โลกที่เปลี่ยนไป วิถีแคมป์หวนคืน
เมื่อชีวิตกลางแจ้งเยียวยาทุกสิ่ง วิถีแคมป์ปิ้งจึงหวนคืน
- แคมป์ปิ้งเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงมาตั้งแต่ปี 2018 และคาดว่าจะเพิ่มสูงต่อไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนโหยหาธรรมชาติ
- มาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมการท่องเที่ยวแคมป์ปิ้ง ที่มีความเหมือนและแตกต่างกันในประเทศต่างๆ
- สิ่งสำคัญของการไปแคมป์ปิ้ง ไม่ว่าจะรูปแบบใด ต้องใส่ใจเรื่องมารยาทและการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ
โควิด-19 ทำให้ทุกคนต้องล็อกตัวเองอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม จากที่เคยได้ออกไปนู่นไปนี่ สุดท้ายก็ต้องมากักตัวอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเพื่อรอคอยวันที่ไวรัสวายร้ายตัวนี้จะหายไป ยิ่งกักตัวนานเท่าไหร่ เราก็ยิ่งโหยหาโลกภายนอกมากขึ้นเท่านั้น เมื่อโลกกว้างทำให้เราได้ดื่มด่ำกับอิสระเสรี กระแสแคมป์ปิ้งเลยหวนกลับมา ‘บูม’ อีกครั้งในบ้านเรา
เมื่อนักเดินทางเปลี่ยนพฤติกรรม…
รายงานของ North American Camping Report, sponsored by Kampgrounds of America (KOA) ในปี 2019 ระบุว่า มีครอบครัวที่หลงรักการแคมป์ปิ้งสูงถึง 91 ล้านครอบครัว เพิ่มจากปี 2018 ถึง 2.7 ล้านคน และคาดว่าตัวเลขในปี 2020 และ 2021 จะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายคนรู้สึกอึดอัดกับการอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม เมื่อมีโอกาสก็โหยหาที่จะออกมาขับรถท่องเที่ยวและออกไปใช้ชีวิตในธรรมชาติกันมากขึ้น การทำความเข้าใจ และการปรับตัวให้เข้ากับการใช้ชีวิตกลางแจ้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเรียนรู้
นอกจากนี้ ผลสำรวจของ Booking.com และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เปิดเผยถึงแนวโน้มสำคัญของนักเดินทางชาวไทยว่า นิยมท่องเที่ยวสถานที่ใกล้ คุ้นเคย และพร้อมสัมผัสกับความสุขง่ายๆ ปลายทางมากขึ้น ส่วนด้านพฤติกรรม นักเดินทางจะตระหนักและคำนึงถึง Social Distancing และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยควบคู่ไปด้วยเสมอ รวมทั้งนิยมเดินทางด้วยรถส่วนตัวมากขึ้น โดยเลือกเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ เดินทางในระยะสั้นและมองหาพื้นที่พักผ่อนซึ่งไม่ไกลมากนัก ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลทำให้ กระแสของการพักแรมสไตล์ ‘แคมป์เปอร์’ กลับมาเป็นที่นิยม ผู้คนมองหาจุดกางเต็นท์เพื่อตั้งแคมป์ดีๆ โหยหาธรรมชาติแบบสุดขั้วเพื่อสูดกลิ่นอายธรรมชาติบริสุทธิ์ให้ชื่นใจ
ย้อนอดีตแคมป์ปิ้ง
การแคมป์ปิ้งในทวีปยุโรป ว่ากันว่าน่าจะมาจากการแคมป์ปิ้งของ โทมัส ไฮแรม โฮลดิ้ง ช่างตัดเสื้อชาวอังกฤษที่รอนแรมมาตั้งแคมป์อยู่ริมแม่น้ำเทมส์ จนเกิดการทำตามเป็นกิจกรรมในที่สุด เขาได้เขียนคู่มือผู้ไปพักแรมในปี 1908 และก่อตั้ง Association of Cycle Campers ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งและ Caravanning Club
ส่วนในสหรัฐอเมริกา หากย้อนไปค้นประวัติศาสตร์และหนังสืออ้างอิง เกี่ยวกับความเป็นมาของเรื่องนี้ พบว่าบิดาของผู้กำเนิดแคมป์ปิ้งในอเมริกา คือ ‘วิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน’ เขาคือรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลท้องถิ่นในรัฐคอนเนตทิคัต (Connecticut) ส่วนหนึ่งของนิวยอร์ก ซึ่งมีความชื่นชอบการใช้เวลาว่างเพื่อเดินทางไปตั้งแคมป์ตกปลากับภรรยาและเพื่อนๆ อยู่เสมอ
กระทั่งเขาได้รวบรวมและตีพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งออกมาเป็นคู่มือกางเต็นท์เล่มแรก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ชื่อว่า ‘Adventures in The Wilderness; or, Camp Life in the Adirondacks’ เรื่องราวในเล่มนอกจากมีฮาวทูเกี่ยวกับการเดินทางไกล การตั้งโลเกชั่นแค้มป์ปิ้งแล้ว ยังบอกเล่าถึงเสน่ห์ของการเดินทางที่สื่อให้เห็นถึงความเท่าเทียม การเอาตัวรอด ทั้งยังเป็นการช่วยเยียวยาจิตใจมนุษย์ด้วยพลังจากธรรมชาติอีกด้วย เรียกว่าเป็น คัมภีร์ฉบับหนึ่งรวบรวมข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว
ส่องวัฒนธรรมแคมป์ปิ้งต่างแดน
ประเทศต่างๆ ต่างก็มีวัฒนธรรมท่องเที่ยวในรูปแบบแคมป์ปิ้งที่เหมือนและแตกต่างกัน อาทิ ชาวกีวีทั้งเกาะเหนือและเกาะใต้นิวซีแลนด์ มีตัวเลือกเป็นจุดตั้งแคมป์ของรัฐมากกว่า 300 แห่ง และดำเนินการโดยเอกชนอีกกว่า 400 จุดทั่วประเทศ เยอรมนีได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ชอบตั้งแคมป์ มากสุดในกลุ่มประเทศในยุโรป พวกเขามีอุปกรณ์พร้อมสรรพทั้งอาหาร เตาบาร์บีคิว ที่นอน และเต็นท์ใส่รถยนต์
ขณะที่ชาวออสซี่ที่ชื่นชอบการเดินทาง จะกางเต็นท์ไว้บนท้ายรถกระบะ ที่เรียกกันว่าพาหนะเอนกประสงค์อย่าง UTE TENT น่าอิจฉาตรงที่มีจุดตั้งแคมป์สำหรับรถบ้าน ซึ่งมีทั้งไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต และไวไฟ บริการทั่วทั้งประเทศเกือบ 200 แห่ง
ในญี่ปุ่น การตั้งแคมป์เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ปัจจุบันมีจุดตั้งแคมป์มากกว่า 1,300 แห่งทั่วทุกภูมิภาค เพราะเป็นตัวเลือกในการท่องเที่ยวอีกรูปแบบหนึ่ง ที่หลีกหนีจากความวุ่นวายในตัวเมือง ซึ่งแดนปลาดิบมีสถานที่สามารถตั้งแคมป์ได้หลากหลายจุด ทั้งบริเวณอุทยานแห่งชาติ หรือริมทะเลสาบ จุดหมายปลายทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คือ ภูมิภาคฮอกไกโด อีกทั้งอุทยานทั่วประเทศยังเปิดให้เป็นพื้นที่ Workation ด้วยในช่วงเกิดโควิด-19
ใกล้ชิดธรรมชาติหลากเวอร์ชั่น
สำหรับในเมืองไทยบ้านเรา มีป่า ภูเขา แม่น้ำ ธรรมชาติที่สมบูรณ์ เลยทำให้การเที่ยวสไตล์แคมป์ปิ้งบูมขึ้นมา ทำให้เกิด ‘Camper’ หรือนักแคมป์ปิ้งกันทั่วประเทศ จนมีการตั้งกลุ่ม จัดงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับแคมป์ปิ้งเป็นจำนวนมากในปีที่ผ่านมา คนรักการผจญภัยหากต้องการมาสัมผัสธรรมชาติอันงดงามอย่างใกล้ชิด ไม่ควรพลาดการสัมผัสประสบการณ์นี้โดยเฉพาะพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ
ต่อมากระแสของ ‘Glamping’ ก็ค่อยๆ ได้รับความนิยม โดยเป็นการผสมคำว่า Glamorous ที่แปลว่าหรูหรา กับคำว่า Camping ที่หมายถึงการตั้งแคมป์ ตัวอย่างนี้จะเห็นได้จากการเกิดขึ้นมาของที่พักแนวเตนท์หรูหลายแห่งในบ้านเรา
แต่สุดท้ายแล้วกระแสแคมป์ปิ้งธรรมดาๆ นี่แหละก็กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ครั้งนี้ไม่จำกัดเฉพาะการแคมป์ปิ้งกลางป่าเท่านั้น หากยังแตกไอเดียแคมป์ปิ้งออกไปหลายแบบด้วย เช่น แคมป์ปิ้งในคาเฟ่ เริ่มมีคาเฟ่หลายแห่งพากันเกาะกระแสนี้ แบ่งโซนที่นั่ง ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติ อาทิ ริมทะลสาบ ริมชายหาดชายทะเล ในสวนผลไม้ หรือแม้กระทั่งในรั้วบ้านใต้ร่มไม้ใหญ่ ฯลฯ ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่
และล่าสุดกระแสของคาร์แคมป์ปิ้ง ‘Car Camping’ ก็กำลังมาแรงแซงทางโค้ง ฮอตสุดๆ กับขาลุย ที่ชอบขับรถเที่ยวเพราะมีความเป็นส่วนตัวสูง เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวในยุค New Normal เพียงแค่เลือกโลเกชั่นแล้วปักหมุดตั้งแคมป์กับรถคู่ใจที่มีอุปกรณ์ปิกนิกครบครัน
ที่สำคัญ ยังกลายเป็นไลฟ์สไตล์ส่งให้ธุรกิจเกี่ยวข้องคึกคักสวนกระแส ร้านรวงที่ขายอุปกรณ์สำหรับ ‘Car Camping’ ก็ปล่อยของออนไลน์กันออกมาพรึ่บพรั่บไม่ว่าจะเป็นชุดเก้าอี้ เครื่องครัวเก้าอี้สนาม เตาแก๊ส เตาปิ้งย่าง กระติกเก็บความเย็น ชุดครัวปิกนิก ตะเกียง ราวหลังคา (Rack) Car Awning ที่ใช้แทนเสาเต็นท์ Rain Fly,Tarp ถุงนอน ฯลฯ
ทำตัวเป็น Camper คุณภาพ
สิ่งสำคัญของการแคมป์ปิ้งไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม เรื่องของมารยาทและการรักษาสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางธรรมชาติที่เราอยากใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ลดการสร้างมลภาวะ ทั้งเรื่องของเสียง ไม่ไปรบกวนผู้อื่น มีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม รู้จักตั้งแคมป์อย่างสนุก ปลอดภัยและปลอดไฟ นอกจากนี้ สิ่งที่แคมป์เปอร์มืออาชีพและมือสมัครเล่นทุกคนควรท่องไว้ในใจคือ การไปสัมผัสความสุขจากธรรมชาติ ควรให้ความเคารพในผืนดิน ชีวิตของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ รวมทั้งต้นไม้พืชพันธุ์ ที่อาศัยอยู่มาก่อน เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างอย่างสมดุล
อ้างอิง
- https://www.campingworld.com/
- https://www.japan.travel/th/guide/camping/
- https://ngthai.com/travel/32760/camping-etiquette/3/
- https://www.smithsonianmag.com/