About
DETOUR X Chiang Rai

มูเชียงแสน

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

เรื่อง จิดาภา มหาแก้ว ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 04-09-2022 | View 5364
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ไปบ้านฮอมผญ๋า เที่ยวเมืองเก่าอย่างสร้างสรรค์ นำเรื่องราวที่มีอยู่แล้วในเชียงแสนมาปรับให้มีความน่าสนใจ เพื่อนำความเชื่อ แรงศรัทธามารื้อฟื้นวัฒนธรรม ให้นักท่องเที่ยวสัมผัสสิ่งเหล่านี้ จะได้เห็นคุณค่าและช่วยกันทำนุบำรุงโบราณสถาน
  • ลองตรวจดวงชะตาตามหลักทักษาโบราณ พร้อมทำเครื่องสักการะล้านนา ไปบูชาเสริมดวงที่วัดเก่าแก่ในทิศที่เป็นสิริมงคลกับตัวเอง
  • เรียนรู้ภูมิปัญญาและแสดงฝีมือกับการทำลวดลายบนผืนผ้าจากใบสักที่มีอยู่มากในอำเภอเชียงแสน จึงมีการนำมาสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับใบไม้ที่ร่วงหล่นอย่างไร้ประโยชน์

เอ่ยถึงจังหวัดเชียงราย หลายคนคงมีภาพจำว่าเป็นเมืองที่มีทิวเขาทอดยาว และมีภูชี้ฟ้าที่ใครๆ อยากขึ้นไปชมทะเลหมอก แต่จริงๆ แล้วอีกฝั่งหนึ่งของจังหวัดยังโอบล้อมไปด้วยลำน้ำโขง อย่างอำเภอเชียงแสน เมืองเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ONCE จึงอยากแนะนำทริปที่จะทำให้ได้รู้จักเชียงแสน ในมุมที่คุณอาจไม่เคยเห็นมาก่อน

เพราะที่นี่ไม่ได้มีแค่ซากปรักหักพังของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งน่าสนใจที่เป็นเสน่ห์ซ่อนเร้นอยู่ในเมืองโบราณ รับรองว่านอกจากจะเต็มอิ่มกับธรรมชาติที่งดงามแล้ว ยังได้เรียนรู้ทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และอาหารการกินของชาวเชียงแสนไปในคราเดียวกันด้วย

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

เชียงแสนดินแดนแห่งวัด

เชียงแสน เมืองแห่งโบราณสถานที่หลงเหลือมาจากอดีตโดยเฉพาะวัด

‘ช่วงไก่บินตกจะเจอหนึ่งวัด’ นี่คือคำโบราณที่ใช้เปรียบเปรยจำนวนวัดในเขตกำแพงเมืองเชียงแสน

‘เมื่อมีเมืองก็ต้องมีวัด’  เนื่องจากในสมัยโบราณมีการสร้างบ้านเมือง มีผู้คนอยู่มากมาย จึงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนามากตามมาด้วย เลยสร้างวัดเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ เช่น บางคนสร้างวัดเพราะเชื่อว่าเป็นการอานิสงส์แก่ตนเองและผู้อื่น

ปัจจุบันในเมืองเชียงแสนมีวัดมากถึง 76 วัด แต่เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำวัดอยู่เพียง 4 วัดเท่านั้น ที่เหลืออีก 72 วัดเป็นวัดร้างที่มีแต่ซากปรักหักพัง เหลือแค่ฐานสี่เหลี่ยม หรือเจดีย์ที่ไม่เต็มองค์ นั่นเพราะในสมัยโบราณสิ่งปลูกสร้างมักใช้ไม้เป็นวัสดุ จึงเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา

CH 19

เครดิตภาพ : Shutterstock

แม้กาลเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแค่ไหน วัดก็ยังคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนอยู่ไม่เสื่อมคลาย ซึ่งแต่ละวัดก็มีเรื่องเล่าของตัวเองแตกต่างกันไป โดยมากชื่อวัดจะมาจากสิ่งที่โดดเด่นของวัดนั้นๆ เช่น

วัดป่าสัก เป็นวัดที่รายล้อมไปด้วยต้นสัก ก่อสร้างราว พ.ศ.1838 โดยพระเจ้าแสนภู (หลานพญามังราย ผู้สร้างเมืองเชียงราย) สร้างขึ้นเพื่อใช้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกต้นสักจำนวน 300 ต้นทั่วบริเวณ จึงเป็นที่มาของชื่อวัด

วัดเชตะวัน (วัดกาเผือก) สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งความรักระหว่างกษัตริย์เชียงแสนและธิดาเมืองล้านช้าง เรียกได้ว่าเป็น ‘ทัชมาฮาล’ เล็กๆ ของเชียงแสน

วัดอาทิต้นแก้ว สร้างโดยพระเมืองแก้ว เจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งเสด็จมาเมืองเชียงแสน เมื่อ พ.ศ. 2058พระองค์ได้สร้างวัดนี้เพื่อลดความขัดแย้งและประนีประนอมระหว่างพระสงฆ์สำนักต่างๆ

วัดพระธาตุผาเงา อยู่กับเชียงแสนมายาวนานจนถึงปัจจุบัน มีความเชื่อว่า หากมาขอพร จะช่วยให้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย อาการของโรคที่เป็นอยู่ก็จะทุเลาเบาลง

ที่ผ่านมาเรามาเที่ยวเชียงแสนมักจะมีแค่ชมวิวริมน้ำโขง หรือเป็นที่รู้จักกันว่ามีสามเหลี่ยมทองคำ แต่ตอนนี้ภาพของเชียงแสนกำลังถูกพลิกไปอีกมุม เป็นเมืองแห่งภูมิปัญญาโบราณ ที่จะทำให้เราได้เรียนรู้วัฒนธรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิต และอาหารการกินของเชียงแสน ให้รู้ว่าเชียงแสนยังมีอะไรมากกว่าที่คุณคิด

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

บ้านที่รวมภูมิปัญญา

รู้เรื่องวัดที่มีในเชียงแสนแล้ว เราอยากพาไปรู้จัก ‘บ้านฮอมผญ๋า’ บ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ 2 ชั้น เกิดจากการรวมตัวกันของคนที่รักเชียงแสน ถึงแม้บางคนไม่ได้เกิดที่เชียงแสนก็ตาม โดยใช้ชื่อว่า วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน ที่อยากทำให้ทุกคนต้องปักหมุดเชียงแสนในลิสต์เที่ยวเชียงราย เพื่อสืบสาน ส่งเสริม ร่วมอนุรักษ์ และเป็นกำลังสำคัญในการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่หายไปให้กลับมาชีวิตอีกครั้ง

บ้านฮอมผญ๋า จึงถือเป็นฐานทัพสำคัญของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ โดยใช้พื้นที่ลานใต้ร่มไม้หน้าบ้าน และชั้น 2 ของบ้านในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นที่มาของบ้านฮอมผญ๋า ซึ่งมีความหมายว่า บ้านที่รวมภูมิปัญญา

ทางกลุ่มสืบค้นว่า เชียงแสน น่าจะสร้างขึ้นจากการดูทักษาโหรา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง และการขึ้นครองเมืองของกษัตริย์ที่ต้องตรวจชะตาดูทักษาเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนในปัจจุบันศาสตร์ทักษาโหรายังปรากฏอยู่ในการตั้งชื่อ การใช้อักษรที่เป็นมงคล เพื่อส่งเสริมชีวิตในด้านต่างๆ

“เราคิดว่าศาสตร์ทักษาฯ น่าสนใจ นักท่องเที่ยวมักคิดว่ามาเชียงแสนไม่รู้จะทำอะไร มาดูซากวัดซากโบราณสถานเก่า ไม่ได้เกิดคุณค่าอะไรกับเขา เขาอยากดูสิ่งใหม่ ที่มีอะไรมากกว่านั้น เราเลยนำเสนอว่าในความเก่าของสิ่งเหล่านี้ มีสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ นั่นก็คือศาสตร์ทักษาโหรา” วัฒน์ – ยศภัทร ยกยิ่ง ครูภูมิปัญญาและนักสื่อความหมายชุมชน ย้อนถึงจุดเริ่มต้นการนำเรื่องทักษาเป็นตัวเดินเรื่องในการเที่ยวชมเมืองเชียงแสน

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

อุ้ย – อภิชาต ติลกสกุลชัย หรืออาจารย์อุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน เสริมว่า “เรานำสิ่งที่มีอยู่แล้วแต่เริ่มจะเลือนหายไป เพราะถูกมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาเกินไป มาปรับคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสร้างสรรค์ ที่ยังสอดแทรกวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมเอาไว้ได้ โดยจุดประสงค์สำคัญคืออยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสสิ่งเหล่านี้ เลยเกิดเป็นกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา”

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

ทริปนี้จึงเป็นการชี้ให้เห็นถึงแรงศรัทธาและความเชื่อที่คนโบราณใช้ปกป้องบ้านเมือง พาไปรื้อฟื้นวัฒนธรรม ภูมิปัญญาโบราณ ได้รู้ถึงประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นคุณค่าของโบราณสถานต่างๆ จะได้ช่วยกันทะนุบำรุง โบราณสถาน หลักๆ ที่จะพาชมก็คือวัดสำคัญที่เป็นมงคล โดยนำเรื่องดวงชะตาของคนมาคล้องกับแผนที่ของเมือง มีการทำเครื่องสักการะและนำไปถวายบูชาที่วัดเพื่อเสริมดวงชะตาในด้านต่างๆ และเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต

ทักษาโหราโบราณ

เริ่มทริปด้วยการตรวจดวงชะตาตามหลักทักษาโหรา แม้เป็นศาสตร์โบราณที่ชื่ออาจไม่คุ้นหูนัก แต่จริงๆ แล้วก็คือการดูดวงนั่นแหละ ซึ่งพี่วัฒน์จะเป็นพ่อหมอตรวจดวงชะตาให้ เราต้องเขียนวันเดือนปีเกิด และชื่อจริง เพื่อให้พ่อหมอตรวจดวงชะตา ขีดเขียน ตามหลักในกระดานชนวนคู่ใจ

อึดใจเดียวก็ได้รู้ผลการคำนวณ ตามตัวอักษรในชื่อว่าส่งเสริมชีวิตในเรื่องหน้าที่การงาน เนื้อคู่ ทรัพย์สิน อำนาจ บริวารหรือเปล่า หรือยังขาดด้านใดหรือไม่ รวมถึงมีอักษรใดที่เป็นกาลกิณีไหม นอกจากนี้ ดวงชะตาของเรายังบอกได้อีกว่า ทำอาชีพอะไรถึงจะส่งเสริมชีวิต จะได้เป็นเจ้าคนนายคนไหม ส่วนใครมีเรื่องคาใจ เช่น อยากมีความรักดีๆ มีหวานใจกับเขาสักที ต้องทำอย่างไร ก็ปรึกษาเขาได้เลย

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

 

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

วัฒน์ – ยศภัทร ยกยิ่ง ครูภูมิปัญญาและนักสื่อความหมายชุมชน

หลังตรวจดวงชะตาให้แล้ว เขาจะแนะนำตามพื้นดวงของแต่ละคนว่าจะเสริมดวงชะตาได้อย่างไร ควรไปสักการบูชาวัดในทิศใด เป็นการนำดวงเมืองมาหนุนดวงเรา จากนั้นเป็นการสาธิตและสอนทำเครื่องสักการะ ที่เป็นประเพณีความเชื่อสูงสุดของชาวล้านนา ปัจจุบันเครื่องสักการะยังหลงเหลือให้เห็นอยู่ในการใช้ประกอบพิธีทางศาสนา

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

บูชาพระธาตุ

ใครนึกไม่ออกว่าเครื่องสักการะของชาวล้านนาหน้าตาเป็นอย่างไร ก็ขอให้นึกถึงพานพุ่มที่เราพอคุ้นเคยกันอยู่ แต่เครื่องสักการะของที่นี่ หน้าตาจะแตกต่างกันไปตามประเภทของวัสดุที่ใช้ อย่าง สุ่มดอก ประดับด้วยดอกไม้มงคล นิยมใช้ดอกดาวเรือง สุ่มหมากเบ็ง ใช้หมากสดหรือหมากแห้ง สุ่มพลู ใช้ใบพลูและนิยมใช้คู่กับหมากและปูนแดง ต้นเทียน ใช้เทียนไขในการตกแต่ง ต้นผึ้ง ใช้ขี้ผึ้งบริสุทธิ์ จับจีบเป็นรูปดอกไม้ เป็นต้น ส่วนดอกไม้ที่ใช้ตกแต่งพานพุ่มนั้นนิยมใช้ดอกไม้ที่มีชื่อหรือความหมายที่เป็นมงคล และต้องเป็นดอกไม้ที่กินไม่ได้

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

ดุ๋มดิ๋ม – สิทธิชัย เตชะ ครูภูมิปัญญาด้านเครื่องสักการะ

กิจกรรมนี้ ดุ๋มดิ๋ม – สิทธิชัย เตชะ ครูภูมิปัญญาด้านเครื่องสักการะจะเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ ขณะที่ทุกคนกำลังขะมักเขม้นกับการทำอยู่เครื่องสักการะนั้น ดุ๋มดิ๋มพูดเตือนขึ้นว่า

“ดอกไม้ที่จะถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คนเหนือโบราณเขาห้ามดมเด็ดขาดนะครับ ถ้าใครดม จมูกจะเน่า (หัวเราะ) จริงๆ การห้ามดมกลิ่นหอมของดอกไม้ เพราะเชื่อว่า เป็นการไปแย่งความบริสุทธิ์ของดอกไม้ที่จะนำถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ถึงรู้ว่าดมแล้วจมูกไม่เน่า แต่ก็ไม่มีใครกล้ายกดอกไม้ขึ้นมาใกล้จมูกกันเลยทีเดียว

ที่สุดทุกคนก็ได้เครื่องสักการะเป็นของของตัวเองถือติดตัวไปนั่งรถรางแบบชิลล์ๆ เพื่อนำไปถวายวัดโบราณที่ตั้งอยู่ในทิศที่เป็นสิริมงคลกับดวงชะตาของตัวเอง ที่ช่วยทั้งเสริมดวงชะตาและเปลี่ยนชะตาที่ร้ายให้กลายเป็นดี ส่วนตัวรู้สึกว่านี่คือการเดินทางที่สโลว์ไลฟ์ ได้ชมเมืองไป ฟังเรื่องเล่าตำนานต่างๆ ของเมือง เมื่อถึงวัดแต่ละวัดก็มีความเป็นมาที่น่าสนใจ

รถรางค่อยๆ พาเราไปตามวัดที่ตั้งอยู่ในแต่ละทิศ สมกับที่เป็นการ ‘ไหว้ 9 วัด 8 ทิศ’ แต่ถ้าเป็นวัดที่เสริมชะตาตามพื้นดวงของตัวเอง ก็จะทำพิธีสวดเสริมสิริมงคลและนำเครื่องสักการะที่เตรียมมาไปถวาย สำหรับจุดหมายส่วนตัวของเราคือวัดแสนเมืองมา ที่เสริมดวงด้านทรัพย์สิน ซึ่งมีที่มาจากเรื่องของพญาแสนเมืองมา ที่ประสูติในช่วงที่อาณาจักรล้านนากำลังรุ่งเรือง มีท้าวพญาเมืองอื่นต่างก็นำบรรณาการมากมายมาถวาย จึงเชื่อกันว่า หากสักการบูชาที่วัดนี้ก็จะได้มั่งมีทรัพย์สินมากมายเหมือนพญาแสนเมืองมา

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

ทีมเชียงแสน…เมื่อแต่ละคนมารวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน

นุ่งซิ่น กินอาหารปิ่นโตสี่แผ่นดิน

อิ่มบุญกันแล้ว ก็มาอิ่มท้องกันบ้าง ในกิจกรรมที่จะพาไปเรียนรู้อาหารการกินที่เป็นวิถีชีวิตของชาวเชียงแสนโบราณ โดยในสมัยก่อนนั้น ชาวล้านนามักใช้ปิ่นโตเป็นภาชนะในการนำอาหารติดตัวไปทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะไปทำไร่ ทำนา หรือไปโรงเรียน ซึ่งเราจะได้ย้อนกลับไปสัมผัสความรู้สึกนั้นกัน

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

กิจกรรมนี้เราต้องเปลี่ยนชุด ไปนุ่งผ้าซิ่นที่เขาเตรียมไว้ เมื่อแต่งตัวเป็นสาวล้านนาแล้ว จึงมารับปิ่นโตไปเลือกที่นั่งกินได้ตามอิสระ เราเลือกบรรยากาศร่มรื่นใต้ต้นสักใหญ่ที่ให้ทั้งร่มเงาและลมเย็นๆ เป็นทำเลในการกินอาหารมื้อพิเศษนี้

ได้เวลาแกะปิ่นโตออกจากเถาแล้ว ว้าวววว น่ากินทุกเมนูเลย… เห็นว่านี่คืออาหารล้านนาโบราณแท้ 4 เชื้อชาติ ได้แก่ พม่า ลาว จีน และไทย ที่ลำน้ำโขงผูกสัมพันธ์เชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกัน

เริ่มด้วยเมนูของพม่า ข้าวเหลืองหน้าไก่ หรืออีกชื่อว่า ‘ข้าวอุ๊กไก่’ เป็นข้าวเหลืองเชียงตุงกินกับแกงไก่พม่าที่กลิ่นเครื่องเทศหอมเตะจมูก ต่อด้วยเมนูจากลาว ปลาบึกแม่น้ำโขงทอดซอสมะขาม เนื้อปลาสดหวานคลุกเคล้ากับซอสมะขามรสกลมกล่อม เปรี้ยว เค็ม มัน กำลังดี ส่วนเมนูจากจีน เห็ดเข็มทองชุบแป้งทอด ราดซอสหม่าล่ารสเผ็ดถึงใจ ปิดท้ายด้วยของหวานแบบไทยๆ ขนมรุ้งพระจันทร์ หรือขนมบัวลอยไทยวน หน้าตาดูคล้ายบัวลอยน้ำขิง แต่เป็นบัวลอยไส้เค็มกลิ่นเครื่องเทศไทย ๆ กินคู่กับกะทิและโรยงาคั่วหอม ๆ ได้กินแล้วต้องบอกเลยว่า อร่อยจนลืมไม่ลงเลย

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

หวาน – มัชฌิมา ยกยิ่ง ผู้นำกิจกรรมสร้างสีสันลวดลายใบสักบนผืนผ้า

สีสันใบสัก…ฮอมฮักเชียงแสน

อิ่มหนำสำราญ ก็ถึงเวลาโชว์ความเป็นศิลปินในตัวคุณ กับกิจกรรมการทำลวดลายผ้าจากใบสัก

ต้นสักถือเป็นไม้มงคลที่อยู่คู่กับเมืองเชียงแสนมานาน ตั้งแต่สถาปนาเมืองเชียงแสนในสมัยพญาแสนภู ตราบจนปัจจุบัน เชียงแสนก็ยังเต็มไปด้วยต้นสักกว่า 1,500 ต้น โดยมากจะปลูกอยู่ตามวัด โบราณสถาน และตามสถานที่สำคัญในเมืองเชียงแสน โดยเฉพาะพันธุ์มเหสักข์ สักใบใหญ่พบได้สองแห่งในเมืองไทยเท่านั้นคือที่แพร่และเชียงแสนนี่เอง

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

เมื่อมีต้นสักมาก ยามที่ใบร่วงก็เกลื่อนเต็มพื้นไปหมด หวาน – มัชฌิมา ยกยิ่ง จึงคิดหาวิธีนำใบสักมาบอกเล่าเรื่องราวเมืองเชียงแสน จนมาลงตัวที่การทำลวดลายบนผืนผ้าจากใบสัก โดยนำใช้ภูมิปัญญาการตอกเส้นแบบแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้ ด้วยการเปลี่ยนมาตอกลงไปบนใบสัก เพื่อให้สีและลวดลายตามธรรมชาติของใบไม้ลงไปอยู่บนผ้าเกิดคุณค่าของใบสักที่เคยไร้ประโยชน์ และสร้างมูลค่าให้กับผืนผ้า

ความสนุกของกิจกรรมนี้อยู่ที่การได้ออกแบบลวดลาย ด้วยการจัดวางใบไม้ดอกไม้ที่จะตอก และคอยลุ้นว่าสีใบสักที่เราตอกจะออกมาเป็นสีอะไร เพราะใบสักแต่ละใบจะให้สีที่ไม่เหมือนกัน และใบสักในแต่ละฤดูก็ยังให้สีที่แตกต่างกันด้วย อย่างฤดูหนาว สีของใบสักก็จะออกเป็นโทนสีเหลือง สีน้ำตาล ส่วนฤดูฝนก็จะให้เป็นสีแดง สีม่วง

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

อุ้ย – อภิชาต ติลกสกุลชัย หรืออาจารย์อุ้ย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน กำลังสอนทำสะเปา

สะเปาคำนำสุข

อีกหนึ่งกิจกรรมที่รื้อฟื้นวัฒนธรรมที่เลือนหายไปแล้วให้กลับมาใหม่ คือการลอยสะเปา สะเปา เป็นภาษาถิ่นแปลว่า เรือสำเภา

ขั้นตอนการทำสะเปาเริ่มด้วยต่อก้านกล้วยให้มีลักษณะเป็นเรือสำเภา แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้สีสันสวยงาม และมีชื่อหรือความหมายที่เป็นมงคล เช่น ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย จากนั้นนำกระทงใบตองที่มีอาหารคาวหวาน อาจเป็นอาหารโปรดของญาติพี่น้องที่จากไปมาใส่ไว้ในสะเปา แล้วจึงวางผางประทีป หรือถ้วยดินเผาเล็กๆ ที่บรรจุขี้ผึ้งไว้สำหรับจุดไฟตอนลอย และปักธูป สุดท้ายเขียนชื่อผู้ที่เราตั้งใจอุทิศกุศลไปให้ใส่ลงมาด้วย

ชวนเที่ยวเชียงแสนสไตล์สายมู ดูทักษาโหรา พาสนุกวิถีภูมิปัญญาโบราณ

ในการลอยสะเปาจะทำที่วัดร้อยข้อ ที่เก่าแก่มีอายุราว 500 ปี มีชื่อคล้ายกับคำว่าลอยเคราะห์ จึงไปอธิษฐานที่วัดนี้เพื่อขอให้สะเปาลอยเคราะห์ลอยโศกลอยโรคลอยภัย อุทิศกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้กับเจ้ากรรมนายเวร หรือแม้แต่จะอุทิศให้กับตัวเองในภพหน้าด้วยก็ได้ แล้วปล่อยสะเปาลงในแม่น้ำโขง

สำหรับเราการมาทริปนี้เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่น่าสนใจ และม่วนขนาด…มาที่เดียวครบจบทุกรส ทั้งได้ดูดวง ได้สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเสริมดวงชะตาตามหลักทักษาโหราแล้ว ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงแสนในแง่มุมต่างๆ ได้สัมผัสวิถีชีวิตสไตล์ล้านนาของชาวเชียงแสน แถมยังได้กินอาหารพื้นเมืองที่หากินยากอีกด้วย

อิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มความรู้ และอิ่มท้อง ครบสูตรเลยทีเดียว ใครมีโอกาสมาเที่ยวเชียงแสนอย่าลืมมาสัมผัสด้วยตัวเองกันดูนะ

ที่ตั้ง : 117 หมู่ 3 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
ผู้ที่สนใจติดต่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเพื่อสังคมเชียงแสน ได้ที่ มัชฌิมา (พี่หวาน) 06-2809-5831 / อภิชาติ (อุ้ย) 08-6777-7409
Facebook : ศูนย์รวมกิจกรรมท่องเที่ยวเชียงแสน

Tags: