Drama Therapy
ฟังเรื่องเล่าจาก ‘ใจ’ ตัวเองใน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ กับนักละครบำบัด กิฟต์ – ปรีห์กมล
- รู้จักกับศาสตร์ ‘ละครบำบัด’ เครื่องมือดูแลจิตใจที่ทำงานกับจิตใต้สำนึกของเรา จากนักจิตบำบัดด้วยศาสตร์ Drama Therapy กิฟต์ – ปรีห์กมล จันทรนิจกร ที่จะมาบอกเราว่า พื้นที่ปลอดภัยคืออะไร ทำไมเราถึงควรอนุญาตให้ตัวเองมีพื้นที่ในการแสดงความรู้สึก และละครบำบัดจะช่วยเราได้อย่างไร
ที่ผ่านมาพาชาว ONCE ไปรู้จักกับเครื่องมือฮีลใจมาหลายรูปแบบ แม้ทุกศาสตร์จะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ เป็นตัวช่วยให้เราได้เรียนรู้...สำรวจ...และดูแลสุขภาพใจตัวเอง ทว่า หลายคนก็ยังตามหาเครื่องมือที่จะคลิกหรือแมตช์กับตัวเองอยู่
เลยอยากชวนมาพบกับศาสตร์ละครบำบัด (Drama Therapy) อีกหนึ่งเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้เราใช้ดึงความรู้สึกหรือสิ่งกวนใจเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวฝังใจ ความทรงจำ กระทั่งจิตใต้สำนึก รวมถึงประเด็นเปราะบางต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในใจเรา และใช้ร่างกายในหลากหลายรูปแบบเพื่อสำรวจและถ่ายทอดสิ่งนั้นออกมาในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อเผชิญหน้าและทำงานกับมัน
เพื่อให้เข้าใจและรู้จักเครื่องมือนี้มากขึ้น กิฟต์ – ปรีห์กมล จันทรนิจกร นักละครบำบัดผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ใช้ศาสตร์นี้นำทางชีวิตพาตัวเองผ่านช่วงหนักๆ มาได้ เธอจะมาแบ่งปันประสบการณ์ตรงและพาไปรู้จักกับละครบำบัดให้กระจ่างกันเลย
แตกต่างในความเหมือนของละครบำบัด
ทราบว่าสมัยเรียนเป็นนักกิจกรรมตัวยง ทำไมละครเวทีเป็นกิจกรรมโปรดของตัวเอง?
“กิจกรรมอื่นเป็นการพาตัวเองไปสำรวจหรือลองทำทักษะใหม่ๆ แต่ละครเวทีทำให้ได้ทำในสิ่งที่ต่างจากชีวิตประจำวัน แล้วละครเวทีของคณะเศรษฐศาสตร์ที่กิฟต์เรียนจะพูดถึงสังคมรูปแบบต่างๆ ความที่เราเป็นเอกซ์ตรา เลยได้รับหลายบทบาทในเรื่องเดียว ซึ่งเป็นบทที่ไม่ใช่เราในโลกความจริง มีทั้งเป็นคนงานในสังคมนิยม เป็นขอทานในสังคมทุนนิยม และสาวโรงงานในสังคมขูดรีด ผู้กำกับและพี่ที่เป็นแอคติ้งโค้ชจะให้การบ้านกลับไปสร้างตัวละครนั้นมา ให้เขียนแบ็กกราวด์แล้วออกแบบตัวละครว่าอยากให้เป็นยังไง”
“การได้สวมบทบาทเป็นตัวละครบางตัวที่โลกความจริง สังคมอาจไม่ยอมรับบทบาทนี้ ทำให้รู้สึกอิสระ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร รู้แต่ว่าทำละครแล้วรู้สึกดีจัง เพิ่งมาเข้าใจทีหลังว่า มันคือการได้คลี่คลายบางอย่าง หรือปลดปล่อยบางด้าน เป็นการอนุญาตให้มีพื้นที่ให้ด้านอื่นๆ ในตัวเราได้แสดงออกมา”
นี่คือคุณสมบัติของละครที่เหมือนกัน แล้วอะไรคือความต่างของละครบำบัด?
“ละครบำบัดเป็นศาสตร์ที่มีเป้าหมายคือการเป็นจิตบำบัด ด้วยการใช้ศาสตร์ของละครเข้ามาในห้องบำบัดเพื่อช่วยคลี่คลายบางอย่าง หรือสำรวจบางประเด็นที่อยู่ในใจเคส (ผู้รับการบำบัด) ที่ทำให้เจ้าตัวเป็นทุกข์ หรือไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถหลุดจากจุดนี้ได้ หรือมีบาดแผลบางอย่างที่จัดการเองไม่ได้ เลยใช้ละครเข้ามาช่วยให้ได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น และคลี่คลายบางเรื่องได้มากขึ้น”
“ต้องเข้าใจก่อนว่า ละครบำบัดไม่ใช่การนั่งดูละคร แต่เป็นการตั้งใจใช้กระบวนการและเครื่องมือของศาสตร์การละครอย่างเป็นระบบในการทำงานดูแลจิตใจ ซึ่งเอื้อให้เราสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมาย ผ่านร่างกาย ผ่านบทบาทต่างๆ โดยไม่ต้องติดกรอบเงื่อนไขของชีวิตจริง ทำให้เคสรู้สึกอิสระที่จะสำรวจจิตใจ รู้สึกได้รับการปลดปล่อย หลายครั้งความทุกข์ในใจเกิดจากการที่เราไม่ยอมรับบางด้านของตัวเอง หรือเกิดจากความไม่เข้าใจบางส่วนของตัวเอง เพราะสังคมตีกรอบค่านิยมไว้ว่านั่นเป็นส่วนที่ไม่ดี เราเลยไม่อนุญาตให้ส่วนนั้นออกมา ซึ่งในห้องละครบำบัดจะดึงส่วนนี้ออกมา อาจใช้การสมมติบทบาท การเล่าเรื่อง เพื่อให้เคสทำงานกับบทบาทต่างๆ ในตัวเอง โดยใช้ร่างกายทั้งหมด เสียง ความคิด ความรู้สึกในการทำบางอย่างเพื่อสำรวจตัวเอง”
เสน่ห์ของละครบำบัดที่โดนใจเรา
“ในพื้นที่ของละครบำบัด อะไรก็เป็นไปได้ เคสสามารถลองสร้างสรรค์เรื่องราวชีวิตจริงในแบบใหม่ ลองจำลองฉาก สร้างเรื่องราวใหม่โดยใช้จินตนาการได้เต็มที่ ละครสามารถหยุดบางขณะ หรือขยายจุดที่ดูเป็นประเด็นสำคัญได้ และได้ใช้ทรัพยากรภายในทั้งหมดที่เรามี คือ ร่างกาย เสียง เรื่องราวภายใน มันคือปฏิกิริยาที่อยู่นอกเหนือจากการใช้ความคิด เคยไหมที่บางทีรู้สึกทุกข์อยู่กับเรื่องหนึ่ง แล้วคิดวนอยู่ในกรอบเดิมๆ เพราะสังคมตีกรอบไว้ว่า ต้องคิดแบบนี้ถึงจะถูกต้อง ซึ่งไม่ได้ผิด เราโดนหล่อหลอมและกดทับมาหลายชั้นมาก จนเราไม่อนุญาตให้ตัวเองยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เพราะด้านนี้ของฉัน สังคมบอกมาว่าคือความอ่อนแอ เป็นการคิดมาก บางด้านจึงไม่ถูกหยิบออกมาให้ทำงานอย่างตรงไปตรงมา แล้วเราก็รับตัวเองไม่ได้สักที ละครบำบัดจะมาช่วยคลี่คลายเราในจุดนี้ และลงลึกในจุดที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่ามี เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำงานกับจิตใต้สำนึก”
ตามหาแก่น Drama Therapy ถึงอังกฤษ
ทำไมถึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านละครบำบัดโดยเฉพาะ
“ขอเล่าย้อนนิดหนึ่งว่า หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Enterprise) อยู่ช่วงหนึ่ง ต่อมาก็มาเปิดพื้นที่ของตัวเองที่เอกมัย ทำงานหนักมาก และการทำงานเพื่อสังคมต้องแบกรับทั้งความเหนื่อยหนักจากการทำงาน และแรงเสียดทานจากสังคม แล้วก็มีประเด็นส่วนตัวด้วย”
“กิฟต์ทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาให้ตัวเอง ไม่มีการปรับจูนหรือทบทวนตัวเองเลย ไม่รู้ด้วยว่าเรื่องนี้เรากดทับตัวเองอยู่นะ เรื่องนี้เราไม่โอเคนี่นา งานเข้ามาก็ปฏิเสธไม่เป็น ถ้ามีใครมาทำร้ายเรา แทนที่จะหันมาเยียวยาตัวเอง เรากลับพยายามเข้าใจเขา กลายเป็นเราให้พื้นที่ทุกคนในโลกแต่ไม่มีพื้นที่ให้ตัวเองเลย ที่สุดกิฟต์เป็นโรคซึมเศร้าสะสมขั้นรุนแรง ต้องพบจิตแพทย์ ต้องกินยา และอาการหนักถึงเคยคิดฆ่าตัวตาย เคยเดินเข้าห้องประชุมมีเก้าอี้อยู่ 10 ตัว จะร้องไห้เลย เพราะไม่รู้จะนั่งตัวไหนดี มันคือการสูญเสียการตัดสินใจไปเลย”
การรักษาช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้างไหม?
“การกินยาช่วยได้แป๊บหนึ่ง พอเริ่มดีขึ้นก็มองย้อนกลับไปว่า ทำไมเราถึงเป็น กิฟต์เจอคำตอบว่า นั่นเพราะเราไม่มีเวลาให้ตัวเองเลยจริงๆ และถ้าเรายังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ก็กลับไปเป็นอีก เลยเริ่มหาเวิร์กช้อปทำ เพื่อให้ได้อยู่กับตัวเอง ช่วงนั้นมีเวิร์กช้อปอะไร กิฟต์เข้าหมด ทีแรกไม่ได้คิดตามหาอะไรที่ใช่สำหรับตัวเอง แต่พอเข้าเวิร์กช้อปเยอะๆ อยู่ร่วมปีก็เริ่มเห็นแล้วว่า อะไรหรือแนวไหนที่ใช่สำหรับตัวเอง ซึ่งก็คือละครบำบัด”
“เป็นเวิร์กช้อปละครบำบัดกับอาจารย์ Joel Gluck เป็น Drama Therapist ชาวอเมริกันที่มีภรรยาเป็นคนไทย เลยมาเปิดคลาสที่นี่ กิฟต์รู้สึกว่าอันนี้คือที่สุดแล้ว รวมทุกอย่างที่เราชอบ การใช้ร่างกาย ใช้เสียง ได้เคลื่อนไหว ได้แสดงเรื่องราวข้างในออกมา นี่คือเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับเรา เลยสนใจว่าสิ่งนี้คืออะไร มีโอกาสได้ร่วมกับอาจารย์ Joel สร้างกลุ่มฝึก Insight Improvisation ในเมืองไทย โดยกิฟต์เป็นหนึ่งในกระบวนกรออกแบบกระบวนการฝึกฝน ทำต่อเนื่องทุกเดือนอยู่เกือบปีถึงไปเรียนต่อด้านนี้โดยเฉพาะ”
เล่าถึงปริญญาโทสาขา Drama and Movement Therapy ที่อังกฤษหน่อย ได้เรียนรู้อะไรยังไงบ้าง?
“ศาสตร์ละครบำบัดแต่ละที่ไม่เหมือนกันเลย แต่หลักการคร่าวๆ คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ตัวเองได้สำรวจเรื่องราวข้างในใจเราด้วยวิธีต่างๆ ศาสตร์ที่กิฟต์เรียนเรียกว่า Sesame Approach แบ่งการเรียนการสอนเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรกด้านจิตวิทยา จะเรียนทฤษฎี Analytic Psychology (จิตวิทยาวิเคราะห์) ตามแนวคิดของจิตแพทย์ชาวสวิสอย่าง Carl Jung รวมถึงเรียนด้าน Developmental Psychology (จิตวิทยาพัฒนาการ) ส่วนที่สองสำคัญมาก คือการศึกษาเครื่องมือที่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ ละคร การเคลื่อนไหว (Laban) การเล่น บำบัด การใช้เสียง และสัมผัส”
“การเข้าถึงละครบำบัดอาจจะต่างจากศาสตร์ Insight Improvisation ที่เคยเรียนที่เมืองไทย ซึ่งปล่อยให้ร่างกายพาไปว่าความรู้สึกจะแสดงออกมายังไง เคลื่อนไหวออกมาเป็นตัวละคร ข้อดีคือเข้าประเด็นได้เร็วมาก หยิบเรื่องนั้นออกมาทำงานได้เลย เหมาะกับเคสที่มีประเด็นชัดเจนและอยากทำงานกับมัน แต่ที่อังกฤษจะเป็นการแตะประเด็นแบบอ้อมๆ ผ่านเรื่องราว Myth บ้าง ภาพบ้างเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น หรือผ่านตุ๊กตาเพื่อให้กล้าพูดมากขึ้น เป็นการทำงานกับสัญลักษณ์กับจิตใต้สำนึก”
“ส่วนวิธีการสอนของอาจารย์จะไม่มีเลคเชอร์ว่าการเป็น Drama Therapist ต้องทำอะไรยังไง แต่จะใช้แก่นของศาสตร์ละคร เช่น ศาสตร์ของละครเองเลย ศาสตร์การเคลื่อนไหว ศาสตร์การสัมผัส ศาสตร์การใช้เสียง สร้างกระบวนการขึ้นมาให้เราได้ทำงานกับมันในเชิงบำบัดเพื่อคลี่คลายและเข้าใจตัวเอง จากนั้นให้เราพัฒนาความสัมพันธ์กับเครื่องมือนั้นๆ จึงเป็นการเรียนรู้ที่ผ่านการทำงานภายในอย่างลึกซึ้งกับเครื่องมือ ทำให้เราไปต่อยอด ผสานเครื่องมือและประสบการณ์อื่นๆ ปรับใช้ได้หลากหลายให้เหมาะกับหน้างานให้มากที่สุดได้”
2 ปีของหลักสูตรมหาบัณฑิตที่อังกฤษมีโมเมนต์ไหนตอบโจทย์สิ่งที่เราตามหาบ้าง?
“มีเยอะมากๆ แต่ที่ตราตรึงใจมากคือวิชา Group Process ไม่มี Agenda เลย ทุกคนนั่งล้อมวงกัน ใครจะพูดอะไรก็ได้ ไม่มีหัวข้อ ไม่บังคับว่าต้องพูด คือทุกคนอยู่ในความเงียบ ถ้าใครรู้สึกอยากใช้พื้นที่ก็จะพูดขึ้นมา ทุกครั้งจะเริ่มจากไม่มีประเด็นอะไร เหมือนจะพูดเล่นกันขำๆ แล้วเริ่มลงลึก และจบด้วยการร้องไห้ทุกครั้ง ทุกครั้งที่มี Group Process จะหนักมาก ทำให้กิฟต์เห็นว่า แค่การให้พื้นที่ สิ่งที่จำเป็นจะออกมาเสมอ”
“ส่วนอีกโมเมนต์ที่ประทับใจมาก คือวิชา Mythology (เทพปกรณัม) ที่เชื่อกันว่าเป็นภาษาของจิต เพราะเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาโดยไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ในคลาสอาจารย์ให้ใช้Myth ในการสะท้อนเรื่องราวข้างในในการทำงานบำบัด ครั้งนั้นอาจารย์เล่าเรื่อง The Skeleton Woman แล้วให้พวกเราสร้างเรื่องที่ฟังขึ้นมาสดๆ โดยไม่มีสคริปต์ ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการละคร แต่ให้เราใช้ร่างกายในการสำรวจตัวละครตัวนั้น จำได้ว่ามีช็อตหนึ่งที่กิฟต์เล่นเป็นบ้านน้ำแข็ง (Igloo)”
“ตอนจบอาจารย์ให้เลือกหนึ่งตัวละครที่เราเล่น แล้วเขียนเล่าที่มาที่ไปของตัวละครนั้น จำได้ว่า เขียนไปเขียนมาแล้วร้องไห้หนักมาก เหมือนมันไปสะท้อนเรื่องราวตอนกิฟต์ทำ Social Enterprise มีมิติหนึ่งที่สวยงามแต่แหลกสลายมากๆ Igloo สะท้อนภาพนั้นขึ้นมา เซอร์ไพรส์มากๆ ไม่คิดว่าการแสดงเล่นๆ ในบทบ้านน้ำแข็งที่ไม่ใช่ตัวละครหลักด้วยซ้ำ แค่วิ่งไปเป็นมัน และเป็นแค่ฉากหนึ่งเท่านั้นเอง แต่กลับดึงจุดนี้ของเราขึ้นมา กลายเป็นสัญลักษณ์ของเราไปได้ยังไง ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เราถูกดึงดูดให้เข้าไปใช้ร่างกายเราทำท่าทางบางอย่าง มันเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนกันไปมาระหว่างจิต ภาพ และร่างกาย”
กับบทบาทนักละครบำบัดที่เมืองไทย
เห็นว่าเรียนจบแล้ว ยังทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์ Drama Therapist ที่อังกฤษต่อ
“จริงๆ มีโอกาสได้ทำเคสจริงตั้งแต่ตอนปีสองที่ต้องไปฝึกงาน กิฟต์ทำที่ศูนย์จิตเวชวัยรุ่น Tier 4 คือกลุ่มที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด เด็กที่นี่ทุกคนเคยผ่านการฆ่าตัวตายมาแล้ว อาจดูน่ากังวลแต่ต้องบอกว่าเด็กทุกคนได้รับการดูแลแบบครบวงจร แล้วทีมทำงานที่ดูแลด้านสุขภาพจิตเป็นแบบสหวิชาชีพ เด็ก 1 คน อาจมีเทอราปิสต์ 5 สาย + จิตแพทย์อีก 1 ทุกสัปดาห์ทีมจะมานั่งล้อมวงคุยกันถึงแต่ละเคสเลย เป็นการทำงานร่วมกันจริงๆ เป็นเซ็ตติ้งที่ดีและกิฟต์ประทับใจมาก ซึ่งยังไม่เห็นแบบนี้ในเมืองไทย พอเรียนจบก็ได้ทำงานที่อังกฤษอยู่เกือบปีค่ะ”
ศาสตร์ละครบำบัดยังค่อนข้างใหม่ในเมืองไทย เริ่มต้น Private Practice ได้อย่างไร
“ตอนกลับเมืองไทย กิฟต์วางแผนจะมีลูกเลยยังไม่ได้ไปทำงานที่ไหน ส่วน Private Practice ก็ไม่ได้ทำเป็นธุรกิจจ๋า แต่เกิดจากคนรอบตัวทราบว่าไปเรียนด้านนี้มาเลยอยากให้เราเป็นนักบำบัดให้ ซึ่งจริงๆ กิฟต์มีเคสที่ไทยตั้งแต่ตัวยังเรียนที่อังกฤษเลย เป็นการทำเคสแบบออนไลน์ ซึ่งก็ทำได้เช่นกัน หลังจากนั้นก็เป็นการบอกกันปากต่อปากจนกลายเป็นงานแบบฟูลไทม์เลย แล้วก็มีเคยได้ร่วมงานกับแพลตฟอร์มดูแลจิตใจ Empathy Sauce ด้วย แต่ช่วงนี้ลาคลอดเลยหยุดรับเคสทั้งหมดก่อน”
หลักการทำงานของเครื่องมือละครบำบัดคืออะไร
“คำว่า ละครบำบัด ฟังแล้วอาจเข้าใจว่า ต้องมาแสดงละครหรือต้องมาดูละครหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้ว เคสไม่จำเป็นต้องมีทักษะใดๆ ด้านละครเลย เพราะพื้นที่ในการบำบัดไม่ได้เน้นว่าต้องมาแอคติ้งถึงจะพาตัวเองไปสำรวจความรู้สึกข้างในได้ ไม่ใช่แบบนั้นเลย แต่เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้ให้เราได้ดึงอีกด้านของตัวเองออกมา โดยไม่มีการตัดสินใดๆ ทั้งสิ้น”
“เมื่อเราตั้งใจใช้กระบวนการละครอย่างเป็นระบบ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องบำบัด มันช่วยสำรวจ สะท้อน ขยาย คลี่คลาย และหาความเป็นไปได้ใหม่ให้กับชีวิตจริงได้เสมอ ขอยกตัวอย่าง กระบวนการพื้นฐานมากๆ คือการอธิบายความรู้สึก ถ้าใครอธิบายสิ่งที่รู้สึกไม่ถูก พูดออกมาไม่ได้ ไม่รู้ว่าคืออะไร แต่รู้สึก เป็นเรื่องปกติมากๆ กิฟต์เคยใช้ศาสตร์ละครบำบัดกับกลุ่มที่พูดไม่ได้เลย (Non-verbal) ก็ทำงานบำบัดกันได้ หรือบางกลุ่มที่เจ็บปวดมาก ทำงานกับบาดแผลลึกๆ มันอธิบายความรู้สึกเป็นภาษาได้ยาก แต่เราจะเห็นผ่านภาษากายได้ชัดเจน”
“กิฟต์อาจให้ลองดูภาพ หรือหยิบวัตถุที่สะท้อนความรู้สึกโดยไม่ต้องตีความ พาความรู้สึกมาที่ร่างกายแล้วปล่อยให้วัตถุเรียกเรา หรืออาจให้เคสลองขยับร่างกายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความรู้สึกนั้นโดยไม่ต้องตีความหรือเข้าใจด้วยเหตุผลได้ กระบวนการนี้ดูเหมือนยาก แต่ถ้าอยู่ในห้องบำบัดแล้วจะเป็นอีกความรู้สึกเลย เพราะนักบำบัดกับเคสจะมีการสร้างความไว้ใจซึ่งกันและกันก่อน”
ความไว้ใจกันสำคัญยังไงและใช้วิธีไหนในการสร้างความไว้ใจ
“ส่วนใหญ่แล้วประเด็นที่หยิบมาทำงานมักเป็นเรื่องที่เปราะบางมากๆ ฉะนั้น ความไว้ใจว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้ทำงานด้วยกันอย่างสบายใจ กิฟต์จะมีการพรีเซสชันกับเคสทาง Zoom ก่อนประมาณ 30 นาทีเพื่อพูดคุยกันเบื้องต้น ให้เคสได้เห็นเราว่าสบายใจที่จะทำงานกับนักบำบัดคนนี้ไหม แล้วเราเองก็ได้ประเมินความเสี่ยงตัวเคส เช่น อยู่ในการดูแลของจิตแพทย์หรือเปล่า มีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองไหม ด้วยจรรยาบรรณเราต้องดูแลทุกเคสให้ปลอดภัย การพูดคุยกันจะประเมินได้ว่าเซ็ตติ้งแบบนี้เหมาะกับเคสไหม ปลอดภัยพอหรือเปล่า และเคสจะได้รับประโยชน์ไหม ถ้าไม่สำหรับบางประเด็น เราก็จะแนะนำอย่างอื่นที่เหมาะสมกว่าให้แทน”
“เคยมีเคสที่ทำร้ายร่างกายตัวเองรุนแรงหลายครั้ง เพราะรู้สึกว่าต้องทำตาม ‘เสียง’ ที่สั่งให้ทำร้ายตัวเอง แม้จะไม่อยากทำ แล้วต้องอายกับบาดแผลที่เกิดตามร่างกาย กิฟต์ชวนให้เคสลองสร้าง ‘เสียง’ นั้นให้เป็นตัวละคร ให้ตั้งชื่อ แล้วคิดดูว่าจะมีบุคลิก หน้าตาท่าทาง สิ่งที่ชอบพูดยังไง แล้วลองสร้างฉากละครเพื่อลองมีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครนี้ดู ลองหาความเป็นไปได้ใหม่ในการอยู่ร่วมกัน เป็นไปได้ไหมที่ตัวละครนี้จะรับฟังว่าฉันไม่อยากทำร้ายตัวเอง มีวิธีไหนจะอยู่ร่วมกันโดยไม่ทำร้ายกันไหม พอจบการบำบัดในวันนั้น เคสบอกว่าเขาแทบไม่อยากทำร้ายร่างกายอีกเลย ถ้าไม่มีเรื่องกระทบจิตใจหนักจริงๆ หลังจากนั้นยังมีกลับมาเล่าให้ฟังตลอดว่า เขาสร้างสรรค์วิธีใหม่ๆ เพิ่มเติมในการไม่ทำร้ายตัวเองยังไงบ้าง”
“เคสนี้เราทำงานด้วยกันต่อเนื่องมาแล้ว 6 ครั้งในหลายประเด็น เกิดความไว้วางใจกันมากๆ และอยู่ในพื้นที่ที่รักษาความปลอดภัย 100% มีทีมแพทย์พยาบาลพร้อม สถานที่ปิด ทำให้เราทำเรื่องยากๆ ได้ และกิฟต์เองมั่นใจเรื่องความปลอดภัย ถึงกล้าชวนเคสเผชิญกับเรื่องที่มีความเสี่ยงสูง”
“ถ้าทุกอย่างโอเค ก็จะอธิบายวิธีการและกระบวนการทำงานของเราให้เคสกลับไปลองตัดสินใจดู ถ้าอยากรับการบำบัด จะเป็นขั้นตอนของเอกสารยินยอมจากเคสเพื่อเก็บข้อมูลเบื้องต้นในการดูแลความเสี่ยง และเคสจะได้รับการยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเราจะเก็บเป็นความลับ 100% ยกเว้นถ้าเราต้องคุยกับ Supervisor ก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล”
เข้าสู่กระบวนการบำบัด ทำยังไง?
“ส่วนใหญ่จะเริ่มด้วยการพูดคุยก่อนส่วนหนึ่งแต่อาจมีกระบวนการสร้างสรรค์อื่นๆ ประกอบด้วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใครที่ไม่ชินกับการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว หรือการทำโน่นทำนี่ หรือรู้สึกไม่อยากขยับตัวเลย ขอคุยเฉยๆ ก็ได้ ไม่เป็นไรเลย เราทำผ่านอย่างอื่นได้ เช่น มีภาพวางไว้แล้วให้เคสเลือกว่าเรื่องที่รู้สึกอยู่พอจะสะท้อนผ่านภาพไหนได้บ้างไหม หรือมีตุ๊กตาแล้วให้เคสลองสร้างซีนออกมาเพื่อเล่าเรื่องแทน ซึ่งมีวิธีการมากมายที่จะดึงเรื่องราวข้างในออกมา ส่วนใหญ่จะวางเป้าหมายของการบำบัดร่วมกับเคส และมีทั้งเคสที่มีเป้าหมายชัดเจนมาแล้ว หรือมาช่วยกันสำรวจความต้องการที่แท้จริงเพื่อวางเป้าหมายร่วมกันก็มี ”
ร่างกายเล่าเรื่องแทนเราได้ด้วยเหรอ?
“อธิบายให้เข้าใจได้ยากมาก ต้องอยู่ตรงนั้นถึงจะเข้าใจ เพราะเป็นชุดประสบการณ์ ณ โมเมนต์นั้น บางทีการพูดคุยจะติดกรอบการตีความ จิตสำนึกการรับรู้ หรือบางเรื่องอยู่ลึกถึงจิตใต้สำนึก ถ้าเราไม่ทำผ่านร่างกายหรือศิลปะ มันจะไม่ออกมา เพราะโดนกดไว้ด้วยการตีความบางอย่าง หรือการไม่อนุญาตตัวเองบางอย่าง หรือโดนสังคมบอกว่าอันนี้ไม่ได้นะ ส่วนนั้นเลยไม่ออกมา การใช้ร่างกาย ศิลปะ ภาพ หรือเครื่องมืออื่นๆ มาช่วยเยอะๆ จะช่วยสำรวจให้เห็นในมุมที่ไม่เคยเห็น หรือช่วยคลี่คลายเรื่องที่เราไม่เคยอนุญาตให้มันออกมา”
รู้จักคีย์เวิร์ดสำคัญในศาสตร์ละครบำบัด
· พื้นที่ปลอดภัย
“สำหรับศาสตร์นี้ พื้นที่บำบัดไม่มีความตายตัว แต่ควรเป็นพื้นที่โล่ง ขนาดไม่ต้องใหญ่มากก็ได้ แค่พอให้เดินเคลื่อนไหวไปมาได้ ใช้ร่างกายได้ ไม่จำเป็นต้องมีกระจก สิ่งสำคัญที่สุดคือความเป็นส่วนตัว เพื่อไม่ให้มีใครเห็น ได้ยิน แล้วตัดสินเขา เพราะบางทีเราอาจต้องดึงด้านที่สังคมให้ปัดทิ้งออกมาทำงาน เช่น เราอาจต้องให้พื้นที่ความโกรธ ความแค้นได้ส่งเสียง ได้แสดงท่าที ได้สื่อสารกับเรา หลายคนเข้าใจว่าบ้านคือพื้นที่ปลอดภัยของเรา แต่จริงๆ แล้วบ้านไม่เหมาะเลย (ย้ำเสียง) เช่น บางคนมีประเด็นเรื่องแม่ แต่อยู่บ้านกับแม่ จะพูดถึงแม่ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่แล้ว หรือเป็นบ้านที่เคยถูกทำร้ายตอนเด็ก แม้ตอนนี้จะไม่มีเหตุการณ์นั้นแล้ว แต่ความรู้สึกไม่ปลอดภัยที่ติดตัวมาโดยไม่รู้ตัวยังคงอยู่ หรือบางคนนอนไม่หลับทั้งที่อยู่บ้านตัวเองโดยไม่รู้สาเหตุ ฉะนั้น พื้นที่ปลอดภัยที่เหมาะในการบำบัดคือสถานที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นเลย จะช่วยให้เรามีอิสระในการทำงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรเป็นสถานที่ที่เงียบสงบ เพื่อให้ได้ยินเสียงข้างในตัวเองได้เต็มที่”
· พื้นที่บำบัด
“พื้นที่ที่อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกได้อย่างปลอดภัย ให้อิสระในการทำอะไรก็ได้ ในพื้นที่บำบัดนี้ไม่มีเรื่องไหนเล็ก ทุกเรื่องสำคัญหมด ถ้าทำให้เรารู้สึกบางอย่าง ทุกเรื่องมีค่าพอที่จะนำมาสำรวจ ถ้าสำรวจผ่านการพูดแล้วตัน ลองมาสำรวจผ่านเครื่องมืออื่นๆ ที่มีมากมาย การใช้เครื่องมืออื่นในการทำงานกับเรื่องเดิมอาจช่วยให้ได้เห็นมุมมองอื่นที่ต่างออกไปได้ด้วย”
“หลักสำคัญอีกข้อของพื้นที่บำบัดคือการทำงานร่วมกันเสมอ นักบำบัดไม่ใช่ผู้ช่วยเหลือ แนะนำ หรือหาทางออกให้ แต่จะเป็นเหมือนภาชนะให้เคสได้ทำงานลงลึก จนเจอทางออกที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด กิฟต์จะยึดหลักการทำงานร่วมกัน คืนพลังให้เคสเสมอๆ ในการดูแลใจของตัวเองทั้งในห้องและนอกห้องบำบัดด้วย”
· การให้พื้นที่ตัวเอง
“คือการจัดเวลาให้ตัวเอง ได้คุยกับตัวเอง ซึ่งก็คือการอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกอะไรก็ได้ โดยไม่ตัดสินตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกด้านบวกหรือลบแค่ไหน จะหม่นแค่ไหน ถ้าเราสามารถอนุญาตให้มันมีพื้นที่ กิฟต์ขอแนะนำเครื่องมือที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ อย่างกิฟต์จะมีสมุดไม่มีเส้นที่เรียกมันว่า Art Journalเวลารู้สึกอะไร หรือทุกครั้งที่เจอเรื่องหนักๆ รู้สึกไม่โอเคกับอะไรก็ตาม หรือช่วงที่สับสนชีวิต อยากประมวลผล หรืออยากให้พื้นที่มัน จะหยิบสมุดเล่มนี้มา แล้ว ‘ทำ’ มันลงไปในนั้น กิฟต์ใช้คำว่าทำ เพราะอาจจะเป็นการเขียน การขีด การขยำกระดาษ หรือโรยอะไรลงไป อะไรก็ได้เลย เพื่อปล่อยให้พื้นที่นั้นได้แสดงตัวออกมา”
“การให้พื้นที่ตัวเองแบบนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากๆ ของการคลี่คลาย แต่บางคนอาจไม่เสี่ยงที่จะเผชิญความรู้สึกนั้น แล้วหันไปทำอย่างอื่นแล้วมองว่าเป็นทางออกแทน เช่น ไปกินของอร่อยๆ เปลี่ยนบรรยากาศดีกว่า อย่าไปคิดถึงมันเลย คิดทำไมให้ทุกข์ ดูหนังดีกว่าเดี๋ยวก็ผ่านไป ซึ่งตอนนั้นอาจช่วยได้ชั่วขณะ แต่ในระยะยาว ความรู้สึกนั้นก็ยังอยู่ข้างใน พอมีประเด็นหรือมีอะไรที่คล้ายๆ เดิมมากระทบ เราจะระเบิดออกมามากกว่าเดิม เพราะมันยังมีตัวเดิมอยู่ แล้วเจอตัวใหม่เข้ามาทับอีก แต่ถ้าเราอนุญาตให้เขาออกมา ก็จะจบไปเป็นเรื่องๆ ไม่มีสะสมไว้”
· อนุญาตให้ตัวเอง…
“หลายครั้งเราไม่ยอมให้ตัวเองรู้สึก เพราะคิดว่า ‘เราเศร้าไม่ได้นะ เดี๋ยวต้องทำงาน’ ‘เฮ้ย ไม่ได้ ฉันต้องเข้มแข็ง’ ‘ไม่ได้นะเราเป็นผู้ชาย’ ‘ไม่ได้นะฉันเป็นผู้นำองค์กร เป็นหัวหน้า จะมานั่งร้องไห้ได้ยังไง’การใช้คำว่าอนุญาต คือการอนุญาตจริงๆ ให้เราเป็นแค่มนุษย์ที่รู้สึกได้ ไม่ว่าจะสวมบทบาทอะไร ความรู้สึกก็ยังทำงานอยู่ ไม่ว่าจะพยายามไม่รู้สึกแค่ไหนก็ตาม ถ้าไม่หลอกตัวเอง จะรู้ว่าเรายังรู้สึกจริงๆ”
“Art Journal เมื่อกี้เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งจากหลายๆ อย่าง เช่น ให้เวลาตัวเองได้เศร้า ได้ร้องไห้ ตอนเด็กเรามีเพื่อนที่พร้อมรับฟัง แต่พอโตขึ้น ชีวิตซับซ้อนขึ้น ทุกคนต่างมีหน้าที่การงานและภาระรับผิดชอบ ความรู้สึกนี้เลยถูกตัดทิ้งง่าย จะเล่าให้เพื่อนฟังอย่างแต่ก่อนก็เกรงใจ เพราะเพื่อนมีลูกมีครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้หลายคนจะเริ่มหาพื้นที่เล่าได้ยากเพราะเกรงใจ หรือกลัวการถูกตัดสิน ฉะนั้น การอนุญาตให้ตัวเองได้มีพื้นที่ให้ความรู้สึกของเราเองได้ออกมา ปล่อยให้เราได้ทำงานกับความรู้สึกนั้นของตัวเอง ทำแล้ว มันหายไป หรือถ้าวันข้างหน้า มันกลับมาอีก เราก็อนุญาตอีก ไม่เป็นไร ทำให้เต็มที่ ไม่ว่าความรู้สึกอะไรจะผุดขึ้น เราแค่ไม่ตัดสินตัวเอง เราดูแลและให้พื้นที่เสมอ กิฟต์ว่าช่วยได้มากจริงๆ”
ตลอดปีครึ่งหลังจากกลับมาเมืองไทย กิฟต์ได้เป็นนักละครบำบัดสมใจ เธอเล่าติดตลกว่า มีความสุขมากที่ได้ใช้ความเซนซิทีฟของตัวเองให้เป็นประโยชน์สักที จากที่เคยคิดว่า ความไวต่อความรู้สึก ทำให้เธอเป็นคนอ่อนไหว ร้องไห้ง่าย และเป็นจุดอ่อนของตัวเอง แต่เมื่อเป็นนักบำบัด คุณสมบัตินี้ไม่เพียงใช้ทำงานกับการดูแลจิตใจตัวเอง ยังแบ่งปันทักษะนี้ไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย
ส่วนใครที่นึกห่วงว่า แล้วคนเซนซิทีฟอย่างกิฟต์ไปรับรู้เรื่องราวทุกข์ๆ ของคนอื่น ตัวเองจะไม่จมกองทุกข์แย่เหรอ เธอส่งยิ้มพร้อมคำตอบให้หายห่วงได้เลย เพราะศาสตร์ละครบำบัดที่เธอสู้อุตส่าห์ข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษามานั้น ได้ฝึกฝนให้เธอรู้จักการเปิดปิด การคลี่คลาย และการจัดการดูแลความรู้สึกตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม
ใครสนใจเครื่องมือ ‘ละครบำบัด’ ติดตามและติดต่อกิฟต์ได้ที่
FB : Drama.Movement.Art Psychotherapy
E-mail : gift.madeehub@gmail.com