About
Leisure

Just Read

แมวผีบุ๊ค ร้านหนังสือมือสองขอนแก่นที่เชื่อมั่นในหนังสือดีๆ กับ 1 ทศวรรษที่ไม่คิดเปลี่ยนแปลง

เรื่อง พัทธนันท์ สวนมะลิ ภาพ กานต์ ตำสำสู Date 17-03-2024 | View 1825
Beingthere Detour Be myguest FLAVOR Resound art+culture Insights Trends Business Insiders Balance Craftyard News
Read At ONCE
  • แมวผีบุ๊ค ร้านหนังสือมือสอง ขอนแก่น ที่อยู่มานานกว่าทศวรรษ ก่อนที่ต้องมีเรื่องให้โยกย้ายสถานที่ แต่ไม่คิดเปลี่ยนแปลง และขอใช้ความทะเยอทะยานไปกับการหาหนังสือเข้าร้าน

‘ร้านหนังสือมือสองเป็นดั่งขุมทรัพย์ของเหล่านักอ่าน’ พูดได้ว่าประโยคนี้ไม่ใช่เรื่องเกินจริง และใครหลายต่อหลายคนก็พิสูจน์ให้เห็นกันมาแล้วกับการออกตามล่าหาหนังสือที่บางเล่มก็หาเจอยากในร้านหนังสือทั่วไป ในทางกลับกัน หนังสือพวกนี้มาอยู่ที่ร้านมือสองได้อย่างไร

นั่นคือข้อสงสัยแรกเริ่มที่เราถามกับ ซี-สุรศักดิ์ โพธิ์มัจฉา ชายผู้บอกเสมอว่าตัวเองเป็นเพียงนักอ่านธรรมดาคนหนึ่งที่มาทำร้านหนังสือมือสองในขอนแก่นและเชื่อว่าจะทำไปจนตายได้แน่นอน

ร้านของซีมีชื่อว่า ‘แมวผีบุ๊ค’ ใครเป็นคนขอนแก่นคงจะพอคุ้นชื่อหรือคุ้นตากันดีกับร้านหนังสือเล็กๆ ขนาด 2x2 ตารางเมตร ที่ข้างในไม่ได้ตกแต่งอะไรมากมาย เรียงรายไปด้วยกองหนังสือที่ซ้อนกันจนสูงท่วมหัว แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้เขาต้องเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของร้านในปีที่ 10 อย่างไม่เคยคิดมาก่อน หนำซ้ำยังไม่เคยคิดเลยว่า ร้านของตัวเองจะใหญ่ขึ้นในสักวัน

แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่ซีบอกกับเราทันทีหลังจากติดต่อขอสัมภาษณ์ เขาย้ำแล้วย้ำอีกว่า ร้านของเขาไม่เคยจัดกิจกรรมอะไรเลย แทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมด้วยซ้ำ เขาไม่ใช่คนตัวเล็กที่ทำการใหญ่ เขาคือคนตัวเล็กที่จะทำอะไรเล็กๆ ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้แหละ

แมวผีบุ๊ค

แมวผี

เป็นความรู้ประดับบทความสักเล็กน้อย ‘แมวผี’ คือชื่อหนังสือรวม 18 เรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยมที่สุดของ เอ็ดการ์ อัลลัน โป (Edgar Allan Poe) นักเขียนชาวอเมริกันผู้เขียนนิยายสืบสวนเรื่องแรกของโลก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครมากมาย รวมไปถึงเหล่านักเขียนเลื่องชื่อในเวลาต่อมาอย่าง เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Arthur Ignatius Conan Doyle) เจ้าของผลงานยอดนักสืบ ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ ราชินีนิยายแนวลึกลับ อกาธา คริสตี้ (Agatha Christie) เองก็เป็นหนึ่งในนั้น

ถ้าจะให้คิดและพูดออกมาแบบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ นี่คงเป็นการอนุมานรูปคดีว่า สาเหตุที่ตั้งชื่อร้านว่า ‘แมวผี’ อาจเพื่อสื่อสารทางอ้อมว่า เขาอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครดั่งที่เอ็ดการ์ อัลลัน โป เคยทำในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง

“ไม่ใช่ครับ” ซีปฏิเสธทันควัน คนเขียนถูกดับฝันความอยากเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทันที “จะตลกมากครับถ้าร้านผมจะไปเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร” เขาตอบพร้อมเสียงหัวเราะ

แมวผีบุ๊ค

“ผมแค่คิดว่าถ้าเป็นคนที่ชอบวรรณกรรมเหมือนกัน ก็คงจะเข้าใจที่มาของชื่อร้าน ช่วงแรกที่ร้านก็มีแค่วรรณกรรมอย่างเดียว แต่ถ้าขายแค่นั้น มันก็ไม่ค่อยทำเงิน เลยเอาหนังสือแนวอื่นเข้ามาด้วย และต้องเป็นหนังสือที่ดี” ซีเล่าถึงสาเหตุแท้จริงที่ตั้งชื่อร้านว่าแมวผี

ก่อนจะไปไกลกันกว่านี้ ขอย้อนความสักเล็กน้อยเพื่อความครบถ้วนของข้อมูล

เริ่มจากซีมีพื้นเพเป็นคนนนทบุรี และทำงานประจำเหมือนคนทั่วไป อยู่ที่นั่น ก่อนจะย้ายมาขอนแก่นหลังน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 โดยยังคงทำงานประจำอยู่ แต่ระหว่างนั้นก็เริ่มเอาหนังสือมือสองที่ตัวเองมีในครอบครองไปวางแบขายตามถนนคนเดิน หรือไม่ก็ช่องทางออนไลน์ วันหนึ่งความอยากเปิดร้านหนังสือก็เกินควบคุม ไม่ได้มีแรงบันดาลใจ ไม่ได้อยากกอบกู้สถาบันการอ่านของชาติ เขาแค่อยากเปิดร้านหนังสือมือสองที่ไม่มีวันเจ๊ง เพราะเขาเชื่อว่า “ยังไงมันก็อยู่ได้ ถ้าเราทำตัวเล็กๆ เข้าไว้”

แมวผีบุ๊ค

ปี 2557 ซีตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ไปเช่าห้องแถวราคา 3,000 บาท แล้วเปิดร้านหนังสือติดกับรั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายในไม่ได้ตกแต่งอะไร ไม่มีแอร์ มีเพียงชั้นหนังสือและกองหนังสือสูงๆ ให้คนที่มาได้เงยหน้าเลือกหยิบกัน

“ถ้าติดแอร์ด้วย ขายได้คงเอาไปลงค่าแอร์หมด” ซีพูดถึงตัวร้านเก่าที่ขนาดแค่ 2×2 ตารางเมตร “ผมพยายามทำร้านให้มันดูทึบๆ น่ากลัวๆ เหมือนรุกรานคนที่เข้ามา ให้ถูกล้อมรอบไปด้วยหนังสือ อารมณ์เหมือนศาสนสถาน ผมพยายามต่อต้านรสนิยมของชนชั้นกลาง เลยพยายามไม่ให้การตกแต่งร้านไปทางนั้น”

แมวผีบุ๊ค

กระแสวังวน

ในหัวข้อก่อนหน้า ซีพูดว่าหนังสือที่เอาเข้ามาขายจะต้องเป็นหนังสือที่ดี แล้วหนังสือที่ดีสำหรับเขาหมายความว่าอย่างไร หนังสือรางวัลซีไรต์ หนังสือที่ได้รับคำวิจารณ์ชมเชยมากมาย หรือจะเป็นหนังสือปกสวยดึงดูดลูกค้า

แมวผีบุ๊ค

“แล้วแต่รสนิยมเลยครับ การจะบอกว่าหนังสือที่ดีคือหนังสืออะไร ต้องมาพิจารณากันเอง เพราะอย่างตอนเด็กๆ เวลาไปเช่าหนังสือมาอ่าน ก็ไม่ได้ถามใคร ไม่ได้ใช้เกณฑ์ของสถาบันไหนมาเป็นตัววัดหนังสือเล่มนั้น”

แมวผีบุ๊ค

เราขอให้ซียกตัวอย่างหนังสือดีในร้านเขามาให้พอนึกภาพกันออก ทำเอาเขาครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง

“พวกตำรากับข้าวที่เป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ บางคนมีสูตรอาหารที่จดไว้ พอเสียชีวิต ลูกหลานจะพิมพ์แจกในงานศพ หนังสือพวกนี้ดีมากเลยนะครับ เพราะเป็นสูตรจากทางบ้าน ไม่ใช่สูตรอะไรก็ไม่รู้ ยิ่งเป็นตำรับยิ่งเก่ายิ่งดี” ซีพูดถึงหนังสือดีในร้านของเขา

และก็เป็นหน้าที่ซีที่ต้องไปออกตามหาหนังสือเหล่านั้นด้วยตัวเอง

สำหรับซี การตามหาหนังสือมาขายเป็นเหมือนการผจญภัย มันคือการผจญไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอเล่มที่ดีสำหรับร้าน และบางครั้งอาจเจอะเล่มที่ใช่สำหรับเก็บไว้อ่านเอง แต่มันก็มีภัยต่อท้ายอยู่เหมือนกัน

แมวผีบุ๊ค

นั่นคือวงการหนังสือมือสองมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงหลังโควิด-19 ราคาหนังสือพุ่งพรวดสวนกับค่าแรงในประเทศ และบางครั้ง ผู้คนก็มักจะนึกถึงหนังสือบางเล่มที่ไม่สามารถหาได้แล้วในร้านค้าทั่วไป เป็นหน้าที่ของซีที่ต้องออกไปตามหาหนังสือเหล่านั้นตามตลาดคลองถม ยันโรงกระดาษ เรียกได้ว่าความเร็วเป็นเรื่องของปีศาจ และปีศาจตัวนั้นต้องตื่นตี 2 เพื่อขับรถจากขอนแก่นมาตามหาหนังสือที่กรุงเทพฯ ทั้งวี่ทั้งวัน

“มันเครียดนะ เพราะต้องแข่งกันเรื่องไปก่อนได้ก่อน ต้องเหมามาทีละเยอะๆ แถมต้องคำนวณว่า เหมาแล้วจะมีกำไรไหม ขาดทุนไหม การเหมาก็ถือว่าอันตรายมาก จะได้หนังสือที่เราชอบแค่ 10% เท่านั้นเอง ที่เหลือก็ต้องทิ้งไป”

ซีเล่าถึงขั้นตอนคร่าวๆ เกี่ยวกับกระบวนการการทิ้งหนังสือ ถ้าพูดให้ถูกคือการรีไซเคิลให้มันกลับมาอยู่ในตลาดซื้อขายอีกครั้งหนึ่ง เริ่มจากนำหนังสือไปขายกับคนรับซื้อของเก่า หนังสือจะถูกส่งต่อไปยังโรงกระดาษ จากนั้นจะมีคนมาซื้อหนังสือกับทางโรงกระดาษอีกที นำไปคัดแยกหมวดหมู่ แล้วนำมาขายต่อในตลาด เป็นอันเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ซึ่งก็เป็นซีและอีกหลายๆ ร้านที่ต่างก็ซื้อจากคนที่รับซื้อมาจากโรงกระดาษอีกที

แมวผีบุ๊ค

ในทางกลับกัน ซียอมรับว่าเขาไม่เข้าใจระบบการรับหนังสือมือหนึ่งมาขาย ตามความเข้าใจของเขา มันเป็นสิ่งที่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้คนมากมาย องค์กรน้อยใหญ่ และต้องมีทุนอีกประมาณเท่าตัว แน่นอนว่าเขาไม่พร้อมเลยที่จะเข้าไปอยู่ตรงนั้น ขออยู่แค่ตรงนี้พร้อมกองหนังสือมือสองแบบไม่เกินตัวเห็นจะดีกว่า

“ถ้าขายหนังสือใหม่ มีปัญหาแน่ๆ ผมไม่ใช่คนที่มีต้นทุนชีวิตเยอะ หรือถ้าขยายสาขา ร้านผมก็อาจตายได้ การอยู่แบบเล็กๆ นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้อยู่มาได้เป็น 10 ปี ที่เหลือแค่คอยหาหนังสือดีๆ มาวางในแบบที่ร้านหนังสือมือสองร้านหนึ่งควรเป็น” ซีพูดถึงเหตุผลที่ร้านของเขายังอยู่มาได้จนครบ 1 ทศวรรษ

แมวผีบุ๊ค

ทศวรรษที่ 2 ต่อจากนี้

ร้านของซีพึ่งครบรอบ 10 ปีไปหมาดๆ เมื่อปีที่แล้ว แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ของขวัญครบรอบร้านที่เขาได้รับคือ การถูกไล่ที่ เพราะลูกหลานเจ้าของเดิมอยากได้พื้นที่คืน

พอเป็นอย่างนั้น เขาก็ทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับ แล้วย้ายออก

แม้ทีแรกเขามีความคิดจะโยกย้ายหนังสือไปขายที่อำเภอเมืองตอนล่าง แต่คิดไปคิดมา นั่นอาจไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้องสักเท่าไหร่ เลยตัดสินใจทำร้านหน้าบ้านเช่าตรงถนนโคลัมโบแทน

เพราะเมื่อลองคำนวณดูแล้ว ราคาค่างวดการเช่าร้านที่อำเภอเมือง กับการเลือกทำหน้าบ้านเช่าด้วยสัญญา 5 ปีที่รวมอยู่ในค่าเช่าบ้าน ค่าใช้จ่ายย่อมต่างกันมากโข และอย่างหลังเห็นจะเป็นมิตรกับกระเป๋าเงิน รวมไปถึงความคุ้มค่าด้านขนาดของสถานที่มากกว่า

การเปิดร้านใหม่หลังจากการถูกไล่ที่ เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘เปลี่ยนแปลง’ ที่สุดแล้วของร้านแมวผีบุ๊คที่ไม่เคยคิดจะเติบโต

แมวผีบุ๊ค

ซีแจงให้เห็นภาพเพิ่มเติมว่า แม้การขายหนังสือมือสองจะไม่ได้สร้างกำไรก้อนโตให้ชีวิต แต่ก็ทำให้อยู่ได้แบบไม่ขาดตกบกพร่อง หรือต่อให้หน้าร้านขายไม่ออก ก็ยังมีช่องทางออนไลน์ และงานหนังสือที่จัดปีละครั้งเป็นอีกหนึ่งทางให้พออยู่ได้สบาย

พร้อมๆ กันนั้น ซียอมรับว่า ตัวเองไม่ได้มีความทะเยอทะยานในการคิดขยายร้านเลย เพราะความทะเยอทะยานของเขานั้นเอามาลงกับการออกตามหาหนังสือมากกว่า

แมวผีบุ๊ค

“ตัวร้านจะเป็นยังไง หรือการขายจะเป็นยังไง ไม่สำคัญเท่าการหาหนังสือดีๆ เพราะหนังสือหาได้ตลอด แต่หนังสือดีๆ หาไม่ได้ตลอด” ซีพูดถึงสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ และส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อมั่นว่า หนังสือเล่มไม่มีวันตาย วัฒนธรรมการอ่านฝังรากไว้ลึกกว่าที่ทุกคนคิดไว้

“หนังสือเหมือนหมดพลังลงไปตามกาลเวลา แต่ทุกวันนี้ก็ยังขายได้อยู่ หนังสือดีๆ ถ้าเรามีปัญญาหามาได้ ยังไงก็มีคนซื้ออยู่แล้ว เป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีวันตาย”

แมวผีบุ๊ค

นัก (ไม่) เคลื่อนไหว

ซีบอกมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า เขาไม่เคยจัดกิจกรรมอะไรเลย เขาเชื่อมั่นในวัฒนธรรมนี้ก็จริง แต่จะให้ไปทำคงไม่ไหว เพราะงานบริการที่มากสุดของเขาคือการกล่าวคำว่า ‘ยินดีต้อนรับ’ ก่อนปล่อยให้ลูกค้าเดินชมหนังสือกันตามสบาย หรือไม่เขาก็ลุกไปช่วยหาหนังสือให้ลูกค้าที่เข้ามาสอบถาม

แล้วถ้าจะให้แนะนำหนังสือออกใหม่ หรือจัดเสวนาพูดคุย เชิญนักเขียนมาเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ล่ะ “ผมทำไม่ได้ ขนาดเพจเฟซบุ๊กยังพึ่งเปิดหลังโดนไล่ที่นี้เอง”

แมวผีบุ๊ค

“หน้าที่ตรงนั้นให้เป็นหน้าที่ของหนังสือที่เราหามาดีกว่า หนังสือบางเล่มเหมือนเป็นหมุดหมายของอะไรบางอย่างในอดีตที่ผ่านมาแล้ว เพราะว่าก่อนจะมีโลกโซเชียล หนังสือเป็นสิ่งที่มีพลังมากในสังคม มนุษย์เคยใช้หนังสือพวกนี้ในการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่การตีพิมพ์หนังสือครั้งแรก จนกลายเป็นอุตสาหกรรมมวลชน อย่าลืมว่าในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา ถึง 6 ตุลา หนังสือก็เป็นแรงผลักดันให้คนยุคนั้น เหมือนที่ยุคนี้ใช้โซเชียลเป็นแรงผลักดัน รัฐบาลเองก็ใช้หนังสือในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือให้ความรู้กับประชาชน ทุกคนใช้หนังสือหมด และหนังสือมือสองจะบ่งบอกยุคสมัยของมันเอง”

แมวผีบุ๊ค

แม้เขาจะไม่ใช่นักเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม ไม่ใช่นักจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน กิจกรรมล่าสุดที่เห็นกันในเพจก็เป็นครั้งแรก หนำซ้ำยังมาจากการทาบทามของคนอื่น และจัดขึ้นเนื่องในโอกาสเปิดร้านใหม่พอดี แต่อย่างน้อยประโยคบอกเล่าข้างบนน่าจะครอบคลุมแล้วถึงความคิดที่เขามีต่อหนังสือ และคงไม่ต้องถามต่อแล้วว่า ทำไมหนังสือถึงยังไม่ตายจากไปในยุคที่ผู้คนต่างพูดกันว่า สิ่งพิมพ์เริ่มซบเซา

ทว่าไหนๆ ก็เปิดร้านใหม่แล้วทั้งที ซีเองอยากจะจัดการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘หนังสือของ เช เกวารา (Che Guevara) กับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของสังคมไทย’ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังขอไม่ให้รายละเอียดมาก เพราะทุนและเวลายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในโลกทุนนิยม แต่ที่แน่ๆ งานนี้อาจจัดปีหน้าเลยก็ได้

แมวผีบุ๊ค

ก่อนจากกันเราถามซีว่า อะไรคือเคล็ดลับในการทำร้านหนังสือของเขา และร้านหนังสือมือสองยังเป็นฝันที่ใช่ของเขาอยู่ใช่ไหม คำตอบของเขาไม่ทำให้เราผิดหวังจริงๆ

“ผมพังก์มั้งครับ” เขาหัวเราะ “ผมไม่ได้มีวิธีคิดอะไรเป็นพิเศษ แค่อยู่ร้านเล็กๆ ไม่ทำอะไรเกินตัวเกินทุน อยู่ไปเรื่อยๆ และจะเชื่อมั่นแบบนี้ตลอดไป ต่อให้ต้องไปขายต่อในนรกก็เถอะ”

ร้านเปิด-ปิดเวลา 12:00-22:00 น. (วันพุธ 16:00-22:00 น.)
FB Page: แมวผีบุ๊ค

Tags: