Art move
The Power of Art ถ้าศิลปะจะเปลี่ยนโลก ถอดไอเดียที่เชื่อในพลังศิลปะเพื่อสิ่งแวดล้อม
- ถอดไอเดียการนำศิลปะมาขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมจากนิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ กับผู้อยู่เบื้องหลังงานนี้ว่า ศิลปะมีพลังและบทบาทด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร และศิลปินให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อโจทย์นี้อย่างไรบ้าง
รูปภาพบอกเล่าเรื่องราวนับพันได้ฉันใด ว่ากันว่าศิลปะก็เป็นสะพานสู่การเปลี่ยนแปลงโลกได้ฉันนั้น
ฟังดูเหมือนไกลตัว แต่หลายปีมานี้ทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบของภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยหันมาใช้ศิลปะรับมือกับวิกฤตเหล่านี้กันมากขึ้น ท่ามกลางความเชื่อว่าจะมีอิทธิพลในการกระตุ้นความรู้สึกและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไม่มากก็น้อย
นิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ ซึ่งจัดแสดงอยู่ ณ Art4C Centre ที่เพิ่งสิ้นสุดเมื่อไม่นานมานี้ เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่พยายามสะท้อนปัญหาจำนวนและขนาดของปลาทูในน่านน้ำไทยลดลงอย่างน่าใจหายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
คอลัมน์ TREND เลยถือโอกาสชวนผู้อยู่เบื้องหลังงานมาเปิดมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ กางไอเดียให้เห็นว่าว่าพลังของศิลปะจะขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ศิลปะสามารถเข้าถึงผู้คนได้หลากหลาย
“เมื่อบางอย่างมันพูดไม่ได้ ก็ต้องอาศัยศิลปะ”
คำตอบสั้นๆ จาก อ้อม-วิจิตรา ดวงดี Program Manager ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของพูลิตเซอร์ เซ็นเตอร์ เมื่อเราถามถึงเหตุผลในการเลือกสะท้อนปัญหาผ่านศิลปะการออกแบบเชิงประสบการณ์
ด้วยประเด็นส่วนใหญ่ของทางพูลิตเซอร์ค่อนข้างอ่อนไหว บางอย่างไม่อาจสื่อสารตรงๆ ได้ทั้งหมด บ้างก็ได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่ม เลยต้องการขยายกลุ่มเป้าหมายให้กว้างขึ้น ขณะที่การนำเสนอแบบรายงานทางวิทยาศาสตร์และตัวเลขสถิติเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นแล้วว่ายังมีพลังไม่มากพอ
ตลอด 3 ปีของการคลุกคลีอยู่ในวงการนี้ อ้อมเรียนรู้ว่าการสื่อสารผ่านงานศิลปะ สามารถเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มคนใหม่ๆ ซึ่งเป็นจุดประสงค์ขององค์กรที่ต้องการขยายการรับรู้ในวงกว้าง
“พอเราพูดตรงๆ ตามแพตเทิร์น 1 2 3 4 มันไม่น่าสนใจ ไม่ก็มีคำถาม แรงไปไหม? เลือกข้างหรือเปล่า?” ต่างจากการนำเสนอผ่านศิลปะที่ไม่เพียงทำให้ดูซอฟต์ลง ไม่ตีกรอบความคิด แต่ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน “มันเข้าถึงคนได้มากกว่า ไม่ว่าจะเพศอะไร อายุเท่าไหร่ อยู่ฝ่ายไหน ทุกคนสามารถคิดได้หลายทางในมุมมองของตัวเอง”
เธอยกตัวอย่างนิทรรศการ Kisah Rimba (เรื่องของป่า) และการพูดคุยที่บาหลี ปี 2023 ของพูลิตเซอร์ ซึ่งได้ 8 ศิลปินท้องถิ่นมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวพิเศษของป่าอินโดนีเซีย ชี้ให้เห็นถึงโครงการระดับชาติคุกคามป่าไม้และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนท้องถิ่นอย่างไร พร้อมตั้งข้อสังเกตเรื่องการลุกลามของไฟป่าขนาดใหญ่ในไม่กี่ปีมานี้ก็สอดคล้องกับการขยายตัวของโครงการนิคมอาหารแห่งชาติ ไม่ใช่เพราะเกษตรกรพื้นเมืองนั้น สามารถแสดงออกได้เต็มที่เมื่อผ่านงานศิลปะ
“ศิลปินแสดงออกกันอย่างดุเดือดมาก ทั้งตีแผ่ เสียดสี วิพากษ์ อย่างเต็มที่โดยไม่มีปัญหา แถมยังน่าสนใจด้วย”
พลังสร้างสรรค์กับแรงปะทะที่มากกว่า
จริงๆ แล้วศิลปะกับการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นของคู่กันมานานหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ภาพวาดล้อเลียน จิกกัดพอแสบๆ คันๆ ตามวาระ ไปจนถึงการยืนหยัดต่อสู้เพื่อชุมชนอย่าง เลน – ‘จิตติมา ผลเสวก’ นักเขียนและศิลปิน Performance Art ผู้ฝากผลงานการต่อต้านการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินได้สำเร็จ
เต้น-พงษ์พันธ์ สุริยะ คิวเรเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบนิทรรศการ เล่าว่า เริ่มรู้จักบทบาทด้านนี้จากการสัมภาษณ์เลนเพื่อทำวิทยานิพนธ์สมัยเรียนภัณฑารักษ์ที่สวิตเซอร์แลนด์ และได้รับแรงบันดาลใจในการทำงานปัจจุบันมาจากวิธีการสื่อสารของศิลปินต้นแบบคนนี้ด้วย
“ถ้าวิเคราะห์งานของแก จะไปเข้ากับแนวคิดแบบ Dada ของตะวันตก ศิลปะแนวใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 20 ของ Marcel Duchamp ที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการทางความคิดมากกว่าทักษะ แกไม่ได้ด่าอย่างเดียว แต่มีโซลูชันให้ด้วย”
ถึงอย่างนั้นเขาก็เคยตั้งคำถามกับศิลปินต้นแบบผู้ล่วงลับว่า “ทำไมต้องทำ แล้วมันจะไปขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมอย่างไร” และคำตอบที่ได้กลับมาในวันนั้นคือ งานศิลปะคือการสื่อสาร และการสร้างแรงปะทะ “เมื่อศิลปินลงไปสัมผัสปัญหา ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม มันจะเกิดแรงปะทะในใจ กลั่นกรองแล้วก็แสดงออกมาเป็นชิ้นงาน ซึ่งจะไปสร้างแรงปะทะกับผู้ชมอีกทีหนึ่ง”
แรงปะทะที่ว่านี้มันรุนแรงกว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ หรือสกู๊ปข่าวที่อาจไม่ได้ลึกซึ้งทั้งในแง่ของอารมณ์ ความรู้สึกและการจุดประกายความคิด “ยิ่งถ้าเป็นการแสดงออกในรูปแบบ Performance จะมีห้วงเวลาในการสร้างแรงปะทะด้วยการดึง ยื้อเวลา สร้างอารมณ์กินใจ แล้วทำให้เกิดซีนที่จุดประเด็นขึ้น”
แน่นอนว่าแรงปะทะของศิลปินแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนเป็นแนว Performance แสดงออกถึงสัญลักษณ์ ไม่ก็แนวโซลูชันแบบพี่เลน “อย่างผมแต่ละงานจะมีกระบวนการไม่ค่อยเหมือนกัน แต่สไตล์ผมจะมีความแกล้งคนนิดๆ”
ด้วยพื้นฐานการเป็นสถาปนิก นักออกแบบ ไม่ใช่ศิลปิน กระบวนการคิดของเต้นอาจเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปินที่มีกระบวนการคิดทางอารมณ์ความรู้สึก เพียงแต่เอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นมาสร้างให้เกิดอีโมชัน
“ตอนแรกทางพูลิตเซอร์อยากจัดงานปลาทูหายไป มานั่งกินข้าวกัน ผมก็คิดถึงวลีไทย ‘ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา’ ทำอย่างไรให้ประสบการณ์กินข้าวเกิดสิ่งนี้ขึ้นได้ การจะเอาผลลัพธ์ให้คนไปดู มันไม่กินใจ เหมือนถ้าเราเสิร์ฟอาหารโดยไม่มีปลาทู ดูมิติมันแบน เลยออกแบบประสบการณ์ให้มันใกล้เคียงกับสภาพโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด เล่นกับพฤติกรรมของผู้บริโภคหน่อย”
สิ่งแวดล้อมคือคอนเทนต์
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับการมองเห็นมากขึ้นในโลกศิลปะ กลายเป็นเวทีสำหรับศิลปินทั่วโลกได้แสดงความคิดและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกต่อโลก
Ice Watch ศิลปะการจัดวางก้อนน้ำแข็งของ Olafur Eliasson คือหนึ่งในชิ้นงานที่โด่งดัง ศิลปินลูกครึ่งเดนมาร์ก-ไอซ์แลนด์ ร่วมมือกับ Minik Rosing นักธรณีวิทยา สกัดน้ำแข็งขนาดใหญ่จากกรีนแลนด์ มาจัดแสดงในใจกลางเมืองในช่วงที่มีวาระการประชุมใหญ่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนรวม 3 ครั้ง
ครั้งล่าสุด เธอนำน้ำแข็งก้อนยักษ์ 30 ก้อนมาจัดวางในพื้นที่สาธารณะทั่วลอนดอน และปล่อยให้ละลาย เพื่อสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากภาวะโลกร้อนให้เห็นภาพชัดขึ้น นิทรรศการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประชุมผู้นำโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP24 ที่ประเทศโปแลนด์ เมื่อปี 2018 ด้วยความหวังจะสร้างแรงบันดาลใจให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน
“ฉันอยากเปลี่ยนการบรรยายเรื่องโลกร้อนจากความคิด เป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนั้นให้สัมผัสได้”
นอกจากนี้ก็ยังมี Running the Numbers ของ Chris Jordan เป็นซีรีส์ภาพถ่ายที่ใช้ภาพขนาดใหญ่เพื่อแสดงผลกระทบของการบริโภคของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ภาพหนึ่งใช้พลาสติก 2.4 ล้านชิ้น ซึ่งเท่ากับจำนวนมลพิษจากพลาสติกที่เข้าสู่มหาสมุทรโลกทุกๆ ชั่วโมง และ ซีรีส์ประติมากรรม Trash People โดยศิลปินชาวเยอรมัน HA Schult นำเสนอรูปปั้นขนาดเท่าจริงจากขยะที่เก็บมาจากชายหาดทั่วโลกทั้งหมด เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษในมหาสมุทรและกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการเพื่อลดขยะ
อย่างไรก็ตาม เต้นมองว่าศิลปินไม่ได้ใช้ศิลปะขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม ในทางกลับกันประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมคือคอนเทนต์ ถ้ามองประวัติศาสตร์ ในอดีตคอนเทนต์ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปากท้อง เทพเจ้า ชนชั้นปกครอง ศาสนา หรือการเมือง มายุคนี้ สิ่งแวดล้อมคือเรื่องสำคัญในกระแส
“นี่คือคอนเทนต์ที่ปะทะใจคนหมู่มาก เหมือนช่วงหนึ่งที่ศิลปะแสดงออกทางการเมืองเยอะจัง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สมควรพูดแล้ว เพียงแต่คนที่ทำจริงๆ ไม่ได้เพิ่งมาทำ เขามาก่อนกาลกันมาก เป็นกลุ่มขับเคลื่อนสังคม แต่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ขณะที่ศิลปินที่เห็นช่องทางการตลาดกลับรุ่งเรือง ตามกลไกทุนนิยม”
อนาคตแห่งความหวัง
“เราไม่หวังไกลไปถึงการปรับเปลี่ยนกฎหมายสำหรับควบคุมการทำประมงเกินขนาดอย่างเข้มงวดในเร็วๆ นี้ เพียงแค่หวังให้ผู้บริโภคธรรมดาๆ อย่างเราตระหนักถึงสิ่งที่กินว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ไม่ได้บอกให้กินน้อยลง แต่อยากให้ตระหนักและช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไรได้บ้าง” อ้อม บอกถึงความคาดหวังจากงานแสดงนิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’
หลังจากปีที่แล้วได้เปลี่ยนมุมมองใครหลายๆ คนรวมถึงช่างภาพคนเมือง 13 ชีวิตที่มีต่อชาวปกาเกอะญอ ซึ่งถูกตีตราว่าเป็นผู้บุกรุกป่า จากการร่วมเดินทางไปทำความเข้าใจวิถีชีวิตของเขา และถ่ายทอดออกมาเป็นภาพในงานนิทรรศการภาพถ่าย “คนกับป่า”
แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ว่าศิลปะกำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม คือแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปิน “เป็นมิตรกับโลกมากขึ้น”
ดร.ให้แสง ชวนะลิขิกร ผู้อำนวยการ CU Art4C Centre เล่าว่า ตอนนี้แม้ศิลปินหลายคนจะไม่ได้สื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมในชิ้นงานโดยตรง แต่ก็ตระหนักในการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่
“ศิลปะร่วมสมัยมันพูดถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวอยู่แล้ว ตอนนี้มันไม่ใช่ Global Warming แต่มันคือ Global Boiling มีเรื่องฝุ่น เรื่องขยะ อะไรต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น มีศิลปินพูดถึงเรื่องนี้แน่นอน แค่จะแตะมากแตะน้อยเท่านั้น”
ยิ่งตอนนี้เป็นงานศิลปวัฒนธรรม หรือการออกแบบให้มีประสบการณ์ร่วมเหมือนอย่าง Performative Dinner ในนิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ ยิ่งทำให้ศิลปะเพิ่มความน่าสนใจและจะมีบทบาทในการอนุรักษ์มากขึ้นด้วย เมื่อบวกกับค่านิยมในการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของคนไทยที่เปลี่ยนไป ยิ่งทำให้ศิลปะทรงพลังมากขึ้น
“เมื่อก่อนคนที่เข้ามาดูงานในแกลเลอรีหรือหอศิลป์ คือคนที่ตั้งใจมาดูงานศิลปะจริงๆ เพราะเราไม่ได้ถูกปลูกฝังว่าวันหยุดจะไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ แต่ทุกวันนี้สื่อเปิดมากขึ้น ทำให้คนหากิจกรรมด้วยตัวเอง และเห็นว่าเป็นกิจกรรมยามว่างที่มีประสิทธิผล เป็นวัฒนธรรมที่ดีที่เกิดขึ้น”
แต่ถ้าหวังผลลัพธ์ถึงการเปลี่ยนแปลง เต้นมองว่าควรต้องทำอย่างต่อเนื่องแบบพี่เลน ทั้งองค์กร ศิลปินผู้เคลื่อนไหวและสื่อ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพราะการคาดหวังให้เกิดแรงปะทะรุนแรงในสังคมจากกิจกรรมในครั้งเดียวคงเป็นไปไม่ได้
“บางคนบอกว่า สวิตเซอร์แลนด์สวย จริงๆ สวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้สวย ธรรมชาติต่างหากที่สวย ทุกๆ ที่ก็มีธรรมชาติ แต่คุณแค่ไม่รักษาและอยู่ร่วมกับมันเองเหมือนเขา” เต้นฝากข้อคิดที่เรามีส่วนร่วมรักษ์โลกกันได้ง่ายๆ