About
CRAFTYARD X Phitsanulok

การกลับมาของเตาที่หายไป

‘บ้านเตาไห’ ชุมชนลับริมน้ำน่าน กับการกลับมาของเตาที่หายไป

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ในอดีตเมื่อ 600 ปีก่อน บ้านเตาไหเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก ปรากฏให้เห็นจากการขุดค้นพบเตาเผาและเครื่องปั้นดินโบราณจำนวนมาก
  • ภายหลังบ้านเตาไหมีการฟื้นภูมิปัญญาที่หายไป ด้วยการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห และรื้อฟื้นการทำเครื่องปั้นดินเผาอีกครั้ง
  • ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผา และเปิดเวิร์คช็อปให้ผู้สนใจมาลองปั้นและเรียนรู้ทุกกระบวนการด้วยตัวเอง

จะเรียกว่า มุมลับ ชุมชนลับ หรือเรื่องราวลับๆ ของเมืองสองแควก็ได้ ถ้าพูดถึง ‘บ้านเตาไห’ ชุมชนริมแม่น้ำน่านที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง จ.พิษณุโลก พื้นที่แห่งนี้มีการค้นพบเตาเผาโบราณและเครื่องปั้นดินเผาอายุ 600 ปี และเคยเป็นชุมชนผลิตเครื่องปั้นดินเผาส่งออกที่สำคัญของเมือง

แต่เมื่อเวลาผ่านไปบ้านเตาไหคงเหลือเพียงแค่ชื่อ ไม่มีเตา และไม่มีเครื่องปั้นดินเผา กระทั่งในปี 2558 ได้มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาฟื้นคืนชีวิตให้สิ่งที่สูญหายไป ภายใต้ชื่อกลุ่ม ‘วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห’ ทำให้ปัจจุบันชุมชนกลับมาเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภูมิปัญญาโบราณ

เตา 2

ตาปะขาวหายกับเตาที่หายไป

ไม่แน่ชัดว่าบ้านเตาไหไม่ปรากฏเตาและไหมาเป็นเวลานานเท่าใด จนถึงปี 2527 ได้มีการขุดค้นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห บริเวณด้านหลังวัดตาปะขาวหาย ต.หัวรอ อ.เมือง ได้ค้นพบเตาเผาทรงประทุนขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ และพบโบราณวัตถุประเภท ไห ครก ชาม เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินและเซรามิก ตกแต่งภาชนะโดยวิธีการกดประทับ ขูดขีด ปั้นติด และมีหูหลอกตกแต่งบริเวณไหล่ภาชนะ

เตา 4

ครั้งนั้นมีการนำเครื่องถ้วยที่ขุดค้นพบไปวิเคราะห์หาอายุสมัยของเตาเผา ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ 2 วิธี คือ วิธีคาร์บอน-14 กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. 1900-60 และวิธีการหาอายุจากสัญญาณสนามแม่เหล็กโลก (Palaeomagnetism) กำหนดอายุได้ราว พ.ศ. 1990 จึงสรุปได้ว่า เตาเผาแห่งนี้น่าจะมีอายุประมาณ 600 ปี หรือสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลายถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มากไปกว่านั้นยังพบเตาเผาอยู่ใต้พื้นดินบริเวณริมแม่น้ำน่านกว่า 100 เตา จึงเป็นหลักฐานที่ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชุมชนบ้านเตาไหเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่ของเมืองพิษณุโลก

เตา 6

การค้นพบเตาเผาอายุ 600 ปีที่วัดตาปะขาวหายเหมือนเป็นการเปิดโลกโบราณคดีในชุมชน โดยมีการสร้างอาคารถาวรและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ เพื่ออนุรักษ์ของโบราณอันมีค่าและหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน

แต่หลังจากนั้น เวลาก็ทำให้เตาเผาหายไปจากตาปะขาวหายอีกหน

เตา 1

วันที่บ้านเตาไห มีไหและเตา

เมื่อแหล่งโบราณคดีไม่มีชีวิต ไม่มีคนเล่า นานวันไปก็มีแต่คนลืมเลือน แหล่งเรียนรู้เตาเผาโบราณกลายเป็นแหล่งเรียนร้าง และการค้นพบครั้งสำคัญในวันวานก็ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอีกต่อไป

จนถึงประมาณปี 2558 บ้านเตาไหได้ถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามมีโครงการเข้าไปศึกษา ฟื้นฟู และผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไหขึ้นใหม่ พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชนแบบจริงจังด้วยการตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห’ มีการก่อสร้างสถานที่ผลิตและร้านค้าของกลุ่มตัวเอง อยู่ทางด้านหลังวัดตาปะขาวหาย ใกล้กับโบราณสถานเตาเผาโบราณ

เตา 8

สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มีประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุวัยเกษียณ มากสุดอายุ 90 ปี ซึ่งทุกคนไม่มีความรู้เรื่องเครื่องปั้นดินเผามาก่อน ต้องเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาเฟรชชี่ เรียนรู้ทุกขั้นตอนจากอาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเซรามิกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ตั้งแต่ขั้นตอนเตรียมดิน ปั้น เขียนลาย ขัดเก็บรายละเอียด เคลือบสี และกระบวนการเผา จนทุกคนสามารถทำเป็นทุกขั้นตอน ส่วนเรื่องเครื่องมือ อุปกรณ์ แม่พิมพ์ และเตาเผา ทางมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการให้พร้อมสรรพ และหลังจากถ่ายทอดความรู้จนลูกศิษย์ลงมือทำได้เองแล้ว ก็ยังคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ไม่ทิ้งไว้ระหว่างทาง

เตา 7

เตา 5

พร้อมกันนั้นยังสร้างความยั่งยืนให้กลุ่มด้วยการพานักศึกษามาเรียนรู้เรื่องเครื่องปั้นดินเผา บวกกับช่วยประชาสัมพันธ์จนมีคนทั่วไปสนใจมาเวิร์คช็อปทำเครื่องปั้นดินเผา และมีออเดอร์เข้ามาให้ทำจำหน่าย ไม่ว่าเป็นไหรูปทรงโบราณ จาน ชาม แก้วกาแฟ แจกัน กระถาง และเครื่องประดับ กลายเป็นรายได้ให้สมาชิก

เตา 11

และที่สำคัญที่สุดคือ ได้สร้างสังคมผู้สูงวัยที่ดีในชุมชน และสร้างความภูมิใจให้คุณปู่ย่าตายายในฐานะผู้พิทักษ์จิตวิญญาณของบ้านเตาไหไม่ให้หายไปจากตาปะขาวหายอีกต่อไป

และคราวนี้ บ้านเตาไหก็กลายเป็นบ้านที่มีเตาและไหแล้วจริงๆ

ร้านค้าและสถานที่เวิร์คช็อปของวิสาหกิจชุมชนเครื่องปั้นดินเผาบ้านเตาไห ตั้งอยู่ด้านหลังวัดตาปะขาวหาย ต.หัวรอ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

สนใจเรียนทำเครื่องปั้นดินเผา โทร. 08-5873-6655 (จำลอง ธูปเทียน ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ)

Note to know

‘อุ’ คือ ลวดลายบนเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่ถูกค้นพบในเตาเผา ทางกลุ่มได้นำลายนี้มาเป็นใช้เป็นโลโก้ของวิสาหกิจชุมชนฯ และยังสร้างเรื่องราวเชื่อมโยงไปยังหลักธรรมในพุทธศาสนา ‘อุ อา กะ สะ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ คาถาเศรษฐี ได้แก่
อุ มาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา
หมายถึง ขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีพ
อา มาจากคำว่า อารักขสัมปทา
หมายถึง การเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบธรรม
กะ มาจากคำว่า กัลยาณมิตตา
หมายถึง การคบหาสมาคมกับคนดี มีคุณธรรม มีน้ำใจ
สะ มาจากคำว่า สมชีวิตา
หมายถึง การใช้จ่ายอย่างประหยัดพอเพียง

Tags: