About
RESOUND

Reading Sanctuary

The Reading Room ห้องสมุดฟรีกลางสีลม ที่ ‘เกี๊ยว-นราวัลลภ์’ เชื่อว่าหนังสือควรเข้าถึงได้โดยไม่ต้องจ่าย

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ให้กลิ่นหนังสืออาบกายที่ The Reading Room ห้องสมุดส่วนตัวที่มีอายุ 15 ปี ของ ‘เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน’ ผู้มองว่าความรู้ควรเข้าถึงได้ฟรี และหนังสือคือสิ่งที่ไม่มีวันตาย

ไม่ว่าจะมาเยือนที่นี่อีกกี่ครั้ง เราก็จะเห็นผู้หญิงคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะกลางห้องสมุดแห่งนี้ และเป็นการนั่งอยู่ที่เดิมมาแล้วกว่า 10 ปีของ เกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน ผู้คอยประคับประคองให้ The Reading Room ห้องสมุดฟรีที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยสีลม 19 ยังเป็นพื้นที่เซฟโซนสำหรับผู้ที่หลงใหลการอ่านหนังสือ

การมาเยือนที่นี่ครั้งแรกของเราคือ การมายืมหนังสือปรัชญาโสกราติส แน่นอนว่าห้องสมุดส่วนตัวที่มีพื้นที่จำกัดไม่อาจมีหนังสือปรัชญานับร้อยเล่มให้เราเลือกหา แต่ในบรรดาหนังสือแต่ละประเภทที่คัดสรรมาให้อยู่บนชั้น ล้วนเป็นหนังสือน้ำดีที่ไม่ว่าจะหยิบเล่มไหนขึ้นมาอ่าน ก็รู้เลยว่า เนื้อหาข้างในล้วนผ่านการ QC จากเจ้าของห้องสมุดมาแล้วทุกเล่ม

หลายคนคงรู้จักเกี๊ยว นราวัลลภ์ กันมาบ้าง แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้จัก เราอยากให้รู้จักเกี๊ยวในฐานะของเจ้าของห้องสมุดส่วนตัวที่ตั้งใจให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ฟรี ยืมหนังสือได้ฟรี และไม่เสียค่าปรับแม้จะลืมเดตไลน์ในการคืนหนังสือก็ตาม

บทความนี้ ONCE จึงอยากพาทุกคนมาฟังเสียงของเกี๊ยว ผู้ที่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของวงการหนังสือตลอดเกือบครึ่งชีวิตของเธอ ด้วยการทำห้องสมุดอิสระอย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกการเดินเข้ามาและจากไปของผู้คนที่มาเยือนที่ห้องสมุดฟรีแห่งนี้ กลับทำให้ The Reading Room ยังเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต

The Reading Room

หนังสือ (อาจ) ไม่มีวันตาย

‘วงการหนังสือกำลังจะตาย’ ประโยคที่เชื่อว่าหลายคนเคยได้ยินบ่อยๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บางครั้งเราเองก็เห็นด้วย แต่บางครั้งมองว่าประโยคนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะหากย้อนดูความคึกคักของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ คงบอกได้เลยว่าหนังสือยังมีชีวิต และอาจไม่มีวันตายเลยก็ได้ แต่นี่คือความเห็นจากเลนส์ของผู้เขียนที่ชอบเดินเลือกซื้อหนังสือ เกี๊ยวจึงแชร์มุมของเธอให้เราฟังผ่านเลนส์ของเจ้าของห้องสมุดอิสระกันบ้าง

The Reading Room

คนไทยและนิสัยรักการอ่านสำหรับเกี๊ยว The Reading Room

ถ้ามองผิวเผินก็คงตอบว่า นิสัยการอ่านของคนไทยเปลี่ยนไป แต่ถ้ามองให้ลึกกว่านั้น เรามองว่าคนที่อ่านหนังสือไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ใช่วิกฤตหรอก เพราะนี่คือเรื่องปกติทั่วโลกเลย แต่ในความเปลี่ยนแปลงถึงพฤติกรรมการอ่านของคนไทยก็เกิดขึ้นนะ เราว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นคือ ผู้คนเข้าถึงการอ่านได้มากขึ้นกว่าเมื่อ 20 ปีก่อน สมัยนั้นอาจยังไม่แพร่หลายบนอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีเลย สมัยนี้แค่เข้า google และ Social Media ต่างๆ ก็เข้าถึงข้อมูลได้เยอะขึ้นแล้ว ภาพรวมคือวงการหนังสือก็หมุนตามโลกใบนี้นั่นแหละ คนเข้าถึงหนังสือได้มากขึ้น แต่ในแง่จำนวนของคนชอบอ่านหนังสือก็ไม่ได้เยอะอยู่ดี

 

The Reading Room

เช่นในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับและให้เครดิตว่า พรรคการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำให้เด็กๆ หันมาสนใจการเมืองและเริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับการเมืองเยอะขึ้นนะ และวัยมัธยมฯ ยังรู้จักและแวะมายืมหนังสือฟ้าเดียวกันกลับไปอ่าน การเปลี่ยนแปลงตรงนั้นทำให้หนังสือการเมืองถูกยืมเยอะขึ้น แต่พอเข้าสู่ยุคโควิด-19 คนก็มายืมหนังสือน้อยลง ม็อบต่างๆ ก็ตายลงในช่วงโควิด-19 เหมือนกัน และเพราะแบบนั้นคนที่อ่านหนังสือการเมืองก็น้อยลง คนเริ่มสนใจหนังสืออื่นๆ แทน ฉะนั้น เราเลยให้เหตุผลแบบนั้นว่า วงการหนังสือทรงตัวมานานแล้ว ไม่ได้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้แย่ลงถึงขั้นว่าวงการหนังสือจะตายลง

The Reading Room

ความจริงขัดแย้งกับประโยคที่ว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด’ ?

เราว่าคนที่บอกว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือไม่กี่บรรทัด’ หรือ ‘คนไทยอ่านแต่ Boy Love’ คือกลุ่มคนที่อยากพาดหัวให้ดูเวอร์วังมากกว่า หรือเขาอาจจะไม่ได้สนใจการอ่านหนังสือแบบจริงจัง เราว่ามันคือวังวนที่คนรุ่นเก่าชอบโทษเด็กรุ่นใหม่มากกว่า (หัวเราะ) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาร้อยเป็นพันปี อย่างสมัยเราเป็นเด็ก ก็โดนคนรุ่นเก่าด่า พอบางคนเริ่มเป็นคนแก่ ก็กลับไปโทษเด็กว่า ‘เด็กสมัยนี้เป็นบ้าอะไรกัน’ ซึ่งเรามองว่าเรื่องแบบนี้โทษเด็กไม่ได้ ปัญหาอยู่ที่ระบบนิเวศการอ่าน พวกเราต้องยอมได้แล้วว่า ระบบนิเวศการเขียน-การอ่าน-การพิมพ์ของประเทศไทยมีปัญหา เพราะแวดวงการอ่านไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากฝ่ายไหนเลย ถึงขั้นที่ว่าเอาประเทศเราไปเทียบกับวงการหนังสือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้ด้วยซ้ำไป เราพูดแบบนี้ได้เพราะเคยไปดูงาน Book Fair ของหลายๆ ประเทศ ส่วนใหญ่เขาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่ดูแลด้านการอ่าน-การพิมพ์โดยเฉพาะ แต่ของไทยไม่มีหน่วยงานที่ดูแลวงการหนังสือโดยเฉพาะด้วยซ้ำ

The Reading Room

แปลว่าร้านหนังสืออิสระกำลังจะตายลงไปด้วยใช่ไหม

ไม่ขนาดนั้นหรอก เพราะถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีร้านหนังสืออิสระเยอะขึ้นกว่าเมื่อก่อนนะ คนที่มองว่าร้านหนังสืออิสระกำลังจะตายลงอาจจะมองแค่ในช่วงยุคโควิด-19 ที่ร้านหนังสืออิสระหลายร้านต้องปิดตัวลง ซึ่งเราไม่เห็นด้วยที่บอกว่าร้านหนังสืออิสระจะตายลง แต่ก็ไม่ได้อยากคอนเฟิร์มว่า มันมีแนวโน้มที่ดีขนาดนั้น เพราะต้องย้ำอีกทีว่า ยังไงกลุ่มคนที่อ่านหนังสือก็ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคมอยู่ดี นอกจากคนส่วนใหญ่จะไม่มีเวลาแล้ว ยังไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อหนังสือด้วย หนังสือไม่ได้มีราคาถูกเลย ฉะนั้น วงการหนังสือและร้านหนังสืออิสระก็ยังคงทรงตัวเหมือนเดิม ไม่ได้แย่ลงถึงขั้นว่าวงการตายลงไป และก็ไม่ได้ดีขึ้นถึงขั้นว่าคนอ่านหนังสือจะกลายเป็นคนส่วนมากของสังคมขึ้นมาได้

The Reading Room

The Reading Room

The Reading Room

The Reading Room

ห้องสมุดมีชีวิต

บางคนอาจเพิ่งได้ค้นพบ The Reading Room เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วห้องสมุดอิสระแห่งนี้เริ่มเป็นพื้นที่เซฟโซนให้เหล่าคนรักการอ่านหนังสือนับตั้งแต่ปี 2009 และนับเป็นครึ่งชีวิตของเกี๊ยว แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่เธอรู้สึกหมดพลังกับการตระกองกอดพื้นที่แห่งนี้ไปบ้าง แต่ถึงอย่างนั้นเกี๊ยวไม่อาจทอดทิ้งพื้นที่แห่งชีวิตได้ลง เพราะ The Reading Room ไม่ได้มีความหมายแค่สำหรับเกี๊ยวเพียงผู้เดียว แต่เป็นพื้นที่โอบรับผู้คนทุกเจนเนอเรชันไปเสียแล้ว

The Reading Room

The Reading Room

The Reading Room

หนังสือสำหรับอนาคต

The Reading Room เริ่มจากการเอาหนังสือของเราเองมาให้ทุกคนอ่าน อย่างหนังสือหมวดศิลปะ ปรัชญา วัฒนธรรม ทฤษฎีความรู้ เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มสังเกตว่า คนที่แวะเข้ามาที่นี่สนใจอะไร แล้วเราก็ไปซื้อสิ่งที่เขาสนใจเข้ามา ตอนนี้บนชั้นก็เลยมีวรรณกรรมแปลและประวัติศาสตร์การเมืองเข้ามา แล้วเราก็ยังสนับสนุนคือสำนักพิมพ์อิสระ หรือสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้หาได้ทั่วไป

The Reading Room

The Reading Room

The Reading Room

หนังสือทุกเล่ม เราเลือกจาก สิ่งที่มีคุณค่าในระดับหนึ่ง ไม่ใช่อะไรที่อ่านแล้วมันตลาดจ๋าๆ หรือแมสมาก เพราะว่าห้องสมุดขนาดเล็ก ก็ต้องเลือกหนังสือที่มองว่า ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า จะยังน่าสนใจ จะยังน่าอ่านอยู่ เพราะเราไม่ได้มีพื้นที่เยอะพอที่จะกว้านซื้อทุกอย่างได้

The Reading Room

The Reading Room

ความโดดเดี่ยวของห้องสมุดอิสระที่ฟรี

ทำมา 15 ปีแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีห้องสมุดแบบนี้ผุดขึ้นมาอีกเลยนะ เพราะในความจริงอาจจะไม่ได้มีใครทำแบบเราก็ได้ มีเราที่ยังทำอยู่คนเดียว ก่อนหน้านี้อยากให้มีห้องสมุดอิสระที่อื่นๆ เกิดขึ้นนะ เพราะหนังสือเป็นสิ่งที่ควรเข้าถึงได้ง่ายและเข้าถึงได้มากขึ้น อยากให้คนมีตัวเลือกในการอ่านได้มากขึ้น เช่น การมีห้องสมุดอิสระกระจายตัวในแต่ละเขตที่ไม่ใช่แค่ห้องสมุดของรัฐเท่านั้น แต่จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เห็นเกิดขึ้น ฉะนั้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมาจึงได้เรียนรู้ว่า เราคาดหวังให้คนอื่นทำแบบเราไม่ได้ เพราะถ้าเปิดแล้วก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างเราเองที่หมดไฟในบางครั้ง แต่ก็กลับมาทำต่อเพราะมันคือครึ่งชีวิตของเราไปแล้ว และเรามองว่าการอยู่ตรงนี้ต่อก็เพื่อสานต่อพื้นที่ให้กับชุมชนการอ่าน

The Reading Room

‘ความรู้ฟรี’ คืออุดมคติที่ควรมีอยู่จริง

มีช่วงที่เรามีความหวังนะ เพราะเคยมีคนเข้ามาชื่นชมว่า เขาอยากทำแบบนี้บ้าง เห็นว่าบางคนก็นำไปทำที่ต่างจังหวัด แต่ไม่รู้ว่าเขายังทำอยู่ไหม หรือว่าแบบไหน หรืออย่างเมื่อช่วงต้นปีก่อนก็มีน้องที่เวียดนามมาบอกว่า เขาเคยมาที่นี่และประทับใจจนไปเปิดห้องสมุดที่เมืองของเขาเองในเวียดนาม ซึ่งมันก็ดีนะ แต่พอมองกรุงเทพฯ แล้วก็ยังน้อยมากอยู่ดี เพราะส่วนใหญ่ไม่ใช่พื้นที่อิสระที่แท้จริง

The Reading Room

ห้องสมุดควรเป็นพื้นที่อิสระจริงๆ ไม่ควรมีเรื่องการหารายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความรู้ควรเป็นพื้นที่ที่ฟรีและเป็นสิทธิที่ทุกคนควรเข้าถึงได้ง่าย ไม่ใช่ว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ต้องนำเงินมาเพื่อให้ได้มาซึ่งบางอย่าง เราไม่อยากให้โลกไปถึงจุดนั้น

บางคนก็มองว่า เรามีชุดความคิดในอุดมคติเกินไป แต่เรามองว่า คงจะดีถ้ามีพื้นที่ในอุดมคติเกิดขึ้นได้จริง อย่างน้อยควรมีบางอย่างในโลกที่มันไม่มีการซื้อขาย ถ้าทุกอย่างในโลกไปถึงจุดที่ต้องจ่ายเงินเท่านั้น เราว่าโลกมันไม่ไหวแล้วนะ

The Reading Room

ในโลกควรมีพื้นที่ที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องจ่ายเงิน ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ค่อนข้างไม่ดีสำหรับเรา เพราะแค่ออกจากบ้านก็ต้องจ่ายทุกอย่างแล้ว แทนที่จะมาตั้งคำถามว่าทำไม The Reading Room ถึงเป็นพื้นที่ที่ฟรี ทำไมไม่ไปตั้งคำถามว่า ทำไมพื้นที่อื่นในกรุงเทพฯ ยังต้องเสียเงินมากมายขนาดนี้ เราว่านี่ไม่ใช่อุดมคติที่เวอร์อะไรเลย เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเราควรได้รับด้วยซ้ำไป

The Reading Room

บทเรียนจาก The Reading Room ถึง ‘เกี๊ยว-นราวัลลภ์’

ถ้าไม่ได้ทำที่นี่ ก็ไม่รู้ว่าชีวิตเราจะเป็นแบบไหน เพื่อนๆ ในชีวิตเราก็เกิดขึ้นจากที่นี่ เป็นกลุ่มคนที่ให้ค่ากับการเขียน-การอ่านและมีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากการได้เจอเพื่อนๆ แล้ว ที่นี่ยังดีกับเราตรงที่ว่า เราไม่ต้องเข้าสู่โลกแห่งการแย่งชิงตำแหน่งหน้าที่การงาน เราได้เจอผู้คนหลายรุ่น ได้เจอเด็กรุ่นใหม่ พื้นที่ตรงนี้ดีต่อสุขภาพจิตใจของเรามากๆ

ถ้าไม่มีที่นี่ ก็คิดไม่ออกเลยว่า จะเป็นยังไง เราได้เจอผู้คนหลากหลายที่ถ้าเราไม่ได้ทำตรงนี้ก็คงต้องเจอแต่คนกลุ่มเดิมๆ อย่างบางคนที่แวะมาที่นี่บ่อยๆ เราเห็นเขาตั้งแต่ยังอยู่มัธยมต้น จนตอนนี้เขาเรียนจบ มีงานทำแล้ว เลยรู้สึกว่าอย่างน้อยเราก็ถือเป็นพลเมืองที่คุณภาพอยู่หน่อยหนึ่งเหมือนกัน และเอาเข้าจริง ในใจลึกๆ ก็ได้รู้สึกว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ทำบางอย่างเพื่อสังคมเล็กๆ ก็ยังดีค่ะ

Tags: