

Washi Wanderer
Craig Ancelowitz นักธุรกิจในร่างศิลปินจากนิวยอร์กที่เชื่อมโลกสองใบด้วยกระดาษญี่ปุ่นโบราณ
- คุยกับ Craig Ancelowitz ศิลปินจากนิวยอร์กผู้มีโลกสองใบ ด้านหนึ่งเขาคือคนรักศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงานมากมาย จนได้มาจัดนิทรรศการศิลปะจากกระดาษญี่ปุ่นโบราณในเมืองไทย แต่อีกด้านเขาก็เป็นนักธุรกิจที่สร้างชื่อจนต้องไปบริหารโรงงานกระดาษของภรรยาที่ญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากของธุรกิจกระดาษทั่วโลกไปให้ได้
“ถ้าคุณมาเที่ยวโอซากา หรือเกียวโตบอกผมนะ” คำพูดก่อนร่ำลากับ เครก แอนเชโลวิตซ์ (Craig Ancelowitz) หลังจากการพูดคุยอันยาวนานเกือบ 2 ชั่วโมงระหว่างเราได้จบลง
ไม่นานนี้เครกเพิ่งเปิดนิทรรศการครั้งแรกของเขาในประเทศไทยที่ ATT19 กับ "Lines Across Paper : Transcending Borders - Anczelowitz's art explored on Awagami Washi” ด้วยการหยิบกระดาษวาชิ (Washi Paper) ของโบราณจากประเทศญี่ปุ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่ใส่วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกผสมกับโลกตะวันออกได้อย่างน่าสนใจ
แม้ว่าผลงานสะท้อนตัวตนจากแดนอาทิตย์อุทัยเป็นหลัก แต่ในความจริงเครกเป็นชาวนิวยอร์ก เติบโตในเมืองที่ทรงอิทธิพลด้านศิลปะแห่งหนึ่งของโลก จึงน่าสนใจมากว่าอะไรที่ทำให้ผู้ชายที่เกิดในโลกตะวันตกหลงใหลในวัฒนธรรมโบราณจากโลกตะวันออก
พอได้มาคุยจริงๆ กลับพบเรื่องที่สนุกมากกว่านั้น เพราะศิลปินคนนี้แท้จริงแล้วเป็นนักธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์มากมาย เราจึงได้เห็นแง่มุมที่น่าสนใจของคนๆ หนึ่งที่เป็นทั้งศิลปินและนักค้าขายไปพร้อมกัน
From New York
เครกเล่าให้ฟังทุกอย่างในชีวิตของเขาที่เริ่มต้นในถนน St. Mark’s Place ย่าน East Village ของแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นถนนสำคัญของนิวยอร์ก เพราะที่นี่คือถนนแห่งวัฒนธรรมที่สร้างความคิดสร้างสรรค์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพลง ภาพยนตร์ แฟชั่น … ถนนสายนี้มีอิทธิพลมากมาย หลายคนคงไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ป๊อป คัลเจอร์ ที่เราคุ้นเคยกันดีในปัจจุบันก็เริ่มต้นจากที่นี่ด้วยเช่นกัน
เครกในวัยเด็กเรียนรู้ทุกอย่างในถนนแห่งนี้ผ่านร้านอาหารแห่งหนึ่ง นั่นคือร้านอาหารของพ่อเขาเอง และเนื่องจากตั้งอยู่ในย่านสำคัญแบบนี้ ทำให้มีศิลปิน นักร้อง นักแสดงจำนวนไม่น้อยกลายเป็นลูกค้า ทำให้เครกได้ซึมซับอะไรหลายอย่างเข้ามาโดยไม่รู้ตัว
“บางทีพ่อผมเขาก็รับเทรดของแลกกับอาหารนะ เช่น บางคนเอาแหวน เอาเฟอร์นิเจอร์ มาแลกกับการกินอาหารในร้าน 1 สัปดาห์อะไรแบบนี้ จนบ้านผมเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์แปลกๆ มากมาย เพราะดีไซเนอร์แถวบ้านผมเอาของมาแลกอาหารเต็มไปหมด”
อิทธิพลเหล่านี้ซึมซับสู่เครกโดยไม่รู้ตัว ทำให้เขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ เจ้าตัวได้รับความรู้มากมายหลายแขนง และหนึ่งในสิ่งที่เขาชอบมากที่สุดคือการเรียนรู้สร้างผลงานจากกระดาษ
“ช่วงนั้นผมเริ่มทำภาพพิมพ์กระดาษ เป็นสิ่งที่ผมชอบนะ จริงๆ ผมทำอะไรเยอะมาก งานไม้ก็ทำ งานปั้นก็ทำ ถ่ายรูปก็ทำ แต่สิ่งที่ผมทำเยอะก็คงเป็นงานไม้กับงานกระดาษ สลับกันไปมา ผมเคยไปศึกษาแฟชั่นด้วย มันคือการสำรวจความเป็นศิลปินในตัวเราเอง ทำให้เรามีความรู้ศิลปะที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกเยอะ
“หลังจากเรียนจบ ผมได้งานในร้านขายกระดาษ ด้วยเหตุผลว่าผมสร้างงานจากกระดาษได้นี่แหละ”
จากอาชีพช่างพิมพ์ภาพ เครกไต่เต้าจนกลายเป็นเซลส์ขายกระดาษ ความที่ทำงานกับกระดาษมาอย่างช่ำชอง ทำให้เข้าใจว่ากระดาษแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร แถมยังรู้ว่ากระดาษแบบไหนเป็นของดีอีกด้วย
ความเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกระดาษ ทำให้เครกสามารถหากระดาษคุณภาพดีเข้าสู่วงการซื้อขายได้มากมาย จนเขายกระดับกลายเป็นเจ้าหน้าที่จัดซื้อของบริษัทใหญ่ และในตำแหน่งนี้เขาได้ค้นพบพรสวรรค์ของตัวเองที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน
Artist & Business Man
“คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผมชอบสมัยเรียน ก็เลยคิดเลขเก่งนิดหน่อย” เครกเล่าให้ฟัง เขาไปได้สวยในงานซื้อขาย ส่วนหนึ่งเพราะแค่เขาคิดเลขเก่งเท่านั้น ทำให้เจรจาธุรกิจรู้เรื่อง
แต่สิ่งที่ทำให้เขารุ่งโรจน์เป็นเพราะความคิดเข้าใจด้านศิลปะที่มีติดตัว ทำให้คู่ค้าประทับใจความรู้ในตัวหนุ่มนิวยอร์กเกอร์รายนี้
“ผมคิดว่าทุกคนใจดีกับผม ผมไม่มีความรู้ในการซื้อขายมาก่อน แต่เป็นคนใจกล้า สงสัยอะไรผมถามตลอด ถามลูกค้าของผมนี่แหละ และอาชีพนี้ทำให้ผมได้ให้สิ่งที่สำคัญมากกับผมคือได้เดินทางไปหลายประเทศ ผมไปซื้อขายสิ่งของต่างๆ และได้เห็นการทำงานของศิลปินมากมาย
“หลายคนบอกว่า ผมเกิดมาเหมือนมีสมอง 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นด้านศิลปะ ด้านการออกแบบ อีกด้านเป็นด้านธุรกิจ อันที่จริงผมทำงานออกแบบด้วยนะ ผมออกแบบพวกงานไม้ งานเซรามิก งานโมเสก งานของเล่น”
ความสามารถที่รอบด้านของเครกเคยทำให้เขาได้เข้ามาทำงานในไทย ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ยาวนานถึง 15 ปี ทำงานทั้งงานออกแบบ และงานธุรกิจ การใช้ชีวิตในอีกซีกโลกทำให้เจ้าตัวได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากมาย จนกลายเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนเข้าสู่โลกธุรกิจกระดาษในญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว
เราคุยกันมานาน เครกเล่าเรื่องราวชีวิตของเขาให้เราฟังมากมาย ผมตั้งตารอฟังว่า ชีวิตของเขาเดินทางเข้าสู่โลกการทำกระดาษวาชิที่ประเทศญี่ปุ่นได้อย่างไร? ซึ่งความจริงก็ง่ายกว่าที่ผมคิดไว้มาก
“ผมแต่งงาน ครอบครัวภรรยาทำโรงงานกระดาษ” เครกเล่าอย่างเรียบง่าย “ตอนแรกผมไม่ค่อยไปยุ่งอะไรกับธุรกิจทางนั้นเท่าไหร่ ไปช่วยงานบ้างนิดหน่อย ผมก็ทำงานของผม ทางนั้นก็ทำงานของตัวเอง
“จนกระทั่งประมาณ 8 ปีที่แล้ว ธุรกิจกระดาษในประเทศญี่ปุ่นเริ่มไปไม่รอด และพ่อแม่ภรรยาผมก็แก่ตัวลงทุกวัน พวกเขาต้องการคนช่วย ผมลาออกจากงานที่ไทย ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น แล้วก็ลองดูกันสักตั้ง
“โรงงานเราอายุยาวนานกว่า 300 ปี มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย จากยุคที่ใครๆ ก็ใช้กระดาษวาชิในญี่ปุ่น จนตอนนี้แทบไม่มีใครใช้แล้ว จากของที่ทุกคนต้องใช้กลายเป็นของไม่จำเป็น แล้วจะทำยังไงให้โรงงานอยู่รอด นี่คือความท้าทายที่แท้จริง”
From East to West
ทันทีที่เขาเข้าไปช่วยบริหารโรงงานกระดาษอะวากามิของครอบครัว สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือขยายฐานตลาดออกนอกประเทศ เขาเริ่มต้นทำเว็บไซต์ภาษาอังกฤษ สร้างแผนการตลาด รวมถึงมอบความรู้เกี่ยวกับกระดาษวาชิที่ทำให้ชาวต่างชาติเข้าใจตัวตนของกระดาษในประเทศญี่ปุ่น เดินทางไปหลากหลายประเทศเพื่อหาตลาดใหม่ ลูกค้าใหม่ ให้โรงงาน
“ตลาดในญี่ปุ่นไม่เติบโตแล้ว แต่ผมยังรู้ว่าตลาดต่างประเทศยังโตได้อีกมาก ผมเคยจัดหากระดาษจากญี่ปุ่นสมัยที่ผมยังอยู่นิวยอร์ก และศิลปินในนิวยอร์กก็ชอบกระดาษญี่ปุ่นมาก เพราะเป็นของคุณภาพดี
“ผมเองก็สร้างผลงานมากมายจากกระดาษญี่ปุ่น ทำให้เข้าใจเป็นอย่างดีว่า จะขายสินค้าอย่างไร? เรามีธุรกิจที่เติบโตขึ้นทุกปี แม้แต่ในช่วง COVID-19 ธุรกิจของเราก็ยังเติบโตได้ ผมมีความสุขมากๆ”
ด้วยประสบการณ์ที่เขามีทั้งด้านธุรกิจและศิลปะ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เครกสามารถพาธุรกิจกระดาษของครอบครัวให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ แต่ธุรกิจไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เครกเองก็รู้ดี เพราะแม้ว่าเคยเดินทางไปทั่วโลก เห็นงานศิลปะมากมาย สั่งสมความรู้ในด้านการซื้อขายจนเชี่ยวชาญ แต่วัฒนธรรมที่แตกต่างก็ยังเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องเผชิญ
“คนนิวยอร์กกับคนญี่ปุ่นต่างกันมากนะ คนนิวยอร์กหรือคนอเมริกันจะดุดันกว่า ผมก็ยังเป็นสายเลือดนิวยอร์กเต็มร้อย แต่คนญี่ปุ่นตรงกันข้ามเลย พวกเขาสุขุม อดทน ใจเย็น … คนญี่ปุ่นชอบคิดว่าคนอเมริกันโผงผางเกินไป เหมือนกับที่คนอเมริกันคิดว่าคนญี่ปุ่นเงียบเกินไปเสมอ
“คนในโรงงานผม พวกเขาเป็นคนทำงานคราฟต์ที่เก่งมากๆ มีพรสวรรค์สุดๆ แต่พวกเขาพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พวกเขาไม่เข้าใจโลกธุรกิจ ยังเห็นภาพการซื้อขายในแบบเดิมๆ
“ผมคุยกับคนทำงานด้านนี้ในญี่ปุ่น หลายคนเจอปัญหาแบบเดียวกัน คนญี่ปุ่นคือคนทำงานที่เก่งมากและพวกเขาทุ่มเทเต็มที่ แต่ปัญหาก็คือพวกเขาปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงตามโลกไม่เป็น รวมถึงพอเป็นงานคราฟต์ที่ดี ราคาก็สูงตามไปด้วย
“ผมพยายามสร้างความเข้าใจตลอด เราไม่ได้มาเปลี่ยนธุรกิจคุณ แต่มันเหมือนกับมีขา 2 ข้าง เอาขาข้างหนึ่งอยู่ในโลกอดีตรักษาประวัติศาสตร์ ศิลปะ และคุณภาพงานเอาไว้ แต่ขาอีกข้างก็ก้าวสู่อนาคต ทำการตลาดให้ดีขึ้น เริ่มต้นค้าขายออนไลน์เพื่อสร้างตลาดใหม่
“ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกำแพงภาษา สร้างปัญหาให้เราทั้งสองฝ่ายอยู่ตลอด … คนญี่ปุ่นไม่เหมือนคนนิวยอร์ก พวกเขาไม่ได้พูดอะไรตรงไปตรงมา นั่นคือส่วนที่ยากที่สุด บางครั้งผมไม่เข้าใจพวกเขาเลย
“ผมยังคงเป็นศิลปินอยู่ ยังมีมุมอ่อนไหวต่อความรู้สึกได้ง่าย บางครั้งก็รู้สึกหงุดหงิด แต่คิดเสมอว่าผมมาอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น ผมแค่ต้องยอมรับและมองไปข้างหน้า หน้าที่ของผมคือการพาโรงงานของเราก้าวไปสู่ยุคใหม่ โลกใหม่ เราได้ทำงานกับแบรนด์แฟชั่นมากมาย เช่น Hermes, Louis Vuitton หรือ New Balance นี่คือสิ่งที่ผมอยากทำมาตลอด แสดงให้เห็นว่างานคราฟต์เก่าแก่แบบนี้ก็ทันสมัยได้ เป็นส่วนหนึ่งของงานดีไซน์ร่วมสมัย”
I Love Paper
แม้งานหลักของเครกในปัจจุบันคือธุรกิจ แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งความรักในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ด้วยความที่เจ้าตัวเหมือนคนที่เชื่อมโลกทั้ง 2 ใบเข้าด้วยกัน ตะวันตกกับตะวันออก นิวยอร์กจนถึงญี่ปุ่น กลายเป็นไอเดียที่ทำให้เจ้าตัวอยากสร้างศิลปะร่วมสมัยผ่านกระดาษที่อยู่ใกล้ตัวออกมา
วิธีการทำงานของเครกไม่มีอะไรซับซ้อน เขาเริ่มต้นจากการรวบรวมงานพิมพ์เก่าที่สร้างจากกระดาษวาชิ ไล่ซื้อและตามหากระดาษทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเก่า แผนที่ บทละครโบราณ และอีกมากมายนับไม่ถ้วน เท่าที่เขาจะหาได้
หลังจากนั้นเขาก็นำกระดาษที่หาได้มาสร้างเป็นผลงานศิลปะ ซึ่งผลงานทั้งหมดของเขาไม่มีการคิดธีมเพื่อนำเสนอ แต่เน้นทำไปตามอารมณ์ผสมกับตัวตนของวัสดุกระดาษที่เขามี ว่าจะสามารถเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง เพื่อสะท้อนตัวตนของเขาออกมา
“บางครั้งผมเรียกสิ่งที่ผมทำว่าการทำลายญี่ปุ่นและสร้างญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่ เพราะผมเอาหนังสือ รูปภาพ หรือของทางประวัติศาสตร์มาตัดทิ้ง แต่แน่นอนผมไม่ได้ทำลายมัน ผมรวบรวมทุกอย่างแล้วสร้างขึ้นมาเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่สะท้อนตัวตนของผม
“สิ่งที่ผมต้องการโชว์ให้เห็นคือการผสมผสานของโลกยุคเก่าและใหม่ด้วย กระดาษพวกนี้หลายชิ้นยังไงก็เป็นของเก่าอายุ 100 ปี แต่ผมใช้เทคนิคที่มีสร้างมันขึ้นมาใหม่ มันคือการสร้างสรรค์ตกแต่ง คุณเข้าใจใช่ไหม?
“เวลาผมได้ของพวกนี้มา ผมคิดตลอดว่า ทำอะไรได้บ้าง ผมต้องการสร้างสรรค์และสะท้อนความหมายบางอย่างออกมา อย่างน้อยให้คนเห็นถึงความร่วมสมัยของผลงาน
“งานของผมผสมผสานหลายอย่าง คุณเห็นได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนนิวยอร์กกับญี่ปุ่น โชคดีด้วยว่าคนญี่ปุ่นรักวัฒนธรรมอเมริกัน พวกเขาไม่ได้รักคนอเมริกันนะ บางคนก็ไม่ได้ชอบคนอเมริกัน แต่พวกเขารักวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเพลง ภาพยนตร์ แฟชั่น
“ส่วนหนึ่งเพราะอเมริกาเคยปกครองญี่ปุ่นด้วย (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ก็เลยมีนิตยสารญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษเยอะมาก ยุคเมจิก็เช่นกัน มีการเอากระดาษอะวากามิไปสร้างเป็นผลงานจำนวนมากในช่วงนั้น ที่คุณเห็นว่างานผมเกี่ยวข้องกับยุคเมจิเยอะ เป็นเพราะมีกระดาษถูกเอาไปใช้เป็นจำนวนมากในเวลานั้น และยังตกทอดมาถึงทุกวันนี้
“หนังสือเก่าๆ พวกนี้ ผมไปเดินหาในตลาดที่โอซากา ขายแค่เล่มละ 300 เยน (ประมาณ 60-70 บาท) สำหรับคนญี่ปุ่น หนังสือพวกนี้คือของเก่า แต่สำหรับผมมันคือหนังสือที่รวมทั้งความเป็นญี่ปุ่นและอเมริกาเข้าด้วยกัน
“ข้อดีของกระดาษอะวากามิคือคุณภาพดีมาก บางแผ่นมีอายุเป็น 100 ปีแต่ไม่ดูเก่าเลยด้วยซ้ำ ผมได้กระดาษมาชุดหนึ่ง ภาษาที่เขียนอยู่อ่านไม่ออกแล้ว เพราะมันไม่ถูกใช้อีกต่อไป เก่าเกินไปแม้แต่คนญี่ปุ่นยุคนี้ก็ไม่เข้าใจ ซึ่งคนที่ขายให้ผมเขาบอกว่าเป็นบทละครเวทีของญี่ปุ่นยุคเก่า แต่มันยังคงสวยงาม และเปิดโอกาสให้ผมได้เอามาสร้างสรรค์ผลงานตามที่ผมรู้สึก
“ผมได้หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของญี่ปุ่นมาด้วยนะ ไม่ใช่ทุกอย่างที่จะถูก บางอย่างก็คือของมีค่ามากๆ แต่ผมโชคดีที่ผมทำงานในวงการกระดาษ เลยได้ของพวกนี้มา ไม่งั้นผมคงต้องเสียเงินอีกเยอะมาก เพื่อสร้างงานพวกนี้”
หลังจากได้พูดคุยกับเครก สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือเขาหลงใหลกระดาษญี่ปุ่นมากจริงๆ ระหว่างที่เขาพูดถึงชิ้นงาน เขาชมอยู่ตลอดว่ากระดาษนำมาใช้สร้างงานศิลปะสวยงามแค่ไหน … เขาไม่เคยชมความสวยงามของผลงานตัวเองให้ผมฟังแม้แต่คำเดียว ในทางตรงกันข้ามชายคนนี้พูดไม่หยุดว่า กระดาษแต่ละชิ้นที่เขาได้มามีความสวยงามอย่างไรบ้าง
ระหว่างที่เครกพาเราเดินชมผลงาน เขาจำได้หมดว่า กระดาษแต่ละชิ้นที่อยู่บนทุกผลงานมาจากอะไรบ้าง เรียกได้ว่าแทบไม่ซ้ำกันเลย แต่เขาก็ยังจำรายละเอียดทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ว่ากระดาษพวกนี้มาจากไหน แต่เล่าได้หมดว่าชิ้นส่วนที่เขาเลือกมาใช้สร้างสรรค์ผลงานสื่อถึงอะไร สะท้อนถึงอะไร มีความหมายอย่างไรกับตัวเขาและสังคมญี่ปุ่น จนผมรู้สึกว่าเขารักในทุกผลงานที่ทำจริงๆ
“ผมทำงานด้านธุรกิจก็จริง แต่มันน่าเบื่อนะสำหรับผม มีแต่ตัวเลขเต็มไปหมด ผมต้องการระบายอะไรออกมาบ้าง และงานศิลปะพวกนี้คือที่ระบายของผม ผมได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ออกมาและพัฒนาต่อไปอีก
“ผมอยากจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำงานคราฟต์ท้องถิ่นด้วยนะ คือผมก็อยากขายกระดาษนะ แต่ขณะเดียวกันผมก็อยากกระตุ้นการสร้างสรรค์ผลงานทำมือด้วยกระดาษให้กลับมาอีกครั้ง ความสำคัญของกระดาษกำลังลดลง ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่นนะ แต่เป็นทั่วโลก ผมไม่อยากให้กระดาษต้องตายไปจากโลกใบนี้”
เครกทิ้งท้ายว่า เหตุผลที่เขามาจัดนิทรรศการในประเทศไทย เพราะว่าคนไทยไม่มีกำแพงทางเชื้อชาติ เปิดรับทั้งแนวคิดอเมริกันและญี่ปุ่น และเขาหวังว่าคนไทยจะชื่นชอบผลงานที่เขาได้นำมาจัดแสดงในครั้งนี้
ใครอยากชมงานศิลปะจากกระดาษโบราณของญี่ปุ่นก็อย่าพลาดกับนิทรรศการนี้ เพราะยืนยันได้เลยว่า ไม่ได้หาดูง่ายๆ แน่นอนในประเทศไทยของเรา มาชมงานกันได้ที่ ATT19 เพราะนิทรรศการนี้ยังคงจัดยาวถึงวันที่ 30 มีนาคม 2025
พิเศษจากเครกสำหรับใครที่สนใจกระดาษวาชิจากโรงงานอะวากามิ เขามีส่วนลดมาแจกเพียงกรอกโค้ด ATT19 ก็รับส่วนลดไปเลยที่ https://awagami.com/
ติดตามผลงานโรงงานกระดาษวาชิของ Craig Ancelowitz เพิ่มเติมได้ที่
Website: https://awagami.com/
Facebook: https://www.facebook.com/awagamifactory/
Instagram: https://www.instagram.com/awagami_factory/
X: https://x.com/awagamifactory
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCEhXew9ti-orVQidaqaj2tQ
และติดตามผลงานของ Craig Ancelowitz ในฐานะศิลปินได้ที่
Website: https://www.craiganczelowitz.com/
Facebook: https://www.facebook.com/anczelowitz
Instagram: https://www.instagram.com/craig_nyc_japan/