About
BALANCE

Around The World

เราได้อะไร?…จากการเดินทางรอบโลก ของ ‘Energy Observer’ เรือพลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลก

เรื่อง วิชชุ ชาญณรงค์ Date 09-06-2022 | View 1461
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • เรือคาตามารัน ‘Energy Observer’ เป็นเรือพลังงานไฮโดรเจนไร้มลพิษลำแรกของโลก (zero-emission hydrogen ship) ออกเดินทางจากฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 2017 มาจอดเทียบท่าที่โอเชียนมารีน่า ยอร์ชคลับ พัทยา ก่อนเดินทางต่อไปยังหัวหิน เกาะสมุย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ
  • แผนทัวร์ของเรือลำนี้คือการเดินทางรอบโลกที่จะกินเวลายาวนานถึง 7 ปี ล่องทั่วทุกมหาสมุทรมาแล้วกว่า 48,000 ไมล์ทะเล อาทิ เมดิเตอร์เรเนียน แอตแลนติก แปซิฟิก ฯลฯ จอดแวะพักตามท่าเรือกว่า 71 แห่งในกว่า 40 ประเทศ หลังจากแวะเทียบท่าที่สิงคโปร์ก็แล่นมายังไทย แล้วจะไปสิ้นสุดภารกิจทัวร์รอบโลกในมหกรรมกีฬาปารีส โอลิมปิก 2024 หรือในอีกสองปีข้างหน้า

ครั้งแรกที่เราได้เห็น ‘Energy Observer’ เรือพลังงานไฮโดรเจนลำแรกของโลก จะว่าไปก็คล้ายยานอวกาศสตาร์วอร์ แต่เรือลำนี้ไม่ใช่ล้ำแค่รูปลักษณ์ แต่ยังล้ำในไอเดียที่เป็นเหมือนสารส่งมาให้โลกรู้ว่าพลังงานคือสิ่งที่โลกต้องโฟกัสได้แล้ววันนื้

เรือลำนี้เดินทางมาเทียบท่า ณ โอเชียนมารีน่า ยอร์ชคลับ พัทยา ในวันที่เราได้ยลโฉมครั้งแรก มีหลายสิ่งที่ต้องกลับมาคิดต่อเลยว่า เราได้อะไรจากเรือลำนี้?...

en 7

ได้เห็นคาตามารันรุ่นพิเศษ

‘Energy Observer’ เป็นเรือคาตามารัน คุณสมบัติพิเศษของเรือทรงนี้ คือมีความเสถียรมากขึ้นเมื่อเผชิญกับกระแสคลื่นลมแปรปรวน ช่วยให้เรือไม่โคลงเคลงไปตามกระแสคลื่นเหมือนกับเรือท้องลำเรือเดียว (Monohull) และยังมีพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าเรือแบบทั่วไป

ในอดีตเรือลำนี้ ถูกต่อขึ้นในประเทศแคนาดาเมื่อปี 1983 เพื่อใช้ในการแข่งขันจนสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งขันแล่นเรือในหลายแมตช์ แถมยังเคยสามารถทำสถิติแล่นรอบโลกได้เร็วที่สุดในโลกด้วยจากฝีมือการควบคุมของ ‘เซอร์ ปิเตอร์ เบลค’ ต่อมาในปี 2017 เรือลำนี้ถูกฟื้นคืนชีพอีกครั้ง จนแปลงร่างกลายสภาพจนเป็นเรือต้นแบบการใช้พลังงานสะอาดจาก 3 ส่วน คือ พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม และความสามารถในการเก็บพลังงานไว้ในรูปของไฮโดรเจนจากน้ำทะเล ช่วยให้เคลื่อนที่ด้วยตัวเอง โดยมีความเร็วเฉลี่ย (เทียบเท่ารถยนต์) ประมาณ 60 กม.ต่อชั่วโมง เสมือนเป็นห้องทดลองลอยน้ำของเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก ลดการปล่อยคาร์บอนต่อสิ่งแวดล้อมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก

en 2

ได้รู้จัก ‘พลังงานไฮโดรเจน’

ถ้าได้ติดตามข่าวสารพลังงานต่อเนื่อง จะรู้ว่าหลายปีผ่านมาต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดลดลงฮวบฮาบไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน มันจึงไม่แปลกที่การลงทุนพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดเหล่านี้พากันเติบโตตามๆ กัน ซึ่งไฮโดรเจนถือเป็นพลังงานหมุนเวียนหลักที่น่าสนใจ แม้ถูกมองว่าเป็นพลังงานมีราคาสูง แต่ก็เริ่มหันมาศึกษาทดลองพัฒนาใช้ยานพาหนะหลายรูปแบบทั้ง รถยนต์ เครื่องบินแอร์บัส แม้แต่รถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจน รวมถึงการต่อยอดเทคโนโลยีการเดินเรือในอนาคตเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

en 4

‘ฌอน แบบติช ซานเชส’ กัปตันเรือควบคุมเรือลำนี้ บอกเล่าความพิเศษของ ‘Energy Observer’ ไว้ว่า

“เรือลำนี้สามารถผลิตพลังงานด้วยตัวเองใน 3 รูปแบบ คือ พลังงานลม ด้วยการใช้ใบเรือ Oceanwings ที่มีลักษณะคล้ายกับปีกของเครื่องบิน ควบคุมได้อัตโนมัติจากเซ็นเซอร์ลมที่ติดตั้งบนเรือ นอกจากการเอาพลังงานลมที่มาปะทะเพื่อใช้ขับเคลื่อนแล้ว ยังนำมาคำนวณการใช้พลังงานจากพลังงานโซลาร์และพลังงานไฮโดรเจนในขณะเดินทาง เพื่อกำหนดเส้นทางและความเร็วในการแล่นเรือที่เหมาะสมได้ด้วย”

en 5

“ต่อมาคือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทุกส่วนเกือบ 165 ตารางเมตร บริเวณพื้นผิวเรือจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หลายรูปแบบ กระจายครอบคลุมทุกด้านของลำเรือ ขณะเดียวกัน มีการติดตั้งแผงโซลาร์ต้นแบบรุ่นใหม่ในบางส่วน ซึ่งถูกออกแบบโดยเฉพาะสำหรับการใช้เป็นแผงโซลาร์เซลล์เพื่อการขับเคลื่อนเรือด้วยระบบไฟฟ้า ทำให้เรือมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 5.6 กิโลวัตต์ เพียงพอสำหรับการชาร์จแบตเตอรี่ Li-Ion รวมถึงนำพลังงานบางส่วนจากแบตเตอรี่ใช้ในระบบการแยกน้ำด้วยไฟฟ้าดูดน้ำทะเลใต้ลำเรือ เพื่อใช้ในการผลิตไฮโดรเจน ซึ่งถือเป็นพลังงานขับเคลื่อนหลักของเรือลำนี้ด้วย”

ความเจ๋งคือพลังงานไฮโดรเจนสามารถให้พลังงานมากกว่าแบตเตอรี่มากถึง 7.35 เท่า!

en 6

เขาบอกว่าแม้พลังงานไฮโดรเจนจะน่าสนใจในแง่การใช้ควบคู่กับการขับเคลื่อนด้วยโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะเรือเฟอร์รี่ หรือเรือข้ามฟากระยะใกล้ แต่พลังงานไฮโดรเจนยังถือว่าแพงมาก เนื่องจากข้อจำกัดด้านการผลิตและการนำเข้า อนาคตของพลังงานไฮโดรเจนจะถูกนำใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก อาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 – 20 ปีเลยทีเดียว

en 8

ได้เห็น ‘โซลูชั่นสู่ความยั่งยืน’ ของธุรกิจโรงแรม

แอคคอร์ฯ เครือโรงแรมระดับโลกคือหนึ่งในสปอนเซอร์ของเรือลำนี้ เพราะแอคคอร์ฯ เองก็กำลังสนใจการค้นหาโซลูชันยั่งยืนในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในโรงแรม โดยพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสำหรับนำมาใช้ในโรงแรม อาทิเช่น

• ซอฟต์แวร์พิเศษที่ช่วยคำนวณและเปรียบเทียบต้นทุนของการใช้พลังงานแบบเดิมและพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ตลอดจนเสนอแนวทางวิธีการจัดเก็บพลังงาน

en 3

• พัฒนาคอนเซ็ปต์โรงแรมที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (zero emission hotel) พร้อมระบบไฮโดรเจน GEH2 ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานหลักและแหล่งความร้อน คอนเซ็ปต์นี้เบื้องต้นน่าจะใช้ในโรงแรมที่ตั้งอยู่บนเกาะและพื้นที่ห่างไกล ซึ่งส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาเครื่องกำเนิดเชื้อเพลิงฟอสซิล

• พัฒนาแบบจำลองของเครื่องกำเนิดไฮโดรเจนเพื่อใช้เป็นพลังงานสำรองในโรงแรม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสำรวจว่าจะนำเทคโนโลยีที่พัฒนาโดย Energy Observer มาใช้ในโรงแรมได้อย่างไรบ้าง เพราะหนึ่งในนวัตกรรมจาก Energy Observer ที่น่าสนใจ คือระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) หรือระบบการวางแผนการใช้พลังงานทดแทนและการกักเก็บพลังงานอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพสูงสุดที่สามารถนำมาใช้ในตัวอาคารหรืออีเว้นต์กลางแจ้งได้

en 1

วันนี้ Energy Observer อำลาไทยไปแล้ว คงกำลังโลดแล่นกลางน่านน้ำที่ใดสักแห่ง โดยมีภารกิจเดินทางรอบโลกให้สำเร็จใน 7 ปีเป็นเป้าหมาย สุดท้ายเมื่อเรือลำนี้สิ้นสุดการเดินทาง ณ กรุงปารีสในวันเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2024 เรือ Energy Observer จะเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ถูกนำมาโชว์ เพื่อส่งสัญญาณให้คนทั่วโลกตระหนักว่าเทคโนโลยีที่ยั่งยืนคือคำตอบสุดท้ายถ้าเราอยากรักษาโลกใบนี้เอาไว้


ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/EnergyObserverExpedition
https://www.youtube.com/watch?v=jo8gNQRvA7E

Tags: