About
DETOUR X Sakon Nakhon

ก็มีแต่ควาย

เที่ยวบ้านนาเชือก สนุกในวิถีบ้านนา พาเราไปเรียนรู้ประสบการณ์แบบควายควาย

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 16-05-2023 | View 1962
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชาร์จพลังที่บ้านนาเชือก ต้นกำเนิดผ้าย้อมมูลควาย รู้จักแบรนด์ ‘ก็ฝ้าย’ ทำตุ๊กตาควายธนู ล่องเรือไปดูอันซีนเกาะควาย และอีกมากมายที่ทำให้รู้ว่าสวรรค์บ้านนามีอยู่จริง

ไปสกลนคร ไปทำอะไรดี?

แวบแรกใครๆ ต่างก็ต้องนึกถึงพระธาตุเชิงชุม ตึกโคโลเนียลสวยๆ ของชุมชนคาทอลิกท่าแร่ บ้างก็นึกถึงโมงยามของการล่องเรือชมวิวบึงหนองหาน บึงน้ำจืดใหญ่สุดในอีสานที่หล่อเลี้ยงผู้คนมาหลายชั่วอายุ ไปจนถึงร่มเงาของป่าภูพานที่ยังเขียวครึ้ม ส่วนใครที่ชอบงานคราฟต์งานฝีมือ ก็ต้องรู้ว่าที่นี่คือมหานครแห่ง ‘คราม’ แต่เชื่อไหม? สกลนครยังมีของดีอีกเต็มไปหมด

อย่างที่บอกสกลไม่ได้มีแค่คราม…เราได้ยินชื่อของผ้าย้อมมูลควายเจ้าแรกของไทยมานานเกือบ 10 ปี ครั้งนี้จึงไม่พลาดที่จะใช้เวลาดีๆ นี้กับที่นี่ “ชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือก” เดสทิเนชั่นลับที่เราตามหา

เกาะควาย

เปิดบ้านนายฮ้อย

ใครจะมาที่นี่ ต้องตั้งใจมา! เขาว่าไว้แบบนั้น แม้บางจังหวะระหว่างทางสัญญาณ GPS สัญญาณมือถือก็ขาดๆ หายๆ ไปบ้าง

แต่เมื่อเส้นทางไปถึงไหน ผู้คนก็ย่อมไปถึงนั่น จากถนนลาดยางเข้าไปลึกสู่ถนนทางลูกรัง แล้วพวกเราก็มาถึงที่หมาย…

มีป้ายเขียน ‘บ้านนานายฮ้อย Home & Country และที่ตั้งของแบรนด์ “ก็ฝ้าย” มองผาดๆ นี่คือ บ้านไม้สองชั้นมีใต้ถุนและลานหน้าบ้านขนาดย่อมๆ โลเกชั่นดีเหลือเกิน เพราะตั้งอยู่ริมเขื่อน วิวตรงหน้านี่อย่างกับฉากหนัง The Lake House

เกาะควาย

“นั่งพักก๊อน เอาหมอนไหม เอาเสื่อ น้ำเย็นๆ นอนเล่นรับลมโชย แกว่งเปลเล่นไปก่อนเด้อ”

เกาะควาย

อ้อย – สายสุณี ไชยหงษา

เราได้รับรอยยิ้ม (กว้าง) ต้อนรับแทนเวลคัมดริงก์ แค่นี้ก็รู้สึกเป็นกันเองและผ่อนคลายทันทีที่มาถึง โดยมี อ้อย ‘สายสุณี ไชยหงษา’ เจ้าบ้านเอ่ยทักทายอย่างเป็นมิตรตั้งแต่แรกพบ

กับความเปลี่ยนแปลงของฤดู เราอาจจะพกแต้มบุญมาด้วยนิดหน่อย แม้มีแสงแดดส่องสาด แต่ลมเย็นเฮือกสุดท้ายของฤดูก็ยังพัดโชย ทำให้ต้นเดือนมีนาคมยังเป็นช่วงที่อากาศเย็นกำลังดี จนรู้สึกอารมณ์ดีตามไปด้วยแบบไม่มีเหตุผล…

หรือจริงอย่างที่ใครบางคนว่าไว้ วิวหลักแสน…ความสุขแบบง่ายๆ …สามารถตกหลุมรักได้ในภายใน 7 วินาที อาการมันเป็นแบบนี้นี่เอง …

เกาะควาย

นาเชือกแห่งน้ำอูน

บ้านนาเชือก อยู่ใน ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ที่ตั้งของหมู่บ้านอยู่บริเวณริมเขื่อนน้ำอูน ซึ่งน้ำอูนเป็นสาขาที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำสงคราม มีต้นน้ำอยู่ในทิวเขาภูพาน บางครั้งฝนตกหนักน้ำท่วมบ่อย จึงมีการสร้างเขื่อนดินขึ้นเพื่อบรรเทาน้ำท่วมและช่วยเก็บกักน้ำให้ชาวบ้านเพาะปลูกได้ พื้นที่บางส่วนของบ้านนาเชือกติดกับเขตป่าสงวน เลยทำให้พื้นที่อุดมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ผืนดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็งอกเงย

ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเป็นเกษตรกรเต็มขั้น ปลูกทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา พืชสวนครัว บ้างก็ทำประมง ส่วนขุมทรัพย์สำคัญของชุมชนคือ อาชีพเลี้ยงควาย ความผูกพันกับควายช่วยให้เกิดการต่อยอด พัฒนา สามารถตั้งกลุ่มวิสาหกิจนำมูลควายมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และหมู่บ้านท่องเที่ยวจนถึงทุกวันนี้ ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า ‘ควาย’ กลายเป็นสิ่งที่ตกทอด ทำให้ผู้คนได้เลือกเส้นทางอาชีพที่ได้กลับมาอยู่บ้าน

เกาะควาย

อยู่บ้าน ปั้นแบรนด์ ‘ก็ฝ้าย’

จุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญ เริ่มมาจาก อ้อย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ (มูลควาย) เธอ เริ่มต้นเล่าว่า เริ่มจากการก่อตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ามูลควายมาตั้งแต่ปี 2552 ได้คำปรึกษาคำแนะนำอย่างดี จากพระอาจารย์ฉัฐกรณ์ มหาภิญโญภิกขุ พระนักคิดและนักพัฒนา ด้วยอยากให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้ พระอาจารย์เห็นว่าเลี้ยงควายอยู่แล้ว จึงได้แนะนำให้ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติที่มีความแตกต่าง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนแบรนด์ ‘ก็ฝ้าย’ ต้องยกเครดิตให้ท่านด้วยที่ช่วยตั้งชื่อสื่อความหมายดีๆ อันแสนเก๋นี้ จนได้แสดงงานระดับประเทศเป็นที่รู้จักของสื่อต่างๆ เรื่อยมา

เกาะควาย

จากหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีกันราวๆ 50 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านปิดที่อยู่ท้ายเขื่อน ไม่ค่อยมีใครรู้จัก มีแม่บ้านว่างงาน แต่อยากมีอาชีพเพื่อให้มีรายได้เสริม เริ่มแรกรวมตัวกันแค่ 12 คน แต่ละคนอายุ 60-70 ปีขึ้นไปทั้งนั้น ส่วนอ้อยในวัยที่มีอายุน้อยสุด เธอได้รับเลือกเป็นประธานกลุ่มมาตั้งแต่นั้น ช่วงปีแรกๆ แม้จะไม่ได้มีรายได้ แต่พวกเธอก็มีใจที่จะไปรวมตัวกันช่วยกันตัดไม้ มุงไวนีล สร้างโรงเรือนที่นั่งทำงานกัน ต่อมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นโรงทอ และมีเทศบาลเข้ามาช่วยสร้างศูนย์จำหน่ายให้ กระทั่งปี 2556-2557 ประสบความสำเร็จมากๆ ได้รับคัดสรรเป็นโอท็อป 5 ดาว และรับเลือกไปเป็นหนึ่งในไฮไลต์ออกบูธในงานอันซีนไทยแลนด์ของกรมพัฒนาชุมชน

เกาะควาย

เมื่อ ‘ขี้ควาย’ ออกงาน

“ตอนแรกกังวลมากว่าเราเอาขี้ควายไป จะเป็นยังไงนะ สรุปไม่มีใครรังเกียจเราเลย ขนของไป คนมารุมซื้อกันถล่มทลาย ใจฟูสุดๆ ทำให้มีคนรู้จักเรามากขึ้น จนได้รับคัดเลือกให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรมของ Sacit หรือ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ด้วย มาไกลเกินกว่าที่คิดมากๆ (ยิ้ม) ”

เรียกได้ว่า ผ้าย้อมมูลควายชุบชีวิตชาวนาเชือก ตั้งแต่กระบวนการผลิตผ้าย้อมมูลควายด้วยเส้นด้าย หรือเส้นฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ อาทิ มูลควาย เปลือกไม้ และดิน แตกไอเดีย เป็นผลิตภัณฑ์งานทำมือชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ที่มีตั้งแต่พวงกุญแจ หมวก เสื้อ กางเกง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ที่นอนเพื่อสุขภาพ กระเป๋า รวมถึงตุ๊กตาควายธนู ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของผ้าย้อมมูลควายบ้านนาเชือก

เกาะควาย

วันที่ไปเยือน พวกเรามีโอกาสได้ลองเวิร์กช็อปทำพวงกุญแจควายธนู จากเดิมเป็นเครื่องราง ความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่ถูกหยิบเอามาเปลี่ยนจากน้องควายสายมูเป็นพวงกุญแจกุ๊กกิ๊ก แต่งเติม ของประดับตกแต่งหน้าตาได้ตามจินตนาการ เป็นวิธีที่สามารถช่วยสื่อสารให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักด้วย

แบรนด์ ‘ก็ฝ้าย’ แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้เน้นการออกแสดงงาน แต่กลุ่มและสมาชิกก็มีช่องทางจำหน่ายออนไลน์ มีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสายและยังปรับไปสู่กิจกรรมเวิร์กช็อปงานฝีมืออื่นๆ ได้อีกทาง

เกาะควาย

เกาะควาย ซาฟารีบ้านนา

เพราะบ้านนาเชือกไม่ได้มีดีแค่ผลิตภัณฑ์สินค้างานทำมือ แต่ความสวยงามจากธรรมชาติของที่นี่ยังสวยบริสุทธิ์ไม่แพ้ที่ไหน กลยุทธ์ของการปรับวิธีคิดจากสิ่งที่ ‘ขาด’ แต่มองถึงสิ่งที่ชุมชน ‘มี’ ของดีอะไรอีกบ้าง โปรแกรมล่องเรือชมธรรมชาติไปเกาะควาย ก็เป็นอีกไฮไลต์ของการเยือนที่นี่

เกาะควาย

เกาะควาย เป็นชื่อเรียกเกาะกลางเขื่อนน้ำอูน เราสามารถลงเรือใกล้กับบ้านนายฮ้อยนี้ได้เลย ใช้เวลาแค่ 20 นาที ก็เหมือนอยู่อีกโลก บนเกาะที่เต็มไปด้วยฝูงควายหลายร้อยตัว มีเจ้าของอย่าง ‘ลุงเพชร’ เกษตรกรผู้เลี้ยงควายและขยายพันธุ์มานานกว่า 35 ปีคอยต้อนรับ ด้วยใจรักในวิถีและตั้งใจอนุรักษ์

กิจวัตรทุกวันของลุงเพชรคือ การขนกองหญ้ามาให้ฝูงควายของแก เพราะควายสร้างชีวิต สร้างความมั่นคงให้ครอบครัวตลอดมา นี่จึงเป็นวิถีชีวิตดั่งเดิมระหว่างคนกับควาย ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ซึมซับธรรมชาติบ้านทุ่งอย่างใกล้ชิด เราสามารถเลือกโปรแกรมปิกนิก สั่งเครื่องดื่มของว่างมานั่งรอพระอาทิตย์ตกได้ด้วย

เกาะควาย

กลิ่นโคลนสาบควายมันไม่ได้แย่อย่างที่คิด แต่กลับอบอวลไปด้วยความรักและความผูกพัน ช่วงเวลาที่เหมาะคือ ยามเย็นก่อนพระอาทิตย์ตก เพราะโมเมนต์แห่งความโรแมนติกเกิดขึ้นที่นี่ โดยไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงประเทศนอกเลย

เกาะควาย

ม่วนกิจกรรม

“พอออกงานเยอะๆ รับออเดอร์วอลุ่มเยอะ เริ่มรู้สึกเหนื่อย มันไม่ใช่ทาง ไม่ใช่ตัวตนที่เราอยากเป็น ทุกครั้งที่เดินทางออกจากบ้านไป เหนื่อยมาก รู้สึกว่าไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง จากที่ทำแต่เรื่องผ้า แต่พอมาทำท่องเที่ยวมันสนุก ปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เลยคิดว่าถ้าสามารถออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว เล่าเรื่องราวผ่านกิจกรรมได้ เราน่าจะมาถูกทางแล้ว” อ้อยอธิบายเป้าหมายของเธอ โดยมี ‘สะไก ไชยหงษา’ คู่ใจของเธอ รับบทเป็น ฝ่ายประสานงานการท่องเที่ยวชุมชนบ้านนาเชือก

เกาะควาย

กิจกรรมต่างๆ จึงออกแบบไว้สำหรับต้อนรับแขกแก้วผู้มาเยือน ภายใต้ต้นทุนของชุมชนนาเชือก มาแล้วต้องไม่พลาดไฮไลต์ ที่แรกและที่เดียวในเมืองไทยอย่างสปากระทะสมุนไพรบ้านนา ด้วยวิธีบำบัดร่างกายโดยการแช่สมุนไพรเพื่อสุขภาพ หรือจะลองการนวดผ่อนคลายท่ามกลางบรรยากาศบ้านทุ่ง

เกาะควาย

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม DIY ผ้าย้อมมูลควาย เวิร์กช็อปมัดย้อมเสื้อยืด เวิร์กช็อปทำปลาร้า เวิร์กช็อปทำปลาแห้ง นั่งรถอีแต๊กชุมชน ชมการแสดงชุดรำวงต้อนควาย ออนซอนอีสาน ลองชิมอาหารพื้นถิ่น (พาแลง)

เกาะควาย

นอกจากกิจกรรมเดย์ทริปแล้ว ยังสามารถพักค้างคืนได้ด้วย เหมาะสำหรับกลุ่มแคมป์ปิ้ง กางเต็นท์ ถามว่ามาช่วงไหนดีสุด เจ้าถิ่นเขาป้ายยาไว้ว่า ฤดูกาลท่องเที่ยวของบ้านนาเชือกคือ ตั้งแต่พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นหน้าหนาวที่เหมาะกับการแคมป์ปิ้ง นับดาว อากาศเย็นรื่นใจ ท้องฟ้าปลอดโปร่งเป็นที่สุด

เกาะควาย

“พูดได้เต็มปากว่า มีความสุขที่ได้บริการลูกค้า เราภูมิใจที่ใครไปใครมาก็ชมว่า บ้านเราน่าอยู่ บ้านเราอากาศดี ได้บอกเล่าเกี่ยวกับทรัพยากรในชุมชน อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสความเป็นบ้านนาเชือกตามสไตล์บ้านนา ท้ายสุดความคาดหวังในความเป็นชาวบ้านของเรา คือ อยากให้คนในหมู่บ้านเรานี่แหละ ภาคภูมิใจกับสิ่งที่เรามีทรัพยากรเหล่านี้อยู่ ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรมาก แค่ช่วยกันคิดช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ ส่งต่อให้ลูกหลานคงได้พัฒนาต่อยอดกันต่อๆ ไป ”

Tags: