About
CRAFTYARD

ทอผ้า พิมพ์ใบไม้ ‘บ้านไร่ใจสุข’

ทอผ้า พิมพ์ใบไม้ ‘บ้านไร่ใจสุข’

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บ้านไร่ใจสุขเป็นแหล่งเรียนรู้การทอผ้า และเป็นสถานที่เวิร์คช็อปเรื่องงานผ้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทอ ย้อม เย็บ และกระบวนการต่างๆ ในแบบภูมิปัญญาดั้งเดิมและด้วยเทคนิคใหม่ๆ ที่น่าสนใจ
  • พูดคุยกับ นุสรา เตียงเกตุ ผู้ก่อตั้งบ้านไร่ใจสุขและปราชญ์ด้านผ้าของวัฒนธรรมล้านนา ผู้ผลักดันให้ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มกลายเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

พอได้ยินว่า ผ้าทอมือ อย่าเพิ่งมองว่าเป็นเรื่องโบราณ เพราะเวลานี้งานหัตถกรรมพื้นบ้านได้กลายเป็นภูมิปัญญาร่วมสมัย โดยหนึ่งในสถานที่ที่พยายามปลุกปั้นงานผ้าทอให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ คือ บ้านไร่ใจสุข แหล่งเรียนรู้บรรยากาศอบอุ่นใน อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ที่เปิดให้คนทุกวัยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้และลงมือทำในทุกกระบวนการการทอผ้า ย้อมผ้า รวมถึงเทคนิคต่างๆ ทั้งของไทยและแบบ Cross Culture

R 14

Process สำคัญกว่า Product

บ้านหลังนี้ก่อตั้งขึ้นโดย นุสรา เตียงเกตุ หญิงเก่งแห่งวงการผ้าพื้นถิ่นไทย และหลายคนยังได้ยกย่องให้เธอเป็นปราชญ์ด้านผ้าของวัฒนธรรมล้านนา โดยเฉพาะผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่ม ที่เธอช่วยฟื้นฟูและพัฒนาร่วมกับชุมชนเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่แม่แจ่มก่อนย้ายมาหางดง จนทำให้ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มได้รับการอนุรักษ์ และถูกยกให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

เธอขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนมามากกว่า 30 ปี และสืบสานงานผ้าสู่คนรุ่นใหม่ภายใต้ชายคาบ้านไร่ใจสุขมานาน 5 ปี โดยส่งเสริมวิถีให้คนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีพื้นที่ทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนภูมิปัญญากันและกัน เพื่อสร้างนิเวศของการพัฒนาที่แข็งแรงยั่งยืน

R 6

“Process สำคัญกว่า Product” แม่นุสกล่าว “เราอยากส่งต่อความรู้และกระบวนการการทอผ้า ซึ่งเป็นหัวใจของงานผ้า ให้ทุกคนที่สนใจ แม้ว่าคนนั้นจะไม่เคยมีความรู้มาก่อนก็สามารถมานับหนึ่งที่นี่ และนำความรู้ที่เราให้นำไปพัฒนาต่อตามแนวทางของตัวเอง เพราะจุดประสงค์ของบ้านหลังนี้คือ การต่อยอดภูมิปัญญาร่วมสมัยให้คนทุกวัย เราไม่อยากให้งานผ้าเป็นเรื่องเก่า แต่เราอยากเห็นผ้าไทยอยู่กับคนรุ่นใหม่ เพื่อให้ผ้าไทยมีชีวิตอยู่ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น”

Cross Culture แลกเปลี่ยนและต่อยอด

บ้านไร่ใจสุขเป็นบ้านเรือนไทยใต้ถุนสูง มีกี่ทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน มีแปลงปลูกต้นฝ้ายอยู่ริมรั้ว และมีพื้นที่จัดเวิร์คช็อปอยู่ตรงกลางลาน เปิดให้เรียนรู้การทอผ้าแบบเข้มข้นเพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดแก่คนอื่น และจัดเป็นแบบกิจกรรมเวิร์คช็อปสำหรับคนที่อยากลองทำเพื่อเป็นประสบการณ์

R 4

เวิร์คช็อปมีทั้งการทอกี่เมือง กี่เอว การย้อมสีธรรมชาติ การทำตุง ทำตุ๊กตาชนเผ่า เย็บหมอน เย็บเสื้อ เย็บย่าม และเทคนิคการทำลวดลายแบบ Eco-Print เธอเล่าว่า เป็นเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาจากคนนิวซีแลนด์ แต่นำมาปรับใช้กับวัตถุดิบพื้นบ้าน กลายเป็นการ Cross Culture แลกเปลี่ยนความรู้กันและกัน เพื่อให้เกิดการต่อยอดและพัฒนา

R 1

R 2

R 8

Eco-Print เป็นการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น นำใบไม้หลากชนิดที่มีรูปร่างและลวดลายต่างกัน นำไปผ่านกระบวนการแช่น้ำก่อนนำมาวางบนผืนผ้า ม้วนให้แน่น และนำไปนึ่ง ใบไม้แต่ละชนิดจะให้สีบนผ้าที่ต่างกันและเมื่อผสมกับลวดลายตามธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้เทคนิค Eco-Print มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

R 9

R 10

R 3

ส่วนวิทยากรหรือผู้สอนนั้น ไม่ได้มีเพียงแม่นุสเพียงคนเดียว แต่ยังมีลูกศิษย์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มาเป็นคนถ่ายทอดความรู้ต่อ ทำให้รูปแบบการสอนอาจแตกต่างไปจากต้นฉบับ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แม่นุสตั้งใจ เพราะเธอไม่อยากให้ทุกอย่างจำกัดอยู่แค่ในกรอบ แต่ต้องการความหลากหลาย ต้องการไอเดียสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ว่าอย่างไรแก่นของการทอ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานผ้าจะยังคงอยู่ต่อไปนั่นเอง

R 12

R 7

 

แม่นุสเป็นแรงสำคัญทำให้ความเป็นอยู่ของผู้คนในอำเภอแม่แจ่มดีขึ้นได้ด้วยการทอผ้า และได้พัฒนาร่วมกับชุมชนจนทำให้ผ้าซิ่นตีนจกแม่แจ่มได้รับการอนุรักษ์ สำหรับในตอนนี้ เธอกำลังส่งต่อความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่คือ ทำให้งานผ้าดำรงคงอยู่ไม่สูญสลายไปตามกาลเวลา

เที่ยวบ้านไร่…แล้วไปสตูดิโอ

นอกจากบ้านไร่ใจสุขที่หางดง แม่นุสยังเป็นผู้ก่อตั้ง หลูหลี สตูดิโอ (Loolii Studio) ย่านวัดเกตในตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้เป็นพื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป และเป็นพื้นที่จัดแสดงงานให้คนรุ่นใหม่มาบอกเล่าเรื่องราวจากงานผ้าและงานหัตถกรรมท้องถิ่น

ชื่อสตูดิโอก็มีความหมายลึกซึ้ง หลูหลี เป็นภาษาเหนือใช้เรียก หางฝ้าย เมื่อนำดอกฝ้ายมาดีดหรือยิงให้เป็นปุยแล้วพันเป็นหลอดยาวจะเรียกว่า หางฝ้าย และจากหางฝ้ายจะนำไปปั่นเป็นเส้นฝ้ายไว้สำหรับทอ เปรียบเสมือนกับชีวิตของคนที่รักการทำผ้าที่จะต้องผ่านการเป็นหางฝ้าย ผ่านการเรียนรู้และลงมือทำ ก่อนจะกลายเป็นเส้นฝ้าย

R 5

หลูหลี สตูดิโอ ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของร้านนุสรา ร้านขายเสื้อผ้าแบรนด์นุสราที่สะท้อนตัวตนของเธอ งานผ้ามีความเรียบง่าย เล่นกับแพตเทิร์น เล่นกับโครงสร้างผ้าและลูกเล่นต่างๆ นอกจากนี้ ในบางครั้งแม่นุสยังใช้พื้นที่ร้านคาเฟ่ของลูกสาวที่หางดง ร้านดิน คาเฟ่ เป็นสถานที่จัดเวิร์คช็อปด้วย

Contact
บ้านไร่ใจสุข
ที่อยู่ 203 หมู่ 1 บ้านไร่ ต.บ้านแหวน อ.หางดง จ.เชียงใหม่
โทร. 08-7304-7976
เฟซบุ๊ก www.facebook.com/Banraijaisook

Tags: