About
TRENDS

เรียนรู้ 5 แนวคิดแบบญี่ปุ่น

เรียนรู้ 5 แนวคิดแบบญี่ปุ่น เพื่อมนุษย์ ธรรมชาติ ความสุข และชีวิต

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ ภาพประกอบ Pattanaphoom P. Date 21-10-2020 | View 12619
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ นั่นเพราะความใส่ใจ หมั่นสังเกต และจดจำในสิ่งที่ลูกค้าชอบ รวมไปถึงหลักปรัชญาบางอย่างที่ฝังลึกลงในวิธีคิด ซึ่งให้ความเคารพและสนใจความรู้สึกของลูกค้าเป็นที่หนึ่ง
  • เทรนด์ที่มาแรงของผู้บริโภคที่จะอยู่ต่อเนื่องไปอีก 10 ปีข้างหน้า คือ ความใส่ใจรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้า และการสร้างประสบการณ์ควบคู่ไปกับการให้บริการที่น่าประทับใจ
  • หลักปรัชญาญี่ปุ่น ไม่เพียงแต่นำมาใช้ในธุรกิจต่างๆ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนผ่านงานออกแบบ ศิลปะ สถาปัตยกรรม การจัดสวน เรื่อยไปจนถึงนวัตกรรมต่างๆ

ข้อมูลของ Euromonitor International บริษัทสำรวจข้อมูลด้านการตลาดระดับโลก ระบุว่า เทรนด์ของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นและจะอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2030 นอกจากจะเป็นการใส่ใจรูปลักษณ์ภายนอกของสินค้าแล้ว ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับ ‘การบริการ’ และ ‘ประสบการณ์’ ควบคู่ไปด้วย

หนึ่งในประเทศที่โดดเด่นเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น สำหรับบางธุรกิจพวกเขาก้าวข้ามกลยุทธ์การตลาดตัวเลขยุบยิบ แต่กลับลงรายละเอียดสุดๆ ไปกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ และปกป้องความรู้สึกของลูกค้าเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกเมื่อวัฒนธรรมบริการหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ในสไตล์ชาวอาทิตย์อุทัย นอกจากได้รับความนิยมมายาวนาน ยังสร้างความประทับใจ ประสบการณ์และความทรงจำที่ดีในแบบเฉพาะตัวอีกด้วย

ปรัชญา ‘โอโมเทะ นาชิ’ (Omotenashi) หัวใจนักบริการ ฟัง เข้าใจและคิดถึงผู้อื่น

‘Omotenashi’ มีรากศัพท์มาจากคำว่า (Omote – โอโมเทะ ที่แปลว่าเบื้องหน้าและ Nashi – นาชิ ที่แปลว่า ไม่มี) ความหมายรวมๆ จึงหมายถึง การบริการแบบที่ไม่มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง หรือบริการอย่างบริสุทธิ์ใจ คำๆ นี้โดดเด่นนับตั้งแต่ถูกนำมาใช้เพื่อเสนอตัวเข้าชิงการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในคีย์สำคัญ ทำให้ญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในที่สุด กระทั่งเตรียมจะบรรจุใช้เป็น ‘คำขวัญ’ ในการเปิดประเทศต้อนรับผู้คนจากทั่วโลกซึ่งจะหลั่งไหลเข้ามาร่วมงาน ‘Olympic Tokyo 2020’ ตามที่เตรียมการณ์ไว้อีกด้วย

เรียนรู้ 5 แนวคิดแบบญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม ‘Omotenashi’ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวัดมาตรฐาน การบริการของบริษัทต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านหนังสือ ซุปเปอร์มาเก็ต โรงแรม การท่องเที่ยว ฯลฯ โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ

ตราสีแดง (ไม่มีดาว) มีแรงจูงใจและความพยายามในการปรับปรุงการบริการ
ตราสีทอง (1 ดาว) มีการให้บริการตามความคาดหวังของลูกค้า
ตราสีกรม (2 ดาว) มีการบริการที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์เป็นที่สะดุดตา
ตราสีม่วง (3 ดาว) มีการให้บริการ ที่เหนือความคาดหวังของลูกค้า

ดังเช่น ป้ายที่สนามบินนาริตะ เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘ยินดีต้อนรับสู่ญี่ปุ่น’ แต่ภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า ‘ยินดีต้อนรับกลับบ้าน’ หรือปรัชญาญี่ปุ่นในกำมือ ที่เข้าไปอยู่ในหัวใจของ ร้านซูชิชื่อดังของคุณปู่ชิโร่ ระดับมิชลินสตาร์ที่ใส่ใจในรายละเอียดถึงขั้นปั้นซูชิให้กับคุณผู้หญิงด้วยคำเล็กๆ เพื่อจะได้ทานง่าย มีการนวดปลาหมึกก่อนเพื่อให้ปลาหมึกนุ่มหรือการเสิร์ฟซูชิในขณะที่ยังร้อนเท่านั้น เพื่อให้มีกลิ่นหอมออกมาชวนน่ารับประทาน

เรียนรู้ 5 แนวคิดญี่ปุ่น

แม้แต่กรณีที่รถแท็กซี่ญี่ปุ่นถูกออกแบบให้สามารถ เปิดประตูเองได้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในเวลาเร่งด่วนหรือตอนถือของพะรุงพะรัง นอกจากนี้ ในร้านกินดื่มหลายร้าน บาร์เทนเดอร์มักจะจดจำสิ่งที่คุณดื่ม โดยไม่ถามซ้ำและวางแก้วไว้ที่ตำแหน่งที่คุณสะดวกเสมอ เรียกได้ว่ามีความสังเกตและใส่ใจลูกค้าเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นบริการมัดใจลูกค้าและสร้างความประทับใจมิรู้ลืม

 

ปรัชญา ‘วาบิ ซาบิ’ (Wabi Sabi) พบกันครึ่งทางระหว่างธรรมชาติและความไม่สมบูรณ์แบบ

ความงามของสรรพสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่คงทนถาวรและไม่ยั่งยืนของสิ่งรอบตัว สงบเงี่ยม อ่อนน้อมและไม่ยึดติดในแบบแผน นี่คือนิยามของปรัชญา ‘วาบิ ซาบิ’ ซึ่งเป็นทั้งวัฒนธรรม ค่านิยมแนวคิดและปรัชญา ทั้งยังเป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบและเห็นคุณค่าของความเรียบง่าย คอนเซ็ปต์หลักๆ คือการยึดถือความสุขทางใจ มากกว่าการยึดติดความงามทางวัตถุ จึงไม่แปลกเมื่อพบแนวคิด ‘วาบิ ซาบิ’สะท้อนผ่านงานออกแบบ สถาปัตยกรรม ศิลปะ หรือแม้แต่งานจัดสวน

ปรัชญาของ ‘วาบิ ซาบิ’ ประยุกต์เข้ากับงานเหล่านี้ได้อย่างน่าสนใจ เป็นความงามที่มีร่องรอยตำหนิ ตามกาลเวลา อาทิ ถ้วยชารูปทรงบิดเบี้ยวที่ปั้นด้วยมือ เคาน์เตอร์ซูชิทำจากไม้แผ่นใหญ่ไม่ขัดมันหรือกำแพงปูนที่สีหลุดลอกจนเห็นอิฐด้านใน ต้นไม้ที่ไร้ใบเหลือเพียงกิ่งก้านโชว์รูปทรง การจัดสวนแบบสมถะ มอสเขียวห่อคลุมก้อนหินรูปทรงแปลกตา หรือทางเดินหินตะปุ่มตะป่ำในสวนสวย

เรียนรู้แนวคิดญี่ปุ่นสื่อหลายแขนงยังยกให้ปรัชญานี้ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ เช่น www.italianbark.com เว็บไซต์ที่นำเสนอการออกแบบตกแต่งของอิตาลี ชี้ว่า ‘วาบิซาบิ’ เป็น Interior Trends แห่งปี 2018 ขณะที่งาน Milan Design Week 2018 นำเสนอเฟอร์นิเจอร์สไตล์นี้ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก แถมยังถูกนำไปปรับใช้และแทรกตัวอยู่ในงานตกแต่งสไตล์ต่างๆ ทั้งในร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรมฯลฯ จนกลายเป็นงานดีไซน์อันทรงคุณค่า

 

ปรัชญา ‘คินสึงิ’ (Kintsugi) ชดเชยความทุกข์ด้วยความสุข

‘คินสึงิ’ เป็นแนวคิดที่สะท้อนถึงนิกายเซน หนึ่งในเทคนิคดั้งเดิม ที่ทำให้ผู้คนสนใจประวัติศาสตร์โบราณตั้งแต่ยุคสมัยโจมงสืบเนื่องมาถึงสมัยมุโรมาจิ ถือเป็นการรังสรรค์งานศิลปะที่มาจากการซ่อมแซม สิ่งของชำรุด ร่องรอยและรอยร้าวต่างๆ ให้ได้รับการประสานด้วยรักหรือยางไม้ ทาทาบด้วยเส้นสายสีทอง (หรือโลหะชนิดอื่น) เชื่อมตรงรอยต่อกลายเป็นจุดเด่นอันน่าอัศจรรย์

กลายเป็นปรัชญาและความเชื่อที่ว่า ถ้วยชามแตกบิ่นนั้นไม่ควรทิ้งขว้าง แต่ควรซ่อมเพื่อให้พวกมันกลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง เพราะในการดำเนินชีวิตของเราทุกคนล้วนหลีกหนีความเจ็บปวดไม่พ้นทั้งทางกายและทางใจ ถือเป็นมรดกล้ำค่าจากประเทศญี่ปุ่นที่ได้ส่งข้อความอันงดงามไปถึงทุกคนในโลกนี้ว่า เราไม่ควรโยนทิ้งสิ่งของ ที่พังและสอนให้ผู้คนรู้ซึ้งถึงความสำคัญของความยืดหยุ่น

เมื่อใดก็ตามที่ประสบกับปัญหาและความเจ็บปวด จะต้องพยายามอย่างดีที่สุดที่จะรับมือและยืนหยัดขึ้นอย่างแข็งแกร่ง วิธีคิดของ ‘คินสึงิ’ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการเยียวยา มีหลายบริษัททั่วโลกที่นำเอาเทคนิค ‘คินสึงิ’ ของญี่ปุ่นนี้ไปใช้งานในการออกแบบผนัง กำแพงวอลเปเปอร์ ลวดลายกระเบื้อง ชุดถ้วยโถโอชา หรือแม้แต่คอนเซ็ปต์ของนิทรรศการและอีเว้นท์ต่างๆ ทั้งในเอเชียและโลกตะวันตก รวมถึงยึดเหนี่ยวไว้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมขององค์กรด้วย

ปรัชญา ‘อิคิไก’ (Ikigai) ความหมายของการมีชีวิตอยู่

ภูมิปัญญาเก่าแก่ของญี่ปุ่นอย่าง ‘อิคิไก’ กำลังเป็นที่สนใจและเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง โดยเฉพาะหนุ่มสาวรุ่นใหม่แถมยังโด่งดังมากในโลกออนไลน์ แวดวงนักเขียนและวรรณกรรมแต่สำหรับคนญี่ปุ่น ‘อิคิไก’ เป็นเพียงคำธรรมดา ที่ผู้คนใช้กันทั่วไปในชีวิตเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งพิเศษที่จะต้องค้นหา เพราะเป็นแนวคิดที่ฝังลึกในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต

ว่ากันว่า ที่ญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะเห็นคนชราจับกลุ่มกันบริเวณสวนสาธารณะในเขตชุมชนพักอาศัยตอน หกโมงครึ่ง ทุกคนจะมายืนประจำตำแหน่งของตนเอง เพราะนั่นคือเวลาที่สถานีวิทยุ NHK Radio สถานีวิทยุที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น เปิดเพลงเรดิโอไทโซในทุกๆ เช้า “นี่คืออิคิไกของพวกเขา” หรือแม้แต่การหยิบเรื่องเล่าโดย ‘เคน โมหงิ’ นักประสาทวิทยาเจ้าของงาน ‘The Little Book of Ikigai : The secret Japanese way to live a happy and long life’ ซึ่งเกี่ยวกับวิถีของพ่อค้าปลาทูน่าในตลาดปลาสึคิจิใจกลางเมืองโตเกียว ผู้คุ้นเคยกับการตื่นตีสองของทุกวัน เพื่อคัดเลือกปลาทูน่าตัวที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่คือร้านซูชิชั้นนำในโตเกียว

เรียนรู้แนวคิดญี่ปุ่น

 

อีกเรื่องคือ วินัยและวิถีปฏิบัติ ของหัวหน้าทีมปรุงเหล้าบริษัทซันโตรีชื่อดัง เขาคลุกคลีอยู่กับการกินอาหารแบบเดียวอย่าง อุด้งน้ำในมื้อเที่ยงของทุกวัน เพื่อควบคุมลิ้นให้ทำหน้าที่เป็นต่อมรับรสที่เที่ยงตรง เขาทำแบบนี้เป็นประจำทุกวัน จนเรียกได้ว่า ทั้งหมดล้วนแต่มีอิคิไก ที่แตกต่างกันและมีความสุขกับชีวิตในแบบของตนเอง ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสารพัดกิจการ ธุรกิจท่องเที่ยว และบริการนั้นๆ ตามความพอใจ

ปรัชญา ‘โคดาวาริ’ (Kodawari) สแตนดาร์ดแบบญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น

นี่คือศาสตร์แห่งการพัฒนาหรือการรักษามาตรฐาน ที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือเป็นคำมั่นสัญญาอันแน่วแน่ในการให้บริการแก่ลูกค้า อาทิ การเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซน ที่มีการยกระดับมาตรฐานตั้งแต่ความสะดวกสบาย ตรงต่อเวลา และประสิทธิภาพของการเสิร์ฟอาหารสุดเนี้ยบ

สำหรับรถไฟหัวจรวดรุ่นล่าสุดได้พัฒนาเรื่องของความปลอดภัย ที่ให้คำมั่นว่าใช้การได้ด้วยแบตเตอรี่ หากเกิดเหตุฉุกเฉินแผ่นดินไหวหรือไฟดับ ก็จะพาไปยังจุดที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเก้าอี้ใหม่เอนเบาะที่นุ่มขึ้น ปลั๊กไฟสำหรับทุกที่นั่ง ไวไฟฟรีทั่วคัน มีพื้นที่สำหรับวางกระเป๋าเดินทางเยอะขึ้น ส่วนบริการสาธารณะก็มีห้องน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกของสุขภัณฑ์

เรียนรู้แนวคิดญี่ปุ่น

เรียนรู้แนวคิดญี่ปุ่น

อีกตัวอย่างหนึ่งของแบรนด์ที่นำเอาปรัชญา ‘โคดาวาริ’ เข้าไปอยู่ในการสร้างแบรนด์คือ ‘Shimano’ ผู้ผลิตชิ้นส่วนจักรยานในเมืองซะไค โอซาก้า จากร้านเล็กๆ แต่มีความมุ่งมั่นพัฒนา ขยันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จนสามารถก้าวสู่ตาดอินเตอร์ และมีสิทธิบัตรนวัตกรรมจักรยานมากที่สุดในโลก แซงหน้าแบรนด์ดังจากอิตาลีและอเมริกาแบบไม่เห็นฝุ่น เหล่านี้ต่างเป็นวิธีคิดแบบ ‘โคดาวาริ’ อันจริงจังของชาวแดนปลาดิบที่สมควรได้รับการชื่นชม

เรียนรู้แนวคิดญี่ปุ่น

เราเชื่อว่าทุกหลักคิด ต่างมีความเฉพาะตัวและรากฐานในการดำเนินธุรกิจและยึดถือปฏิบัติต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่สอนหรือฝึกปฏิบัติกันได้ง่ายๆ หากแต่ต้องใช้เวลาในการฝึกฝนและฝังรากลึกลงไปในจิตใจจริงๆ ทำให้ใครหลายคนที่เคยใช้สินค้าและบริการจากแดนปลาดิบ ล้วนประทับใจในประสบการณ์ที่ไม่อาจหาได้จากที่อื่น

อ้างอิง

  • https://guide.michelin.com/sg/en/article/features/omotenashi
  • https://theculturetrip.com
  • https://www.baramizi.co.th
  • http://www.designedasia.com
  • https://kuramochiglobal.com
  • http://www.tcdc.or.th
  • https://readthecloud.co/ikigai-ken-mogi
  • www.jrailpass.com/blog/shinkasen-n700s
Tags: