คอนเทมโพรารี ‘กาฬสินธุ์’
คอนเทมโพรารี ‘กาฬสินธุ์’ ทักทายเมืองนอกสายตา ผ่านพิซซ่า สโลว์บาร์ และสตรีทอาร์ต
- เมื่อกระแสท่องเที่ยวเมืองรอง (Less Visited Area) หมายถึงเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวไม่ถึง 6 ล้านคนต่อปี กำลังเป็นที่พูดถึง และกาฬสินธุ์ ก็คือหนึ่งใน 18 จังหวัดที่เป็นเมืองรองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- กาฬสินธุ์ในวันนี้ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ครบเครื่อง ทั้งคาเฟ่น่ารัก ที่มีเรื่องสตอรี่ มีแหล่งงานอาร์ตดีๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจ มีร้านอาหารระดับตำนานและโฮมสเตย์บ้านสวน
- คนเจนเนอเรชั่นใหม่ของภาคอีสานตอนบน เริ่มกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นธุรกิจ
“บ้านของพี่อยู่กาฬสินธุ์ ส่วนตัวยุพินอยู่สมุทรสาคร” นอกจากชื่อจังหวัดที่ปรากฏอยู่ในเนื้อเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือเมื่อกว่า 30 ปีก่อนแล้ว สารภาพตามตรงว่า เราเองรู้จักกับกาฬสินธุ์น้อยมาก โดยเฉพาะในฐานะเมืองท่องเที่ยว แต่มาวันนี้ กระแสการท่องเที่ยวเมืองรองกำลังเป็นที่พูดถึง และดูเหมือนว่าจังหวัดในภาคอีสานตอนบนแห่งนี้ก็เริ่มขยับตัว โดยมีคนรุ่นแม่กับคนรุ่นใหม่จับมือเดินไปพร้อมๆ กัน
‘ฮอม’ ร้านพิซซ่ากลางทุ่งนาของสองพี่น้อง ที่บอกลาโควิดกลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน
“อยากให้กรุงเทพฯ มีอะไรแบบนี้บ้างว่ะ” เราหันไปบอกกับเพื่อนระหว่างขับรถจากถนนใหญ่ตัดผ่านทุ่งนาสองข้างทางเข้ามาราว 3-4 กิโลเมตร “นั่นๆ อยู่นั่น” ในที่สุดเราก็เห็นสิ่งปลูกสร้างจากสังกะสีตั้งอยู่กลางทุ่งนา ซึ่งถ้าไม่จับ GPS มา คงไม่รู้ว่าที่แห่งนี้มีสถานะเป็นคาเฟ่และร้านอาหาร
‘ฮอม’ คือชื่อเรียกที่ ‘คุณแขก-วรรณพร ภิรมย์มาก’ กับ ‘คุณเจ-เจอินซู ภิรมย์มาก’ สองพี่น้องร่วมกันปลุกปั้นขึ้นมา หลังคนทั้งคู่ต้องสละชีวิตการทำงานที่เชียงใหม่ด้วยพิษโควิด-19 ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับมาตั้งหลักที่บ้าน ซึ่งด้วยประสบการณ์การเป็นเชฟมาเกือบ 20 ปี หมู่บ้าน ‘บ้านหนาด’ จึงมีร้านพิซซ่าและคาเฟ่ริมนาถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก
ในส่วนของการออกแบบ ด้วยงบประมาณที่จำกัดประกอบกับการมองว่าเป็นวัสดุที่สะท้อนความเป็นชนบทได้ดี คุณเจเลือกใช้สังกะสีและไม้เป็นวัสดุหลักในการตกแต่งร้าน แต่เดิมที่มีเพียงระเบียงริมนา ก็ต่อเติมหลังคาทรงสูงคร่อมต้นกระถินเทพาเพื่อให้อากาศถ่ายเท เหมาะกับพื้นที่โล่งกว้าง ขณะเดียวกันก็พยายามรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้คงเดิมมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว ต้นตาล ต้นมะกอก รวมถึงต้นหญ้าคาด้วย
ด้านเมนูอาหาร ด้วยความที่คุณแขกถนัดทำอาหารอิตาเลียนกับอาหารไทย เมนูแนะนำจึงมีทั้งพิซซ่าและก๋วยเตี๋ยวต้มยำรสแซบ ขณะที่เครื่องดื่มเอง เนื่องจากสภาพอากาศริมนาตอนกลางวันค่อนข้างร้อน คุณเจเลยแนะนำเป็นเมนูเติมความสดชื่นอย่าง ‘เอสเพรสโซโทนิก’ และ ‘จุ๊จุ๊’ น้ำแตงโมผสมลิ้นจี่ที่กินแล้วอยากให้ “จุ๊จุ๊” เอาไว้ อย่าได้แพร่งพรายไปบอกใคร
หลังจากเปิดบริการมาได้เกือบปีและคนเริ่มรู้จักพื้นที่แห่งความสุขนี้มากขึ้นเรื่อยๆ คุณแขกบอกกับเราว่า
“ไม่อยากเชื่อเหมือนกันว่าเราอยู่ลึกลับขนาดนี้ ยังมีคนตามเข้ามากิน (ยิ้ม) แล้วก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะกลับมาอยู่บ้าน เพราะใช้ชีวิตคนเดียวมาตลอด แต่พอเริ่มปรับตัวได้ก็เริ่มมีความสุข ได้กลับมาดูแลแม่ด้วย เป็นความสุขทางใจรูปแบบหนึ่ง”
ขณะที่คุณเจ ผู้เป็นน้องชายเสริมว่า “อนาคต เรามีความตั้งใจจะทำเป็นตลาดผักผลไม้ให้แม่ได้มีอะไรทำตอนแก่ มีงานแฮนด์เมด พวกกระเป๋า เสื้อยืด หมวกที่เจทำอยู่แล้วมาวางขายด้วย เป็นลานกิจกรรมย่อมๆ กลางทุ่งนาให้คนได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ที่ยังมีให้เห็นอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์”
ส่วนใครที่กำลังติดใจว่าฮอมแปลว่าอะไร? คุณแขกได้ช่วยไขข้อสงสัยว่า “ฮอม” เป็นภาษาเหนือ แปลว่า การรวมตัว ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึงการกลับมารวมตัวของพี่น้องสองคน…ที่บ้านนั่นเอง
ฮอม
เปิดทุกวัน 10:00-18:00 น. (เว้นวันพุธ)
โทร: 09 4995 1329
Facebook : ฮอม-Hom
ดีโน่ศิลป์ ถิ่นอาร์ต สตรีทอาร์ตกลางเมืองกาฬสินธุ์ที่ผูกโยงกับท้องถิ่นด้วยความเข้าใจ
ทุกวันนี้การเดินทางกับการถ่ายรูปดูเหมือนจะแยกจากกันไม่ออก ซึ่งการพ่นสีบนกำแพง (Graffiti) ก็ถูกนำมาใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นวัฒนธรรมป๊อปที่ส่งต่อจากสิงคโปร์ ปีนัง มาถึงไทยเราจนตอนนี้เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องฟูของศิลปะบนกำแพงเลยก็ว่าได้
แต่ใช่ว่าทุกพื้นที่จะประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากลายเส้นที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ คือการยึดโยงกับบริบทของพื้นที่หรือชุมชน เหมือนที่เราเห็นงานศิลปะกำแพงรูปร้านน้ำชาที่สงขลา รูปน้องมาร์ดีสวมชุดบาบ๋าที่ภูเก็ต หรือแม้แต่รูปแม่ค้าขายติ่มซำที่เบตง
เมื่อสตรีทอาร์ตเดินทางมาถึงที่นี่ เป็นโชคดีของคนกาฬสินธุ์ที่ได้ ‘เดเอล ฮอร์แกน’ หรือ ‘BigDel’ ศิลปินกราฟฟิตี้รุ่นบุกเบิกของไทยมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน จำนวน 3 ชิ้น ซึ่งทั้งหมดสามารถเดินถึงกันได้ เริ่มด้วยรูปไดโนเสาร์ขายตั๋วหนังกับป๊อบคอร์นในสไตล์ American Old School ที่เขาถนัด ให้สมกับที่กาฬสินธุ์เป็นแหล่งค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญที่สุดของไทย
ต่อด้วยภาพของสาวกาฬสินธุ์ในชุดผ้าไหมแพรวา อีกหนึ่งความภาคภูมิใจของคนเมืองน้ำดำ ก่อนปิดท้ายด้วยภาพไดโนเสาร์ตัวโข่งสีเขียว (บ้างแซวว่าเหมือจระเข้) นอนเล่นบนเปลอย่างมีความสุข ที่ไม่ว่าใครก็อดที่จะยกกล้องขึ้นมาถ่ายรูปไม่ได้
ดีโน่ศิลป์ ถิ่นอาร์ต
ตลาดโรงสี ถนนโสมพะมิตรและถนนธนะผล อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
บ้านเป็ด จากลูกจ้างภัตตาคารเป็ดย่าง สู่ตำนานร้านอาหารเช้าเมืองกาฬสินธุ์
ณ ตัวเมืองเล็กๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีร้านอาหารที่เป็นที่ฝากท้องของคนกาฬสินธุ์จากรุ่นสู่รุ่นมากว่า 50 ปี ที่นี่เราได้พบกับ ‘คุณกุล-สุกัญญา แซ่ลิ้ม’ ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เล่าประวัติของร้านให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า
“พ่อพี่เคยทำงานภัตตาคารที่กรุงเทพฯ ก่อนย้ายมาอยู่กาฬสินธุ์ ตอนแรกขายบะหมี่เกี๊ยว ข้าวหน้าเป็ดอยู่ใต้โรงแรมมิตรวัฒนา (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ต่อมาแกเสียชีวิต ทำเป็ดย่าง มันยุ่งยาก กำไรน้อย แม่พี่เลยหันมาขายต้มเลือดหมูกับอาหารเช้าแบบอเมริกัน ตั้งแต่วันนั้น คนก็ยังเรียกร้านเราว่า ‘บ้านเป็ด’ แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีเป็ดย่างขายแล้วก็ตาม”
18 ปี คือช่วงเวลาที่คุณกุลมารับตำแหน่งมือขวาของ ‘คุณแม่ลอนศรี ชมชื่น’ (หรือที่ใครต่อใครเรียกว่าป้าเป็ด) โดยมี 3 เมนูเด็ดคอยมัดใจคนกาฬสินธุ์ ให้เดินสวนกันให้ควั่กในช่วงเช้าของทุกวัน เริ่มต้นด้วยต้มเลือดหมูที่คุณกุลบอกว่ามีจุดเด่นอยู่ที่เครื่องในไม่คาวและน้ำซุปกลมกล่อมโดยไม่จำเป็นต้องปรุง ต่อด้วยจับฉ่ายโบราณที่ทางร้านไปเอาผักเขียวปลี (คนจีนเรียกตั่วฉ่าย) มาจากเพชรบูรณ์ ตากให้แห้งแล้วไปต้มกับซี่โครงหมู เป็นสูตรโบราณของคุณแม่ที่หากินไม่ได้ง่ายๆ
ส่วนใครอยากกินอะไรเบาๆ ก็ยังมีโจ๊กที่ร้านบ้านเป็ดเลือกใช้ข้าวหอมมะลิ 100% ทำให้ได้ความข้น หากได้ลองกินสักครั้งแล้วจะติดใจ
นอกจากสามเมนูที่ว่ามาแล้ว คุณกุลยังแอบกระซิบกับเราด้วยว่า ถ้าอยากกินข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเมืองกาฬสินธุ์ ให้กลับมาอีกทีในช่วงปลายเดือนมกราคม ส่วนถ้าถามว่าอาหารร้านบ้านเป็ดนั้นควรค่าแก่การมาลิ้มรสสักแค่ไหน ให้คำพูดของคุณกุลที่ว่า “บางคนมากินตั้งแต่เด็กจนโต กินตั้งแต่เป็นนักเรียนจนเป็นผู้พิพากษา” เป็นคำตอบก็แล้วกัน
บ้านเป็ด
เปิดทุกวัน รอบเช้า 06:00-13:00 น. รอบบ่าย 16:00-20:00 น.
โทร: 0 4384 0583, 09 5563 0915
Facebook: อาหารเช้า บ้านเป็ด
Gra-drip Bar-drip coffee สโลว์บาร์คาเฟ่ที่สร้างซีนกาแฟให้เมือง
คงไม่ใช่แค่เราที่สับสนว่าชื่อร้าน Gra-Drip อ่านออกเสียงว่าอะไร? แต่เมื่อได้คุยกับ ‘คุณกระปุก-ธันยนันท์ พิมพะสาลี’ เจ้าของร้านจึงได้ถึงบางอ้อว่า “ชื่อร้านอ่านว่ากระดริปค่ะ มาจากชื่อกระปุก รวมกับคำว่าดริป ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่ากระดืบ ที่มีความหมายว่าเคลื่อนที่ไปอย่างช้า ๆ”
สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ของร้านที่เน้นเสิร์ฟกาแฟแบบ Slow Bar (ไม่ใช้เครื่องไฟฟ้าในการชง) โดยคุณกระปุกเล่าที่มาที่ไปของร้านให้ฟังว่า เริ่มต้นจากเป็นคนชอบดื่มกาแฟ จากที่ดื่มแต่กาแฟนมก็ค่อย ๆ เปลี่ยนมาเป็นกาแฟดำ เริ่มศึกษาว่ากาแฟไม่จำเป็นต้องมีรสขมอย่างเดียว หลังจากนั้นก็เริ่มซื้อเมล็ดมาลองดริป ลองศึกษาดู ทำให้ได้รู้ว่าเมล็ดกาแฟจากแต่ละแหล่งปลูก มีทั้งกลิ่นและรสชาติไม่เหมือนกัน เกิดเป็นความหลงใหลที่ถอนตัวไม่ขึ้น ก่อนจะลองดริปให้เพื่อนๆ ดื่มจนเกิดเป็นสิ่งที่เธอเรียกว่า “มิตรภาพน้ำดำ” และจุดประกายให้อยากมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง
แม้กระปุกจะเรียนจบทางด้าน Industrial Design จากกรุงเทพฯ แต่เมื่อต้องกลับบ้านมาดูแลคุณปู่ในช่วงปลายปี 2562 เธอจึงตัดสินใจเปิดกระดริปที่บ้านไม้สองชั้นของคุณปู่ ซึ่งเคยเป็นโรงสีข้าวมาก่อน และด้วยเป็นพื้นที่ที่ต่อเติมออกมาจากบ้านที่เธอพักอาศัยเลยให้คอนเซ็ปต์คาเฟ่แห่งนี้เป็น Homey Café ที่ให้ความรู้สึกเหมือนมานั่งคุย นั่งจิบกาแฟ กับบรรยากาศที่ไม่ต้องเนี้ยบมาก รกๆ หน่อย เหมือนเวลาที่เรานั่งอยู่บ้านเพื่อน
ด้านเมล็ดกาแฟ กระดริปมี House Blend ที่เป็นการเติมเต็มของเมล็ดกาแฟจาก 3 สัญชาติ คือเอธิโอเปีย รัฐฉาน เมียนมา และบราซิล ซึ่งจะให้ After Taste ที่ยาวปกติ และกลิ่นสดชื่นแบบป่าๆ
นอกจากนั้นแล้วยังมีทั้งเมล็ดไทย เมล็ดต่างประเทศจาก Micro Roaster ทั้งหลาย รวมถึง Specialty Coffee ด้วย เรียกว่ามาครบจบในที่เดียว ซึ่งถ้าลูกค้ามีความต้องการแบบไหน คุณกระปุกแนะนำให้ลองมาพูดคุยกันที่หน้าเคาน์เตอร์บาร์ก่อนออร์เดอร์เพื่อที่จะนำเสนอเมนูได้ตรงใจลูกค้ามากที่สุดนั่นเอง
เมนูซิกเนเจอร์ของทางร้าน คุณกระปุกแนะนำ Es on White เป็นเอสเพรสโซช็อตราดลงบนนมสด กับ Miss Cherry Blossom ที่มีส่วนผสมของชากุหลาบ ไซรัปซากุระ เอสเพรสโซและโซดา ทั้งเปรี้ยว ทั้งซ่า ทั้งตื่นไปพร้อมๆ กัน
หลังจากเปิดร้านมาได้ปีกว่าจนร้านขยับขยายไปอีกขั้น กระปุกบอกกับเราว่า “รู้สึกดีใจที่มีส่วนได้สร้างวัฒนธรรมการดื่มกาแฟให้คนกาฬสินธุ์เข้าใจมากขึ้นว่ากาแฟเปรี้ยวไม่ใช่กาแฟบูด (หัวเราะ) ซึ่งเราเองก็คุยกันกับเพื่อนๆ คาเฟ่รอบข้างเหมือนกันว่า ในอนาคตอยากให้กาฬสินธุ์มีซีน Café Hopping เหมือนเชียงใหม่ แล้วถ้าคนจากจังหวัดไกลๆ ได้มีโอกาสมาเที่ยวบ้านเราบ้างก็ดีเหมือนกัน”
Gra-drip Bar-drip coffee
จันทร์-ศุกร์ 08:30-17:30 น. เสาร์-อาทิตย์ 09:00-17:30 น.
โทร: 08 7799 0695
Facebook: Gra-drip Bar-drip coffee
หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ กับภารกิจปักธงความอาร์ตในหัวใจคนอีสาน
ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 อาคารศาลากลางหลังเก่าได้ผันตัวเองมาเป็นหอศิลป์ของชาวเมืองกาฬสินธุ์ โดยชั้นบนจัดแสดงประวัติความเป็นมา ตราประจำจังหวัด ประวัติเจ้าเมืองคนแรกของกาฬสินธุ์ ตลอดจนวัตถุโบราณ ข้าวของเครื่องใช้พื้นถิ่น
ขณะที่ชั้นล่างเป็นแกลเลอรี่อาร์ต แบ่งการจัดแสดงออกเป็นสองโซน โซนแรกเอาใจคนชอบถ่ายรูปด้วยภาพสามมิติของดี 9 อำเภอ ขณะที่อีกโซนเป็นนิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงผลงานศิลปะของเยาวชนและศิลปินในพื้นที่ ทั้งในจังหวัดกาฬสินธุ์เองและจังหวัดรอบข้างอย่างร้อยเอ็ดและมหาสารคามด้วย มีผลงานให้ชมหลากหลาย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม โดยส่วนใหญ่เป็นงานที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนอีสานทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย
‘คุณฟิล์ม-ธนากร ภูพลอย’ เจ้าหน้าที่ประจำหอศิลป์ หนึ่งในศิลปินผู้มีผลงานจัดแสดง ณ หอศิลป์แห่งนี้ โดยเป็นผลงานร่วมกับคุณพรสวรรค์ นนทภา ศิลปินชั้นครู ในชื่อความทรงจำในวิถีชีวิตชนบทกับงานประติมากรรมดินเผาขึ้นรูปด้วยมือ สะท้อนความเจริญงอกงามของธรรมชาติผ่านพืชท้องถิ่นอย่างน้ำเต้า ฟัก บวบ ฟักทอง ฯลฯ
นอกจากพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะแล้ว ในอนาคต หอศิลป์แห่งนี้ภายใต้การดูแลของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ยังมีแผนจะจัดตลาด Art Lane ตลอดจนเวิร์กช็อปด้านศิลปะในความร่วมมือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในภาคอีสานด้วย
หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ จึงนับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะจุดประกายความรักและความเข้าใจในศิลปะให้เกิดขึ้นในหัวใจของคนกาฬสินธุ์ (และคนอีสาน) ทุกๆ ดวง
หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์
เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ 09:00-16:30 น.
โทร: 0 4384 0163
Facebook: หอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์
สู่ขวัญ บูทิคโฮม โฮมสเตย์แบบบ้านสวนที่อยากให้ผู้เข้าพักได้รับพลังดี ๆ กลับไป
ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์มาราว 40 กิโลเมตร ณ อำเภอสหัสขันธ์ คงไม่มีใครคาดคิดว่าที่ตรงนี้จะมีที่พักตั้งอยู่ด้วย แต่นั่นเป็นเพราะที่นี่เริ่มต้นจากคำว่า ‘บ้าน’ บ้านสวนของคุณครูผู้มีลูกเป็นสถาปนิก โดย ‘คุณเม่น-เมธา ภวภูตานนท์’ ที่ผ่านการฝึกงานกับบริษัทสถาปนิกในสหรัฐฯ ได้กลับบ้านมาพัฒนาพื้นที่ของพ่อกับแม่ให้เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์จำนวน 5 หลัง
ที่ซึ่งเขาให้นิยามการออกแบบนี้ว่าเป็น Modern Isan หรืออีสานปัจจุบัน ซึ่งเคลื่อนเปลี่ยนไปได้ตามยุคสมัย บวกกับการตกแต่งห้องพักด้วยผ้าขาวม้า งานจักสาน รวมถึงพวงกุญแจรูปไดโนเสาร์ที่ถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย
ด้านที่มาของชื่อ “สู่ขวัญ” คุณเม่นเล่าว่า เป็นคำที่มีความหมายดี ประกอบกับมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมของภาคอีสาน นั่นก็คือ ‘การบายศรีสู่ขวัญ’ ซึ่งหมายถึงการเรียกขวัญ หรือการรับพลังดีๆ เหมือนกันกับที่พักแห่งนี้ที่ต้องการให้ผู้เข้าพักได้มาพักผ่อนแล้วกินอิ่มนอนหลับและได้ชาร์จเอาพลังดีๆ กลับไป
นอกจากบ้านพักท่ามกลางธรรมชาติในสไตล์บ้านสวนแล้ว ทีเด็ดของบ้านพักแบบโฮมสเตย์ยังอยู่ที่รสชาติอาหาร ซึ่งเน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ประกอบอาหารแบบสดๆ เปลี่ยนไปตามฤดูกาล อย่างไข่มดแดงกับลูกหม่อนในช่วงหน้าร้อน หรือแกงหน่อไม้ในหน้าฝน ที่แม่คุณเม่นบอกกับเราด้วยว่า “ถ้าช่วงไหนมีเยอะเ ราก็จะจัดใส่ถุงให้ลูกค้าได้ติดไม้ติดมือกลับไปด้วย”
สู่ขวัญ บูทิคโฮม
โทร: 06 3727 3729
Facebook: Sukwan Boutique Homes “สู่ขวัญ บูทิคโฮม รีสอร์ท”
เขื่อนลำปาว อีกหนึ่งพื้นที่ชีวิตของคนเมืองน้ำดำ
คำว่า ‘กาฬ’ หมายถึง สีดำ ส่วนคำว่า ‘สินธุ์’ หมายถึง น้ำ เพราะฉะนั้นชื่อของจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงหมายถึงน้ำที่มีสีดำ หากไม่ได้หมายความเช่นนั้นจริงๆ แต่หมายถึงน้ำที่ใสสะอาดจนมองเห็นดินใต้น้ำเป็นสีดำ ซึ่งนับว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดนั่นเอง
เขื่อนลำปาวนับเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่สะท้อนความเป็นเมืองน้ำดำได้ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะเป็นภาพเรือหาปลาของชาวบ้าน แพร้านอาหารของนักท่องเที่ยว ลู่วิ่งบนสะพานเทพสุดา สะพานข้ามน้ำจืดที่ยาวที่สุดในประเทศ หรือแม้แต่หาดดอกเกดและสวนไดโนเสาร์ของเด็กๆ ล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่ทำให้เรามองทะลุถึงความอุดมสมบูรณ์ ที่ไม่ใช่แค่ในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังรวมถึงคุณภาพชีวิตในทุกๆ วันด้วย
เขื่อนลำปาว
ครอบคลุม อ.สหัสขันธ์ อ.คำม่วง อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์
ในฐานะนักท่องเที่ยว เรามองกาฬสินธุ์ว่ากำลังเติบไปโตในทิศทางและจังหวะที่เหมาะสม ไม่เร็ว ไม่ช้า ไม่อึดอัด ไม่กดดัน เราได้เห็นแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นในตัวเองและศักยภาพของถิ่นฐานบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็มีคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่มีความเข้าอกเข้าใจพื้นที่ คอยสนับสนุน ผลักดันอยู่เบื้องหลัง เป็นจุดร่วมที่น่ารักและน่าชื่นชม