About
BALANCE

ถามก่อน ถ่ายทีหลัง

ถามก่อน ถ่ายทีหลัง…มารยาทที่คนเดินทางต้องมี

เรื่อง สุภักดิภา พูลทรัพย์ ภาพประกอบ ANMOM Date 16-07-2021 | View 1920
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • นักท่องเที่ยวจะถ่ายรูปใครก็ได้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เพราะบุคคลนั้นเลือกจะพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะเองจึงไม่มีเหตุผลที่คาดหวังหาความเป็นส่วนตัว
  • นักท่องเที่ยวจะถ่ายรูปคนที่อยู่ในที่พักส่วนตัวไม่ได้ ต่อให้ตัวคนถ่ายยืนบนทางเท้าหรือถนนสาธารณะก็ตาม
  • ‘Ask First’ กลุ่มที่รณรงค์ให้ผู้คนเอ่ยปากขออนุญาตก่อนถ่ายรูป ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะ

ณ เวลา 15 นาฬิกา

ปลายทศวรรษที่ 1960 William Eugene Smith ช่างภาพชาวอเมริกันเดินทางมาถึงมินามาตะ เมืองชายฝั่งทะเลเล็กๆ ของญี่ปุ่น

P 1

ทว่าวิลเลียมไม่ได้เดินทางไปมินามาตะเพื่อบันทึกภาพความงดงามของเมืองหรือรอยยิ้มของผู้คน เหตุผลนั้นตาลปัตรตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1971 วิลเลียมพร้อมด้วยกล้องถ่ายรูปคู่ใจเดินทางไปยังบ้านของครอบครัวอูเอมูระ เขากะไปถึงให้ตรงกับเวลาบ่ายสามโมง เพื่อที่แสงลอดส่องเข้ามาในห้องน้ำตกเป็นเงาสวยในยามที่เรียวโกะ อูเอมูระกำลังอาบน้ำ

เรียวโกะใส่ผ้านุ่งคาดอกก้าวลงไปในอ่าง วงแขนแข็งแรงของเธอประคองร่างของโทโมโกะ ลูกสาววัย 15 ปี
วิลเลียมบันทึกภาพนี้อย่างตั้งอกตั้งใจยิ่ง ซึ่งในเวลาต่อมาภาพนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Tomoko Uemura in Her Bath’ 1 ใน 100 ภาพถ่ายที่โลกจดจำ

P 7

เพราะว่าร่างกายอันเปล่าเปลือยของโทโมโกะ อูเอมูระในภาพนั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นร่างของเด็กสาววัย 15 ที่แคระแกร็น หงิกงอ ผิดส่วน โทโมโกะตกอยู่ในสภาพเดียวกันกับชาวเมืองมินามาตะจำนวนมากที่ได้รับสารปรอทที่บริษัท ชิสโซะ คอร์เปอเรชั่น ปล่อยออกมาปนเปื้อนน้ำจนชาวบ้านกลายเป็น ‘โรคมินามาตะ’

หลังบันทึกภาพโทโมโกะในห้องอาบน้ำ วิลเลียมถูกยากูซ่าที่บริษัทชิสโสะจ้างมารุมทำร้ายจนเกือบสูญเสียดวงตา แต่ภาพของโทโมโกะรวมถึงภาพการประท้วงและเรียกร้องค่าชดเชยของชาวบ้านก็เดินทางไปถึงห้างสรรพสินค้าในโตเกียว ซึ่งจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายชุดนี้

ภายในเวลา 12 วัน ภาพถ่ายจากมินามาะก็ปรากฏแก่สายผู้เข้าชมนิทรรศการถึง 50,000 คน โดยเฉพาะภาพโทโมโกะในห้องอาบน้ำยังตีพิมพ์ในนิตยสารทรงอิทธิพลอย่าง Life ส่วน New York Times เรียกว่าเป็นภาพถ่ายที่เป็นกรณีศึกษาเรื่องการเมืองในญี่ปุ่น

ความสั่นสะเทือนของภาพถ่ายชุดนี้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นยื่นมือมาช่วยเหลือชาวมินามาตะและจัดการให้บริษัทชิสโสะจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวเมืองในที่สุด
ส่วนโทโมโกะ อูเอมูระ เสียชีวิตในปี 1977 ขณะอายุได้ 21 ปี

P 5

พื้นที่สาธารณะและความเป็นส่วนตัว

Michelle Seidel ทนายจากสำนักงานทนายความ Crease Harman LLP ที่เมืองวิกตอเรีย แคนาดา มีคำอธิบายที่เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างยิ่งว่า โดยทั่วไปแล้วคุณจะถ่ายรูปใครก็ได้ที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ในสวนสาธารณะ ชายหาดหรือจัตุรัสกลางเมือง เพราะบุคคลนั้นเลือกจะพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะเอง จึงไม่มีเหตุผลที่คาดหวังหาความเป็นส่วนตัว ดังนั้น เมื่อคุณถ่ายรูปในม็อบ ในการแข่งขันวิ่งมาราธอนหรือในคอนเสิร์ตแล้วถ่ายรูปติดใครก็ตามก็ได้

คนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะเองนั้น ต่อให้ถูกถ่ายรูปตอนจูบกับคนรักบนชายหาดแล้วรูปนั้นตีพิมพ์ในสื่อ หรือแม้แต่คนสองคนในรูปนอกใจคนรัก แล้วนำไปสู่การหย่าร้าง ก็เอาเรื่องใครไม่ได้ เพราะคุณอยู่ในที่สาธารณะ

แต่ก็มีข้อยกเว้นบ้างเหมือนกัน ในพื้นที่สาธารณะบางส่วนที่คุณคาดหวังให้มีความเป็นส่วนตัวได้ เช่น ในห้องอาบน้ำสาธารณะ ในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สระว่ายน้ำหรือในห้องลองเสื้อในร้านค้า เป็นต้น

แต่ถ้าคุณอยู่ในที่พักส่วนตัว คนอื่นจะถ่ายรูปไม่ได้ ต่อให้ยืนถ่ายรูปบนทางเท้าหรือถนนสาธารณะก็ตาม
ส่วนเจ้าของพื้นที่สาธารณะอย่างร้านค้าหรือโรงหนังมีสิทธิ์จะให้ใครถ่ายรูปได้หรือไม่ได้ ถ้าคุณถ่ายรูปโดยไม่ได้ถามก่อน เจ้าของไล่ออกนอกพื้นที่ได้เลย ไม่ผิด

P 4

เพื่อนที่เป็นนักเดินทางและทำรายการท่องเที่ยวเล่าว่า 50 ประเทศที่เดินทางไปล้วนมี ‘มารยาท’ ของคนในที่คนนอกต้องเคารพ ต่อให้ไม่มีกฎหมายบังคับก็ตาม

P 2

อย่างชาวเมืองบันดาร์ อับบาส เมืองริมอ่าวเปอร์เซียในประเทศอิหร่าน ขอร้องผู้มาเยือนด้วยซ้ำให้ถ่ายรูปพวกเขา เพื่อนบอกว่าอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ค่อยได้พบคนนอก เพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวกล้าเสี่ยงไปเที่ยวอิหร่าน ขณะที่เมื่อเดินทางไปเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์หรือทิเบต ถ่ายอะไรก็ได้ บ้าน ต้นไม้ แม่น้ำ หมา แมว คน ฯลฯ แต่ถ้าถ่ายติดคนที่เป็นทหาร ทหารจะเข้าประกบบอกให้ลบรูปบัดเดี๋ยวนั้น หรือเมื่ออยู่ในโตเกียว ถ่ายติดรูปร้าน บางทีเจ้าของร้านยังขอให้ลบ

ย้อนกลับไปดูกรณีของวิลเลียม ยูจีน สมิธที่เล่าไปก่อนหน้า เขาใช้เวลาถึง 3 ปีกว่ารอจนชาวเมืองมินามาตะมองเห็นว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน กว่าที่นายและนางอูเอมูระจะรู้ซึ้งถึงเจตนารมณ์ของผู้มาเยือนและเอ่ยปากอนุญาตให้วิลเลียมมาถ่ายรูปโทโมโกะ ลูกสาวที่ป่วยเป็นโรคมินามาตะได้ในช่วงเวลาที่เป็นส่วนตัวอย่างยิ่งยวดอย่างขณะอาบน้ำอยู่

P 3

ในปี 2016 Maxine Holloway ตัวแทนเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ให้บริการทางเพศในเบย์ แอเรีย ในซานฟรานซิสโก ก่อตั้งแคมเปญ Ask First โดยกลุ่มของเธอเริ่มขับเคลื่อนใน Folsom Street Fair เทศกาลของกลุ่มคนรักหนัง (Leather) และ BDSM (คนที่มีรสนิยมมีเซ็กส์แบบถูกมัดรัดรึงซาโดมาโซ​คิสม์แบบในหนัง 50 Shades of Grey) ในซานฟรานซิสโกที่มีผู้เข้าร่วมงานเรือนแสน แม็กซีนก็แจกสติกเกอร์สีเหลืองที่มีข้อความว่า ‘Ask First’ แจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงานซึ่งมาในชุดหนังน้อยชิ้นติดบนตัว เพื่อเตือนให้นักท่องเที่ยวขอความยินยอมก่อนยกล้องถ่ายรูป

เจตนารมณ์ของ Ask First ก็คือ ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ให้ถามก่อน แล้วค่อยถ่ายรูปทีหลัง

แม้ว่ากฎหมายอาจจะเปิดกว้างหรือให้สิทธิ์กับการกดชัตเตอร์ในพื้นที่สาธารณะก็ตาม แต่เจตนารมณ์ของ Ask First ก็ยังยืนหยัดว่า ‘ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม ให้ถามก่อน แล้วค่อยถ่ายรูปทีหลัง’ เพื่อสร้างวัฒนธรรมการขออนุญาตก่อนแล้วค่อยถ่ายภาพ ด้วยการรณรงค์ให้ผู้คนหันมาติดสติกเกอร์ Ask First เป็นสื่อแทนความรู้สึกของผู้ที่อาจถูกละเมิดสิทธิ์ในการถูกแอบถ่าย ถึงแม้เจ้าตัวอาจจะเซย์เยส (อนุญาต) ให้ถ่ายได้

เครดิตภาพ
ภาพถ่าย “Tomoko Uemura in her Bath “ W. Eugene Smith / https://www.artic.edu/

ที่มา
https://www.askfirstcampaign.org/photography
https://legalbeagle.com/8581945-illegal-pictures-people-permission.html
http://digitaljournalist.org/issue0007/hughes.htm
https://leica-academy.gr/en/

Tags: