About
RESOUND

Fossil Lover

มองพัทลุงเมืองฟอสซิลระดับประเทศผ่านสายตา ดร.กิตติชัย ทองเติม นักบรรพชีวินผู้ปลุกกระแสท่องเที่ยว

Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • คุยกับนักวิจัยฟอสซิลทางทะเลถึงการยกระดับมาตรฐานคลังฟอสซิลให้อายุยืน 100 ปี และการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผลักดันพัทลุงให้เป็นแหล่งฟอสซิลที่น่าเยี่ยมชมในสายตาของคนทั่วไปรวมถึงคนท้องถิ่นเอง

บทความนี้จะแอบพามาดูคลังฟอสซิลที่ซ่อนตัวอยู่ในพิพิธภัณฑ์ โดยเราลงใต้มาเก็บบรรยากาศสุดเอกซ์คลูซีฟถึงพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชียวนะ

ถ้าพูดถึงฟอสซิล ทุกคนอาจจะนึกถึงไดโนเสาร์คอยาวตัวยักษ์ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดขอนแก่น แต่หารู้ไม่ว่า ภาคใต้ของเราก็มีแหล่งฟอสซิลที่ได้รับความสนใจในระดับนานาชาติจากนักบรรพชีวินทั่วโลก ส่วนเหตุผลจะเป็นอะไรนั้น เนื้อหาข้างล่างนี้จะเปิดเผยให้รู้

ก่อนจะไปหาคำตอบ เราขอแนะนำ บ๊วย-ดร.กิตติชัย ทองเติม ผู้เป็นหัวหอกในการพัฒนาพิพิธภัณฑ์และต่อยอดองค์ความรู้ด้านบรรพชีวินเพื่อผลักดันการท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุง

อาจารย์ผู้นี้จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสึคุบะ (University of Tsukuba) ประเทศญี่ปุ่น เขาสนใจด้านบรรพชีวินตั้งแต่ปริญญาตรี แล้วจึงต่อปริญญาโทและเอกด้านนี้ จุดโฟกัสของการเรียนก็คือฟอสซิลทางทะเลในพัทลุง

ระหว่างทางอาจารย์ฟอสซิลคนนี้รับเอาแนวคิดการเรียนมาจากญี่ปุ่น นั่นคือการมององค์ความรู้เป็นต้นทุนชีวิต ไม่ใช่เครื่องบ่งชี้อาชีพที่ตีกรอบเส้นทางเดินไปตลอดชีวิต เขาเลยโยงฟอสซิลกับการท่องเที่ยวซะเลย

ไหนๆ ก็มีกิมมิคสนุกๆ อย่างของเก่าอายุ 250 ล้านปี แล้วทำไมจะไม่ชวนคนอื่นมาดูล่ะ?

Fossil

(Un)seen Phatthalung

พัทลุงคือแหล่งฟอสซิลโด่งดังระดับนานาชาติ แต่คนไทยไม่ค่อยรู้

ว่ากันตามตรง วลี Unseen ไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นความเห็นที่ต่างคนต่างมุมมอง คนเคยเห็นก็ว่าเห็นมานาน คนเพิ่งเคยเห็นก็บอกว่าเพิ่งรู้ ส่วนพัทลุงก็ไม่ใช่แหล่งฟอสซิลแห่งใหม่ของประเทศ แต่เป็นแหล่งที่ถูกขุดค้นจนพรุนหมดแล้ว

Fossil

“พัทลุงเด่นเรื่องฟอสซิลทางทะเลมาก แต่คนมักให้ไดโนเสาร์เป็นพระเอก อีสานถูกยกขึ้นมาแต่แรกก็มีไดโนเสาร์ ภาคใต้จมอยู่ใต้ทะเลเลยไม่มี”

ชั้นหินของทั้งจังหวัดพัทลุงมาจากยุคไทรแอสซิก หรือเมื่อ 250 ล้านปีก่อน มันเป็นเขาหินปูนลูกโดด ซึ่งเคยจมอยู่ใต้ทะเล ต่างจากแผ่นดินทั่วไปที่มักเกิดจากชั้นหินยุคดึกดำบรรพ์หลายยุคซ้อนทับกันตามความเปลี่ยนแปลงของผิวโลก

Fossil

ถามว่าทำไมมันถึงสำคัญ ยุคนั้นเกิดเหตุการณ์สูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ของสิ่งมีชีวิต เรียกว่า เพอร์เมียน ไทรแอสซิก (Permian-Triassic Extinction Event) ก่อนจะเข้าสู่ยุคไทรแอสซิก พัทลุงเป็นจังหวัดที่เจอชั้นหินตั้งแต่ยุคต้นไทรแอสซิกไปจนถึงยุคปลายไทรแอสซิก จึงมีฟอสซิลไว้เทียบเคียงวิวัฒนาการชัดเจนมาก ไม่มีฟอสซิลจากยุคอื่นมาปน

ผลงานตีพิมพ์ตอกย้ำความพิเศษ ยกตัวอย่างการค้นพบอิคคิโอซอร์ สัตว์เลื้อยคลานโบราณชนิดหนึ่ง ซึ่งชนิดที่ค้นพบเป็นต้นสายวิวัฒนาการของอิคคิโอซอร์ทั่วโลก การค้นพบแพลงก์ตอนโบราณสกุลใหม่ และอีกมากมายที่ใช้เป็นผลงานการันตีตำแหน่งศาสตราจารย์

“เขาพูดกันว่า ใครที่อยากเป็นศาสตราจารย์จะต้องมาศึกษาวิจัยที่ไทย ยังไงก็ได้เป็นแน่นอน เพราะยังไม่มีคนศึกษา”

Fossil

กว่า 50 ปีแล้ว ที่พัทลุงดึงดูดนักวิจัยต่างชาติเข้ามา โดยเฉพาะนักวิจัยชาวญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยสึคุบะ องค์ความรู้เกี่ยวกับฟอสซิลทางตอนใต้ของประเทศก็สั่งสมเรื่อยมาตามเวลา แถมนักวิจัยไทยหลายคนบินตามไปศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น การต่อยอดพัทลุงเป็นศูนย์กลางฟอสซิลแห่งใหม่ของประเทศก็เห็นจะมีแววมากขึ้นตามไปด้วย

Fossil

Learn From The Best

สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เก็บกลับมาจากญี่ปุ่นคือรูปถ่ายน็อตที่ใช้ฝังระบบรางเหล็กบนพื้น

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเบอร์ต้นของโลกด้านพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะคลังเก็บฟอสซิลที่อาจเรียกได้ว่าดีที่สุดของโลก มาเยือนถิ่นทั้งที เขาก็ไม่พลาดข้อมูลวงใน ตามบันทึกรายละเอียดยิบย่อยของโมเดลนี้มาใช้หลังเรียนจบ

“ญี่ปุ่นมองว่าคลังที่ดีจะคงอยู่ถึงหลัก 100 ปี เราตายแล้ว แต่ลูกเรายังมาได้ หลานเรามาได้”

Fossil

คลังใหม่ตามคอนเซปต์แคปซูลกาลเวลาจึงถือกำเนิด เริ่มจากคำถามง่ายๆ แค่ 3 ข้อ

ตั้งคลังที่ไหนดี ติดภูเขาก็ไม่เอา ใกล้แม่น้ำก็ไม่ดี อย่างน้อยๆ ต้องหนีให้ไกลดินถล่ม น้ำท่วม และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องอยู่ใกล้ระบบขนส่งที่เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และยิ่งอยู่ใกล้ระบบขนส่งหลายประเภทยิ่งดี

Fossil

Fossil

ชื้นไปหรือเปล่า ไม่เพียงแค่ความชื้นทั่วไปในอากาศ แต่พิจารณาปริมาณน้ำฝนต่อปีด้วย คลังต้องมีเครื่องคุมความชื้น 24 ชั่วโมง นอกจากนั้น หน้าต่างของคลังก็กันรังสี UV เผื่อกรณีที่ต้องนำฟอสซิลออกมานอกตู้

Fossil

Fossil

ใครจับ (ฟอสซิล) ได้บ้าง แน่นอนว่าสถานที่นี้สงวนไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้อง กฎการสัมผัสฟอสซิลก็เข้มงวดตาม จนการล้างมือกลายเป็นขั้นตอนที่ทำประจำเมื่อต้องเข้า-ออกคลังบ่อยๆ ส่วนตัวอย่างใดก็ตามที่เอาไปจัดนิทรรศการแล้ว จะไม่เอากลับเข้าคลังเด็ดขาด

Fossil

“เราวางเป้าหมายชัดเจนว่าเราจะเป็นผู้นำทางด้านพิพิธภัณฑ์ สิ่งที่ทำคือดูว่าเราทำยังไงได้บ้าง ต้องแก้ปัญหายังไงบ้าง”

แต่เส้นทางสู่ความเป็นเลิศต้องปูทางด้วยงบมหาศาล ลงทุนทั้งระบบการจัดการคลัง 3 คลัง ได้แก่ คลังฟอสซิล คลังตัวอย่างแห้ง และคลังตัวอย่างเปียก รวมถึงการบำรุงรักษานิทรรศการทั่วตึกพิพิธภัณฑ์ไปพร้อมกัน

Fossil

Fossil

เกณฑ์แบบญี่ปุ่นสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงที่หาดใหญ่ ระบบการจัดการที่กล่าวมาล้วนมาจากการทำเรื่องขออนุญาตโดยศิษย์เก่าจากแดนปลาดิบผู้นี้ ไหนจะย้ายตัวอย่างหนักอย่างหินจากชั้น 2 ลงมาชั้นล่าง และรียูสชั้นหนังสือเหล็กมาเป็นตู้เก็บตัวอย่างตามงบที่มีอย่างจำกัด แต่พร้อมรองรับตัวอย่างมากมายที่จะคัดเลือกไปโชว์ในพิพิธภัณฑ์

สำหรับนักวิจัย การบินตรงไปเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ยังจำเป็น แต่สำหรับนักท่องเที่ยว ของดีก็มีให้ดูอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลนี่เองนะ

Fossil

A Whole World In A Building

“เราย่อโลกของคาบสมุทรไทยมาไว้ที่นี่ ครอบคลุมทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มันมีความหลากหลายเยอะมาก”

อาคารรวมสิ่งน่าพิศวงจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กตัวเล็กๆ แล้วยิ่งสนุกก็ยิ่งจำ ยิ่งเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตก็ยิ่งเห็นอกเห็นใจ

“เด็กจะมาซ้ำ หลังจากโรงเรียนพามา เขาภูมิใจว่าเขานำชมได้แล้ว วันเสาร์เขาจะบังคับผู้ปกครองให้พามา เด็กก็เล่าว่าห้องนี้ห้องอะไร ตัวอย่างอะไร และบางทีเปลี่ยนนิทรรศการนิดเดียว เด็กก็รู้”

Fossil

Fossil

การสอดแทรกความรู้ขยายกว้างสู่การศึกษาระดับจังหวัด ในอนาคตเด็กๆ ในพัทลุงจะได้เรียนวิชาบรรพชีวินพื้นฐานและเจาะลึกข้อมูลของจังหวัด การออกแบบหลักสูตรนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการศึกษาของพัทลุง พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมทรัพยากรธรณี

“การให้เด็กได้เรียนสิ่งเหล่านี้สำคัญมาก และเด็กจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ต่อให้เขาไม่ไปทำงานด้านนี้ ก็รู้ว่าบ้านเขามีทรัพยากรอะไรบ้าง ต้องอนุรักษ์แบบไหน เขาจะมองมิติความยั่งยืนเป็นที่ตั้ง”

Fossil

Fossil

Fossil

Fossil

Fossil

Fossil

Fossil

ผู้นำชมในพิพิธภัณฑ์ก็เป็นนักศึกษา อาสาสมัคร และคนรุ่นใหม่ไฟแรงมากหน้าหลายตา ในขณะที่สกิลนำชมไม่ได้สร้างง่ายๆ ทุกคนต้องผ่านการอบรมวิธีพูดในที่สาธารณะ การรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์ ไฟไหม้ ฯลฯ ควบคู่กับวิธีประเมินสถานการณ์ตรงหน้าก่อนจะตอบสนองอย่างฉับไวและเหมาะสม

Fossil

พิพิธภัณฑ์มีคลาสเรียนของตัวเอง ชื่อว่าคอหงส์วิทยา โรงเรียนจะพาเด็กมาหรือใครจะมาเข้าคลาสก็ได้ มันรวมเวิร์กช้อปอนุกรมวิธาน คลาสการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ที่แม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยยังเข้าร่วม และคลาสอื่นๆ ที่จะกลายเป็นสกิลติดตัวให้ผู้เรียนนำไปประยุกต์ใช้

Fossil

“ทุกคนสามารถใช้พิพิธภัณฑ์เป็นห้องเรียน เรียนให้หลากหลาย เรียนสิ่งที่ถนัด มองมันเป็น Ingredients แล้วปรุงองค์ความรู้ให้ยูนีก”

คงไม่เกินจริงเลยที่จะสรุปว่า อนาคตของประเทศส่วนหนึ่งเติบโตจากโลกใบเล็กอันน่าอัศจรรย์อย่าง ‘พิพิธภัณฑ์’

Local Ambassadors

อยากพลิกโฉมจังหวัดพัทลุงเป็นเมืองท่องเที่ยวด้านบรรพชีวิน ต้องเริ่มจากซื้อใจคนในชุมชน

ทีมจากพิพิธภัณฑ์ไปออกบูธชิมลางในงาน Phatthalung Coffee.Craft.Music หวังส่งต่อเรื่องราวซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัด ซึ่งได้ผลตอบรับดีเกินคาดจากคนท้องถิ่นด้วยความเซอร์ไพรซ์กับข้อมูลที่เพิ่งรู้เกี่ยวกับบ้านของตัวเอง

Fossil

Fossil

พื้นฐานคนพัทลุงนั้นรักและภูมิใจในธรรมชาติบ้านเกิดอยู่แล้ว เมื่อโปรเจกต์ของพิพิธภัณฑ์สอดคล้องกับวิถีชีวิตและต้นทุนทางธรรมชาติ ชาวบ้านก็พร้อมใจร่วมมือ จนถึงขั้นออกตัวช่วยจัดเทศกาลซากดึกดำบรรพ์ในพัทลุง (Phatthalung Fossil Festival) เทศกาลที่เชื่อมโยงมรดกทางธรณี นิเวศวิทยา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมไว้อย่างกลมกล่อม

Fossil

“ณ ตอนนี้ชุมชนอินกับความรู้ที่เราให้ ชาวบ้านบอกว่าจะมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นแหล่งฟอสซิล เขามาขอเป็นอาสาสมัคร นี่ถือว่าเราสำเร็จแล้ว”

องค์ความรู้จากนักวิจัยเป็นเพียงต้นทุน ตอนนี้คนพัทลุงเริ่มหยิบจับฟอสซิลไปดีไซน์เป็นลายบนคุกกี้ บนแก้วเซรามิก ไว้ขายเป็นของที่ระลึก ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังนำเทศกาลไปบอกต่อ เรียกแขกบ้านแขกเมืองเองด้วย

Fossil

“เสร็จจากงานนี้ เราจะมี Route ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เรียกว่า จากเลน้อยสู่เลโบราณ”

พัทลุงมีชื่อเสียงจากทะเลน้อยหรือแรมซาร์ไซต์แห่งแรกของประเทศอยู่แล้ว ทริปนี้เลยจะชวนล่องไปในความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ชุ่มน้ำ ก่อนจะแล่นสู่ป่าสาคู ซึ่งเป็นตัวอย่างของนิเวศบริการที่สำคัญ ทำความรู้จักสัตว์น้อยใหญ่ในห่วงโซ่อาหาร และสัตว์ที่สำคัญต่อการขยายพันธุ์พืช แล้วเทียบท่าในอดีตเมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนเพื่อดูฟอสซิลทางทะเล

กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติและคนพัทลุงเอง

Fossil

โปรเจกต์ใหญ่เหล่านี้จะขับเน้นอัตลักษณ์ของพัทลุงให้เข้มแข็ง เล่าที่มาที่ไปของธรรมชาติที่เห็นจนชินตาอย่างลึกซึ้ง แล้วเมื่อใดที่คนท้องถิ่นเล่าเรื่องรอบตัวได้อย่างฉะฉาน เมื่อนั้นการท่องเที่ยวจะเติบโตจากคนในสู่คนนอกอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสารงานเทศกาลในอนาคตทาง Princess Maha Chakri Sirindhorn Natural History Museum

Tags: