กินดี อยู่ดี มีสุข
Beehive Art-icle Rare บ้านของลุงกับป้าเพื่องานคราฟต์ นิทรรศการศิลปะ ตั้งชมรมแจ๊ซ
- Beehive Art-icle Rare ทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ที่จัดกิจกรรมแนวตั้งจากชั้นล่างสุดถึงดาดฟ้า รองรับตลาดงานคราฟต์ นิทรรศการศิลปะ และชมรมดนตรีชื่อ Wednesday Club
ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเปิดบ้านเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของชุมชน
“เราอยากทำสเปซที่มีเรื่องราวของสิ่งที่เราชอบ เราก็ใช้พื้นที่ในบ้านจัดงาน”
บี-พุฒยา ชัยมงคลเพชร และ เหน่ง-จามร ดวงพลอย เปลี่ยนทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น เป็นศูนย์รวมความสร้างสรรค์ของชุมชน ทั้งจัดตลาดงานคราฟต์ เปิดพื้นที่ให้กับนิทรรศการศิลปะ และตั้งชมรมดนตรีชื่อ Wednesday Club
บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยแง่มุมที่น่าสำรวจ เบื้องหลังของงานคราฟต์และอาหารโฮมเมดมาจากแนวคิดการพึ่งพาตัวเองที่เริ่มตั้งแต่ปัจจัย 4 เบื้องหลังของนิทรรศการศิลปะคือการเติมสีสันให้ชุมชน และเบื้องหลังของชมรมดนตรีมาจากการถามหาบาร์แจ๊ซของเจ้าบ้าน
ทุกอย่างไปต่อได้ด้วยต้นทุนเท่าที่มี บวกกับการไม่หวงพื้นที่ส่วนตัวอย่างที่คนทั่วไปน่าจะกังวล
คอมมูนิตีนี้เป็นแหล่งรวมตัวขนาดกะทัดรัดของวัยรุ่นจากมหาวิทยาลัยบูรพา บทสนทนาเปี่ยมคุณภาพเกิดขึ้นที่นี่ นักดนตรีหลายคนมีกำลังใจเล่นแจ๊ซต่อ เพราะที่นี่ Beehive Art-icle Rare จึงเป็นบ้านหลังเล็กที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
แล้วหากถามว่าเจ้าบ้านทั้งสองคนได้อะไรกลับมา ในเมื่อพวกเขาก็ย้ำนักย้ำหนาว่าขาดทุนในแง่ของทุนทรัพย์ คำตอบคือกำไรในแง่ของคุณค่าทางจิตใจ ปนความภูมิใจที่ได้ส่งต่อคุณค่าเหล่านั้นให้คนรุ่นใหม่
มาดูการบริหารปัจจัย 4 เพื่อ ‘กินดี อยู่ดี มีสุข’ ในแบบของบีและเหน่งกัน
Beehive
Eco-friendly, Healthy and Zero Waste
“บางคนอาจบอกว่าหัวโบราณนะ แต่เราอยากพึ่งตนเอง” บีเปิดบทสนทนา
เจ้าบ้านยกให้เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต จากเคยทำงานหามรุ่งหามค่ำ สะสมเงินเก็บจากน้ำพักน้ำแรง เมื่อต้องหยุดงานเพราะน้ำท่วม แล้วใช้เวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น บีจึงสังเกตได้ว่า “ฉันยังไม่ได้ใช้ชีวิต”
ทักษะชีวิตสำคัญไม่แพ้ทักษะการทำงาน บีหัดเย็บกระเป๋าและเสื้อผ้า เดินตลาดเกษตร ปลูกผักกินเอง วิกฤตทางธรรมชาติกระตุ้นให้ปูพื้นฐานทักษะชีวิตจนแน่น เพื่อจะมีคุณสมบัติแบบตุ๊กตาล้มลุก แม้ในเวลาที่พบปะกับความโชคร้ายอย่างกะทันหัน
แนวคิดเหล่านั้นกลายมาเป็นรากฐานของบ้าน Beehive และโปรเจกต์ที่มีเพิ่มเติมในอนาคต
ทาวน์โฮมหลังนี้คือบ้านที่เช่าไว้ให้ลูกชาย 2 คนมาอาศัยระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย โดยยึดคอนเซปต์ “Eco-friendly, Healthy and Zero Waste”
บ้านหลังนี้ไม่มีทิชชู ไม่มีถังขยะด้วยซ้ำ ขยะจะเป็นความรับผิดชอบของเจ้าตัวที่ต้องเก็บแล้วนำออกไปทิ้งด้วยตัวเอง ข้อปฏิบัติเหล่านี้ใช้กับเจ้าบ้าน ลูกชาย รวมถึงเพื่อนๆ ของพวกเขาที่แวะมาสังสรรค์ด้วย
“เราไม่จำเป็นต้องชักจูงเด็ก เราหันกลับมามองตัวเองว่าเราทำอะไร ส่งต่ออะไรได้ ลูกๆ หลายคนอาจจะบอกว่าแม่หัวโบราณ แต่เรื่องแบบนี้มันเบลนด์กันได้ เขาชอบ เขาสนใจ มันก็จะซึมไปเอง”
บ้าน Beehive ยังมีมุมล้างจานที่ต้องแนะนำให้แขกรู้จัก เพราะเพื่อนๆ ของเหล่าลูกชายจะต้องรับผิดชอบความสะอาดของจานชามช้อนส้อมด้วยตัวเองหลังจบปาร์ตี้ โดยน้ำยาทำความสะอาดล้วนเป็นออร์แกนิก
“เราอยากทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัจจัย 4 เสื้อผ้า ของกิน ของใช้ในครัวเรือน ส่วน Beehive เป็นที่อยู่อาศัย” บีลิสต์หมวดหมู่ของใช้โดยเว้นหยูกยาไว้ เป็นที่รู้กันว่าอาจต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้าง
ทุกคนพอจะเห็นภาพความเป็นอยู่ภายใน Beehive คร่าวๆ แล้วใช่ไหม งั้นเราไปต่อที่เสื้อผ้าและอาหารการกินกันเลย
โคก หนอง นา
พื้นฐานของเสื้อผ้าคือการเป็นเครื่องนุ่งห่ม
บีตัดเสื้อผ้าใส่เอง มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด และเธอเชื่อว่าถ้าเธอทำได้ ทุกคนก็ทำได้
กิมมิก 2 ข้อที่พบได้ในเสื้อทุกตัวของบีคือ รูปร่างสี่เหลี่ยมและการไม่เย็บเก็บขอบผ้า
เสื้อผ้ามีทรงสี่เหลี่ยมตามทรงเดิมของผ้าที่ใช้ตัด เกิดจากผ้า 2 ผืนทบกันแล้วเย็บอย่างง่าย มีช่องสำหรับสอดหัวและแขน 2 ข้าง บีเลี่ยงการตัดแต่งทรวดทรง เพราะไม่ต้องการสร้างขยะ
“เราว่าขยะเป็นศูนย์จะดีที่สุด ไม่งั้นต้องมานั่งคิดนวัตกรรมจัดการขยะ หรือหาวิธี Upcycle ขยะ”
เสื้อตัวยาวเป็นเดรส ส่วนเสื้อสี่เหลี่ยมจัตุรัสใช้ใส่เป็นเสื้อก็ได้ ผ้าพันคอก็ดี ผ้าบางแบบนุ่งเป็นกางเกงได้ด้วยซ้ำ เสื้อผ้า 1 ชิ้นประยุกต์ใส่ได้หลายวิธีเลย
“เราเล่นสนุกกับมันแบบนี้ และมันใช้งานได้จริง”
คนเคยใช้กรรไกรตัดปลายโบผูกผมจะรู้ดีว่า ด้ายผ้าหลุดรุ่ยออกมาได้เรื่อยๆ จนโบหดสั้นลง บีจึงใช้วิธีฉีกด้วยมือแทนการใช้กรรไกร ผ้าจะขาดตามแนวด้ายของผ้า เมื่อนำไปเย็บเป็นเสื้อก็ไม่จำเป็นต้องเก็บขอบด้ายจนเนี้ยบ
“เราอยากทำเสื้อผ้าที่หยุด Fast Fashion และมันต้องง่ายที่สุด แถมการเย็บขอบต้องใช้จักรเย็บผ้าที่กินไฟมากกว่าจักรเย็บทั่วไป”
ความจริงแล้วบีก็เคยอินกับแฟชั่นมากจนซื้อเสื้อผ้าเกินความจำเป็น ทั้งมีเสื้อแบบเดียวกันหลายสี และเสื้อแบบเดียวกันหลายไซซ์
หลังคราฟต์เสื้อผ้าตัวเองเป็น มันนำมาสู่ข้อสรุปที่บีย้ำบ่อยๆ ว่า “เสื้อผ้าคือเครื่องนุ่งห่ม”
คอลเลกชันที่บีโชว์ชื่อว่า ‘แปลงนา’ มาในธีม ‘โคก หนอง นา’ ที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ และการจัดสรรพื้นที่การเกษตรของแต่ละครัวเรือน สิ่งนี้สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย และยิ่งสอดคล้องกับการใช้ชีวิตโดยพึ่งตนเองของบีในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
Beegin
กินดีอย่างรู้ที่มา
การกินอย่างรู้ที่มาถือเป็นหัวใจสำคัญของการกินดี
ความรู้เกี่ยวกับอาหาร 5 หมู่ควรมาพร้อมกับการคัดคุณภาพวัตถุดิบให้เป็น เพราะทั้งเนื้อและผักตามท้องตลาดอาจมีสารเคมีปนอยู่ บีตั้งคำถามเกี่ยวกับที่มาที่ไปของอาหาร เพื่อทำความรู้จักผู้ผลิต รวมถึงมองหากระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
Beegin ถือเป็นการรวบรวมวัตถุดิบจากต้นทางที่ไว้ใจได้ ทั้งของบีกับเหน่ง ทั้งของเกษตรกรที่รู้จัก ถ้าอยากกินอะไรก็โทร.สั่งจากฟาร์มได้โดยตรง
“Beegin เริ่มจากการเห็นคุณค่าของอาหาร นี่คือความฟินของชีวิตนะ เรารู้จักทั้งคนออกทะเล ชาวนา คนทำสวนมะพร้าว แล้วพอกินดี สุขภาพเราก็ทรงตัว มันช่วยคนรอบข้างและประเทศ ถ้าไม่ใช่อุบัติเหตุ เราก็แทบไม่ไปหาหมอ เราว่าการกินเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก”
ต้องเท้าความถึงปี 2554 บีหันมาปลูกผักโดยตั้งเป้าหมายว่าจะพึ่งพาตนเอง เธอไปเรียนปลูกผักกับคนที่ปลูกในบ้านไร้พื้นดิน จนตอนนี้บีใช้บ้านร้างท้ายหาดวอนทำแปลงผักของตัวเอง และเคยจัดตลาดเล็กๆ ที่นั่นเพื่อส่งต่อแนวคิด ‘กินอย่างรู้ที่มา’
การกินของท้องถิ่นเป็นผลดีกับผู้ผลิตในพื้นที่โดยตรง มันสร้างรายได้และยกระดับสวัสดิภาพของพวกเขา ซึ่งครอบคลุมแรงงานผิดกฎหมายด้วย ตามที่ชาวประมงคนหนึ่งบอกบีไว้ว่า “กินของชาวประมง ช่วยซื้อชีวิตคนได้เลยนะ”
บียังมองไปถึงการลดคาร์บอนในขั้นตอนการขนส่ง ไหนจะแนวคิด Zero Waste ที่สอดแทรกในกระบวนการทำอาหาร ยกตัวอย่าง Zero Waste Drink ของเม็กซิโกที่ทำจากเปลือกสับปะรด
Beegin ออกเสียงเหมือนคำว่า ‘เริ่มต้น’ (Begin) ในภาษาอังกฤษ คำนี้ทรงพลังมากสำหรับบี เมื่อเริ่มกินอย่างมีความรับผิดชอบในมุมหนึ่ง ความรับผิดชอบนั้นจะขยายไปครอบคลุมแง่มุมอื่นๆ แล้วจากการเปลี่ยนแปลงในระดับปัจเจก ก็กลายเป็นความเปลี่ยนแปลงระดับสังคมได้
ที่สำคัญคือการเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นทำตามหรือนำไปปรับใช้ หากทำสำเร็จก็จะการันตีการเปลี่ยนแปลงที่ต่อเนื่องยั่งยืน
“การใช้ชีวิตแบบรู้ตัวมันสำคัญ ลูกชายก็กินตามเรา เขาให้ความสำคัญกับอาหารเหมือนเรา”
ทุกซอกทุกมุม
Art-Eat-Craft Market
เมื่อเหล่าลูกชายเรียนจบ ทุกคนต้องการขายโละของทุกอย่างในบ้าน Garage Sale นี้ใช้ชื่อว่า ‘ทุกซอกทุกมุม’
“พี่ชอบคำว่าทุกซอกทุกมุมนะ มันคือที่ใดก็ตามที่เปิดโอกาสให้เกิดสิ่งใหม่ได้”
เจ้าบ้านเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าอื่นๆ มาร่วมเปิดกิจการภายใต้ธีม ‘Art-Eat-Craft Market’ ก่อนต่อยอดมาเป็นชื่อบ้าน ‘Beehive Art-icle Rare’
สินค้าที่นำมาขายล้วนเป็นของแฮนด์เมด หรืออาหารที่ระบุที่มาที่ไปของวัตถุดิบชัดเจน แถมต้องลดการใช้บรรจุภัณฑ์ หรือใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และงดใช้ถุงพลาสติกด้วย
“เราจัดจากชั้นล่างไปถึงดาดฟ้าที่มีดนตรีเล่น ลูกๆ เพื่อนเอาของมาฝากขาย ห้องน้ำชั้นบนก็มีคนเอามาเสื้อมาแขวน ของแน่นบ้านเลย ทุกซอกทุกมุมไง แล้วพอผลตอบรับการจัดงานแนวตั้งมันดี เราอยู่ที่นี่แล้วทำสิ่งที่อยากทำต่อไปได้” นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมเจ้าบ้านตัดสินใจเช่าบ้านต่อหลังลูกเรียนจบ
Beehive Art-icle Rare ไม่มีคำนิยามหรือบทบาทตายตัว นอกจากตลาดงานคราฟต์ บ้านหลังก็นี้เคยเข้าร่วมโปรแกรม Galleries’ Nights ดึงศิลปินมาแสดงงาน INTO SITA DRAWING (เมื่อสีดา…วาดรูป) ในรูปแบบ Performance Art
“หลายคนคิดว่าการทำสเปซมันยาก หรือต้องทำเท่ๆ แต่เราอยากให้ทุกคน Do what you can with what you have where you are”
หากสรุปแบบตรงไปตรงมา พอตัดอีโก้ออกแล้วจะพบว่าแม้แต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็มีความหมาย
Wednesday Club
ชมรมแจ๊ซประจำวันพุธ
บางแสนคือเมืองของคนที่มีดนตรีในหัวใจ ไม่ว่าคุณจะไปอยู่ส่วนไหนของเมือง จะต้องสุ่มเจอคนที่เล่นเครื่องดนตรีเป็น ไม่ก็ร้องเพลงเป็น
มหาวิทยาลัยบูรพามีคณะดนตรีและการแสดง (เอกแจ๊ซก็มี) แต่พอมองหาบาร์แจ๊ซดันหาไม่เจอ ส่วนใหญ่เป็นบาร์ที่เปิดเวทีให้ร้องเพลงป๊อปและเพลงแมส
Wednesday Club ถือกำเนิดจากวันที่บีและเหน่งถามหาบาร์แจ๊ซ เพื่อนที่เป็นอาจารย์คณะดนตรีและการแสดงก็พานักศึกษามาแนะนำซะเลย สาเหตุที่รวมกันวันพุธก็เพราะเป็นวันที่หลายฝ่ายว่างตรงกัน
นักศึกษาทั้ง 2 คน ยังนึกเกรงใจ บอกเจ้าบ้านว่า “พวกผมไม่มีนักร้องนะ” แต่พอเครื่องติดก็โชว์ฝีมือประสานและประชันกันมันหยด ครั้งหนึ่งยิงยาว 1.30 ชั่วโมง โดยไม่มีพักเบรก
“เขาเล่าว่าเคยไปเล่นที่อื่นนะ แล้วเขาก็เลิก เพราะไม่มีใครฟังเลย แต่ตอนนี้เขามีแรงซ้อมแจ๊ซ เพราะเขามีที่ให้เล่นแล้ว และน้องเก่งขึ้นทุกวัน”
หนึ่งในแฟนคลับขาประจำคือเหน่ง คนที่จะปรบมือชอบใจให้กับทุกการแสดง อีกคนคือบีผู้ไม่เข้าครัวหลัง 4 ทุ่ม และปิดรับออเดอร์ตอน 3 ทุ่ม เพราะจะมานั่งดื่มด่ำกับดนตรีตรงหน้าแทน
คลับนี้ต้อนรับนักดนตรีขาจรมามาก การรวมตัวเล่นกับคนใหม่จึงเกิดขึ้นได้เสมอ บางคนได้ฝึกซ้อม บางคนได้ลองเล่นเครื่องดนตรีใหม่ รวมถึงนักร้องที่ไม่ได้มีโอกาสร้องแจ๊ซที่อื่น Wednesday Club นั้นโอบรับความหลากหลายทางดนตรี และเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพมากมาย
“เมืองนี้น่าจะอู้ฟู่ไปด้วยดนตรีในตรอกซอกซอย ไม่เฉพาะในบาร์ แต่มีสถานที่ที่วงดนตรีเล่นได้อย่างใจ น้องๆ เหมือนปลาได้น้ำใหม่ เขาตื่นเต้นกันมาก” บีกล่าว
ชมรมนี้จะมีอายุครบ 1 ขวบในตุลาคมปี 2567 ด้วยจำนวนวันทำการเพียงกว่า 40 วันเท่านั้น เนื่องจากเปิดวันพุธวันเดียว
“เราเป็นลุงป้า 2 คนที่ได้ฟังเพลงที่ชอบในบ้านของตัวเอง กินอาหารดี บรรยากาศดี นี่ก็เป็นความหรูหราในชีวิตแล้วนะ”
Open Hours: เปิดทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 18.00 น.
Map: https://maps.app.goo.gl/KapkFWTZQ3FB5ZSD8
ติดตาม Beehive Art-icle Rare ได้ทาง Beehive Art-icle Rare Bangsaen