About
RESOUND

บ้านขจี

ณัฏฐา อินทร์สิงห์….ขอเปลี่ยนภาพจำช่างสัก ด้วยงานอาสาและสตูดิโอกลางดอย

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ กรินทร์ มงคลพันธ์ Date 06-07-2021 | View 3678
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนไปทำความรู้จักกับช่างสักรุ่นใหม่ กับแนวคิดที่อยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ของอาชีพช่างสัก ทั้งบรรยากาศของร้าน ลายสักที่มีความเป็นศิลปะ และมิตรภาพระหว่างช่างสักกับลูกค้า
  • สตูดิโอบ้านขจี เป็นร้านสักบนภูเขา ไกลจากความเป็นเมือง เงียบสงบ และให้บรรยากาศเหมือนมา “สัก” ที่บ้านเพื่อน
  • ธุรกิจสัก เป็นธุรกิจแรกๆ ที่ถูกแบนในช่วงโควิด-19 และเป็นธุรกิจท้ายๆ ที่จะกลับมาเมื่อสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ที่สำคัญ ธุรกิจสักอาจจะเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องสร้างความไว้ใจให้กับลูกค้าด้วยเช่นกัน

“เราไม่อยากให้ภาพของช่างสักเป็นเพียงคนใส่ชุดสีดำ มีรอยสักเต็มตัว ลูกค้ามาถึงร้าน เข้าไปสัก เจ็บตัวแล้วก็กลับบ้านไป…เราอยากนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ให้กับอาชีพนี้” เนท-ณัฎฐา อินทร์สิงห์ เล่าถึงความมุ่งมั่นด้วยแววตาเปล่งประกาย และถ้าไม่บอก เราก็ไม่คิดว่าชายหนุ่มที่จบบริหารด้วยเกียรตินิยมจาก มช. จะเลือกเป็นช่างสักอาชีพเพียงเพราะ “ชอบวาดรูป” มาเปิดสตูดิโอบนภูเขาเพราะ “ชอบธรรมชาติ” และ “อยากทำงานอาสา”

แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับเขา ขอแนะนำให้ลบภาพจำของช่างสัก ที่มักจะมีรอยสักเต็มตัว เป็นหนุ่มฮิปปี้ผมยาวมาดเซอร์ ชอบขี่บิ๊กไบค์คันใหญ่ไปไหนกันเป็นแก๊ง เพราะหนุ่มวัย 30 คนนี้มีคาแรกเตอร์ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

เริ่มต้น…ชีวิต

“ผมไม่ได้โตมากับสังคมช่างสัก เพื่อนช่างสักก็ไม่มี คนรอบตัวแทบไม่มีใครที่มีรอยสัก ส่วนตัวผมมีรอยสักแค่ลายเดียวคือตอนมาเป็นช่างสักแล้ว ผมแค่ชอบวาดรูป ชอบงานศิลปะ และไม่ได้คลั่งไคล้ว่าต้องมีลายสักนี้อยู่กับตัว” เนทเกริ่นเล่า เขาโตมาในครอบครัวคนจีน ที่ไม่มีความเชื่อว่าทำงานศิลปะแล้วจะอยู่ได้ แต่โชคดีที่ครอบครัวสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่อยากทำ

“บ้านผมทำธุรกิจเคมีภัณฑ์ ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับการเกษตร ผมเป็นคนนครสวรรค์ แต่ไม่ชอบกรุงเทพฯ เลยเลือกเรียนบริหาร มช. เพราะคิดว่าน่าจะเรียนได้ ตอนนั้นก็มีความฝันอยากทำงานในบริษัท แต่พอไปทำจริง กลับไม่ชอบ ทั้งการทำงานในออฟฟิศและชีวิตที่กรุงเทพฯ”

เนทจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นไปเรียนต่อหลักสูตร Diploma ด้านบริหารจากประเทศแคนาดา  เมื่อกลับมาเมืองไทย งานแรกของเขาคือ  Recruiter ในบริษัทอีคอมเมิร์ซที่กรุงเทพฯ ก่อนถูกส่งตัวไปช่วยงานที่ประเทศเวียดนาม และที่นั่นเอง ทำให้เขาค้นพบจุดเปลี่ยนของชีวิต

งานสักบ้านขจี

“จริงๆ รู้ตัวว่าชอบศิลปะนะ แต่มันยังไม่ถึงจุดที่ว่า ชีวิตต้องไปทางนั้น จนมาเจอจุดพลิกผันตอนไปอยู่เวียดนาม งานที่นั่นหนักมาก ทำงานแทบจะ 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ พอกลับมาเมืองไทย ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ทำงานแบบวันต่อวัน ตอนนั้นรู้สึกว่าทำงานหนัก ก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเรา เริ่มเห็นเป้าหมายในชีวิตว่าไม่ได้อยากจะเป็น HR Manager หรือผู้จัดการ และไม่ได้อยากทำงานออฟฟิศ เลยตัดสินใจลาออก แล้วไปเรียน “สัก” เพราะอยากใช้ความคิดสร้างสรรค์กับทักษะการวาดรูป ให้เกิดเป็นงานขึ้นมาสักงาน”

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

ลายสัก-ลายเซ็น

เนททำงานเป็นช่างสักให้กับร้านสักในตัวเมืองเชียงใหม่อยู่พักใหญ่ ทุกอย่างกำลังไปได้ดี และเหมือนจะลงตัว แต่เจ้าตัวรู้ดีว่ายังไม่ใช่ เขาชอบงานสักก็จริง แต่ก็อยากออกแบบลายสักที่เป็นลายเซ็นของตัวเองมากกว่า ที่สำคัญ เขาไม่ชอบชีวิตวุ่นวายในเมือง จนกระทั่งวันนั้นก็มาถึง…วันที่ตัดสินใจจะเข้าป่า

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

“บังเอิญมีลูกค้ามาสักที่ร้าน เขาทำงานอาสากับมูลนิธิไฉไล แล้วเอารูปโรงแรมไฉไลให้ดู (มูลนิธิกับโรงแรมใช้ชื่อเดียวกัน เจ้าของก่อตั้งโรงแรมขึ้นมาก่อน เพื่อนำรายได้เป็นทุนทำมูลนิธิ) ผมว่าเจ๋งดี เลยขึ้นมาเที่ยว รู้สึกว่ายังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ และมีนักท่องเที่ยวขึ้นมาบ้าง ไม่ได้เงียบเหงาซะทีเดียว จนมาเจอที่ว่างบนนี้ เลยย้ายขึ้นมาอยู่เลย”

สตูดิโอบ้านขจี จึงเกิดขึ้นบนดอยเมื่อสองปีก่อน ลูกค้าเกือบทั้งหมดเป็นชาวต่างชาติ ที่อาศัยอยู่ในเมือง และต้องการเสพความแปลกใหม่ โดยเฉพาะลายสักที่เป็นคาแรคเตอร์ของช่างเนท “ลายสักของผมจะเป็นรูปสัตว์และธรรมชาติ เป็นลายเส้นสีดำ มีสเปซเยอะๆ ใส่ความเป็น abstract เงาๆ ควันๆ วิ้งๆ เข้าไป ซึ่งมันก็ดูเข้ากันดีกับรูปสัตว์และธรรมชาติ

งานสักบ้านขจี

“จริงๆ ลายสักมีหลายอย่าง และมีลายหลักๆ ในตลาด คนไทยอาจจะชอบมินิมอล แต่ลายที่ผมออกแบบจะไม่ได้ตามตลาด เราอยากนำเสนอลายสักที่ต่างออกไปมากกว่า คนมักเข้าใจว่าช่างสัก ต้องสักได้ทุกงาน แต่ช่างสักก็เหมือนกับคนวาดรูป เราไม่ได้วาดรูปได้ทุกรูป

“อย่างผมตอนเด็กๆ ไม่ชอบวาดรูปเหมือน แต่ชอบวาดรูปที่ออกมาจากจินตนาการ แล้วก็ชอบที่จะเพิ่มการเคลื่อนไหวลงไปในภาพนั้น ผมมักจินตนาการในหัวให้ภาพวาดนั้นขยับได้ และไม่ชอบวาดรูปซ้ำๆ ครั้งนี้วาดแบบนี้ ครั้งหน้าก็อยากวาดอย่างอื่น” เนทยื่นลายสักที่เขาออกแบบให้ดู เป็นลายเส้นที่มีความละเอียด บางเบา แต่ก็ดูมีมิติ และพลิ้วไหว คล้ายๆ กับภาพวาดบนผืนผ้าใบที่นำมาจารึกบนผิวกาย

งานสักบ้านขจี

งานสักบ้านขจี

งานสักบ้านขจี

ที่นี่คือบ้านเพื่อน

จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาขับรถราวหนึ่งชั่วโมงในการมาถึง “สตูดิโอบ้านขจี” ชื่อที่มาจากความเขียวขจีของต้นไม้ใหญ่และธรรมชาติรายรอบ สตูดิโอสองชั้นแห่งนี้ใช้เป็นทั้งออฟฟิศและบ้านพักอาศัย ที่นี่ไม่เหมือนร้านสักทั่วไป แต่เหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อนมากกว่า

สตูดิโอบ้านขจี

“ผมเป็นคนชอบคุยกับลูกค้า มันทำให้เรารู้ว่าไม่มีลูกค้าที่แค่อยากมาสักแล้วก็กลับบ้านไป เขาอยากจะมาสัก เพราะมีช่างที่เชื่อใจได้ ที่เขาจะยอมให้สัก ซึ่งในตลาดบ้านเรา ยังไม่มีคนที่ไปถึงจุดนั้น ถ้าพูดถึงช่างสัก คือคุณเข้าไปสัก ไปเจ็บตัวแล้วก็กลับบ้าน แต่ผมอยากทำให้เขารู้สึกว่าเจอคนรู้จัก ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจได้ ก็เลยขึ้นมาสัก

“ตอนขึ้นมาเปิดสตูดิโอที่นี่ ไม่มีใครรู้จักเราเลย แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีลูกค้าหรือเปล่า ผมเริ่มจากการทำเว็บไซต์ เน้นเรื่องราวที่เราอยากนำเสนอ ถ้าใครชอบ ก็ให้บอกต่อๆ กัน ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นมาร์เก็ตติ้งระยะยาวที่ได้ผลมากกว่า” ทว่า ความตั้งใจขับรถขึ้นมาสักบนภูเขานั้น อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทยนัก

“กลุ่มคนไทยที่อยู่ในเชียงใหม่ค่อนข้างจับยาก เขาไม่ได้อยากเสพของที่แปลกมาก ถ้าจะให้เราเจาะกลุ่มตลาดแมสก็คงยาก เลยคิดว่าฝรั่งน่าจะชอบลายสักของเรามากกว่า และคิดว่าไลฟ์สไตล์ของเขาน่าจะชอบขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบนเขา

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

“ตอนแรกคิดว่าลูกค้าของเราจะเป็นกลุ่มฮิปปี้ที่ชอบธรรมชาติ แต่เกือบทั้งหมดเป็นคนที่มีนิสัยคล้ายเรา รักสันโดษ พูดน้อย ไม่ชอบความเป็นเมือง ไม่ติดโซเชียล  ไม่ได้คลั่งไคล้กับการมีรอยสักเยอะๆ และส่วนใหญ่เป็นคนที่มีรอยสักเป็นครั้งแรก” เขาเล่ายิ้มๆ

“ปกติผมไม่ค่อยชอบคุยกับคนแปลกหน้า แต่กับลูกค้าที่มาส่วนใหญ่แล้วคุยกันถูกคอ มีคู่หนึ่งเป็นแฟนกัน ผู้ชายต้องสักลายใหญ่ ผมเลยให้ทั้งคู่ค้างที่บ้าน ตอนเย็นเขาออกไปซื้อของมาทำอาหารเลี้ยง ตอนเช้าก็บดกาแฟชงเลี้ยงอีก ทุกวันนี้ทั้งคู่กลับประเทศไปแล้ว แต่ก็ติดต่อกันอยู่”

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

งานสักคือศิลปะบนความเชื่อใจ

สำหรับใครที่อยากมาสักกับช่างเนท ต้องจองคิวล่วงหน้าเท่านั้น เพราะใน 1 วัน เขาอาจรับลูกค้าได้เพียงคนเดียว เพื่อใช้เวลากับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ “เรื่องใหญ่สุดของการเตรียมตัวมาสักที่นี่ คือ เรื่องเวลา ลูกค้าควรเคลียร์คิวให้ว่างไว้ในวันที่จะมาสัก ส่วนการเตรียมตัวทั่วไป ควรพักผ่อนให้เต็มที่ เพราะการโดนสักนานๆ อาจทำให้เพลีย และควรรองท้องมาก่อน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สุดท้ายคืออย่าไปกังวลกับมันมากนัก” ช่างเนทแนะนำ

“ส่วนคนที่กลัวเลือด ถ้าคิดว่าไหวก็สักได้นะ แต่จริงๆ แล้ว แนวสักของที่นี่แทบจะไม่มีเลือดออกเลย แต่ถ้าคิดว่าจะเป็นลมชัวร์ ควรรอโอกาสหน้าเมื่อพร้อมจะดีกว่า เคสส่วนใหญ่ที่บอกว่ากลัวคือกลัวเจ็บ ถ้าถามว่าเจ็บมั้ย ก็ต้องบอกว่าเจ็บแน่นอน (หัวเราะ) อาจจะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ของลายสัก เช่น ลายเส้นใหญ่เจ็บกว่าเส้นเล็ก ลงสีแน่นๆ เจ็บกว่าแรเงา และส่วนกลางลำตัวหรือพื้นที่ใกล้กระดูก เจ็บกว่าบริเวณที่มีเนื้อเยอะ”

ช่างเนทเสริมด้วยว่า ผิวที่ชุ่มชื่นมักจะทำให้สักง่ายกว่า แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทาโลชั่นมาก่อน เพราะช่างต้องเช็ดแอลกอฮอล์ทำความสะอาดผิวหนังก่อนสักอยู่ดี จากนั้น จึงจะวาดแบบลงบนผิวหนังลูกค้าหรือที่เรียกว่า Freehand แต่สำหรับช่างที่ไม่ถนัด จะใช้วิธีแปะแบบลงบนผิวหนังแทน แล้วจึงสักตามแบบนั้นๆ

สตูดิโอบ้านขจี

การสักที่บ้านขจีจะเป็นการสักด้วยสีดำ ใช้น้ำหมึก Vegan Ink ซึ่งไม่มีส่วนผสมของสัตว์ และใช้หัวเข็มแบบตลับตามความถนัดของช่าง “ผมชอบใช้เข็มแบบตลับ เพราะงานของผมต้องใช้เข็มหลายขนาด ซึ่งเข็มแบบตลับทำให้เรามีเครื่องสักแค่ตัวเดียว แล้วเปลี่ยนหัวเข็มแบบตลับไปมาได้ ต่างกับเข็มแบบก้าน คือ เข็มก้าน 1 ขนาด เมื่อประกอบเข้ากับเครื่องแล้ว ถอดออกลำบาก ช่างสักที่ชอบใช้เข็มก้าน จึงต้องมีเครื่องสักหลายเครื่องใน 1 งาน”

เนทออกตัวว่า เขาเป็นคนทำงานละเอียด จึงใช้เวลาสักค่อนข้างนาน เช่น หากเป็นลายขนาด 1 ฝ่ามือ ใช้เวลา 3 ชั่วโมงขึ้นไป หากเป็นลายที่เล็กกว่าก็จะใช้เวลาน้อยกว่า ส่วนเรทราคา ลายสักเล็กๆ ประมาณครึ่งฝ่ามือ จะอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท หากเป็นลายขนาดเท่าฝ่ามือ ราคาตั้งแต่ 5,000-7,000 บาท

“ตอนสักในเมือง เคยมีลูกค้าเป็นลม แต่ไม่ใช่เพราะเจ็บนะ เขาตื่นเต้นมากกว่า เพราะฉะนั้น ใครมาสักที่บ้านขจี ผมจะบอกให้นอนบนเตียงไปเลย ไม่ว่าจะเป็นลายเล็กหรือลายใหญ่ เราพยายามจะทำให้ลูกค้าผ่อนคลายมากที่สุด”

สัปดาห์แรกหลังการสักไม่ควรล้างบริเวณที่สักด้วยสบู่ทุกชนิด ควรล้างด้วยน้ำเปล่าอย่างอ่อนโยน และเช็ดเบาๆ หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ งดออกกำลังกายที่ต้องยืดเหยียดผิวหนังบริเวณที่สัก รวมทั้งกีฬาว่ายน้ำ พยายามอย่าแกะ เกาหรือสะกิดแผลที่สัก จนกว่าสะเก็ดจะหลุดออกเองตามธรรมชาติ ซึ่งปกติใช้เวลา 2-3 วัน ในระหว่างนั้น ควรทาครีมบางๆ บริเวณที่สัก 2-4 ครั้งต่อวัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วแผลจากรอยสักจะแห้งดีประมาณ 7-14 วัน

“การมีรอยสักก็เหมือนกับเรามีแผล เราจะดูแลรักษาแผลยังไง สุดท้ายแผลมันก็จะหายไป ไม่ได้ช้ำเลือดช้ำหนอง แต่บางคนหายแบบมีแผลเป็น ในขณะที่บางคนไม่มีแผลเป็นเลย รอยสักก็เหมือนกัน ถ้าคุณดูแลดี มันจะหายไปเอง แต่ถ้าไม่สนใจ แผลก็อาจจะออกมาไม่ดี”

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

ธุรกิจสักอาจจะเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ต้องสร้างความไว้ใจให้กับลูกค้า เพื่อให้กลับมาใช้บริการซ้ำ แต่สิ่งที่ต่างคือ จะมีลูกค้าที่มีรอยสักบนตัว กลับมาสักเพิ่มใหม่อีกสักกี่คนกัน “ตรงกันข้ามเลยครับ คนที่ลองได้มีรอยสักแล้ว แทบจะทุกคนต้องกลับมาสักอีก อาจจะกลับไปหาช่างเดิมหรือเปลี่ยนที่ ลูกค้าของบ้านขจีเกินครึ่ง มีลายสักของเราสองลายขึ้นไป ส่วนที่เพิ่งจะมีลายเดียว แต่ก็บอกว่าจะกลับมาใหม่ก็เยอะ

“ผมว่ามันก็เหมือนกับหลายๆ ธุรกิจที่อาศัยความประทับใจและเชื่อใจ ลูกค้าที่สักกับเราเสร็จ ก็ไม่ได้แปลว่าจบ เรายังมีการติดต่อถามไถ่กันเสมอ มีนัดเจอกันในเมืองบ้าง ส่งการ์ด ส่งผลไม้ให้บ้าง ที่ดีใจสุดคือ ไม่ใช่แค่ลูกค้าเก่ากลับมา แต่ลูกค้าใหม่ส่วนใหญ่ก็มาจากคำแนะนำของลูกค้าเก่า”

“มีคนนึงขี่รถมาจากในเมือง แค่เอาของมาแจกให้เด็กๆ ให้ปุ๊บขี่รถกลับเลย หรือเวลาที่เราอยากได้อาสา ลูกค้าหลายๆ คนก็จะกลับมาช่วยครับ ล่าสุดมาช่วยสอนมวยและสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆ” เนทเล่าถึงความประทับใจ

ช่างสัก…และงานอาสา

บ้านบนดอย อาจจะดูเงียบเหงาสำหรับใครบางคน แต่คงไม่ใช่สำหรับชายหนุ่มคนนี้แน่ๆ เพราะนอกเหนือจากงานสักที่เป็นอาชีพหลัก เขายังชอบปลูกต้นไม้ เล่นกับสุนัขและแมวที่เก็บมาเลี้ยง รวมไปถึงชอบทำงานอาสา โลกอีกใบที่มีความหมายต่อชีวิต และยังทำให้เขาได้พบกับโกโล่ กำลังใจคนสำคัญ ปัจจุบันทั้งคู่ยังเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิไฉไล โดยมักใช้เวลาว่างไปสอนหนังสือ และทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

งานอาสาบนดอย

งานอาสาบนดอย

“หมู่บ้านปกาเกอะญอที่นี่ เป็นหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาแล้ว พ่อแม่เด็กๆ เป็นคนรุ่นใหม่ เด็กๆ พูดภาษาไทย และไปโรงเรียนกันหมด ความตั้งใจของผม อยากให้ความรู้กับเด็กๆ เช่น เขามีสกิลอะไรบ้าง แล้วจะเอาไปใช้ในโลกความเป็นจริงยังไงได้บ้าง เพราะเด็กๆ บนดอย เขาไม่ได้คาดหวังว่าอยากจะเป็นหมอ เป็นพยาบาล หรือเป็นครู เขาคิดว่าเดี๋ยวก็คงทำนา ทำไร่ เลยไม่ได้อยากจะรู้เรื่องอื่น ถ้าวันนี้ผมไม่ได้เป็นช่างสัก ผมก็อยากจะเป็นครูสอนเด็ก ที่วางแผนหลักสูตรเอง ไม่เน้นวิชาการ แต่อยากพัฒนาความสามารถของเด็กๆ ในสิ่งที่เขาถนัด

งานอาสาบนดอย

งานอาสาบนดอย

งานอาสาบนดอย

“เด็กๆ ที่นี่ชอบวาดรูป ผมมองเห็นเขา เหมือนเห็นตัวเองตอนเด็กๆ จึงคิดว่าถ้าในอนาคต ร้านสักของเรามั่นคงขึ้น อยากจะเพิ่มอาชีพช่างสักเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเด็กๆ และถ้าจะมีช่างสักเพิ่มขึ้นมา ก็อยากจะได้คนที่มีหัวใจคล้ายๆ กันมาอยู่ด้วยกัน”

บ้านขจี

มองตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า

“ผมคิดว่าช่างสักไม่ใช่เป็นอาชีพที่อยู่ยงคงกระพันเพราะมันใช้ร่างกายเยอะ ต้องก้ม ใช้สายตา ส่วนใหญ่พออายุ 40 ก็น่าจะทำอะไรอย่างอื่นที่ใช้ร่างกายน้อยลง ผมก็คิดเหมือนกันว่าเราน่าจะสักได้เยอะสุดไม่น่าเกิน 40 ถ้าเกินกว่านั้น อาจต้องลดปริมาณลงหรืออาจจะไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

ณัฏฐา อินทร์สิงห์

“สำหรับบ้านขจีเอง เราไม่ได้อยากเปิดเพิ่ม แต่อยากขยายกลุ่มลูกค้าคนไทย ที่นอกเหนือไปจากคนที่อยู่เชียงใหม่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นยังไงต่อไป และธุรกิจสักเป็นเหมือนสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องเจ็บตัว ต้องเจอเลือด อาจเป็นธุรกิจแรกๆ ที่หายไปเพราะโดนแบน และเป็นธุรกิจท้ายๆ ที่จะกลับมาอีกครั้ง แต่ในช่วง 10 ปีนี้ จะพยายามทำให้คนรู้จักเราในฐานะช่างสักมากที่สุด” เนททิ้งท้ายด้วยความหวัง

ส่วนเราได้แต่เอาใจช่วยให้เป้าหมายของเขาไปไกลจนสุดทาง บนเส้นทางชีวิตที่เดินตามฝัน และได้ “เจอ-สัก-ที”

สตูดิโอบ้านขจี Baan Khagee Tattto Chiang Mai
165 ม.6 ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
โทร. 081-043-9228
เปิดทุกวัน 10.00-18.00 น.
www.tattoochiangmai.com/
www.facebook.com/baankhagee.tattoo/

ภาพประกอบกิจกรรมอาสา และภาพงานสักจาก Baan Khagee Tattoo Chiang Mai

Tags: