About
Leisure X Nakhon Si Thammarat

Chula Beach Khanom

Chula Beach Khanom โรงแรมที่ผูกสัมพันธ์คอนกรีต เป็นมิตรกับสายลมแสงแดด

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 29-11-2021 | View 4850
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แม้เป็นโรงแรมเล็กๆ ริมชายหาดขนอม แต่จุฬา บีชก็สามารถเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านงานสถาปัตย์ที่เน้นงานคอนกรีตเท่ๆ และดูโดดเด่นเมื่อแรกเห็น
  • เหนือกว่านั้น ที่นี่ต้องการวางตัวเองให้เป็นมิตรแท้กับธรรมชาติ เปลี่ยนมุมมองของทุกคนเสียใหม่ให้เห็นว่างานคอนกรีตก็รักษ์โลกได้  ด้วยไอเดียของ เคน-ณัฐตนัย จันจรัสศรี เจ้าของและผู้ลงมือออกแบบที่นี่ด้วยตัวเอง

อาคารคอนกรีตเปลือยแซมด้วยงานไม้อาจไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับยุคนี้ แต่ความเป็น ‘Chula Beach Khanom’ (จุฬา บีช ขนอม) ต่างหากที่จะชวนเราเปลี่ยนมุมมองของแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการสร้างความกลมกลืนกับธรรมชาติที่ไม่จำกัดอยู่แค่วัสดุท้องถิ่นผ่านการเดินทางของความคิดของ เคน-ณัฐตนัย จันจรัสศรี เจ้าของโรงแรมและสถาปนิกผู้ออกแบบที่มีแพสชันส่วนตัวเป็นเข็มทิศนำทางบนพื้นฐานของความยั่งยืน

C 17

เคน – ณัฐตนัย จันจรัสศรี เจ้าของและผู้ออกแบบจุฬา บีช

สัจจะคอนกรีต

จุฬา บีช ขนอม เริ่มต้นขึ้นจากความตั้งใจตั้งแต่สมัยเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของ เคน ที่อยากจะออกแบบและสร้างโรงแรมในธรรมชาติสวยงามสักที่ หลังจากมีโอกาสกลับนครศรีธรรมราช บ้านเกิดของพ่อแม่ทุกๆ ปีและอยากมีโรงแรมในรูปแบบที่ตัวเองชอบ กอปรกับคุณแม่มีที่เดิมริมหาดหน้าด่านอยู่เกือบ 3 ไร่ซึ่งถือเป็นทำเลที่เหมาะกับธุรกิจที่พัก หลังเรียนจบเขาจึงเริ่มสเก็ตช์แบบไว้ตามฝันและทำงานสถาปนิกควบคู่กันไป จนกระทั่งลงเอยที่บูทีค โฮเทล แบบนกน้อยทำรังแต่พอตัว พร้อมนำชื่อเดิมของคุณแม่ (ปัจจุบันชื่อจุฬาลักษณ์) มาเป็นไอเดียตั้งชื่อโรงแรม

ในฐานะน้องใหม่แห่งวงการธุรกิจที่พักซึ่งยังไม่มีความรู้ด้านบริหารจัดการมากนักและมีทุนจำกัด เพื่อให้ทุกอย่างออกมาดีที่สุดในขอบเขตความสามารถที่ทำได้ เขาจึงเลือกตีกรอบสร้างอาคารเฉพาะพื้นที่ด้านหน้าหาดแทนที่จะสร้างเต็มพื้นที่ โดยมีแนวคิดเรื่องความเหมาะสมเป็นตัวตั้งต้น ทั้งด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ สภาพแวดล้อมติดทะเลและความยั่งยืน

C 16

“เดิมทีเราคิดจะทำเป็นหลังๆ แยกออกจากกันเหมือนวิลลา แต่เนื่องจากพื้นที่ไม่ใหญ่การทำเป็นหลังต้องมีระยะห่างเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวไม่ตอบโจทย์จุดประสงค์เริ่มต้นที่ต้องการให้เป็นอาคารติดด้านวิวทะเลทั้งหมด จึงเปลี่ยนการสร้างความเป็นส่วนตัวด้วยการสร้างแต่ละยูนิตให้เยื้องกันในอาคารเดียว เพื่อให้แต่ละห้องไม่สามารถมองเห็นกันในจำนวน 6 ห้องที่ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดเกินไป และด้วยพื้นที่ติดทะเล แดดแรงมีฝนตกชุก หากจะใช้วัสดุไม้เป็นองค์ประกอบหลักก็ไม่คงทน ส่วนพวกเมทัลก็ต้องตัดไปเพราะมีเรื่องของสนิม จึงจบลงด้วยวัสดุคอนกรีต”

“คนส่วนใหญ่จะตีความคอนกรีตว่าเป็นวัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เพราะเป็นมลพิษ แต่ส่วนตัวคิดว่าถ้าทำอาคารมาแล้วมันไม่ยั่งยืนแบบนั้นก็ไม่เรียกว่ากรีนสำหรับผม คอนกรีตจึงเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เก่าแล้วก็ไม่ต้องทาสีบ่อยๆ เพราะการทาสีก็มีสารระเหยต่างๆ ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน”

CH 4

จึงไม่แปลกที่ใครมาเยือนโรงแรมแห่งนี้แล้วจะเห็นเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการเพิ่มขยะจากการเสื่อมสภาพในเวลาอันสั้น แต่ใช้ความต่างของรูปแบบคอนกรีตโชว์ลายไม้ คอนกรีตขัดมัน บล็อกช่องลมสร้างความโดดเด่นแทน พร้อมกับตัดความแข็งด้วยวัสดุไม้ให้อารมณ์แบบทรอปิคอล โคซี แต่เจ้าตัวปฏิเสธระบุเป็นสไตล์ลอฟต์อย่างที่ใครต่อใครเรียกกัน ก่อนอธิบายเพิ่มว่า “สถาปัตยกรรมก็เหมือนดนตรี บางคนฟังแล้วเรียกว่าแนวหนึ่ง อีกคนฟังก็เรียกอีกแนวหนึ่งได้ จึงไม่อยากจำกัดว่าเป็นสไตล์อะไร”

CH 10

สัจจะสายลมแสงแดด

สิ่งหนึ่งที่มอบความรู้สึกคูลทันทีเมื่อแรกเห็น คือ ดับเบิลสเปซกลางอาคารที่มองเห็นวิวทะเลตั้งแต่ขับรถเข้ามา

“ผมอยากให้ At first sight ของทุกคนที่มาโรงแรมเห็นทะเลเลย เพราะตั้งใจให้ธรรมชาติเป็นพระเอกของที่นี่ ไม่ใช่ตัวอาคาร หากสังเกตดูจะเห็นว่าระนาบของผนังจะถูกออกแบบมาไม่ไปปิดด้านหน้าเลย อาคารโปร่งเป็นเฟรมที่มีไดเรกชันพุ่งไปหาทะเล เพื่อให้ทุกคนสัมผัสถึงความสงบและสวยงามของธรรมชาติโดยรอบของที่นี่จริงๆ” เคน เล่าถึงแรงบันดาลใจ

CH 13

ห้องพักทั้งหมดถูกจัดวางในลักษณะ Sea view แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ King bed with balcony & bathtub จำนวน 4 ห้อง (ชั้นบน) King bed with beach access จำนวน 1 ห้อง (ชั้นล่าง) และ Twin beds with beach access 1 ห้อง (ชั้นล่าง) แต่ละห้องตกแต่งโดยเน้นความโปร่ง โล่งสบาย โดยเฉพาะส่วนของห้องน้ำที่ใหญ่เป็นพิเศษจนเกือบเท่าห้องนอนและมีช่องให้แสงลอดผ่านในเวลากลางวัน

CH 2

CH 14

CH 12

CH 5

ขณะที่โซน Syne (ทราย) Bar&Café เป็นรูปแบบ Semi-Outdoor ไม่เพียงเปิดโล่งรับลมโกรก แต่เมื่อหันหน้าเข้าบาร์ยังได้เห็นวิวทะเลผ่านกระจกสะท้อนด้านหลัง เป็นโซนผ่อนคลายเพิ่มความสุนทรีย์ด้วยการดื่มแกล้มวิวสุดสวยที่ไม่ได้จำกัดแค่ผู้เข้าพักในโรงแรม จากการมีแพสชันส่วนตัวคอยกระซิบว่า บรรยากาศสุดชิลริมทะเลอันเงียบสงบเช่นนี้แหละคือสิ่งที่คนยุคนี้ถวิลหายิ่งนัก

 

CH 6

“ในยุคสมัยที่เราต้องทำงานกันวันละ 8-12 ชม. นิยามการท่องเที่ยวสำหรับผมคือการได้พักผ่อนกับธรรมชาติ กิน ดื่ม นอน ช่วงนั้นบาร์ติดทะเลในขนอมยังมีไม่มากนัก จึงอยากเป็นอีกทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวที่ชอบการใช้เวลาอยู่ในโรงแรมมากกว่าออกไปเที่ยวข้างนอก รวมทั้งนักท่องเที่ยวข้างนอกด้วย”

สำหรับเมนูในร้านส่วนใหญ่เขาร่วมคิดกับบาร์เทนเดอร์ แถมยังทำหน้าที่เองในช่วงแรก โดย Signature drink ที่ได้รับความนิยมคือ VANILLA SKY ที่มีความเป็นฟรุตตีนิดหนึ่ง เหมาะสำหรับคนที่ไม่เน้นเหล้าแรงมากออกเปรี้ยวหวานชนกัน และ SYNE SIGNATURE มีดาร์กรัมเป็นเหล้าหลักและใช้บ๊วยเป็นตัวขับรสชาติเหล้าขึ้นมามีสีน้ำตาลคล้ายสีทรายตามชื่อร้านนั่นเอง

CH 11

สัจจะจุฬาบีช

แม้ช่วงเวลาการเปิดตัวอาจไม่ดีนักเพราะอีกครึ่งปีต่อมาต้องเจอกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกินระยะเวลาต่อเนื่องยาวมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ผลประกอบการกลับดีเกินคาดสวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

“เราได้รับผลกระทบแค่ระลอกแรกหรือช่วงห้ามบิน แต่ก็เป็นระยะที่ไม่ยาวมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการทั่วไป” เป็นคำตอบที่เราไม่คุ้นเคยนักในแวดวงท่องเที่ยวช่วงที่ผ่านมา ก่อนเขาขยายความต่อว่า “ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะโรงแรมมีขนาดเล็กมากแค่ 6 ห้องและน่าจะได้อานิสงค์จากวัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ที่ช่วยให้การท่องเที่ยวของนครฯยังคึกคักในช่วงที่ผ่านมา หลังใช้เวลา 1 ปี ทราฟฟิกก็เริ่มเข้ามาเยอะ เกือบ 100% เป็นออร์แกนิก หากไม่นับรวมช่วงโควิดระลอกที่บอก มียอดจองเข้าพักเกือบเต็มทุกเดือน ถือเป็นผลตอบรับที่เกินคาดไว้มาก”

CH 9

ในวันที่การธุรกิจโรงแรมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะบูทีค โฮเทลที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น เคน มองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับผู้บริโภคในการมีตัวเลือกที่ดีมากขึ้น เพราะการแข่งขันก็ทำให้เกิดการพัฒนาขึ้นไปด้วย ข้อดีของการเป็นสถาปนิกเอง คือ จุดประสงค์สามารถกำหนดวิธีการได้ง่าย เพราะการอธิบายความต้องการให้คนอื่นฟังไม่มีทางเข้าใจได้ 100% อยู่แล้ว โดยจุดเด่นของบูทีค โฮเทลคือการบริการที่ยืดหยุ่นและการมอบประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ให้กับนักเดินทาง เหมือนกับที่จุฬาบีชมอบความเป็นส่วนตัวและความใกล้ชิดกับธรรมชาติให้กับผู้มาเยือน แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่ครบครันเหมือนหลายๆ โรงแรม

CH 3

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีประสบการณ์มากขึ้นพร้อมกับมองเห็น Pain Point ของโรงแรมชัดขึ้น ถึงเวลาของก้าวต่อไปของ จุฬา บีช ขนอม นั่นคือการสร้างเฟสสองในปีหน้าหากสถานการณ์โควิดไม่ทำให้ผิดแผนเสียก่อน สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นแน่นอนคือสระว่ายน้ำ ห้องอาหารและบาร์อินดอร์ที่สามารถตกแต่งภายในได้เต็มที่ รวมทั้งห้องพักอีก 12 ห้องในพื้นที่ด้านหลังอาคารปัจจุบัน ภายใต้การบาลานซ์ความเป็นส่วนตัวและมีสเปซที่ไม่อัดแน่นเกินไปเหมือนเดิม

CH 8

“เราอยากให้จุฬาบีชเป็นหนึ่งในตัวเลือกของคนที่อยากมาเที่ยวทะเลและได้ประสบการณ์ดีๆ กลับไป”

จุฬา บีช ขนอมในวันนี้อาจยังไม่ complete ความเป็นโรงแรมในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับใครหลายคน แต่หากได้ลองมาสัมผัสความเป็นตัวตนของบูทีค โฮเทลแห่งนี้แล้วอาจหลงรักทะเลอ่าวไทยไม่แพ้ฝั่งอันดามัน พร้อมเปิดมุมมองอีกด้านของคำว่า Sustainable ในวันที่โลกอยากให้เราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

CH 15

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก Chula Beach ถ่ายโดย KarN Tantiwitayapitak  https://www.facebook.com/karntoneti

โรงแรม Chula Beach Khanom
ที่อยู่ เลขที่ 10/10 ต.ขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช
ราคา 4000-6000 ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เข้าพัก
โทร 089 510 1592
เฟซบุ๊ค www.facebook.com/chulabeach/
เว็บไซต์ www.chulabeachkhanom.com/

Tags: