่จะใหญ่ขึ้น แต่ร้านเดิมให้ความรู้สึกติดดิน เข้าถึงคนได้ทุกชนชั้น เปิดโล่งให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาสามารถมองเห็นได้ยามมีกิจกรรมจัดอยู่

“เราก็ทำได้แต่เสียดาย การมีร้านหนังสือในชุมชนมันเท่นะ” จำนงค์หัวเราะ

อย่างไรก็ตาม ร้านเดิมแต่ที่ตั้งใหม่นี้เองก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย อย่างหนึ่งคือการอยู่ติดถนนใหญ่ จำนงค์ถึงกับขอให้เปิดไฟตรงชื่อร้านเอาไว้ในเวลากลางคืน เพื่อให้คนที่ขับรถผ่านไปมามองเห็นได้ทุกโมงยาม

ริมขอบฟ้า

ริมขอบฟ้า

ริมขอบฟ้า

ในส่วนของการออกแบบ ที่นี่เริ่มต้นด้วยแนวว่า อยากให้ออกมาดูเป็นกึ่งห้องสมุด หนังสือต้องเป็นมิตรกับคนอ่าน หยิบดูได้เรื่อยๆ ไม่มีบรรยากาศชวนกดดัน แม้จะเป็นหนังสือที่ให้ความรู้ก็ตาม ข้อสำคัญอย่างหนึ่งคือต้องดูเหมือนบ้าน มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามา หลังคาสูงโปร่ง ใช้วัสดุไม้เข้ามาช่วยเสริมความอบอุ่น มีพื้นที่เปิดโล่งที่ระหว่างชั้น 1 กับชั้น 2 ให้เกิดมิติเพื่อลดความอึดอัด ข้างบนมองลงไปได้ และข้างล่างมองขึ้นมาได้

ริมขอบฟ้า

ส่วนชั้น 3 ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์สำหรับจัดประชุม อบรม เสวนา หรือเป็นพื้นที่ให้นักเขียนได้ใช้พบปะคนอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่

โดยมีหนึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามานั่นคือ ร้านกาแฟ

“ที่เก่าเราโดนคัดค้านกันมาก่อนว่าไม่ให้มีร้านกาแฟ ผู้ใหญ่มองว่าร้านหนังสือกับร้านกาแฟเป็นของแยกกัน แถมหนังสือมันปฏิเสธความชื้น แต่ตอนนี้เพื่อรองรับวิถีชีวิตคนในปัจจุบัน ต้องมีร้านกาแฟนะ” จำนงค์หัวเราะเมื่อท้ายสุดร้านหนังสือที่เขาร่วมก่อตั้งก็ได้มีร้านกาแฟในตัว

ถึงอย่างนั้นการตั้งร้านใหม่ก็ยังตามมาพร้อมกับคำถามเดิมจากความสงสัยของใครหลายคน นั่นคือ ร้านหนังสืออิสระจะอยู่ได้จริงหรือเปล่าในยุคนี้

ริมขอบฟ้า

“ก็ยังมีคนถามว่า ร้านหนังสืออิสระจะอยู่ได้เหรอ ผมเลยเปรียบเทียบร้านหนังสือ Stand Alone กับร้านภูษา หรือร้านตัดเสื้อผ้า คนจะเจาะจงไปเข้าร้านเหล่านั้นเพราะตัดเก่ง นี่คือลักษณะที่ยังคงอยู่ในวัฒนธรรมเมือง เป็นความเฉพาะเจาะจงของ Stand Alone ที่หาไม่ได้จากศูนย์การค้า คนที่จะมาร้านริมขอบฟ้าเองก็เช่นกัน ถ้ารู้จักอยู่แล้ว เขาก็รู้ว่าจะมาซื้ออะไร มีหนังสือประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือบางเล่มที่หาจากร้านทั่วไปไม่ได้ มันคือความเฉพาะเจาะจงในหมวดของเรา

ริมขอบฟ้า

“อีกอย่างหนึ่ง เราเชื่อว่าตัวร้านไม่ได้โดนออนไลน์โจมตี หนังสือของเรามีอยู่น้อยมากในออนไลน์ บางเล่มใหญ่ๆ หนาๆ ก็ยิ่งยากที่จะหาอ่านในออนไลน์ และการที่มีออนไลน์ ทำให้แนวคิดรู้เรื่องเมืองไทยของเราสามารถเข้าถึงคนภาคอื่นๆ ได้มากขึ้น ตั้งแต่การสั่งซื้อยันพรีออเดอร์” จำนงค์เล่าถึงการปรับตัวของร้านหนังสือริมขอบฟ้าที่ปัจจุบันมีทั้งร้านกาแฟให้นั่งเล่น และเว็บไซต์สำหรับสั่งซื้อเพื่อคนที่ไม่สะดวกเดินทาง

ริมขอบฟ้า

ประสบการณ์ 21 ปี

ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา ความตั้งใจของจำนงค์ที่ยังคงเดิม แม้ร้านจะเปลี่ยนที่ตั้งไปแล้ว นั่นคือร้านหนังสือมีหน้าที่บริการชุมชน

“คนอาจจะมองว่า ร้านหนังสือมีหน้าที่ขายหนังสือ แต่สำหรับผมร้านหนังสือมีหน้าที่แพร่หลายความรู้ด้วย และเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชนบางพลัดตรงนี้ หรือการสั่งหนังสือที่ชุมชน โรงเรียนแถวนั้นต้องการ หรือมุมอ่านหนังสือฟรี ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ร้านหนังสือควรทำเพื่อบริการชุมชน ถ้าชุมชนมีเทศกาลเห้งเจีย เราก็อาจจะจัดแสดงหนังสือไซอิ๋ว” จำนงค์เล่า

ริมขอบฟ้า

เขายกตัวอย่างง่ายๆ เช่น มุมหนังสือเด็กที่ผมกับเขาใช้เป็นพื้นที่สนทนากันอยู่ในตอนนี้ การที่เด็กคนหนึ่งจะชอบอ่านหนังสือนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาดื้อๆ แต่ต้องเริ่มจากพ่อแม่ที่จูงมือเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ อ่านนิทานให้ฟังเป็นประจำ มุมหนังสือสำหรับเด็ก นอกจากจะเต็มไปด้วยความรู้ ความสนุก ความหลากหลาย ยังเอ่อล้นไปด้วยพื้นที่จินตนาการ ซึ่งจำเป็นและควรมีอยู่ในร้านหนังสือ

ริมขอบฟ้า

ท้ายสุดถ้ากลัวว่าคนจะมาแต่ร้านกาแฟ ไม่สนใจร้านหนังสือ จำนงค์ก็เตรียมพร้อมนำประสบการณ์จากที่เก่ามาใช้เป็นที่เรียบร้อย

“สมัยก่อนมีกิจกรรมรักษาหนังสือเก่า เราไปเชิญช่างจากหอสมุดแห่งชาติมาสอนการเย็บหนังสือเก่า ต่อไปก็มีสัปดาห์ขายหนังสือมือสอง หรือมีนิทรรศการหนังสือการ์ตูน ก็จะดึงดูดนักเรียนในละแวกได้ คนที่คิดจะมาแต่ร้านกาแฟ ถ้าเขาเห็นกิจกรรมเหล่านี้ อย่างน้อยต้องมีสักอันที่เขาสนใจ”

ริมขอบฟ้า

แล้วถ้าคนไม่ซื้อหนังสือล่ะ – เราถามปิดท้าย

“ก็ไม่เป็นไร บางคนอาจจะมองว่า หนังสือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นตามแต่ปัจจัยของแต่ละคน เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง สมัยก่อนผมจะชอบฟังคนคุยกันเวลาเขาเลือกหนังสือ ทีนี้มีผู้ชายสองคนเดินมาดู เขาก็คุยกัน คนหนึ่งชมหนังสือ ดีมากเลยอยากซื้อไปอ่าน คนหนึ่งจูงมือแล้วบอก เอาตังค์ไปกินเบียร์กัน จบเลย” บทสนทนาของเราจึงจบด้วยเสียงหัวเราะโดยปริยาย

ร้านหนังสือริมขอบฟ้า
ที่ตั้ง : 121 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางพลัด เขตบางพลัด กรุงเทพฯ
เวลา : เปิดบริการทุกวัน เวลา 10.00 – 19.00 น.
FB: Rimkhobfabooks
IG: rimkhobfabooks
Website: https://www.rimkhobfabooks.com/

Tags: