Places to Remember
ตามรอย 10 สถานที่ประวัติศาสตร์…ชวนรำลึกถึงการปฏิวัติโลกไม่ลืม
- การปฏิวัติของฝรั่งเศสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก และเป็นวันที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสทั้งประเทศประกาศอิสรภาพ
- มีสถานที่หลายแห่งในฝรั่งเศส ที่อยู่ในช่วงเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้ ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมานานหลายร้อยปี แต่สถานที่เหล่านี้ ยังคงทิ้งร่อยรอยแห่งอดีต และปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ควรค่าแก่การมาเยี่ยมชม
- บางสถานที่แห่งการปฎิวัติฝรั่งเศสในอดีต ได้กลายเป็นศาลยุติธรรม และเป็นที่ทำการของรัฐ ในขณะที่บางแห่ง ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนจากทั่วโลกได้ศึกษาถึงประวัติศาสตร์ของชาติฝรั่งเศส
จากปรักหักพังของคุก Bastille และ Place de la Concorde ไปจนถึง La Conciergerie สถานที่ประวัติศาสตร์อันน่าทึ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งเกิดขึ้นในปี 1789
แม้ผ่านมาเนิ่นนานหลายร้อยปีแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์โลกครั้งนี้ ยังคงทิ้งร่องรอยแห่งความทรงจำของการต่อสู้ แก่งแย่งชิงอำนาจ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น และความอยุติธรรมในสังคมฝรั่งเศสยุคนั้นได้ดี ซึ่งสถานที่เหล่านี้ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ให้คนทั่วโลกได้เยี่ยมชม
1. จตุรัสแห่งความปรองดอง (Place de la Concorde)
Place de la Concorde ได้รับการขนานนามว่าเป็น Place de la Revolution หรือจตุรัสแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นสถานที่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระราชินี มารี อ็องตัวเน็ตต์ ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Place Louis XV หรือจตุรัสแห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 โดยมีรูปปั้นพระบรมรูปทรงม้าของพระองค์ตั้งไว้อย่างโดดเด่นเป็นสง่า ผลงานออกแบบของ Jacques Ange Gabriel อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้น อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ถูกถอดออกไปและถูกแทนที่ด้วยกิโยติน
2. La Conciergerie
La Conciergerie หรือ Palais de la Cité เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Palais de Justice หรือพระราชวังของกษัตริย์ฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 10-13 จนกระทั่งราชวงศ์ฝรั่งเศสย้ายไปพำนักที่พิพิธภัณฑ์ลูฟว์เมื่อปี ค.ศ. 1391 ที่นี่จึงใช้เป็นเรือนจำคุมขังนักโทษที่รอการประหารด้วยกิโยติน ไม่ว่าจะเป็น Francois Ravaillac ผู้ปลงพระชนม์พระเจ้าอองรีที่ 4 (Henry IV) นักปฏิวัติหัวรุนแรงอย่าง Georges Danton, Maximilien Robespierre รวมไปถึงพระราชินี มารี อ็องตัวเน็ตต์
La Conciergerie ถูกยกเลิกจากการเป็นเรือนจำในปี ค.ศ. 1914 และเปลี่ยนมาเป็นอนุสรณ์สถานในปีเดียวกัน ปัจจุบันพื้นที่ส่วนหนึ่งคือศาลตัดสินคดี มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เปิดให้เข้าชมได้ อาทิ
Hall of the Men at Arms ห้องโถงอันโอ่อ่าน่าเกรงขาม สะท้อนถึงงานสถาปัตยกรรมยุคกลาง และถ่ายทอดถึงประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฝรั่งเศสให้ได้ชมเป็นขวัญตา
3. วังแห่งความยุติธรรม (Palais de Justice)
ตั้งอยู่บนเกาะเมืองหรือ I’île de la Cité ในกรุงปารีส โครงสร้างเป็นแบบโกธิคที่สุดแสนอลังการ เดิมทีเป็นบ้านของผู้ว่าการกรุงโรม ต่อมาใช้เป็นที่ประทับของราชวงศ์ฝรั่งเศส เช่น พระเจ้าหลุยส์ที่ 9 จนถึงสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 หลังจากนั้น จึงย้ายพระราชวังไปย่าน Le Marais หรือเมืองเก่าแห่งปารีสแทน เนื่องจากมีการปฏิวัติที่เรียกว่า Jacquerie ซึ่งเป็นการปฏิวัติของเกษตรกรทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในปี 1358 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ที่นี่เป็นศาลยุติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของฝรั่งเศส
4. พระราชวังแวร์ซาย (Palace of Versailles)
เดิมทีเคยเป็นที่พำนักล่าสัตว์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ภายหลังถูกเปลี่ยนเป็นพระราชวังอันสุดวิจิตรของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งออกแบบโดย Andre Le Notre พระราชวังแห่งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นเหตุของความวิบัติและข้อครหาถึงความฟุ้งเฟ้อของราชวงศ์ ในขณะที่ประชาชนต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้น โดยเฉพาะห้องกระจก Hall of Mirrors ซึ่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้ออกแบบด้วยตนเอง ภายในประดับกระจกบานใหญ่ 17 บาน เมื่อเปิดออกแล้วจะเห็นสวนแวร์ซายที่แสนงดงามจับตา ในปี 1682 ที่นี่ถูกเปลี่ยนเป็นศาลและที่ตั้งของรัฐบาลฝรั่งเศส จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปป์ จึงเปลี่ยนพระราชวังแห่งนี้ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
5. คุกบาสตีล (Bastille)
คุกใจกลางเมืองปารีส ศูนย์กลางจุดชนวนการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อมีฝูงชนกลุ่มใหญ่เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนักโทษที่เหลือในคุกอีก 7 คน เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ฝูงชนก็กรูเข้าไปบุกทลายคุกบาสตีล หรือที่เรียกว่าเป็นการโจมตีคุกบาสตีล เหตุการณ์วุ่นวายครั้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา ตามด้วยยกเลิกการใช้ศักดินา และการลงนามในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิของมนุษย์และพลเมือง ทุกวันนี้ ซากปรักหักพังของคุกบาสตีลที่ถูกทำลาย ยังคงตั้งอยู่ที่จตุรัสกลางกรุงปารีสหรือ Place de la Bastille ตรงกลางมีเสา Colonne de Juillet อนุสรณ์สถานอันเป็นเครื่องเตือนความจำของการปฏิวัติฝรั่งเศสเดือนกรกฎาคม
6. อนุสาวรีย์ Girondins
เสาสูงเสียดฟ้าและรูปปั้นอันน่าตื่นตาตื่นใจแห่งนี้ ไม่ว่าใครได้เห็น เป็นต้องทึ่งในความงดงามและดูน่าเกรงขามอยู่ในตัว Monument aux Girondins หรืออนุสาวรีย์ Girondins ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20 เพื่อรำลึกถึงกลุ่ม Girondists ซึ่งเป็นกลุ่มทางการเมืองที่สนับสนุนให้มีการปฏิวัติฝรั่งเศส แต่ถูกสั่งประหารชีวิตในเดือนตุลาคม ปี 1793 ภายใต้คำสั่งของ Maximilien Robespirre หนึ่งในผู้นำการปฏิวัตินั่นเอง สำหรับอนุสาวรีย์แห่งนี้ประดับรูปปั้นของเทพีเสรีภาพยืนถือโซ่ที่ขาดสะบั้น ส่วนฐานของเสาเป็นรูปปั้นสตรี ด้านล่างเป็นสระน้ำพุขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบอนุสาวรีย์เอาไว้ ข้างๆ คือชิงช้าสวรรค์ประจำเมือง Bordeaux
7. วิหารแพนธีออน (Pantheon)
วิหารแห่งนี้ สร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เพื่อใช้เป็นโบสถ์ St.Genevieve (ชื่อนักบุญอุปถัมภ์ของปารีส) เริ่มก่อสร้างในปี 1758 และแล้วเสร็จก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 หลังการปฏิวัติ ที่นี่จึงกลายเป็นสุสานฝังศพบุคคลสำคัญของฝรั่งเศส ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และเพื่อรำลึกถึงคุณความดีที่ได้สร้างคุณประโยชน์ไว้ให้กับคนรุ่นหลัง อาทิ Jean-Jacques Rousseau, Emile Zola, Victor Hugo, Voltaire, Jean Moulin, Marie Sklodowska-Curie เป็นต้น
8. มหาวิหารแซ็ง-เดอนีส (Basilique Saint-Denis)
เดิมทีคือโบสถ์ที่ตั้งตามชื่อของนักบุญเดนิส นักบุญอุปถัมภ์ของฝรั่งเศส และเป็นบิชอปองค์แรกของฝรั่งเศส ว่ากันว่า ที่นี่ใช้เป็นที่ฝังศพของนักบุญเดนิสหลังการเสียชีวิตของเขาราวปี ค.ศ. 275 หลังจากนั้นจึงกลายเป็นที่แสวงบุญและใช้เป็นที่บรรจุพระบรมศพของกษัตริย์ฝรั่งเศสเกือบทุกพระองค์ระหว่างศตวรรษที่ 7-10 จนกระทั่งศตวรรษที่ 12
Abbot Suger รัฐบุรุษชาวฝรั่งเศส เป็นสถาปนิกคนแรกที่ออกแบบ Basilique Saint-Denis ในสไตล์โกธิคที่แท้จริง ปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมภายในสุสานแห่งประวัติศาสตร์นี้ได้
9. ป้อมปราการแซงต์-ฌอง (Fort Saint-Jean)
หนึ่งในสองของป้อมปราการที่สร้างโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (อีกที่คือป้อมปราการ Saint Nicholas) ตั้งอยู่ที่เมืองท่า Marseille ป้อมปราการแห่งนี้เริ่มก่อสร้างในปี 1660 เพื่อใช้ป้องกันเมือง Marseille จากประชาชนที่ต่อต้านการปกครองของราชวงศ์
หากแต่ก่อนหน้านี้ สมัยศตวรรษที่ 14 ในช่วงสงครามครูเสด พื้นที่ของป้อมปราการใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร ซึ่งสร้างโดยกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘อัศวินฮอสปีทัลเลอร์’ (Knights Hospitallers) แห่งกรุงเยรูซาเล็ม รวมถึงมีพระราชวัง โบสถ์ และโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีอาคาร Rene I Tower ที่สร้างสมัยกลางศตวรรษที่ 15 โดยอุทิศให้กับกษัตริย์แห่งเมือง Provence ในขณะนั้น อาคารเหล่านี้บางส่วนรวมอยู่ในป้อมแซงต์-ฌองด้วย
อย่างไรก็ตาม ในสมัยของการปฏิวัติฝรั่งเศส ป้อมแซงต์-ฌองถูกใช้เป็นที่คุมขังดยุค Orleans, พระเจ้าหลุยส์ฟิลิปป์ที่ 2 และพระโอรสทั้งสอง ซึ่งถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินในเวลาต่อมา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ป้อมแซงต์-ฌองทำหน้าที่เป็นคลังเก็บอาวุธในช่วงที่นาซียึดเมือง Marseille จากนั้นไม่นานก็ถูกระเบิดทำลายเสียหาย ภายหลังได้รับการซ่อมแซมตัวอาคารที่ยังหลงเหลือบางส่วน และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อารยธรรมยุโรปและเมดิเตอร์เรเนียน (Museum of Civilizations in Europe and the Mediterranean) จวบจนถึงปัจจุบัน
10. สวนสาธารณะ Square Henri Galli
หลังจากคุกบาสตีลถูกทลายไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 ซึ่งถือว่าเป็นวันปฏิวัติฝรั่งเศส ในวันนั้นประชาชนฝรั่งเศส ทั้งปัญญาชน พ่อค้า และพลเมือง พากันลุกฮือเดินขบวนประท้วงและตรงเข้าไปบุกทลายเรือนจำของรัฐที่ใช้คุมขังนักโทษการเมือง แต่ยังคงมีบางส่วนของคุกที่ไม่ถูกทำลายไปด้วย ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสวนสาธารณะ Square Henri Galli ณ ใจกลางเมืองปารีสนั่นเอง