About
RESOUND

KANKAEW

‘อ้นแคนเขียว’ หมอลำคอนเท็มฯ ถูกบูลลี่เพราะความต่างกับฝันอยากเห็นหมอลำสู่ซอฟต์เพาเวอร์ไทย

เรื่อง ณัฐนนท์ จันทร์ขวาง Date 30-12-2024 | View 352
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • พูดคุยกับ “อ้นแคนเขียว” ศิลปินหมอลำสายคอนเท็มโพรารี (Contemporary) กับจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาทดลองทำเพลงด้วยเครื่องดนตรีอีสานในแนวทางไม่เหมือนใคร จนเปิดโอกาสให้ชีวิตได้เติบโตผ่านประสบการณ์มากมาย ทั้งการเดินทางไปแสดงต่างประเทศ ช่วงที่หมดไฟกลับมานั่งอยู่บ้าน และวันที่ไฟของเขากลับมาเพื่อพาหมอลำไทยเดินหน้าต่ออีกครั้ง

คุณคิดว่าเครื่องดนตรีหมอลำ แคน พิณ ปี่ หวูด สามารถเล่นเพลงสไตล์แจ๊ซ ดิสโก หรือโซล ประยุกต์ความสร้างสรรค์แบบอีสานบ้านเฮา ให้กลายเป็นดนตรีร่วมสมัย (Contemporary) ได้ไหม

ไม่ใช่คำถามที่ต้องการพิสูจน์คำตอบ เพราะผู้เขียนสัมผัสประสบการณ์ด้วยตัวเองแล้วว่า เครื่องดนตรีหมอลำสามารถบรรเลงเพลงสไตล์ตะวันตก เสียงพิณ เสียงแคน สามารถประยุกต์กับท่วงทำนองของเพลงแจ๊ซได้อย่างน่ามหัศจรรย์

คนที่มอบประสบการณ์ที่น่าจดจำนี้ให้กับผู้เขียนคือ 'อ้นแคนเขียว' หรือ พงศพร อุปนิ ศิลปินหมอลำชื่อดังที่พาดนตรีพื้นถิ่นจากภาคอีสานดังไกลไปแสดงมาแล้วทั่วโลก ด้วยการนำเสนอดนตรีหมอลำ คอนเท็มโพรารี จนได้รับการยอมรับวงกว้างในต่างประเทศ

แม้จะโด่งดังจนเป็นที่รู้จักในต่างแดน แต่เมื่อดูตามหน้าสื่อในประเทศไทยแล้ว กลับกลายเป็นว่าชื่อของอ้นแคนเขียว ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักนอกวงการเพลงอีสาน

โชคดีที่เรามีโอกาสได้พูดคุยกับอ้นถึงถิ่นของหมอแคนรายนี้ เพื่อทำความรู้จักกับเขา และพูดคุยถึงตัวตนชีวิต เรื่องราวที่ทำให้อ้นแคนเขียว กลายเป็นหนึ่งในหัวหอกที่อยากพาดนตรีหมอลำไทยให้ไปไกลระดับโลกและกลายเป็นซอฟต์เพาเวอร์ของบ้านเราได้จริงๆ

อ้น แคนเขียว

ที่มาของแคนเขียว

“มีช่วงหนึ่งตอนผมเรียนปริญญาตรี ผมชอบไปอยู่กับช้อปที่เขาทำพิณทำกีตาร์ เขาก็มีอุปกรณ์ไม้เยอะเลย มีไม้แอปเปิล มะฮอกกานี ผมก็อยากทำแคนขึ้นมา” อาจารย์อ้นเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวของชื่อ “แคนเขียว” ที่ตามหลังเขามาจนกลายเป็นที่จุดจำของผู้คน

“เราอยากทำเต้าแคนที่ไม่ทำจากรากไม้ได้ไหม (ปกติเต้าแคนทำจากรากไม้ประดู่) ไม่ทำแบบภูมิปัญญาโบราณได้ไหม? แต่เราอยากเอาภูมิปัญญามาคิดต่อ และใส่ความสมัยใหม่เข้าไป เอาไม้เมเปิลกับไม้มะฮอกกานีมาประกบกันเป็นเต้าได้ไหม?

“เราอยากได้ความสวยงาม และความแปลกใหม่ อยากรู้ด้วยว่าทำได้ไหม ก็เอามาประกบกันเลย”

บวกกับอยากทำแคนสีเขียวด้วย เราได้แรงบันดาลใจจากไม้ไผ่ ก็ไปทำสีเขียวจากธรรมชาติมาพ่นสีใส่ตัวแคน ตรงเต้าแคนก็ใส่สีขาว จากปกติเขาใช้สีไม้กัน

“นั่นแหละที่มาของ’อ้นแคนเขียว’”

อ้น แคนเขียว

แม้จะเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ใครก็จำหมอแคนคนนี้ได้ไม่ลืม จากแคนคู่ใจที่ไม่เหมือนใครของเขา แต่กลายเป็นว่า ความกล้าอย่างสร้างสรรค์ของเขา กลับทำให้อ้นได้รับความเจ็บปวดทางใจอยู่ไม่น้อย

“ตอนนั้นถูกบูลลี่มาก” อ้นกล่าว คำว่าแคนเขียวที่คนเรียกตามหลังชื่อเขาไม่ได้ถูกพูดในเชิงบวก แต่ถูกนำเสนอออกมาในเชิงล้อเลียน และเขาก็ทำได้แค่อดทนกับคำพูดเหล่านี้ เพราะรู้ตัวว่าไม่สามารถเปลี่ยนคำพูดของใครได้

แต่เมื่อถามในวันนี้ว่า รู้สึกอย่างไรกับคำว่า “แคนเขียว” ความรู้สึกของเขาต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

“จุดหนึ่งคณาจารย์ท่านบอกกับผมว่า จริงๆ ผมโชคดีมากที่ได้ฉายาตั้งแต่อายุยังน้อย และเราสร้างงานนี้ขึ้นมาก็ไม่ได้อยากจะได้ฉายา แค่อยากแสดงความสร้างสรรค์

“สิ่งสำคัญเราอยากสื่อสารว่าแคนเรามีชีวิตชีวา เป็นสีเขียวเหมือนไม้ไผ่ที่ยืนต้นอยู่” คำพูดของอ้นไม่ได้ไกลเกินความจริงเลย หากเรามองการเปลี่ยนแปลง จากคำดูถูกได้กลายเป็นชื่อของหมอแคนระดับโลกคนหนึ่งในเมืองไทยไปแล้ว

อ้น แคนเขียว

หมอลำไม่ย่ำอยู่กับที่

แม้ว่าปัจจุบันออ้นจะสร้างชื่อจากการแสดงหมอลำประยุกต์เข้ากับดนตรีสมัยใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเขาเริ่มต้นสนใจดนตรีจากดนตรีพื้นบ้านล้วนๆ เป็นความอยากรู้อยากลองในตัวหมอแคนคนนี้ ที่เริ่มเส้นทางวิธีใหม่ไม่เหมือนใครให้กับเจ้าตัวอีกครั้ง

“สมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โชคดีเจอคนหลากหลาย พี่น้องจากสาขาอื่นๆ ผมก็ชอบออกไปหาความรู้ด้วย กับทั้งศิลปิน โปรดิวเซอร์ นักแต่งเพลง คือด้วยความที่ดนตรีมีหลากหลายแนวครับ บวกกับวัยตอนนั้นก็อยากลองอยากทำ ก็เลยอยากทดลองอะไรใหม่ๆ

“จริงๆ รากหญ้าผมชอบดนตรีพื้นบ้านเลย ชอบฟังหมอลำ ชอบเพลงลูกทุ่ง ไม่ได้คิดว่าจะมาเอาดีทางดนตรีคอนเท็มโพรารีแบบทุกวันนี้เลยนะ

“แต่ผมก็โชคดีคือมีอาจารย์พยายามป้อนความรู้ใหม่ๆ ให้ตลอด คือเขาก็ทำให้เห็นด้วยนะว่า เขาทำได้ (ประยุกต์เอาดนตรีอื่นผสมกับหมอลำ) อันนี้คือแรงบันดาลใจของผมเลย เหมือนให้เห็นว่า เราต้องทดลอง เราต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ คืออาจารย์อยากให้เราแอคทีฟตลอด ให้ไปต่อจากรากเหง้า จากความเป็นพื้นบ้านของเรา

อ้น แคนเขียว

อ้นทดลองอะไรมากมาย เขาหยิบความรู้จากเครื่องดนตรีหลายอย่างมารวมกับเสียงของหมอลำ หยิบอันนู้นผสมอันนี้หน่อย จนเขาได้เรียนรู้ถึงความเข้ากันที่แตกต่างของการผสมผสานเครื่องเล่นต่างให้เข้ากันอย่างลงตัว

“ผมทำไปสัก 2-3 เพลงก็เริ่มสนุก เราสร้างแพตเทิร์นที่เป็นเพลงสากลแต่สำเนียงอีสาน ก็เป็นสิ่งใหม่นะ แต่เรามองเหมือนคนทดลองวิทยาศาสตร์ แค่เราทดลองทางดนตรี เอาปี่ เอาแคนไปใส่ในเพลงบ้าง เอาให้สอดคล้องกับเพลงที่สุด แล้วแต่บริบทเพลงว่าจะไปแนวทางไหน

“หลังจากนั้น ผมได้ไปแจมกับรุ่นพี่สาขาดนตรีสากล คือพี่เขาเห็นว่าผมมีความรู้ด้านดนตรีสากลบ้าง เขาก็อยากจะสอน และพี่เขาก็อยากเรียนรู้ ดนตรีพื้นบ้าน หลังเลิกเรียนเราก็มาเล่นดนตรีกัน แจมกันบ้าง แบตเทิลกันบ้าง

“รุ่นพี่อีกคนก็แนะนำว่า ‘ทำไมพวกเอ็งไม่เอาเพลงโซล ดิสโก แล้วหาเมโลดีแบบอีสานที่สอดคล้องกันมาลองทำดู เราก็สร้างงานใหม่ขึ้นมาเลย ช่วยกันบันทึกเสียง คือไม่ใช่งานที่ว้าวอะไรนะ แต่ก็มีความแปลกใหม่เกิดขึ้น”

อ้น แคนเขียว

จากรากสู่โลก

แม้ว่าอ้นจะดูสนใจในดนตรีแขนงอื่นอย่างมาก แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งความรักในหมอลำโดยเฉพาะแคน เครื่องดนตรีที่เขาเคารพรัก และหมอแคนคนนี้ก็ตั้งใจฝึกซ้อมฝีมือการเป่าแคนอย่างมาก ด้วยความฝันอยากเป็นหมอแคนอันดับ 1 ของประเทศไทย จนสุดท้ายเขาก็คว้ารางวัล แชมป์หมอแคนประเทศไทยมาครองได้ในที่สุด

ความสำเร็จนี้เปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมงานกับพ่อเคน ดาเหลา ศิลปินแห่งชาติสาขาหมอลำ พ.ศ 2534 เจ้าของฉายา “บรมครูหมอลำ” ที่ยิ่งปลุกไฟให้หมอแคนจากกาฬสินธุ์คนนี้อยากจะเป็นนักดนตรีที่เก่งยิ่งขึ้นไปอีก

“ช่วงนั้นผมขยันมาก เราอยากเล่นให้สมกับคำว่าแชมป์ ก็ซ้อมอยู่นั่นแหละ ทดลองทำเพลงไม่หยุด

“การได้อยู่ตรงนั้นถือว่าโชคดี เพราะเราได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีคณาจารย์มากมายอยู่รอบตัวทั้งไทยและสากล ก็มีการแสดงตลอด ได้ไอเดียตลอด

“ยกตัวอย่างอาจารย์ทำงานอาร์ต วาดรูปออกมา ก็ต้องคิดจะเล่นดนตรีให้สอดคล้องกับงานได้ยังไง? แต่อย่างน้อยก็เหมือนมีเรฟฯ ให้เห็นว่า นี่คืองานอะไร ต้องนำเสนอดนตรีออกมาในแนวไหน?

“การเล่นตรีของผมจึงเป็นการผสมผสาน เป็นการอิมโพรไวส์ (Improvise) ด้วย แต่ก็มีโครงสร้างในการเล่น เหมือนเรามีแพตเทิร์น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสดงจิตวิญญาณของเราออกมาด้วย ดึงศักยภาพของเครื่องดนตรีออกมา บางครั้งได้อะไรใหม่ๆ มากเลยนะ แบบตัวเรายังงงเลยว่า เครื่องดนตรีอีสานสร้างเมโลดีแบบนี้ออกมาได้ด้วยเหรอ”

สิ่งหนึ่งที่อยู่กับชีวิตของอ้นแคนเขียว คือการลองผิดลองถูกอันไม่รู้จบ ยิ่งลองก็ยิ่งได้เรียนรู้ ยิ่งลองก็ยิ่งได้ไอเดียใหม่ๆ สร้างให้หมอแคนคนนี้กลายเป็นนักดนตรีสายเพลงอีสานที่มากความสามารถ เปิดโอกาสให้เขาได้เข้าทำงานในธุรกิจดนตรีอย่างจริงจัง เป็นโปรดิวเซอร์ทำเพลงเบื้องหลังศิลปินชื่อดังมากมาย

อ้น แคนเขียว

แต่หากพูดเรื่องแพสชันของอาจารย์อ้นชีวิตของเขาได้เดินหน้าเอาความรู้ทางดนตรีที่สั่งสมมาตลอดทั้งชีวิต ผลิตผลงานเพลงแนวคอนเท็มโพรารีออกมามากมาย ชื่อเสียงของเขาเริ่มดังขึ้น และดังไกลไปถึงต่างประเทศ

YouTube video

 

ทำให้เริ่มมีงานออกไปโชว์ฝีไม้ลายมือกับการแสดงดนตรีหมอลำร่วมสมัยที่ประยุกต์กับแนวดนตรีต่างๆ ในต่างแดน ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส หรือญี่ปุ่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ผลงานที่สร้างชื่อให้กับอ้นแคนเขียว จนเรียกได้ว่าเขาพาเสียงแคนจากประเทศไทยดังไกลไปทั่วโลกจากตะวันตกสุดถึงฝั่งตะวันออกในแผนที่โลก

 

YouTube video

 

“ผมชอบทำแคนทดลอง เป่าแคนยังไงไม่ให้เป็นแคน น่าสนใจนะสำหรับผม ซึ่งก็สร้างความประทับใจให้ผมนะ เพราะผมเคยมีคนที่ทำงานอยู่ในสหประชาชาติเชิญผมไปเล่นที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส) เพราะเขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

YouTube video

 

“เขาอยากเห็นรากเหง้าของเรา แต่ก็อยากเห็นการทดลองด้วย คอนเซปต์ของงานวันนี้คือจากรากสู่โลก เขาอยากเห็นการเดินทางของเสียงแคน จากดนตรีพื้นบ้านกลายเป็นเพลงสไตล์ใหม่ที่ผสมผสานการอิมโพรไวส์ได้ยังไง กลายเป็นประสบการณ์ใหม่ของการฟังดนตรีได้ยังไง

“การได้ไปเล่นที่ซอร์บอนน์มีความหมายกับผมมาก เป็นเวทีที่ทรงคุณค่ามากสำหรับดนตรีอีสานที่ไปยืนอยู่จุดนั้นได้ เหมือนเป็นตัวแทนคนไทยไปสร้างหมุดหมายเอาไว้ เราไปทำงานศิลปะไว้ที่นั่น”

อ้น แคนเขียว

อ้น แคนเขียว

หมอลำก็รู้จักหมดไฟ

เรื่องราวชีวิตของอ้นแคนเขียว หากเป็นรถยนต์ ชีวิตของเขาก็ชื่นชอบกับการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ออกทดลองไปยังเส้นทางใหม่ๆ ที่ใครก็ไม่เคยรู้จัก จนได้รับประสบการณ์ชีวิตที่ไม่มีใครเคยได้สัมผัส และค้นพบกับคุณค่าและความหมายมากมายในชีวิต

แต่แม้ว่าหมอลำจะพาชีวิตของอ้นแคนเขียว ไปไกลกว่าที่เขาจะเคยจินตนาการไว้ และมอบอะไรดีๆ ให้มากมาย แต่เขาก็ยังเป็นมนุษย์คนเดินดินเหมือนทุกคน และชีวิตของเขาก็ต้องพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “หมดไฟ”

“ผมหายไปตอนช่วงโควิด-19 เบื่ออะไรหลายอย่าง ก็เลือกอยู่เงียบๆ อาจเพราะก่อนหน้านี้เราใช้ชีวิตแบบสุดด้วย ผมไปต่างประเทศมาเยอะมาก แล้วไปคือไปสุด ทำงานเสร็จก็ไม่พักผ่อน ไปกินไปเที่ยวต่อ เราไปไม่ได้เห็นแค่ศิลปะ เราเห็นการใช้ชีวิตด้วย อีกเรื่องก็คือต้องกลับมาดูแลพ่อแม่ เราไปทำงานไปต่างประเทศมาเยอะมาก ก็อยากมาดูแลพ่อแม่บ้าง”

อ้น แคนเขียว

เป็นระยะเวลาร่วม 4 ปีที่อ้นผันตัวเองจากผู้สร้างกลายเป็นผู้เสพ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ได้ตกผลึกของหมอแคนคนนี้ในการได้กลับมานั่งมองเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งทางบวกและทางลบของดนตรีหมอลำ จนเริ่มจะปลุกไฟเล็กๆ ของเขาให้กลับมาอีกครั้ง

“เราค่อยๆ เริ่มกลับมาลองทำ เรียกเพื่อนๆ มาเล่นดนตรีสนุกๆ กันที่บ้าน ชวนพี่น้องหลากหลายสาขามาคุยมาแบ่งไอเดียกัน ซึ่งผมโชคดีว่ามีเพื่อนพี่น้องเยอะ การเจอเพื่อนพี่น้องหลากหลายสาขา ก็ให้ไอเดียใหม่ๆ

“หลายสาขาไม่ใช่แค่ดนตรีนะ ทำสวนทำฟาร์มทำโน่นทำนี่ เห็นบริบทต่างๆ เอามาประยุกต์มาเป็นดนตรีได้เอง แรงบันดาลใจมีทุกที่

“สุดท้ายคือหมอลำครูบาอาจารย์ท่านสร้างมาดี จากที่คนดูถูกว่าเต้นกินรำกิน กว่าจะได้รับการยอมรับไม่ง่าย เราก็ยังอยากแสดงภาพที่ดีของหมอลำออกไป เราอยากเป็นต้นแบบ อยากแสดงให้เห็นว่าหมอลำไม่ใช่แค่ดนตรี หมอลำมีวัฒนธรรมด้วย

“ผมทำอะไรจะนึกถึงครูอาจารย์ที่ท่านสร้างมาเสมอ ท่านสอนว่าเราจะทำอะไรสักอย่างต้องมีประโยชน์และมีคุณค่าการนำเสนอ ผมก็อยากแสดงให้เห็นว่า ถึงดนตรีหมอลำจะมีความหลุดมีความฉีกออกไป แต่ด้านวัฒนธรรมหมอลำที่อยู่ในสังคม อยู่ในการใช้ชีวิต ก็ต้องรักษาเอาไว้”

ทุกวันนี้เขาไม่ได้เก็บตัวอยู่บ้านเหมือนช่วงที่ตัวเองหมดไฟอีกแล้ว ในทางตรงกันข้าม เขาออกจากบ้านทุกครั้งที่ทำเพลงเสร็จ เพราะสำหรับอาจารย์อ้นแค่ออกจากบ้านก็มีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาแล้ว ถ้านั่งอยู่แต่บ้านก็คงคิดอะไรไม่ออกแน่นอน

อ้น แคนเขียว

หมอลำกับซอฟต์เพาเวอร์ไทย เป็นไปได้ไหม?

ปัจจุบันอ้นกลับมาฟอร์มวงดนตรีของเขาใหม่อีกครั้ง และเริ่มเดินสายรับงานการแสดงแนวดนตรีผสมสานอีกรอบ เพื่อหวังสานต่อความตั้งใจที่อยากให้หมอลำเป็นดนตรีที่ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงได้จริงๆ

“ผมอยากนำเสนอคุณภาพไปพร้อมกับวิถีความเป็นหมอลำ หมอลำมีความออริจินัล แต่เราปรับให้คนสามารถเสพได้ เพราะผมทำเพลง ผมดูกลุ่มผู้ฟังตลอดนะ ต้องเห็นว่าตลาดต้องการอะไร ต้องคิดว่าจะนำเสนออะไรให้คนดู บางทีไปเล่นให้ฝรั่งบางคน เขาแค่อยากดูเราเป่าแคนเพียวๆ ก็มีนะ เราต้องปรับให้ได้ในแบบที่คนฟังต้องการ

“ผมคิดว่าตอนนี้ก็ดีนะ เวลาผมได้รับเชิญไปร่วมงานต่างๆ ก็เห็นว่าตอนนี้คนเห็นคุณค่ามากกว่ามูลค่า วันนี้เรากลับมาทำก็เพื่อแพสชันด้วยทางดนตรีที่อยากสื่อออกไป และทำมานานแล้ว ตอนนี้ยิ่งรู้แล้วว่าจะทำอะไรให้ชาวต่างชาติเห็น

อ้น แคนเขียว

“แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือผมอยากให้คนต่างชาติเข้ามาดูหมอลำที่บ้านเรา ผมไปเล่นมาเกือบทั่วโลก อยากให้เขามาบ้านเราบ้าง มากระตุ้นเศรษฐกิจ อันนี้เป้าหมายของผมนะ”

การพูดคุยในวันนี้เชื่อว่าไฟของอ้นที่อยากนำเสนอดนตรีแนวหมอลำให้ไปไกลกว่าที่เคยเป็นได้กลับมาเต็มเปี่ยมแน่นอน ตัวผู้เขียนเพิ่งเคยได้ฟังหมอลำคอนเท็กโพรารี ก็ต้องบอกว่า การได้ฟังเสียงหมอลำแบบอีสานแท้ๆ แต่เล่นออกมาในดนตรีสไตล์แจ๊ซ ถือว่าเป็นความรู้สึกหูทิพย์ที่มีความสุขทางดนตรีมากจริงๆ

แต่ก่อนจะจากกัน เราทิ้งคำถามว่า ชีวิตของอาจารย์อ้นกับความรักในหมอลำที่อยู่ด้วยกันมานาน อะไรคือช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับเขา และคำตอบของอ้นแคนเขียว ก็ทำให้ผมอยากติดตามผลงานของเขาไปอีกนานๆ ว่า จะมีอะไรใหม่ๆ สนุกๆ มานำเสนอให้ดนตรีหมอลำอีกบ้าง

“มีความสุขทุกตอนครับ ตอนคิดก็สนุก ยิ่งคิดยิ่งได้อะไรเยอะ ยิ่งคิดแล้วฟัง เอามาทำ ทำไปเรื่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ ตรงไหนขาดอะไร ส่วนไหนก็ทำเพลงไป เหมือนชีวิตไม่อยู่กับที่ เหมือนชีวิตมีสีสันตลอดเวลา”

ติดตามผลงานของ ‘อ้นแคนเขียว’ ได้ที่
Facebook : อ้นแคนเขียว Entertainment
Youtube : อ้นแคนเขียว Entertainment

Tags: