About
DETOUR X France

เทรลทัวร์ทิวเขา

Ultra Trail du Mont Blanc เทรล – ทัวร์ – ทิวเขา…สักครั้งในชีวิตของสายวิ่ง

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 22-08-2021 | View 13736
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ไปทำความรู้จักกับงานวิ่งเทรลระดับโลกที่เป็นความฝันของสายวิ่งไกล Ultra Trail du Mont Blanc หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า UTMB
  • เส้นทางวิ่งในรายการนี้ น่าจะติดอันดับเส้นทางวิ่งที่สวยที่สุดของโลก เพราะเป็นการเสียเหงื่อที่แลกมาด้วยวิวทิวทัศน์สุดอลังการของเทือกเขามงบล็อง
  • หนึ่งในนักวิ่งจากไทยที่เข้าร่วมรายการนี้ คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เขาฟอร์มทีมกับสว่างจิต แซ่โง้ว และ สุภัทร บุญเจือ ผู้พิชิต Thailand by UTMB ทั้ง Zero และ First edition ในนามทีม True South Thailand

พูดถึงอีเวนต์ใหญ่ในฝรั่งเศส ใครต่อใครอาจนึกถึงงานปารีสแฟชั่นวีค ไม่ก็เทศกาลหนังเมืองคานส์ หรือศึกจักรยานทางไกลตูร์เดอฟรองซ์ และแน่นอน...โอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสได้เป็นเจ้าภาพ แต่ดินแดนน้ำหอมแห่งนี้ยังมีอีกอีเวนต์ใหญ่ที่หลายคนโดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในวงการวิ่งอาจยังไม่รู้จัก นั่นคือ Ultra Trail du Mont Blanc หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า UTMB

ปลายเดือนสิงหาคมของทุกปี นักวิ่งเทรลระดับหัวกะทิจากทั่วโลกนับหมื่นคนจะเดินทางมาที่ Chamonix Mont-Blanc เมืองตากอากาศในฝรั่งเศสที่มีชายแดนติดกับประเทศอิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเข้าร่วมผจญภัยในเส้นทางสุดท้าทายผ่าน 3 ประเทศ

เป็นสนามในฝันของเหล่านักวิ่งอัลตร้ามาราธอน ที่ต้องวิ่งกันแบบข้ามวันข้ามคืนกว่า 170 กม.บนความสูง 10,000 เมตร!

R 1

งานนี้ ถ้าพูดกันจริงๆ แล้วก็เหมือนมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของเหล่านักกีฬา ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายของนักเตะ หรือศึกซูเปอร์โบว์ลของอเมริกันฟุตบอล ซึ่งหลังจากต้องยกเลิกการแข่งขันไปเมื่อปีที่แล้วเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปีนี้ความตื่นเต้นกำลังจะกลับมาเริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 23-29 สิงหาคมนี้
และที่สำคัญ…ครั้งนี้มีนักวิ่งไทยเข้าร่วมผจญภัยด้วยกัน 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ…

R 11

เดินทางสู่ Chamonix

Chamonix (อ่านว่า ชาโมนี) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่โด่งดังสำหรับคนที่อยากท่องธรรมชาติที่ใกล้ชิดกับเทือกเขามงบล็อง ในฤดูร้อน เมืองนี้คือเมืองตากอากาศ พอถึงฤดูหนาวก็จะกลายเป็นเมืองแห่งการเล่นสกี มากไปกว่านั้น Chamonix คือเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเมืองแรกในการจัดโอลิมปิกฤดูหนาวเมื่อปี 1925

คนที่มาเมือง Chamonix ส่วนใหญ่อยากมาเห็นยอดมงบล็องเป็นขวัญตากันทั้งนั้น เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่จุดไหนของเมือง ก็มองเห็นมงบล็องตระหง่านอยู่ใกล้ๆ ตลอดเวลาจนรู้สึกว่าการได้ถูกกอดโดยทิวเขาสีขาวโพลนนั้นเหมือนกำลังยืนอยู่ในฉากดินแดนแห่งฝัน

และอีกฝันหนึ่งของคนที่เดินทางมาเยือนเมืองนี้ ก็คือการได้ร่วมงาน Ultra Trail du Mont Blanc การวิ่งเทรลที่สำคัญที่สุดในโลกซึ่งจะมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดในเมืองนี้ด้วยเช่นกัน…

R 3

ปฐมบท UTMB

เป็นเวลา 18 ปีแล้วที่ มิเชล โปเลตติ เปลี่ยนแรงบันดาลใจจากประสบการณ์การเป็นนักสกีครอสคันทรีและนักวิ่งบนภูเขาในวัยทีนสู่การเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง UTMB ร่วมกับภรรยา แคทเทอรีน โปเลตติ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความชอบในกีฬาเอ็กซ์ตรีมระยะทางไกลบวกกับความงดงามของวิวทิวทัศน์ของยอดเขามงบล็องที่จุดประกายความคิดอยากให้มีกิจกรรมเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ทุกครั้งเมื่อขับรถกลับบ้าน

“คุณมักจะพบกับวิวเดิมๆ ของภูเขา ดังนั้นภรรยาของผม แคทเทอรีน และผม จึงเริ่มคิดกันว่าคงจะวิเศษมากหากได้เห็นวิวนี้อยู่ในการแข่งขัน” เขาอธิบายถึงจุดเริ่มต้น

ปรากฏว่าจากนั้นมีงานวิ่งบนถนนรายการหนึ่งที่ใช้เส้นทางท้องถิ่นบางส่วน แต่ส่วนใหญ่ยังใช้เส้นทางถนน ต่อมามีรายการวิ่งผลัด 7 คน Tour du Mont Blanc Relay ที่จัดโดยสโมสรในท้องถิ่น ซึ่งมีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันประมาณ 300 คนจาก ฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ แต่แล้วก็ต้องพับเก็บไป เพราะเกิดเหตุไฟไหม้อุโมงค์ Mont Blanc ที่เชื่อมระหว่างเมือง Chamonix ของฝรั่งเศสกับเมือง Courmayeur ประเทศอิตาลี ต้องหยุดไป 3 ปีเมื่อกลับมาเปิดใหม่ก็ไม่ได้รับความสนใจเหมือนเดิมทำให้ต้องยกเลิกไปในปี 2002

R 2

เป็นโอกาสให้ โปเลตติและภรรยาของเขา ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะจัดอีเวนต์บนภูเขา Mont Blanc หลังจากโดน เรเน่ บาเชลาร์ ประธานชมรมวิ่งเทรล CMBM คะยั้นคะยอให้จัดแข่งวิ่งเทรลระหว่างเจอกันในช่วงเดือนกันยายนปีเดียวกันที่ Place du Triangle de l’amitie ซึ่งต่อมาเป็นจุดปล่อยตัวอันโด่งดังของ UTMB และเป็นสามแยกสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศส อิตาลีและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมี ฌอง-โคลด มาร์มิเยร์ เป็นอีกหนึ่งคนที่มีส่วนสำคัญในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง

ในฐานะนักปีนเขาที่ยอดเยี่ยม มาร์มิเยร์ ไม่เพียงสร้างเส้นทางการแข่งขัน แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ต่างๆ โดยเฉพาะการหาพันธมิตร การจดลิขสิทธิ์แบรนด์ รวมไปถึงการแนะนำว่าควรทำอะไร ซึ่งตอนนั้นพวกเขายังไม่รู้อะไรมากเกี่ยวกับการวิ่งเทรล แต่ในทีมเชื่อว่าการจัดแข่งขันอัลตร้ารันนิ่งรอบภูเขามงบล็องจะประสบความสำเร็จแน่นอน โดยปัจจุบัน Marmier ได้จากโลกนี้ไปแล้วเมื่อปี 2014 ขณะทำเส้นทางการแข่งขันประเภท PTL อยู่บนภูเขา ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว

R 7

สัปดาห์แห่งความท้าทาย

แม้ผู้คนในเมืองจะคิดว่าพวกเขาบ้าไปแล้วแต่ในช่วงแรก แต่การเปิดตัวครั้งแรกในปี 2003 ตามเส้นทาง Tour du Mont Blanc กลับได้รับความสนใจเกินคาด เมื่อพวกเขาตั้งเป้าไว้เพียง 300 คนและหากมีคนสมัครถึง 500 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้ว แต่ปรากฏว่า มีนักวิ่งเข้าร่วมแข่งขันกว่า 700 คนจากหลายสิบประเทศ

“มันวิเศษมาก!” Poletti เผยความรู้สึกในการให้สัมภาษณ์กับ www.trailrunnermag.com แต่ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้มีผู้จบการแข่งขันเพียง 10% เท่านั้น

R 8

ถึงอย่างนั้นจากระยะทาง 153 กม. ในปีแรกก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอีกเป็น 155 กม. และเปลี่ยนแปลงแทบทุกครั้งจนปัจจุบันระยะ UTMB อยู่ที่ 170 กม. ความสูงสะสมประมาณ 10,000 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่มีนักวิ่งมากที่สุด และด้วยความต้องการเข้าร่วมแข่งขันเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 3 ปีแรกทำให้มีการเพิ่มระยะเป็นครั้งแรกในปี 2006 ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ รวมตอนนี้มีทั้งหมด 7 ระยะ ได้แก่

-UTMB: ระยะทาง 171 กม. ความสูงประมาณ 10,000 เมตร จำกัดเวลาที่ 46.30 ชม.
-CCC: ระยะทาง 101 กม. ความสูงประมาณ 6,100 เมตร จำกัดเวลาที่ 26.30 ชม.
-TDS: ระยะทาง 145 กม. ความสูงประมาณ 9,100 เมตร จำกัดเวลาที่ 44 ชม.
-OCC: ระยะทาง 56 กม. ความสูงประมาณ 3,500 จำกัดเวลาที่ 14:30 ชม.
-PTL: เป็นการแข่งขันประเภททีม (3 คน) ระยะทางประมาณ 300K รวมความสูง 25,000 เมตร
-MCC : การแข่งขันสำหรับอาสาสมัครหรือคนในชุมชน ระยะทาง 40 กิโลเมตร ความสูง 2,300 เมตร จำกัดเวลาที่ 10 ชม.
-YCC : การแข่งขันวิ่งระยะสั้น สำหรับรุ่นอายุ 16-22 ปี ระยะทาง 5-15 กิโลเมตร

“ความฝันของพวกเราคือมีงานตลอดสัปดาห์ ไม่ใช่แค่ 4 วัน เพราะเรานึกถึงการแข่งขันสกีครอสคันทรีในสวีเดนมาตลอด นั่นเป็นอีเวนต์ที่เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ถึงวันอาทิตย์ เราต้องการบรรลุวัตถุประสงค์นั้น” โปเลตติ เผยถึงเหตุผลของการเพิ่มระยะ

ขณะที่แคทเทอรีน เสริมว่าการแข่งขันทุกระยะมีเป้าหมายเฉพาะ ในช่วงแรกๆ พวกเขามีนักวิ่งออกสตาร์ตจำนวนมากแต่ต้องมาหยุดที่ Courmayeur เพราะมันไกลเกินไปสำหรับคนเหล่านั้น และคิดว่ามันแย่มากที่ไม่อาจจบการแข่งขันได้ จึงเกิดไอเดียเพิ่มระยะ CCC ขึ้นมาเพื่อให้การแข่งขันเข้าถึงได้มากขึ้นเล็กน้อย โดยครั้งล่าสุด ระยะ UTMB มีผู้จบการแข่งขันประมาณ 61%

R 5

อย่างไรก็ตาม นักวิ่งที่สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันรายการนี้ได้จะต้องมีคะแนนสะสมตามเกณฑ์ที่กำหนดใน 4 ระยะ (UTMP,CCC, TDS, OCC) เช่น ในระยะ UTMB จะต้องมีแต้ม iTRA 10 คะแนนจาก 2 รายการภายใน 2 ปีล่าสุด และยังต้องวัดดวงอีกครั้งจากการจับสลากเนื่องจากมีผู้สมัครเกินโควตา โดยปีนี้มีการเงื่อนไขเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขภาพเพิ่มเข้ามา โดยนักวิ่งจะต้องแสดงเอกสาร Health Pass อย่างใดอย่างหนึ่งจากใบรับรองการฉีดวัคซีนครบโดส ผลตรวจโควิด-19 เป็นลบแบบ PCR หรือแอนติเจน เทสต์ ไม่เกิน 48 ชม. หรือใบรับรองการหายจากโควิด-19

R 6

สปิริตสำคัญเหนือสิ่งใด

นอกจากความหลากหลายของระยะการแข่งขันและความต่อเนื่องของการแข่งขันตลอดสัปดาห์แล้ว เส้นทางการวิ่งเทรลบนเทือกเขาแอลป์ ผ่าน 3 ประเทศที่มีทั้งทิวทัศน์สวยงาม ความโหดของเส้นทางหน้าผา สันเขา โขดหิน หรือต้องวิ่งท่ามกลางความมืด ล้วนเป็นมนต์เสน่ห์ที่ทำให้นักวิ่งพันธ์อึดอยากมาวัดความแกร่งของตัวเองสักครั้งในชีวิต และนั่นคือเหตุผลของความสำเร็จในมุมมองของโปเลตติ ในวัย 66

“ผมชอบคิดว่างานที่เราทำคือส่วนหนึ่งของเหตุผลความสำเร็จของเรา เช่น เรามีการสื่อสารที่ดี แต่แน่นอน ถ้าไม่มี Mont Blanc มันก็คงไม่สำเร็จ”

การเดินทางที่แสนท้าทาย ณ ใจกลางเทือกเขานี้จะเปิดโอกาสให้นักวิ่งเทรลผ่านหุบเขาทั้ง 7 ธารน้ำแข็งกว่า 71 แห่ง และยอดเขาอีกมากมายบนเทืองเขาแอลป์ที่ตกแต่งด้วยธรรมชาติที่ไม่เหมือนใคร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องดึงจุดแข็งและผลักดันขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจอย่างเต็มที่ในการวิ่งไปโดยรอบเขามงบล็องเพื่อไปถึงยังเส้นชัย

ที่สำคัญเงินรางวัลไม่ใช่ปัจจัยหลักของงานนี้ เมื่อผู้ชนะของรายการวิ่งเทรลอันดับท็อปของโลกไม่มีโบนัสเงินรางวัลติดไม้ติดมือกลับบ้านแต่อย่างใด กระทั่งปี 2018 ผู้จัดเพิ่งตัดสินใจมอบเงินรางวัลให้นักกีฬาเป็นครั้งแรกใน 4 ระยะการแข่งขัน (UTMB, TDS, CCC, OCC) แต่ก็ยังถือเป็นมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเทียบรายการใหญ่อื่นๆ เช่น อันดับ 1-3 ของ UTMB จะได้รับโบนัส 2000, 1500 และ 1000 ยูโรตามลำดับ

R 4

“หากชุมชนต้องการให้กีฬามีความเป็นมืออาชีพและนักวิ่งที่ดีที่สุดคว้าเงินรางวัลหลายล้านดอลลาร์ นั่นไม่ใช่ความต้องการของผม ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าคอมมูนิตีของนักวิ่งเทรลต้องการให้กีฬานี้ยังคงเป็นอยู่อย่างนี้ ผมเชื่อว่าว่าหากเรามีเงินรางวัลมากมายในวิ่งเทรล เราจะไม่มีนักกีฬาเดิมๆ ผมไม่แน่ใจว่านักวิ่งอย่าง จิม วอล์มสลีย์ หรือ ทิม โทลเลฟสัน จะอยู่ในกีฬาชนิดนี้ ผมอยากให้พวกเขามีชีวิตที่มีความสุข อยากให้พวกเขาได้รับเงินมากพอที่จะมีชีวิตที่ดี แต่ก็ยังอยากรักษาสปิริตที่ดีนี้ไว้กับกีฬาวิ่งเทรล”

จากท้องถิ่นสู่วิ่งเทรลนานาชาติ

จากจุดเริ่มต้นของชมรมในท้องถิ่น UTMB ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของจำนวนนักวิ่งและมาตรฐานการจัดการแข่งขัน ทำให้มีคนเข้ามาขอความช่วยเหลือมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็ไม่มีเวลามากพอจะทำทุกอย่างได้แม้ใจต้องการจะตอบตกลงแค่ไหน เพราะเกรงว่าหากให้คำแนะนำไปแล้วไม่ได้ปฏิบัติตามทำให้งานนั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่วางไว้คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังและเสียภาพลักษณ์ของ UTMB

จึงเป็นที่มาของการตัดสินใจสร้างแบรนด์ UTMB International เพื่อเป้าหมายในการขยายการแข่งขันไปทั่วทุกทวีปของโลก โดยพวกเขาคิดว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการแข่งขันวิ่งเทรล by UTMB ในเอเชียเป็น 10 รายการได้สบาย ซึ่งตอนนี้หนึ่งในนั้นคือไทย ขณะที่ UTMB ของจีนคือรายการที่ได้รับการชื่นชมจากรายการแม่และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

“เราต้องการให้ UTMB อยู่ในจุดสูงสุดของของพีระมิด เราอยากให้เป็นเหมือนกับ Summit of Trail Running แต่หากเราอยู่เพียงลำพังบนยอดสุดเหมือนราชาแห่งขุนเขา ย่อมมีคนต้องการล้มเราอยู่เสมอ นั่นเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเราต้องเสริมรากฐานให้แข็งแรง ด้วยการสร้างการแข่งขันสนามต่างๆ ที่มีคุณภาพสูงเหมือนกับ UTMB” แคทเทอรีน ในฐานะประธาน UTMB Group กล่าว

R 10

นักกีฬาไทยใน UTMB

ในบรรดานักวิ่งกว่า 10,000 คนจาก 92 ประเทศในปีนี้ เพจ “Thailand by UTMB” รายงานว่ามีนักกีฬาไทยเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 10 คน หนึ่งในนั้นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีความชื่นชอบในกีฬาวิ่งเทรลและกีฬาเอ็กซ์ตรีมต่างๆ มานานแล้ว โดยเขาลงแข่งในระยะ PTL เป็นประเภททีมร่วมกับ สว่างจิต แซ่โง้ว และ สุภัทร บุญเจือ ผู้พิชิต Thailand by UTMB ทั้ง Zero และ First edition ในนามทีม True South Thailand

ทั้งนี้การแข่งขันระยะนี้นอกจากเต็มไปด้วยความโหดหินของเส้นทางที่จะไม่มีเครื่องหมายบอกทางใดๆ ด้วย นักวิ่งจำเป็นต้องใช้ sense ในการนำทาง และในแต่ละปีเส้นทางจะแตกต่างกันไปซึ่งเลือกมาแล้วว่าเส้นทางนี้ต้องโชว์ความอุดมความสมบูรณ์และความหลากหลายของทัศนียภาพในฝรั่งเศส อิตาลี และสวิตเซอร์แลนด์ในภูเขามงบล็อง โดยผู้ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันจะคัดจากประสบการณ์ของผู้สมัครในแต่ละทีม

ขณะที่ระยะยอดฮิตอย่าง UTMB มีตัวแทนนักกีฬาไทยเข้าร่วมผจญภัยด้วยกัน 3 คน นำโดย “ซูเปอร์เจ” จันทรบูรณ์ เกรียงชัยไพรพนา นักวิ่งชายไทยที่มีค่าคะแนน Performance Index สูงที่สุดในประเทศ พร้อมด้วย พิชชานันท์ มหาโชค แชมป์ประเภทหญิงรายการ Thailand by UTMB และสุรฤกษ์ แพรสี ผู้พิชิต Thailand by UTMB 2020 ระยะอินทนนท์ 6 และยังเคยลงแข่ง UTMB 2019 มาแล้ว โดยจะปล่อยตัววันที่ 27 ส.ค.

สำหรับอีก 4 คนที่เหลือจะลงแข่งระยะ OCC 2 คน คือ รุ่งทิพย์ เชี่ยวอร่าม ผู้พิชิต Thailand by UTMB ระยะ Inthanon 4 พร้อมคว้าโล่รางวัลหญิงอันดับ 5 และ วรรณนิศา คงทอง แชมป์หญิงอันดับ 5 Thailand by UTMB ระยะ Inthanon 3 แชมป์หญิงอันดับ 2 ระยะ Inthanon 4 และระยะ CCC คือ ภาวิณี จิระชัยพิทักษ์ เป็นนักวิ่งไทยที่อยู่ประเทศไอร์แลนด์ ส่วนธนินทร์ เฉลิมชูศักดิ์สกุล ซึ่งอยู่ที่ฝรั่งเศส ลงแข่งระยะ MCC

ขอบคุณภาพ : เพจ Ultra Trail du Mont Blanc – UTMB


อ้างอิง
https://www.trailrunnermag.com/people/qas-people
https://www.trailrunnermag.com/people/qas-people
https://www.trailrunningmag.co.uk/articles/news/the-history-of-the-ultra-trail-du-mont-blanc
https://utmbmontblanc.com
https://www.chamonix.net/english/summer-activities/trail-running/ultra-trail-du-mont-blanc

Tags: