- CHAR ไม่ใช่แบรนด์ชาน้องใหม่ แต่เป็นแบรนด์ชาที่มีเอกลักษณ์ในตัวเอง โดยเฉพาะอยากให้ดื่มชาเหมือนกับการเสพงานศิลปะ
- CHAR เกิดจากแรงบันดาลใจในการเดินทางที่ออกไปเห็นโลก นำมาสู่การเดินทางเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์จากความชอบส่วนตัวล้วนๆ แต่สุดท้ายก็แตกไลน์ออกมาเป็นโปรดักส์ที่ผ่านการคิด สร้างสรรค์ที่สองพี่น้องผู้บริหารมองว่า CHAR คือความสวยงามอีกมุมหนึ่งของดอกไม้ที่อยากให้ทุกคนเห็น
นึกถึงชา นึกถึงยามเช้า อากาศหนาว...
คราวนี้คงต้องเปลี่ยนภาพในหัวกันใหม่ เพราะเมื่อนึกถึง CHAR - อ่านว่า ชา คงต้องนึกถึงดอกไม้ลอยในกาแก้วใส และเป็นความสวยที่เราดื่มได้ทุกวันเสียด้วย
CHAR เริ่มต้นจากคนสามคนในครอบครัวเดียวกัน ตัดสินใจมองหาเส้นทางใหม่ๆ ดูบ้าง จากธุรกิจจิวเวลรี่มาสู่การสร้างสรรค์ ‘ชาดอกไม้’...มันดูเป็นงานคนละสาย แต่มีอะไรเหมือนกัน นั่นคือ ‘ความงามและศิลปะ’
เดินทาง
เราว่าการเดินทางมันสร้างบันดาลใจได้จริงๆ นะและคงเป็นความรู้สึกเดียวกับ “ศิริพิม อภินันทกุลชัย” และ “ณฤดี อภินันทกุลชัย” สองพี่น้องผู้ก่อตั้งแบรนด์หนึ่งในหุ้นส่วน CHAR ในวันที่ได้ไปออกงานเทรดแฟร์ต่างประเทศ แล้วต้องสะดุดตากับบูธสวยงามของ Mariage Frères ชาจากคนไทยแต่ดังไกลระดับโลก
วันนั้นมันคงเป็นจุดเริ่มต้นของพี่น้องคู่นี้ที่มองเห็นเส้นทางใหม่ๆ ในวันที่ธุรกิจเดิมเริ่มเข้าสู่ขาลง
“เราเริ่มมองหาช่องทางอื่น น้องบอกว่าชาก็น่าสนใจนะ โดยเฉพาะชาดอกไม้ ยังไม่เห็นมีแบรนด์ไทยเลย” นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อน
แล้วทั้งคู่ก็เริ่มรีเสิร์ช ค้นหา เดินทางชิมชาที่นั่นโน่นนี่ ปักไอเดียแรกเลยว่าต้องเป็นชาดอกไม้ และตั้งเป้าว่าทำยังไงจะให้ชาดอกไม้ของคนไทยทัดเทียมกับต่างประเทศ
“เราหาดอกไม้จากหลายแหล่งที่มี เลือกชิม เลือกเทสต์ เพราะบางอย่างต้องถูกจริตคนไทยด้วย” พิม – ศิริพิม อภินันทกุลเล่า
ถามว่าชิมไปกี่ชนิด…”เยอะมากๆ อย่างกุหลาบ เราก็ชิมเป็นหลักสิบ ดอกไม้หนึ่งชนิดมาจากหลายสวน หลายแหล่ง เทสต์ให้เจอรสที่เราชอบที่สุด เราเชื่อว่าถ้าเราชอบ คนไทยก็น่าจะชอบ อย่างบางอย่างในต่างประเทศที่ไม่เหมาะกับคนไทย เราก็ไม่เอามา จริงๆ เราไม่ใช่กูรูลึกมากอะไร เราเลือกในสิ่งที่ชอบก่อน”
ความงาม
ชาในสายตาของพิมต้องมี Aesthetic มีบางอย่างที่สะท้อนถึงความงาม คงมาจากการที่เธออยู่ในวงการเครื่องประดับ คลุกคลีกับความงามมาตลอด เมื่อคิดจะทำชา ชานั้นก็ต้องมีองค์ประกอบของความงามด้วยเหมือนกัน “เราคิดว่ามันควรมีความงามแบบที่ชาอื่นๆ ไม่มี เราสนใจเรื่องความสุนทรีย์ อโรมา จนถึงภาชนะที่ใส่ ทำให้มันเป็นงาน visual art ที่ทุกคนมองเห็นด้วย”
กาที่ CHAR ใช้จึงต้องใส เพื่อโชว์ชาดอกไม้ภายในที่กำลังลอยอยู่ในน้ำทั้งดอกซึ่งตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 8 ชนิด ได้แก่ กุหลาบ บัว บัวสาย เก๊กฮวยขาว เก๊กฮวยจักรพรรดิ มะลิ Blooming tea ที่เป็นการรวมดอกไม้และเบลนด์ชาเขียวเข้าไปด้วย และคาโมมายด์ที่ออกใหม่
รสชาติอ่อนๆ หอมละมุนคือสัมผัสแรกเราได้รับระหว่างจิบชาไปคุยกับเธอไป เราชอบกุหลาบ เก๊กฮวยจักรพรรดิที่หอมอ่อนๆ เบาๆ แต่ละมุนละไม ถ้าใครชอบเข้มขึ้นมา Blooming tea น่าจะเหมาะเพราะมีความเข้มของชาเชียวมาเป็นตัวเสริม
จากดอกไม้แห้งๆ ที่มองแทบไม่ออกว่าคือดอกอะไร เมื่ออิ่มน้ำในกาแก้วใสมันจะค่อยๆ บานเป็นดอกไม้ลอยอยู่ใต้น้ำเหมือนงานศิลปะ เป็น visual art ที่พิมบอก
ความคิด
CHAR ตั้งใจพรีเซนต์ให้ทุกคนเห็นความงามของชาและการชง แอคเซสซอรี่ทุกชิ้นจึงต้องผ่านกระบวนการคิด แม้ใช่ใส่กาอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นกาใสเพื่อให้ทุกคนดื่มด่ำความงามของดอกไม้ วันที่เปิดตัวครั้งแรกเพียงแค่เป็นป๊อบอัพสโตร์เล็กๆ ก็ได้ผลตอบรับที่ดีกลับมา ธุรกิจทำท่าจะไปได้สวยเมื่อวัฒนธรรมชาเริ่มเบ่งบานในเมืองไทย (แม้จะไม่เท่ากาแฟก็ตาม)
การเลือกดอกไม้จึงสำคัญ กุหลาบคือรสชาติแรกที่เปิดตัว ก่อนตามมาด้วยดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่เธอคิดว่าน่าจะเข้ากับคนไทย พิมเปรียบว่าทำชาก็เหมือนทำจิวเวลรี่ ต้องมีคอลเลคชั่นใหม่ๆ ออกมาให้ลูกค้าติดตาม แม้จะไม่ได้เป๊ะอย่างจิวเวลรี่ว่าต้องมีคอลเลคชั่นใหม่ทุก 6 เดือน แต่ก็ควรมีดอกไม้ชนิดใหม่มานำเสนอลูกค้าประจำที่อยากเปลี่ยนรสชาติเดิมๆ บ้าง
“เราต้องเสาะหาดอกไม้ที่มีคุณภาพ ปลอดสาร มีใบรับรองด้วย เมื่อเราเอามาอบ เราก็ส่งแล็บเพื่อตรวจคุณภาพ และสิ่งที่ยากสุดในการออกชาตัวใหม่คือ คุณภาพ รสชาติ หน้าตา”
วิธีคิดในการเลือกดอกไม้ พิมบอกว่าต้องเป็นดอกไม้ที่กินได้เป็นอย่างแรก ตามด้วยหน้าตาเป็นยังไงเมื่ออยู่ในกาชา “เพราะคอนเซ็ปต์เราคือต้องสวย” เธอว่า จากนั้นต้องดูว่าปริมาณของดอกไม้ชนิดนั้นผลิตได้ทั้งปีไหม สม่ำเสมอไหม เพราะดอกไม้บางชนิดก็มีซีซั่นของมันอย่างคาโมมายด์
ปัจจุบัน CHAR มีไลน์สินค้าหลากหลาย ทั้งเซ็ตของขวัญหลายขนาด เหมาะมากกับคนที่กำลังมองหาของขวัญปีใหม่ให้คนพิเศษ สามารถเลือกซื้อได้จากช็อปของ CHAR ที่กระจายอยู่ในสรรพสินค้าชั้นนำ สปาโปรดักส์อย่าง flower bath tea, สเปรย์อนามัยกลิ่นดอกไม้, bath bomb เกลือผสมดอกไม้ที่ผลิตให้กับโรงแรมห้าดาวในไทย ตามด้วยงาน catering ที่ทำตามโจทย์ของลูกค้าเป็นหลัก
“คิดจะเปิดคาเฟ่ไหม” เราถาม…
“เอาจริงๆ นะ เราดูหลายโลเกชั่นมาก ก่อนโควิด-19 ไปดูนู่นนี่กันเยอะมาก เราไม่ได้ต้องการทำเป็นคาเฟ่จ๋า อยากให้มันเป็นแฟล็กชิปสโตร์ที่คนมาซื้อชาเราแล้วนั่งได้ ได้คุยกับเรามากกว่า ให้เขาซื้อกลับบ้านเป็นหลัก คือคาเฟ่อาจไม่ใช่เราเท่าไหร่”
ความท้าทาย
พิมบอกว่าโจทย์ยากของ CHAR คือทำยังไงให้คนเข้าใจและหันมาดื่มด่ำกับชาดอกไม้ ย้ำว่าเป็นดอกๆ ไม่ใช่เป็นผง และการเข้าใจว่าชาของ CHAR แตกต่างจากชาเบลนด์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า
แต่ลูกค้าที่กลับมาหา CHAR ทุกคนใช้เหตุผลเดียวคือ ‘คุณภาพ’
“อย่างคาโมมายด์ ลูกค้ากลับมาแล้วบอกว่าดีมากเลย เก๊กฮวยจักรพรรดิ หลายคนบอกว่าทำไมแพง แต่พอชิมก็ควักเงินซื้อเลยนะ อย่างชาดอกบัวที่ช่วยทำให้หลับสบาย หลายคนกินแล้วชอบ เขาก็กลับมา จริงๆ เรื่องความงามเราไม่ต้องพูดถึง เพราะอันนี้วางไว้ในใจอยู่แล้ว (หัวเราะ) เราไม่อยากชูเรื่องสุขภาพเพราะมันไม่ใช่ยา มันอยู่ที่รสชาติและความพึงพอใจระหว่างจิบชามากกว่า”
ถ้าใครอยากไปแพริ่งกับขนม เธอแนะนำว่าควรเป็นขนมไม่หวานจัด กุหลาบเหมาะกับช็อกโกแลต บัวเหมาะกับขนมรสเบาๆ แบบถั่ว ยกเว้น Blomming tea ซึ่งมีชาเขียวผสมอยู่ ตัวนี้แพริ่งกับอาหารรสจัดได้
นอกจากนี้ยังมีแอคเซสซอรี่ให้เลือกซื้ออีกด้วย ตั้งแต่กาชาขนาดเล็ก ใหญ่ ฐานวางกาชา ช้อนชงชา ถ้วยชา เทียนหอมจากชา ฯลฯ พิมบอกว่าสิ่งนี้ก็สำคัญและคิดว่าจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ตราบที่การออกแบบเครื่องประดับคือสิ่งที่เธอชอบ
CHAR จึงเป็นชาที่มี visual art ของคนชอบความสวยงามเวลาได้เห็นจริตดอกไม้ที่บานในกาชา เป็นงานคราฟต์ของการดื่มที่เหมาะกับลมหนาวไว้สังสรรค์กับเพื่อนฝูง และเป็นอีกธุรกิจดีๆ จากความตั้งใจของคนไทยที่น่าสนับสนุน
อยากรู้จัก CHAR มากขึ้น ลองแวะไปสโตร์ในสรรพสินค้าชั้นนำกันได้ ทั้งในเครือเซ็นทรัล สยามพารากอน ไอคอนสยาม หรือติดตามได้จากช่องทางออนไลน์
Website: www.charflowertea.com
FB: https://www.facebook.com/charflowertea
IG: Char_flowertea
LINE: @charflowertea