- แวะดื่มค็อกเทล ฟังเพลงร็อกจากแผ่นเสียงกับเทปคาสเซ็ตท่ามกลางของเก่าสะสมในตึกอายุกว่า 100 ปี ทุกอย่างถูกจับวางอย่างลงตัวตามความชอบส่วนตัวของคนตรังที่หอบหิ้วของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์จากบ้านเกิดมาสู่ย่านเจริญกรุง
“Doma เป็นภาษารัสเซีย แปลว่าบ้าน” ต่าย-ณัฐพล ต่ายกำรงค์ ตั้งชื่อบาร์ตามชื่ออัลบั้ม Molchat Doma ของวงดนตรีรัสเซียที่เขาเคยฟังบ่อยๆ การเปิดบาร์ครั้งแรกนั้นต่ายเริ่มที่ตรัง จังหวัดบ้านเกิดของเขา และใช้ชื่อ Doma Bar โดยต่ายให้เหตุผลว่าที่ตั้งร้านกับชื่อมันเสริมกัน
ส่วน Doma Bar ณ ซอยเจริญกรุง 44 ที่เรามาเยือนในบทความนี้คือบาร์ลำดับที่สองของต่าย นอกจากบาร์นี้จะใช้ชื่อเดิมแล้ว ของเก่าในร้านก็ขนมาจากบาร์เดิมด้วย เหมือนต่ายยกทั้งบาร์จากใต้ขึ้นมากับเขาเลย
นอกจากสไตล์การตกแต่งที่หลอนเอาเรื่อง บาร์โดดเด่นเรื่องเพลงอีกตะหาก ต่ายเลือกร็อกเป็นธีมหลัก ซึ่งไม่ค่อยพบในกลุ่มบาร์ค็อกเทล การเสิร์ฟอรรถรสใหม่ให้เตะตาขาดื่มในย่านท่องเที่ยวที่คู่แข่งเยอะ จึงไม่ยากเกินความสามารถ แถมสนองความชอบส่วนตัวไปในตัวด้วย
สายเลือดพ่อค้า
ทุกอย่างเริ่มต้นที่บ้าน ต่ายเคยเป็นเด็กร้านกาแฟชื่อ ‘เขาช่อง’ ที่เปิดขายตั้งแต่รุ่นอากง ตอนเปิดใหม่ๆ แม่ของต่ายยังเด็กอยู่ เธอก็ช่วยพ่อของเธอขายปาท่องโก๋อยู่หน้าร้าน พอต่ายเกิดมาและโตพอก็ได้ช่วยเก็บเงินและทำงานเล็กน้อยตามกำลังเด็ก ครอบครัวของต่ายปลูกฝังให้รู้จักขายของกันตั้งแต่เล็ก และส่งต่อนิสัยทำมาหากินนี้จากรุ่นสู่รุ่น
“การขายของมันสนุกดี เราไปซื้อตุ๊กตากับหุ่นยนต์มาขายต่อให้เพื่อนตั้งแต่อนุบาล แล้วเราก็ได้เงินไปซื้อขนมกิน”
พอโตขึ้นมาต่ายเลือกเรียนศิลปะ สาเหตุเพราะความชอบล้วนๆ ต่ายได้ฟังเรื่องเล่าจากพ่อแม่มาอีกทีว่า ตอนเขาเล็กๆ นั้นขีดเขียนรูปเต็มฝาผนังบ้าน ตรงไหนมีที่ว่างเขาตามเก็บหมด ดินน้ำมันก็เป็นอีกหนึ่งการแสดงออกทางความชอบศิลปะของต่าย หลังเรียนจบต่ายพาตัวเองไปเจองานปั้นงานแกะสลักสเกลใหญ่ขนาดหินผาที่ Ba Na Hills เวียดนาม และงานแกะหินที่สวนน้ำใน Universal Studio สิงคโปร์ ก่อนจะกลับมาไทยแล้วเปิดร้านขายของเก่าของตัวเองในปี 2556
ต่ายชอบของเก่าอยู่แล้ว เพื่อนที่รู้จักกันที่ตรังจนย้ายมาเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ด้วยกันก็ชอบเช่นกัน แถมเข้าวงการของเก่าก่อนต่ายด้วยซ้ำ ต่ายเลยได้อิทธิพลมาจากเพื่อนด้วย ต่ายมีรถเก่า ของเก่า เฟอร์นิเจอร์เก่า ซื้อเข้าใหม่บ้าง ขายออกไปบ้าง ต่ายก็ได้เงินไปซื้อมาเพิ่มอีก เขาเลยตัดสินใจเปิดร้านขายของเก่าที่จตุจักรและตึกแดง
จะว่าเป็นความชอบก็ส่วนหนึ่ง ทำเป็นอาชีพก็ส่วนหนึ่ง แต่อย่างว่าแหละนะสายเลือดพ่อค้ามันอยู่ในดีเอ็นเอ พอหยุดทำงานตรงสายกับที่เรียนมา ต่ายจึงหนีไม่พ้นการเปิดกิจการเป็นของตัวเอง
The First Doma:
ทิ้งบ้านเกิดไม่ได้
เมื่อหน้าที่ของลูกเรียกร้อง ต่ายกลับไปรับช่วงต่อร้านกาแฟโบราณต่อจากแม่ จนถึงทุกวันนี้ร้านกาแฟอายุกว่าร้อยปีของครอบครัวก็ยังเปิดให้บริการอยู่
หลังต่ายดูแลร้านกาแฟได้ 4 ปี ก็เปิดบาร์ที่ชั้นสอง เขาทำโปรเจ็กต์นี้ร่วมกับลูกค้าร้านกาแฟคนหนึ่ง ซึ่งกลายมาเป็นแฟนของเขา (เสียดายที่เจ้าตัวติดภารกิจในภาคใต้เลยไม่ได้มาเล่าแพสชั่นเกี่ยวกับค็อกเทลด้วยตัวเอง) แฟนของต่ายชอบดื่มค็อกเทล ส่วนต่ายมีของวินเทจ การเปิดบาร์ในครั้งนั้นเลยรวมเอาความชอบของทั้งคู่ไว้ด้วยกัน กลายเป็น Doma Bar หนึ่งในวินเทจค็อกเทลบาร์ไม่กี่แห่งในตรัง
“ผมตัดสินใจเปิดบาร์ที่บ้าน เพราะปัจจัยหลายอย่างมันเอื้อ เราชอบบาร์ลับ ชอบความไพรเวต แถมทำที่บ้านไม่เสียค่าเช่าด้วย” ต่ายเล่าถึงบาร์ลับในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งทางขึ้นไปบาร์เป็นทางเข้าห้องเก็บของของร้านกาแฟ
วันแรกของการเปิดร้านมีลูกค้ามาเกือบร้อยคน คิวยาวออกไปถึงถนนใหญ่ แต่ไม่นานลูกค้าก็บางตาลงเห็นได้ชัด ตรังเป็นจังหวัดเล็กๆ และไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยว พอมีร้านเปิดใหม่สักร้าน คนจึงรู้กันทั่วและมาลองของใหม่เหมือนกันหมด แต่ด้วยธรรมชาติของคนตรังที่ไม่ค่อยนั่งดื่มค็อกเทลกันชิลล์ๆ ทั้งคืน ส่วนมากจะไปร้านอาหารที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กัน พอเติมท้องจนอิ่มก็กลับบ้าน
ต่ายตัดสินใจพับเก็บโปรเจ็กต์บาร์ลับในตรัง แล้วย้ายแพสชั่นไปสานต่อในกรุงเทพฯ แทน แต่ต่ายก็ไม่ปล่อยมือจากกิจการของอากง เขาลงไปตรังทุกเดือนเพื่อเช็กความเรียบร้อยของร้านกาแฟอยู่เสมอ
The Second Doma:
ยอมเพราะเก่า ถึงแพงก็เอา
ต่ายหอบทั้งของเก่าและประสบการณ์มาทำบาร์ที่กรุงเทพฯ ชื่อก็ใช้ชื่อเดิม ขาดอยู่อย่างเดียวคือตึกที่จะเป็นบ้านหลังที่สองให้เขา ต่ายมองหาตึกเก่าเป็นอย่างแรกเพื่อให้เข้ากับธีมร้าน เพราะต่ายแทบไม่ซื้อของใหม่เข้าร้านเลย แต่ใช้ของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเคาน์เตอร์บาร์จากบาร์เก่าที่ตรัง ลำดับขั้นการทำร้านจึงไม่ใช่เลือกตึกแล้วค่อยซื้อของเข้า แต่โจทย์คือหาที่อยู่ให้เข้ากับของรักของต่ายต่างหาก
ตึกของร้านในปัจจุบันคืออาคารหลังแรกที่ต่ายไปดู แต่เขาไม่ได้เลือก ลูกค้าที่เคยซื้อของเก่าจากต่ายแนะนำมา แล้วพอต่ายเห็นสภาพโทรมของตึกร้างอายุกว่า 100 ปีก็โบกมือลาทันที คิดว่าคงเสียค่าซ่อมบำรุงไม่ใช่น้อย จากนั้นต่ายตระเวนดูตึกในทำเลอื่นๆ ตั้งแต่ห้วยขวาง ลาดพร้าว ยันอารีย์ สุดท้ายก็กลับมาที่ตัวเลือกแรก เพราะมันคือตึกเก่าของจริงที่เขาหาไวบ์นี้จากตึกอื่นไม่ได้ และต่อให้ซื้อตึกใหม่มาทำเก่าก็ไม่ได้ดั่งใจ พูดตรงๆ ว่าต่ายยอมเพราะเก่า ถึงแพงก็เอา
“ยอมถึงแม้จะหมดเงินเยอะกว่าการเอาของใหม่มาทำเก่า ปัจจุบันก็ยังไม่เรียบร้อยดี เพราะเราไม่รู้ว่ามีอะไรเสียบ้าง อย่างเรามาตอนที่ไม่ใช่หน้าฝนเลยไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมทั้งซอยแล้วไหลเข้ามาในร้าน เพิ่งมาสังเกตตอนหลังว่าแถวนี้เขายกพื้นกันหมด แต่เราชอบพื้นหินกรวดขัดมันข้างล่าง ไม่อยากยกพื้น เราก็ซื้อกระสอบมากั้นน้ำ อุดรูในบ้าน ค่อยๆ เก็บรายละเอียดไป”
ต่ายยังถอดฝ้าทิ้งเพื่อโชว์หลังคา ถอดหน้ากากแอร์ออกให้เห็นกลไกข้างในทั้งหมด ความดิบและเปิดเปลือยผสมกับของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์เก่าดูเข้ากันอย่างบอกไม่ถูก ส่วนชั้นลอยที่มักไม่ค่อยเห็นในตึกเก่าของย่านนี้ ต่ายบอกว่ามันมากับบ้านอยู่แล้ว
“ลูกค้าบางคนก็บอกว่าเหมือนบ้านแวมไพร์” ต่ายพูดถึงภาพลักษณ์ของ Doma Bar ว่าเป็นบ้านวินเทจที่เก่าจากข้างนอกถึงข้างใน คาแรกเตอร์ที่ชัดเจนเรียกกระแสจากลูกค้าดีไม่มีตก ถึงขั้นมีเอเจนซี่มาเช่าร้านถ่ายโฆษณา และมีดารามาถ่ายทำรายการ
ต่ายเริ่มรีโนเวตตึกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 แล้วเปิดกิจการเดือนพฤษภาคม ภายหลังการแปลงโฉมครั้งใหญ่ในระยะเวลา 4 เดือน ตึกนี้ก็ออกมาเป็นวินเทจค็อกเทลบาร์ที่ลงตัวที่สุด ถือเป็นการลงทุนกับของเก่าชิ้นใหญ่ที่สุดของต่ายและเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากเสียด้วย
The Holy Trinity of Doma Bar:
Music, Cocktail & Service
ต่ายมองว่าการเปิดร้านในกรุงเทพฯ เป็นดาบสองคม เพราะที่เยอะขึ้นไม่ใช่แค่ลูกค้า แต่ร้านคู่แข่งก็เยอะตาม Doma Bar ผ่านด่านแรกแล้วจากการสร้างคาแรกเตอร์วินเทจที่ชัดเจน ด่านต่อไปคือเครื่องดื่มและดนตรี
“ลูกค้าหลายคนบอกว่าดนตรีแนวแจ๊สหรือบลูส์ เขาฟังมาหลายที่แล้ว ส่วนน้อยที่เป็นเพลงแนวร็อก”
เพลงมีส่วนสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ให้กับ Doma Bar ค็อกเทลบาร์ส่วนใหญ่เล่นเพลงแจ๊ส เพลงบลูส์ หรือไม่ก็เน้นสนุกลุกเต้นสะดวกแบบบาร์ดีเจ ส่วนเพลงที่ต่ายเปิดเป็นแนว Brit-Rock Brit-Pop Soul และ Funk ซึ่งมาจากความชอบของต่าย บางวันต่ายลิสต์เพลงเองกับมือสำหรับเปิดผ่านลำโพงในวันจันทร์ พุธ และอาทิตย์
วันอังคาร พฤหัสบดี ศุกร์ จะพิเศษขึ้นมาอีก เพราะมีดีเจมาเปิดเพลง โดยอังคารกับศุกร์เปิดไวนิล แนว Soul หรือ Funk เปิดสักเดือนหนึ่งต่ายก็ให้ดีเจสลับไปเปิดแนว Old-school Hip Hop ส่วนวันพฤหัสบดีเปิดเพลงจากเทปคาสเซ็ต วันศุกร์เสริมทัพด้วย Live Band แนวร็อก ต่ายอยากเปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ สร้างสีสันให้ลูกค้าไม่เบื่อ
ความชอบในเสียงดนตรีของต่ายขยายไปถึงการตั้งชื่อค็อกเทล ลองเปิดเมนูอ่านดูสิ คุณจะเห็นรายชื่อเครื่องดื่มที่ไม่คุ้นหูเป็นเพลย์ลิสต์เลย โดยวงที่สร้างแรงบันดาลใจให้เมนูของร้านคือ The Strokes เขาเพิ่งมาจัดคอนเสิร์ตในไทยเมื่อปลายปีที่แล้วและต่ายก็ไปมาด้วย
Someday (360 บาท) คือเมนูจากเพลย์ลิสต์นั้นที่เราได้ลอง เบสของแก้วนี้เป็น Gold Rum ได้สีฟ้าจาก Blue-Curacao ท็อปด้วยไข่ขาวและไซรัปสูตรของบาร์เทนเดอร์ชื่อ Sea Syrup แก้วนี้มีรสเค็มโดด ตบด้วยความหวานนุ่มละมุนจากโฟมสีขาวด้านบน
ด่านวัดใจด่านสุดท้ายคือการบริการ เพราะท้ายที่สุดแล้วต่อให้ค็อกเทลรสชาติเป็นเลิศแต่บริการไม่ดี ลูกค้าก็จะไม่มาอีก ต่ายเลยให้ความสำคัญกับการบริการและความเป็นกันเองมาก ซึ่งส่วนนี้ยกให้เป็นหน้าที่ของบาร์เทนเดอร์
Since MJ คือค็อกเทลอีกแก้วที่เราได้ลองดื่ม เป็นผลผลิตมาจากบทสนทนาถึงรสถึงเครื่องระหว่างบาร์เทนเดอร์และลูกค้า แก้วนี้เกิดจากการออกแบบสูตรสดๆ หลังจากฟังเรื่องราวอกหักของลูกค้า ส่วนชื่อก็ตั้งตามอักษรตัวหน้าของชื่อฝ่ายชายและหญิง บาร์เทนเดอร์ยังจดสูตรให้ลูกค้าไว้สำหรับนำไปสั่งที่บาร์อื่นด้วย กลายเป็นว่าลูกค้าได้ค็อกเทลแบบ Customized กลับบ้านไปด้วยเลย
สำหรับช่วงเวลาเกือบปีที่ผ่านมา ต่ายยังมอง Doma Bar เป็นน้องใหม่ที่กำลังโตท่ามกลางบาร์ค็อกเทลจำนวนนับไม่ถ้วนในกรุงเทพฯ และเขาคาดหวังว่าร้านจะไปได้อีกไกล
โปรเจ็กต์ในอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามาคือ Doma Bar จะเปิดเป็นร้านกาแฟช่วงกลางวันด้วย เอาใจทั้งคอกาแฟและสายดื่มเลย แต่ที่แน่ๆ ถ้าใครชอบไวบ์บ้านเก่าสไตล์ยุโรปจะต้องตกหลุมรัก Doma Bar แห่งนี้แน่นอน ตามมาสัมผัสบรรยากาศหลอนปนอบอุ่นได้ที่ซอยเจริญกรุง 44 มาจาก BTS สะพานตากสินแล้วเดินผ่านโรบินสันมา 2 ซอยก็ถึงแล้ว
Doma Bar
ร้านเปิดทุกวัน เวลา 18.00 – 01.00 น.
Map: https://maps.app.goo.gl/DqxDMKMzJjDyN7AY6
Tel: 093-269-5615
Facebook: DOMA BAR