- เป็นครั้งแรกที่จีนได้เป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาว แม้โลกยังคงตกอยู่กลางวงล้อมของโควิด แต่ The Show Must Go On การจัดงานครั้งนี้อาจจะดูเงียบเหงา ไร้เสียงเชียร์ แต่รู้ไหมว่า เบื้องหลังการเตรียมงานมหกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ จีนพยายามอย่างมากเพื่อให้งานออกมาดีที่สุดและแน่นอน ‘รักษ์โลก’ ที่สุดด้วย
- ONCE ประมวล 14 เรื่องที่เราเชื่อว่าจีนน่าจะทำให้โลกต้องจำจากมหกรรมกีฬาในครั้งนี้
เปิดฉากไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง หรือที่เรียกกันว่า Beijing 2022 บอกเลยว่าต้องนับถือความพยายามของจีนที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์อย่างถึงที่สุด เพื่อเตรียมความพร้อม กับการเป็นเจ้าภาพท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด
แม้ไม่ใช่ทัวร์นาเมนต์ที่ผู้คนทั่วโลกรอคอยเหมือนฟุตบอลโลกหรือโอลิมปิกฤดูร้อน แต่โอลิมปิกฤดูหนาวก็ถือเป็นหนึ่งในรายการสำคัญของวงการกีฬา...และนี่คือ 14 เรื่องที่จีนจะทำให้โลกต้องจำมหกรรมกีฬากลางหิมะสีขาวในครั้งนี้
1.
นับเป็นครั้งแรกของกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่จัดขึ้นในจีน (เป็นครั้งที่สามในเอเชีย ถัดจากเมืองโตเกียว ของญี่ปุ่น และเมืองพย็องชัง เกาหลีใต้) โดยปักกิ่งเป็นเมืองแรกที่ถูกใช้เป็นสถานที่จัดทั้งโอลิมปิกฤดูร้อน เมื่อ 2008 และโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 2022
2.
สโลแกนของโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 คือ ‘Winter Dream’ หรือ ความฝันแห่งฤดูหนาว เพื่อสะท้อนถึงความสำเร็จในการสานฝันเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวของจีน ส่งเสริมให้ชาวจีนหันมาเล่นกีฬาฤดูหนาวกันมากขึ้น
3.
สำหรับตัวมาสคอตสุดคิวท์ คือแพนด้าสวมชุดน้ำแข็งชื่อ ‘ปิงตุนตุน’ (冰墩墩 – Bing Dwen Dwen) เป็นชื่อภาษาจีนกลาง โดยคำว่า ’ปิง’ แปลว่าน้ำแข็ง แต่อีกนัยก็แสดงถึงความบริสุทธิ์ และความแข็งแกร่งในวัฒนธรรมจีน ส่วน ’ตุนตุน’ แปลว่า ความเข้มแข็งและมีชีวิตชีวา
การออกแบบมาสคอตตัวนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากขนม ‘ปิงถังหูหลุ’ ทางภาคเหนือของจีน น้ำตาลที่เคลือบขนมนั้นมีความโปร่งใสเหมือนกับน้ำแข็ง มาสคอตมีขนสีขาวดำ ตามแบบฉบับแพนด้าทั่วไป แต่พิเศษตรงที่สวมชุดเกราะทำจากน้ำแข็งทั้งตัว แถมชุดเกราะนี้ ยังเปล่งรัศมีหลากหลายสีสันบริเวณรอบกรอบหน้าคล้ายกับชุดนักบินอวกาศ เป็นสัญลักษณ์ของเทคโนโลยี และการส่งเสริมแนวคิดอนาคตแห่งความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด ส่วนรูปหัวใจสีแดงบนฝ่ามือเป็นสัญลักษณ์ ของการต้อนรับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกอย่างอบอุ่นในฐานะประเทศเจ้าบ้าน
4.
รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเป็นมหกรรมกีฬาสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับนโยบายพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่จะใช้เทคโนโลยี Carbon Dioxidn Trans critical Direct cooling ในการทำน้ำแข็ง ลดการใช้พลังงานได้กว่า 40% เมื่อเทียบกับวิธีเดิม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 119 มาตรการ ภายใต้ 12 แผนปฏิบัติการตามที่ระบุในแผนความยั่งยืน โดยจีนเป็นประเทศแรก ที่กล้าให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดโอลิมปิกแบบคาร์บอนเป็นศูนย์
5.
ในการแข่งขันครั้งนี้ มีสถานที่จัดแข่งขันใหญ่ 3 แห่ง สถานที่แรกคือใจกลาง ‘กรุงปักกิ่ง’ ดัดแปลงและปรับปรุงสนามกีฬาเดิม 5 แห่ง ที่เคยใช้ตอนแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน พื้นที่แห่งที่สอง คือ ’เหยียนชิ่ง’ อยู่ชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากกรุงปักกิ่งไปประมาณ 70 กม. และพื้นที่แห่งที่สาม อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 100 กม. ‘เมืองจางเจี๋ยโกวมณฑลเหอเป่ย’ ซึ่งเป็นสนามแข่งขันที่มีแผนใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด
6.
Green Olympic ที่ว่าคือ ใช้ระบบการขนส่งสีเขียว นอกจากการก่อสร้างพื้นที่สนาม จัดการแข่งขันและภูมิทัศน์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว คณะกรรมการจัดงานฯ ยังวางแผนใช้ระบบการขนส่งสีเขียว อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟใต้ดิน รถยนต์ไฟฟ้า และจุดชาร์ตไฟสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าว่ากว่า 85% ของการเดินทางเข้าออกสนามกีฬาและศูนย์ฝึกซ้อมจะเป็นพาหนะที่ใช้พลังงานสีเขียว รวมถึงรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-จางเจี๋ยโกวได้ถูกก่อสร้างขึ้น ซึ่งช่วยลดระยะเวลาของการเดินทาง ระหว่างปักกิ่งจางจางเจี๋ยโกว จากเดิม 3 ชั่วโมงเหลือเพียง 1 ชั่วโมง และปักกิ่ง-เหยียนชิ่งจาก 2 ชั่วโมงเหลือไม่ถึงครึ่งชั่วโมง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว และค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย
6.
ที่โดดเด่นเป็นสง่าอีกจุดหนึ่งคือ หอคอยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากแสงอาทิตย์ ‘Solar Tower’ ที่ติดตั้งโลโก้สัญลักษณ์ของโอลิมปิกขนาดความกว้าง 38 เมตร และความสูง 17 เมตร เพื่อใช้เป็นแลนด์มาร์ก ตอกย้ำความเป็น ‘โอลิมปิกสีเขียว’ โดยหอคอยนี้ตั้งอยู่ที่สนามแข่งขัน ในเขตเหยียนชิ่ง มีความสูงเกือบ 120 เมตร และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จด้านนวัตกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ของจีน
7.
ก่อนหน้านี้อำเภอฉงหลี่ ในเมืองจางเจี๋ยโกว หนึ่งในพื้นที่จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเกือบทุกรายการ ติดอันดับอำเภอที่ยากจนมาก มีประชากรกว่า 100,000 คน อยู่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนของจีน แต่แล้วดินแดนภูเขาแห่งนี้ก็ถูกพลิกโฉมให้กลายเป็นสวรรค์ ของนักเล่นสกี มีโรงแรมห้าดาวและรีสอร์ทมากกมายตั้งอยู่เพื่อให้บริการแก่นักเล่นกีฬาฤดูหนาว สามารถเดินทางด้วย ไฟความเร็วสูงเชื่อมถึงกันภายในเวลาการเดินทางเพียง 40 นาที ด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับเวิลด์คลาสเช่นนี้ เมื่อปี 2019 นิวยอร์กไทมส์จึงได้เขียนถึงอำเภอฉงหลี่ว่าเป็นหนึ่งใน 52 แหล่งท่องเที่ยวเพื่อเล่นสกีดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และช่วยให้ฉงหลี่พ้นออกจากลิสต์ความยากจนได้ในที่สุด
8.
ในอดีตกีฬาฤดูหนาวในจีนถูกมองว่าเป็นงานอดิเรกสำหรับชาวต่างชาติและมีราคาแพง เมื่อประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ตั้งเป้าส่งเสริมให้ชาวจีน 300 ล้านคนเล่นกีฬาฤดูหนาวภายในปี 2025 ด้วยเหตุนี้ สกีจึงเป็นกระแสที่มาแรงแซงทุกโค้ง กลายเป็นกระแสนิยม ชาวจีนหันมาสนใจเล่นสเก็ตน้ำแข็งและสกีกันมากขึ้นโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา ทั่วประเทศจีนมีการสร้างลานกีฬาน้ำแข็งขึ้นใหม่ประมาณ 450 แห่ง รวมเป็น 654 แห่งในปัจจุบัน ขณะที่มีการลงทุนสร้างสกีรีสอร์ตทั้งแบบในร่มและกลางแจ้งใหม่ๆ ก็มีสองร้อยกว่าแห่ง รวมเป็น 803 แห่ง แม้บางแห่งต้องปิดตัวอยู่เป็นพักๆ ระหว่างที่เกิดโรคระบาดใหญ่
9.
งานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 เป็นหนึ่งในโอกาสที่ดีที่สุดที่จีนจะมีการเปิดตัวการใช้จ่ายผ่าน ‘หยวนดิจิทัล’ หรือ e-CNY และทดลองใช้เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการในงานนี้ด้วยเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่และเป็นมหาอำนาจออกสู่สายตาชาวโลก
11.
หนึ่งในสถานที่จัดการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ คือ ศูนย์การแข่งขันสกีกระโดดไกลแห่งชาติของจีน ตั้งอยู่ในเมืองจางเจี๋ยโกว มีชื่อว่า ‘เสวี่ยหรูอี้’ ที่มีเส้นทางสกีกระโดดยาวที่สุดในโลก! ด้วยความสูงจากพื้นถึงยอด เทียบเท่าความสูงของตึกราวๆ 50 ชั้น โดยลานสกียักษ์นี้มีลักษณะโค้งเป็นรูปตัว S คล้ายกับ ‘หรูอี้’ วัตถุมงคลนำโชคของจีน และแน่นอนว่าที่นี่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลเรียบร้อยแล้ว
12.
ตื่นตากับหมู่บ้านนักกีฬาซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูงราวๆ 900 เมตร กลางหุบเขาเขตหยางชิง มีการคาดการณ์ว่า ในบางวันพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬาอุณหภูมิอาจจะลดลงถึง -20 องศา ที่นี่จะเป็นที่พักของนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จาก 44 ประเทศ รองรับทัพนักกีฬาและเจ้าหน้าที่มากกว่ากว่าพันคน แถมห้องพักยังติดตั้งเตียงอัจฉริยะที่จีนพัฒนาขึ้น เพื่อให้นักกีฬาได้นอนหลับพักผ่อน เตียงดังกล่าวมาพร้อมเซนเซอร์ภายใน ปรับรูปแบบของเตียงให้เข้ากับสรีระของนักกีฬาแต่ละคน ใช้รีโมตคอนโทรลปรับเตียงให้เหมาะกับอิริยาบถ สามารถเก็บข้อมูลการนอนหลับ อัตราการเต้นของหัวใจ อัตราการหายใจของนักกีฬา ฯลฯ แล้วแสดงผลเป็นรายงานสุขภาพของนักกีฬาแต่ละคนส่งตรงให้โค้ช ได้นำไปวิเคราะห์กันเลยทีเดียว
13 .
นอกจากเรื่องราวด้านการแข่งขันแล้ว จีนยังได้สร้างตึกทรงน้ำแข็งต้อนรับผู้มาเยือนด้วย เพื่อโชว์ถึงความเฟื่องฟูด้านสถาปัตยกรรม ‘Xinxing Cultural Tourism Center’ หรือศูนย์ท่องเที่ยวและวัฒนธรมแห่งซินเซียงซึ่งมีทั้งห้องอาหาร ห้องสมุด และจุดชมวิวบนดาดฟ้า ถูกออกแบบภายใต้แรงบันดาลใจและคอนเซ็ปต์ก้อนน้ำแข็ง โดยผิวกระจกพิมพ์ลายเกล็ดหิมะซ้อนๆ กันหลายชั่น อาคารเป็นรูปทรงกล่องแต่มีการวางองศาบิดมุมให้เกิดมิติแปลกตา และมีฟาซาดกระจก เมื่อโดนสาดแสงในยามค่ำคืนก็จะคล้ายกล่องเรืองแสงสะท้อนผืนน้ำงดงามตระการตา
14.
อีกเรื่องน่าฮือฮาคือจีนได้สร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ลึกที่สุดในโลก! เป็นสถานีที่อยู่ลึกลงไปจากกำแพงเมืองจีน ไม่เพียงเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังเพื่อใช้สำหรับงานปักกิ่ง 2022 โอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ด้วย นักกีฬาและเจ้าหน้าที่สามารถเดินทางระหว่างสองสถานีหลักในสองเมืองเจ้าภาพสะดวกสบาย นั่นก็คือระหว่างกรุงปักกิ่งกับเมืองจางเจี๋ยโกวซึ่งเป็นเมืองเจ้าภาพร่วมกับปักกิ่ง แน่นอนว่ารถไฟขบวนนี้วิ่งผ่าน สถานีปาต้าหลิง กำแพงเมืองจีน ซึ่งเป็นจุดชมกำแพงเมืองจีนยอดนิยมของนักท่องเที่ยว
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มจากจีนที่จะปล่อยของในงานโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่เราเชื่อว่าคงยังไม่หมดเพียงเท่านี้ งานนี้ไม่เพียงทำให้จีนได้รับสปอตไลท์ในเวทีโลกฉายแสงลงมาเท่านั้น หากยังบอกกล่าวเป็นนัยว่ามหกรรมกีฬาโอลิมปิกกำลังพาตัวเองไปสู่มหกรรมที่รักษ์โลกมากขึ้น เป็นเมกะสปอร์ตอีเว้นท์แห่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากขึ้น ใครไปถึงเป้าหมายนี้ได้…ผู้นั้นชนะ!
ที่มา
https://www.dailymail.co.uk/femail/article-10453589/US-athlete-shows-plush-REMOTE-CONTROLLED-beds-Olympic-Village-China.html
https://www.xinhuathai.com/china/
https://www.sportsengine.com/olympics/meet-bing-dwen-dwen-mascot-2022-winter-olympic-gameshttps://olympics.com/en/beijing-2022/mascot
https://amazingarchitecture.com/cultural-center/xinxiang-cultural-tourism-center-lighting-by-prol