About
DETOUR X Chiang Rai

Art in Chiang Rai

ตามรอยงานอาร์ตเจ๋งๆ ทั่วเชียงรายใน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

เรื่อง สุธาสินี สุทธะโส Date 29-12-2023 | View 5176
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บทความนี้จะขอกางแผนที่และเราขอสวมบทบาทเป็นไกด์พาเพื่อนๆ ไปเที่ยวชม Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่ได้แบ่งย่อยออกเป็น 3 อำเภอต่อการแนะนำนิทรรศการหลักของงานให้เลือกปักหมุดกันได้สบายๆ

ช่วงนี้ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 กำลังครึกครื้น หลายคนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม ขนาดที่ว่า ONCE ได้คัด 11 Highlight งานศิลปะเด็ดโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ก็รู้สึกเหมือนทั้งคนที่เข้ามาติดตามและตัวเราเองยังไม่อิ่ม (เพราะเอาจริงๆ ยังมีงานอาร์ตเจ๋งๆ อีกเยอะมากที่อยากพูดถึง)

เชียงรายนับว่าเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มศิลปินร่วมสมัยอาศัยอยู่มากที่สุดอีกจังหวัดหนึ่งของไทย Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ปีนี้จึงมาในแนวคิด ‘เปิดโลก’ ที่ตั้งใจสื่อถึงการเปิดการรับรู้ศิลปะของผู้คน ผ่านประวัติศาสตร์ ความเชื่อ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่หลากหลายของเชียงราย ผ่านนิทรรศการหลักจากศิลปินไทยและต่างประเทศกว่า 60 ชิ้นงาน ยังมีพาวิลเลียนมากกว่า 10 แห่ง รวมทั้งกิจกรรมคู่ขนานอื่นๆ

ONCE เลยขอพาทุกคนไปลุยกับนิทรรศการผ่านการปักหมุด 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอแม่ลาว และอำเภอเชียงแสน ถ้าพร้อมแล้วมาลุยไปด้วยกัน!

เมืองเชียงราย

น่าจะเป็นอำเภอที่จัดแสดงงานศิลปะมากที่สุดของเชียงรายแล้ว โดยครั้งนี้เราจะชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวชมงานด้วยกันถึง 9 จุดเลย จะมีที่ไหนบ้างมาดูกัน

จุดที่ 1 : หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/vXyuy85vipZq7Re1A

เชียงราย

เชียงราย

HERE
ศิลปิน : Maria Hassabi

Maria Hassabi ศิลปินและนักออกแบบท่าเต้นที่มีชื่อเสียงด้านศิลปการแสดง (Performance Art) เธอโดดเด่นเรื่องการเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้ากับพื้นที่และเวลา โดยนำเสนอผ่านเส้นแบ่งระหว่างการเต้นและงานทัศนศิลป์ที่สร้างความตื่นเต้นให้ผู้ชมอยู่เสมอ HERE ศิลปินจะแสดงเดี่ยวจำนวน 2 รอบต่อวัน รวมถึงงานศิลปะติดตั้ง ภาพถ่าย และงานแสดงเสียงที่จะมาปลุกเร้าความท้าทายทางความคิดต่อผู้ชมแน่นอน

เชียงราย

Beyond The Site
ศิลปิน : Wang Wen-Chih

ประติมากรรมกลางแจ้งที่ใช้โครงสร้างไม้ไผ่มาสร้างเป็นศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ โดยศิลปินทำร่วมกับช่างฝีมือจากไต้หวันและสล่าเชียงรายเพื่อให้ผู้ชมได้เข้าใจโลกใบใหม่ที่เกิดขึ้น หลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ด้วยการเดินเข้าไปสัมผัสงานศิลปะผ่านเสียง รส กลิ่น และสัมผัส ที่จะช่วยขยายขอบเขต เปิดรับมุมมองที่มีต่อโลกที่เปิดกว้างและครอบคลุมมากขึ้น

เชียงราย

เชียงราย

Incantations – Entwinement, Endurance and Extinction
ศิลปิน : Haegue Yang

ผลงานศิลปะจัดวางของศิลปินชาวเกาหลีที่สร้างสรรค์งาน โดยเน้นเจาะลึกเรื่องการอพยพย้ายถิ่นฐาน และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม อันเป็นภาพสะท้อนของประสบการณ์ที่ศิลปินได้เดินทางไปทำงานมาแล้วทุกทวีปทั่วโลก ในการจัดแสดงงานครั้งนี้เธอตั้งใจจะสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นความเป็นท้องถิ่นผ่านงานวอลเปเปอร์ งานคอลลาจ ศิลปะจัดวางในรูปของตุงจากล้านนาและประติมากรรม

เชียงราย

Pictures at an Exhibition
ศิลปิน : Sarah Sze

ผลงานชิ้นนี้ประกอบขึ้นจากเส้นสายใยจากพื้นจรดเพดาน ที่จัดแสดงภาพอันเป็นเสี้ยวส่วนกระจัดกระจายที่แสดงให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่กำลังดำเนินไป เสมือนฉายภาพการทดลองในภาวะก่อตัวหรือไหลหลาก เพื่อตั้งคำถามถึงจุดตั้งต้นระหว่างโลกดิจิทัลและอะนาล็อก สิ่งที่เรารับรู้ สัมผัสได้และสิ่งที่มีอยู่เพียงแค่ในจินตนาการ

เชียงราย

Nai Nam Mee Pla, Nai Na Mee Khao – In the water there is fish, in the field there is rice
ศิลปิน : Tobias Rehberger

ศิลปินชาวเยอรมันโดดเด่นด้วยผลงานที่แฝงแนวคิด ทว่ามีความซุกซน เขาสนใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกสภาพ (The Individual) กับความเป็นส่วนร่วม (The Collective) ที่เชื้อชวนผู้ชมเข้ามามีบทบาทและปฏิสัมพันธ์กับตัวงานอยู่เสมอ สำหรับงานชิ้นนี้จะเป็นห้องที่ ‘จม’ อยู่ในนาข้าว ผู้ชมสามารถก้าวเดินลงไปผ่านบันไดเล็กๆ อีกทั้งยังมีประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพพิมพ์ The Great Wave of Kanagawa (1831) ของ Hokusai ตัวชิ้นงานจะเป็นกล่องขนาด 10×10 เซนติเมตร บรรจุปลากระป๋องจากทั่วโลกโดยผู้ชมหยิบกลับไปได้

เชียงราย

Sculpture Garden Pavilion
ศิลปิน : สมลักษณ์ ปันติบุญ

Sculpture Garden Pavilion หรือศาลาสวนประติมากรรม เป็นโครงสร้างที่ศิลปินประกอบขึ้นมาจากซุงไม้เก่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมพื้นบ้านภาคเหนือ ผสานกับรูปทรงการออกแบบร่วมสมัย เป็นพื้นที่โปร่งโล่ง เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนประกอบสำคัญของพื้นที่ เพื่อใช้จัดแสดงผลงานประติมากรรมของศิลปินชาวเชียงราย

เชียงราย

Steppen Baroque. Attachments
ศิลปิน : Almagul Menlibayeva

ผลงานภาพถ่ายที่พูดถึงความเป็นสมัยใหม่ของโซเวียต การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเอเชียกลางหลังยุคโซเวียตล่มสลาย ความคิดใหม่เกี่ยวกับเพศสภาวะในยุคอาณานิคม ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม จักรวาลวิทยา และตำนานเกี่ยวกับชนเผ่าเร่ร่อนและชนพื้นเมืองในเอเชีย ผลงานของศิลปินจะเผยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของคาซัคสถาน กับแนวคิดใหม่ต่อเส้นทางสายใหม่ทั่วยูเรเซียที่แตกต่างกัน

จุดที่ 2 : พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มแม่น้ำโขง
เปิดทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/kwTUTkjNK9W3Arvq9

เชียงราย

Summer Holiday with Naga
ศิลปิน : วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

ผลงานชุดนี้เป็นภาพยนตร์สารคดีที่บันทึกประสบการณ์การพายเรือในแม่น้ำโขงระยะทาง 300 เมตร จากอำเภอเชียงของไปสิ้นสุดที่เมืองหลวงพระบาง ศิลปินต้องการบันทึกสภาพแวดล้อมของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำที่จะเปลี่ยนแปลงหลังจากการสร้างเขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนปากแบง โดยเขาหวังว่าบันทึกการเดินทางนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดความสนใจต่อพื้นที่ทางธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรม ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

เชียงราย

No Distance to Khon Pi Luang
ศิลปิน : อุบัติสัตย์

No Distance to Khon Pi Luang หรือเรือเหาะสิงหนวัติกุมาร จิตรกรรมที่พัฒนารูปแบบมาจากประสบการณ์การสำรวจสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง อำเภอเชียงของ ศิลปินจินตนาการถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในอนาคต โดยเล่าผ่านการผจญภัยของเรือเหาะสิงหนวัติกุมารที่หอบหิ้วประวัติศาสตร์ ตำนานพื้นบ้าน ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อมเข้ามาด้วย

เชียงราย

Path. 14, The River Flows Two Ways
ศิลปิน : Boedi Widjaja

Path. 14, The River Flows Two Ways เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงการตอบสนองต่อพื้นที่หรือแม่น้ำโขงผ่านการนำเสนอศิลปะจัดวาง 4 ชิ้น ได้แก่ วิดีโอ 3 จอที่เผยให้เห็นการอยู่อาศัยในถ้อยคำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินของเราและร่างกายของเราในการแสดงหน้ากล้อง งานจัดวางภายนอกที่เป็นธงรหัสมอร์ส ภาพหมึกพิมพ์จากการใช้หมึกฝนกับก้อนหินจากแม่น้ำโขงลงบนผ้าไหมจนเกิดเป็นภาพ และงานประติมากรรมเสียง

จุดที่ 3 : พิพิธภัณฑ์บ้านดำ
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น. (มีค่าเข้าชม 80 บาท)

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/26grjg5JZ1EKtLyL9

เชียงราย

Mor Doom and Ya Be E Long
ศิลปิน : Busui Ajaw

ศิลปินชาวอาข่าที่ใช้ศิลปะเพื่อสื่อสารสภาวะในจิตใจที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอาข่า ผลงานชิ้นนี้ เธอต้องการสืบสานรากเหง้าและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวอาข่า ผ่านภาพวาดบนหนังควาย สัตว์ที่อยู่คู่กับชาวอาข่ามาเนิ่นนาน แต่ละภาพเล่าเรื่องราวการเวียนว่ายตายเกิด ที่จะสะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยังมีโรงศพสลักเป็นรูปควาย เพื่อสืบทอดประเพณีของชนเผ่าที่อยู่ร่วมกันในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน

เชียงราย

What’s Not
ศิลปิน : Chakaia Booker

ศิลปินที่โด่งดังจากประติมากรรมนามธรรมจากยางรถยนต์เก่า เธอมองว่ายางรถเป็นวัสดุที่ปรับแปลงไปเป็นรูปทรงต่างๆ ได้ ทั้งยังเชื่อมโยงถึงประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางวัฒนธรรม What’s Not เป็นผลงานจากปี 2009 ผลิตขึ้นจากยางรถเก่าที่สื่อสารประเด็นของการทำลายระบบนิเวศ ความไม่สอดคล้องลงรอยของสังคมเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สัมพันธ์กับรูปแบบของระบบคมนาคม

เชียงราย

Red Lotus
ศิลปิน : กมลลักษณ์ สุขชัย

Red Lotus หรือตำนานนางบัวแดง ศิลปินสร้างขึ้นจากเรื่องราวของนางบัวแดง หญิงสาวที่ลอยมากับน้ำและถูกเจ้าเมืองบังคับให้ไปอยู่ที่อาศรมของฤาษีในป่า ผลงานของเธอแสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่ผู้หญิง ไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกชีวิตของตัวเองได้ ชวนผู้ชมตั้งคำถามว่า ความเชื่อที่สอดแทรกมากับเรื่องเล่าเหล่านี้ ส่งอิทธิพลและการกำหนดบทบาททางเพศในสังคมอย่างไร

เชียงราย

Inspirations from Shan State
ศิลปิน : Soe Yu Nwe

ผลงานที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องการเกิด/เกิดใหม่ ศิลปินใช้เซรามิกและแก้วเป็นวัสดุในการถ่ายทอดการให้กำเนิดของนางพญางูที่มีลักษณะเป็นผีและมีกายหยาบที่ครอบครองทั้งเขตแดนแห่งชีวิตและความตาย ในชิ้นงานพืชพรรณ มนุษย์ และงูได้ผนวกรวมเป็นเรือนร่างของผู้หญิง เปิดออกและกลายเป็นเส้นทางผ่านสำหรับชีวิตที่หล่อเลี้ยงอยู่ภายในตัวเธอ และพื้นที่เปลี่ยนผ่านสำหรับการกำเนิดชีวิตใหม่ที่จะผ่านเข้าสู่ “โลกใหม่”

จุดที่ 4 : ห้องสมุดรถไฟเชียงราย
ตั้งอยู่ตรงข้ามโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
เปิดทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.30 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/noBXBYXfkGtStYUL8

เชียงราย

Anonymity
ศิลปิน: Poklong Anading

ศิลปินนำเสนอผลงานที่เกิดจากการเดินทางไปสามเหลี่ยมทองคำตามแม่น้ำโขงไปจนถึงแม่น้ำกก ซึ่งอยู่ติดกับโรงบำบัดน้ำเสียรวมของเทศบาลนครเชียงราย ผ่าน Anonymity ชุดภาพถ่ายบุคคลของชาวเชียงรายถือกระจกบนใบหน้าเพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กระทบกับเลนส์กล้องของศิลปิน และผลงานวิดีโอ Every Water is an Island (2556-ปัจจุบัน) ที่บันทึกผืนน้ำจากโรงบำบัดน้ำเสียของเมือง ในส่วนของ Shared Residence (2566) คือโครงการแลกเปลี่ยนผลงานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่น โดยผู้ชมสามารถนำวัตถุสิ่งของของตนมาขอยืมผลงานกลับไปชมที่บ้านได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

จุดที่ 5 : โกดังยาสูบ สำนักงานยาสูบเชียงราย
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/hTCvknESqj4Et7wN6

เชียงราย

A Ballast Flora Garden : Weeksville Heritage Center
ศิลปิน : Maria Thereza Alves

ศิลปินมุ่งความสนใจไปที่ผืนป่าที่ถูกทำลายบริเวณแม่น้ำกก โดยอาศัยฐานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างรัฐไทยกับเจ้าอาณานิคมจากยุโรป เธอได้เปลี่ยนเส้นทางในผืนป่าไปเป็นศิลปะจัดวาง พร้อมๆ กับงานวิจัยของเธอที่ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สุทธิ มะลิทอง นักชีววิทยาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

เชียงราย

DzidzƆ kple amenuveve (Joy and Grace)
ศิลปิน : Atta Kwami

จิตรกรรมฝาผนังที่มีความฉูดฉาดตาในรูปแบบของงานนามธรรมที่มีความลื่นไหล ชื่อผลงานเป็นภาษาอีเว (Ewe) ภาษาแอฟริกาตะวันตกที่ศิลปินใช้ ส่วนองค์ประกอบต่างๆ ในตัวงานเล่นล้อไปกับสีสันและรูปทรงอันมีเอกลักษณ์เฉพาะของสถาปัตยกรรมกานา รวมถึงลวดลายของสิ่งทอที่ปรากฏอยู่ทั่วทั้งทวีป โดยเฉพาะผ้าเคนเต้ (Kente) ที่ชาวเอเวและชาวอาแซนเตในกานาต่างสวมใส่

เชียงราย

Museo Aero Solar
ศิลปิน : Tomás Saraceno

ศิลปินที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ เชื่อมต่อโลกศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน Museo Aero Solar หรือบอลลูนยักษ์ เป็นผลงานที่ออกแบบร่วมกับวิศวกร Alberto Pesavento ในปี 2007 แต่สำหรับในปี 2023 ทั้งสองเริ่มสร้างบอลลูนยักษ์จากการเปิดรับบริจาคพลาสติกใช้แล้วของเชียงราย และเปิดเวิร์กช้อปสอนทำผลงานชิ้นนี้เพื่อชวนคนเชียงรายมาร่วมสร้างสรรค์ประติมากรรมลอยได้โดยไม่ใช้เชื้อเพลิง แต่ใช้ความร้อนของอากาศให้ผลงานชิ้นนี้ลอยขึ้นเอง

เชียงราย

We Are Flying
ศิลปิน : Shimabuku

ว่าวรูปคนและขนาดเท่าคนจริงๆ ที่ศิลปินริเริ่มชวนศิลปินคนอื่นๆ และชาวเชียงรายมาเวิร์กช้อปทำว่าวเป็นรูปเหมือนตัวเองในท่าคล้ายพระพุทธรูปปางเปิดโลก โดยเจ้าของภาพจะต้องร่างเค้าโครงและลงสีด้วยสไตล์ของตนเอง โปรเจ็กต์นี้ยังทำให้เราได้เห็นภาพอีกด้วยว่า ถ้าหากมนุษย์บินได้จะเป็นอย่างไร

จุดที่ 6 : ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/TA2TDUBzhcSXUvadA

เชียงราย

Weekend
ศิลปิน : Michael Lin

ศิลปินใช้ลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยผืนผ้าเปรียบเสมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงาน รวมพลังที่ขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองจากส่วนกลาง และฝ่ายที่ถูกปกครองจากชายขอบ ออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมตรงหน้าอาคารศาลากลางเก่าแห่งนี้ เพื่อแสดงถึงการเจรจา ต่อรองและตั้งคำถามต่อบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้ และนอกจากนี้บริเวณหน้าลานผู้คนสามารถแวะเวียนมานั่งพัก หรือนั่งปิกนิกกลางแจ้งเพื่อชมชิ้นงานนี้ไปเพลินๆ ก็ได้ด้วยนะ

จุดที่7 : อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง (ไร่แม่ฟ้าหลวง)
เปิดทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 08.30 – 16.30 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/T7LjGvCEB1TkTqteA

เชียงราย

The Wind Harvestors
ศิลปิน : Tarek Atoui

ศิลปินและนักแต่งเพลงที่สร้างสรรค์ศิลปะผ่านการออกแบบเสียงและการประพันธ์ดนตรี งานของเขามักพาผู้ชมไปสำรวจความเชื่อมโยงระหว่างเสียงกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในสังคม ผลงานชิ้นนี้เป็นการสร้างวงจรไหลเวียนอากาศที่ได้รับแรงบันดาลใจจากระบบเหมืองฝายของแผนผังที่นาข้าวในพื้นที่ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน เขาได้ประยุกต์ ดัดแปลงเครื่องมือ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องดนตรีท้องถิ่นจากชนเผ่าอาข่าและลีซู ที่เก็บรวบรวมระหว่างการมาเยือนเชียงราย

เชียงราย

Inner Light -Chiang Rai Rice Barn-
ศิลปิน : Ryusuke Kido

ศิลปินได้แกะสลักยุ้งข้าวไม้สักโบราณอายุกว่า 80 ปี ที่ถูกปลดระวางจากวัฒนธรรมชาวนาให้กลายเป็นงานประติมากรรมที่ถูกกัดเซาะเจาะกินด้วยไวรัส หรือแบคทีเรีย จนสร้างพื้นที่ว่างภายในและภายนอก ก่อให้เกิดแสงสว่างที่สามารถลอดทะลุรูปทรงและรายละเอียดขนาดเล็กที่ชวนให้เรามองเห็นความสลับซับซ้อน ความลื่นไหล และความงามของพื้นที่ว่างขนาดเล็กที่เปลี่ยนความหมายของแสงไปตามแต่ละช่วงเวลาได้

เชียงราย

In The Same Vein
ศิลปิน : Tayeba Begum Lipi

ผลงานประติมากรรมและผ้าปักสะท้อนสภาพจิตใจ ความคิดคำนึงและบทวิพากษ์ในช่วงที่โลกปิดพรมแดนระหว่างการระบาดของโควิด-19 ศิลปินยังได้สร้างผลงานชิ้นใหม่โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเยี่ยมชมพื้นที่ (Site Visit) ที่เชียงราย โดยนำภาพราชรถกับสถาปัตยกรรมของไทยมาปักบนผ้าไหมผืนยาวกว่า 10 เมตร ซึ่งทำงานร่วมกับช่างปักผ้า นิธี สุธรรมรักษ์ ประธานกลุ่มอาชีพผ้าปักด้วยมือ บ้านสักกอง จังหวัดเชียงราย และนักโทษชายจากเรือนจำกลางเชียงราย

เชียงราย

Chantdance
ศิลปิน : Ernesto Neto

ปกติแล้วผลงานของศิลปินชาวบราซิลคนนี้มักได้รับอิทธิพลจากประเพณีตกทอดของชาวบราซิล ทำให้งานของเขาประกอบขึ้นจากวัตถุดิบพื้นๆ เช่น เครื่องเทศ ทราย และผ้า ที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็นที่ว่างและเปิดให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมได้ Chantdance เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัดมุงเมืองและประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่ในเชียงราย ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานในแนวทางที่เขาถนัดโดยออกแบบประติมากรรมที่ชวนให้ผู้ชมเกิดการครุ่นคิดและมีส่วนร่วมกับไปพื้นที่แวดล้อม

เชียงราย

“Sketch” Three Parts
ศิลปิน : ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์

ผลงานที่พัฒนาแนวความคิดต่อเนื่องมาจากผลงานในนิทรรศการ Existence of Void โดยนำเสนอมิติของพื้นที่ว่างในแกนนอนและแกนตั้ง มีต้นแบบมาจากภาพบุคคลในท่านั่งสมาธิ ถ่ายทอดเฉพาะเส้นรอบนอกของรูปทรง ศิลปินยังมีการจัดแสดงผลงานที่วัดป่าสัก ซึ่งเป็นผลงานท่ีถูกจัดวางให้เปลี่ยนรูปร่างได้ตามตำแหน่งการมองของผู้ชมด้วย

เชียงราย

Timur Merah Project X; Theater in The Land of God and Beasts
ศิลปิน : Citra Sasmita

ศิลปินบาหลีนำเสนอผลงาน ตะวันออกสีแดง X: โรงละครในดินแดนแห่งพระเจ้าและเทพสัตว์ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเทพีคาดรู (Kadru) ผู้ให้กำเนิดนาคหรือพญางู 1,000 ตัว ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานและนิทานจากเชียงแสน เชียงรายเรื่องพญานาค งูในตำนานมาบุกทำลายเมืองโยนก เช่นเดียวกับบ้านดำและวัดร่องขุ่นที่ดลใจให้เธอเลือกสีแดงในงานศิลปะจัดวาง เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการให้กำเนิดของเทพ เชื่อมโยงกลับไปหาไตรรงค์ ดำ แดง และขาวที่เป็นสีศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อแบบบาหลี-ฮินดู

จุดที่ 8 : วัดร่องขุ่น
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/pxDXikRwHjNMYL5JA

เชียงราย

2557 (Painting with history in a room filled with men with funny names 2)
ศิลปิน : กรกฤต อรุณานนท์ชัย

ศิลปินที่มักเล่าเรื่องที่สร้างงานด้วยจิตรกรรมผ้ายีนส์ วิดีโออาร์ตและศิลปะจัดวาง ผลงานชิ้นนี้เป็นงานยุคแรก ที่เขานำกลับมาแสดงใหม่ในสถานที่ที่ถ่ายทำ เขาตั้งคำถามถึงคุณค่าและเรื่องเล่าที่หล่อหลอมชีวิตของเรา ทั้งยังสะท้อนถึงการสำรวจของศิลปินเกี่ยวกับการถ่ายทอดความคิดระหว่างรุ่นและอิทธิพลซึ่งกันและกัน

เชียงราย

Untitled
ศิลปิน : Tsherin Sherpa

การนำเสนอภาพวาดจำนวน 3 ชิ้น ประติมากรรมทำจากไฟเบอร์กลาสที่ได้รับแรงบันดาลใจจากจิตวิญญาณของชาวทิเบต ผ่านการนำเสนอรูปร่างอันละเอียดลออผสานความเป็นมนุษย์และเทพเข้าด้วยกัน ยังมีประติมากรรมจัดวางชื่อ Wish-fulfilling Tree (2566) ที่ประกอบด้วยมันดาลา ทำจากทองสัมฤทธิ์ซ้อนกัน 7 ชั้น และล้อมรอบด้วยดินและทราย ซึ่งเป็นตัวแทนของตลิ่งแม่น้ำโขงที่ถูกกัดเซาะ

จุดที่ 9 : ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Cge7DdLBivPBV1Sq7

เชียงราย

Pavilion of Perseverance
ศิลปิน : กรกต อารมย์ดี

ศิลปินที่สร้างชื่อเสียงด้วยการนำวัสดุในท้องถิ่นอย่างไม้ไผ่มาผสานกับเทคนิคการทำว่าวของอาก๋ง ที่เชื่อมไม้ไผ่แต่ละอันเข้าด้วยกัน ด้วยการผูกและมัดจนต่อยอดกลายเป็นผลงานในรูปแบบต่างๆ เขาอยากเห็นศิลปะอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ผลงานของเขาจึงเกี่ยวพันกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าคุณค่าของงานหัตถกรรมท้องถิ่นแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างศิลปะ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่จะสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อยอดต่อไปในอนาคต

เชียงราย

The 4 Noble Truths
ศิลปิน : ชาตะ ใหม่วงค์

ศิลปินมักชุบชีวิตที่ถูกทิ้งร้างให้กลายเป็นผลงานศิลปะเพื่อสื่อสารคุณค่าของสรรพสิ่ง และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ไม้ที่เห็นในผลงานนี้คือต้นกระบกยักษ์อายุกว่า 200 ปี จำนวน 4 ต้น ได้ตายลง เขาคืนชีวิตให้กับซากต้นไม้ใหญ่ด้วยการนำมาประกอบสร้างขึ้นใหม่เป็นประติมากรรมที่สอดแทรกเรื่องอริยสัจ 4 ลงไปด้วย

เชียงราย

Garden of Silence: Existence
ศิลปิน : สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์

ผลงานชิ้นนี้ประกอบไปด้วยงาน 3 ชิ้น ซึ่งติดตั้งอยู่ในสวนยางพาราจำนวน 108 ต้น เป็นการจำลองมิติของจักรวาลในลักษณะปริภูมิ-เวลา (Space and Time) เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนได้หยุดคิดถึงการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง ตั้งคำถามถึงการคงอยู่และความว่าง

เชียงราย

Belief is like the wind
ศิลปิน : อริญชย์ รุ่งแจ้ง

งานจัดวางประติมากรรมเสียงที่สืบค้นลงไปสู่ความเข้าใจและการรับรู้ความเป็นจริงทา
งประวัติศาสตร์ และธรรมชาติที่เกี่ยวโยงกับยุคสมัยแห่งวิกฤตินิเวศอันเป็นผลมาจากการกระทำของมนุษย์ ผลงานที่ประกอบด้วยก้อนหินที่วางทับปลายเชือกสาญสิญจน์ที่ห้อยแขวนระฆังลมไม้ไผ่จำนวนมาก เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปก็จะเกิดเสียงกระทบกันของไม้ไผ่ที่ขับคลอด้วยเสียงร้องกล่อมลูกของหญิงชาวปกาเกอะญอจากชุมชนห้วยหินลาดใน จังหวัดเชียงราย

เชียงราย

Sanctuary
ศิลปิน : ทรงเดช ทิพย์ทอง

ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site – Spacific Installation) ศิลปินสนใจตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและความเป็นมนุษย์ โดยนำผลงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับความศรัทธา มาจัดแสดง โดยสร้างบรรยากาศการตกแต่งภายในด้วยเครื่องสักการะ แยกเป็นเรื่องราวของพลัง ความศรัทธา ความปีติ การเห็นและความรู้สึก จนสุดท้ายเป็นความว่างเปล่าและความสงบที่เกิดจากการปล่อยวาง

อำเภอแม่ลาว

บ้านสวนสมพงษ์
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

สถานที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะของ สมพงษ์ สารทรัพย์ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัย และผู้ก่อตั้ง 9Art Gallery
พิกัด : ถ.พหลโยธิน (ปากทางแม่สรวย) ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ. เชียงราย

เชียงราย

สำหรับงานนี้ ศิลปินจัดแสดงผลงานชุด Bodyscape หรือกายทัศน์ ซึ่งเป็นการรวบรวมผลงานที่สร้างขึ้นในช่วงระบาดของโควิด-19 โดยเขาต้องการเปิดมุมมองต่อโลกภายในจิตใจผ่านจิตรกรรมเหนือจริงจนค้นพบว่าโลกกายภาพภายนอกและโลกภายในจิตใจล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน สรรพชีวิตเวียนว่ายตายเกิดภายใต้กฎของธรรมชาติ

อำเภอเชียงแสน

สำหรับนิทรรศการหลักที่จัดแสดงในอำเภอเชียงแสน เราจะขอพาเพื่อนๆ ไปปักมุดชมงานศิลปะด้วยกันถึง 5 จุด

เชียงราย

จุดที่ 1 : ช้างแวร์เฮ้าส์ (โกดังห้วยเกี๋ยง)
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/gkWLvf9ZaXH4FvMu7

เชียงราย

Imagined DNA Map of the Chakma People
ศิลปิน : Pablo Bartholomew

ผลงานจัดวางเฉพาะพื้นที่เกี่ยวโยงกับรหัสพันธุกรรมข้ามพรมแดนโดยผสมผสานงานผ้าทอของชุมชนพื้นเมืองชาวจัก ซึ่งศิลปินขอให้ช่างทอจากชุมชนนี้ทอผ้าแบบดั้งเดิมเพื่อคงอัตลักษณ์ไว้ เขาหวังว่าผลงานชุดนี้จะถักทอวิทยาศาสตร์ มายาคติ ตำนาน และประเพณีเข้าด้วยกันเพื่อสำรวจอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ข้ามพรมแดน

เชียงราย

March of the Elephants in “River Pulses, Border Flows”
ศิลปิน : Cheng Xinhao

ผลงานสารคดีขนาดยาวที่พูดถึงแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) และดินแดนล้านช้าง (ลาว) ที่ศิลปินได้ศึกษาช้างในบริบททางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขง วัฒนธรรมไต และการเดินทางผ่านกาลเวลาที่ทำให้ช้างกลายเป็นสัญลักษณ์ที่อยู่เหนือตัวมันเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เชียงราย

Bad Spirit Who Makes People Sick 2
ศิลปิน : Tcheu Siong

รวบรวมงานที่ศิลปินแสดงออกถึงโลกในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยความเชื่อ และความเป็นอัตลักษณ์ของคนม้งที่มีมาแต่โบราณ เธอมักทำงานร่วมกับสามีที่เป็นหมอผีประจำหมู่บ้านและลูกสาว โดยเล่าเรื่องราวการอพยพย้ายถิ่นฐานของม้งที่กระจายตัวอยู่ตามบริเวณเขาของโซเมีย (Zomia) ดินแดนทางใต้ของยูนนาน จีน อัสสัม ตอนเหนือของไทย ลาว และเวียดนาม

เชียงราย

Opium Parallax lll
ศิลปิน : สว่างวงศ์ ยอดห้วย

ศิลปินใช้มุมมองแบบพาราแลกซ์ (Parallax) ในการสร้างงานจิตรกรรม 2 ชิ้นใหญ่ที่เปรียบดั่งกระจกส่องสะท้อนเป็นแผนผังโยงใย ตั้งแต่กำเนิดจนฝิ่นกลายมาเป็นสินค้าในตลาดโลก โดยอ้างพื้นที่โซเมีย (Zomia) สู่ทะเลซูลู (Sulu Sea) แล้วยังมีภาพดอกฝิ่นสีดำ 4 ชิ้นเล็กๆ ที่เปรียบดั่งการรับรู้สถานการณ์ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำที่สับสน พร่ามัวและว่างเปล่า

จุดที่ 2 : โบราณสถานหมายเลข 16
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/yHQBCqAo99Y3oCEP7

เชียงราย

บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม

ศิลปินพูดถึงชุมชนวนพลัดถิ่นในหนองโพที่อพยพมาจากเมืองเชียงแสนช่วงศตวรรษที่ 19 แต่หลังจากทัพสยามและเชียงใหม่มาปลดแอกเชียงแสนจากกองทัพพม่า ศิลปินจึงพยายามสืบค้นร่องรอยของคนไทยวนโดยจินตนาการถึงอดีตผ่านผลงานศิลปะกลางแจ้งในวัดร้าง ในรูปแบบสถาปัตยกรรมเป่าลมแบบไร้รากฐาน 2 ชิ้น มีทั้งรูปทรงสถูปเจดีย์ และรูปทรงฐานวิหาร ที่เปรียบเสมือนการสร้างความมีชีวิตให้กับวัตถุที่มีสภาวะชั่วขณะ เกิดขึ้น และจางหาย วนเวียนต่อเนื่องไป

จุดที่ 3 : โรงเรียนบ้านแม่มะ
เปิดทุกวัน เวลา 09.00 – 18.00 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/YxG9rxzhfFdTvJfW9

เชียงราย

Motion Picture
ศิลปิน : อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

จากการได้ลงพื้นที่เชียงราย ศิลปินทึ่งไปกับตำนานหน้ากาลที่กินทุกสิ่งแม้แต่เวลาและร่างกายของตนเอง เขาจึงนำเสนอผลงานในห้องเรียนร้าง ในรูปแบบที่ฉากลิเก ม่านและจอสีขาวของโรงภาพยนตร์ เครื่องฉายหนัง แสงและเงาในพื้นที่สองและสามมิติ ประกอบกันเป็นภาพปะติดที่ทับซ้อนลงบนพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การกลืนกินของเวลา ความมืด การเมือง และความฝัน

จุดที่ 4 : วัดป่าสัก
เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. (มีค่าเข้าชม 50 บาท)

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/2mdThJm5egV2Waae9

เชียงราย

Kala Ensemble
ศิลปิน : จิตติ เกษมกิจวัฒนา

Kala Ensemble ประกอบไปด้วย ศิลปะจัดวาง ประติมากรรม และภาพเคลื่อนไหว โดยผลงานได้หยิบยกสิ่งที่มีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับ “หน้า” ในอารยธรรมเชียงแสนและล้านนา ได้แก่ หน้ากาล และ หน้ากลองสะบัดชัย เพื่อนำเสนอเนื้อหาในการสำรวจความเชื่อเกี่ยวกับโลกธาตุและจักรวาลตามพุทธคติ ศิลปกรรมและวรรณกรรมทางพุทธศาสนา ตามเส้นทางการเคลื่อนตัวของพุทธศาสนาในอดีตกาล จากแถบอาณาจักรเชียงแสนและล้านนา ไปจนถึงอินเดีย ศรีลังกา อัฟกานิสถาน ทิเบต และจีน

จุดที่ 5 : ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ตำบลเวียง เชียงแสน
เปิดทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น.

พิกัด : https://maps.app.goo.gl/Hy7PmeLbXKYcCjbj7

เชียงราย

Displaced, Whose Land?
ศิลปิน : นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล & สตูดิโอเค

Displaced, Whose Land? หรือ พลัดถิ่น ดินแดนใคร ประกอบไปด้วยงานภาพยนตร์สารคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำโขง เพื่อบันทึกความทรงจำ ประสบการณ์และเรื่องเล่าของผู้คนหลากหลายกลุ่มในชุมชนเชียงแสน ยังรวมไปถึงงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่ถ่ายทอดในเรื่องเดียวกัน ติดตั้งอยู่ตรงบริเวณลานสามเหลี่ยมทองคำ

Tags: