สวัสดีบรูด้า
เรื่องสนุกจากคาตามารันที่พาไปส่อง ‘บรูด้า’ วาฬสีหวานกลางอ่าวไทย
- แม้ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคมของทุกปี เป็นฤดูมรสุม แต่ว่าช่วงเวลานี้แหละที่เหมาะกับการดูวาฬบรูด้ามากที่สุด
- วาฬบรูด้าอาศัยอยู่บริเวณอ่าวไทยตอนบน เนื่องจากบริเวณนี้มีระดับความลึกที่เหมาะสม เป็นปากแม่น้ำสำคัญ 5 สายที่ไหลลงสู่อ่าวไทย ทำให้มีปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของวาฬบรูด้าอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์
- บรูด้าเป็นวาฬที่เป็นมิตร พฤติกรรมล่าเหยื่อของบรูด้าที่สังเกตได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นอ้าปาก ตีหางคือสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากเห็น บรูด้าจึงเป็นวาฬที่เหมาะกับกิจกรรม Whale Watching มากที่สุด
กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปทริปล่องเรือคาตามารันจากจังหวัดสมุทรสงครามออกทะเลอ่าวไทยเพื่อไปดู ‘บรูด้า’ วาฬที่ถูกขนานนามว่า ‘เป็นวาฬสีหวานที่สุดในโลก’ เลยจากเล่าเรื่องสนุกๆ ของการไปดูวาฬบรูด้า ณ ทะเลอ่าวไทยให้ฟัง บอกเลยว่าสนุก ตื่นเต้น ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ควรไปสักครั้งในชีวิต
‘บรูด้า’ วาฬในตำนานของอ่าวไทย
วาฬบรูด้าอาศัยอยู่อ่าวไทยตอนบนเป็นหลัก เพราะบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีระดับความลึกที่เหมาะสม และที่สำคัญคือมีปลาขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารอันโอชะของวาฬบรูด้าอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำหลักของไทย 5 สายไหลลงมาบรรจบกัน ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำบางตะบูน
วาฬในประเทศไทยเป็นวาฬเขตร้อน-น้ำตื้น อาศัยอยู่ตามแนวเส้นศูนย์สูตรรอบโลก เป็นสัตว์ที่ไม่อพยพไกล และเมื่อถึงช่วงหน้าหนาววาฬบรูด้าจะลงไปบริเวณจังหวัดชุมพร-สุราษฎร์ธานี
จุดเด่นสำคัญของวาฬบรูด้า บนหัวมีสันสามเส้นจึงได้อีกชื่อหนึ่งว่า วาฬแกลบสามสัน แม้ว่าขนาดวาฬบรูด้าที่เราเห็นกันในรูปก็ว่าใหญ่มากแล้ว แต่จริงๆ แล้ววาฬบรูด้าเมื่อเทียบในบรรดาวาฬโลก มีขนาดที่เล็กมากอยู่อันดับรั้งท้ายเลยทีเดียว
ชาวต่างชาติยกย่องว่าวาฬบรูด้าเป็นวาฬชนิดที่เหมาะสมที่จะมาทำกิจกรรมดูวาฬมากที่สุด (Best whale watching) เนื่องจากอาศัยอยู่บริเวณคลื่นลมสงบ ใกล้ปากอ่าว และมีพฤติกรรมที่สังเกตง่าย นั่นคือการอ้าปากกินเหยื่อโดยเฉพาะในประเทศไทยบริเวณอ่าวไทยตอนบน
หากใครที่ยังไม่เคยเข้าใจคำว่า “คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล” เราแนะนำกิจกรรมดูวาฬ เพราะคุณจะได้นั่งเรือออกจากปากอ่าวไกลมากๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง ภาพที่เห็นก็คือท้องทะเลอันแสนเงียบสงบ เวิ้งว้างสุดสายตา ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ของชีวิตที่ต้องไปลองให้เห็นกับตาสักครั้ง
ดูวาฬแบบมีเรื่องราว
สมัยก่อนจะมีคำพูดติดปากว่า “เมืองไทยไม่มีวาฬ” เป็นความเชื่อที่ฝังหัวคนไทยในยุค ก่อนมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 มีการถ่ายภาพวาฬได้ครั้งแรก โดยภาพที่ได้มาจากการดำน้ำตัวเปล่าถ่ายวาฬ 9 ปีถัดมาในพ.ศ.2544 สามารถถ่ายวาฬจากบนเรือได้ครั้งแรกที่ทะเลบ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถือว่าเป็นการถ่ายภาพวาฬได้ในบริเวณที่ใกล้ชายฝั่งมาก และภาพวาฬที่พบในครั้งนั้นอยู่ในบริเวณใกล้กับพื้นที่ที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อมาจึงมีการยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวไปในที่สุด
วิทยากรวาฬความรู้แน่น
การดูวาฬครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณปริญญา ผดุงถิ่น หรือพี่ปุ๋ย ช่างภาพชื่อดังในวงการภาพถ่ายสัตว์ป่ามากประสบการณ์ มาให้ความรู้เรื่องวาฬบรูด้าแบบจัดเต็มในทุกมิติ บอกเลยว่าได้ความรู้ติดตัวกลับไปมากมายเลยทีเดียว
อีกคนหนึ่งคือกัปตันเรือของเรา ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คุณมงคล เกียรติกาญจนกุล หรือสกิปเปอร์ใต้ ผู้ที่ถ่ายภาพวาฬใต้น้ำได้คนแรกเมื่อปีพ.ศ. 2535 นั่นเอง
ดูวาฬบนเรือคาตามารัน…ไม่ซ้ำแบบใคร
ข้อดีของการใช้เรือคาตามารันล่องดูวาฬ อย่างแรกคือความหรูหรา สะดวก สบาย และเรือคาตามารันเป็นเรือสองท้องขนานกันไม่ยวบเหมือนเรือท้องเดียว มีความมั่นคง หากมีจำนวนคนที่เทไปยังด้านไหนด้านหนึ่งเรือก็ไม่ลาดเอียงแต่อย่างใด มึความปลอดภัยสูง ที่สำคัญ เวลาล่องเรือคาตามารัน เรือเราจะโดดเด่นมากกลางทะเล ด้วยรูปทรงของเรือที่สวยเจิดเวลากางใบ เราว่าถ้าชวนแกงค์เพื่อนเหมาคาตามารันล่องดูวาฬ คงได้รูปเก๋ๆ มากมายเลย
ในอ่าวไทย…วาฬทุกตัวมีชื่อเรียก
นักวิจัยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งใช้วิธีการสำรวจ หรือที่เรียกว่า “Photo ID” โดยพาช่างภาพไปไล่ถ่ายวาฬบรูด้าในทะเลไทย และนำมาจำแนกตามตำหนิของแต่ละตัว เช่น วาฬไม่มีกระโดงตัวนี้ชื่อแม่ศรีสุข เมื่อแม่ศรีสุขมีลูกก็ชื่อสีสัน แล้วนำมาบันทึกเป็นตระกูลวาฬ เหมือนแฟมิลี่ทรีนั่นแหละ แต่เราเรียกกันว่า ‘สาแหรกวาฬ’
ดูวาฬบรูด้า…หูตาต้องไว!
พี่ปุ๋ยบอกวิธีการสังเกตวาฬบรูด้าว่า ให้ดูจากลักษณะน้ำที่เป็นฟองปุดๆ อยู่กลางทะเลแล้วหายไป นั่นคือจุดสังเกตว่าบริเวณนั้นจะมีวาฬบรูด้า เนื่องจากวาฬชนิดนี้มีพฤติกรรมปล่อยฟองใต้น้ำเพื่อต้อนเหยื่อ หรือสังเกตจากนกนางนวลแกลบที่มาเกาะบนตัววาฬ ซึ่งนกนางนวลแกลบนี้จะอพยพมาในช่วงต้นหน้าหนาวเดือนกันยายน-ตุลาคม
เสียงเฮสนั่นเวลาเจอวาฬ
การนั่งเรือออกมาจากปากอ่าวถึงสองชั่วโมง ฝ่าคลื่น ไอทะเลมาเป็นเวลานาน…ทุกคนย่อมมีความหวังที่จะได้เห็นวาฬบรูด้าตัวเป็นๆ เมื่อถึงจุดที่เริ่มจะสังเกตวาฬได้ เรือจะค่อยๆ ช้าลง ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของทุกคนบนเรือที่ต้องช่วยกันสังเกต บอกเลยว่าเมื่อใดก็ตามที่เราได้ยินเสียง “โน่นไงๆๆ” พร้อมชี้นิ้วไปยังตำแหน่งที่พบ ทุกสายตาล้วนจับจ้องไปยังตำแหน่งที่ต้นเสียงนั้น หากเราเห็นสิ่งมีชีวิตลักษณะโค้งมนผิวสีดำน้ำเงินโผล่ขึ้นเหนือน้ำ เมื่อนั้นบรรยากาศของคนบนเรือก็จะครึกครื้นยิ่งกว่าเวลาเชียร์กีฬาสีสมัยประถมเสียอีก เป็นช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและฮึกเหิมเป็นอย่างมาก
ลุ้นทุกช่วงขณะ
การดูวาฬในประเทศไทยปกติแล้ว ควรเห็นวาฬอ้าปากเหนือผิวน้ำเพื่อกินเหยื่อ ถ้าพีคกว่านั้น เราอาจเห็นพฤติกรรมตีหางของวาฬ แต่ถ้าพีคขั้นสุดของนักดูวาฬหรือช่างภาพนั่นคือ การได้เห็นวาฬกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ ดังนั้นทุกวันสำหรับนักดูวาฬแล้ว มันคือโอกาส ในวันที่เราไปเราอาจจะได้เห็นวาฬตีหางหรือกระโดดก็เป็นไปได้ (จุดสังเกตคือถ้าวาฬว่ายเร็วผิดปกตินั่นเป็นสัญญาณว่าวาฬอาจจะตีหางหรือกระโดด)
มีโอกาสได้เห็นวาฬคู่แม่-ลูก
เนื่องจากธรรมชาติของวาฬบรูด้า แม่-ลูกจะตัวติดกัน ไปไหนมาไหนด้วยกันถึงสองปี หลังจากนั้นลูกถึงจะแยกออกจากแม่ ในวันที่เราไปเราก็เห็นวาฬคู่แม่ลูกเช่นกันนั่นคือ วาฬแม่ชื่อ ศรีสุขและวาฬลูกชื่อสีสัน ว่ายเคียงคู่กันอย่างสนุกสนาน ดูชิลมาก
บอกเลยว่าหากวันไหนโชคเข้าข้างเราสักหน่อย วาฬจะว่ายเข้ามาใกล้เรือของเราได้เลย เพราะนิสัยวาฬลูกชอบว่ายเข้ามาสำรวจเรือ ทำให้วาฬแม่ต้องว่ายตามเข้ามา หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมวาฬบรูด้านั้นท่าทางเป็นมิตรจัง? เนื่องจากชาวประมงไทยไม่ล่าวาฬ จากความเชื่อว่าวาฬบรูด้าเป็น ‘ปู่ทะเล” เป็นสิ่งมีชีวิตศักดิ์สิทธิ์ของทะเล เมื่อคนไม่ทำร้าย วาฬบรูด้าเลยกล้าว่ายน้ำเข้าใกล้เรือต่างๆ ที่มันพบเห็น
ถ่ายภาพวาฬ คนยกกล้องบ่อยได้เปรียบ!
ถ้าอยากเก็บโมเมนต์ของวาฬได้เยอะๆ แนะนำว่าควรถือกล้องไว้ตลอดเวลา เวลาเจอวาฬบรูด้าโผล่ขึ้นมาแล้วจะได้เก็บภาพได้ทันท่วงที ไม่แน่นะว่าภาพที่เราเก็บได้อาจจะเป็นภาพประวัติศาสตร์วาฬของประเทศไทยเลยก็ได้!
ข้อมูลอ้างอิงจากวิทยากรวาฬ: คุณปริญญา ผดุงถิ่น และขอบคุณภาพแอ็กชั่นวาฬสวยๆ จากพี่ปุ๋ย-ปริญญา ด้วยเช่นกัน
Whale Watching Tips
• เดือนที่เหมาะกับกิจกรรมล่องเรือดูวาฬบรูด้า คือ ช่วงหน้าฝนไปจนถึงต้นฤดูหนาวจะเหมาะที่สุดกับการดูวาฬ (ได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะเดือนสิงหาคม เรียกได้ว่าเป็นพีคซีซั่น จากการสังเกตของพี่ปุ๋ยที่อยู่กับวาฬทุกฤดูกาล)
• ในบางที่ (อย่างเช่นเพชรบุรี) จะจัดทริปล่องเรือดูวาฬในช่วงเดือนตุลาคม ช่วงนั้นมีนกนางนวลแกลบอพยพมาเป็นจำนวนมากทำให้เป็นจุดสังเกตวาฬง่ายและได้ภาพที่สวย เป็นสัญลักษณ์ภาพของต้นหน้าหนาว
สนใจดูวาฬแบบเรา ติดต่อที่นี่เลย Bangkok Whale Watching by Parinya ล่องเรือคาตามารันดูวาฬ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กลางเดือนตุลาคม 2565
อัตราค่าบริการ:
แบบเหมาลำ (Private trip) 12 ท่าน ราคา 30,000 บาท
จอยทริป (Join Trip) คนละ 2,500 บาท
เด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี คนละ 1,500 บาท
การเดินทาง : ลงเรือที่ท่าน้ำวัดศรัทธาธรรม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ที่จอดรถสะดวก กว้างขวาง ตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 ในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
สอบถามหรือจองทริป โทร 090-1977521 หรือติดต่อผ่านทาง Facebook fanpage https://web.facebook.com/bangkokwhalewatching