About
Leisure X Phang Nga

บ้านใบ

บ้านใบ ทีบาร์ ร้านชาน่ารักในตะกั่วป่าที่เบลนด์ชาตามความชอบและสุขภาพของคนดื่ม

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 05-07-2023 | View 10273
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ‘บ้านใบ’ คือร้านน้ำชาใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาของ เฟรม-รัตมา เกล้านพรัตน์ กับ บอส – ชัยพร เวชไพรัตน์ ที่หวังใช้ชาเบลนด์เปิดใจคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจการดื่มชามากขึ้น ชาเบลนด์ที่นี่เป็นสูตรเฉพาะตัวของแต่ละคน เบลนด์จากความชอบและสุขภาพของคนดื่ม ล่าสุดเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ CHUBAICHA cha by you มินิเวิร์กช็อปให้ลูกค้าเลือกวัตถุดิบเบลนด์ชาด้วยตัวเอง

“ชอบชาแบบไหน”...“มีปัญหาสุขภาพอะไรไหม”

หลังพูดคุยถามไถ่อาการกันเล็กน้อย เฟรม-รัตมา เกล้านพรัตน์ เจ้าของร้าน ขยับเข้าประจำการหลังเคาน์เตอร์บาร์และลงมือชงชาเบลนด์จากวัตถุดิบธรรมชาติ 7 ชนิด เสิร์ฟออกมาเป็นชาร้อนหอมกลิ่นอโรมาที่เบลนด์กันตรงหน้าจากความชอบ กรุ๊ปเลือด และปัญหาด้านสุขภาพที่เราได้บอกไป

เรากำลังพูดถึง ‘บ้านใบ’ คาเฟ่สไตล์โฮมมีสีเขียวใน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ของ เฟรม กับ บอส - ชัยพร เวชไพรัตน์ ที่มีบาร์ชาเสิร์ฟชาเบลนด์สูตรเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งกำลังได้รับความสนใจและสร้างมิติใหม่ให้กับวงการน้ำฟรีของเมืองใต้ เข้าถึงคนรุ่นใหม่ ลบภาพลักษณ์การดื่มชาที่เคยเป็นกิจกรรมของคนรุ่นอากงอาม่า

“เสน่ห์ของชาเบลนด์คือรสชาติที่เลือกได้ไม่จำเจ น้ำแรกเราได้กลิ่นแบบหนึ่ง น้ำสองมีกลิ่นอีกแบบหนึ่ง เป็นการกินรสธรรมชาติและความสมดุลของธรรมชาติที่จะแปรเปลี่ยนไปตามน้ำเรื่อยๆ เป็นโน้ตที่ขึ้นลงค่อนข้างชัดเจน”

เป็นการสร้างสรรค์รสชาติเพื่อค้นพบความตื่นเต้นและดีต่อสุขภาพในเวลาเดียวกัน…เฟรมไม่ได้กล่าว เรานี่แหละกล่าวเองหลังได้ท่องโลกของชาไปกับเธอ

บ้านใบ

บอส-ชัยพร เวชไพรัตน์ กับ เฟรม-รัตมา เกล้านพรัตน์ และลูกสาว

• บ้าน สวน อิ่ม สุข

ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน วิกฤตโควิด-19 ได้พลิกผันชีวิตทั้งคู่ให้บอกลาเมืองกรุง พาลูกสาวตัวน้อยกลับมาอยู่ตะกั่วป่า บ้านเกิดของฝ่ายหญิงเร็วกว่าที่คิดและเป็นจุดเริ่มต้นของบ้านใบ

บอสเล่าว่า ตอนนั้นตั้งใจจะเปิดเป็นร้านขายต้นไม้ เพราะมีประสบการณ์ทำบอนไซจิ๋วขายกันมาก่อนแล้ว แต่เมื่อมองถึงโอกาสทางธุรกิจท่ามกลางวิถีของคนที่นี่ ซึ่งแวดล้อมด้วยต้นไม้มากมายอยู่แล้ว อาจไม่เพียงพอสำหรับการอยู่รอด เลยเป็นที่มาของการปลุกความฝันของเฟรมมาต่อยอดเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มด้วย

บ้านใบ

“ความสนใจในชามันอยู่ในตัวเฟรมมานานมากแล้ว แต่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำ” บอส กล่าวถึงคนรักและนำมาสู่การศึกษาเรื่องชาอย่างจริงจัง “แต่ด้วยวิถีของภาคใต้ที่มีชาให้ดื่มฟรีอยู่ทั่วไปและยังมีภาพเป็นเครื่องดื่มของคนมีอายุ จึงค่อยเป็นค่อยไปด้วยการเริ่มจากเครื่องดื่มแนวครีเอทีฟดริงก์ที่มีทั้งชา กาแฟ และอาหาร”

บ้านใบ

บ้านใบ

จากร้านขายต้นไม้เล็กๆ จึงกลายมาเป็น ‘บ้านใบ’ ในคอนเซปต์ ‘บ้าน สวน อิ่ม สุข’ ที่พวกเขานิยามตัวเองเอาไว้ จากการเปรียบเป็นบ้านที่พร้อมแบ่งปันเรื่องราวดีๆ  มีต้นไม้ บอนไซจิ๋วให้เลือกชม พร้อมกับเมนูเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และอาหารโฮมเมดจากวัตถุดิบออร์แกนิก เพราะให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัย

บ้านใบ

บ้านใบ

ส่วนชื่อร้าน บ้านใบ มาจากชื่อของลูกสาว ‘ชูใบ’ และคำเรียกติดปากจากเพื่อนลูกเมื่อขับรถผ่านว่าบ้านใบ ขณะเดียวกันก็สื่อถึงสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบชา และสลัดผัก ที่ล้วนแล้วเป็นพืชตระกูลใบทั้งสิ้น

บ้านใบ

• ห้องทดลองปรุงชา

เฟรมบอกว่า เธอชอบดื่มชามาตั้งแต่ประถม เพราะเติบโตมาในครอบครัวคนจีน อยู่กับก๋งและย่าที่ดื่มชาเป็นกิจวัตร จนเหมือนเป็นวัฒนธรรมที่อยู่ในตัวมาตั้งแต่เด็ก กินมาก่อนกาแฟเสียอีก

“แต่ทำไมเมื่อเติบโตขึ้นกลับหลงลืมมันไป” เป็นคำถามในใจเช่นเดียวกับ ทำไมภาพการดื่มชาต้องเป็นกิจกรรมของคนมีอายุ ทั้งที่ผลงานวิจัยมากมายชี้ชัดว่า ชามีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการต้านอนุมูลอิสระ จึงอยากสร้างคอมมูนิตี้ชาให้คนหันมาสนใจชากันมากขึ้น

จากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีชาเทรดดิชันแนลประเภทต่างๆ อาทิ อู่หลง ชาดำ ชาเขียว มัทฉะ อยู่ในเมนู ค่อยๆ เพิ่มความหลากหลายและจริงจังมากขึ้น จนเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีโอกาสได้ชิมชาจีนตัวหนึ่งชื่อ ‘แลปซาง’ ชาดำตัวแรกของโลกก่อนจะเกิดเอิร์ลเกรย์จนทำให้เปลี่ยนใจจากชาเขียวที่เป็นชายอดนิยมในปัจจุบันไปเลย และเกิดเป็นแรงบันดาลใจให้หันมาทำชาจีนและชาเบลนด์ไปพร้อมกัน

ทว่าเบลนด์แรกของร้านไม่ได้เกิดจากคิดค้นด้วยโจทย์เพื่อกลิ่น รส หรือความหอมที่แตกต่าง แต่เริ่มด้วยการนั่งถามลูกค้าว่าอยากได้ชาแบบไหน

“มันเกิดจากเรายังไม่มีสูตรชาเบลนด์ของตัวเอง เลยพัฒนาร่วมไปกับลูกค้า ด้วยการเบลนด์จากองค์ประกอบของแต่ละคน เป็นชาเบลนด์ส่วนบุคคล” บอสเล่าบ้าง ก่อนเฟรมจะเสริมต่อ “เป้าหมายของเรา อยากให้คนได้ทำความรู้จักชาในอีกมิติหนึ่ง มีทั้งความหอมของดอกไม้ ความหวานในธรรมชาติ เพื่อคนหันมาสนใจและดื่มชากันเยอะๆ เพราะเมื่อเขาชอบเขาจะค่อยๆ เปิดใจไปกับชา”

บ้านใบ

• คาแรกเตอร์ฉบับเอเชีย

แต่การเบลนด์ชาใช่ว่าจะเอาใบชาผสมกับวัตถุดิบอันนั้นใส่อันนี้แล้วจบ เพราะเรื่องของสัดส่วนมีความสำคัญ มากไปรสชาติก็แน่นเกิน น้อยก็อ่อนไป และต้องอาศัยความละเมียดในการชง

“แค่พลาดไป 1 นาที รสชาติก็เปลี่ยน หรือ 10 วินาทีก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว มันเป็นศาสตร์ที่เล่นกับน้ำ น้ำอุณหภูมิสูงไป ต่ำไป การสกัดก็เปลี่ยน”

บ้านใบ

กระนั้นโจทย์ยากที่สุดของการเบลนด์ชาสำหรับเฟรมกลับไม่ใช่กรรมวิธีหรือคน แต่เป็นความชื้นจากสภาพอากาศของพังงาที่มีฝนตกเกือบทั้งปี

“จังหวัดที่เราอยู่ทำชายากมาก ไม่สามารถเบลนด์ชาได้ครั้งละเยอะๆ เพราะเสี่ยงจะขึ้นรา วันไหนฝนตกอากาศชื้นมากก็ไม่อยากเบลนด์ แม้แต่ตะไคร้ที่กลิ่นแรงมากยังเจอมอดมาแล้ว จนสวนหลายที่บอกว่าไม่กล้าขายของให้เฟรม เป็นจังหวัดที่น่ากลัวมาก”

บ้านใบ

สำหรับชาและวัตถุดิบทั้งหมดในร้าน คู่รักนักดื่มชาบอกว่า คัดสรรมาจากแหล่งผลิตอินทรีย์ในประเทศ รวมทั้งจีนและญี่ปุ่น

“ชาญี่ปุ่นจะค่อนข้างนิ่ง อูมามิ ชาเขียวก็คาแรกเตอร์คนญี่ปุ่น แต่ในหมวดของชาจีนจะมีความสนุกสนาน มีขึ้นลง รสชาติหลากหลาย ปรุงได้เยอะมากๆ ทั้งชาเขียว ชาแดง/ชาดำ ชาขาว” เฟรมบิดถึงเหตุผลที่คัดเฉพาะชาในเอเชีย “ส่วนตัวที่ชอบชาสมุนไพร เพราะเฟรมชอบกลิ่นแนวๆนี้ ชายุโรปกลิ่นจะมาแน่นกว่าซึ่งเฟรมชอบแนวสบายๆ”

บ้านใบ

• CHUBAICHA cha by you

ความพยายามของทั้งคู่เริ่มผลิดอกออกผล หลังรอบปีที่ผ่านมามีคนสนใจชาเพิ่มขึ้นมาก ได้เห็นประสบการณ์การดื่มชาเปลี่ยนภาพจากกิจกรรมคนมีอายุมาเป็นการดื่มเพื่อค้นหาและเพื่อสุขภาพ จนปีนี้มีการเปิดตัวแบรนด์ CHUBAICHA ว่าด้วยเรื่องของชาทั้งหมด

“ปีที่แล้วเรามีโอกาสได้จัดมินิเวิร์กช็อปร่วมกับร้านมรกตโฮมคุ้กกิ้ง ชื่อโปรเจ็กต์ อุดมสมดุล โดยไปจับมือกับหมอทิพย์ที่เป็นหมอจีนในการตรวจร่างกายของแต่ละคน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการชงชาและปรุงอาหารเพื่อปรับสมดุลของร่ายกาย และได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมดีมาก”

บ้านใบ

เป็นที่มาของการนำมาต่อยอดเป็น CHUBAICHA ที่มาพร้อมกับสโลแกน cha by you เพราะมีองค์ประกอบสำคัญมาจากลักษณะอาการเฉพาะของลูกค้าแต่ละคน โดยให้ความสำคัญเรื่องสรรพคุณของส่วนผสมและความชอบของลูกค้า เพื่อดีต่อสุขภาพด้วยรสชาติที่โดนใจ

บ้านใบ

ปัจจุบัน CHUBAICHA มีทั้งหมด 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ชาที่ในเมนูที่เป็นแบบเทรดดิชันแนล เช่น ชาอู่หลง ชาแดง/ชาดำ ชาเขียว ที่ไม่ได้ผ่านการเบลนด์ 2.ชาเบลนด์สูตรของร้านที่ทำไว้แล้ว เช่น ชาซอง ชาสกัดเย็น 3.ชาเบลนด์ตามลักษณะอาการเฉพาะของแต่ละคน เช่น อาการนอนไม่ค่อยหลับ หรือต้องการความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า และสุดท้าย cha by you ชาที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าเลือกวัตถุดิบเบลนด์ด้วยตัวเอง

บ้านใบ

“จริงๆ แล้วมีแค่ 3 รูปแบบ กับการทำเวิร์กช็อปชาอีกอย่าง แต่ด้วยราคาค่อนข้างสูง (หลัก 1,000 บาท) บอสเลยอยากให้มีคลาสเล็กๆ สำหรับลูกค้าที่แค่อยากมาสนุกและทำความรู้จักชา เลยจัดเป็นมินิเวิร์กช็อป ให้เลือกวัตถุดิบ 5 อย่างในการเบลนด์ด้วยตัวเอง ออกมาเป็นคาแรกเตอร์ชาของแต่ละคน” เฟรม เล่าถึงไอเดียเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าของบอส

ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังปรับโฉมบ้านใบใหม่ แยกโซนบาร์ชาเป็นมุมส่วนตัวโดยเฉพาะ

“สิ่งที่เราอยากขายไม่ใช่ชาที่เป็นขวดสำเร็จ แต่เราอยากชงให้เห็นว่า เราไม่ได้ใส่อะไรลงไปนอกเหนือจากที่คุณเลือกและเห็นอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุย แนะนำ แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน”

• Next Project…ชาแนะนำพังงา

ระหว่างคุยไปจิบชาสูตรเฉพาะตัวที่เกริ่นไว้ตอนต้นไปด้วย รู้ตัวอีกทีก็ไม่เหลือน้ำกาแรกแล้ว ก่อนที่เฟรมจะลงมือชงน้ำสองต่อ พร้อมอธิบายส่วนผสมประกอบด้วย ชาอู่หลงผสมโกโก้ คาโมมายด์ ลาเวนเดอร์ เพื่อให้กลิ่นของอโรมาช่วยเรื่องการผ่อนคลาย มีเก๊กฮวยช่วยแก้ปัญหาร้อนในง่าย และเป็นคนไม่ชอบหวาน เลยไม่ใส่หญ้าหวานเยอะมาก แต่ใช้ความหวานจากมะตูมเข้าไปแทน

“น้ำสองจะมีความนวลขึ้น โกโก้อาจจะชัดขึ้น มีลูกเล่นในรสชาติ แต่สองคนกินก็ไม่เหมือนกัน เพราะมันเป็นความรู้สึกที่มาจากความทรงจำในตอนนั้น”

เฟรมบอกด้วยว่า โกโก้เป็น 1 ใน 2 วัตถุดิบท้องถิ่น จากทั้งหมดกว่า 30 ชนิด นอกเหนือจากข้าวไร่ดอกข่า หลังพยายามจะใช้วัตถุดิบท้องถิ่นอีกหลายตัว แต่ติดเรื่องข้อจำกัดเรื่องสภาพอากาศและการเลือกแหล่งที่มาออร์แกนิกเท่านั้น แต่อนาคตอันใกล้นี้กำลังพยายามจะพัฒนาขมิ้น ซึ่งพังงาถือเป็นแหล่งปลูกคุณภาพดีอันดับต้นๆ ของไทย เพิ่มเข้ามาอีกตัวหนึ่ง

“เรามาอยู่แล้วก็อยากพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นไปด้วย จริงๆ ตอนนี้มีความคิดจะทำชาตัวหนึ่ง เป็นชาแนะนำพังงา อาจจะไม่ใช่การเบลนด์จากวัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นหลัก แต่บอกความเป็นพังงาอยู่ในนั้น”

บ้านใบ

บ้านใบ

• ต้นไม้ ศิลปะ และปรัชญาชีวิต

ใครที่หลงรักต้นไม้น่าจะมีความสุขกับที่นี่ เพราะนอกจากจะได้จิบชาท่ามกลางบรรยากาศอบอุ่น แต่งเติมด้วยไม้ใบที่สวยงามแล้ว ด้านหลังยังมีโซนต้นไม้ บอนไซจิ๋วหลากหลายชนิดที่สามารถเข้าไปชมและช็อปกันได้เต็มที่

บ้านใบ

มากกว่านั้นพื้นที่ชั้นบนของร้านยังจัดให้เป็นสเปซแห่งการเรียนรู้ มีกิจกรรมเวิร์กช็อป ทั้งเรื่องชาที่สอนตั้งแต่การชงชา แยกชา การเลือกวัตถุดิบ ไปจนถึงการเบลนด์ชาที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ งานคราฟต์ปั้นกระถาง ต้นไม้จิ๋ว ไปจนถึงกิจกรรมเด็กๆ อีกด้วย

บ้านใบ

“ไอเดียคืออยากให้วันเสาร์-อาทิตย์มีกิจกรรมให้ทำ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมครอบครัว ที่ชวนเด็กๆ มาเล่นด้วย ไม่เพียงแค่ช่วยเสริมพัฒนาการเด็กๆ แต่ยังเป็นผลพลอยได้ให้ลูกเราได้มีเพื่อนเล่น มีพัฒนาการร่วมกัน ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ นำไปต่อยอดเป็นงานอดิเรกหรือทำเป็นอาชีพได้” บอสบอกถึงความตั้งใจ

บ้านใบ

ก่อนจะปิดบทสนทนา เฟรมชงชามาให้ชิมอีก 2-3 ตัว หนึ่งในนั้นคือ ยามเย็น ชาเบลนด์สูตรของร้านที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความเป็นแม่ มีส่วนผสมที่ช่วยเรื่องผมร่วง พักผ่อนน้อยและ ความใจเย็น แต่แก้วที่ประทับใจคือ ชาแลปซางเย็น เสิร์ฟมาในแก้วบรั่นดีมีฟองท็อปบน ให้อารมณ์เหมือนดื่มค็อกเทลที่มีกลิ่นบรั่นดี

บ้านใบ

“ข้อดีอย่างหนึ่งของชาคือ ดื่มได้ตลอดเวลา สามารถลากยาวได้ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ แถมยังดีต่อสุขภาพ” ทั้งคู่พูดเป็นเสียงเดียวกัน ก่อนจะทิ้งท้าย “ชีวิตก็เหมือนกับชา ในแต่ละน้ำ (ที่ชง) มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เหมือนชีวิตคนเรา สุดท้ายแล้วก็จะไปบรรจบในแก้วที่เรารู้สึกพอแล้ว ช่วงแรกชีวิตก็อาจจะเข้มข้นหน่อย”


ขอบคุณภาพประกอบ : บ้านใบ

บ้านใบ
24 22 ม.1 ถ. เพชรเกษม ต.โคกเคียน อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
เวลาเปิด-ปิด : 08.30 -17.00 น
โทร : 098-578-2695
Facebook : บ้านใบ
Instagram : baanbai.takuapa

Tags: