About
BALANCE

อยู่ดี ตายดี

ชวนกอเตย – ปิญชาดา Death Planner คนแรกและหนึ่งเดียวในไทยมาแนะแนวชีวิตทำไงให้ ‘ตายดี’

เรื่อง Nid Peacock ภาพ ฉัตรชัย มาตยภูธร Date 09-05-2024 | View 2866
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • บทสนทนากับนักวางแผนการตาย (Death Planner) กอเตย – ปิญชาดา ผ่องนพคุณ ผู้ก่อตั้งเพจ Baojai Family ให้คำปรึกษาด้านการวางแผนเตรียมตัวตาย โดยมี ‘สมุดเบาใจ’ เป็นเครื่องมือหลัก เน้นให้ได้ทบทวนชีวิต หาคุณค่าและปลดล็อกความสัมพันธ์ เพื่อเตรียมตัวสู่การตายดีในแบบของตัวเอง

เห็นชื่อเรื่องแล้วอย่าปล่อยผ่าน เพราะอยากชวนมาเตรียมตัว ‘ตายดี’ ไปด้วยกันจริงๆ

ที่ผ่านมา อาจเคยวางแผนชีวิตด้านโน้นด้านนี้กันมาบ้าง แต่เชื่อว่าน้อยคนเหลือเกินที่จะได้วางแผนการตายให้ตัวเองหรือครอบครัว นั่นเพราะเรามักมีข้ออ้างเข้าข้างตัวเองว่า ความตายยังเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงแล้ว ไกลแค่ไหนก็คือใกล้!

กอเตย – ปิญชาดา ผ่องนพคุณ นักวางแผนการตาย (Death Planner) แห่งเบาใจ แฟมิลี Baojai Family เธอชวนหลายคนเปิดใจคุยเรื่องความตายด้วยประโยคว่า ‘ความตายเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้’จะมาเล่าถึงที่มาที่ไปของการเป็น Death Planner อาชีพที่ยังถือว่าค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย และบอกถึงกระบวนการเตรียมพร้อมในการลาจาก เพื่อให้การจากลาเป็นการตายดีที่แท้จริง

Death Planner

พ่อป่วย…แม่ไม่สบาย…สุดท้ายต้องยอมลาออกจากงาน

วิถีชีวิตของครอบครัวผ่องนพคุณหลังจากหัวหน้าครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด ในช่วงแรกดูเหมือนทุกอย่างยังดำเนินต่อไปเฉกเช่นที่เคยเป็นมา ในขณะนั้นพ่อเป็นข้าราชการกรมที่ดิน แม้เกษียณอายุแล้วแต่ยังคงรับเป็นที่ปรึกษาที่ดิน ในช่วง 2 คอร์สแรกของการให้คีโม หลังฟื้นจากคีโม พ่อยังขับรถไปทำงานที่โน่นที่นี่โดยมีถังออกซิเจนติดรถไปด้วย ส่วนแม่เป็นแม่บ้าน และกอเตยเป็นนักวิจัย นักสิทธิมนุษยชนตามสาขาวิชาที่ร่ำเรียนมา เธอกำลังสนุกกับชีวิตเพราะได้ทำงานในสิ่งที่สนใจ

เวลาผ่านไปครบขวบปีพอดีกับที่พ่อให้คีโมจบคอร์ส 2 ทว่า ร่างกายพ่อดูจะไม่ตอบสนองกับคีโมอีกต่อไปแล้ว ครอบครัวจึงตัดสินใจพาพ่อกลับไปรักษาแบบประคองอาการต่อที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ช่วงนั้นพ่อไม่สามารถกลับไปทำงานที่ตัวเองรักได้แล้ว แม่กับกอเตยรับหน้าที่ช่วยกันดูแลพ่ออย่างใกล้ชิด ซึ่งการดูแลพ่อทำให้โรคลิ้นหัวใจรั่วของแม่กำเริบ ต้องผ่าตัดด่วน สองเหตุผลนี้ทำให้กอเตยตัดสินใจทิ้งอนาคตตัวเองด้วยการลาออกจากงาน

Death Planner

“ยอมรับว่าการที่ต้องดูแลทั้งพ่อและแม่ส่งผลกระทบกับงานพอสมควร รู้สึกเฟล ได้แต่ถามตัวเองว่า ทำไมต้องเป็นเราที่มาเจอสิ่งนี้ในอายุเท่านี้ ทั้งที่เส้นทาง Career Path กำลังจะไปได้ดีมีอนาคต แต่สุดท้ายเตยก็เลือกทำสิ่งที่ควรทำก่อน นั่นคือดูแลพ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อ เตยแทบไม่เคยใช้เวลากับพ่อเลย เพราะพ่อเป็นข้าราชการเดินทางไปโน่นนี่ตลอด ไม่อยากเสียช่วงโมเมนต์ที่จะได้อยู่ด้วยกันไปอีกแล้ว เลยตัดสินใจลาออกจากงาน”

เคยมีคนถามกอเตยว่า ผ่านสถานการณ์หนักหนาช่วงนั้นมาได้อย่างไร เธอตอบทันทีแบบไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย “ตอนนั้นไม่มีเวลาแม้แต่จะแวบคิดเลยว่า ตัวเราเป็นยังไง รู้แค่ว่าในแต่ละวันมีอะไรที่ต้องทำบ้าง ก็ทำไป แต่รู้นะว่าตัวเองเหนื่อย แต่จะไม่ผลักไสสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะมันเกิดขึ้นแล้ว เราแค่ทำให้ดีที่สุด”

Death Planner

เสียงเล่าของกอเตยหยุดไปชั่วขณะหนึ่ง เหมือนเจ้าตัวหยุดคิดทบทวนเหตุการณ์ ก่อนพูดต่อว่า “พอนึกย้อนกลับไป ชีวิตเตยค่อนข้างเจอเหตุการณ์หนักๆ มาบ่อยครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจอ จากชีวิตลูกคุณหนูระดับหนึ่ง ต้องเผชิญปัญหาหนี้สินของครอบครัว ถูกยึดบ้าน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแกร่งขึ้น พอเจอว่าพ่อป่วยเป็นมะเร็ง เตยเลยไม่ช็อกมาก เพราะนี่ไม่ใช่ทุกข์แรกในชีวิตที่เป็นแผลใหญ่ เตยศิโรราบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต เพราะเชื่อว่ามันเป็นของเรา เลยต้องมาเกิดขึ้นกับเรา”

Death Planner

สมุดเบาใจเข้ามาเปลี่ยนชีวิตคนในครอบครัว

ช่วงที่พ่ออยู่โรงพยาบาลในฐานะผู้ป่วยระยะท้าย กอเตยตั้งใจเสิร์ชหาความรู้เพื่อมาดูแลพ่อ จนได้ไปเจออีเวนต์ Happy Death Day จัดโดยเครือข่ายพุทธิกา ในงานมีการแสดงธรรมของพระไพศาล วิสาโล มีผู้ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาแชร์ประสบการณ์ และมีการแจกสมุดเบาใจที่มีข้อความบนหน้าปกว่า ‘สมุดเบาใจเพื่อการตายดี’ นั่นเป็นครั้งแรกที่กอเตยได้รู้จักกับสมุดเบาใจที่แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่คิดว่า จะเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนแปลงชีวิตคนในครอบครัวเธออย่างไม่น่าเชื่อ

Death Planner

“เตยพลิกดู ข้างในมีคำถามง่ายๆ แต่เป็นคำถามที่เราไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยรู้ว่ามนุษย์ต้องถามคำถามเหล่านี้ไปเพื่ออะไร เพราะที่ผ่านมาชีวิตเราห่างไกลจากการเตรียมตัวตายมาก ไม่มีแม้ข้อมูลเลยว่าการเตรียมตัวตายต้องทำอะไรกันบ้าง แต่สมุดเบาใจเล่มนี้เหมือนเข้ามาช่วยนำทาง เตยคิดว่าถ้าพ่อได้ตอบคำถามที่อยู่ในสมุด พ่อคงได้ตายดีแน่ๆ เลยคิดว่าจะชวนพ่อทำ”

กอเตยเอาใจพ่อมาใส่ใจตัวเองเลยอดรู้สึกไม่ได้ว่า แล้วพ่อจะเศร้าแค่ไหน ถ้าชวนคุยเรื่องความตาย พ่อจะรับได้ไหม จะยอมคุยด้วยหรือเปล่า เธอเลยหาทางออกด้วยการซีรอกซ์สมุดเบาใจเพิ่มอีก 2 เล่ม แล้ว 3 คน พ่อแม่ลูกก็ทำสมุดเบาใจไปด้วยกัน แม้จะใจตุ๊มๆ ต่อมๆ แค่ไหน แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจที่จะถามคำถามจากสมุดเบาใจกับพ่อ

“เตยไม่รู้ว่าถามแล้วพ่อจะตอบหรือมีปฏิกิริยายังไง รู้แค่ว่าคำถามเหล่านี้จะทำให้พ่อตายอย่างมีความสุข เลยไม่กลัวที่จะถาม เพราะเวลาของพ่อถดถอยลงไปทุกทีแล้ว เตยไม่ได้ถามทุกคำถามไล่ไปทีละข้อ แต่ใช้วิธีดึงคำถามมาค่อยๆ ถาม คำถามแรกคือพ่ออยากเจอใครไหม ปรากฏว่ามีเพื่อนร่วมงานที่พ่อสนิทด้วยชื่อลุงขาวที่พ่ออยากเจอ แล้วเตยก็ทำให้พ่อได้เจอลุงขาวสมใจ”

Death Planner

นับจากนั้น บทสนทนาเปิดใจกันเรื่องความตายระหว่างสองพ่อลูกก็ค่อยๆ ลงลึกขึ้นๆ ตั้งแต่การดูแลในแบบที่พ่อต้องการ จนได้ Care Plan หรือการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายตามความเป็นจริงในแบบที่ผู้ป่วยต้องการ ทำให้พ่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี ในประเด็นนี้กอเตยได้ให้มุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า

“หลายคนมักให้กำลังใจผู้ป่วยว่า ‘สู้ๆ นะ เดี๋ยวก็หาย’ ‘ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวก็ดีขึ้น’ ชุดคำพูดพวกนี้จริงๆ เป็นการปลอบใจตัวเองผ่านการปลอบใจผู้ป่วย ทั้งที่ในความเป็นจริง ต่างรู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางเกิดขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ป่วยระยะท้ายที่กำลังจะตายในวันใดวันหนึ่งในอีกไม่นานนี้ ซึ่งเตยไม่ได้รู้สึกแย่กับคำพูดที่หวังปาฏิหาริย์ แต่แค่อยากให้อยู่บนโลกความจริงว่า เราต่างเหลือเวลาไม่มากแล้วที่จะใช้ด้วยกัน อยู่ที่เราว่าจะใช้เวลานั้นด้วยคุณภาพแบบไหนในครอบครัว เตยจะไม่สร้างความหวังที่ฝืนธรรมชาติแล้วบอกพ่อว่า ‘เดี๋ยวก็หายนะ’ ‘เดี๋ยวก็ได้กลับบ้านแล้ว’ แต่สิ่งที่เตยพูดกับพ่อเสมอคือ ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเป็นวันสุดท้าย แต่วันนี้เรายังได้อยู่ด้วยกัน พ่ออยากให้เตยดูแลแบบไหน อยากกินอะไร อยากให้ทำอะไรให้ พ่อบอกเตยเลยนะ”

Death Planner

นอกจากนี้ คำถามจากสมุดเบาใจยังทำให้กอเตยได้งานศพที่พ่อออกแบบเอง “จากของชำร่วยงานศพ รูปหน้าศพ ชุดที่จะใส่ รูปแบบของโลง การประดับตกแต่ง ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของพ่อ และการคุยกันเรื่องงานศพกลายเป็นเราพ่อลูกมีเรื่องคุยกันเยอะเลย พ่อทำให้เตยได้รู้ว่า เขามีความต้องการชัดเจนมาก เพียงแต่ไม่เคยมีใครถาม แล้วเขาก็ไม่รู้ว่าใครจะจัดการตามความต้องการเขาได้บ้าง”

Death Planner

วาระสุดท้ายของพ่อคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของครอบครัว

คำถามในสมุดเบาใจไม่เพียงช่วยให้กอเตยกับแม่ได้รู้ถึงความต้องการของพ่อในเรื่องต่างๆ แต่ยังทำให้เธอกล้าที่จะพูดหรือถามพ่อมากขึ้น ในสมุดส่วนตัวของพ่อที่มีคำ 3 คำเขียนอยู่ในนั้น คือคำว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ มองเผินๆ ก็เป็นศัพท์ทางพุทธศาสนาทั่วไป แต่กอเตยเลือกที่จะถามเหตุผลที่พ่อเขียน จนได้รู้ถึงเมสเสจที่ซ่อนอยู่ใน 3 คำนี้

“เตยถามพ่อว่าทำไมเขียน 3 คำนี้เยอะจังในสมุด พ่อบอกว่า ‘พ่อก็กลัวตายเหมือนกัน’ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ พ่อไม่เคยแสดงอาการกลัวตายให้เห็นเลย อาจเพราะเขาเป็นหัวหน้าครอบครัว ด้วยค่านิยมสังคมไทย ผู้ชายต้องเข้มแข็ง จะแสดงความอ่อนแอให้ลูกเมียเห็นไม่ได้ แต่ลึกๆ พ่อก็ปุถุชนคนหนึ่งย่อมมีความกลัวในทางที่เขาเผชิญอยู่”

ในความกลัวที่พ่อพยายามทำความเข้าใจสัจธรรมและยอมรับกับความตายของตัวเอง สมุดเบาใจก็เบิกทางให้กอเตยได้ชวนคุยจนรู้ว่า พ่อกลัวว่าในวาระนั้นแล้วภรรยากับลูกจะไม่อยู่ตรงนั้น “จริงๆ ความกลัวของพ่อเป็นชุดเดียวกันกับที่เตยเองก็กลัวว่าจะไม่ได้อยู่ส่งพ่อ เมื่อรู้แล้ว เตยจึงดูแลความกลัวของพ่อได้

กอเตยตัดสินใจพาพ่อกลับไปดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ต่อที่บ้านตามความประสงค์ของพ่อ โดยรู้อยู่แก่ใจว่าวันหนึ่งพ่อจะต้องจากไป ที่ผ่านมาสมุดเบาใจช่วยให้มีการเตรียมตัวตายดีให้พ่อไปกว่า 90% แล้ว กระทั่งช่วงที่ร่างกายพ่อเริ่มส่งสัญญาณ “จากข้อมูลที่เตยศึกษามาบอกไว้ว่า ผู้ป่วยที่ใกล้ตายจะสังเกตได้ว่าริมฝีปากและหนังตาจะเริ่มตก ตาละห้อย เริ่มซึม อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เอาแต่นอนนิ่งๆ เฉยๆ แล้วจู่ๆ อีกวันสองวันก็จะลุกขึ้นมาพูดคุย อยากกินโน่นกินนี่ ให้เตรียมใจเลยว่าวันนั้นใกล้เข้ามาแล้ว”

Death Planner

แล้วก็เป็นจริงตามนั้นเมื่อวันรุ่งขึ้นพ่อเข้าสู่ภาวะธาตุในตัวแตก หลังทำความสะอาดให้ พ่อก็นอนแหม็บไม่ได้ลุกขึ้นมาอีก กอเตยฉายภาพจากความทรงจำถึงวันที่พ่อจากไปว่า

“คืนนั้นพ่อนอนพลิกตัวไปมา แล้วก็ลุกขึ้นนั่งเหมือนเสมหะติดคอ อ้าปากค้างๆ หายใจติดขัด เตยไม่คิดจะพาพ่อส่งโรงพยาบาล เพราะพ่อขอไว้แล้วว่าอยากตายที่บ้าน เรารู้ว่าถ้าไปโรงพยาบาล พ่อจะเจออะไรบ้าง เลยได้แต่บอกพ่อว่า ‘เราจะอยู่ด้วยกันตรงนี้นะ ให้พ่อทำใจสบายๆ’ ความที่พ่อใส่สายออกซิเจนที่จมูกตลอดเวลามาหลายเดือน จนจมูกเป็นแผล เตยขออนุญาตพ่อกับแม่ถอดสายนี้ออก กลายเป็นพ่อกลับดูหายใจสบายขึ้น เราเลยประคองพาพ่อล้มตัวลงนอน อาการเฮือกเหมือนมีเสมหะติดคอกลับหายไป

Death Planner

“เตยบอกพ่อว่า ‘ถ้าวันนี้พ่อจะออกเดินทาง ให้พ่อนึกถึงสิ่งดีๆ แล้วไปได้เลยนะ ไม่ต้องห่วงแม่กับเตย พ่ออย่าหลงทางนะ ต้องไปในที่ที่พ่ออยากไปเท่านั้นนะ พ่อเดินทางได้เลย เพราะทุกอย่างจัดเตรียมไว้พร้อมหมดแล้ว’ เตยรู้สึกว่าพ่อพยักหน้ารับรู้ และมีน้ำตาซึมที่หางตา ตอนนั้นพ่อพูดอะไรไม่ได้แล้ว เตยกับแม่อยู่ข้างพ่อคนละข้าง สุดท้ายพ่อก็นิ่งไปเลย มือที่จับกันไว้ก็คลายลง เป็นการบอกให้รู้ว่า พ่อได้ออกเดินทางไกลครั้งสุดท้ายแล้ว”

ระหว่างรอฟ้าสาง กอเตยเปิดธรรมะให้พ่อฟัง เธอกับแม่ไม่ได้ร้องไห้ฟูมฟายเลยตั้งแต่วันนั้นจนเสร็จงานศพ เจ้าตัวบอกเราว่า “เหมือนเราซ้อมมาแล้วเพื่อรอทำวันนี้ให้สมบูรณ์ที่สุด มันไม่ใช่การรู้ว่าเดี๋ยววันนี้ก็มาถึง แล้วเราจะทำได้ 1 2 3 4 แต่ไม่เคยเตรียมใจ ไม่เตรียมร่างกาย ไม่เตรียมการรับมืออะไรเลย โมเมนต์นี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แม้ว่าบางทีสิ่งที่เราเตรียมไว้อาจจะไม่เป็นอย่างที่ตั้งใจ 100% หรอก ก็จงอย่ารู้สึกผิด เพราะเราทำดีที่สุดตามเงื่อนไขที่เรามี ณ ช่วงเวลานั้นๆ แล้ว”

Death Planner

ลมหายใจของพ่อที่จากไป ได้ต่อชีวิตใหม่ให้ลูกที่ยังอยู่

“จากประสบการณ์ที่สูญเสียพ่อ อยากบอกว่านอกจากเตรียมการตายดีให้พ่อแล้ว อย่าลืมเผื่อช่วงเวลาหลังจากการสูญเสียด้วยว่า เราจะจัดการชีวิตตัวเองยังไงต่อ เพราะเตยยังยึดติดกับคุณค่าที่เคยเป็นผู้ดูแลพ่อ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเคยเข้าใจมาตลอดว่าพ่อรักพี่ชายมากกว่า ช่วงแรกที่พ่อป่วย เลยไม่เข้าใจว่า ทำไมหน้าที่ดูแลพ่อถึงเป็นเรา”

พ่อตอบกอเตยว่า ‘เพราะเตยคือลูกที่พ่อรักและไว้วางใจมากที่สุด อยู่กับเตยแล้วพ่อรู้สึกปลอดภัย ถ้าที่บ้านมีปัญหา พ่อมั่นใจว่าเตยจะจัดการทุกอย่างได้’ คำตอบจากใจพ่อได้ทลายทำนบแห่งความน้อยใจเสียใจที่ก่อตัวอยู่ในใจกอเตยมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต นั่นทำให้เธอเห็นถึงคุณค่าตัวเองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่เมื่อพ่อจากไป ดูเหมือนคุณค่าในตัวเองที่ได้ดูแลพ่อก็ได้หมดตามไปด้วย กอเตยจึงพยายามตามหาคุณค่าและความหมายชีวิตตัวเองอีกครั้ง

Death Planner

“ยิ่งหาก็ยิ่งเคว้งนะ (หัวเราะ) เพราะตอบตัวเองไม่ได้ว่าควรทำงานอะไร เลยลองคิดทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เราเป็นนักสิทธิมนุษยชน เตยอยากพูดเรื่องสิทธิ์การตายดีกับคนอื่นจัง เลยกลับไปที่องค์กร Peaceful Death เตยอินบอกซ์ไปขอบคุณสมุดเบาใจที่เป็นเครื่องมือการทำงานของเขา ซึ่งช่วยให้เตยดูแลพ่อได้อย่างดี”

Death Planner

หลังจากนั้นกอเตยได้เข้าร่วมกิจกรรม ‘1 วันกับความว่าง’ เธอประทับใจบทบาทของกระบวนกรในงาน และอยากทำหน้าที่นี้บ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ขวนขวายหาว่าต้องทำยังไง กระทั่งเพจ Peaceful Death เปิดคอร์สทักษะกระบวนกรชุมชน ซึ่งตรงกับใจเธอที่อยากพัฒนาชุมชน เพราะช่วงที่พ่อป่วยแล้วกลับมาอยู่บ้านก็มี อสม. กับโรงพยาบาลส่วนตำบลเข้ามาช่วยดูแล หรือถ้าจะย้อนไปสมัยปู่ของกอเตยก็เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ลึกๆ เธอจึงรู้สึกเหมือนได้รับการปลูกฝังการช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือชุมชนเป็นงานที่เธออินและสนใจมาตลอด

Death Planner

แม้กอเตยจะยังไม่ได้สานฝันพัฒนาชุมชนอย่างที่ตั้งใจ เพราะเจอพิษโรคโควิด-19 สกัดกั้นเสียก่อน แต่ Peaceful Death เห็นแววความมุ่งมั่นตั้งใจและความสามารถของเธอ จึงชวนเข้าเป็นหนึ่งในทีมงาน จนถึงปัจจุบันก็เข้าปีที่ 5 แล้วที่กอเตยได้เป็นทีมหลักของกระบวนกรในนาม Peaceful Death

“เตยได้พูดเรื่องเกี่ยวกับความตาย ได้เล่าถึงสมุดเบาใจทุกวัน ได้ทำอะไรหลายอย่างที่ได้นำประสบการณ์การดูแลพ่อมาต่อยอดและแบ่งปันผู้อื่น งานนี้กลับมาเชื่อมโยงคุณค่าและความหมายของชีวิตเราได้ เป็นงานที่เลี้ยงชีพได้ ตอบคุณค่าความเป็นตัวเรา ยิ่งคิดย้อนกลับไป ถ้าพ่อไม่ป่วย ถ้าเตยไม่ได้ต้องดูแลพ่อ ถ้าเราไม่เสิร์ชหาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ถ้าไม่ไปงาน Happy Death Day ไม่ไปเจอสมุดเบาใจ ไม่ได้รู้จัก Peaceful Death ก็คงไม่ได้มาทำงานบนเส้นทางนี้ สิ่งที่เตยประสบพบเจอ เปิดโอกาสให้เตยได้มีวันนี้”

Death Planner

จาก Peaceful Death ต่อยอดสู่ Baojai Family

ด้วยบทบาทกระบวนกรของกอเตยที่ได้จัดกิจกรรมต่างๆ เธอสังเกตว่า Pain Point ของสังคมที่ยังมีปัญหาด้านการสื่อสารกันเรื่องความตาย จะด้วยบริบทขนบความเชื่อเดิมๆ ที่มองความตายเป็นเรื่องโชคร้าย ความไม่เป็นมงคล ถ้าเอ่ยถึงจะกลายเป็นลางร้าย หรือการไม่ตระหนักรู้ว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน

Death Planner

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีหลายบ้านที่ความตายเป็นเรื่องต้องห้ามหรือเป็นเรื่องยากในการสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะกับผู้สูงวัยและผู้ป่วยระยะท้ายๆ เธอจึงปิ๊งไอเดียว่า จะดีไหมนะ ถ้าจะขออาสาเป็นคนกลางในการนำคุยเรื่องนี้กับครอบครัวให้คุยกันได้ง่ายขึ้น จึงก่อตั้ง ‘เบาใจ แฟมิลี’ (Baojai Family) ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาวางแผนการเตรียมตัวตาย (Pre-death Planning) ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนตัว แล้วออกแบบกระบวนการที่ใช้ในการทบทวนเรื่องราวชีวิตที่ผ่านมา ตามหาคุณค่าของตัวเอง เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของชีวิตที่ตั้งไว้

Death Planner

Death Planner

บริการนี้ที่ต่างประเทศมีมานานแล้ว แต่สำหรับบ้านเรายังไม่มีใครทำ เมื่อต้นสังกัดอย่าง Peaceful Death ทราบเรื่องก็ซัปพอร์ตเต็มที่ ด้วยการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เครื่องมือขององค์กรได้ และพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กอเตย

“เตยตั้งชื่อบริการนี้ว่า ‘เบาใจ แฟมิลี’ เพราะอยากเป็นพื้นที่ที่ให้พูดคุยกันเรื่องความตายได้ในครอบครัว หรือทำเรื่องนี้ได้ในชีวิตประจำวัน อยากชวนมาเป็นคอมูนิตีของเตย อยากได้เพื่อนที่จะไปอยู่บนเส้นทางการตายดีด้วยกัน ในเพจเบาใจ แฟมิลี อยู่อย่างเบาใจ จากไปอย่างใจเบา นำเสนอคอนเทนต์หลากหลายเพื่อเชิญชวนให้ทุกคนได้ใคร่ครวญชีวิต มาแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องความตาย เพื่อนำไปต่อยอด พัฒนากระบวนการได้

Death Planner

ในมุมมองของกอเตย เธอคิดว่าหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สังคมตื่นตัวและให้ความสำคัญกับความตายมากขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ความตายอยู่เบื้องหน้าและเกิดขึ้นง่ายมาก เห็นการจากกันโดยไม่ได้ร่ำลา เห็นการจัดงานศพแค่คืนเดียวโดยที่ครอบครัวไม่สามารถไปส่งคนที่เรารักได้ เห็นการสูญเสียที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนมายด์เซ็ตคนในสังคมอย่างสิ้นเชิง

Death Planner

สำหรับขั้นตอนคร่าวๆ ในการรับบริการของ ‘เบาใจ แฟมิลี’ เมื่อติดต่อเข้าไปจะต้องแจ้งเหตุผลที่ตัดสินใจรับบริการนี้ เช่น ปัญหาสุขภาพ การสื่อสารในครอบครัว เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นให้ทีมงาน ในการให้บริการทำได้ทั้งแบบส่วนบุคคล เป็นคู่ และเป็นครอบครัว ซึ่งทุกคนจะได้รับการออกแบบกระบวนการเฉพาะสำหรับคนคนนั้น โดยอิงจากข้อมูลส่วนตัวอย่างละเอียดของใครของมัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการบริการกว่า 300 เคสที่ผ่านมาจึงไม่เคยมีกระบวนการซ้ำกันเลย เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันนั่นเอง

Death Planner

ทั้งนี้ กอเตยในฐานะนักวางแผนการตายจะดูแลในส่วนของการเตรียมแพลนเรื่องสิทธิเกี่ยวกับการตายดี สิทธิ์ที่จะไม่รับการรักษาในช่วงวาระท้ายของชีวิตตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ปี 2550 ที่กำหนดให้คนไทยทุกคนแสดงสิทธิ์นี้ไว้ได้ แต่ถ้าต้องการดูแลจัดการในเรื่องอื่น เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ด้านกฎหมาย ก็มีสหวิชาชีพอื่นที่สามารถให้คำปรึกษา หรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลต่อได้

Baojai Family
ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและวางแผนชีวิตเพื่อการตายดี โดยนักวางแผนการตาย (Death Planner)
สอบถามหรือนัดหมายได้ที่ m.me/BaojaiFamily
ค่าบริการ
รายบุคคล เริ่มต้นที่ 3,500 บาท / 2 ชั่วโมง
เป็นคู่ เริ่มต้นที่ 5,500 บาท/ 2 คน
แบบครอบครัว เริ่มต้นที่ 7,500 บาทสำหรับ 3-4 คน ถ้าเกินกว่านี้คนละ 1,800 บาท

Tags: