About
RESOUND

ผู้หญิง ตึกเก่า เดอะ มัสแตงบลู

อนันดา ฉลาดเจริญ กับเบื้องหลังโรงแรมเก๋ เดอะ มัสแตง บลู

เรื่อง สุทธิมา เสืองาม ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน Date 01-06-2020 | View 4507
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • สำเร็จการศึกษาด้านศิลปะมาจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เคยเป็น Art Director ให้แบรนด์เกรย์ฮาวด์ถึง 7 ปี ก่อนออกมาเนรมิตประสบการณ์บนพื้นที่ว่างเปล่าให้ตรึงผู้ชมไว้กับเก้าอี้ ในมิติที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า “แฟชั่นโชว์” ด้วยตำแหน่ง Show Director
  • เธอสร้าง The Mustang Nero พระโขนง และ The Mustang Blu ถนนไมตรีจิต ด้วยการรวมศาสตร์และศิลป์ ตลอดจนของสะสมทั้งหมดของตัวเอง ให้เป็นเฉกเช่นโอเอซิสแห่งกาลเวลา ที่หยุดนักเดินทางไว้กับความรื่นรมย์จากรายละเอียดในทุกอณูของที่พักแห่งนี้
  • เธอใช้หัวใจปัดฝุ่นตึกหลังเก่าสุดคลาสสิกย่านหัวลำโพงต่อไปถึงต้นเยาวราช ให้กลายเป็น The Mustang Blu โดยหวังใจให้คนหันมาเห็นคุณค่าของสถาปัตยกรรมโบราณที่เปี่ยมด้วยเรื่องราวแห่งอดีต และปรารถนาให้เป็นย่านแห่งความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม

คุณจอย อนันดา  ฉลาดเจริญ หญิงสาวร่างเล็ก มาดเซอร์ หัวใจแกร่งเกินร้อย เธอคือ Show Director ที่เนรมิตความว้าวให้กับแฟชั่นโชว์ในอีเวนต์สำคัญๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ต่อมาเธอขยับขยายพื้นที่แสดงผลงานมาสู่การสร้างแบรนด์โรงแรมสุดเก๋ที่นำตึกเก่ามาแต่งตัวใหม่ โดยใส่จิตวิญญาณและถ่ายทอดตัวตนของเธอผ่านแรงบันดาลใจ ภายใต้ชื่อ The MUSTANG ที่อวดโฉมให้ทุกคนได้เห็น

ที่มาของชื่อ The Mustang

The Mustang ได้ยินชื่อชวนให้นึกถึงรถยนต์สปอร์ตสไตล์คลาสสิก เปรี้ยวเท่แบบไร้กาลเวลา ทว่า ทำไมถึงกลายมาเป็นชื่อโรงแรมได้ คุณจอยเล่าว่า เป็นความชอบส่วนตัวของเธอที่ชื่นชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับม้า คำว่า “Mustang” แปลว่า “ม้าป่า” จึงนำมาตั้งเป็นชื่อโรงแรมที่สะท้อนตัวตนและรสนิยมของเธอเอง

“The Mustang Nero เกิดจากการรีโนเวทตึกเก่าในย่านพระโขนง อาคารส่วนใหญ่แถวนั้นทาสีชมพู สีเหลือง จอยเลยเลือกทาสีดำ ให้ดูแปลกตากว่าอาคารอื่น การที่เราทำงานศิลปะเลยรู้ว่าแฟ้มสีดำทำให้ดูเรียบร้อยขึ้น เลยนำจุดคิดนี้มาใช้กับการทาสีอาคาร ซึ่งสีดำก็ตรงกับคำว่า Nero ทีนี้พอมาทำอีกแห่งที่ถนนไมตรีจิต เลยใช้ชื่อว่า The Mustang Blu เดิมสะกดด้วยคำว่า Blues หมายถึงเพลงบลูส์ แต่อีกความหมายคือความเศร้า เลยเปลี่ยนเฉพาะตัวสะกดให้เป็น BLU หมายถึงสีฟ้า นี่คือที่มาของชื่อ The Mustang Nero และ The Mustang Blu”

ช่วงที่บูรณะอาคารหลังนี้ จอยย้ายมาเช่าเกสต์เฮาส์ใกล้ๆ ข้ามถนนไปก็ถึง 8 โมงเช้าก็เดินเข้าไซต์งานพร้อมช่าง เลิกงานเวลาเดียวกับช่าง เป็นอย่างนี้ทุกวัน

หนึ่งในร้อยของตึกเก่าที่พบพาน

หลังจากที่ The Mustang Nero เปิดตัวได้ไม่นาน เสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าชาวต่างชาติ ทำให้คุณจอยเริ่มคิดถึงการขยับขยาย คำถามที่มักมาทาง inbox เสมอๆ อย่างเช่น “เราจองไม่ได้ มีที่เดียวเหรอ” (ห้องพักมีเพียง 10 ห้อง) “ดีมากเลย มีที่แบบนี้ในเมืองไทยด้วย” ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้คุณจอยมองหาสถานที่แห่งใหม่ แต่กว่าจะหาพบอาคารที่ถูกใจไม่ใช่เรื่องง่าย หลายครั้งที่ไม่ลงตัว เจอกับอุปสรรคต่างๆ เช่น ข้อสัญญาไม่ได้ กฎหมายไม่ผ่าน ผู้ร่วมรับมรดกไม่อนุญาตให้เช่า ฯลฯ

จนกระทั่งคุณจอยมาพบกับอาคารที่เคยเป็นสถานอาบอบนวดคลีโอพัตราที่ปิดตัวไปและปล่อยทิ้งร้างอยู่หัวถนนไมตรีจิต เดินจากหัวลำโพงเพียง 5 นาทีก็ถึง เธอเล่าถึงความรู้สึกแรกที่ได้เห็นอาคารว่ารู้สึกสงสารจับใจ ราวกับว่าอาคารหลังนั้นมีชีวิต เป็นคุณปู่ที่ลูกหลานทอดทิ้ง ปล่อยให้ทรุดโทรม กลางคืนมีคนจรอาศัยนอนอยู่ด้านหน้า บดบังความงดงามของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่คาดว่าน่าจะก่อสร้างในช่วงเดียวกันกับสถานีรถไฟหัวลำโพงคือในสมัยรัชกาลที่ 5

งาน 2 ปีเสร็จลงได้ใน 6 เดือน

คุณจอยทราบเพียงว่า อาคารหลังนี้แรกเริ่มเปิดเป็นธนาคารมาก่อน คาดว่าผู้ออกแบบน่าจะเป็นมารีโอ ตามัญโญ คนเดียวกันกับที่ออกแบบสถานีรถไฟหัวลำโพง แม้เธอเคยบูรณะอาคารเก่าที่ย่านพระโขนงมาก่อน แต่ก็ไม่เก่าเท่าอาคารหลังนี้ซึ่งมีอายุเกิน 100 ปี ความรู้และประสบการณ์ประดามีถูกงัดมาใช้จนหมดสิ้น เดิมทีผู้รับเหมาประเมินว่าต้องใช้เวลาถึง 2 ปีกว่าจะบูรณะปรับปรุงเสร็จสิ้น แต่คุณจอยบอกกับตัวเองว่าเธอจะทำให้สำเร็จภายใน 6 เดือน!!

“จอยเลิกรับงาน Show Director ทั้งหมด เรียกว่า 6 เดือนนั้นขาดรายได้ไปเลย ไม่ใช่ว่ามีทุนรอนอะไรมากมาย แต่เป็นคนที่ทำอะไรแล้วทุ่มเกินร้อย ช่วงที่บูรณะอาคารหลังนี้ จอยย้ายมาเช่าเกสต์เฮาส์ใกล้ๆ ข้ามถนนไปก็ถึง 8 โมงเช้าก็เดินเข้าไซต์งานพร้อมช่าง เลิกงานเวลาเดียวกับช่าง เป็นอย่างนี้ทุกวัน”

ทำงานแบบ Show Director

“การทำแฟชั่นโชว์ต้องแข่งกับเวลา ในฐานะ Show Director ต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดก่อน เพราะเราก็ไม่ได้ทำแต่เสื้อผ้าให้นางแบบ จอยทำสไตลิ่ง ต้องดูฉาก ดูเวที ดูพร็อพส์ ดูแสง ดูเพลง ดูองค์ประกอบทั้งหมด แล้วกำกับให้แต่ละส่วนงานทำหน้าที่ไป จนโชว์เริ่มและจบพร้อมกัน ทุกคนก็ฟินาเล…เหมือนกับที่นี่ เรามีช่างเหล็ก ช่างปูน ช่างปูกระเบื้อง ช่างประปา ช่างไฟ ก็แยกกันไป งานฉาบ งานเพนต์เป็นอีกงานหนึ่งที่เราทำตลอด 6 เดือน เพราะเมื่อเราฉาบเสร็จแล้วก็เพนต์ทับเพื่อให้ภายในอาคารดูเก่า ระหว่างนั้นจอยก็สั่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ไปด้วย เราทำงานเหมือนกำลังสร้างหุ่นยนต์ที่นำชิ้นส่วนที่สำเร็จแล้วมาประกอบร่าง ช่วงรื้อถอน 2 เดือนแรก กินเวลาเกือบครึ่งหนึ่งของการทำงาน ช่วง 3-4 เดือนหลังเป็นขั้นตอนปรับปรุงอาคาร และงานระบบซึ่งเป็นส่วนที่ยากที่สุด เพราะต้องทำใหม่ทั้งหมด”

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เธอลงมือทำด้วยความทะนุถนอม “จอยต้องอุ้มหน้าต่างทุกบาน ห่อกระดาษ เอาไปซ่อมที่คลอง 15 และที่อยุธยา อย่างหน้าต่างชั้นบน ก็เอาเหล็กมาใส่ ไม้ทุกชิ้นก็ไปเอามาจาก อ.บางบาล อย่างผ้าม่านก็ต้องเป็นกำมะหยี่จอยให้ความสำคัญหมด เฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้น ตั้งแต่ในห้องนอนจนถึงห้องโถง ถ้าไม่ใช่ของวินเทจ ก็ต้องออกแบบเอง เพราะหาไม่ได้จริงๆ ตู้ตรงล็อบบี้เป็นของใหม่ คือพยายามหาตู้เก่าแล้ว แต่ขนาดไม่ได้ ก็เลยต้องทำใหม่”

ความมหัศจรรย์เผยโฉมออกมา

ช่วงรื้อถอนอาคารเธอได้พบกับความงดงามที่ซ่อนอยู่อย่างคาดไม่ถึง “เสาทั้งหมดเป็นเสาเดิม ช่องว่างตรงกลางโถงที่ทะลุจากชั้นสาม สอง ลงมาชั้นหนึ่งก็เป็นของเดิมที่ถูกปิดอยู่ ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะมีช่องด้านในนี้ พอดีฝ้าแตกเลยทะลุฝ้าขึ้นไปดู แล้วก็เห็นว่ามีโดมข้างบน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีช่องทะลุลงมา ยังจับตำแหน่งและสัดส่วนของช่องภายในอาคารไม่ได้เพราะถูกปิดไว้ด้วยไม้อัดแล้วเทปูนทับเป็นชั้นๆ พอเปิดกระเบื้องขึ้นมา ยังทับด้วยเสื่อน้ำมัน จนในที่สุดเราได้เจอขอบวงกลมก็เลยรื้อออก พอชั้นสามเจอช่องที่ตรงกับโดมด้านบน เดาว่าชั้นสองและชั้นหนึ่งก็จะมีช่องแบบนี้เหมือนกัน จึงปรึกษากับช่าง เมื่อเปิดช่องทะลุถึงกันสามชั้นเลยได้โถงที่สวยงามเหมือนตึกในอิตาลี”

การแหงนมองช่องกลางโถงที่ทะลุจากชั้นล่างขึ้นไปยังชั้นสามในตำแหน่งที่ตรงกับโดมบนหลังคาทำให้รู้สึกตะลึง บันไดเก่าเหมือนในปราสาทก็มีที่มา “บันไดนี้มาตอนหลัง จอยบอกกับตัวเองว่าขอให้เคลียร์พื้นที่ออกไปได้สัก 80% แล้วจะบอกได้ว่าช่องตรงนี้จะวางอะไรดี ต้นไม้ หรืองานศิลปะ ท้ายสุดจอยเลือกบันได เหมือนเป็นศิลปะหรืองานประติมากรรม ที่แทนความหมายว่า “จะไปให้ถึงแม้จะมองไม่เห็นทาง” เหมือนตอนที่จอยทำ The Mustang Blu ทำไปทั้ง ๆ ที่มองไม่เห็นว่าจะได้ทำไหม จะได้ไปต่อไหม แต่ทั้งหมดที่เสร็จลงได้เพราะจอยใช้ใจล้วน ๆ”

อาคารเลือกเรา

“มีคนบอกว่า จอยไม่ได้เป็นคนเลือกอาคาร แต่อาคารเป็นฝ่ายเลือกจอย ตอนแรกไม่ได้เชื่อเรื่องนี้ แต่พอทำไปสักเดือน คิดว่ามันใช่ เพราะงานยากมาก ทั้งในเรื่องขั้นตอนการปรับปรุงและการขออนุมัติต่าง ๆ แล้วอีกอย่างที่บอกว่าอาคารเลือกเราเพราะถ้าได้คนมีเงิน ก็คงใช้เงินฟาดทุกอย่างแล้วอาจจะออกมาไม่สวย อาคารก็คงอยากได้คนที่ออกแบบได้ ใจต้องกล้า แล้วก็ต้องมีเงิน แต่เงินที่จอยมีไม่ได้มาก แค่เป็นเงินก้อนเดียวที่เราจะทำสิ่งของอีกชิ้นหนึ่งด้วยความรักและต้องประหยัดด้วย บางทีก็มีสถาปนิกมาสัมภาษณ์ว่า ‘ผมเป็นสถาปนิกคุมงานอีกไซต์หนึ่ง ทำมา 2 ปีแล้วยังไม่เสร็จเลย คุณทำได้อย่างไร’ จอยตอบไปว่า…มันต้องใช้ใจทำ บางทีผู้รับเหมายังเถียงเลยว่าคุณเคยทำแต่ฉากแฟชั่นโชว์ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้ แต่จอยบอกเลยว่ามันเป็นไปได้ เพราะฉากที่จอยเคยทำ จอยก็อยู่จริงได้”


The Mustang Blu เปิดตำนานบทใหม่ พลิกฟื้นสถาปัตยกรรมอายุกว่าร้อยปีให้กลับมามีชีวิต และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของย่านหัวลำโพงให้กลายเป็นความศิวิไลซ์ของเมืองบางกอกดังเช่นในอดีตที่เคยเป็นมา

Tags: