- ชวนคุยกับอดีตช่างภาพ National Geographic ที่หันมาเป็นนักบิน ครูสอนบิน และเปิดโรงเรียนสอนการบิน FUN FLY Paramotor
- พารามอเตอร์ เป็นอากาศยานขนาดเบาพิเศษ (Ultra Light) ที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลก เริ่มต้นเรียนและทำการบินได้ง่าย ค่าใช้จ่ายถูก และมีเสน่ห์ตรงที่บินชมวิวได้แบบเปิดโล่งรอบตัว ปัจจุบัน กฎหมายอากาศยานในเมืองไทย อนุญาตให้ใช้พารามอเตอร์บินเชิงสันทนาการ และเชิงกีฬาได้เท่านั้น
ในวงการถ่ายภาพ พี่ทอมมี่-สุริยนต์ สังข์สุข เป็นที่รู้จักในฐานะอดีตช่างภาพของนิตยสาร National Geographic ฉบับภาษาไทย ส่วนในวงการการบิน เขาคือนักบิน ครูสอนการบินพารามอเตอร์ และผู้ก่อตั้งโรงเรียนกีฬาทางอากาศและการบิน FUN FLY Paramotor
โรงเรียนการบิน FUN FLY Paramotor ตั้งอยู่ที่ ภูสันฟ้า รีสอร์ท อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ที่นี่เปิดสอนหลักการบินเบื้องต้น โดยเฉพาะ ‘พารามอเตอร์’ หรือที่เรียกกันว่ากีฬา ‘ร่มบิน’ อากาศยานขนาดเล็กที่ประกอบด้วยเครื่องยนต์และร่มชูชีพ
ONCE พาไปเจาะลึกกับเรื่องราวของพารามอเตอร์ ผ่านบทสนทนาของ พี่ทอมมี่ ชายหนุ่มที่อาจทำให้คุณอยากออกไปแตะขอบฟ้า นั่งชิลๆ ชมวิวหลักล้านบนมุมสูงของเมืองเชียงใหม่ กับอากาศยานขนาดเล็กและเบา แต่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดในโลก
เริ่มสนใจการบินพารามอเตอร์ตั้งแต่เมื่อไหร่
“ผมเรียนรู้เรื่องการบินพารามอเตอร์เมื่อ 20 ปีก่อน เพราะต้องใช้ถ่ายภาพทางอากาศ ผมทำงานสารคดีร่วมกับ National Geographic Thai Edition ในยุคนั้นยังไม่มีโดรน จึงต้องใช้พารามอเตอร์ เครื่องยนต์และอุปกรณ์ทางการบิน ซึ่งพารามอเตอร์เป็นอากาศยานที่เริ่มต้นได้ง่าย ค่าใช้จ่ายถูก และกฎหมายผ่อนคลาย
“เครื่องบินท่าอากาศยานอื่นต้องบินในสนามบิน ต้องใช้เงินร้อยล้านในการสร้าง แต่พารามอเตอร์สามารถเรียนบินและทำการบินได้ง่ายเพราะเรามีชมรมอยู่ทุกจังหวัด ผมเลยเริ่มศึกษาการบินพารามอเตอร์ แล้วพัฒนาไปเป็นการบินแบบอื่นๆ จนมาเป็นครูสอนการบิน มีใบอนุญาตอากาศยานเบาพิเศษ (UPL หรือ Ultra Light Pilot License)
“ตอนหลังเปิดโรงเรียนกีฬาทางอากาศ เพราะสมาคมกีฬาทางอากาศแห่งประเทศไทยฯ พยายามกระจายให้แต่ละท้องที่ มีโรงเรียนกีฬาทางอากาศที่สอนเป็นแบบแผนมาตรฐาน เพื่อให้แผนการบินถูกต้องตามกฎหมาย และตามหลักการบิน เกิดความปลอดภัย ผู้นำไปใช้ต่อก็ให้ใช้อยู่ในกรอบที่มันควรจะเป็น”
ที่บอกว่า กฎหมายผ่อนคลายการบินพารามอเตอร์ ในด้านไหนบ้าง
“จริงๆ แล้ว กฎหมายอากาศยานในบ้านเรา (ข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน (กพร.) ฉบับที่ 70 ) ไม่อนุญาตให้ใช้เดินทาง ยังเป็นการห้าม และควบคุม ไม่ได้พัฒนาไปจนถึงขั้นส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมที่แตกฉานไปเป็นอย่างอื่น สมอ้างมาจากความปลอดภัย เนื่องจากพารามอเตอร์เป็นอากาศยานเบาพิเศษ น้ำหนักไม่เกิน 500 กก. รหัสบนเครื่องบินคือ U (Ultra Light) แต่ตอนหลังผ่อนคลายให้บินสันทนาการได้ บินเชิงกีฬาได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้รับผู้โดยสารหรือบริการนำเที่ยว อาจเพราะยังไม่มีหน่วยงานเข้ามาดูแล หรือยังไม่มีการพัฒนาข้อบังคับไปถึงตรงนั้น ”
“พารามอเตอร์มีต้นกำเนิดอยู่ทางยุโรป ฝรั่งเศส มีคนไทยไปเรียนแล้วเอากลับเข้ามาในยุคแรกๆ พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นอากาศยานที่คนเข้าถึงง่าย ตอนหลังถูกหยิบยกมาเป็นกีฬา อยู่ภายใต้สมาคมกีฬาทางอากาศแห่งประเทศไทยฯ และมี FAI (Fédération Aéronautique Internationale) เป็นองค์กรหลักในการจัดแข่งขันรายการระดับโลก รวมทั้งจัด Ranking ต่างๆ
“นักบินพารามอเตอร์ไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เราติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีนักแข่งคุณภาพ และยังเป็นประเทศ TOP 4 ที่มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จ.ชลบุรี และมีเทคโนโลยีการผลิตอุปกรณ์การบินเกี่ยวกับพารามอเตอร์”
อะไรคือเสน่ห์หรือความพิเศษของพารามอเตอร์?
“พารามอเตอร์เป็นอากาศยานที่บินด้วย Human Control ต่างจากอากาศยานอื่นๆหรือเครื่องบินมีปีก ที่จะบินตามมาตรวัดเป็นหลัก เครื่องบินมีปีกจะมี Cockpit (ห้องนักบิน) ยกขึ้นสูง ทำให้ช่องมองหน้าต่างมีเพียง 40% อีก 60% บินตามมาตรวัด แต่พารามอเตอร์ไม่มี Cockpit เปิดโล่งเลย นักบินจึงบินตามฟิลลิ่ง โดยใช้ฟิลลิ่งจากปีก และกำลังยก ควบคุมการบิน
“สรีระของพารามอเตอร์จะส่งความรู้สึกมายังนักบินและคนที่นั่งอยู่ในเครื่องนั้นโดยตรง ทำให้เกิดความสนุกเพราะเขาได้สัมผัสกับแรงยกโดยธรรมชาติ ที่สำคัญ เป็นอากาศยานที่มีความปลอดภัยที่สุดในโลก ปีกจะเป็นทั้งร่มชูชีพ และแอร์ฟอยล์ของเครื่องบิน เพื่อสร้างแรงยก ทำให้บินไปไหนมาไหนได้ ส่วนเครื่องยนต์ของพารามอเตอร์ จะอยู่ด้านล่างห่างจากปีก 6 เมตร ด้วยกฎแรงโน้มถ่วงโลก วัตถุที่หนักกว่าจะร่วงหล่นเร็วกว่า ฉะนั้น ผืนผ้าใบที่เป็นปีกร่มมันเบากว่าตัวเครื่องยนต์ นักบินหรือคนที่นั่งไปด้วยจะถูกแรงดึงดูดของโลกกดลงมาให้อยู่ต่ำกว่า เหมือนเป็นลูกตุ้มถ่วงปีก
“ปีกจะกางอยู่ตลอดเวลา ดีไซน์ของปีกจะไม่พลิกเหมือนตุ๊กตาล้มลุก อาการหลงฟ้าจึงไม่มีเหมือนเครื่องฟิกซ์วิง นั่นหมายความว่า ถ้านักบินเกิดหมดสติหรือเครื่องยนต์ดับ มันจะร่อนลงจอดช้าๆ เหมือนร่มชูชีพ ซึ่งอากาศยานอื่นทำไม่ได้ อากาศยานอื่นจะเกาะอากาศด้วยความเร็ว แต่พารามอเตอร์เป็นอากาศยานที่มีความยืดหยุ่นสูง และบินได้ช้ามากประมาณ 30 กม.ต่อชั่วโมง ทรงตัวอยู่ได้ประมาณ 20 กม.การเกาะอากาศหรือหล่นตุบจึงไม่เกิดขึ้น
“ด้วยความเร็วที่บินได้ช้าและบินได้ต่ำมากจนเอาเท้าเขี่ยยอดหญ้าได้ มันจึงมี Gap และสามารถบินได้สูงเป็นหมื่นๆ ฟุต แต่กฎหมายการบินกำหนดให้บินสูงตามใบอนุญาตของสถานที่ที่ขึ้นทะเบียนไว้ เช่น ของเราบินได้ไม่เกิน 2,000 ฟุต แต่ถ้าเป็นสถานที่ขึ้นลงแบบโรงเรียนกีฬาจะกำหนดไว้ที่ 800-1,000 ฟุต”
ทำไมเลือกเปิดโรงเรียนที่เชียงใหม่
“เชียงใหม่อากาศค่อนข้างสะอาด เหมาะสมกับการบิน ยิ่งช่วงเช้าของฤดูหนาว อากาศจะสงบและนิ่งมาก ฉะนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะกับการบินคือ ช่วงเช้า 06.00-10.00 น. และช่วงเย็น 16.00-18.00 น. สิ่งเดียวที่พารามอเตอร์ไม่ชอบคือช่วงพายุ แต่ฝนที่เชียงใหม่ไม่ได้ตกทั้งวัน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงก็หยุด ฟ้าหลังฝน ทุกอย่างจะเคลียร์มาก และปลอดภัยสูง จึงเหมาะกับการบินมาก แล้วของแถมที่ได้จากบินก็คือ ทิวทัศน์ เป็นวิวหลักร้อยล้านที่อยู่ในห้วงอวกาศ
“เมื่อบินขึ้นไปจะมองเห็นเขื่อนแม่งัด อุทยานแห่งชาติศรีลานนา เห็นความตระหง่านของดอยหลวงเชียงดาว คุณจะเห็นทุ่งนาหลากสีที่มีความกว้าง 10 กม. ยาว 18 กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการฝึกบิน และเป็น Safety Area ที่ไม่มีชุมชนเลย ในแต่ละฤดูกาล ข้าวและพืชพันธุ์บนพื้นล่างจะเปลี่ยนเท็กซเจอร์และสีไปตามอุณหภูมิ และแสงพระอาทิตย์ เป็นความสวยงามหมุนเวียนเปลี่ยนไป
“นอกจากนี้ คุณจะเห็นวัดบ้านเด่น สะท้อนความงามคล้ายๆ กับสมัยกรุงศรีอโยธยาในอดีต บวกกับทิวทัศน์โดยรอบที่มีหมอก มีพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก จึงเป็นเสน่ห์ของกิจกรรม และทุกคนที่มาบินกับเราจะได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านั้น มันเป็นการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ที่จะพาผู้คนอิ่มเอมกับบ้านเมืองในอีกมุมมองหนึ่ง คนต่างชาติก็อะเมซซิ่ง และเข้าใจความเป็นไทยมากขึ้นผ่านทัศนียภาพ ภูมิประเทศที่งดงามและแตกต่าง”
ที่โรงรียนเปิดคอร์สสอนบินอะไรบ้าง
“เราสอนหลักการบินเบื้องต้น พารามอเตอร์แบบเริ่มต้น รวมทั้งหมด 45 ชั่วโมง เมื่อผ่านหลักสูตรแล้ว จะได้รับใบอนุญาตบินจาก FAI License ที่สามารถใช้บินได้ทั่วโลกตามกรอบกฎหมายของแต่ละประเทศ เช่น ฝรั่งเศสอนุญาตให้บินพารามอเตอร์ได้ แต่สวิตเซอร์แลนด์ไม่อนุญาตเพราะกังวลเรื่องมลภาวะทางเสียง
“สำหรับคนที่สนใจอยากเรียน แต่ไม่แน่ใจว่าจะกลัวหรือแพนิคกับความสูงไหม เรามีคอร์สการบินเล็กๆ ที่เรียกว่าทดสอบการบินทางอากาศ ให้ทดลองบินกับครูก่อน หลายคนพอลองบินไปแล้ว ติดตาต้องใจคอร์สนี้ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องการบิน ยังได้สัมผัสกับทิวทัศน์มุมสูงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น แม้กระทั่งจุดๆ เดียว พอเราบินวนรอบสิ่งนั้น คุณจะเห็นได้รอบด้านแบบ 365 องศา มันจึงต่างจากการชมวิวบนที่สูงในรูปแบบอื่นๆ
“ตอนนี้เป็นช่วงปลายโควิด นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นชาวเวียดนาม อินเดีย สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่เบสเดิมของเราคือคนจีน 98% และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ซึ่งคนที่อยากบินพารามอเตอร์ เราจะรับตั้งแต่อายุ 2 ขวบขึ้นไปจนถึง 96 ปีที่เคยมีมา อายุจึงไม่ได้เป็นปัญหากับการบินพารามอเตอร์”
อุบัติเหตุทางการบินล่ะ มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหม
“ถ้านับเป็นสถิติคือน้อยมากที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการบิน ในรอบ 20 ปีของพารามอเตอร์ เทียบได้ไม่ถึง 1% ของวันสงกรานต์สักปีเดียว แล้วปัจจุบันเครื่องยนต์พัฒนาไปไกลมากๆ ที่โรงเรียนเราใช้มาตรฐานยุโรป เป็นเครื่องยนต์จากบริษัท Rotax Bombardier รุ่น 582 เป็นรุ่นที่วางบนเครื่องบิน แต่เรานำมาใช้กับพารามอเตอร์ เพราะต้องการคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ของ Rotax พิสูจน์แล้วว่าเกิดปัญหาในการใช้งานน้อยมาก อาจมีราคาสูง แต่เรายอมใช้เพราะมันเสถียรกว่า และเป็นเครื่องยนต์ที่เหมาะกับการบิน
“จริงๆ แล้วเครื่องยนต์ทุกแบบในโลกนี้สามารถเอามาทำเครื่องยนต์ทางการบินได้ ขึ้นอยู่กับว่าเครื่องยนต์นั้นจะเหมาะสมไหม คือ น้ำหนักต้องเบา มีกำลังมากพอ และทนทานสูง เพื่อให้เหมาะกับสรีระของพารามอเตอร์ที่มีขนาดเล็ก มันจึงต้องทั้งเล็ก เบา มีกำลังและอึด ไม่ใช่บินๆ ไปแล้วดับในห้วงอากาศ”
หันมาทำงานการบิน แล้วยังจับกล้องถ่ายภาพอยู่ไหม
“อาชีพของผมคือวาทยากรทางการบิน มีหน้าที่ควบคุม โอเปอเรท ดูแลจังหวะ และจับผิดความไม่ปลอดภัยในระบบ ถ้าช่างภาพไม่มี ก็ต้องถ่ายภาพเอง ก็ยังได้จับกล้องอยู่ จริงๆ พื้นฐานการจัดการบริหารจนมาถึงตอนนี้ที่ FUN FLY ยังเดินไปได้ ไม่ขาดทุน ทั้งหมดมาจากมุมมองของการถ่ายภาพ
“ตอนฝึกถ่ายภาพ ผมฝึกเชิงช่างมาก่อนแล้วก็มั่วๆ เอา จนมาเจอ พี่โจ้-ยุทธนา อัจฉริยวิญญู แห่งสถาบัน NG ที่ปลุกปั้นผมจนเป็นช่างภาพ การทำงานของเขาและช่างภาพใน NG ทำงานละเอียดมาก เพราะทุกอย่างมันฟ้องในเฟรม ช่างภาพจะมีขบวนการคิด ต้องวางแผน ต้องไปอยู่ให้ถูกที่ถูกเวลา ต้องกดจังหวะนั้นให้ทัน
“งานช่างภาพในสายงานที่ผมทำมันจัดมาก บางครั้งเราไม่ทานข้าว ไม่ดื่มน้ำ ไม่ไปไหนเลย ต้องปักหมุดอยู่ตรงนั้น เพื่อรอถ่ายภาพแค่ช็อตๆ เดียว จนมาทำงานการบิน การบินเป็นอะไรที่ผิดธรรมชาติของมนุษย์ จึงต้องการความละเอียดสูง มันเลยง่ายสำหรับผม แล้วเราก็เอาพื้นฐานของการถ่ายภาพมาเมิร์จกับการบิน นำเสนอมุมมองของช่างภาพที่คนทั่วไปทำไม่ได้กับการบิน หรือคนในวงการการบินทำไม่ได้ คือมีช่างภาพเก็บบรรยากาศให้ขณะทำการบิน ในอนาคต เราจะขยายเป็นสนามบินส่วนบุคคล ต่อไปจะมีทั้ง Skydive และเป็นโรงเรียนการบินเต็มรูปแบบ มีเครื่องบินทุกแบบยกเว้นไอพ่น”
ส่วนปลายทางของการบินพารามอเตอร์ จะเปิดกว้างให้ใช้เดินทางหรือนำเที่ยวได้หรือไม่นั้น ยังคงต้องติดตามกันต่อไป แต่อย่างน้อยการเกิดขึ้นของ FUN FLY Paramotor ก็สร้างกิมมิกและเรื่องเล่าให้กับเมืองได้อย่างงดงามในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ขอบคุณภาพจาก : FUN FLY Paramotor
โรงเรียนกีฬาทางอากาศและการบิน FUN FLY Paramotor
ที่ตั้ง : ภูสันฟ้า รีสอร์ท บ้านปง 2 ม.7 ต.อินทขิล อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ 50150
Facebook : FUN FLY Paramotor
โทร. 087-702-9888
ราคาบินพารามอเตอร์ : 4,500 บาท/คน (คนไทย) และ 5,500 บาท/คน (ต่างชาติ)
ราคาแพ็คเกจบินพารามอเตอร์ รวมที่พัก : 6,500 บาท/คน (ต้องเข้าพักอย่างน้อย 2 คน)
ช่วงเวลาบิน : ช่วงเช้า 06.00-09.00 น. และช่วงเย็น 16.00-18.00 น.
ระยะเวลาทำการบิน : 15-20 นาที โดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ)