About
DETOUR X Bangkok

บางกอกนัว(ร์)

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ พาย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ความหลงใหลในบ้านโบราณรอบกรุงเทพมหานครของ ‘อิ๋ว – ชวิศา’ ทำให้เธอตระเวนค้นหาอาคารเก่าแก่ ถ่ายภาพเก็บสะสม และตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก ‘บางกอกนัวร์’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบ้านโบราณที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผ่านภาพถ่ายของเธอ
  • เมื่อบางกอกนัวร์ได้กระแสตอบรับมากขึ้นเรื่อยๆ อิ๋วจึงเริ่มเปิดทัวร์พาเข้าไปชมบ้านโบราณแบบ hidden gem ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถวฝั่งธนฯ เช่น เขตธนบุรี เขตคลองสาน-สมเด็จเจ้าพระยา
  • เราได้เข้าร่วมทริปเดินประจำเดือนของบางกอกนัวร์ สำรวจบ้านโบราณสามหลังในย่านชุมชนกุฎีขาว เขตธนบุรี แม้บ้านเหล่านี้ผ่านกาลเวลามาร่วมหนึ่งศตวรรษ แต่ก็ยังคงสภาพงดงามและเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมตามยุคสมัยนิยมที่น่าสนใจมากทีเดียว

... ‘บางกอกนัวร์’ เรื่องเล่า การเดินทาง และปรากฏการณ์ผ่านจำในเมืองบางกอก…

เพจเฟซบุ๊กหนึ่งปรากฏขึ้นมาบนหน้าไทม์ไลน์ของเรา ที่พรรณนาถึงตึกรามบ้านช่องเก่าแก่ซ่อนอยู่ในกรุงเทพมหานครไว้อย่างน่าสนใจ เมื่อลองเลื่อนดูไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าในทุกเดือนจะมีการจัดทริปพาออกสำรวจชมความงดงามของบ้านเก่าที่ยังสภาพดีในมุมเล็กๆ ของกทม.
ด้วยความอยากลองเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ดูบ้าง ทำให้เราตัดสินใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมเดินย้อนกาลกับเพจบางกอกนัวร์ไปในครั้งนี้

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

กรุงเทพฯ ที่ ‘เหลื่อมซ้อน’

เรามายังจุดนัดพบที่วัดอรุณราชวนารามในยามบ่ายของวันอาทิตย์ก่อนกำหนดเวลาเล็กน้อย ทำให้พอมีเวลาได้นั่งพูดคุยกับ ‘อิ๋ว ชวิศา ชวลิตเสวี’ เจ้าของเพจเฟซบุ๊กและผู้จัดทริปบางกอกนัวร์ที่ดำเนินมาตลอด 5 ปี

“ปี 2554 ที่น้ำท่วมใหญ่ เรามีโอกาสได้นั่งรถโฟวีลลุยน้ำไปดูบรรยากาศน้ำท่วมกรุงเทพฯ มองไปทางไหนก็เจอบ้านที่ไม่มีคนอยู่ เจอแต่ความถูกทิ้งร้าง นั่นทำให้เห็นว่ายังมีอาคารเก่าแก่สวยๆ ที่เมื่อก่อนเราไม่ได้สังเกตอยู่เยอะ ตอนนั้นเลยเริ่มถ่ายรูปมุมต่างๆ เก็บไว้” อิ๋วเล่าถึงจุดเริ่มต้น

เพราะเป็นเด็กฝั่งธน เธอจึงซึมซับสภาพแวดล้อมและความเก่ากร่อนของบ้านเรือนย้อนยุคมาตั้งแต่จำความได้ สมัยเด็กในซอยบ้านของอิ๋วจะมีบ้านโบราณหลังหนึ่งที่เธอเดินผ่านเป็นประจำและมักหันไปมองทุกครั้ง อิ๋วบอกเราว่าเธอไม่ได้รู้สึกกลัว แต่กลับรู้สึกอบอุ่นใจทุกครั้งที่หันไปมอง

“อาจจะเพราะความเป็น ‘อสุรกาย’ ในตัวของเราด้วยละมั้ง” … เธอหัวเราะ

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านเก่าแก่มักจะสร้างอยู่ติดคลอง เนื่องจากแต่เดิมคนโบราณจะใช้เรือในการไปมาหาสู่กัน

เมื่อมุมมองใหม่ๆ ถูกเปิดออก หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ฯ พอมีเวลาว่างจากงานประจำอิ๋วก็เริ่มตระเวนเดินถ่ายภาพบ้านอาคารโบราณไปเรื่อยๆ โดยบริเวณที่พบอาคารเก่าแก่อยู่มากมักจะเป็นเขตกรุงเทพชั้นใน อาทิ ย่านฝั่งธนฯ คลองสาน-สมเด็จเจ้าพระยา สำเพ็ง จนตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊ก ‘บางกอกนัวร์’ โพสต์ภาพบ้าน-อาคารโบราณที่ถ่ายเก็บสะสมไว้พร้อมเขียนเล่าเรื่องด้วยอารมณ์ความรู้สึกของเธอ

“บ้านเก่าแก่มักถูกซ่อนอยู่ท่ามกลางตึกรามบ้านช่องสมัยใหม่อีกทีหนึ่ง ดูเป็นความเบลอ ความไม่ชัดเจนที่ ‘เหลื่อมซ้อน’ อยู่ในกรุงเทพฯ …ถ้าใครไม่สังเกตก็จะไม่เห็น ต้องเป็นคนที่ชอบถึงจะเห็น…” อิ๋ว อธิบายถึงนิยามคำว่า ‘บางกอกนัวร์’ ที่เธอตั้งขึ้น

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

เมื่อมีคนให้ความสนใจบางกอกนัวร์มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเสียงเสียงเชียร์จากเพื่อนๆ ที่อยากให้อิ๋วลองจัดทริปทัวร์บ้านโบราณที่เธอเคยไปเยือนมา โดยเฉพาะ…บ้านโบราณที่ปกติไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเยี่ยมชม บ้านอายุร่วมร้อยปีที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชนเก่าแก่ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของบางกอกนัวร์ … นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทริปชมบ้านโบราณกับบางกอกนัวร์เปิดตัวขึ้น

พูดคุยกันไปสักพักก็ถึงเวลาออกเดินทาง อิ๋วพาเราและลูกทัวร์คนอื่นๆ เกือบ 50 ชีวิต เดินจากวัดอรุณราชวรารามไปขึ้นสะพานอนุทินสวัสดิ์เข้า ‘ชุมชนมัสยิดบางหลวง (มัธยิดกุฎีขาว)’ หนึ่งในชุมชนเก่าแก่ของเขตธนบุรีมากกว่า 200 ปี

ท่ามกลางแสงแดดที่เจิดจ้าก็ยังมีลมเย็นๆ พัดมาเป็นระยะ พอให้การเดินของเราไม่เหน็ดเหนื่อยจนเกินไป เดินเข้าซอยผ่านบ้านคนไปไม่ไกลนักก็เข้าสู่หมุดหมายแรก ที่ ‘บ้านพระยาประสิทธิสงคราม’

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

หลังคาทรงจั่วตัด ช่องระบายอากาศใต้โครงหลังคา และหน้าต่างกรอบลูกฟักบานคู่ที่มีบานเกร็ดกระทุ้งเปิดได้ เป็นการออกแบบบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพอากาศของประเทศไทย

บ้านพระยาประสิทธิสงคราม · บ้านขุนนางโบราณปลายรัชกาลที่ 6

เดินเข้าไปเราจะพบกับบ้านหลังสีขาวรายรอบด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ตั้งอยู่ติดริมคลองบางกอกใหญ่ที่มีเรือสัญจรผ่านไปมาเป็น ฝั่งตรงข้ามคือวัดหงส์รัตนาราม วัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้นปลายกรุงศรีอยุธยา เป็นภาพบรรยากาศที่เห็นแล้วทำให้จิตใจสงบมิใช่น้อย…ชื่นชมความงามบริเวณหน้าบ้านอยู่สักพัก ‘แอน’ หญิงสาวทายาทรุ่นสามของบ้านหลังนี้ก็เดินออกมาแนะนำตัว พร้อมต้อนรับพวกเราด้วยน้ำลำไยและขนมกลีบลำดวนแสนอร่อยที่ทางบ้านทำเอง

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

เรากินของว่างพร้อมฟังประวัติของบ้านหลังนี้ไปพลางๆ ได้ความว่า บ้านหลังนี้สร้างขึ้นในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2466 โดย ‘พันเอกพระยาประสิทธิสงคราม’ ขุนนางในสมัยรัชกาลที่ 6 หนึ่งในทูตทหารฝ่ายไทยที่ไปว่าราชการ ณ ประเทศฝรั่งเศสในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงคาดว่าท่านคงได้รับอิทธิพลรูปแบบการสร้างบ้านหลังนี้มาจากการไปเห็นบ้านเรือนทางฝั่งยุโรป

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

แม้ผ่านกาลเวลามาร่วมร้อยปี แต่บ้านหลังนี้ยังมีโครงสร้างที่ลูกหลานพยายามรักษาไว้ให้ใกล้เคียงแบบเดิมมากที่สุด ทั้งหลังคา ประตู หน้าต่างบานคู่กรอบลูกฟักและบานเกล็ดที่ในอดีตสามารถกระทุ้งเปิดได้

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

“ยุคนั้นกำลังจะเริ่มต้นยุคอุตสาหกรรม จึงนิยมการสร้างบ้านที่เรียบง่ายมากขึ้น เน้นโครงสร้างเรียบเท่ อีกลักษณะหนึ่งที่เรามักจะเห็นคือการนิยมสร้างช่องลมที่เป็นบานเกล็ดไว้ใต้โครงหลังคาเพื่อระบายอากาศ เป็นการประยุกต์การออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศในประเทศไทย” อิ๋วอธิบายขณะพาเราเดินชม

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

เจ้าของบ้านยังเปิดโอกาสให้คณะทัวร์ของพวกเราเข้าไปชมความสวยงามบริเวณห้องรับรองภายในบ้าน ที่มีข้าวของเครื่องใช้สมัยเก่าที่บรรจงเก็บไว้เป็นอย่างดีถูกจัดวางไว้อย่างเป็นสัดส่วน อาทิ รูปถ่าย จานชาม ตะเกียง หรือแม้แต่ชุดที่พันเอกพระยาประสิทธิสงครามไปว่าราชการที่ยุโรปในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ให้อารมณ์ประหนึ่งกำลังเดินอยู่ฉากในละครย้อนยุคเลย

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค) · บ้านลูกผสมอายุมากกว่า 135 ปี

เราเดินลัดเลาะผ่านบ้านในตรอกชุมชนกุฎีขาว ระหว่างทางก็แวะอุดหนุนของกินเล็กๆ น้อยๆ จากร้านค้าในชุมชนพลางเดินไปอีกเล็กน้อยเราก็มาถึง ‘บ้านพระยาราชานุประดิษฐ์ (นาค)’ บ้านไม้หลังขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ตั้งอยู่เลียบคลองวัดดอกไม้ที่เป็นคลองซอยแยกออกจากคลองบางกอกใหญ่อีกทีหนึ่ง

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านพระยาราชานุประดิษฐ์ สันนิษฐานกันว่ามีอายุอย่างต่ำ 135 ปี สร้างขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 และถูกเปลี่ยนมือเจ้าของหลังจากที่เจ้าของบ้านเดิมเสียชีวิต ในช่วงปลายรัชกาลที่ 7 บ้านหลังนี้จึงถูกขายต่อมายังตระกูลของอาลีตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

“ตัวไม้ของบ้านพระยาจะมีหน้าไม้ที่กว้างและใหญ่กว่าไม้ที่ใช้สร้างบ้านชาวบ้านปกติ ซึ่งเป็นไปตามฐานะของเจ้าของบ้าน” อาลี หนุ่มเจ้าของบ้านทายาทแห่งตระกูล ‘อหะหมัดจุฬา’ เล่าให้เราฟังพลางใช้มือเปิดประตูกลที่พื้นไม้แผ่นหนึ่งบริเวณกลางบ้านซึ่งหากไม่สังเกตก็ยากที่จะมองเห็น สร้างเสียงฮือฮาได้จากทุกคนเป็นอย่างมาก ทำให้รู้ว่านี่เป็นอีกช่องทางลับที่สามารถเดินลงไปที่ใต้ถุนบ้านได้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเพื่อใช้หลบภัยในสมัยก่อน

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

เหล็กสายบัว ลวดลายของเหล็กดัดที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สะท้อนถึงความหรูหราของบ้านพระยาในสมัยโบราณ จะไม่พบเห็นลวดลายนี้ในบ้านของสามัญชนทั่วไป

เดินถัดมาอีกหน่อยตรงบริเวณหน้าต่าง อาลียังชี้ให้เราดูลาย ‘เหล็กดัดสายบัว’ เหล็กดัดสีเขียวที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน หากในยุคสมัยนี้อาจไม่ใช่ลวดลายที่สะดุดตามากนัก ทว่ากลับเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ใช้แสดงถึงความหรูหราสำหรับบ้านยศพระยาในสมัยก่อน

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

ลวดลายขนมปังขิงที่ฉลุเป็นลวดลายเล็กๆ คล้ายแง่งขิง บริเวณระเบียงหน้าต่าง

ที่เชิงชายบ้านส่วนที่ยื่นออกไปนอกชายคามีการฉลุ ‘ลายขนมปังขิง’ ลวดลายประณีตเล็กๆ หงิกงอสลับไปมาคล้ายแง่งขิงอยู่บนไม้ โดยนิยมสลักไว้ตามช่องลมหน้าต่างและราวระเบียงเพื่อเพิ่มความงดงาม อ่อนช้อย ลายขนมปังขิงถือเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของบ้านไทยโบราณในยุคนั้นที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอังกฤษ สมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียที่ 2

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านเอกะนาค พิพิธภัณฑ์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา · งดงามเหนือกาลเวลา

เราออกเดินทางต่อไปยังสถานที่สุดท้าย ‘พิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค’ ที่อยู่ห่างไปราวกิโลเมตรกว่าๆ จากบ้านหลังที่สอง ระหว่างทางเราเดินผ่านตรอกซอกซอยมากมาย ผ่านบ้านคน ชุมชนริมคลอง ทำให้ได้ซึมซับกับบรรยากาศวิถีชีวิตของชาวฝั่งธนฯ

เมื่อเดินเข้าเขตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาประมาณ 500 เมตรก็จะพบกับพิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค บ้านสีขาวตั้งเด่นตระหง่านรายล้อมด้วยอาคารเรียนของมหาวิทยาลัย หน้าบ้านเป็นสนามโล่งกว้างที่ความเขียวขจีของต้นหญ้าช่วยขับให้ตัวเรือนสีขาวสะกดสายตาของผู้ที่เดินผ่านไปมามากยิ่งขึ้น หากย้อนไปในสมัยก่อน เราคิดว่าบ้านหลังนี้ก็คงจะเป็นบ้านที่โจษขานด้านความงดงามมิใช่น้อย

…เพราะแม้ในยุคปัจจุบันเอง บ้านเอกะนาคก็ยังได้รับรางวัล ‘อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภท สถาบันและอาคารสาธารณะ’ จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปีพ.ศ. 2555

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านหลังนี้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2462 เป็นของพันตำรวจเอกพระยาประสงค์สรรพการ (ยวง เอกะนาค) ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมตำรวจ และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปีพ.ศ. 2544 โดยเก็บรักษาของ ‘ทุกชิ้น’ ไม่ว่าจะเป็น พื้น ประตู ราวบันได ให้คงของเดิมทั้งหมด ตามพินัยกรรมได้ระบุว่าหากไม่มีทายาทสืบต่อก็จะยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโรงเรียนมัธยมบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (ณ เวลานั้นยังไม่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ) ให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์เรียนรู้ของฝั่งธนบุรีสืบต่อไป

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

อิ๋วชี้ให้เราดูลวดลายลวดลายตรงบริเวณระเบียง ระแนงและหน้าต่างที่ชั้นสองของบ้าน “มีการนำลายขนมปังขิงมาดัดแปลงให้เป็นลายพรรณพฤกษาที่เพิ่มความประณีต อ่อนช้อยเข้าไป ลายเห็นได้อย่างชัดเจนคือลายดอกทิวลิปตั้ง-ทิวลิปคว่ำ บางที่ก็เป็นลายดอกจิก ปรับเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม” เธอบอกพลันทุกสายตาก็จับจ้องไปยังหน้าต่างที่ฉลุลายดอกทิวลิปที่ว่า

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

ลวดลายตัวอักษรกราฟฟิกฉลุคำว่า ‘ยวง’ บริเวณช่องลมชั้น 2 ของบ้านเอกะนาค พิพิธภัณฑ์บ้านสมเด็จเจ้าพระยา

อีกหนึ่งการออกแบบอันแสนแยบยล เห็นจะเป็นตรงตัวอักษรกราฟิกที่ถูกฉลุไว้ที่ช่องลม เพราะทีแรกเราก็ไม่ได้สังเกตจนกระทั่งอิ๋วเอ่ยปากถาม “ดูออกไหมว่าคือคำว่าอะไร?”

เมื่อเห็นหลายคนเพ่งมองด้วยคิ้วขมวดอยู่สักพัก เธอจึงเฉลยว่า นั่นคือคำว่า ‘ยวง’ ชื่อของเจ้าของบ้านหลังนี้นั่นเอง

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา…พวกเราจบทริปครั้งนี้ด้วยการถ่ายรูปหมู่เป็นที่ระลึก กล่าวร่ำลากับเพื่อนใหม่ในทริปและไม่ลืมที่จะขอบคุณผู้ที่เป็นทั้งหัวหน้าทริป ผู้นำทางและผู้บรรยายอย่างอิ๋ว

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

“เวลาเห็นอาคารเก่าเราจะมองเห็นความเก่าแก่ ภาพผนังที่มีความกร่อน ปูนที่แตกออกแล้วเผยให้เห็นเนื้ออิฐโบราณ เรามองว่ามันคือเสน่ห์ในเชิงของศิลปะ-สถาปัตยกรรม แต่เราไม่ได้หลงเสน่ห์ความเก่าของกรุงเทพ อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นนะ ‘เราแค่หลงใหลความเก่ากร่อนของมัน’ รู้สึกว่าเห็นสตอรี่ในผนัง ในอิฐ ในประตูหน้าต่าง เราเห็นเรื่องราวบางอย่างอยู่ในนั้น…” อิ๋วทิ้งท้าย

‘บางกอกนัวร์’ ทัวร์สำรวจบ้านโบราณ ย้อนวันวานของฝั่งธนฯ

บ้านแต่ละหลังที่เรามีโอกาสได้เข้าไปกับชมกับบางกอกนัวร์ ล้วนเป็นบ้านเก่าแก่หาชมได้ยาก บ้านที่ส่งต่อมาหลายชั่วรุ่น บ้านที่แม้จะผ่านกาลเวลาผลัดเปลี่ยนยุคสมัยมานับร้อยปี แต่ความงดงามของสถาปัตยกรรมก็ยังคงทำหน้าที่ของมันต่อไปได้อย่างดีตั้งแต่วันนั้นตราบถึงวันนี้

ในแต่ละเดือน บางกอกนัวร์จัดทริปชมอาคารโบราณ-บ้านเก่าแก่ ซึ่งมีทั้งทริปเดินและทริปนั่งเรือ
ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ บางกอกนัวร์

Tags: