About
RESOUND

Living Nature

คำรน สุทธิ กับสูตรลับของ ECO Architect นักออกแบบเพื่อให้บ้านหายใจร่วมกับธรรมชาติ

เรื่อง เปรมวดี ปานทอง Date 07-08-2023 | View 3003
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • ชวนถอดแนวคิดสถาปัตยกรรมรักษ์โลกไปกับ คำรน สุทธิ ผู้ก่อตั้ง ECO Architect บริษัทออกแบบ เจ้าของสโลแกน ‘บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ’ ที่หันมาให้ความสำคัญเรื่อง Passive Design

ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในแวดวงสถาปนิก ก็ไม่แปลกหากจะไม่เคยได้ยินชื่อของ แก้ว-คำรน สุทธิ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะรู้จักหรือเคยสัมผัสผลงานของเขากันบ้างแล้ว

เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ECO Architect บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมจากภูเก็ต ผู้อยู่เบื้องหลังความสวยงามของ The Motifs Eco Hotel โรงแรมที่แฝงตัวอยู่ในชุมชนเล็กๆ ของจันทบุรีได้อย่างกลมกลืน และ Phang Nga Origin Hotel บูทีคโฮเทลแห่งแรกในตัวเมืองพังงาที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ล่าสุดเพิ่งกวาด 3 รางวัลจากเวทีนานาชาติ Asia Pacific Property Awards 2023-2024 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และอีก 1 รางวัลจาก Design Excellence Award 2023 (DEmark)

หนึ่งในนั้นคือรางวัล Five Stars Best Hotel Architecture จากผลงาน The Motifs Eco Hotel ร่วมด้วย Baan Loylom ที่ภูเก็ตในรางวัล Five Stars Best Architecture Single Residence และ Award Winner Leisure Architecture จาก Kopi Kuapa คาเฟ่เชิงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมโบราณสไตล์ชิโนยูโรเปียนในย่านเมืองเก่าตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ที่พ่วงรางวัล DEmark กลุ่มผลงานออกแบบตกแต่งภายในประเภทร้านกาแฟ ของกรมส่งเสริมการส่งออกที่มุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนและส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นภายใต้สโลแกน ‘บ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ’ ไม่ใช่เพียงเพื่อการอยู่สบายอย่างแท้จริง หากเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลโลกใบนี้ไปด้วยกัน และนี่คือเหตุผลที่เราอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักและถอดแนวคิดสถาปัตยกรรมรักษ์โลกไปกับ แก้ว และ ECO Architect

ECO Architect

จุดเปลี่ยน

“ผมเป็นเด็กบุรีรัมย์ เติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นช่างไม้ พี่สาวเป็นวิศวกร กลายเป็นแรงบันดาลใจอยากสร้างบ้านเป็นเหมือนคุณพ่อ แต่ด้วยรู้ตัวเองว่าไม่ได้เก่งเลขมากนัก บวกกับชอบวาดรูปอยู่แล้ว เลยมองว่าสถาปนิกน่าจะเหมาะกับเรามากที่สุด” แก้ว เปิดบทสนทนาด้วยจุดเริ่มต้นในเส้นทางสถาปนิก

ระหว่างเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาเข้ามาฝึกงานในกรุงเทพฯ ทุกปี ตั้งแต่ปี 1-3 ก่อนจะรู้ว่าไม่เหมาะกับตัวเอง เมื่อถึงปี 4 ที่ต้องฝึกงานจริงๆ จึงลองเลือกไปภูเก็ต ปรากฎว่ารู้สึกชอบและเข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองที่ผูกพันกับธรรมชาติมากกว่า เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาทำงานที่นี่

ECO Architect

แก้ว-คำรน สุทธิ ผู้ก่อตั้ง ECO Architect

แก้วเล่าว่า ในช่วงแรกๆ ของอาชีพก็ไม่ต่างกับสถาปนิกทั่วไปที่ออกแบบตามความต้องการของลูกค้า โดยเน้นงานแนวโมเดิร์นที่เป็นความชอบส่วนตัวจากการติดตามดูงานของต่างประเทศ กระทั่งมีโอกาสได้สร้างบ้านให้ลูกค้าชาวต่างชาติคนหนึ่งในภูเก็ต ด้วยความชอบสไตล์โมเดิร์น จึงนำมาใช้ในการออกแบบเป็นกล่อง กระจกเยอะๆ คิดว่าเท่มากในตอนนี้ แต่พอสร้างเสร็จกลับอยู่ไม่ได้ กลายเป็นเตาอบ แทนที่จะได้มองวิวทะเลสวย ต้องปิดม่านเปิดแอร์ตลอดเวลา

“มันเกิดคำถามว่า เราทำอะไรลงไป เรียนมาตั้ง 5 ปี กลายเป็นความรู้สึกผิด เป็นเหมือนแผลในใจที่เราอยากแก้ไขมันให้ได้”

ปัญหาในครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนทำให้แก้วมีแนวคิดในการออกแบบใหม่และตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบนิเวศสถาปัตย์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งอินกับเรื่อง Passive Design หรือการออกแบบอาคารให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจเปิดบริษัทตัวเองในนาม ECO Architect ด้วยความตั้งใจว่า “บ้านทุกหลังที่ออกแบบจะต้องอยู่สบายและต้องหายใจร่วมกับธรรมชาติ พึ่งพาและเติบโตไปด้วยกัน”

ECO Architect

Design by Climate

ย้อนไปเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนในวันที่กระแสสถาปัตยกรรมสีเขียวยังไม่ถูกพูดถึงมากนักในสังคมไทยเหมือนปัจจุบัน แก้วยอมรับว่าปีแรกแทบไม่มีลูกค้าคนไทยเลย แต่ก็ไม่อาจทำลายความมุ่งมั่นตั้งใจในการออกแบบเพื่อสภาวะการอยู่สบาย บนพื้นฐานการเคารพในความเป็นธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า Design by Climate

“เราไปออกแบบที่ไหนก็จะพยายามศึกษาสภาพอากาศ สภาพแวดล้อมโดยรอบ กระแสลม แสงแดดเป็นอย่างไร จะอยู่กับเขาด้วยความเคารพและเปิดรับคุณค่าจากธรรมชาติที่ส่งมาได้อย่างไร” แก้ว เล่าถึงกระบวนการแรก “จริงๆ แล้วธรรมชาติมีประโยชน์กับเรามาก ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ แค่เราต้องรู้จักเลือกนำมาใช้และปกป้อง เช่น ดวงอาทิตย์มีทั้งความร้อนและแสง เราจะเลือกรับแสงอย่างไร โดยไม่เอาความร้อนเข้ามาในอาคาร”

ECO Architect

แก้วบอกเราว่า หัวใจของการออกแบบบ้านที่หายใจร่วมกับธรรมชาติ สิ่งสำคัญอย่างแรกคือความร้อนจากดวงอาทิตย์และความชื้นในอากาศที่สะสมอยู่ในห้อง ต้องแก้ปัญหาสองเรื่องนี้ให้ได้ ทำอย่างไรถึงจะป้องกันความร้อนจากดวงอาทิตย์ และแสงที่เข้ามาต้องเป็นแสงเย็น และอย่างที่สอง การระบายอากาศที่ดี ถ้าห้องอับชื้น ความชื้นจะอยู่คู่กับความร้อน จึงต้องระบายออกให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ความร้อนสะสม

ECO Architect

“วิธีการง่ายๆ คือ กันความร้อนจากแสงแดด และระบายความชื้นออกจากห้องให้ได้ ทำให้เกิดกระแสลมเย็นที่มีความเร็วลมที่พอเหมาะ ทิศทางการวางอาคารจึงมีความสำคัญ ดั่งคำที่โบราณที่เขาบอกไว้ว่า ปลูกเรือนอย่าขวางตะวัน เราก็พิสูจน์มาแล้วด้วยการใช้เทคโนโลยีคำนวณแรงลม 8 ทิศทางว่ามันเป็นจริง”

ECO Architect

พูดคุยกับธรรมชาติ

เมื่อแก่นสำคัญคือการเคารพธรรมชาติและสภาพแวดล้อมในแต่ละที่ที่มีข้อจำกัดและปัญหาแตกต่างกันไป ความท้าทายจึงหนีไม่พ้นการพูดคุยกับธรรมชาติที่อยู่รอบๆ โดยไม่ไปทำลายเขาและให้เขาดูแลเรา ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

ECO Architect

เจ้าของ ECO Architect ยกตัวอย่างหนึ่งในงานยากที่สุดอย่าง Baan Loylom ของลูกค้าชาวต่างชาติที่มีโจทย์เป็นบ้านชั้นเดียวสำหรับชีวิตเกษียณและไม่ต้องการเปิดแอร์ แต่เมื่อลงไปสำรวจสถานที่จริงปรากฏว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะพื้นที่อยู่ในหุบเขา ซึ่งไม่มีลมผ่านเลยและยุงเยอะมาก

ECO Architect

“เราใช้โดรนบินจากระดับ 12 เมตรตามที่กฎหมายกำหนดลงมา เพื่อวัดความเร็วที่สามารถอยู่ได้สบายจริงๆ พบว่า พอต่ำกว่า 8 เมตรไม่มีลมเลย กลายเป็นต้องยกบ้านให้ลอยสูง 8 เมตร เป็นบ้านใต้ถุนสูง เพื่อรับกระแสลมและใช้ลิฟต์ในการเข้าถึง”

ECO Architect

ความท้าทายอีกอย่างคือลูกค้าต้องการหันหน้าหาทิศตะวันตก เป็นวิวทะเลที่ดีแต่ร้อนมาก ซึ่งเป็นแผลเก่าของแก้ว ครั้งนี้เขาเลือกทำหลังคาห้องนั่งเล่นยื่นยาวออกไป 7 เมตร และลูกค้าแฮปปี้มาก เพราะตอบโจทย์ทุกเรื่อง ทั้งบ้านชั้นเดียวและไม่ต้องเปิดแอร์ แถมการมีหลังคาขนาดใหญ่ยังสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์และเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ได้ถึง 4 เดือน ด้วยการติดตั้งถังเก็บน้ำใต้ดินขนาด 50 คิว ขณะที่อีก 8 เดือนฝนตก ทำให้บ้านหลังนี้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งน้ำประปาและไฟฟ้าเลย ส่วนพื้นที่ใต้ถุนส่วนหนึ่งก็ทำเป็นสวนผัก ด้านบนก็มีพื้นที่ปลูกมะละกอและอื่นๆ ได้อีก

“ถือเป็นงานยากมาก แต่ก็ชอบมากเช่นกัน เพราะค่อนข้างมีความยั่งยืนเลย”

ผลงานที่พอดี

ไม่ใช่แค่การอยู่สบายและหายใจร่วมกับธรรมชาติเท่านั้น แต่แนวทางของ ECO Architect ยังรวมถึงการดูแลพึ่งพากันและกันระหว่างมนุษย์ สถาปัตยกรรมและธรรมชาติบนพื้นฐานของคำว่า ‘พอดี’

“นอกจากจะวางพื้นที่ต่างๆ ให้พอดีกับงาน ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้พอดีก่อนใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ธรรมชาติภายนอกเติบโตไปพร้อมกับบ้านแล้ว การใส่ให้พอดีกับผู้อยู่อาศัยก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข”

ECO Architect

แก้วบอกว่า ECO Architect จะมีหลักในการทำงานอยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ 1. ECO Proficiency งานทุกงานต้องบอกถึงความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบบ้านที่อยู่สบายและประหยัดพลังงาน 2.Human Centric ต้องตอบโจทย์บุคลิกของผู้อยู่อาศัยจริงๆ 3.Vernacular Architecture ต้องมีความเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอยู่ในงานนั้นๆ และสุดท้าย Harmony ความกลมกลืนในทุกมิติทั้งในภาษาทางสถาปัตยกรรมและการอยู่ร่วมกันกับชุมชนรอบข้างเพื่อเกิดเป็นสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืน

ECO Architect

โดยเฉพาะ 2 ข้อสุดท้ายจะเน้นเป็นพิเศษสำหรับการออกแบบโรงแรม คาเฟ่ และการอนุรักษ์ตึกเก่าที่แก้วมองว่า ควรจะมีบุคลิก ภาษา และความเป็นท้องถิ่นของตัวเอง อย่างเช่น Phang Nga Origin Hotel ก็ควรมีบุคลิกแบบพังงา ไม่ใช่เชียงใหม่

ECO Architect

ECO Architect

“อย่างโรงแรม The Motifs Eco Hotel ที่คว้า 2 รางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ และ Asia Pacific Property Awards เราพยายามศึกษาว่าความเป็นจันทบุรี มีบุคลิกอย่างไร และพบว่าเมืองนี้มีภาพจำว่าเป็นชุมชนริมน้ำที่มีบ้านสูงๆ ต่ำๆ มีลวดลายแบบขนมปังขิง จึงหยิบเอาภาษาและจิตวิญญาณนั้นมาใช้ บวกกับโลเกชันอยู่ในถนนซอยแคบ ต้องมองการอยู่ร่วมกับชุมชน เลยยกใต้ถุนสูงเป็นที่จอดรถใต้โรงแรม แทรกด้วยพื้นที่สีเขียวเพื่ออนาคตต้นไม้โตขึ้นจะได้เป็นพื้นที่สีเขียวของชุมชนไปด้วย เป็นการอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล”

อีโคกับอนุรักษ์…รักษาเหมือนกัน

ไม่เพียงแค่การออกแบบเชิงอีโค แต่ระยะหลังบริษัทของแก้ว ยังได้รับโอกาสให้ออกแบบงานเชิงอนุรักษ์ตึกเก่ามากขึ้น

“อีโคกับอนุรักษ์ ผมมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน คือการรักษาเหมือนกัน แค่ต่างกันที่การออกแบบเชิง ECO เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนการอนุรักษ์เป็นการรักษาภาพลักษณ์ จิตวิญญาณ ซึ่งมีหลายมิติ นอกเหนือจากการอยู่สบาย ทั้งคติ ความเชื่อ และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่ต้องบาลานซ์ให้มีความพอดีในทุกองค์ประกอบ”

ECO Architect

อย่างเช่นการออกแบบร้าน Kopi Kuapa แก้วเล่าว่า ตอนไปสำรวจสถานที่เป็นแค่ซอกตึกไม่มีหลังคา มีแค่โครงเสาเดิม โดยมีโจทย์ว่าต้องการให้ร้านแห่งนี้ช่วยปลุกความคึกคักกลับมาให้เมือง ดึงให้คนรุ่นใหม่ตระหนักและเห็นคุณค่าในการกลับบ้านเกิด พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบอาคารที่ไม่ทิ้งบริบทเดิม และให้มีแสงลอดผ่านหลังคา ซึ่งเป็นความรู้สึกประทับใจของเจ้าของร้านเมื่อครั้งมาดูสถานที่

ECO Architect

“ความยากของการออกแบบอาคารเชิงอนุรักษ์ คือการอนุรักษ์อาคารเก่าไปพร้อมกับการสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่ผิดแผกไปจากบริบทโดยรอบ และจะอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างไรให้กลมกลืน”

ECO Architect

นอกจากศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเดิมสไตล์ชิโนยูโรเปียน และพยายามคงความดั้งเดิมไว้ให้มากที่สุด เขาใช้วิธีการหลบตัวอาคารเข้าไปอยู่ด้านหลัง แล้วปล่อยด้านหน้าเป็น public area เพื่อไม่ให้อาคารที่ถูกสร้างขึ้นโผล่หน้าออกมาท่ามกลางตึกเก่าอย่างชัดเจน พร้อมวางหลังคารูป 4 เหลี่ยมเป็นช่วงๆ เพื่อให้แสงลอดผ่านเข้า และเสริมเรื่องกระแสลมเพื่อการประหยัดพลังงานที่ดีขึ้น ด้วยตัวอาคารวางไว้ในทิศทางที่ดีอยู่แล้ว

ECO Architect

“ผมรู้สึกว่าภูมิปัญญาเก่าๆ ที่บรรพบุรุษทำมาสามารถนำมาต่อยอดได้ทุกเรื่อง สามารถเล่าเรื่องราวในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความยั่งยืน แทนที่จะทุบทำลายเราสามารถเอามาเล่าเรื่องใหม่ เสิร์ฟความเป็นปัจจุบันเล็กน้อยก็สามารถต่อยอดเป็นสถาปัตยกรรมปัจจุบันต่อเนื่องไปถึงอนาคตได้ มันสร้างคุณค่าให้กับสิ่งที่เราออกแบบอยู่” แก้วพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการออกแบบเชิงอีโคควบคู่ไปกับการอนุรักษ์

ECO Architect

เมื่อเราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติจะดูแลเรา

จากผลงานที่ได้รับเสียงชื่นชมและบอกต่อกันปากต่อปากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ECO Architect ค่อยๆ เติบโตขึ้นทีละเล็กละน้อย พร้อมกับกระแสความสนใจเรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ECO Architect

“การหายใจร่วมกับธรรมชาติอาจจะเป็นภาพที่เห็นได้ชัด จับต้องง่าย แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราคิดคืออยากให้โลกถูกทำลายน้อยลง ฟื้นฟูให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราทำอยู่ ให้มันเกิดคุณค่าจากสิ่งรอบตัว เริ่มจากที่อยู่อาศัยก่อนแล้วค่อยไปเกื้อกูลคนรอบข้าง แล้วมันจะค่อยๆ เกิดเป็นวงกว้างไปไกลขึ้น และเมื่อเราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะดูแลเรา ผมเชื่อแบบนั้น”

ECO Architect

อย่างน้อยวันนี้ ECO Architect ก็สะท้อนให้เห็นจากการเดินทางมาไกลกว่าที่คาดไว้มาก มีชื่อเสียงจนต้องเปิดสาขาเพิ่มที่กรุงเทพฯ ได้ 5 ปีแล้ว เพื่อรองรับลูกค้าทั่วประเทศ ถึงอย่างนั้นเขายังคงเรียนรู้ ทดลอง และสนุกไปกับการมอบสถาปัตยกรรมที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเป็นมิตรในทุกๆ วัน

ECO Architect

“ผมไม่เคยคิดว่าเราต้องไปไกลแค่ไหน หรือคว้ารางวัลอะไรมากมาย แค่มีความสุขกับการก้าวเดินไปเรื่อยๆ ผลิตผลงานที่มีคุณค่าต่อทั้งเจ้าของโครงการและคนที่อยู่รอบๆ ได้สร้างบ้านแต่ละหลังสำเร็จ ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า ก็ถือเป็นรางวัลที่ดีที่สุดแล้ว”

หลายคนอาจจะมองว่าการสร้าง Eco มีต้นทุนสูง แต่เราเริ่มต้นได้จากจุดเล็กๆ พยายามทำความเข้าใจธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากเขาอย่างพอดี อยู่ร่วมกับอย่างเกื้อกูล เหมือนกับที่แก้วพยายามบอกผ่านทุกๆ ผลงาน โลกใบนี้ก็คงน่าอยู่และยั่งยืนขึ้นแน่นอน

 

ขอบคุณภาพ : ECO Architect

ECO Architect
ที่อยู่ : 6 ซอยประยูร 2/2 ถนนเยาวราช ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต 83000
เปิดบริการ : วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-18.00 น.
โทร : 081 270 3450
Facebook : ECO Architect

Tags: