About
ART+CULTURE

I Miss You, Platu Thai

‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ นิทรรศการจำลองโต๊ะอาหารในวันที่เราอาจไม่มีปลาทูให้กินอีกต่อไป!

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับคิวเรเตอร์ ‘เต้น- พงษ์พันธ์ สุริยภัทร’ และเชฟ ‘เช้า- ต่อจันทน์ แคทริน บุญสิงห์’ ถึงนิทรรศการศิลปะแบบ “Performative Dinner” ที่จำลองมื้ออาหารสุดพิเศษเพื่อสะท้อนปัญหาการร่อยหรอของปลาทูไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ได้

ปลาทูไทยกำลังจะหายไปจากโลก!

ใครจะไปคิดว่ารสชาติเค็มนิดๆ หวานหน่อยๆ พร้อมความมัน ซึ่งแทนไม่ได้ด้วยปลาสายพันธุ์ไหนกำลังจะกลายเป็นของที่หากินไม่ได้ในอีกเพียง 20-30 ปีนี้…

‘The Vanishing Feast : Performative Dinner’ การแสดงผลงานศิลปะในรูปแบบของ “ดินเนอร์” จากนิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความ ‘Thailand’s Favorite Fish Is Vanishing ; Our Appetite is To Blame.’ โดย Aiden Jones ภายใต้การสนับสนุนขององค์กรระดับโลกอย่าง ‘พูลิตเซอร์ เซ็นเตอร์’ จะมาตีแผ่พฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญในที่ทำให้จำนวนปลาทูลดลงอย่างเห็นได้ชัด

และคนที่เราจะมาคุยด้วยในวันนี้จะเป็นใครไปไม่ได้เลยหากไม่ใช่เชฟ ‘เช้า’ จากร้าน ‘Bite Me Softly’ ผู้ออกแบบเมนูในนิทรรศการนี้ให้มีความอร่อยแต่ยังจิกกัดคนกินเบาๆ และคิวเรเตอร์ ‘เต้น’ ผู้อยู่เบื้องหลังแผนการล่อลวงผู้บริโภคให้ติดกับทั้งหมด มาเรียนรู้ความสำคัญของปลาทู นัยต่างๆ ที่ถูกซ่อนไว้ในอาหารมื้อนี้ ไปจนถึงวิธีการแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามแบบฉบับเต้นเเละเช้ากันได้เลย

ปลาทูไทย

ปลาทูไทย

ปลาทูไทย

คนไทยกับปลาทู

“ถ้าพูดถึงปลาทูมันไม่ได้พิเศษ มันเป็นวิถี” เต้นกล่าว

ตั้งแต่เด็กเขาจำได้ว่า น้ำพริกกะปิปลาทู เป็นอาหารที่แม่มักเรียกเขาไปช่วยทำอยู่บ่อยๆ เแต่ก็ด้วยความที่เห็นบ่อยนี่แหละ เลยทำให้การได้กินแต่ละครั้งไม่ได้ดูเป็นปรากฏการณ์อะไร เขานั่งนึกไปอีกสักพักก่อนจะสรุปออกมาได้ว่า “มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์ที่เอาไว้เชื่อมโยงความทรงจำ สำหรับเรามันเชื่อมโยงเรากับครอบครัว กับญาติผู้ใหญ่”

ปลาทูไทย

ด้านเช้าผู้เป็นเชฟก็ผูกพันกับคลังเมนูปลาทูมากมายจากทั้งบ้านฝั่งพ่อและฝั่งแม่ ไม่เสียชื่ออาชีพ “ฝั่งบ้านแม่ คุณตาเป็นคนมหาชัย ที่บ้านเป็นประมง ก็เลยจะมีความอยู่กับปลาทู จะมีเมนูปลาทูหลายๆ อย่าง เช่น ปลาทูซาเตี๊ยะ ปลาทูต้มเค็ม ปลาทูต้มมะดัน และปลาทูต้มยำ เพราะเขาเคยชินกับการทำปลาทูสด ส่วนอีกฝั่งนึงที่เป็นบ้านคุณย่า จะทำอาหารภาคกลาง เช่น ต้มสายบัวใส่ปลาทู น้ำพริกปลาทู หรือว่าข้าวคลุกปลาทู”

เมื่อถามถึงเมนูโปรด เช้าสวนตอบอย่างมั่นใจว่า “ปลาทูต้มเค็ม! เพราะมันหว้านหวาน แถมก้างเปื่อย”

ปลาทูไทย

ปลาทูไทย

แต่ท่ามกลางความตื่นเต้นกับชื่อเมนูปลาทูที่แสนหลากหลายชวนหิว ก็น่าเศร้า เพราะนอกจากจะฉุกคิดได้ว่าคนที่ทำเมนูเหล่านี้เป็นจริงๆ เหลืออยู่ไม่มากแล้ว จำนวนปลาทูไทย หน้างอ คอหัก ก็น้อยลงตาม อย่างที่เชฟเช้าผู้ต้องสัมผัสกับวัตถุดิบอยู่ทุกวันเล่าว่า “เวลาไปท้องตลาดเราจะพยายามหาปลาทูที่ทรงถูกต้อง แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันจะมีแต่ตัวใหญ่ๆ เนื้อแข็งๆ แห้งๆ ซึ่งมันไม่ใช่ปลาทูไทย คือดูก็รู้แล้วว่ามันไม่ใช่ปลาทูที่เรากินตั้งแต่เด็ก”

ปลาทูไทย

กับดักบริโภคนิยม

ต้นตอของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากมนุษย์ที่บริโภคแบบไม่เลือกหน้าจนกระทบการทำประมง และส่งผลต่อระบบนิเวศ นิทรรศการ “The Vanishing Feast : Performative Dinner” เลยทำมาเพื่อให้เราสัมผัสกับผลกระทบของสิ่งที่เราได้ก่อแบบจังๆ ผ่านงานศิลปะที่คราวนี้ไม่ได้ถูกแขวนโชว์บนผนัง หรือตั้งเรียงรายในห้องสีขาว แต่เกิดจากรีแอ็กชันของแขกทุกคนกับสิ่งที่อยู่ในสเปซต่างหาก

เต้นเล่าให้เราฟังว่า ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบ ดาด้า (Dada) และ ฟลักซัส (Fluxus) ที่เน้นสิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์

“คือการวางกรอบไว้ให้ เเล้วให้มันเกิดขึ้นอย่างอิสระ”

ปลาทูไทย

โดยกรอบที่ว่านั้นมีอยู่ 2-3 อย่างคือ หนึ่ง แขกทุกคนจะต้องเข้ามานั่งบนโต๊ะอาหารที่ในบริเวณนั้นถูกคลุมด้วยแห ราวกับว่าทุกคนได้ “ติดกับ” เข้าแล้ว สอง อาหารจะออกมาตามสายพานที่แทนกลไกการผลิตอันรวดเร็วของอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากสแน็กส์ที่แขกทุกคนจะเลือกกินหรือไม่กินก็ได้ และสุดท้าย คือแขกทุกคนจะต้องกินอาหารตามคอร์สที่เหลือ

ปลาทูไทย

ปลาทูไทย

สำหรับประสบการณ์ส่วนตัว ความน่ากินของอาหารของเชฟเช้า ทำให้เรากินสแน็กส์ ทุกเมนูที่ไหลออกมาตามสายพานจนเกลี้ยง ซึ่งประกอบไปด้วย ขนมปังหมึกกระเทียม ปลากรอบ และข้าวเหนียวน้ำพริกแมลง แต่พอมาถึงอาหารจานหลักซึ่งเป็น ‘ข้าวผัดน้ำพริกกะปิปลาทูไทย’ จานเรากลับไร้เงาปลาทู ในขณะที่เพื่อนๆ อีกสองคนข้างๆ กินกันอย่างเอร็ดอร่อย

ปลาทูไทย

เราติดกับเข้าแล้ว…เต้นอธิบายให้ฟังว่า แกนของผลงานชิ้นนี้คือ “การหลอกล่อให้คนบริโภควัตถุดิบ แต่หากการบริโภคนั้นเป็นไปแบบไม่ยั้งคิด สุดท้ายแล้วอาหารจานหลักเขาจะไม่มีกิน” เหมือนกับที่เราไม่ได้กินปลาทู เพราะกินปลากรอบซึ่งเป็นปลาที่ยังไม่โตเต็มไวเข้าไปอย่างไม่ฉุกคิดนั่นเอง

ปลาทูไทย

ยังไงก็ตามด้วยความที่อาหารออกมากับสายพาน ผลกระทบก็จะออกมาแบบคละๆ “ผลลัพธ์แบบนี้มันทำให้แรงปะทะรุนแรงมาก เพราะว่าแม้ว่าคุณจะไม่กินสแน็กส์เลย แต่ว่าผลกระทบมันรับร่วมกันทั้งโต๊ะ แม้ว่าคุณจะทำดีอยู่แค่คนเดียว แต่คนอื่นทำแย่ โลกมันก็แย่ คนที่กินสแน็กส์ครบทุกจานบางคนอาจได้ปลาทูไปก็ได้ มันคือโลกแห่งความเป็นจริง” เต้นเสริม

ปลาทูไทย

แต่ด้วยความที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างอิสระ ก็ใช่ว่าทุกคนจะติดกับเช้าและเต้น เชฟเช้าเล่าให้เราฟังถึงผลลัพธ์ที่เกินความคาดหมายว่า “ตอนแรกเราคุยกันว่ามันจะต้องมีคนที่แบบ หรือว่าเราจะหยิบก่อนดี? มันจะต้องมีคนน้อยใจ มีคนขิง แต่อันนี้คือไม่ เขาแบ่งกัน” ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วทรัพยากรอาจเพียงพอสำหรับทุกคนก็ได้ หากเราคิดสักนิด และหาวิธีบาลานซ์มัน

ปลาทูไทย

หากไม่มีปลาทูไทยอีกต่อไป…

หลายๆ คนอาจกำลังสงสัยว่า แล้วถ้าอาหารโปรดของเราไม่ใช่ปลาทูล่ะ? ถ้าปลาทูไม่ได้ส่งผลอะไรกับชีวิตประจำวันเราเลย การมาใส่ใจเรื่องพวกนี้จะสำคัญอยู่ไหม?

แน่นอนประเทศไทยมีอาหารให้เลือกกินมากมายหลายแบบ มากเสียจนวนกินยังไงก็ไม่ครบ จนบางทีเราอาจละเลยเจ้าปลาสายพันธุ์นี้ไป แต่อย่าลืมว่านอกจากจะมีอีกหลายครัวเรือนในประเทศที่ดำรงชีวิตด้วยปลาทูแล้ว ทุกอย่างบนโลกนี้เชื่อมต่อกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ระบบนิเวศก็เช่นกัน หากปลาทูหายไป สมดุลตรงนั้นคงจะหายไปด้วย

ปลาทูไทย

“สำหรับเราการที่ปลาทูหายไปมันเป็นเหมือน ‘warning’ ถ้าปลาทูหายไปได้ อย่างอื่นก็หายไปได้เหมือนกัน” เช้ากล่าว ด้วยความที่เป็นเชฟย่อมรู้ดีว่าวัตถุดิบหลายๆ อย่างที่เคยมีให้กินแบบไม่ต้องกังวลว่าจะหมด ในตอนนี้เริ่มค่อยๆ ร่อยหรอไปแล้ว เช้ายกตัวอย่างถึงถั่วพู ที่แม้จะเป็นพืชบ้านๆ ที่ดูจะหาได้ง่าย ก็ยังต้องประสบปัญหานี้ รวมไปถึงผลไม้ตามฤดูกาล ที่ได้ถูกสะท้อนผ่านจานของหวานที่ไร้มะม่วงและเสาวรสในนิทรรศการเช่นกัน

มากไปกว่านั้น บริโภคนิยมไม่ได้เกิดขึ้นกับการบริโภคปลาทูเพียงอย่างเดียว เต้นเสริมว่า “สิ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเรามันพังทุกวันนี้ เพราะคนชินกับการที่กดปุ่มปุ๊บเเล้วได้มาเลย กดปุ่มปุ๊บแอร์เปิด กดปุ่มไมโครเวฟมีของร้อนๆ ออกมา กดแอปเดลิเวอรีมีอาหารมาส่ง ความที่มนุษย์มักง่ายไม่วางแผนนี่แหละ ทำให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม”

ปลาทูไทย

ก่อนสายเกินแก้

อ่านมาถึงตรงนี้คงทราบกันแล้วว่าต้องทำอย่างไรในฐานะผู้บริโภค แต่ในแง่มุมของฝ่ายผลิตล่ะ? เราถามเชฟเช้าว่าจะช่วยลดปัญหาการร่อยหรอของทรัพยากรทางสิ่งแวดล้อมอย่างไรในฐานะคนทำงานในอุตสาหกรรมร้านอาหาร

“ต้องเริ่มจากเรา โดยการพยายามใช้ของที่มัน sustainable ก่อน แล้วเราก็ต้องพยายามสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เพราะว่าอาหารที่ทำจากสิ่งที่มัน sustainable ราคาก็จะสูงขึ้น เราก็ต้องให้เหตุผลว่า ทำไมเราถึงเลือกที่จะขายในราคาที่แพงขึ้น”

ปลาทูไทย

ด้านเต้นที่ทำงานศิลปะด้านสิ่งแวดล้อมมาตลอด ก็พอจะมองเห็นหนทางที่ศิลปะจะช่วยผลักดันประเด็นเหล่านี้เช่นกัน และอธิบายว่ามันอาศัยกลไกนอกเหนือจากตัวศิลปินอยู่ 2-3 อย่าง “ต้องดูว่าทำเรื่องอะไร งานที่ศิลปินทำสื่อสารหรือไม่ การสื่อสารนั้นต่อเนื่องหรือไม่ เป็นประเด็นให้คนในสังคมตระหนัก เกิดแรงปะทะจนสร้างแรงกดดันให้ฝ่ายบริหารได้หรือเปล่า?”

ปลาทูไทย

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ที่สวีเดนและประเทศแถบยุโรปซึ่งเป็นเมืองหนาวทั้งคู่ เช้าและเต้นเห็นตรงกันว่าการวางแผนในการเลือกใช้ทรัพยากรสำคัญ แม้เราจะไม่ต้องเก็บหอมรอมริบไว้เผื่อหน้าหนาวเหมือนประเทศเขา แต่หากเรานำ mindset นี้ไปปรับใช้ โดยปลูกจิตสำนึกให้กับตัวเองและคนรอบตัว เฉกเช่นการแบ่งปันที่เกิดขึ้นในนิทรรศการ เราคงช่วยโลกใบนี้ได้ไม่มากก็น้อย

ปลาทูไทย

ในส่วนที่ว่านิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’ จะทำงานกับคนดูหรือไม่ ก็คงต้องรอดูผลลัพธ์กันต่อไป ด้วยความที่ดินเนอร์แต่ละครั้งอาจให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน

ปลาทูไทย

เต้นแอบเผยว่า นิทรรศการนี้ยังมีเฟส 2 และ 3 รออยู่ โดยเฟส 2 จะชวนทุกคนไปเป็นนักสืบ หาต้นตอที่แท้จริงของการหายไปของปลาทู และนำมาตีแผ่ให้สังคมได้ตระหนักกันในเฟส 3 ส่วนจะออกมาในรูปแบบไหนต้องขออุบไว้ก่อน และหวังว่าทุกคนจะติดตามกัน เพื่อปลาทูไทยที่เรารักจะได้ไม่ต้องหายไปจากจาน!

ปลาทูไทย

นิทรรศการ ‘I MISS YOU ปลาทูไทย’
เข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 2567 ที่ Art4C Centre
เวลา 10.00 -19.00 น. (หยุดทุกวันจันทร์)
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่ FB: Art4C Art Centre, IG: art4c.artcentre
หรือ โทร.080 -082-5124

Tags: