กาดนัดยูนีค
ขนมปัง มะพร้าว งานอาร์ต และชาวเกษียณ 6 กาดนัดแนวยูนีคของเชียงใหม่ที่ต้องไปสักครั้ง
- ตลาดนัดในเชียงใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นมากกว่าสถานที่ซื้อขายสินค้าและสถานที่ท่องเที่ยว แต่ยังทำให้เราเข้าใจวิถีชีวิตคนท้องถิ่น วัฒนธรรม และความเป็นชุมชนได้ดีที่สุด และในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งครีเอทีฟ ดังนั้นจึงเกิด “กาดนัดแนวคาแรกเตอร์” หลายแห่งที่มีความน่าสนใจ
- ปัจจุบัน ตลาดนัดหลายแห่งในเชียงใหม่ มีการจัดระบบระเบียบและบริหารจัดการโดยชุมชน เพื่อสร้างกติกาและกฎระเบียบของการใช้พื้นที่ร่วมกัน
- ตลาดนัดบางแห่งในยุคนี้ ร่วมรักษ์โลกด้วยการงดใช้ถุงพลาสติก และโฟม สร้างจิตสำนึกดีๆ ให้คนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ว่ากันว่า ถ้าอยากรู้จักนิสัยใจคอของใครสักคน ต้องไปทำความรู้จักกับครอบครัวของเขา แต่ถ้าอยากเข้าใจสถานที่ไหนสักแห่งให้ลึกซึ้ง ต้องไปเดินตลาดท้องถิ่นของที่นั่น เพราะมันคือแหล่งรวมวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นชุมชนได้ดีที่สุด
‘กาดนัด’ หรือ ‘ตลาดนัด’ ในเชียงใหม่ ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแหล่งจับจ่ายซื้อของเท่านั้น แต่ยังเป็นหมุดหมายในลิสต์ของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการสัมผัสกับวิถีท้องถิ่น ชมงานแฮนด์เมดแบบชาวเหนือ และชิมอาหารพื้นเมืองที่ไม่ได้มีแค่น้ำพริกหนุ่มกับข้าวซอย
กาดนัดหลายแห่งในเชียงใหม่ มีสตอรี่ที่น่าสนใจและมีความหมายสำหรับชุมชน หลังถูกปิดชั่วคราวเมื่อปลายปี 2563 เพราะโควิดระลอกใหม่ ตอนนี้กลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ในเดือนที่เข้าสู่ฤดูร้อนของปี เราเริ่มเห็นรอยยิ้มของพ่อค้าแม่ขาย และตลาดที่เริ่มกลับมาคึกคัก ถึงจะไม่เหมือนเดิม 100% แต่ก็เป็นสัญญาณของการเริ่มต้นที่สดใส....พร้อมแล้ว ออกเดินทางไปทำความรู้จักกับกาดนัด 6 แห่ง ที่เป็นมากกว่า ‘ตลาดนัดซื้อขายสินค้า’ กันดีกว่า
‘กาดต่อนยอน’ ตลาดนัดของชุมชน ที่พาคนท้องถิ่นกลับบ้าน
เมื่อเชียงใหม่ถูกตีตราว่าเป็นเมือง ‘ต๊ะต่อนยอน’ หรือเมืองที่มีวิถีแช่มช้า ผู้คนใช้ชีวิตสบายๆ ชิลๆ ไม่รีบเร่ง ‘กาดต่อนยอน’ ณ ชุมชนโหล่งฮิมคาว จึงเกิดขึ้นด้วยสโลแกนที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของเมือง คือ ‘เดินช้าๆ กินช้าๆ ซื้อขายช้าๆ อู้จ๋ากั๋นม่วนๆ’ โดย ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานชุมชนโหล่งฮิมคาว และผู้ก่อตั้งกาดต่อนยอน เฉลยให้ฟังถึงที่มาของสโลแกนนี้ว่า “ต้องการรณรงค์วิถีชีวิตช้าๆ และวัฒนธรรมล้านนา ให้สืบสานคู่กับชุมชนตลอดไป”
ชุมชนโหล่งฮิมคาว เป็นชุมชนงานคราฟท์ที่มีชื่อเสียงในอำเภอสันกำแพง และเกือบทุกครัวเรือนล้วนเป็นสล่าหรือศิลปินผู้ผลิตงานฝีมือดั้งเดิม โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มักถูกนำไปขายนอกบ้าน เช่น งาน OTOP งานแสดงสินค้าเมืองทองธานี และที่อื่นๆ ทั่วประเทศ แต่ไม่เคยมีใครคิดจะขายสินค้าหน้าบ้านตัวเอง
จนกระทั่งปี 2558 ปีที่ร้านอาหาร ‘มีนา’ เปิดให้บริการในหมู่บ้าน ไม่มีใครคิดว่ามันจะกลายเป็นประตูบานใหญ่ ที่ทำให้คนต่างถิ่นเริ่มเข้ามาทำความรู้จักกับชุมชน ลุงชัช หรือ อ.ชัช จึงชักชวนคนในชุมชน เปิดบ้านเพื่อขายงานหัตถกรรมที่ทำ โดยไม่จำเป็นต้องออกไปหาตลาดนอกบ้าน และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำคนรุ่นใหม่กลับสู่บ้านเกิดเพื่อสานต่อธุรกิจของครอบครัว
“กาดต่อนยอนเหมือนเป็นงานประจำปีของชุมชน เราจัดเพียงปีละครั้งๆ ละ 3 วันในช่วงเทศกาลยี่เป็งของทุกปี โดยใช้พื้นที่บนถนนหน้าบ้านเป็นลานขายสินค้าตลอดแนว บางคนเรียกว่าพื้นที่สร้างสรรค์ แต่เรามองว่า มันทำให้คนในชุมชนมีความเกื้อกูลกัน และอยากอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกภายใต้วิถีช้าๆ รวมทั้งมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้ด้วยระบบชุมชนท้องถิ่น ตอนนี้พยายามจะเพิ่มกิจกรรมการเรียนรู้ มีเวิร์กช็อป ให้แต่ละบ้านดึงองค์ความรู้ออกมาเพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา”
กาดต่อนยอน มีการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการชุมชน โดยประยุกต์รูปแบบมาจากชุมชนแม่กำปอง เพื่อป้องกันการขายสินค้าซ้ำซ้อนและตัดราคากัน มีการจัดการเรื่องระบบขยะ รักษาสภาพแวดล้อมของพื้นที่ และศิลปวัฒนธรรมของชุมชนให้คงอยู่
กาดต่อนยอน โหล่งฮิมคาว
อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดปีละครั้ง สำหรับครั้งต่อไปจะจัดระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย. 2564 https://www.facebook.com/FarmersMarketChiangmai
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/LoangHimKao/
จริงใจ มาร์เก็ต ตลาดนัดรักษ์โลก ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
จริงใจ มาร์เก็ต หรือตลาดจริงใจ เป็นตลาดนัดที่บริหารโดยกลุ่มเซ็นทรัล ถือเป็นโครงการที่เซ็นทรัลหมายมั่นให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ให้ความเคร่งครัดในการเลือกร้านค้าและผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาจำหน่าย เช่น ต้องเป็นสินค้าออแกนิกส์ ปลอดจากสารเคมีโดยมีใบรับรองมาตรฐานการผลิตที่ตรวจสอบได้จริง เป็นอาหารโฮมเมดที่เจ้าของปรุงขายเอง รวมทั้งงดใช้ถุงพลาสติก และโฟมทุกชนิด จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดผักเกษตรอินทรีย์และปลอดภัยแห่งแรกของกลุ่มเซ็นทรัล
ภายในตลาดแบ่งเป็น 2 โซนคือ จริงใจ Farmer Market เป็นโซนจำหน่ายผักผลไม้เกษตรอินทรีย์ ที่เหล่าเกษตรกรตัวจริงของเชียงใหม่และพื้นที่ใกล้เคียง จะมาออกร้านด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการจะต้องผ่านการอบรมสุขาภิบาลอาหารตามหลักสูตรของกรมอนามัย ปลอดผงชูรส และสารปนเปื้อนต่างๆ รวมทั้งไม่ใช้น้ำมันที่ทอดซ้ำ
อีกโซนคือ Rustic Market ซึ่งเป็นตลาดรวมสินค้าแฮนด์เมดที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งงาน D.I.Y งานศิลปะทำมือ ของเล่นเด็ก ของแต่งบ้าน ของประดับ สินค้ามือสองคุณภาพดี เสื้อผ้าสิ่งทอจากเส้นใยธรรมชาติ ผ้าพื้นเมืองดีไซน์เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตหรือเจ้าของออกแบบและนำมาขายด้วยตนเอง ที่นี่จึงถือเป็นตลาดที่ผู้ซื้อกับผู้ผลิตจะได้พบและพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ตลาดจริงใจเป็นตลาดที่บูมมากของเมืองเชียงใหม่โดยเฉพาะเป็นจุดเช็คอินของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งจีน และเกาหลี ถึงแม้ในช่วงเวลานี้จะยังไร้เงานักท่องเที่ยวต่างชาติเนื่องจากโควิด-19 แต่ที่นี่ก็ยังคงเป็นตลาดที่คึกคักของชาวเชียงใหม่ อย่างน้อยคือแหล่งช็อปปิ้งเดินเล่นที่ช่วยคลายเครียด และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
ตลาดจริงใจ
ถนนอัษฎาธร ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 06.30-13.00 น.
โทร. 053 231 520
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/FarmersMarketChiangmai
กาดฉำฉา ตลาดนัดรวมงานฝีมือของเด็กรุ่นใหม่ในราคาน่ารัก
ตลาดนัดเล็กๆ ใต้ต้นฉำฉาที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงาตลอดทั้งวัน และเป็นต้นไม้เก่าแก่ที่อยู่คู่กับชุมชนโหล่งฮิมคาวมานานแสนนาน ถ้าจะเรียกว่า ‘กาดฉำฉา’ เป็นตลาดลูกของ ‘กาดต่อนยอน’ ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะมันคือตลาดนัดของเด็กรุ่นใหม่ไฟแรงในชุมชน ที่มีส่วนร่วมในการจัดกาดต่อนยอนมาตั้งแต่เริ่มแรก และเป็นตลาดนัดที่มีกิจรรมเกิดขึ้นทุกๆ สัปดาห์ ทดแทนช่วงเวลาที่กาดต่อนยอนยังไม่เปิด
กาดฉำฉาเริ่มเปิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและชาวเชียงใหม่ ที่นิยมมาเดินเล่นทอดน่องในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เป็นงานทำมือ ขายจากผู้ผลิตเองกว่า 50 เจ้า อาทิ เสื้อผ้าที่ทอจากเส้นใยธรรมชาติ เครื่องประดับ งานแฟชั่น ของตกแต่งบ้าน ของสะสม ของโบราณ ฯลฯ แตกต่างจากสินค้าของกาดต่อนยอน ซึ่งเป็นสินค้าที่แต่ละบ้านทำกันเอง งานดีไซน์และการออกแบบจึงมีความพิเศษ บางอย่างมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ทำให้มีราคาที่แพงกว่า
นอกจากนี้ ภายในกาดฉำฉา ยังมีโซนขายอาหาร ร้านกาแฟ น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารพื้นเมือง อาหารจากรัฐฉาน รวมทั้งมีดนตรีเปิดหมวกให้นั่งฟังชิลๆ และมุมถ่ายรูปมากมาย ใกล้ๆ กับตลาด ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานกาละแมชื่อดังอย่างกาละแมพรรณี และกาละแมทิพย์เสวย สามารถแวะซื้อเป็นของฝากได้ในราคาแบบโรงงาน
กาดฉำฉา
ณ ชุมชนโหล่งฮิมคาว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 09.00-14.00 น.
โทร. 088 268 2441
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/ChamchaMarket/
Nana Jungle ตลาดนัดขนมปังในป่า ที่ต้องมารับบัตรคิวซื้อขนมปังตั้งแต่เช้าตรู่
ก่อนหน้าที่ Nana Jungle จะกลายมาเป็นตลาดนัดขนมปังที่เลื่องชื่อของเมืองเชียงใหม่ ที่นี่คือบ้านสวนไผ่ล้อม หมู่บ้านโฮมสเตย์ที่มีจำนวนบ้านเช่า 20 กว่าหลัง ปลูกสร้างท่ามกลางสวนไผ่ธรรมชาติ และเป็นแหล่งพำนักอาศัยของชาวต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ฝรั่งฟาร์ม’
เมื่อวันดีคืนดี ลูกบ้านคนไทยที่มีฝีมือในการทำขนมปัง ลุกขึ้นมาทำครัวซองต์ขายให้กับบรรดาเพื่อนบ้านในโฮมสเตย์ กิตติศัพท์ความอร่อยของครัวซองต์เลื่องลือไปไกล ทำให้มีคนตามมาขอซื้อถึงถิ่น และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปิดร้านขายครัวซองต์ ที่มีเพียงร้านเดียวในตอนแรกและจำกัดเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติ ส่วนคนที่เข้ามาซื้อครัวซองต์ถึงที่ ก็จะได้ดื่มกาแฟฟรีเป็นมื้อเช้าไปด้วย
จากตลาดขายครัวซองต์เล็กๆ ลับๆ ในป่าไผ่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ตลาด Nana Jungle กลายเป็นตลาดขายอาหารเช้า ที่มีการคัดสรรคุณภาพของอาหารและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาจำหน่ายอย่างเคร่งครัด
ส่วนใหญ่เป็นขนมปังโฮมเมด อาหารปรุงสดใหม่ อาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ปลอดสารเคมี และพืชผักออแกนิกส์ อาทิ ไส้กรอกเยอรมัน เบอร์เกอร์สูตรโปแลนด์ ก๋วยจั๊บ ปาท่องโก๋การบินไทย รวมไปถึงมีสินค้าแฮนด์เมดให้เลือกชมอีกด้วย
ตลาดเปิดเฉพาะช่วงเช้า และต้องรับบัตรคิวสำหรับซื้อขนมปัง ขอแนะนำให้ไปแต่เช้าหรือก่อน 7 โมงเพราะขนมปังที่หมายตา อาจหมดก่อนได้ชิม
ตลาด Nana Jungle
ใกล้กับ อบต.ช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (สามารถจอดรถได้ที่ศูนย์พุทธธรรม)
เปิดเฉพาะวันเสาร์ 07.00-11.00 น.
โทร. 086 586 5405
กาดมะพร้าว เปลี่ยนบรรยากาศไปเดินช็อปปิ้งและนั่งกินอาหารเหนือใต้ต้นมะพร้าว
ตลาดมะพร้าวหรือกาดบะป๊าว เป็นตลาดนัดน้องใหม่ของเชียงใหม่ ที่เปลี่ยนบรรยากาศของการเดินเล่นในชุมชนแบบเดิมๆ มาเป็นกาดนัดในสวนมะพร้าว ที่เราว่าน่าจะเหมาะมากสำหรับฤดูร้อนในช่วงนี้ เพราะที่นี่ร่มรื่นและร่มเย็นไปด้วยต้นมะพร้าวน้อยใหญ่ มีแคร่นั่งสำหรับรับประทานอาหารภายใต้ร่มเงา ชวนให้ดื่มด่ำไปกับธรรมชาติได้อย่างอิ่มเอม
บนพื้นที่ 9 ไร่ของสวนมะพร้าวแห่งนี้ ตั้งอยู่ในโครงการแม่โจ้บาซาร์ในเครือของบริษัท ทีซีซี รีเทล เชียงใหม่ จากความตั้งใจที่ผู้เป็นเจ้าของอยากพัฒนาสวนมะพร้าวด้านหลังของโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนฟ้าฮ่าม จึงแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่จำนวน 750 ตารางเมตร พัฒนาให้เป็นตลาดนัดเล็กๆ ของชุมชน โดยเปิดให้พ่อค้าแม่ค้าชาวฟ้าฮ่ามเข้ามาขายสินค้าได้อย่างเต็มที่ แลกกับเงื่อนไขคือ ต้องช่วยกันรักษาและไม่ทำลายธรรมชาติดั้งเดิมของสวนมะพร้าว
แม้ว่าช่วงนี้มะพร้าวจะเป็นผลไม้ที่ขายดีเป็นพิเศษ แต่สำหรับมะพร้าวภายในสวนแห่งนี้ ก็ไม่ได้ถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าของบริษัท หากเมื่อมีลูกค้าที่สนใจ ก็สามารถติดต่อขอซื้อตรงจากสวนได้เลย
นอกจากนี้ ภายในตลาด ยังจำหน่ายทั้งอาหารคาวหวาน ของทานเล่น เสื้อผ้าจากสิ่งทอธรรมชาติ งานแฮนด์เมด ของที่ระลึก ฯลฯ จะนั่งกินชิลๆ บนแคร่ไม้ไผ่หรือเก้าอี้กองฟางตามร่องสวนมะพร้าวก็ได้ตามสบาย มีดนตรีสดคอยขับกล่อมบรรเลงเบาๆ จนบางครั้งชวนให้เผลอนึกไปว่ากำลังนั่งอยู่ในคลองอัมพวายังไงยังงั้น
กาดมะพร้าว
ชุมชนฟ้าฮ่าม ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 8,00-12.00 น.
โทร. 086 677 6313
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/กาดบะป๊าว เชียงใหม่
‘เกษียณมาร์เก็ต’ เบบี้บูมของคนสูงวัย ที่อายุเป็นเรื่องจิ๊บๆ
ปี 2564 เป็นปีที่เมืองไทยก้าวเข้าสู่สังคมของผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว จำนวนผู้สูงอายุในประเทศมีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข) และเชียงใหม่เองเป็นเมืองรองจากกรุงเทพฯ ที่มีประชากรสูงอายุพำนักอาศัยมากที่สุด มันคงจะดีหากเรามีพื้นที่เล็กๆ ให้คนสูงวัยมีสังคมร่วมกัน และมีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยคลายความเหงา ทั้งได้เชื่อมโยงความเข้าใจระหว่างคนรุ่นใหญ่กับคนรุ่นปัจจุบันเอาไว้ด้วยกัน
‘เกษียณมาร์เก็ต’ จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นคอมมูนิตี้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าในวัยเกษียณหรือมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยใช้พื้นที่ของโอลด์ เชียงใหม่หรือศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่ จัดกิจกรรมตลาดนัดให้คนรุ่นใหญ่ ได้มาออกร้านจำหน่ายสินค้า ทั้งประเภทอาหารคาว-หวาน งานทำมือ เสื้อผ้า ของใช้ และสินค้าที่มีเอกลักษณ์ต่างๆ
โดยทีมงานโอลด์ เชียงใหม่ จัดสรรให้มีร้านค้าหมุนเวียนเพื่อเปิดโอกาสให้มีผู้ขายวัยเกษียณน้องใหม่ประมาณ 30% ของการเปิดตลาดในแต่ละครั้ง อีกทั้งยังตั้งเป้าให้ที่นี่เป็น Medical Tourism ของเมืองเชียงใหม่ในอนาคตอีกด้วย
หลังจากเปิดให้บริการเมื่อปี 2563 เพียงไม่กี่ครั้ง เกษียณมาร์เก็ต ถูกปิดลงชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ตอนนี้กลับมาเปิดปกติ โดยจะจัดเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์แรกของทุกเดือน ไม่เพียงเป็นแหล่งช็อปปิ้งของคนทุกวัยเท่านั้น แต่ตลาดแห่งนี้ยังหล่อเลี้ยงหัวใจของคนรุ่นใหญ่ให้ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ อีกครั้ง แว่วมาว่าในอนาคต จะมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ต่อยอดจากการขายสินค้า เช่น กิจกรรมเวิร์คช็อป, จัดคอร์สอาหารแบบ Fine Dining และจัดทริปสำหรับคนรุ่นใหญ่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 60’s Playground อีกด้วย
เกษียณมาร์เก็ต
ณ โอลด์ เชียงใหม่ (ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่)
เปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือน เวลา 08.00-14.00 น.
เฟซบุ๊ก : https://www.facebook.com/theseniormarket
ภาพประกอบ : เกษียณมาร์เก็ต