About
TRENDS

Into The Darkness

เตรียมดูดาวหน้าหนาวใน Dark Sky in Thailand จากมุมมองสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เรื่อง วีณา บารมี ภาพ กรินทร์ มงคลพันธ์ Date 06-10-2022 | View 3978
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • โครงการ Dark Sky in Thailand เริ่มต้นเมื่อปี 2563 โดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต้องการรณรงค์ให้เห็นถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง ที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ สุขภาพของคน สัตว์ และการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์
  • เมืองไทยมีพื้นที่นำร่อง 12 แห่ง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ซึ่งผ่านการรับรองแล้วว่า เป็นจุดสังเกตการณ์ด้านดาราศาสตร์โดยปราศจากมลภาวะทางแสง
  • โครงการ Dark Sky เป็นจุดเริ่มต้นแรกของไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ และการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์ให้เพิ่มสูงขึ้น รวมไปถึงการผลักดันให้ Dark Sky in Thailand ไปสู่การเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดสากล

“สมัยก่อนกรุงเทพฯ เคยเป็นเมืองที่ดูดาวได้ แต่เดี๋ยวนี้ดูไม่ได้แล้ว เห็นได้แค่ดวงดาวที่สว่างน้อยหรือดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ยังแทบดูไม่ได้ เราจึงอยากเอาฟ้ามืดแบบนั้นกลับมา เพราะเมืองไทยมีหลายพื้นที่ที่จะเป็นจุดสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ถ้าเราสามารถอนุรักษ์พื้นที่เหล่านั้นให้คงอยู่ และบริหารจัดการเรื่องแสงให้เหมาะสม เราจะมีพื้นที่ที่เหมาะกับการดูดาวเพิ่มมากขึ้น”

คุณแจ็ค-ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล่าถึงโครงการ “Dark Sky in Thailand” หรือ “โครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” จากความคิดริเริ่มของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) ที่ต้องการรณรงค์ให้ประชาชนใช้แสงสว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลเสียน้อยที่สุด เพราะการใช้แสงไฟที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ระมัดระวัง จะก่อให้เกิด “มลภาวะทางแสง” (Light Pollution) ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ ระบบนิเวศ พลังงาน ไปจนถึงดาราศาสตร์

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณแจ็ค-ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

1. จากมลภาวะทางแสง มาสู่โครงการ Dark Sky in Thailand

โครงการลดมลภาวะทางแสงของ NARIT มีการทำวิจัยมาตั้งแต่ปี 2558 โดยเริ่มต้นโครงการที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา เพื่อรณรงค์ลดแสงสะท้อนส่วนเกินจากแหล่งกำเนิดแสง และปรับปรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด จนนำมาสู่โครงการ Dark Sky ที่เป็นการรณรงค์ให้สงวนความมืดของท้องฟ้าในเวลากลางคืน ซึ่งมีการดำเนินการมานานแล้วในระดับนานาชาติ ส่วนในเมืองไทยถือเป็นครั้งแรกที่ได้เริ่มต้น

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

ปัจจุบัน เมืองไทยมีพื้นที่นำร่อง 12 แห่งแรก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประกอบด้วยอุทยานท้องฟ้ามืด ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง ทั้ง 12 แห่ง ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของ NARIT และเป็น 12 เส้นทางดูดาวภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” ซึ่งเป็นความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จะได้รับการรับรองว่ามีคุณภาพท้องฟ้าได้มาตรฐาน มีการจัดการแสงสว่างในพื้นที่ตามที่กำหนด โดยมีระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจะมีการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์อีกครั้ง ซึ่งปลายทางของพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จะถูกคัดเลือกเพื่อส่งไปยังสมาคมท้องฟ้ามืดนานาชาติหรือ IDA (International Darksky Assocoiation) พิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานท้องฟ้ามืดสากลต่อไป

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

2. แสงสว่างที่มาพร้อมกับความเจริญ

เพราะเสาไฟไม่อาจอยู่คู่กับแสงดาวได้ แต่แสงไฟที่เจิดจ้าในเวลากลางคืน ทำให้บดบังทัศนียภาพบนท้องฟ้า และความพราวแสงของดวงดาวที่หลายคนเฝ้ารอ อย่างไรก็ตาม การมีแสงสว่างในพื้นที่นั่นหมายถึงความปลอดภัย ดังนั้น การลดมลภาวะทางแสงของ NARIT จึงเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้แสงไฟที่ถูกต้อง เพื่อควบคุมทิศทางการส่องสว่างเท่าที่จำเป็น มีประสิทธิภาพ ไม่รบกวนสายตาและสุขภาพ รวมทั้งลดการฟุ้งกระจายของแสงบนท้องฟ้า

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“เราเข้าไปแนะนำวิธีบริหารจัดการแสงที่เหมาะสม ปรับเปลี่ยนรูปแบบของโคมไฟ และอุณหภูมิของแสงไฟ เช่น เปลี่ยนมาใช้หลอด LED ที่สามารถควบคุมทิศทางของแสงได้ดีกว่าหลอดคอมแพคต์ฟลูออเรสเซนต์ (CFL) และถ้าลดจำนวนวัตต์ของหลอดไฟด้วย ก็จะประหยัดพลังงานได้อีก

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“การใช้โคมไฟที่กดแสงลงด้านล่าง ยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของแสงขึ้นสู่ท้องฟ้า รวมไปถึงการใช้หลอดไฟโซเดียวที่ให้แสงสีเหลือง (Warm White) จะช่วยให้สังเกตการณ์ท้องฟ้าได้ดีกว่าหลอดไฟสีขาว ซึ่งมีความคอนทราสต์สูง ทำให้มองไม่เห็นในความมืด แต่จะมองเห็นได้ชัดในที่ๆ มีความสว่าง ที่สำคัญ บริเวณพื้นที่สังเกตการณ์ท้องฟ้า ต้องไม่มีแสงไฟเข้าไปรุกล้ำ เช่น บางแห่งเปิดสปอตไลท์ตลอดทั้งคืน”

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คุณแจ็ค เล่าถึงกิจกรรมในแคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” ซึ่งเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2563 หรือช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 ที่การท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก “จริงๆ ก่อนหน้านี้ เราไปสร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย อบรมเรื่องดาราศาสตร์ให้กับเจ้าหน้าที่ในอุทยาน พอเกิดวิกฤติโควิดขึ้นมา เราในฐานะกับหน่วยงานเกี่ยวกับดาราศาสตร์ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ มีภารกิจในการนำเอาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์หรือดาราศาสตร์เข้าสู่ชุมชน และส่งเสริมให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เราก็มาคิดว่าจะทำยังไงให้เกิดรายได้ขึ้นมา

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“ในต่างประเทศมีแคมเปญที่เรียกว่า Astrotourism เป็นการพานักท่องเที่ยวไปตามหอดูดาวต่างๆ ทั้งในอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ คนยอมจ่ายเงินเพื่อไปดู เลยกลับมาคิดว่าเมืองไทยมีพื้นที่ที่มีความมืดที่เหมาะเป็นแหล่งเรียนรู้ดูดาว ก็เลยเกิดเป็นแคมเปญ Dark Sky หรือสร้างเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นมา เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์”

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

3. พื้นที่แบบไหนเข้าข่าย Dark Sky

พื้นที่ที่สามารถเข้าร่วมในแคมเปญ Dark Sky แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ พื้นที่อุทยาน ชุมชน พื้นที่ส่วนบุคคลหรือโรงแรม รีสอร์ตต่างๆ และพื้นที่ชานเมือง หลักเกณฑ์ที่ใช้พิจารณา จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของขนาดและพื้นที่ คุณแจ็ค อธิบายว่า “ในเรื่องของพื้นที่ ต้องเป็นพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร สามารถสังเกตการณ์ท้องฟ้าโดยรอบได้ไม่น้อยกว่า 70% เมื่อเราแหงนหน้ามองฟ้า ต้องไม่มีต้นไม้ ไม่มีตึก อาคาร หรือส่วนไหนมาบดบังท้องฟ้า

sky 13

เครดิตภาพ : NARIT

“สองคือ ค่าความมืดท้องฟ้า ต้องมีค่าไม่น้อยกว่า 19 แมกนิจูด วิธีวัดค่าแมกนิกจูดในกรณีที่ไม่มีอุปกรณ์วัด ให้สังเกตจากวัตถุบนท้องฟ้า เช่น มองเห็นดวงดาวที่มีความสว่างน้อยที่สุดแมกนิจูดเท่าไหร่ สามารถใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ในการวัดค่าได้ เนื่องจากดาวที่เราเห็นบนท้องฟ้า จะมีค่าความสว่างมากน้อยต่างกัน”

“นอกจากนี้ พื้นที่นั้นมองเห็นทางช้างเผือกได้ไหม การเห็นทางช้างเผือก บ่งบอกได้ถึงคุณภาพของท้องฟ้าที่ไม่มีแสงไฟรบกวน และอาจใช้กล้องดูดาว กล้องส่องทางไกล ส่องดูว่ามองเห็นวัตถุในห้วงอวกาศอย่างกาแล็กซีเพื่อนบ้าน กาแล็กซีแอนโดรมีดา และเนบิวลาต่างๆ ได้หรือไม่ เพราะวัตถุในห้วงอวกาศเหล่านี้ เป็นสิ่งที่การันตีได้ว่าท้องฟ้าบริเวณนั้นมีคุณภาพ มีค่าทัศนวิสัยที่เหมาะสมที่จะเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด”

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“สุดท้ายต้องเป็นพื้นที่ที่การคมนาคมสะดวก มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ เช่น ห้องน้ำ ที่พัก ร้านอาหาร จุดบริการไฟฟ้า รวมไปถึงมีการบริหารจัดการแสงสว่างในพื้นที่อย่างเหมาะสม และสามารถควบคุมแสงสว่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ช่วงหัวค่ำเปิดไฟใช้งานตามปกติ แต่หลังจากที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่นั้นแล้ว การสัญจรทั่วไปในพื้นที่ ควรตั้งระบบเปิดปิด หรือควบคุมแสงสว่างในเวลากลางคืน เพื่อให้ไม่มีแสงไฟรบกวนช่วงเวลาสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์หรือหลัง 2 ทุ่มเป็นต้นไป”

4. ฤดูกาลและช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการดูดาว

ค่ำคืนที่มีแสงดาวเต็มฟ้า เราว่าโรแมนติกที่สุดแล้ว แต่การไปดูดาวช่วงหน้าหนาวนั้น ว่ากันว่า จะสวยงามที่สุดนั้นจริงไหม? “ต้องบอกว่า ฤดูกาลท่องเที่ยวดูดาวในเมืองไทยจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงปลายพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน ถือเป็นช่วง High Season ของกิจกรรมดูดาว เพราะหน้าหนาวมีความกดอากาศสูง ทำให้ท้องฟ้าใสเคลียร์ กอปรกับเป็นช่วงที่เรามักจะเห็นดาวเคราะห์ได้ตั้งแต่ช่วงเย็น พอกลางคืนก็มีโอกาสที่จะเห็นวัตถุท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็นพวกกาแล็คซี เนบิวลา กระจุกดาว แม้กระทั่งกลุ่มดาวต่างๆ

“นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจทางดาราศาสตร์ ก็มักจะเกิดในช่วงหน้าหนาว เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) ที่เกิดขึ้นช่วงกลางเดือนธันวาคม เป็นฝนดาวตกที่เราสามารถสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำจนถึงเที่ยงคืนเลย

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“ส่วนช่วงเวลาของการดูดาวที่ดีที่สุด ต้องรอให้แสงจากดวงอาทิตย์ และแสงทไวไลท์หมดไปเสียก่อน ซึ่งปกติแสงเหล่านี้จะหมดไปราวสองทุ่มโดยประมาณ ดังนั้น ช่วงเวลาของการดูดาวที่สวยสดงดงาม จึงเริ่มตั้งแต่หลังสองทุ่มไปจนถึงไม่เกินเที่ยงคืน และอีกครั้งคือรุ่งเช้า”

5. ค่าความมืดของการดูดาวบนภูเขากับเกาะกลางทะเล

“พื้นที่ที่มีความสูงได้เปรียบในเรื่องของมลภาวะทางอากาศ โดยระดับความสูงที่เกิน 2000 เมตร ถือเป็นระดับที่ไม่มีมลภาวะทางอากาศ พวกฝุ่นหรือฟ้าหลัวต่างๆ ทัศนวิสัยของท้องฟ้าจึงใสเคลียร์มาก แต่ถ้าเป็นพื้นที่กว้างโล่งอย่างกลางทะเลจะได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่โดยรอบ ที่ไม่มีแสงกวนรอบตัวเรา ยกตัวอย่างเช่น ที่ Headlands International Dark Sky Park รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นพื้นที่โล่งกว้าง ไม่ใช่พื้นที่สูง แต่รอบตัวไม่มีแสงกวนเลย บนท้องฟ้าก็มืดมาก

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

เครดิตภาพ : NARIT

“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นเป็นภูเขาสูงหรือเกาะกลางทะเล ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่ในแง่ความสวยงามนั้น เรามองเห็นแสงดาวได้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบระหว่างภาคเหนือกับภาคใต้ และช่วงเวลาที่เหมาะสมในการไปดูดาว ก็จะแตกต่างกันไปอีก เช่น ภาคเหนือเหมาะกับการดูดาวช่วงฤดูหนาวกับฤดูร้อน ถ้าภาคเหนือเข้าฤดูฝนเมื่อไหร่ ภาคใต้ฟ้าจะใส แต่ถ้าภาคเหนือหนาวจัด ก็จะเป็นช่วงที่ภาคใต้ฝนตกหนักแบบน้ำท่วมเลย ดังนั้น ใน 365 วัน เราสามารถจะเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมในการดูดาวได้ทั้งปี

“สำหรับภาคอีสาน อาจจะมีความก้ำกึ่งกับภาคเหนือ ช่วงเวลาในการดูดาวจะใกล้เคียงกับภาคเหนือ แต่จุดเด่นของภาคอีสานคือมีพื้นที่โล่งกว้างเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มองเห็นท้องฟ้าในมุมกว้างได้หลายพื้นที่เลย เช่น ตามเขตอุทยานแห่งชาติต่างๆ แต่ภาคเหนือการจะไปดูดาว เราต้องขับรถออกไป ขึ้นไปบนภูเขา ไปบนที่สูง เพื่อหลีกหนีเรื่องของแสงจากในเมือง อันนี้คือจุดที่แตกต่าง” คุณแจ็ค ทิ้งท้าย

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับโครงการ Dark Sky ยังคงเปิดรับสมัครหน่วยงานและสถานที่ต่างๆ เช่น โรงแรม รีสอร์ท ชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ ทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการฯ นี้ได้ โดยสามารถสมัครได้ตลอดทั้งปี อย่าลืมระบุจุดเด่นของพื้นที่ที่เป็นไฮไลท์มาด้วย ทั้งนี้ จะมีการประกาศรับรองผลในเดือนเมษายน

เที่ยวไทยใน Dark Sky in Thailand ผ่านมุมมอง NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติม และกรอกข้อมูลเพื่อสมัครได้ที่  https://darksky.narit.or.th/

12 พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย
อุทยานท้องฟ้ามืด
1. อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จ.เชียงใหม่
2. อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี
3. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกระมัง จ.ชัยภูมิ
4. อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จ.ชัยภูมิ
5. อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จ.ชัยภูมิ

เขตชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
6. ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดส่วนบุคคล
7. ไร่องุ่นไวน์ อัลซิตินี่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
8. โรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
9. สนามมวกเหล็ก เอทีวี อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
10. บ้านไร่ยายชะพลู อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี
11. เดอะเปียโน รีสอร์ท อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
12. ไร่องุ่นไวน์กราน-มอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

Tags: