For The Better Life
ชวนไปดู Anandaloy ศูนย์ชุมชนเพื่อพัฒนาชีวิตชาวบังคลาเทศที่คว้ารางวัลด้านดีไซน์
นิยามของงานสถาปัตยกรรมที่ดีในยุคนี้ ไม่ได้เน้นแค่ความสวยงามและประโยชน์ใช้สอยอีกต่อไปแล้ว หากแต่ยังต้องมีส่วนพัฒนาชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้นด้วย Anandaloy ศูนย์ชุมชนในบังกลาเทศ ถือเป็นต้นแบบของงานก่อสร้างที่สะท้อนนิยามข้างต้นได้อย่างดีเยี่ยม และกลมกลืนกับท้องถิ่นได้แบบไร้รอยต่อ
- Anandaloy เป็นงานออกแบบศูนย์ชุมชนในบังกลาเทศ ที่คว้ารางวัลด้านสถาปัตยกรรม Obel Award ผลงานของสถาปนิกหญิง อันนา เฮริงเกอร์ (Anna Heringer)
- สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า อาจไม่ได้เน้นเพียงแค่ความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การช่วยพัฒนาชีวิตผู้คนให้ดีขึ้นกว่าเดิม
- งานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีและควรค่าแก่การได้รับรางวัล ต้องตอบโจทย์ท้องถิ่นและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
คุณค่าที่คู่ควร
Anandaloy มีความหมายว่า ‘สถานที่แห่งความสุขอย่างยิ่ง’ ภายในมีศูนย์บำบัดผู้ทุพพลภาพที่ตั้งอยู่บริเวณชั้น G ซึ่งจะช่วยคนเหล่านี้ที่ต้องเผชิญการตีตราจากความพิการ และนำไปสู่การปลีกตัวออกจากสังคม ให้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในชุมชนได้ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่อบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับสิ่งทอสำหรับผู้หญิงท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดการค้าอย่างเป็นธรรม ที่ตั้งอยู่ในชั้น 1 เพื่อเป็นการแนะแนวอาชีพให้กับพวกเธอแนวคิดการออกแบบดังกล่าวนี้ เป็นสิ่งที่สร้างความโดดเด่นให้กับ Anandaloy จนทำให้สามารถคว้ารางวัล Obel Award ประจำปีนี้ไปครอง โดยรางวัลดังกล่าวนี้เป็นรางวัลด้านสถาปัตยกรรมที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเพื่อนมนุษย์ และสร้างสรรค์สังคม ซึ่งผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 ยูโร และปีนี้เป็นการแจกรางวัลครั้งที่ 2
หัวใจเพื่อชุมชน
ชุมชนแห่งนี้ให้ความสำคัญกับงานฝีมือและมรดกในท้องถิ่น เห็นได้จากการใช้วัสดุในการก่อสร้างที่หาได้ในท้องถิ่น รวมถึงการใช้เทคนิคก่อสร้างและแรงงานในพื้นที่จุดเด่นของ Anandaloy อยู่ตรงการออกแบบที่ส่งผลดีต่อสภาพภูมิอากาศและมีความยั่งยืนในทุกมิติ ทำให้ชนะใจกรรมการในปีนี้ที่มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งคณะกรรมการตัดสินมองว่า
สถาปัตยกรรมของ Anandaloy ไม่ใช่แค่การตอบโจทย์เรื่องพื้นที่เท่านั้น แต่เป็นการตอบสนองอย่างชาญฉลาดต่อความท้าทายด้านความยั่งยืน สังคม และการออกแบบสถาปัตยกรรมไปพร้อมๆ กัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่คว้ารางวัล Obel Award ในปีนี้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของผู้คนท้องถิ่นโดยตรง และยังแสดงให้เห็นถึงการใช้องค์ความรู้ในท้องถิ่นได้อย่างชาญฉลาด ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการก่อตั้งรางวัลนี้อย่างดีเยี่ยม
สร้างแบบเข้าใจถิ่น
วัสดุเล็กๆ ที่พบเจอได้ในท้องถิ่นบังกลาเทศอย่างดินอัดและไม้ไผ่ กลายเป็นส่วนประกอบหลักของโครงการ Anandaloy ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น และเป็นรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม แถมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคอนกรีตเหมือนในยุคสมัยปัจจุบันมากนัก
อาคารหลัก 2 ชั้น ของ Anandaloy มีพื้นที่รวม 253 ตารางเมตร เมื่อมองจากภายนอกจะดูเหมือนเรือลำใหญ่ที่ลอยลำอยู่กลางป่าเขียวขจี โดยชั้นล่างก่อสร้างจากอิฐ ซีเมนต์ และทราย ส่วนหลังคาใช้สังกะสี ที่สำคัญ โครงการนี้ดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชน และจ้างแรงงานในท้องถิ่นเพียง 22 คน ใช้เวลาก่อสร้างราว 1 ปี และใช้เงินในการก่อสร้างราว 2.5 ล้านบาท รวมทั้งพึ่งพาพลังงานจากแสงอาทิตย์ จึงไม่ทำร้ายโลกมากนัก
สถาปนิกหญิงผู้อยู่เบื้องหลัง
ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Anandaloy ครั้งนี้คือ ‘อันนา เฮริงเกอร์’ สถาปนิกหญิงชาวเยอรมัน ผู้ก่อตั้ง Studio Anna Heringer ที่ได้แรงบันดาลใจในการใช้งานสถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น
‘เฮริงเกอร์’ ใช้ชีวิตบางส่วนอยู่ในบังกลาเทศ รวมทั้งโฟกัสการใช้วัสดุจากธรรมชาติ เธอค้นหาและใช้งานสถาปัตยกรรมในการสร้างความเข้มแข็งให้กับวัฒนธรรมของชุมชน ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้คน สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมความสมดุลของระบบนิเวศ
เธอสนใจการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพราะความยั่งยืนนั้นมีความหมายเทียบเท่ากับความงาม และ Anandaloy ก็เปรียบได้กับสิ่งก่อสร้างที่มีความกลมกล่อมในด้านออกแบบอย่างไร้ที่ติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง เทคนิค การใช้วัสดุ ทำเล สิ่งแวดล้อม ผู้ใช้งาน รวมทั้งบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ทั้งหมดนี้เป็นคำนิยามของความยั่งยืนและคุณค่าแห่งความงามในแบบฉบับของสถาปนิกหญิงผู้นี้
Cr. Photo : Kurt Hoerbst, Stefano Mori / Studio Anna Heringer
ที่มา
- https://www.wallpaper.com/architecture/obel-award-winner-2020-anandaloy-anna-heringer
- https://www.domusweb.it/en/architecture/gallery/2020/07/13/anna-heringer-completes-the-anandaloy-building-a-rammed-earth-and-bamboo-building-in-the-bangladesh-countryside.html
- https://www.designboom.com/architecture/anna-heringer-anandaloy-mud-bamboo-community-center-bangladesh-10-21-2020/
- https://www.thedailystar.net/city/news/hurray-anandaloy-1986653